เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
เท่าที่ความทรงจำยังไม่เลอะเลือน สมัยเมื่ออายุ 13-14 ปี เป็นครั้งแรกที่รู้จักเพื่อนร่วมชั้นเรียนระดับมัธยมในสภาพของเพศทางเลือก ในความหมายของ ‘ตัวเป็นๆ’ ไม่ใช่ภาพจากสื่อโทรทัศน์ อีกหลายปีถัดจากนั้น จึงเริ่มรู้จักเพศทางเลือกที่มีมากกว่า ‘ตุ๊ด’ ‘กะเทย’ ‘ทอม’ ในขณะที่ ‘ดี้’ เป็นคำที่เพิ่งมารู้จักในช่วงผ่านพ้นมัธยมแล้ว แม้จะค่อนข้างแน่ใจว่าไม่เคยล้อเลียนเพื่อนร่วมห้องที่แตกต่างออกไป แต่ก็จดจำได้เช่นกันว่าไม่ได้ชอบอะไรนัก ออกจะขบขันร่วมไปกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วยซ้ำ
ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ สมัยนั้นถือเป็นความรู้ที่ยังห่างไกล และแทบไม่เคยสนใจ ทว่าผ่านพ้นกาลเวลามาถึงปัจจุบัน แม้จะรู้จักความหมายของคำแต่ละคำที่ใช้จำกัดเพศที่แตกต่างออกไปจากเพศชายและหญิงมากขึ้น กระนั้น ถ้าจะบอกว่าเข้าใจความหมายของเพศทางเลือกมากขึ้นหรือไม่? บอกเลยว่าไม่
อาจเพราะแบบนั้น เมื่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศสภาพยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดในสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจัดวงพูดคุยในหัวข้อ ‘สิทธิเพศทางเลือกกับจุดยืนในประเทศไทย: สังคม กฎหมาย การทำงาน’ อย่างน้อยก็เพื่อจะสร้างความเข้าอกเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น
“จริงๆ แล้วพวกตุ๊ด กะเทย หรือเพศทางเลือก แนบแน่นกับสังคมไทยมากเลยนะ เราจะเห็นเพศทางเลือกในสื่อมากมาย ถ้าไม่เป็นเพื่อนสาวกับนางเอก ก็เป็นเพื่อนสาวกับตัวร้าย หรือไม่ก็ตัวตลก เรียกว่าถ้าในฐานะของความบันเทิง สังคมไทยดูจะยอมรับเพศทางเลือกได้มากกว่า แต่ถ้าหากเพศทางเลือกมาคุยในประเด็นที่เป็นทางการ ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยสนกัน” วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม มองว่าสังคมไทยรู้จักเพศทางเลือกในฐานะของ ‘ตุ๊ด’ และ ‘กะเทย’ มาเนิ่นนานกว่าสี่สิบปีแล้ว
ย้อนกลับไปในสมัยนั้น วิโรจน์แบ่งปันความประสบการณ์ไว้ว่า คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ค่อนข้างมีความคิดเสรีและให้การยอมรับเพศทางเลือก ซึ่งรวมถึงตนเองด้วย โดยไม่เคยมีกฎเกณฑ์แบบจารีตหรือห้ามการแต่งกายที่ผิดไปจากเพศสภาพ ทว่าวิโรจน์เองก็ยังคงเลือกที่จะแต่งกายเป็นชาย กระนั้นก็ไม่เคยปิดบังความรู้สึกและกิริยาอาการ หรือเกรงกลัวการแสดงออกให้สังคมรับรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด
“ระหว่างยุคเบบี้บูมมีเคสหนึ่งที่เจ็บปวดมาก มีเพื่อนคนหนึ่ง นางเรียนศิริราช นางสวยมาก แต่งเริ่ดมาก ขณะที่ในปี 2520 คณบดีศิลปศาสตร์ (ธรรมศาสตร์) ให้ใช้คำนำหน้า ‘นางสาว’ ขึ้นรับปริญญาได้ แต่อีกฟากหนึ่ง (ศิริราช) คณบดีแพทยศาสตร์เรียกนางไปพบ บอกว่าฉันดูประวัติเธอ คะแนนเธอ เธอไบรท์มาก แต่ถ้าเธอจะเรียนแพทย์ เธอต้องหยุดกินยาเพิ่มฮอร์โมน และต้องไปกล้อนผม ถ้าเธอจะแต่งหญิงแบบนี้ เธอต้องไปเรียนเภสัชฯ ด้วยความที่นางรักศักดิ์ศรีความเป็นหญิง นางจึงยอมออกจากคณะแพทย์ไปเรียนเภสัชฯ”
นอกจากกรอบคิดที่ยังมีข้อจำกัดอยู่ในบางสถานศึกษา และอยู่ในบางความรู้สึกของผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘ครู’ วิโรจน์ยังสะท้อนอีกปัญหาในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ‘ฟ้าสีรุ้ง’ คนแรกของประเทศไทยไว้ว่า กลุ่มเพศทางเลือกในอดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่ถูกนำเสนอในแง่ที่พ้นไปจากกรอบของลักษณาการอันกรีดกราย หากไม่ใช่นักร้องนักเต้น ก็กลายเป็นตัวตลกในสายตาผู้คน ซึ่งดูเหมือนจะเข้ากันได้ดีกับสังคมไทยที่แทบไม่เคยถกเถียงกันให้สุด แต่มักทำตลกกลบเกลื่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องพูดถึงประเด็นความเหยียดหยามที่ซ่อนอยู่ภายใต้เสียงหัวเราะ
ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้
