เมื่อความเจริญมากขึ้น เมืองก็ต้องขยาย และเมื่อเมืองขยายตัว แต่ไม่มีการจัดการความเหลื่อมล้ำที่ดี ชุมชนแออัดก็จะเพิ่มขึ้นตาม นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายแห่งยกย่องภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นแบบอย่าง เนื่องจากพวกเขาใช้วิธีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น จนสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างอยู่หมัด และทำให้เมืองเป็นมิตรกับคนจนมากยิ่งขึ้น
กว่าร้อยละ 81 ของประชากรในภูมิภาคลาตินอเมริกาอาศัยอยู่ในเขตเมือง ปัญหาสำคัญที่พบมากคืออาชญากรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ทั่วถึงตั้งแต่ทศวรรษ 90 ทว่าหลังจากประเทศเหล่านี้หันมาสนใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สร้างระบบการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีด้วยประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ให้อำนาจและวิธีการเก็บภาษีเป็นของท้องถิ่นเอง ปัญหาอาชญากรรมและโครงสร้างพื้นฐานก็ค่อยๆ ลดลง ถึงขนาดที่เมืองเซาเปาโล บัวโนสไอเรส และซานเทียโก มีอัตราการฆาตกรรมน้อยกว่าเมืองไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทิศทางของหลายประเทศในลาตินอเมริกาจึงเป็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองที่ว่า ชุมชนแออัดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่ต้องกำจัด แต่เป็นชุมชนที่ต้องร่วมทำงานด้วย และผูกพันธะต่อกันด้วยคะแนนเสียงของคนในพื้นที่ การร่วมถอดบทเรียนของเมืองใหญ่ในภูมิภาคนี้จึงเป็นแบบอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเมืองทั่วโลก เพื่อยกระดับความเจริญโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สำรวจเมืองลาตินอเมริกา อำนาจท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง
แม้ว่าการขยายตัวของเมืองจะสะท้อนถึงความเจริญที่มากขึ้น แต่ด้วยจำนวนประชากรแฝงในชุมชนแออัดที่ค่อนข้างสูง อาจทำให้รัฐต้องเร่งจัดการปัญหาของเมือง ดังในช่วงระหว่างปี 2000-2010 ที่ประชากรอย่างเป็นทางการของเมืองริโอ เดอ-จานีโร เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.4 ทว่าจำนวนประชากรในชุมชนแออัดกลับเพิ่มถึงร้อยละ 27 จากจำนวนประชากรทั้งหมด
ปัญหาที่ตามมาของเมืองในลักษณะนี้คือปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากความจนและการวางแผนพัฒนาเมืองที่ไม่ดีเพียงพอ ดังเช่นเทศบาลกว่า 2,454 แห่งในเม็กซิโก ซิตี้ ถูกปล่อยปละละเลยจนถึงปี 2018 และกลายเป็น 1 ใน 10 อันดับสถานที่ที่เกิดอาชญากรรมสูงที่สุดของประเทศเสมอ โดยในปี 2019 มีอัตราฆาตกรรมเฉลี่ยต่อเทศบาลสูงถึง 19 รายต่อประชากร 100,000 คน แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2021 จำนวนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 12 รายต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ การเพิ่มอำนาจให้นายกเทศมนตรีสามารถนำเขตชุมชนแออัดเข้ามาเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้อย่างไร้รอยต่ออีกครั้ง
ตัวอย่างสำคัญนอกจากเม็กซิโก ซิตี้ คือ เมืองเมเดยิน (Medellín) ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเคยประสบปัญหายาเสพติดมานานหลายสิบปี นายกเทศมนตรีของเมืองจึงออกนโยบายสร้างพื้นที่สาธารณะขนาด 4 ตารางเมตรต่อหนึ่งเคหะสถาน รวมไปถึงสร้างห้องสมุดชุมชน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และสวนสาธารณะ วิธีการนี้ทำให้คนในชุมชนแออัดได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
