3 สิ่งที่หายไปหลัง ‘นิติรัฐ’ พังทลาย

หากนับเอาทศวรรษ 2501-2516 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารยุคสฤษดิ์-ถนอมอย่างยาวนาน คำพูดที่มักจะได้ยินหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มาจนถึงเหตุการณ์พฤษภา 2535 คือ บทเรียนจากการรัฐประหารที่ผ่านมาคงจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ท้ายสุดแล้วเราก็ยังได้เห็นการรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557

เหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นี้เองกำลังจะถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่อีกครั้งว่า เป็นการรัฐประหารที่ยาวนานรองลงมาจากการปกครองภายใต้ระบอบสฤษดิ์-ถนอมตลอด 16 ปีที่ว่านั้น

ขณะที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเงื่อนไขต่างๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อให้ยังอยู่ในอำนาจไปได้อีกยาวนาน แม้ตัว คสช. จะไม่อยู่แล้วก็ตาม

คำถามคือประชาชนจะทำอย่างไรต่อไป?

เราจะเดินต่ออย่างไรบนวิถีทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่หนทางเดินถูกขีดเส้นไว้จนหมดสิ้น จนแทบไม่เหลือทางให้เลือกได้มากนัก

ด้วยคำถามนี้และอีกหลายคำถาม คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ รวมถึงวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรฒศาสตร์ ร่วมกันในนาม Socience Science Forum และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ จึงได้จัดกิจกรรมในชื่อ ‘D-Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน’ เพื่อมุ่งเน้นการนำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนไปข้างหน้า หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครบรอบ 4 ปีเต็ม

และหนึ่งในกิจกรรม D-Move คือบทสนทนาถกเถียงในประเด็น ‘นิติรัฐที่พังทลายและก้าวใหม่หลัง คสช. ที่มี รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา

ทบทวนความเคลื่อนไหว

ก่อนเริ่มต้นพูดคุย รศ.สมชาย ตั้งคำถามก่อนว่านิติรัฐที่พังทลายในช่วงสี่ปีที่ผ่านมานั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

รศ.สมชายมองว่า เมื่อ คสช. เข้ามาเพื่อล้มระบบต่างๆ ตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย ไม่เพียงแค่นิติรัฐเท่านั้นที่พังทลาย แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ทำงานอยู่ด้วย

“ผมอยากจะทบทวนอย่างนี้ก่อนว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประมาณปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงจังหวะเวลาของการต่อสู้เคลื่อนไหวผลักดันความคิดเห็นผ่านระบบกฎหมาย เป็นพื้นที่สำคัญในการช่วงชิงการต่อสู้ โดยในช่วงแรกๆ การต่อสู้ยังอยู่ในระดับความคิดเชิงอุดมการณ์ ถ้าลองนึกย้อนกลับไปเราจะนึกถึง สปป. หรือ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่รวมของนักวิชาการจำนวนมาก และมีข้อถกเถียงทำนองว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอย่างไร ในตอนนั้นเป็นเรื่องจังหวะของอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยว่าจะเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไปปรากฏอยู่ในกฎหมายได้อย่างไร และอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นข้อถกเถียงก็ถูกเสนอในช่วงเวลานั้นๆ เช่น การปรับแก้มาตรา 112”

ทว่านั่นเป็นเหตุการณ์ก่อนปี 2557 ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปโฉมไป การถกเถียงบนสนามการต่อสู้จึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์อีกแล้ว แต่เป็นการต่อสู้ที่วางเดิมพันอยู่บนเงื่อนไขของชีวิตประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ ถูกจับกุม ถูกคุมขัง โดย รศ.สมชาย กล่าวว่า

จุดเปลี่ยนจากการรัฐประหาร 2557 ทำให้การต่อสู้เปลี่ยนจากเดิมที่เคยถกเถียงกันว่าจะปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตย แต่พอรัฐประหาร 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันไม่ใช่การถกเถียงว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่เป็นคำถามว่าคนที่ถูกจับจะสู้คดีอย่างไร

หลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช. ทำให้เกิดการประท้วงที่นำไปสู่การจับกุมในกรณีต่างๆ ทั้งผู้ชุมนุมทางการเมือง สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน โดยสิ่งที่มาพร้อมกันหลังการยึดอำนาจก็คือ การก่อตั้ง ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยยึดโยงกับประวัติศาสตร์การยึดอำนาจ แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ ไม่น่าเชื่อว่า คสช. จะอยู่มาได้ถึงสี่ปี

