แก๊งค้ายา-ขวาสุดขั้ว-ซ้ายตกขอบ การปะทะกันของวัฒนธรรมย่อยในบันทึกประวัติศาสตร์จลาจลฝรั่งเศส

การจลาจลในหลายเมืองใหญ่ของฝรั่งเศสที่เหตุจุดชนวนเกิดจากวัยรุ่นชายวัย 17 ปี เชื้อสายอัลจีเรีย-โมร็อกโก ชื่อ นาเอล เอ็ม (Nahel M) ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในย่านนองแตร์ (Nanterre) ชานกรุงปารีส เพียงเพราะไม่หยุดรถตามที่ตำรวจเรียกให้หยุด บานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 38,500 ล้านบาท ธนาคารมากกว่า 400 แห่ง และร้านค้ากว่า 1,000 แห่ง ถูกผู้ประท้วงทำลายเสียหาย รถกว่า 2,000 คัน ถูกเผา ประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน ผู้ร่วมก่อการจลาจลถูกควบคุมตัวมากกว่า 4,000 คน 

มีรายงานการบาดเจ็บทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่และฝั่งประชาชน ก่อนเหตุการณ์จะเริ่มสงบลงเมื่อเวลาผ่านไป 6 วัน กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของฝรั่งเศส ไม่ใช่ด้วยระดับความเสียหาย แต่ด้วยการเป็นเหตุการณ์ที่ดึงให้ความจริงที่ซ่อนอยู่ใต้ชั้นผิวหนังของการเป็นประเทศที่สงบ สวยงาม และส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสออกมาให้โลกมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ธุรกิจค้ายา อุตสาหกรรมพันล้านกับบทบาทหน่วยควบคุมฝูงชนตัวจริง

สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อมานานเกือบ 1 สัปดาห์ ลดกำลังลงเหลือเพียงการประท้วงประปราย ไม่ใช่เพราะความสามารถของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ไม่ใช่เพราะการประกาศเคอร์ฟิว หรือกำลังของตำรวจ หน่วยควบคุมฝูงชน และทหารที่ถูกระดมเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รวมกว่า 45,000 นาย พร้อมรถยานเกราะ แต่คนที่สามารถสั่งให้ผู้ก่อเหตุจลาจล มือวางเพลิง หัวขโมย ไปจนถึงกลุ่มคนที่ออกมาปั่นป่วนสถานการณ์ให้รุนแรงขึ้น หยุดการกระทำลงได้คือ กลุ่มคนที่แม้แต่ประธานาธิบดีเองก็นึกไม่ถึง 

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่การประท้วงยังไม่มีทีท่าว่าจะลดความรุนแรงลง ประธานาธิบดีมาครงแวะไปที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในอารรองดีสมงต์ (Arrondissements) ที่ 17 (เขตการปกครองของฝรั่งเศสเทียบได้กับเทศบาลในประเทศไทย) ในกรุงปารีส เพียงเพื่อจะได้พบกับความจริงอันขมขื่นที่กลายเป็นความอับอายของเขาและประเทศฝรั่งเศส เมื่อความจริงนั้นถูกเผยแพร่ผ่านสื่อของฝรั่งเศสเอง

“เด็กพวกนี้ฟังใครบ้าง” ประธานาธิบดีมาครงถามนายตำรวจผู้หนึ่ง หลังจากพบว่าอำนาจรัฐและคำประกาศเคอร์ฟิวที่เขาลงนามในคืนวันพฤหัสบดีก่อนหน้านั้นไม่อาจหยุดกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นกำลังสำคัญหลักของการก่อจลาจลได้ 

“แก๊งค้ายาครับ ท่านประธานาธิบดี” นายตำรวจผู้นั้นตอบ 

บทสนทนาดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ในสื่อของประเทศอังกฤษ โดยอ้างที่มาจากสื่อในฝรั่งเศสอีกทีหนึ่ง ภายหลังมีการยอมรับจากตำรวจเองว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการควบคุมฝูงชนให้สงบลงได้จริงๆ คือบรรดาพ่อค้ายาที่ประกอบธุรกิจในเมืองมาร์กเซย (Marseille) แม้จะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ 

