บ่ายแก่ คนทำสื่อสองคนนั่งคุยกับ พระเอกวีร์ มหาญาโณ หรือ พระอั๋น ในบรรยากาศค่อนข้างลำลอง ไม่ใช่ในโบสถ์หรือวิหาร แน่นอนว่าเห็นแค่ยูนิฟอร์มหลายคนอาจตั้งการ์ดเตรียมรับคำเทศนา แต่พระอั๋นยืนยันว่า เขาก็ยังอยู่บนเส้นทางการฝึกตน และยืนยันบ่อยครั้งว่า “ยังไม่ใช่ผู้รู้แจ้ง ยังเป็นผู้เดินทางอยู่เช่นกัน”
จากความสงสัยของวัยหนุ่มเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เอกวีร์เคยตั้งคำถามต่อสังฆะของท่าน ติช นัท ฮันห์ ว่า “หลวงปู่ไม่เคยกินเหล้า ไม่เคยอยู่กลางคืนแบบผม หลวงปู่รู้จักได้ยังไงว่าผมมีสภาวะแบบไหน ทำไมตอบเหมือนรู้หมดเลย”
คำถามทำนองนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นความสงสัยร่วมเมื่อฆราวาสตั้งคำถามกับนักบวช
ขออนุญาตไล่เรียงไทม์ไลน์ของความสัมพันธ์ เพื่อความเข้าใจที่มาที่ไปของบทสนทนานี้
ช่วงปีนั้น สสส. เพิ่งก่อตั้ง เอกวีร์จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แต่กลับหันไปเล่นดนตรีกลางคืนอย่างเต็มตัว
นั่นเป็นช่วงก่อนเหตุการณ์สึนามิ เรายังไม่รู้จักคำว่าจิตอาสา ภาพของการทำงานเพื่อสังคมมีเพียงการออกค่าย สร้างห้องสมุด สร้างโรงเรียน ฯลฯ
ปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่สังคมสงบสุข “อิ่มตัวแล้วก็เอาส่วนเกินไปทำเพื่อสังคม” กลางคืนเขาเล่นดนตรี แต่กลางวันช่วยงานในกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม (YIY) ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นบรรพบุรุษรุ่นลุงป้าของกลุ่มหนุ่มสาวเพื่อสังคมในยุคนี้ หลังจากนั้นเขาทำงานเป็นครีเอทีฟ ในคลื่นวิทยุ Fat Radio และได้เข้ามาคลุกคลีอยู่ในวงการเพลง ซึ่งในช่วงเวลาคาบเกี่ยวนี้ ผู้สัมภาษณ์และเอกวีร์ได้พบกันและร่วมงานในโปรเจ็คต์เพื่อสังคมชิ้นหนึ่ง
ช่วงนั้นเป็นปีหลังการเกิดเหตุรัฐประหาร 2549
และต่อมาในช่วงวิกฤติทางการเมืองเมื่อปี 2553 ปีนั้นเอกวีร์กำลังศึกษาอยู่ที่อังกฤษ เขาเข้าคอร์สสั้นๆ ที่ Schumacher College อันนับได้ว่าเป็นการศึกษาสายทางเลือกซึ่งวิพากษ์ระบบโลก เขาติดตามข่าวจากเมืองไทย และรู้สึกสะเทือนใจ
หลังจากกลับคืนสู่แผ่นดินแม่ เส้นทางของชายคนหนึ่งในการค้นหาความหมายบางอย่างกลับพาให้เขาไปสู่หนทางใหม่ เขาตั้งใจไปลองบวชช่วงสั้นๆ แต่กลับยิงยาวเกือบสิบปี และโลกของพระและฆราวาสก็ห่างกันไปนับแต่นั้น
