การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน: จากจูบกลางสภา สู่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และการสู่ขิตของ จอห์น วิญญู

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

จากการเรียกร้องแก้กฎหมายสมรสในช่วงปลายปีที่แล้วที่ได้นำมาสู่ประเด็นถกเถียงเรื่อง ‘จูบกลางสภา’ จนกระทั่งถึงกระแสเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เมื่อสองสามวันก่อนซึ่งเป็นที่พูดถึงในสังคมไม่น้อยเลยทีเดียว บางคนเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่บางคนกลับบอกว่ามันคือกับดัก ซึ่งชวนให้สังคมถกเถียงกันต่อว่าสรุปแล้ว พ.ร.บ.คู่ชีวิต เทียบเท่ากับร่างกฎหมายคู่สมรสหรือไม่ แตกต่างกันอย่างไร และจากการแสดงความคิดเห็นของ จอห์น วิญญู ต่อประเด็นการเรียกร้องสิทธิของความหลากหลายทางเพศในรายการ Daily Topics ที่มีผู้ติดตามไม่น้อยโดยเฉพาะใน Twitter นำมาสู่ประเด็นถกเถียงและความไม่พอใจ จนจอห์นกล่าวขอโทษในวันต่อมา และประกาศยุติการทำรายการชั่วคราวเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เราเรียนรู้อะไรบ้าง? และมีประเด็นใดให้ชวนคิดบ้าง?

เมื่อความรักพ่ายแพ้ต่อความดี และการจูบสยบยอมต่อกาลเทศะ

การผลักดันการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลผลักดันตั้งแต่แรกเริ่มในนามของพรรคอนาคตใหม่ และหากจำกันได้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เราเคยมีประเด็นเรื่องจูบในสภาที่มีคนแสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันมากมายว่าเหมาะสมหรือไม่ จนทำให้ประเด็นความสนใจต่อเนื้อหาของข้อเสนอเรื่องการแก้ไขกฎหมายสมรสถูกเบี่ยงเบนไปเป็นเรื่องของความเหมาะสมของพฤติกรรมการเรียกร้องของคนรักเพศเดียวกัน

การจูบกลางสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในหมู่คนรักเพศเดียวกัน บางคนเชื่อว่าจูบกันเพื่อประชดประชัน เลียนแบบแคมเปญ Love Wins ของฝรั่ง หรือบางคนอธิบายว่าการจูบเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้คนอื่นๆ มาตัดสินคนรักเพศเดียวกันว่ามีความประพฤติแย่และไม่รู้จักกาลเทศะ จนบุคคลทั้งคู่ที่จูบกันกลางสภาต้องออกมาอธิบายว่า

“ผมขอเรียนว่าการจูบดังกล่าวไม่ได้กระทำไปด้วยความใคร่ หรือแม้แต่เพราะเกิดอารมณ์ทางเพศ แต่เป็นไปเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับ สังคมไทยว่า นี่คือสิ่งที่พึงกระทำได้ไม่ว่าจะเป็นที่ใด และนี่ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย”

เจตนารมณ์ของผู้กระทำจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการทางการเมืองที่กำลังท้าทายสังคม เป็นยุทธวิธีแบบหนึ่งที่ใช้เรียกความสนใจให้คนในสังคมเกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยน และนำมาสู่ความเข้าใจที่จะสร้างพื้นฐานของสำนึกแห่งความเท่าเทียมทางเพศ