แน่นอนว่าการเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตชุมชนแออัดที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากโครงสร้างการปกครองไม่เปิดโอกาสให้นายกเทศมนตรีมีอำนาจและความอิสระที่เพียงพอ ปี 2001 ประเทศบราซิลออกกฎหมายให้นายกเทศมนตรีมีอำนาจในการจัดการบริหารที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค จนประเทศอื่นได้ทดลองนำไปเป็นแบบอย่าง หลังจากนั้นมาการพัฒนาเมืองเพื่อความปลอดภัย ความเจริญ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงขยับขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด
นายกเทศมนตรีแห่งเมืองบัวโนสไอเรสสามารถกำหนดนโยบายการศึกษาในท้องถิ่นของตนเองได้ และยังมีอำนาจในการบัญชาการหน่วยตำรวจของตนเองอีกด้วย โดยได้รับงบประมาณผ่านการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีแสตมป์สินค้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยเหตุนี้นายกเทศมนตรีบัวโนสไอเรสจึงมีระบบทางการเงินที่เข้มแข็งกว่านายกเทศมนตรีเมืองลอนดอน และมีอำนาจไม่น้อยไปกว่านายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์กเท่าไรนัก ขณะที่นายกเทศมนตรีของเมืองเมเดยิน ระหว่างปี 2004-2007 เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตัดสินใจว่า งบประมาณร้อยละ 5 จากงบประมาณเทศบาลทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ทำอะไร ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนายกเทศมนตรีได้ตัดสินใจนำงบประมาณกว่าร้อยละ 40 ของงบประมาณเทศบาลทั้งหมด ไปลงทุนในการสร้างระบบการศึกษาที่ดีให้แก่ชุมชน
สิ่งที่ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นมีความเชื่อมโยงกับชุมชนจนนำไปสู่การพัฒนาได้มากขนาดนี้ เป็นเพราะการเปิดโอกาสให้เทศมนตรีและคณะทำงานมีอำนาจสูงมากในการกำหนดนโยบายในท้องถิ่นของตนเอง มีวิธีการจัดสรรงบประมาณของตนเอง และการเลือกตั้งทางตรงก็คือตัวชี้วัดคะแนนความนิยมที่สร้างฐานเสียงให้นายกเทศมนตรีเหล่านี้สามารถกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติต่อไปได้ง่าย ดังที่ คลอเดีย เชนบัม (Claudia Sheinbaum) นายกเทศมนตรีเม็กซิโก ซิตี้ กลายเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่ถูกจับตาว่าอาจจะขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโกในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึง หรือการที่ มัวริซิโอ มากริ (Mauricio Macri) นายกเทศมนตรีเมืองบัวโนสไอเรสช่วงปี 2007-2015 สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอาร์เจนตินาในปี 2015 ได้ เป็นต้น
อิสระทางการเงินของท้องถิ่น เมื่อนายกเทศมนตรีหางบเองได้ ไม่ต้องง้อรัฐบาลกลาง
ดังตัวอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า นายกเทศมนตรีเมืองบัวโนสไอเรสสามารถจัดเก็บภาษีได้ถึง 3 รูปแบบ เพื่อนำรายได้เหล่านี้ไปสร้างนโยบายสาธารณะสำหรับชุมชนเมือง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะคณะทำงานในเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก ต้องมีช่องทางในการจัดหางบประมาณเพิ่มเองได้ มิเช่นนั้นก็จะไม่มีอิสระในการบริหารเมืองอย่างแท้จริง
งานศึกษาของนักวิจัยจากสถาบันลินคอล์น องค์กร think-tank ของสหรัฐอย่าง อนาคลอเดีย รอสส์บาค (Anacláudia Rossbach) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมืองที่ยึดโยงอยู่กับรัฐบาลกลางมากไป มักไม่มีงบประมาณที่เพียงพอสำหรับจัดทำนโยบายสาธารณะตามความต้องการของชุมชนตนเองได้ สาเหตุหนึ่งเพราะเมืองเหล่านี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกลางน้อยกว่าที่จำเป็นต้องจ่ายในแต่ละปี
กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกิดขึ้นในหลายเมืองของประเทศโคลอมเบีย พวกเขานำระบบภาษีที่เรียกว่า ‘ภาษีเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น’ (betterment levies) มาใช้ กล่าวคือ สถานที่ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการของเมืองหรือนโยบายของเมือง จะต้องจ่ายภาษีอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับนโยบายเหล่านั้น เช่น หากต้องการให้มีทางหลวงเส้นใหม่ตัดผ่านชุมชนแห่งหนึ่ง ชุมชนนั้นต้องจ่ายภาษีเพิ่มให้แก่นายกเทศมนตรีเพื่อนำไปอุดหนุนค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินการ และค่าซ่อมแซมถนนสายดังกล่าว