บทสนทนานี้เกิดขึ้นที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ พระอั๋นอาสามาช่วยแปลถ่ายทอดการ Live ของท่านดาไลลามะพูดคุยกับเยาวชนจาก South East Asia กว่า 700 คน ในวันที่ 7 มิถุนายน 2020 อันเป็นห้วงเวลาที่พระอั๋นติดอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงโควิด จึงได้กลับมาพบปะเพื่อนๆ ในชีวิตฆราวาส เราจึงพูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งการค้นหาตัวตน ความคาดหวังต่อนักบวช และความโกรธของสังคม
เกือบสิบปีผ่าน บทบาทของการเป็นผู้ถามสลับกลับมาเป็นผู้ตอบ เราถามแย้งพระอั๋นในหลายเรื่องหลายประเด็น เหมือนครั้งที่ชายหนุ่มเคยถามสังฆะ
ในบทสนทนานี้อาจมีถ้อยคำไม่สุภาพเจืออยู่บ้าง ยิ่งคุยไปเรื่อยๆ กลับยิ่งรู้สึกเหมือนคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน กว่าสองชั่วโมงของการสนทนา มีบางท่อนบางตอนที่คิดว่าเหมาะสมแก่การแบ่งปัน
ก่อนหน้านี้หลวงพี่ที่ทำงานภาคสังคม เล่นดนตรี เรียนต่างประเทศ จนมาเป็นพระ ชีวิตอยู่ในเส้นทางการเรียนรู้ตัวเองมาหลายปี ถามตรงๆ ยังมีความรู้สึกอยากกลับมาแปดเปื้อนกับทางโลกอยู่อีกหรือ
ที่จริงเรามีความตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า เราจะทำตรงนี้เพื่อฝึกตัวเองให้ดีขึ้น ฝึกแล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้เริ่มจากความรู้สึกว่าจะอยู่ปักหลักตรงนี้คนเดียว ไปคนเดียว ไม่เคยอยู่ในความรู้สึกเลย เคยคิดแต่ว่า ถ้าเข้าใจแล้ว เราดีขึ้นแล้ว ก็จะกลับบ้าน
ตอนนี้รู้สึกยังไงครับ อยากกลับบ้านรึยัง
บางทีก็รู้สึก และคำว่าบ้านมันก็เปลี่ยนไปด้วย ช่วงเวลานี้ก็เหมือนได้โอกาสทดลอง มีเหตุการณ์โควิด ทุกอย่างก็ลงล็อคนะ เรามาอยู่ในเมืองตอนที่ปิดเมืองพอดี ไปไหนไม่ได้ ติดก็ติดเลย มีคนเอาคอมพิวเตอร์มาให้ใช้ ก็ลองใช้ กลับมา interact กับเฟซบุ๊ค ลองมาดูซิมันมีฟีลยังไง
ก่อนหน้านี้หลวงพี่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เลย?
ไม่มีคอมฯ ใช้เลย ในช่วง 7 ปีแรก ไม่มีมือถือใช้เลย แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้มีมือถือใช้ แล้วก็เพิ่งสองสามเดือนที่ผ่านมาเพิ่งจะมีคอมฯ พอมีคอมฯ ก็ทำอะไรได้มากขึ้น ก่อนหน้านั้นก็เปิดๆ ดูผ่านๆ หลายอย่างก็ตามไม่ทัน ว่าเคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในโลกด้วยเหรอ
พอมาเจอโลกที่ไปไกลมากแล้ว รู้สึกว่าตกขบวนไหม
ตอนแรกก็คิดว่าไม่ตก อยู่ไปอยู่มาบางทีก็คิดว่า สงสัยเราขึ้นคนละขบวน (หัวเราะ) หลายครั้งเราเคยอยากชวนเพื่อนให้ได้ แต่สักพักเราก็พบว่า เราอาจไม่ต้องดึงเขาออกมาหรอก แต่ทำยังไงให้ ‘เรื่องนี้’ มันเข้าไปอยู่ในที่ที่เขาอยู่
‘เรื่องนี้’ ที่ว่าคือ ธรรมะ?