3 สิ่งที่หายไปหลัง 2549

“ศูนย์​ทนายฯ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นพร้อม​กับจังหวะทางสังคมการเมืองไทยที่กำลังเปลี่ยน หมายความว่าบัดนี้เป็นเรื่องของการต่อสู้ในสนามของอำนาจที่เป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งตอนนี้ศูนย์ทนายฯ ก็ได้ทำหลายอย่างจนเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่คำถามสำคัญก็คือว่า ใครบ้างที่หายไปในช่วงสิบปีหลัง​ ใครบ้างที่ควรมีบทบาทต่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และระบบกฎหมาย” รศ.สมชาย ตั้งคำถามก่อนจะกล่าวต่อไปว่า

“ระบบนิติรัฐที่พังทลายไป ไม่ใช่แค่เพราะ คสช. เท่านั้น แต่มีสามกลุ่มใหญ่ๆ ที่หายไป อย่างแรกคือ ‘สภาทนายฯ’​ ประเทศนี้ยังมีสภาทนายฯ อยู่หรือเปล่า ประเทศนี้มีนักเรียนจบกฎหมายเยอะแค่ไหน ปีหนึ่งประมาณเท่าไหร่ อย่างต่ำปีละหมื่น แล้วไปเป็นทนายความสักเท่าไหร่ แล้วองค์กรวิชาชีพที่เป็นศูนย์กลาง เขาทำอะไรอยู่ ผมไม่รู้นะครับ แต่ผมคิดว่าสภาทนายฯ หายไปอย่างสนิทมาก เงียบมาก ราวกับถูกสึนามิพัดตกทะเลไปเลย”

ขณะที่สิ่งที่สอง รศ.สมชายมองไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยการตั้งคำถามและอธิบายถึงสิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้กำลังเป็นอยู่

ถามว่าคณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ไหน ทำอะไรอยู่ อันนี้น่าเจ็บใจกว่า​ เพราะเขากินภาษีจากเรา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำอะไรบ้าง ภารกิจหลักๆ เท่าที่ผมติดตาม งานเขาเยอะครับ เขาทำงานสองอย่าง หนึ่ง-เปิดป้าย คล้ายๆ กับเป็นความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขาจะมาเปิดป้าย แล้วก็บรรลุภารกิจ สอง-จัดโต้วาที นี่คืองานหลักๆ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ทำ แต่เงินมาจากกระเป๋าเรา”

​จนมาถึงสิ่งที่สาม รศ.สมชาย ตั้งคำถามต่อสถาบันการศึกษากฎหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษากฎหมายใหญ่ๆ “พวกเขาทำอะไรกันอยู่?”

“สิ่งที่สามที่หายไป​เวลาเราเห็นการละเมิดสิทธิ์อย่างบิดเบี้ยว ผมคิดว่าที่น่าสนใจคือ สถาบันการศึกษา​กฎหมาย​ใหญ่ๆ เขา​ทำอะไรกันอยู่ ผมไม่ได้เรียกร้องให้เขาต้องเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คำถามก็คือว่า ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่เห็นได้ชัดว่ามีการละเมิดสิทธิ์ ทำไมไม่มีใครพูดอะไรเลย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษากฎหมายใหญ่ๆ ทำไมจึงเงียบงันเช่นนี้ เกิดอะไรขึ้น”​

รากเหง้าที่แฝงฝัง

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘นิติรัฐที่พังทลาย’ รศ.สมชายมองว่า ไม่ได้มีสาเหตุจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. แต่เพียงเท่านั้น หากยังประกอบสร้างขึ้นจากองคาพยพต่างๆ ในสังคม

“เวลาเราพูดถึงนิติรัฐที่พังทลาย ผมไม่อยากโยนความผิดให้ คสช. แต่เพียงอย่างเดียว แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของอะไรต่อมิอะไรจำนวนมากในสังคมไทย