วิธีนี้ทำให้บ่อยครั้งที่นายกเทศมนตรีของเมืองในโคลอมเบียต้องทำสัญญาการลงทุนกับเอกชน หรือตัดสินใจกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอิสระในการบริหารและการตัดสินใจที่มากกว่ารัฐบาลท้องถิ่นในหลายประเทศ
อีกวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ พบเห็นได้ในเมืองซานปาโบล (San Pablo) ประเทศเอกวาดอร์ ที่มีการจัดเก็บภาษีสำหรับการสร้างอาคาร เพื่อนำมาเป็นงบประมาณสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของเมือง ซึ่งก็เป็นวิธีที่ได้ผลเช่นเดียวกัน
อำนาจในการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งในเขตขุมชนที่ร่ำรวยหรือเขตชุมชนแออัด (เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่ ‘พื้นฐาน’) อาทิ การสร้างเครือข่ายขนส่งสาธารณะเข้าไปถึงชุมชนแออัด การติดตั้งไฟถนนและกล้องวงจรปิด และการสร้างสถานที่สาธารณะเพื่อให้คนในชุมชนสามารถพบปะกันได้ง่ายขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งให้อัตราการเกิดอาชญากรรมลดลง เพราะชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมไปถึงเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่ยากจนอีกด้วย (สามารถอ่านเรื่องการจัดการชุมชนให้ปลอดภัย 24 ชั่วโมง จากการสร้างความพลุกพล่านของชุมชนต่อได้ที่: เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง: เมื่อผังเมืองหลงลืมผู้คน)
การมีงบประมาณเป็นของตนเองยังส่งผลต่อความสามารถในการรับมือภัยคุกคามที่ไม่คาดฝัน ตัวอย่างสำคัญคือ กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากในลาตินเดือดร้อน ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากก็พุ่งสูงขึ้น กลุ่มเปราะบางที่สุดของเมืองอย่างชุมชนแออัดจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด เมืองหลายแห่งในลาตินอเมริกาเริ่มสร้างชุดนโยบายช่วยเหลือขึ้นมาทันที หนึ่งในนโยบายนั้นก็คือ การติดตั้งถังเก็บน้ำราคาถูกในชุมชนแออัดที่อยู่ในพื้นที่การระบาดของไวรัส ขณะเดียวกันงบประมาณบางส่วนของเมืองก็ถูกนำไปช่วยเหลืออุดหนุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้ถูกลง
สิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเมืองไม่มีงบประมาณเป็นของตนเอง เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลกลางมักล่าช้าเมื่อเทียบกับรัฐบาลท้องถิ่นที่ใกล้ชิดปัญหามากกว่า
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของ เฮคเตอร์ เอ็ม. โปซาดา (Héctor M. Posada) และ อานา ไอ. โมเรโน-มอนรอย (Ana I. Moreno-Monroy) หัวข้อ ‘Informal employment and informal housing in Latin America: facts, theory and ideas for a unified framework’ ในวารสาร Dans Revue d’Économie Régionale & Urbaine ปี 2019 มีข้อค้นพบว่า การจัดนโยบายควบคุมพื้นที่ของเมืองในลาติน ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพในการหารายได้ของแรงงานในเมือง ทั้งแรงงานในเขต ‘กลางเมือง’ และแรงงานในเขต ‘ชุมชนแออัด’ อาทิ การจัดเก็บภาษีของเมือง การจัดการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ และการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของแต่ละเมือง มีผลต่อการขยายตัวของเมืองและกระบวนการทำให้เป็นเมือง (urbanization) ทั้งระบบ ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ เนื่องจากหากนายกเทศมนตรีไม่สามารถทำให้ค่าครองชีพในการอาศัยในเขตเมืองถูกลงได้ ก็จะส่งผลให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบยากขึ้น และยังมีผลสืบเนื่องให้ที่อยู่อาศัยของแรงงานนอกมีสภาพเป็นชุมชนแออัดต่อไป
นายกเทศมนตรีคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ
จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากที่สุดในโลก ซึ่งเมืองเพียง 10 แห่ง ก็สามารถสร้าง GDP ได้ถึงร้อยละ 30 ของ GDP ทั้งภูมิภาค และชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองอย่างเข้มข้นของลาตินอเมริกาส่งผลดีต่อการพัฒนา และนายกเทศมนตรีมีผลโดยตรงในความดีความชอบนี้
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คะแนนนิยมที่มีต่อฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลางหลายประเทศเริ่มลดลง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักการเมืองท้องถิ่นและนายกเทศมนตรีในลาตินอเมริกาได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดกับประชาชน และมีนวัตกรรมเชิงนโยบายหลากหลายรูปแบบที่สามารถรับมือกับโรคระบาดได้สำเร็จ
การสร้างระบบที่เอื้อต่อประชาธิปไตยทางตรงในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ให้มีอำนาจในการบริหารและจัดสรรงบประมาณเป็นของตนเอง ทำให้นักการเมืองมีความยึดโยงกับท้องถิ่นมากขึ้น และส่งผลชัดเจนเมื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้พึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตเมืองมากขึ้น ประชาชนจึงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาเมืองและประเทศไปพร้อมๆ กัน การตัดสินใจของประชาชนที่จะกำหนดอนาคตของตนเองในทุกๆ วาระการเลือกตั้ง จึงเห็นผลได้ง่ายและเร็วกว่าประเทศอื่นที่อำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นและนายกเทศมนตรีมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย
ผลงานของนายกเทศมนตรีในหลายประเทศถูกชื่นชมโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งลาตินอเมริกา (CAF) ตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่านายกเทศมนตรีของเมืองสามารถใช้อำนาจแก้ไขปัญหาที่ไปไกลกว่าแค่ปัญหาทั่วไป คือการติดตั้งระบบน้ำในเมืองปานามา ซิตี้ ประเทศปานามา ที่ทำให้ระบบการจัดการน้ำเป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โครงการนี้ใช้งบประมาณไปกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านความร่วมมือของนายกเทศมนตรีและ CAF เพื่อทำให้ทุกชนชั้นที่อาศัยอยู่ในเมืองมีน้ำสะอาดใช้ รวมถึงมีการบำบัดและจัดการน้ำที่ปลอดภัยต่อธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลด้านบวกต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กว่า 400,000 ราย การแก้ไขปัญหานี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารเมืองสามารถทำได้มากกว่าการแก้ไขปัญหาสะสมอย่างความยากจน การเดินทาง อาชญากรรม หรือการศึกษา แต่แก้ไขปัญหาร่วมสมัยอย่างปัญหาความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและการจัดการน้ำได้ที่ ลอสแอนเจลิส-เมลเบิร์น-บอสตัน รวมสารพัดวิธีดับเมืองร้อน คนรวยอาจรอด แต่คนจนอาจถูกทอดทิ้ง และบทสัมภาษณ์ วิจิตรบุษบา มารมย์: ‘เมืองพลวัต’ทางรอดของมหานครก่อนถึงวันจมบาดาล)
การทำให้ปัจจัยสำคัญอย่างการศึกษา ความปลอดภัย สาธารณสุข การขนส่ง และสิ่งแวดล้อม มีความยึดโยงกับเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับผู้ออกแบบนโยบาย (policymakers) มากกว่าที่ผ่านมา และยังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดกระบวนการตื่นรู้ทางการเมืองของประชาชนในภูมิภาคอีกด้วย หลังจากลาตินอเมริกาเคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมานานหลายสิบปี การทำให้การเลือกตั้งสามารถเห็นผลได้จริง ชัดเจน และรวดเร็ว