และเมื่อมีประเด็น การช่วงชิงความหมายของการกระทำก็ย่อมต้องเกิดขึ้นตามมา ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำนี้คงขวางหูขวางตาอนุรักษ์นิยมที่อดรนทนไม่ไหวกับการจูบแบบประเจิดประเจ้อ รวมถึงผู้เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่ต้องออกมาประณามการกระทำนี้ แต่เราในฐานะของคนรักเพศเดียวกัน หรือจริงๆ แล้วคือใครก็ตามที่เชื่อมั่นในเสรีภาพและความเท่าเทียม เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกันช่วงชิงการนิยามความหมายของการกระทำนี้เพื่อยืนยันหลักการเรื่องเสรีภาพการแสดงออกตราบใดก็ตามที่มันไม่ใช่ความรุนแรงหรืออาชญากรรม และนำประเด็นนี้ไปสู่การถกเถียงเรื่องเพศในวงกว้าง และข้อถกเถียงที่ลึกพอที่จะทำให้สังคมเข้าใจ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากลับใช้ชุดความคิดที่ว่าด้วยศีลธรรมอันดีมาตัดสินจนปิดหูปิดตามองไม่เห็นถึงความพยายามในการเรียกร้องสิทธิของเขาทั้งคู่ เรายึดโยงตัวเองกับการเป็นคนดี เพียงเพราะถูกสอนมาว่า “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” เราพอใจกับที่ทางที่สังคมนี้จัดไว้ให้ เป็นข้อยกเว้น เป็นคนพิเศษ เป็นตัวตลก… เราพอใจกับชีวิตแบบนี้จนมองไม่เห็นโอกาสที่จะฉกฉวยและใช้ประโยชน์จากมันเพื่อที่จะลุกขึ้นมาช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดในสังคม เราเป็นคนรักเพศเดียวกันแบบไทยๆ ที่มองว่าการต่อสู้เรียกร้องเป็นเรื่องเลอะเทอะของคนที่สักแต่อ้างเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนมุ่งเน้นแต่จะทำลายเสาหลักของชาติ

ท้ายที่สุด ผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องทนแรงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ไหวจนต้องออกมาขอโทษขอโพยกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพียงเพราะสังคม ‘ไม่เอาด้วย’ แต่ในทางกลับกัน หากการต่อสู้ช่วงชิงความหมายของการจูบเกิดขึ้นอย่างจริงจังและไม่พ่ายแพ้แก่อุดมการณ์ศีลธรรมอันดี คำขอโทษก็คงเป็นเรื่องไม่จำเป็นและสังคมคงจุดประเด็นถกเถียงเรื่องเพศและสร้างความตระหนักรู้เรื่องเสรีภาพการแสดงออกที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนพึงกระทำได้ในสังคมที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอีก… แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น

 พ.ร.บ.คู่ชีวิต และประเด็นชวนคิดของ จอห์น วิญญู

จนแล้วจนเล่า ก็มีข่าวออกมาว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และเตรียมเรื่องเข้าเสนอสภาเพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมายบังคบใช้ หลายสำนักข่าวพาดหัวว่า ‘เตรียมเฮ!’ เสมือนเป็นข่าวดีจนหลายคนออกมาตื่นเต้นดีใจว่าคนรักเพศเดียวกันในประเทศไทยกำลังจะได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ประกอบกับชื่อของร่าง พ.ร.บ. ที่ฉาบเคลือบด้วยคำว่า ‘คู่ชีวิต’ ชวนให้คิดถึงความหมายในแง่ดีและสละสลวย เพราะในทางปฏิบัติ การเป็น ‘คู่ชีวิต’ ดูจะลึกซึ้งตรึงใจเสียกว่าการเป็นเพียง ‘คู่สมรส’

แต่ความฝันก็ต้องสลายเมื่อ สส. พรรคก้าวไกล คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์  อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง และ คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ออกมาอธิบายว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตของคณะรัฐมนตรีเป็นคนละชุดกับ ร่างกฎหมายคู่สมรสที่พรรคก้าวไกลเสนอ ซึ่งมีเนื้อหาต่างกัน เพราะนอกจากจะเป็นการแบ่งแยกการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันออกจากการแต่งงานของคนรักต่างเพศ ซึ่งอยู่บนฐานความเชื่อของความไม่เสมอภาคแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์บางประการที่ ‘คู่ชีวิต’ ไม่อาจมีเท่า ‘คู่สมรส’ เช่น ยังรับสวัสดิการของคู่ชีวิตที่เป็นพนักงานของรัฐไม่ได้ และขอสัญชาติให้กับคู่ชีวิตไม่ได้