“พวกพ่อค้ายานั่นแหละบอกให้กลุ่มที่ออกมาก่อจลาจลให้หยุดสร้างความรุนแรง พวกเขาจะได้กลับมาค้ายาต่อได้สักที” รูดี มันนา (Rudy Manna) โฆษกของสหภาพพันธมิตรตำรวจโซนใต้ (Sud Alliance Police Nationale) กล่าวกับสื่อในฝรั่งเศส

มันนาบอกว่าการมีตำรวจจำนวนมากอยู่ในตัวเมืองสำคัญทำให้ธุรกิจค้ายาไม่สามารถดำเนินไปได้ บรรดาพ่อค้ายาจึงต้องลุกมาขยับตัวเพื่อให้เมืองกลับสู่ความสงบสุข อันหมายถึงความเป็นไปได้ในการรับและส่งยาเสพติดในเมืองอีกครั้ง

ทำไมเหล่าผู้ก่อการจลาจลถึงต้องเชื่อฟังพ่อค้ายา ทั้งที่พวกเขาเองอาจไม่ได้เกี่ยวพันกับธุรกิจนั้น คำตอบอยู่ที่สถิติการเสียชีวิตของผู้คนในเมืองมาร์กเซยที่มีตัวเลขว่า ปีที่แล้วมีผู้ถูกแก๊งค้ายาสังหารอย่างโหดเหี้ยมถึง 32 ราย เฉพาะปีนี้ที่เพิ่งผ่านมา 6 เดือน มีผู้ถูกสังหารไปแล้ว 23 ราย การลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจและอิทธิพลของพ่อค้ายาจึงเป็นสิ่งที่น้อยคนในมาร์กเซยจะกล้าทำ

มาร์กเซย คือเมืองใหญ่อันดับ 2 ของฝรั่งเศส เป็นเมืองท่าริมทะเลที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของประชากรทั้งเชื้อชาติและศาสนา เป็นเมืองท่องเที่ยวที่อุดมด้วยวัฒนธรรม ที่ตั้งของมหาวิหารน็อทร์ดาม เดอ ลา การ์ด (Notre-Dame de la garde) ที่หลายคนใฝ่ฝันไปเยือน แต่สำหรับธุรกิจค้ายา ที่นี่คือเมืองหลวงของอุตสาหกรรมนอกกฎหมาย 

ว่ากันว่าเม็ดเงินของการค้ายาที่เมืองท่าริมทะเลแห่งนี้สูงถึง 3,000 ล้านยูโร (กว่า 100,000 ล้านบาท) และการจลาจลครั้งนี้ที่เริ่มจากย่านนองแตร์ในกรุงปารีสขยายตัวมาถึงมาร์กเซยที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ในระดับความรุนแรงที่มากกว่าที่เกิดขึ้นกับเมืองทางตอนเหนืออย่างเทียบกันไม่ได้

photo: bfmtv.com

เฟรเดริก ปลอแกง (Frédéric Ploquin) ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรอาชญากรรม อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “บรรดาพ่อค้ายาก็เหมือนคนทำมาค้าขายทั่วไป พวกเขาเป็นเจ้าของร้านค้าที่ยอมรับว่าตัวเองขายของผิดกฎหมาย แต่ถึงยังไงก็ยังเป็นเจ้าของร้าน และก็เหมือนเจ้าของร้านค้าทุกคน ที่ไม่อยากเห็นใครมาทุบกระจกร้านตัวเอง” 

ปลอแกงบอกว่า บรรดาแก๊งค้ายาทั้งในมาร์กเซยและเมืองอื่นๆ อย่างลียง (Lyon) และปารีส ไม่เคยสนใจกฎหมาย พวกนี้ติดรูปสินค้าตัวเองตามกำแพงในเมือง ไม่ใช่เพียงเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้กับบรรดาพ่อค้ายามากถึงวันละ 100,000 ยูโร (ประมาณ 3.8 ล้านบาท) แต่ยังเพื่อแสดงให้รัฐเห็นถึงอำนาจและอิทธิพลของตนเอง 