รวมถึงสะท้อนได้ว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นสามารถดำเนินควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสังคมอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การมอบอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นหรือนายกเทศมนตรีมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาสำคัญตามมาได้เช่นกัน โดยเว็บไซต์ที่รณรงค์ด้านการกระจายอำนาจอย่าง Decentralize.net ระบุไว้ว่า การที่รัฐบาลกลางของประเทศเปรูมอบเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปจัดการปัญหาในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชันตามมาอย่างมาก เนื่องจากในช่วงก่อนหน้ารัฐบาลกลางไม่ได้ส่งเสริมการสร้างสถาบันการเมืองเท่าที่ควร ส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นขาดความโปร่งใส และกลายเป็นช่องโหว่ที่นำไปสู่ปัญหาใหม่อื่นๆ
กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับเม็กซิโก โดยในช่วงปี 2000-2013 มีการมอบอำนาจการบริหารและการจัดเก็บภาษีให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น นำไปสู่การสอบสวนรัฐบาลท้องถิ่นกว่า 41 แห่งโดยรัฐบาลกลางในคดีคอร์รัปชัน ผลการสอบสวนพบว่าความเสียหายของคดีนี้มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ
กรณีเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลกลางดำเนินนโยบายกระจายอำนาจ จนเป็นช่องโหว่ให้เกิดการคอร์รัปชันระดับท้องถิ่น แต่เป็นเพราะรัฐบาลกลางยังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งของระบบและสถาบันทางการเมืองที่ดีพอ ประเด็นดังกล่าว Decentralize.net ระบุว่า ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการหยุดยั้งการกระจายอำนาจสู่รัฐบาลท้องถิ่น แต่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างบราซิล ชิลี อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และประเทศอื่นๆ ในการออกแบบสถาบันการเมืองท้องถิ่นและระบบในการจัดการความสัมพันธ์ อำนาจ และขอบเขตของนายกเทศมนตรีให้รอบคอบยิ่งขึ้น ซึ่งควรได้รับการถอดบทเรียนต่อไป
ดังนั้นคำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่า นายกเทศมนตรีหรือรัฐบาลท้องถิ่นควรมีอำนาจเป็นของตนเองหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลกลางมีความเข้าใจเพียงพอที่จะปล่อยให้เกิดการกระจายอำนาจ ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นสถาบันการเมืองและการลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านอื่นๆ ตามมาแค่ไหน เนื่องจากทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจ ประชากร และงานศึกษาทางสังคมของเมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกาต่างชี้ให้เห็นแล้วว่า เมืองที่นายกเทศมนตรีมาจากเสียงของประชาชนและมีอิสระสูงในการจัดการปัญหา จะนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ทำให้ผู้คนได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งคนรวยและคนจน ทั้งในเขตรายได้สูงและเขตชุมชนแออัด ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมถึงยังสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนโดยรวมจนเป็นต้นแบบให้ทั้งโลกได้อีกด้วย
ที่มา:
- https://www.economist.com/the-americas/2023/01/12/latin-american-cities-are-becoming-far-nicer-for-poorer-inhabitants
- https://www.urbanet.info/land-use-latin-american-cities-post-covid/
- Posada, H. & Moreno-Monroy, A. (2019). Informal employment and informal housing in Latin America: facts, theory and ideas for a unified framework. Revue d’Économie Régionale & Urbaine, , 213-237. https://doi.org/10.3917/reru.192.0213
- https://data.worldbank.org/indicator/SP.URB.TOTL.IN.ZS?end=2019&start=1960
- https://www.caf.com/en/currently/news/2016/10/10-successful-interventions-in-latin-american-cities-that-could-be-replicated/