เราควรกล่าวถ้อยคำใดแก่ผู้วายชนม์: สำรวจความหมายในคำสรรเสริญหรือสาปแช่ง

“We owe respect to the living; to the dead, we owe only the truth.”

Voltaire


การกล่าวถึงผู้ตายในทางไม่ดี โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ตายเพิ่งจากไปได้ไม่นาน ดูจะเป็นสิ่งต้องห้าม (taboo) ในหลายสังคม ไล่ตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงอารยธรรมกรีก-โรมัน ที่มีสุภาษิต ‘De mortuis nil nisi bonum dicendum est’ แปลว่า Speak no ill of the dead, Of the dead, speak no evil [1] หรือ ‘ห้ามพูดถึงความชั่วของผู้ตาย’ สิ่งเดียวที่ได้รับอนุญาตในการกล่าวถึงผู้ตายคือ การสรรเสริญอาลัยคุณงามความดีที่เขาเคยกระทำไว้ยามมีชีวิต 

คำถามสำคัญคือ ทำไมต้องพูดถึงแต่คุณงามความดีของผู้ตาย การจะตอบคำถามนี้ได้อาจต้องพิจารณาไปพร้อมกับคำถามที่ว่า การพูดถึงนี้เป็นการพูดให้ใครฟัง

ทำไมต้องพูดถึงแต่ความดีของผู้ตาย มันเป็นการพูดให้ใครฟัง

ด้านหนึ่ง การกล่าวอาลัยสรรเสริญผู้ตายคือการสื่อสารกันเองระหว่างผู้ที่ยังอยู่ เพราะอย่างน้อยที่สุด การเคยมีชีวิตของผู้ตายย่อมมีบทบาทในพื้นที่[2]ความทรงจำ อันเป็นพื้นที่นามธรรม เพราะความทรงจำเป็นพื้นที่ซึ่งจับต้องไม่ได้ ทำได้เพียงระลึกถึงเท่านั้น[3] ดังนั้น การเลือกแง่มุมที่จะกล่าวถึงผู้ตายจึงเป็นการคัดเลือกว่าผู้ที่ยังอยู่จะจดจำผู้ตายอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการเลือกว่าจะลืมผู้ตายไปอย่างไรด้วย

ทั้งนี้ การกล่าวอาลัยผู้ตายเป็นการคัดเลือกว่าจะให้ผู้ตายมีชีวิตหรือตายไปจากความทรงจำของผู้คนอย่างไร ในแง่นี้ การกล่าวถึงเฉพาะด้านดีของผู้ตายจึงบ่งบอกไปในตัวว่า บรรดาผู้ที่ยังอยู่จะยอมให้เฉพาะแต่ความดีของผู้ตายเท่านั้นมีอิทธิพลหรือมีผลต่อตนเอง การไม่พูดถึงความชั่วของผู้ตายจึงไม่ได้หมายถึงการให้เกียรติเสมอไป แต่อาจเป็นการเสริมสร้างอำนาจและตัวตนของผู้ที่ยังมีชีวิตเสียเอง เพราะถึงที่สุดแล้ว คนตายก็ไม่สามารถรับรู้สิ่งที่คนเป็นพูดถึงตนได้ หรือแม้คนตายจะรู้ แต่คนเป็นก็ไม่มีทางรับรู้ว่าคนตายรู้ คนตายจึงไม่ได้ตายไปอย่างสมบูรณ์ แต่ยังมีชีวิตอยู่ในเรื่องเล่า ความทรงจำ และตัวตนของคนเป็น[4]

อีกด้านหนึ่ง การไล่เลียงคุณงามความดีของผู้ตายอาจเป็นการสื่อสารกับสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์ขึ้นไป เช่น เรียกร้องต่อ (ความว่างเปล่า?) ให้กฎแห่งกรรมในพุทธศาสนาทำงาน หรือเรียกร้องต่อพระเจ้าในคริสต์ศาสนาให้รับผู้ตายขึ้นไปสวรรค์ ในแง่นี้ การพูดถึงแต่ความดีจึงเป็นการอ้อนวอนต่อสิ่งเหนือมนุษย์ให้ผู้ตายได้ตาย (และมีชีวิตหลังความตาย) อย่างสงบสุข (Rest in Peace)

ดังนั้น การพูดหรือระลึกถึงแต่ความดีของผู้ตาย จึงเป็นได้ทั้งการเสริมสร้างอำนาจและตัวตนของคนเป็น และเป็นการเรียกร้องให้ผู้ตายได้ตายอย่างสงบสุขด้วย