“พวกนั้นแค่ปล่อยให้เด็กๆ วิ่งเล่นอย่างบ้าคลั่งวันสองวัน แล้วก็ออกคำสั่งห้าม การปล่อยให้บรรดาวัยรุ่นออกไปปล้นและเผาทำลายเมือง ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงอาณาเขตของพ่อค้ายาด้วย เป็นการส่งสัญญาณถึงตำรวจว่า ออกไป ไม่ต้องมายุ่ง นี่พื้นที่เรา เราคือกฎหมาย” ปลอแกงกล่าวถึงบทบาทของขบวนการค้ายาในมาร์กเซยกับการจลาจลครั้งนี้

เกวิน มอร์ติเมอร์ (Gavin Mortimer) นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งอาศัยอยู่ในปารีสนานกว่า 12 ปี เขียนบทความลงนิตยสารข่าว The Spectator ของอังกฤษ เมื่อไม่นานมานี้ อ้างถึงถ้อยคำของคารีน ซาบูร์ริน (Harine Sabourin) ผู้พิพากษาคนหนึ่งของเมืองมาร์กเซย ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับแก๊งค้ายาในเมืองว่า ทั้งสองฝ่ายมีการทำสิ่งที่คล้ายกับ ‘สัญญาประชาคม’ ร่วมกันว่า “จะไม่มีสถาบันใดที่ไม่เคารพตำรวจและระบบยุติธรรม ในขณะเดียวกันกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาจะถูกมองข้าม เช่น จุดซื้อขายยาที่ใกล้สถานีตำรวจจะต้องอยู่ได้”

ปฏิเสธได้ยากว่า การเกิดขึ้นและจบลงของจลาจลในมาร์กเซยไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิของวัฒนธรรมแห่งขบวนการค้ายาเสพติดที่แอบซ่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมาร์กเซยที่โลกมองด้วยความยกย่องชื่นชมมาตลอด จนทำให้ได้รับเลือกเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรปประจำปี ค.ศ. 2013 

นาเอล เอ็ม เหยื่อขบวนการค้ายาเสพติด สังคมแห่งความรุนแรง และวัฒนธรรมเหยียดผิว

ย้อนกลับไปวันที่ 27 มิถุนายน 2023 ตอนที่นาเอลถูกตำรวจในนองแตร์เรียกให้หยุดรถ เพราะรถที่เขาขับติดป้ายทะเบียนประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปในฝรั่งเศสว่า ส่วนใหญ่รถทะเบียนโปแลนด์ที่วิ่งตามท้องถนนเป็นรถที่ถูกขโมยมาจากประเทศเยอรมนีแล้วนำไปติดป้ายทะเบียนโปแลนด์ ก่อนจะถูกบรรดาพ่อค้ายาเสพติดนำกลับมาวิ่งในฝรั่งเศส 

เมื่อถูกตำรวจเรียกให้หยุด เขาเลือกที่จะเร่งเครื่องหนีแทนการหยุดแล้วลงมาเจรจา กระสุนปืนจึงพุ่งจากปากกระบอกปืนในมือตำรวจเข้าไปยังร่างของเขาที่ยังคงสามารถขับรถพาตัวเองออกไปจากจุดเกิดเหตุก่อนจะพุ่งชนสิ่งกีดขวางที่อยู่ไม่ไกล นาเอลเสียชีวิตในรถ เหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกภาพไว้ในกล้องวงจรปิด

แน่นอนว่าทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ไม่ควรมีเด็กหนุ่มวัย 17 ปี คนใดต้องถูกตำรวจจราจรยิงจนเสียชีวิต เพียงเพราะขับรถต้องสงสัยและปฏิเสธการหยุดให้ตรวจค้น แต่ไม่ใช่ในฝรั่งเศส