การใช้อำนาจของ คสช. และ สนช. ผ่านพระราชบัญญัติต่างๆ เป็นกฎหมายรวมเบ็ดเสร็จทั้งหมดแล้วกว่า 800 ฉบับ ในช่วงระยะ 4 ปี ถามว่าน่าตกใจไหม บางทีฟังดูเราก็ไม่รู้ว่ามันน่าตกใจหรือไม่ตกใจ แต่สิ่งที่ คสช. ทำ มันสะท้อนระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทยที่เขาสามารถทำให้ระบบนิติรัฐพังทลายได้ ซึ่งระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทยฝังอยู่ในสองส่วน​ ส่วนแรกคือระบบราชการ​ ส่วนที่สองคือสถาบัน​การศึกษาด้าน​กฎหมาย”

ระบอบอำนาจนิยมในทัศนะของ รศ.สมชาย ส่วนแรกคือระบบราชการ เขามองว่าเป็นรากเหง้าที่ถูกฝังลึกมายาวนาน ยกตัวอย่างเช่น การแต่งกายของตำรวจสันติบาลในยามสืบข่าวกับมวลชนที่ต่อให้พยายามแต่งตัวให้เหมือนคนปกติทั่วไปเท่าไหร่ แต่ก็ยังมองออกอยู่ดีว่าเป็นสันติบาล

“คือเขาพยายามแต่งตัวให้เหมือนชาวบ้าน แต่แพทเทิร์นชาวบ้านคือแพทเทิร์นสันติบาลน่ะ”

ในแง่ของตำรวจสันติบาลที่ รศ.สมชาย ยกตัวอย่างมานี้เป็นการสะท้อนอย่างง่ายๆ ให้เห็นถึงความไม่เป็นอิสระของระบบราชการที่ครอบงำอยู่ ฉะนั้น เมื่อพูดถึงการปฏิรูปประบวนการยุติธรรมจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นอิสระ และมีโครงสร้างของระบอบอำนาจนิยมอยู่ เขามองว่าตำรวจและอัยการ รากเหง้าที่ถูกฝังคือสายการบังคับบัญชา ขณะที่รากเหง้าของศาลอยู่ที่อุดมการณ์

“ปัญหาของสิ่งที่เรียกว่าระบอบอำนาจนิยม ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น งานชิ้นหนึ่งที่พวกเราทำคือ เรื่องป่าไม้ที่ดิน คสช. ไม่ได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับป่าไม้ที่ดินมากเท่าไหร่ แต่หน่วยงานรัฐอาศัยกฎหมายเดิมๆ หมายความว่าพอใช้กฎหมายเดิมก็สามารถที่จะขับไล่ประชาชนได้ หรือสามารถที่จะคุกคามประชาชนได้ เพราะฉะนั้นในแง่นี้เมื่อพูดถึงระบบที่ทำให้ระบอบอำนาจนิยมทำงาน ผมคิดว่าตัวระบบราชการเป็นปัญหา และเป็นปัญหาสำคัญด้วย”

นอกจากประเด็นระบบราชการ รศ.สมชาย ยังมองย้อนกลับไป 4 ปี ถึงสิ่งที่ให้นิยามว่า ‘วิสามัญมรณะ’ คือ การเสียชีวิตภายใต้การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่สุดของระบอบอำนาจนิยมที่ถูกฝังอยู่ในระบบราชการ ยกตัวอย่างเช่น การเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ ซึ่งมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเสียชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชัยภูมิ ป่าแส

“ตัวระบบราชการของเราเป็นระบบที่มีโครงสร้างของอำนาจนิยมค่อนข้างชัด เมื่อมี คสช. เข้ามา มันจึงพร้อมที่จะสวมเข้าไปกับระบอบอำนาจนิยมแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะกระบวนการยุติธรรม แต่รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน”

มหาวิทยาลัยของการส่งต่ออำนาจนิยม

“คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย พูดกันอย่างตรงๆ คือเป็นกลุ่มคนที่มีความอิสระ มีอำนาจทางสังคมมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เพราะฉะนั้นถ้าถามถึงว่าทำไมเขาถึงไม่พูด ทำไมอาจารย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในคณะนิติศาสตร์ถึงเงียบกันหมด ซึ่งผมไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องของความกลัว”

องค์ประกอบอีกประการของระบอบอำนาจนิยมในมุมมองของ รศ.สมชาย คือตัวมหาวิทยาลัยเองที่มีอภิสิทธิ์ในการนำเสนอประเด็นแหลมคมต่างๆ ทางสังคม และมักจะได้รับการปกป้องหรือเกรงใจจากระบบราชการ มากกว่าประชาชนธรรมดาหรือกลุ่มพลเมืองอื่นๆ ทว่าทำไมบรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยถึงเงียบงันในสี่ปีที่ผ่านมา