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่อยากให้ผู้ตายได้ตายอย่างสงบสุข เพราะแม้ผู้ตายจะเป็นคนดีในสายตาของใครต่อใคร แต่การดำรงชีวิตก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทำชั่วต่อใครหลายคน (ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่) เพราะความดีแยกกันไม่ออกกับความชั่ว ความดีและความชั่วเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับโครงสร้างที่กำกับอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคม ศาสนา หรือการเมือง การทำความดีไม่อาจนับเป็นการทำความดีได้ถ้าโครงสร้างไม่ให้ความหมายว่านั่นเป็นความดี ดังนั้น หากมองในมุมกลับ การทำความดีหนึ่งๆ ก็อาจเป็นการทำความชั่วได้ ในสายตาของผู้ที่ไม่ปลงใจกับโครงสร้างที่กำกับความดีอยู่ 

Rest in Peace หรือ Rot in Hell

ตัวอย่างหนึ่งที่การทำดีของผู้ตาย เป็นผลร้ายต่อชีวิตของคนจำนวนมาก จนทำให้การตายของผู้ตายกลายเป็นเรื่องน่าสรรเสริญยินดี คือ การตายของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) ผู้เคยถูกกล่าวขานว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร

ทันทีที่ข่าวการเสียชีวิตของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ แพร่กระจายสู่สาธารณชน ชาวสหราชอาณาจักรจำนวนหนึ่งต่างพากันโห่ร้องตะโกนด้วยความยินดี มีการรวมตัวกันแสดงออกตามท้องถนน ข้อความโจมตีสาปแช่งจำนวนมากถูกระบายปลดปล่อย “จงเน่าตายไปในนรกซะ” (Rot in Hell) “หญิงเหล็กงั้นเหรอ? ผุพังอย่างสุคติไปเถอะ” (Iron Lady? Rust in Peace) “อีดอกตายแล้ว” (The Bitch is Dead) คลอไปกับเสียงร้องเพลง ‘Ding Dong! The Witch is Dead’ จากภาพยนตร์มิวสิคัลชื่อดัง The Wizard of Oz (บ้างแปลงเป็น Ding Dong! The Bitch is Dead)

แธตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของสหราชอาณาจักร เธอเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 นับจาก วินสตัน เชอร์ชิล (WInston Churchil) ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เข้าร่วมพิธีฌาปณกิจ เธอเป็นนายกฯ ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรให้ก้าวกระโดด นี่นับเป็นคุณงามความดีของเธอ แต่มันก็เป็นความดีที่ต้องแลกมากับการทำชั่วต่อเหล่าแรงงาน

นโยบายเศรษฐกิจของแธตเชอร์ หรือ แธตเชอริสม์ (Thatcherism) ถูกโจมตีอย่างมากว่าเป็นการเสริมผลประโยชน์ให้คนรวยและขูดรีดกดขี่คนจนอย่างเลือดเย็น เธอคือหัวหอกสำคัญในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสวนทางกับฉันทามติหลังสงคราม (post-war consensus) ที่ชูว่ารัฐจะต้องมีสวัสดิการให้แก่ผู้คน สนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมแห่งชาติ และเสริมสร้างการรวมตัวในลักษณะสหภาพแรงงาน การสวนทางของแธตเชอร์ที่ว่านี้ ก็เป็นการสวนทางอย่างสมบูรณ์ เพื่อลดภาระของรัฐ แธตเชอร์ตัดสวัสดิการที่รัฐต้องดูแลออกไปจำนวนมหาศาล เธอเปลี่ยนอุตสาหกรรมแห่งชาติให้กลายเป็นของเอกชน และทำลายสหภาพแรงงานอย่างราบคาบ ผลที่ตามมาคือ ผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มชนชั้นแรงงาน[5]

การต่อสู้กับแธตเชอร์เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน เหตุการณ์ที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่ง คือการประท้วงที่ Trafalgar Square ที่ต่อมาเรียกว่า ‘Poll Tax Riots’ ซึ่งมีชนวนเหตุจากการที่รัฐบาลแธตเชอร์ต้องการเปลี่ยนนโยบายการเก็บภาษี จากแต่เดิมที่เก็บบนฐานของทรัพย์สิน/รายได้ กลายเป็นเก็บแบบตายตัว (fixed) กับผู้ใหญ่ทุกคน (แม้ว่าจะยังเรียนอยู่หรือตกงานก็ตาม) 

เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมจากรัฐ โดยมีผู้บาดเจ็บถึง 113 คน และถูกจับไปกว่า 339 ราย

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ จะถูกมองเป็นแม่มดร้ายในเวลาเดียวกัน 

ในแง่นี้ การออกมาก่นด่าสาปแช่งจึงเป็นการส่งสัญญาณต่อพระเจ้าว่า ผู้ตายไม่สมควรได้รับการประทานพร ไม่คู่ควรกับสวรรค์ และสมควรที่จะเน่าเปื่อยในนรก ทั้งยังเป็นการบอกกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่อีกว่า คุณูปการ อิทธิพล และชื่อเสียงของผู้ตาย ไม่ใช่สิ่งที่มีเกียรติหรือควรค่าแก่การสืบสาน นี่อาจเป็นเหตุผลที่วาระการตายของบุคคลหนึ่งๆ เป็นฤกษ์ดีที่จะสาวไส้ออกมา เพราะทันทีทันใดที่ผู้ตายหมดลมหายใจไปนั้น เขายังไม่ได้ตายไปอย่างสิ้นเชิงดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ผู้ตายยังมีอิทธิพลต่อเรื่องเล่า ความทรงจำ และตัวตนของผู้ที่ยังอยู่ กล่าวอย่างง่าย ผู้ตายยังคงสามารถสร้างอันตรายให้แก่คนที่ยังอยู่[6] กรณีคดีหมิ่นพระนเรศวรเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญ นี่ยังไม่นับว่าผู้ตายอาจจะยังไม่สมควรตาย (อย่างสงบ) เพราะเขาอาจจะยังไม่ได้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเคยกระทำไว้ในยามมีชีวิต

ความรับผิดชอบในโลกตะวันตก และความ (ไม่) รับผิดชอบของคนดีในไทย

ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญในสังคมตะวันตก เพราะอย่างน้อยอิทธิพลของคริสต์ศาสนาก็แทรกอยู่ในแทบทุกอณูของโลกตะวันตก ไล่ตั้งแต่การเมือง ปรัชญา ตลอดจนถึงวิธีคิด กรอบคิดเรื่องความรับผิดชอบในคริสต์ศาสนาสะท้อนอยู่ในมุมมองต่อมนุษย์ที่ว่า ทุกคนล้วนแต่เป็นคนชั่วที่มีบาปมาแต่กำเนิด (original sin) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการสร้างความชอบธรรม (justification) โดยการใช้เหตุผล เพื่อที่จะให้ความชอบธรรมต่อการกระทำหนึ่งๆ กล่าวคือ มนุษย์ต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำของตน มนุษย์ต้องอธิบายให้ได้ว่าการกระทำแต่ละอย่างทำไปเพื่ออะไร เพราะถึงที่สุดแล้ว การที่ชีวิตของมนุษยชาติต้องตกระกำลำบากอยู่ทุกวันนี้ ก็มีต้นเหตุมาจากการที่อดัมและอีฟถูกหลอกให้กินผลไม้แห่งความรู้ การถูกหลอกนั้นแสดงถึงสภาวะที่ไม่มีและไม่ใช้เหตุผล

ดังนั้น การขุดอดัมกับอีฟขึ้นมาวิจารณ์ (critique) ไม่ให้ตายอย่างสงบ จึงเป็นไปในทำนองที่ว่า เพราะเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ทำให้มนุษยชาติต้องถูกขับไล่ออกจากสวนสวรรค์ และต้องมาเผชิญความทุกข์ยากอยู่ในโลกอย่างทุกวันนี้ อย่างง่ายคือ มนุษย์ (ซึ่งเป็นลูกหลานของอดัมและอีฟ) กลับเป็นฝ่ายที่ต้องมารับผิดชอบผลกรรมที่อดัมกับอีฟก่อ