จอห์น ลิคฟิลด์ (John Lichfield) อดีตบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวประจำกรุงปารีสของหนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนท์ (The Independent) ของเกาะอังกฤษนานกว่า 20 ปี เขียนบทความชิ้นหนึ่งในช่วงที่การจลาจลกำลังรุนแรง ให้ข้อมูลว่าเด็กหนุ่มเชื้อสายแอฟริกันและแอฟริกันเหนือ มีแนวโน้มจะถูกตำรวจฝรั่งเศสเรียกให้หยุดเพื่อตรวจค้นมากกว่าเด็กหนุ่มผิวขาว 

“ตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา มีเด็กหนุ่มเชื้อสายแอฟริกันหรือแอฟริกันเหนือถูกยิงตาย 17 คน หลังปฏิเสธคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เรียกให้หยุดตรวจ” เขากล่าว

สำหรับลิคฟิลด์แล้ว นาเอลคือเหยื่อรายล่าสุดของวัฒนธรรมการเหยียดผิวที่ดำรงอยู่ในสังคมฝรั่งเศส

สำหรับย่าของนาเอล มองว่าหลานชายตนเองไม่เพียงเป็นเหยื่อของการเหยียดผิว แต่ยังถูกสังคมแห่งความรุนแรงใช้เป็นเครื่องมือ

“โชคดีที่มีตำรวจอยู่ ผู้คนพากันทำลายข้าวของและสร้างความเสียหาย ฉันได้แต่ตะโกนบอกให้หยุด พวกเขากำลังใช้นาเอลเป็นข้ออ้าง” นาเดีย ย่าของนาเอลให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ในฝรั่งเศส 

ขวาสุดขั้ว VS ซ้ายตกขอบ ภาพที่ไม่ปรากฏของการจลาจล

นอกเหนือจากการยืดเส้นยืดสายของขบวนการค้ายาในมาร์กเซยเพื่อเตือนให้ตำรวจได้เห็นถึงอำนาจของตนเองแล้ว สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการจลาจลที่หากมองผิวเผินแล้วอาจไม่เห็น คือการช่วงชิงพื้นที่กันระหว่างแนวคิดขวาสุดขั้ว กับซ้ายตกขอบ ที่ยังดำรงอยู่ในฝรั่งเศส

กลุ่มขวาสุดขั้วพยายามสร้างภาพให้เห็นว่า ความรุนแรงทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ การมี ‘คนต่างชาติ’ ในฝรั่งเศสมากเกินไป ‘คนต่างชาติ’ ที่เน้นความหมายไปยังกลุ่มคนผิวดำที่ถูกสร้างภาพลักษณ์เชื่อมโยงไปถึงการค้ายา ความรุนแรง รวมถึงความยากจน

ภายหลังการเสียชีวิตของนาเอล มีความพยายามเชื่อมโยงไปถึงมิวสิควิดีโอเพลง Ragna ของจูล (Jul) ศิลปินเพลงแร็ป ชาวฝรั่งเศส ซึ่งนาเอลร่วมแสดงด้วย เนื้อเพลงท่อนหนึ่งร้องว่า “J’côtoie des gens qui font des trucs dans l’illicite en tous genres” (ฉันเดินกระทบไหล่กับคนที่ทำผิดกฎหมายทุกประเภท) 

แม้จะแสดงความเห็นต่อสาธารณะว่า นาเอลไม่สมควรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต แต่กลุ่มขวาสุดขั้วก็พยายามโน้มน้าวให้สังคมเชื่อว่า หากนาเอลยังมีชีวิตอยู่ เขาน่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมย่อยของฝรั่งเศสที่ยกย่องอาชญากรรมและความรุนแรง

กลุ่มขวาสุดขั้วยังทำสิ่งที่สังคมคาดไม่ถึง นั่นคือ การระดมทุนผ่านเว็บไซต์ GoFundMe เพื่อมอบให้กับครอบครัวนายตำรวจที่เป็นคนยิงนาเอล และถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมไปแล้ว กองทุนดังกล่าวตั้งโดย ฌอง เมสซิยา (Jean Messiha) นักเขียนขวาจัดของฝรั่งเศส โฆษกของเอริค เซมมัวร์ (Éric Zemmour) นักการเมืองผู้ได้ฉายาว่า ‘ทรัมป์แห่งฝรั่งเศส’ อดีตผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 