ในแง่ของคำจำกัดความ ผศ.มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเด็กและเยาวชน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองในฐานะนักกฎหมาย และความพยายามในการร่างกฎหมายรับรองเพศ โดยมีสาระสำคัญคือ
‘คำนำหน้าชื่อ’ ในเอกสารสำคัญของทางราชการกับการใช้ชีวิตประจำวันยังคงมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นปัญหารากฐานที่นำมาสู่ประเด็นพื้นฐานในการใช้ชีวิต และการไม่มีที่ยืนในสังคมของกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งหากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รับรองเพศ จะเป็นการปลดล็อคปัญหาพื้นฐานนี้ได้ โดยเพศทางเลือกที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้ จะสามารถเลือกใช้คำนำหน้าได้ตามเพศวิถี และจะได้รับผลตามกฎหมายของเพศนั้นๆ ซึ่งในมุมของอาจารย์มาตาลักษณ์ การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อยังถือเป็นการลดปัญหาความไม่ยอมรับของสังคมอีกด้วย
สอดคล้องกับมุมมองของวิโรจน์ที่กล่าวว่า ที่จริงคำว่า ‘เพศทางเลือก’ อยากให้มีการบัญญัติใช้คำอื่นที่เหมาะสมกว่านี้แทน เพราะคนแบบตนเองและกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้เกิดมาแล้ว ‘เลือก’ ที่จะเป็นแบบนี้
“ฉันไม่ได้เกิดและเติบโตมาเพื่อจะบอกว่าฉันเลือกแบบนี้ เธอเลือกเป็นผู้ชายได้ไหมล่ะ? เธอเลือกเป็นผู้หญิงได้หรือเปล่า? ทุกคนเกิดมาก็เป็นแบบนี้เอง ฉันก็ born to be เป็นแบบนี้” วิโรจน์ระบาย
ประเด็นต่อมา ผศ.มาตาลักษณ์ อธิบายในแง่ข้อกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมด้านการทำงานกับทัศนคติของคนในสังคม เชื่อมโยงจากประเด็นเรื่องคำนำหน้าชื่อในเอกสารสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงอาชีพการงาน และแม้ในปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมด้านการทำงาน ขึ้นมารองรับปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ก็บรรเทาได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รับรองเพศ จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม และช่วยลดความไม่เท่าเทียมของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมด้านการทำงาน
คนไทยเป็นชนชาติที่รู้หลบเป็นหลีก
ทั้งข้อจำกัดเรื่อง ‘คำนำหน้าชื่อ’ ที่ส่งผลต่อเนื่องมายังทัศนคติต่อสังคมการทำงานที่ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม และอาจก่อให้เกิดบรรยากาศที่อึดอัดต่อเพศทางเลือก มาตาลักษณ์ชี้ว่า ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยที่เผชิญปัญหานี้ แม้แต่ประเทศฝรั่งเศสก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ทว่าพลเมืองในประเทศฝรั่งเศสนั้น อาจจะเรียกได้ว่าก้าวหน้าไปไกลกว่าตัวกฎหมายและสังคม จึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อรองรับกลุ่มคนข้ามเพศให้มีความเท่าเทียมกับกลุ่มคนที่มีเพศสภาพตรงกับในเอกสารสำคัญ
ผศ.มาตาลักษณ์ ยกตัวอย่างกรณีของ Jacqueline Charlotte Dufresnoy บุคคลข้ามเพศคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนเพศได้ในปี ค.ศ. 1960 โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1) ผู้ร้องมีอาการทางจิตที่คิดว่าตนเองมีเพศแตกต่างจากเพศโดยธรรมชาติ หรือ Syndrome de Transsexualism
2) ผู้ร้องได้สูญเสียเพศเดิมของตน
3) ผู้ร้องดำรงตนในสังคมตรงกับเพศสภาพที่แสดงออกมาใหม่
นอกจากนี้ เงื่อนไขในการขอรับรองเพศตามกฎหมายฝรั่งเศส ยังไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ การหย่าร้าง หรือการมีบุตร แต่จำกัดในเรื่องแปลงเพศ โดยต้องมีการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว และหากไม่ผ่าตัดแปลงเพศ ผู้ร้องจะต้องได้รับการรับรองว่าไม่สามารถกลับเป็นเพศเดิมได้อีก อีกทั้งต้องมีการใช้ชีวิตตามเพศที่ประสงค์จะเปลี่ยนเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี
แตกต่างจากประเทศอังกฤษที่กำหนดให้ผู้ร้องต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากสมรสแล้ว การสมรสต้องสิ้นสุดลงตามกฎหมายแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นบุคคลข้ามเพศ ที่อาจจะถูกล่อลวงเพื่อสินในการสมรสด้วย ทำให้นำไปสู่ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.รับรองเพศ ที่มาตาลักษณ์ระบุว่า
กฎหมายรับรองความเป็นครอบครัว กฎหมายการจดทะเบียนสมรสกับการใช้ชีวิตครอบครัว ที่เกิดขึ้นจากการที่ตัวกฎหมายไม่รองรับการใช้ชีวิตคู่ของเพศทางเลือก (ด้วยประเด็นการถูกล่อลวง) จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการใช้สิทธิแทนคู่สมรส สิทธิในกรณีคู่สมรสเสียชีวิต ไปจนถึงการรับรองสิทธิบุตรบุญธรรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ ต่างต้องผ่านการเรียกร้องโดยพลเมืองที่เห็นว่ากลุ่มคนข้ามเพศทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นมนุษย์เหมือนๆ กันกับตน และพวกเขาสมควรได้รับสิทธิในฐานะของมนุษย์ ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติทางเพศ
“กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้สำเร็จด้วยกลุ่มคนที่เป็นเพศทางเลือก แต่สำเร็จได้ด้วยกลุ่มคนที่เป็นเพศหลักในสังคม คือกลุ่มคนที่เป็นเพศชายและหญิง” มาตาลักษณ์กล่าว
แวดวงการทำงานกับการเลือกปฏิบัติ
ในฐานะบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวิน ศรีสมวัฒน สะท้อนปัญหาไว้ว่า การไม่ยอมรับบุคคลที่เป็นเพศทางเลือกในสังคมไทยยังคงมีอยู่ในสถานประกอบการ บางบริษัทเมื่อมีการสัมภาษณ์งานแล้วกลับปฏิเสธการรับเข้าทำงาน โดยอ้างกฎระเบียบบริษัทที่ไม่รับบุคคลซึ่งแต่งกายตรงข้ามกับสถานภาพทางเพศของตนเอง ส่งผลให้ชวินต้องหาสถานที่ฝึกงานใหม่ จนอาจจะกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า เกียรตินิยมเหรียญทองอันดับ 1 ไม่ได้ช่วยให้ผู้สัมภาษณ์มองเห็นถึงศักยภาพภายใต้เครื่องแต่งกายที่ตรงข้ามกับสถานภาพทางเพศของตัวชวินเอง
“หาก พ.ร.บ.รับรองเพศ ผ่านการอนุมัติและประกาศใช้ โดยส่วนตัวมองว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญยิ่งในการทำลายกำแพงของความเหลื่อมล้ำให้เบาบางลง เกิดความเข้าใจที่ดีและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล รวมถึงไม่ตัดสินบุคคลอื่นเพียงแค่เพศสภาพ”
อนาคตของ พ.ร.บ.รับรองเพศ
ผศ.มาตาลักษณ์ ไม่ปฏิเสธว่า ทุกวันนี้สังคมไทยยังคงเป็นสังคมที่ไม่ได้ก้าวนำหน้ากฎหมายในเรื่องเพศทางเลือกเหมือนอย่างในฝรั่งเศสหรืออังกฤษ แม้สังคมบางส่วนจะให้การยอมรับ แต่ในระดับของข้อบังคับกฎหมายที่จะส่งผลให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ์ของบุคคลที่เป็นทั้งเพศทางเลือกและบุคคลข้ามเพศ ยังคงต้องอาศัยข้อกฎหมายอื่นเพื่อมาปกป้องสิทธิของเพศทางเลือก
ในสถานการณ์ปัจจุบัน มาตาลักษณ์กล่าวอย่างค่อนข้างกังวลว่า พ.ร.บ.รับรองเพศ อาจจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ในเร็ววัน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องถูกนำมาพิจารณาเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย
“ดิฉันหวังว่า สังคมจะตื่นตัวและเรียกร้องให้กฎหมายนี้เกิดขึ้น เพราะถ้ามีแรงกดดันจากสังคม เชื่อว่ากฎหมายรับรองเพศก็จะมีโอกาสได้รับการพิจารณา”
วงสนทนาจบลง พร้อมความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธอีกเช่นกันว่า ภายใต้รัฐบาลทหารที่ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน และสังคมที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมมากไปกว่าการจัดที่ทางให้กับกลุ่มคนจำเพาะกลุ่ม เพื่อสลักภาพพวกเขาให้อยู่แต่ในความคิดอันแช่แข็งบนทัศนคติที่จำแนกเรา/เขาด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี และศีลธรรม ความหวังที่จะสลายเมฆหมอกของอคติที่บังตาอาจไม่ใช่แค่ในเร็ววัน แต่อาจไม่มีวันมาถึง