‘เรื่องนี้’ คือการย้อนกลับมาเรียนรู้ระบบชีวิตตัวเอง ย้อนกลับมาเรียนรู้ความลึกซึ้งของอารมณ์ ความคิด และปัญหาชีวิตตัวเอง
หลวงพี่ช่วยยกตัวอย่างหน่อยครับ
เมื่อก่อนเราจะค่อนข้างชัดเจนว่า ทุกคนควรจะเรียนรู้ที่จะถอยออกมาจากโลกบ้าๆ บอๆ แต่ตอนนี้รู้สึกว่า มันทำไม่ได้หรอก มันเป็นยุคที่แม้เราไม่พุ่งเข้าไปหาอะไร แต่ทุกอย่างก็พร้อมจะพุ่งเข้ามาหาเรา มันปฏิเสธไม่ได้ เราก็รู้สึกว่า ทำยังไงให้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในชีวิตคน มากกว่าที่จะเอาคนออกมาหาเรื่องนี้ มันต้องไปด้วยกัน ต้องเป็นการบาลานซ์ สร้างความสมดุล
การที่รู้สึกลุกลี้ลุกลนอยากสอนคนอื่น ในสายนี้เขาจะเรียกว่าเป็น ‘วิปัสสนู’ คือเหมือนกับแกงที่ทำเสร็จใหม่ๆ แต่มันร้อนเกินไป กินเข้าไปแล้วมันลวกปาก ไม่รู้รสหรอก ต้องรอให้เย็นลงก่อน พอมันเหมาะสมพอดีกินแล้วถึงจะกลมกล่อม เมื่อก่อนนั้นเราก็เป็นคนที่แบบอยากลากคนมาปฏิบัติธรรม “มาเลยเดี๋ยวมึงรู้เอง” มาถึงก็กระเจิงไปหลายคน นั่นแหละ ก็เป็นบทเรียน เป็นเส้นทางการเรียนรู้ของเรา
หลวงพี่มีความตั้งใจ มีความพยายามที่จะลองหาวิธีลดความร้อนของแกงให้มันเหมาะกับคนหลากหลายมากขึ้นไหมครับ
ช่วงนี้ก็ลดไปเยอะแล้ว ไม่ค่อยยัดเยียด แต่เลือกบอก แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้อะไร เราไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้งมากมาย แค่รู้ในระดับที่เรารู้สึกว่า “อ๋อ จริงๆ คนมันควรจะรู้สิ่งเหล่านี้นะ” แค่นั้น
มีคิดเรื่องหาวิธีพยายามจะถ่ายทอดไหม ถ่ายทอดเยอะกว่านี้ เช่น คลิปวิดีโอ
เคยคิด และเคยรู้สึกว่าสิ่งที่อยากจะทำตรงนี้ มันไม่ค่อย pure อะ หมายถึงว่ามันยังหยาบ ยังอยากแสดงตัวตน หมายถึงยังอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อตัวเราเอง เห็นแล้วก็อายตัวเอง เลยคิดว่าอาจจะยังไม่ใช่เวลา เราเชื่อในจังหวะของชีวิตจะพาไป
หมายถึงว่าจากความรู้สึกลึกๆ ข้างใน?
ก็รู้สึกอยากแชร์กับเพื่อน แต่ไม่อยากกลายเป็นอาจารย์ พระเนี่ยพอพูดอะไรออกไป บางทีคนก็จะแบบ “โห… อาจารย์ช่างน่าศรัทธา… ฝากความหวังไว้ด้วยนะ…” (ส่ายหัว) ถ้าทำแบบนั้น…ไม่เอา แต่ถ้าแบบอย่างนี้เนี่ย คุยกันเป็นเพื่อนกันไปแบบนี้…โอเค เป็นมิตรร่วมทางกัน
มันมีปัญหายังไงครับ การเป็นพระ ที่เป็นเหมือนกับเจ้าลัทธิ เป็นครุทางจิตวิญญาณ
(ตอบทันที) คุณต้องรู้จริง ถ้าคุณไม่รู้จริงคุณก็พาคนซวย เรายังไม่รู้จริง เรายังเป็นผู้เดินทางอยู่เลย แนะนำว่าควรไปเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์ดีๆ ส่วนเราเป็นเพื่อนร่วมทาง