การตั้งกองทุนของเมสซิยา เกิดขึ้นควบคู่กับการตั้งกองทุนสนับสนุนครอบครัวของนาเอลที่มีผู้ตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ ตัวเลขในเช้าวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้บริจาคเข้ากองทุนสำหรับครอบครัวนายตำรวจมากกว่า 85,000 คน ยอดเงินบริจาค 1.6 ล้านยูโร (ประมาณ 61 ล้านบาท) ส่วนกองทุนของนาเอลมีผู้บริจาคเพียงประมาณ 21,000 คน ยอดเงินบริจาค 400,000 ยูโร (ประมาณ 15 ล้านบาท) 

บรรดานักเคลื่อนไหวขวาจัดมองว่า การเปิดกองทุนบริจาคของทั้ง 2 ฝ่าย คือบททดสอบความเป็นซ้าย-ขวาของฝรั่งเศส ความแตกต่างของยอดเงินบริจาคถูกหยิบมาเป็นเครื่องตัดสินว่า ชาวฝรั่งเศสกำลังมีความเห็นว่ากลุ่มผู้ก่อจลาจลเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคารพฝรั่งเศส และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความพยายามทำตัวเป็นสังคมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสล้มเหลวลงแล้ว มีการกล่าวหากลุ่มคนที่เห็นใจนาเอลว่ากำลังพยายามสร้างคนให้เป็นเทวดาหรือสร้างฆราวาสให้เป็นนักบุญ (secular canonization) เช่นเดียวกับที่โลกเคยกระทำกับจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวชาวอเมริกันใช้ความรุนแรงในการควบคุมตัวจนถึงแก่ความตายกลางท้องถนนใน ค.ศ. 2020 จนก่อให้เกิดกระแส Black Lives Matter (ผิวดำก็คน) ไปทั่วโลก

ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มซ้ายสุดขั้วอย่างฌ็อง-ลุค เมลองชง (Jean-Luc Mélenchon) ที่ปฏิเสธการประณามการจลาจลทั้งหมด รวมถึงการปล้นสะดม “ผมไม่ได้เรียกร้องความสงบ แต่ผมเรียกร้องความยุติธรรม”

ฌอง-ลุค เมลองชง (Jean-Luc Mélenchon)

ความเห็นที่ปรากฏในฝั่งซ้ายตกขอบ โลกสวยสุดขั้วของเมลองชงสร้างความไม่พอใจให้กับนักการเมืองฝ่ายซ้ายคนอื่นๆ ที่รู้สึกว่า ถึงอย่างไรการก่อจลาจลก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องยอมรับได้ 

กลุ่มซ้ายตกขอบยังกล่าวประณามนักการเมืองขวาสุดขั้วอย่างเซมมัวร์และ มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) ผู้เข้าสู่รอบตัดสินในสนามเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ค.ศ. 2017 พร้อมด้วยจุดยืนทางการเมืองต่อต้านผู้อพยพ ว่าไม่ยอมรับความจริงว่าเมืองที่เจริญและมั่งคั่งจะไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่มีผู้อพยพจากหลากหลายเชื้อชาติที่กำลังทำงานหนักอย่างทุ่มเทในเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศส

ถึงวันนี้เหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในมาร์กเซยและเมืองอื่นๆ เริ่มลดน้อยลง ฝรั่งเศสขยับเข้าสู่ความสงบ แต่แรงปะทะระหว่างวัฒนธรรมย่อยที่เคยซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ ยังคงเดินหน้าต่อไป จนหลายคนวิตกว่าการสังหารนาเอล เอ็ม ที่ชาวฝรั่งเศสไม่ได้ตอบรับต่อชะตากรรมของเขามากเท่าฟลอยด์ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฝรั่งเศสไม่เหมือนเดิม

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า