รศ.สมชายมองว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เชื่อมต่อกับระบอบอำนาจนิยม จนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเหมือนที่ระบบราชการกำลังเป็นอยู่ และบางมหาวิทยาลัยอาจมีสถานะประหนึ่งกรมด้วยซ้ำ

“คำถามก็คือ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางขนาดนี้ ทำไมถึงเงียบงันขนาดนี้ ถ้าให้ผมเดา นี่ไม่ใช่เรื่องความกลัว นี่ไม่ใช่เรื่องของความอยากเป็นใหญ่เป็นโต แต่ผมคิดว่าบรรดามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ได้เชื่อมต่อกับระบอบอำนาจนิยมไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง 2550 เป็นต้นมา ‘เนติบริกร’ ดูจะมีความจำเป็นในทางการเมือง เขาต้องการหาคนมาเป็นมือเป็นไม้ โดยเลือกเอาจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เช่น ถ้าเอาคณบดีไป อาจารย์ที่อยู่ในคณะนั้นก็จำเป็นต้องเงียบไป”

ความเงียบที่เกิดขึ้นนี้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า การสมยอมในเครือข่ายของระบอบอำนาจนิยม

เวลาเราพูดถึงระบอบอำนาจนิยมในปัจจุบัน มันไม่ใช่เพียงแค่ คสช. แต่ผมคิดว่านี่คือ ‘เผด็จการเชิงเครือข่าย’ มันทำงานได้เพราะมีเครือข่ายสนับสนุนอยู่ สิ่งนี้แหละที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านิติรัฐในสังคมไทยที่พังทลายลงไป”

มรดกที่ไม่มีใครอยากรับ

สิ่งที่เกิดขึ้นสี่ปี ภายใต้ระบอบ คสช. ซึ่ง รศ.สมชายสรุปบทเรียนผ่านการจับกุม การปรับทัศนคติ การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่ยิ่งนานวันผ่านไปกลับไม่ได้แสดงถึงความเข้มแข็งของ คสช. แต่กลับสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของ คสช.

รศ.สมชาย ยกตัวอย่างคดีหนึ่งที่เชียงใหม่ ซึ่งมีผู้นำใบปลิวระบุข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ไปติดตามสถานที่ต่างๆ จึงโดนจับและถูกส่งฟ้อง แต่ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า ถือเป็นการแสดงความเห็นที่สามารถกระทำได้ หรือแม้แต่ความพยายามของ คสช. ในการลดทอนอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อเจอแรงต้าน คสช. จึงต้องถอยด้วยการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทน

ประเด็นสุดท้าย รศ.สมชาย เสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘มรดกของระบอบ คสช.’ ที่เราอาจจำเป็นต้องยอมรับ ทั้งที่ไม่จำเป็น ทั้งที่มรดกควรเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากรับไว้ ดังนั้น ประเด็นที่เสนอจึงเป็นการทบทวนเพื่อหาทางที่เราจะไม่ทำให้มรดกนี้ถูกส่งต่อไปยังอนาคตรุ่นต่อๆ ไป

“ผมคิดว่าเราต้องปฏิเสธในทางกฎหมาย หลังจากนี้สังคมไทยจะไม่เหมือนเดิมแล้ว การรัฐประหารในครั้งนี้ทำให้เราคิดถึงเรื่องราวมากมาย ซึ่งเมื่อตอนพฤษภาฯ 35 เราไม่ได้คิดกันเลย เราไม่เคยคิดถึงการปฏิรูปทหาร เราไม่เคยคิดถึงการจัดการมรดกหรือซากเดนของคณะรัฐประหาร เราไม่เคยคิดถึงการจัดการกับกระบวนการยุติธรรมที่เอียงไปเอียงมา แต่ครั้งนี้มีข้อเสนอเกิดขึ้นเยอะแยะ และผมคิดว่านี่เป็นปัญหาที่คนจำนวนมากรับรู้ เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว สิ่งที่เรียกว่าซากเดนของระบอบ คสช. จะต้องถูกจัดการหลังจากที่มันถูกเปลี่ยนผ่าน นี่เป็นข้อเรียกร้องหนึ่งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” เขากล่าว

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า