ในความเป็นพระ จริงๆ แล้วการมีชื่อเสียง เป็นอะไรที่ต้องระมัดระวัง มันก้ำกึ่ง บางทีเล่าเรื่องให้มัน inspire คนได้ มันก็ดี แต่การที่เป็นคนที่มีชื่อเสียงในสังคม มันไม่ได้เวิร์คกับลักษณะของคนที่เป็นพระ ส่วนหนึ่งก็คือเรื่องการเดินทางภายในของตัวเอง อีกส่วนหนึ่งคือแรงโหมของความคาดหวังจากคนอื่น ว่าพระต้องเป็นตามภาพหวังของเขาแบบนั้นแบบนี้ ในความรู้ระดับเรามันก็สุ่มเสี่ยง ก็หลีกๆ มาเรื่อยๆ ไม่ได้อยากเป็นคนโดดเด่นอะไรในสังคมเท่าไหร่
ความโดดเด่นมีข้อเสียยังไงครับ
คนเรามักจะมองอะไรบางอย่างจากมุมมองที่ตัวเองให้ค่าโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น เราเคยมองพระอย่างอาจารย์พุทธทาส แล้วโดยที่ไม่รู้ตัว เราก็มีความคาดหวังลึกๆ ว่า ‘นี่คือพระที่ใช่ และพระทุกคนน่าจะเป็นแบบนี้’ กับคนที่เป็นศิษย์อาจารย์พุทธทาสเข้มๆ ก็จะมีท่านเป็นไอดอล คนจำนวนมากก็จะตีค่าตามมาตรวัดอันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน พระรูปอื่นๆ ท่านก็ต้องเป็นแบบตัวของท่านเองไง
แล้วพอเราเข้ามาในวงการนี้ เราก็จะพบว่า พระที่เรียนหนังสือ กับพระที่ภาวนามากๆ กับพระที่เน้นวินัย กับพระที่ทำงานสังคม ท่านก็ดีคนละแบบ… พัฒนาการในการปล่อยวางของท่าน ก็เป็นไปคนละแบบ เอามาเทียบกันตรงๆ ก็ไม่ได้เสมอไป แล้วศักยภาพของพระ ของคนที่ฝึกเรื่องนี้ ไม่ได้วัดกันที่ ‘ทำอะไร’ แต่วัดกันที่ใจมันทุกข์หรือปล่อยวางกันได้มากแค่ไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน
แล้วบางทีบางคนก็ทำสิ่งที่เราไม่เข้าใจ แต่ลึกซึ้งกว่าสิ่งที่เราเข้าใจ พระ ครูบาอาจารย์จำนวนมากทำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นคนบ้า ก็มีนะ แต่ท่านลึก จริงๆ สิ่งที่เราเป็นน่ะบ้า ซึ่งท่านพยายามจะชี้ให้เราเห็น แต่เราไม่เห็น เราก็เลยตัดสินท่านแบบนั้น
พระไม่ดีมันก็มี พระที่วันนี้ยังไม่ดี แต่เขากำลังพยายามจะดีขึ้นอยู่ก็มี… บางทีมันอยู่ในช่วงที่เขากำลังคุกรุ่นอยู่ เขากำลังจะเป็นจะตายกับสภาวะภายในเขาอยู่ แล้วก็ทำบางอย่างที่ดูเหมือนไม่ดีบ้าง แต่ว่าลึกๆ แล้วเขาก็อยากพัฒนาอยู่นะ แต่ช่วงนั้นเขายังไม่สามารถดีได้ เราก็ด่วนตัดสินแล้ว ไปคิดว่านั่นคือทั้งหมดของตัวเขาเสียแล้ว แล้วก็ไปคิดว่าพระทั้งหมดเป็นแบบนี้
เราว่าสังคมมีความคาดหวังต่อความเป็นพระที่สับสนพอสมควร คิดว่าพระต้องเป็นไปตามใจเราหรือตามตำราอย่างเดียว และคิดว่าคนไปบวชก็เพื่อที่จะเป็นตามมาตรวัดอันนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คนที่ตั้งใจบวชจริงๆ ก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาบางอย่างในใจของตัวเอง ปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในใจตัวเองของแต่ละคนก็ผุดขึ้นมาในระดับที่ไม่เท่ากัน ในเวลาที่ไม่เหมือนกัน เขาก็แก้ไขและเรียนรู้ ในสิ่งที่เขาติดขัดกันไปเรื่อยๆ ในช่วงที่เขากำลังเดินทาง
เราควรมองนักบวชอย่างไร