สิ่งที่น่าสนใจคือเหตุใดรัฐบาลถึงไม่ใช้ร่างกฎหมายคู่สมรสของพรรคก้าวไกลที่ดูจะครอบคลุมกว่า? แน่นอนว่าหากร่างเกี่ยวกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันผ่านและมีผลบังคับใช้จริงในสังคม พรรคก้าวไกลก็จะได้รับเครดิตไปเต็มๆ (แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ) เป็นไปได้ไหมว่ารัฐบาลคงประเมินการณ์แล้วว่าประเด็นนี้คงต้านแรงสนับสนุนของประชาชนไม่ไหวแน่ๆ บวกกับถ้าเขาทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ เครดิตความก้าวหน้าก็จะตกเป็นของพวกเขาเอง (ซึ่งจะอธิบายขยายความเรื่องนี้ต่อไป) แต่ในเมื่ออุตส่าห์ลงทุนลงแรงมาเองแล้ว ก็ยังไปได้ไม่ไกลเกินกว่าร่างของพรรคก้าวไกล เหตุผลที่เป็นไปได้จึงมีเรื่องเดียวเลยคือรัฐบาลตั้งใจจะเอาผลงานเข้าตัว

แต่ล่าสุด กระแสของประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กลับเทความสนใจมาที่ จอห์น วิญญู ผู้ซึ่งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในรายการ Daily Topics ของเขา และประโยคที่กลายเป็นประเด็นคือ

“ถ้าสิทธิของคนทั่วๆ ไปยังไม่มาเนี่ย สิทธิของ LGBTQ+ เนี่ยไม่น่าจะมาก่อน”

จากที่ได้สำรวจความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดีย พบว่าประเด็นหลักที่หลายๆ คนโจมตีความคิดเห็นของจอห์นคือคำพูดของจอห์นแสดงถึงความคิดแบ่งแยก คนที่เป็น LGBTQ+ ไม่ควรถูกแบ่งแยกจากพลเมืองทั่วๆ ไป ทำไมสิทธิของพวกเขาจึงต้องมาเกิดหลังสิทธิของคนอื่นๆ จนเลยเถิดกลายเป็นว่าจอห์นเป็นพวกเหยียดเพศและไม่ sensitive กับเรื่องอคติทางเพศ

แต่อันที่จริงแล้ว นี่คือหนึ่งประโยคในเกือบ 10 นาทีของทั้งรายการในวันนั้นที่จอห์นพูดถึงประเด็นนี้ ซึ่งหลักใหญ่ใจความจอห์นต้องการจะสื่อสารว่าสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานคือฐานของสิทธิในทุกๆ เรื่อง รวมถึงสิทธิของ LGBTQ+ ด้วยเช่นกัน ตรรกะของจอห์นจึงเชื่อมโยงความเป็นพลเมืองกับ LGBTQ+ ไปแล้วในตัวของมัน และสองสิ่งนี้เป็นเหตุและผลของกันและกัน ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันแบบไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้

การตีความคำพูดของจอห์นควรไปให้ไกลกว่าคำพูดแค่เพียงประโยคเดียว อีกทั้งเรายังควรคำนึงถึงมิติอื่นๆ หรือบริบทแวดล้อมด้วยที่อาจนำมาประกอบการตีความได้

สิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมไทยยังขาดทักษะการวิพากษ์วิจารณ์และยังคงหลงประเด็นอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นการหลงประเด็นที่ฟ้องว่า LGBTQ+ กำลังถูกสถาปนาให้เป็นสถาบันที่มีความยิ่งใหญ่เหลือเกิน แตะต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการทำความเข้าใจเรื่องเพศที่มุ่งเน้นให้สังคมถกเถียงเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันของทุกคนในสังคม และหากเราแบ่งแยกได้ว่าสิ่งไหนเรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์และสิ่งไหนเรียกว่าเหยียด คำพูดแค่นี้ของจอห์นคงไม่น่ามีปัญหา ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ ภูมิคุ้มกันที่ว่าด้วยเรื่อง LGBTQ+ ในไทยเราต่ำขนาดนั้นเลยหรือ?