กรอบคิดแบบคริสต์ศาสนาเช่นนี้ ดูจะเป็นฐานให้กับเสรีนิยมอันเป็นหนึ่งในผลิตผลของโลกสมัยใหม่[7] เพราะสำหรับเสรีนิยม ปัจเจกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเหตุผลในการที่จะกำหนดชีวิตของตนเอง (self-determination) เพื่อรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา เช่น การลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้แทนเข้าไปบริหารจัดการอำนาจรัฐ โดยที่คนเลือกหรือไม่เลือกต่างต้องรับผิดชอบในการกระทำของผู้แทน หรือการที่ปัจเจกสมาทานแนวความคิดอื่น เช่น เผด็จการ ก็อาจส่งผลให้คนอื่นๆ ต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก ดังนั้นปัจเจกจึงต้องเลือกอย่างมีเหตุผลเพื่อใช้อธิบายความชอบธรรมต่อการกระทำของตนเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับมามองเหตุการณ์ในสังคมไทยที่คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า ผู้ตายสมควรตายไปอย่างสงบ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ควรอโหสิกรรมให้แก่ผู้ตาย หรือต่อให้จะพูดหรือด่าอะไรผู้ตายก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา การให้เหตุผลแบบนี้ดูจะมีฐานอยู่บนพุทธศาสนาแบบไทยๆ (ที่แยกกันไม่ออกกับชนชั้นนำ) ที่จะเชิดชูการเป็นคนดี โดยการเป็นคนดีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบหรือความรับผิดอะไร เพราะเมื่อเป็นคนดีแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีเหตุผลหรือความชอบธรรมในการกระทำ กล่าวอย่างง่าย คนดีย่อมกระทำแต่สิ่งที่ดีเสมอ เมื่อทำแต่สิ่งที่ดีเสมอ ความชอบธรรม (ที่สัมพันธ์ต่อความรับผิดชอบ) ก็ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด

แม้ผู้ที่ก่นด่าสาปแช่งอาจไม่ได้มีฐานคิดแบบเสรีนิยมเสมอไป แต่การพูดถึงด้านไม่ดีของผู้ตายก็เป็นการสื่อสารว่า ผู้ตายไม่สมควรที่จะตายอย่างสงบ หรือกระทั่งมีชีวิตหลังความตายอย่างสวัสดิภาพ (healthy) แบบที่ฝ่ายเยินยอสรรเสริญต้องการ 

สำหรับฝ่ายที่พูดด้านไม่ดีของผู้ตายนั้น สิ่งที่ผู้ตายควรได้รับคือ ความป่วยไข้ (ill) และความอยุติธรรมที่ผู้ตายเคยกระทำกับคนอื่นในยามมีชีวิตต่างหาก โดยนัยนี้ การพูดถึงความชั่วของผู้ตายจึงหวังผลในทางตรงกันข้ามกับการพูดถึงความดี มันเป็นการบอกว่า เรื่องเล่าในความทรงจำและการกระทำที่อยุติธรรมของผู้ตายไม่ควรได้รับการสานต่อ ตามนัยนี้ การก่นด่าสาปแช่งคนตายจึงไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นโสตเสียงที่ฉาบการเพรียกหาความยุติธรรม

เชิงอรรถ

[1] รากศัพท์ของ ill มาจาก illr หมายถึง evil ในแง่นี้อาจพิจารณาได้ว่า เดิมทีการป่วยไข้เป็นอาการที่บอกถึงการแทรกแซงของสิ่งชั่วร้าย

[2] เมื่อกล่าวถึง ‘พื้นที่’ ย่อมแยกไม่ออกจาก ‘เวลา’

[3] การที่ความทรงจำจะเข้าถึงได้ก็แต่การระลึกถึงเท่านั้น ชัดเจนผ่านความหมายของคำว่า ‘nostalgia’ ที่แปลว่า a feeling of pleasure and also slight sadness when you think about things that happened in the past คำว่า nostalgia ยังแสดงให้เห็นมิติของเวลาที่สัมพันธ์กับพื้นที่อีกด้วย เพราะมีรากมาจากคำกรีกคือ nostos (กลับบ้าน) กับ algos (ความเจ็บปวด ความทุกข์โศก)

[4] https://www.nytimes.com/2020/01/27/opinion/kobe-bryant-death-tweets.html

[5] ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่ง ถูกแสดงผ่านภาพยนตร์เรื่อง Brassed Off (1996) ของ Mark Herman ที่มี Ewan McGregor แสดงนำ

[6] https://www.smh.com.au/lifestyle/life-and-relationships/why-is-it-still-so-taboo-to-speak-ill-of-the-dead-20190304-p511o9.html

[7] ในแง่นี้ คริสต์ศาสนาก็ดูจะเป็นฐานให้แก่โลกสมัยใหม่หรือ modernity ด้วย เพราะกรอบคิดเรื่องสมัยใหม่เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นแต่เพียงในสังคมที่ถูกครอบงำโดยคริสต์ศาสนา

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า