นักบวชที่ดีๆ ในความรู้สึกของเรา คือนักบวชที่บวชเพื่อเผชิญกับตัวเอง บวชเพื่อฝึกตัวเอง เขาจะไม่สวยงามตลอดเวลา เพราะบางช่วงเวลาเขาเผชิญโจทย์ที่ลำบาก ท้าทาย ก็ต้องเข้าใจหน่อยว่าเขากำลังฝึกตน
ตราบใดที่เขายังไม่บอกว่า “ฉันเป็นอาจารย์ผู้บรรลุแล้ว” ก็อย่าไปคิดว่าเขาเป็น และอย่าคิดว่าเขาต้องแสดงเหมือนกับภาพที่คุณคิดว่าอาจารย์ที่บรรลุแล้วจะเป็น เขาอาจจะโกรธบ้าง อาจจะพูดบางอย่างดีบ้างไม่ดีบ้างในบางช่วง เพราะว่าเขาก็ยังเป็นผู้ที่ไม่บริสุทธิ์หมดจด
“ไม่ใช่ทุกคนที่ห่มผ้าเหลืองแล้วแม่งจะดีเลิศนะเว้ย” บางครั้งเวลาหมั่นไส้พระเราก็ด่าพระแบบนั้นใช่ไหม แต่เวลาพระไม่ดีคุณก็ด่าว่า “ไหนว่าพระบวชแล้วจะดีไง” มันย้อนแย้งในตัวเอง
โลกนอกวัดนอกโบสถ์ มีความทุกข์หลากหลายรูปแบบ มันอาจไม่ใช่แค่เรื่องจิตใจอย่างเดียว มีปัญหาทางสังคม มีความเหลื่อมล้ำ หลวงพี่มองว่า นักบวชควรเข้ามาปะทะกับเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าไม่ต้องก็ได้
ก็เหมือนกับที่เราเคยถามกับสังฆะของหลวงปู่ (ติช นัท ฮันห์) ก่อนบวชแหละ ว่าหลวงปู่ไม่เคยมาอยู่ในผับ ไม่เคยกินเหล้ากับผม หลวงปู่รู้ได้ไงว่าผมเป็นยังไง
ความทุกข์ที่คุณอธิบายไว้อย่างหลากหลาย เอาเข้าจริงๆ แล้ว เมื่อเราลงมาสู่เหตุของมัน ยิ่งลงมาลึกแค่ไหน ก็จะเข้าสู่ความเป็นเรื่องเดียวกันมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเราเจาะลึกเข้าไปมันก็จะกลับมาสู่แก่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วแก่นมันคือทุกคนต้องการจะแก้ปัญหาความไม่พอใจอะไรบางอย่าง และจะกอบโกยครอบครองสิ่งที่เราพอใจเอาไว้ให้ได้ เลยทำทุกอย่างที่เราพยายามจะทำ
พระต้องสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศ ประชาธิปไตย เรื่องพวกนี้ไหมครับ หรือว่าพระก็จะมาเรื่อง…เหตุแห่งทุกข์ อย่างเดียวเลย
แล้วแต่จริตของคนคนนั้น เราก็ควรจะเคารพจริตของคนแต่ละคนด้วย พระบางรูปท่านก็มีจริตที่หันกลับมา engage สัมพันธ์กับทางโลก แล้วก็มีประโยชน์ทางนั้น พระบางรูปก็ไม่ได้ถนัดแบบนั้นนะ เราจะไปคาดหวังให้ท่านต้องมาทำมันก็ไม่ได้ แล้วบางท่าน engage กับโลกจนกระทั่งตัวเองก็ไม่ได้เข้าใจความลึกซึ้งที่อยู่ในพุทธศาสนาเลยก็มี
ต้องเข้าใจว่าพุทธศาสนาหรือศาสตร์ทุกศาสตร์ที่พูดเรื่องจิตใจ มันเหมือนหนัง Matrix คุณจะไปแก้เหตุการณ์ที่อยู่ในเมทริกซ์ หรือว่าคุณจะแก้โดยการออกมาจากเมทริกซ์ เป็นการแก้คนละอย่าง ออกมาจากระบบการยึดติดสังสารวัฏอันนี้ อย่างที่พระพุทธเจ้าพูดเรื่องการไปพ้นจากตัวตน ถามว่าการแก้ปัญหาปากท้อง หรือการแก้ปัญหาสิทธิเสรีภาพ มันจำเป็นต่อมิติความเป็นตัวตนอย่างนี้ เป็นการแก้ในเมทริกซ์ แต่จะทำให้คุณเห็นความไม่มีตัวตนหรือออกจากเมทริกซ์นี้ไหม มันคนละเนื้อหากัน