ประเด็นคือสังคมเราไม่เคยมีการถกเถียงเรื่องเพศกันอย่างจริงจัง เราเพียงแต่นำเข้าชุดความคิดเรื่องการเหยียดมาใช้แบบหลับหูหลับตาใช้จนแยกไม่ออกว่าอะไรเรียกวิจารณ์ หรืออะไรเรียกเหยียด ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากลัวไม่น้อยเพราะนั่นหมายความว่าเรากำลังนำสังคมไปสู่การเป็นสังคมปลอดเชื้อรูปแบบใหม่ที่มีการใช้ PC หรือ Political Correctness กันแบบฟุ้งเฟ้อจนอาจทำให้เราไม่สามารถพูดถึงปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างตรงไปตรงมาเพราะสุ่มเสี่ยงเหลือเกินที่จะถูกประณามว่า ‘แบ่งแยก’ หรือ ‘เหยียด’ อย่างที่เกิดขึ้นกับจอห์น

ในวันที่การแต่งงานของเราเป็นเพียงความเก๋ไก๋และแสร้งว่าก้าวหน้าของคนอื่น

และเมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของคนรักเพศเดียวกันในประเทศไทย เราไม่เอะใจบ้างเลยหรือว่าในสังคมที่มีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นแทบจะรายวันด้วยซ้ำ สังคมที่เกลียดกลัวคำว่า ‘เสรีภาพ’ และมองว่าเป็นเพียงข้ออ้างของพวกชังชาติ สังคมที่เรื่องเพศไม่เคยเป็นประเด็นถกเถียงหลัก แต่จู่ๆ คนรักเพศเดียวกันในสังคมนั้นกำลังจะได้รับสิทธิในการแต่งงานอย่างถูกต้องแบบเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว มันไม่ย้อนแย้งไปหน่อยหรอกเหรอ?

เรามั่นใจได้ใช่ไหมว่าสิทธิการแต่งงาน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือร่างกฎหมายคู่สมรส สิ่งนั้นเกิดจากความตระหนักรู้ถึงความเสมอภาคทางเพศจริงๆ ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นที่หนึ่ง เป็นผู้นำของโลกแบบเดียวกับการพยายามรักษายอดผู้ป่วยโควิด-19 ให้เป็น 0 ราย และเที่ยวอวดอ้างว่าตัวเองมีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก แต่เศรษฐกิจในประเทศพังพินาศเพราะชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้ เราจะยอมปล่อยให้เขาใช้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นฉากบังหน้าให้เขาเอาไปโอ้อวดกับคนอื่นว่าเขาก้าวหน้า แต่แท้ที่จริงแล้วกลับหมกเม็ดเชื้อความไม่เท่าเทียมกันในกฎหมายแบบนี้จริงหรือ?

สิทธิที่ได้มานั้นต้องสมศักดิ์ศรีกับราคาที่จ่ายไป เราจ่าย เราจึงได้ อย่าให้สิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมเรื่องความก้าวหน้าให้กับพวกเขา ซึ่งไม่ได้ต่างอะไรกับบัตรคนจนที่แจกเงินคนจนและกลับไปเข้ากระเป๋าของพรรคพวกของพวกเขา

และในวันที่เราแต่งงานกัน… สายตาและรอยยิ้มของผู้คนที่ส่งมาให้ เสียงหัวเราะ หรือแม้กระทั่งคำอวยพรอันแสนหวานของพวกเขาต้องเกิดจากการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความเสมอภาคและเชื่อมั่นว่าความรักของเราสวยงามและทัดเทียม อย่าให้มันมีความหมายเป็นเพียงงานแฟนซีที่ใครต่อใครถูกจูงใจให้มาเข้าร่วมเพียงเพราะอยากมาชม ‘ของแปลก’ …

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า