วันนี้ท่านดาไลลามะพูดอันนึงที่สอดคล้องกับเรื่องนี้ มีคนถามว่า “ศาสนาทุกศาสนาควรจะมาเรียนพุทธศาสนาไหม?” ท่านบอกว่า “เราต้องแยกให้ออกก่อนระหว่าง ปัญญา ความเข้าใจต่อชีวิต ต่อความจริง กับเรื่องความเชื่อทางศาสนา ทุกศาสนาอาจจะชี้มาในที่ใกล้ๆ กัน แล้วพุทธศาสนาก็มีแก่นและวิธีการเข้าถึงปัญญานี้ที่ละเอียดและลึกซึ้งมากๆ ทุกคนควรจะมาเรียนรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งของความจริงอันนี้จากพุทธศาสนา “นี่คือสมบัติของมนุษยชาติ” ส่วนการบูชา ความเชื่อ คุณจะนับถือศาสนาไหน คุณจะมีพิธีกรรมแบบไหน จะมีความคิดว่าใครเป็นพระเจ้าผู้สร้างหรือเปล่า อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัว เชื่อแบบไหนก็ได้ แต่สิ่งที่เหมือนกันทั้งหมด ปัญญาที่จะทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ อันนี้ต้องเรียนรู้ สำคัญ
ต้องแยกให้ออก ระหว่างความคิดเห็นกับความจริง
ในช่วง 10 ปีผ่านมานี้ รู้สึกว่าเราทุกข์มากขึ้นนะ พอจะมีอะไรแนะนำสำหรับคนที่เจอกับทุกข์ชาวบ้านทุกวัน แล้วเขาไม่มีปัญญาจะไปมองเห็นปัญหาละเอียดเท่าไหร่ เขาจะทำอย่างไรดีครับ?
(นิ่งคิด)
บางทีถ้าเราสังเกตองค์ประกอบของความวุ่นวายในใจเราออก มันจะเริ่มเห็นว่า อ๋อ เรื่องนี้ ถ้าแก้เนื้อหาของมันจริงๆ ก็อย่างนึง แต่ถ้าเวลาเราจมในอารมณ์ทุกข์มากๆ แล้วเราไปอินกับอารมณ์หน่วงของปัญหาด้วย แล้วเราพยายามจะแก้มันจากอารมณ์นั้น ความอีรุงตุงนังของมันจะคนละแบบ
บางคนก็แก้ตรงนั้นไม่ได้ ทุกวันนี้บางทีพูดออกไปก็ลำบาก อย่างเรื่องปากท้องทุกวันนี้ เขาลำบากจริงๆ นะ มันไม่ใช่เรื่องแบบแม่นอนป่วยอยู่บนเตียง ลูกไม่มีข้าวกินแล้วให้เขาหนีจากตรงนั้นไปเข้าป่านั่งสมาธิ ไม่ใช่แบบนั้นนะ นั่นไม่ใช่การ ‘ปล่อยวาง’ นั่นคือการ ‘ปล่อยทิ้ง’
การปล่อยวางคือ เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำยังไงให้เรายังมีความมั่นคงพอที่จะจัดการมันได้อย่างมีสติ มั่นคง ไม่ใช่แบบลุกลี้ลุกลน “กูจะเอายังไง จะโทษใครดี… กูต้องไปสู้กับใครดีวะ” นี่ไม่เรียกว่าการแก้ปัญหา อันนี้คือมิติที่เราหลงเข้าไปในปัญหา ถ้าเราไม่เห็นสิ่งนี้ เราไม่มีทางอื่นนอกจากแก้ปัญหาตามสัญชาตญาณ ซึ่งง่ายที่จะใช้อาการของการเกลียดชัง ความรุนแรง การโทษกันอย่างเดียว อะไรแบบนี้
เราอาจจะลองมองอีกมุมว่า ในกลุ่มคนที่อยู่ในสภาพการณ์เดียวกับเรา คุณลองดูซิว่ามีคนอื่นอีกไหม ที่จะสามารถแก้ปัญหานี้โดยที่ไม่บ้าคลั่งกับมัน แบบ “เฮ้ย จริงว่ะ แม่กูป่วย ลูกไม่มีกิน เอายังไงดีวะ กูจะไม่ฟูมฟาย ต้องตั้งสติให้ได้ แล้วกูต้องหาทางออก อย่างจิตใจมั่นคงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่บ้าคลั่ง” ศักยภาพที่จิตใจจะมั่นคงหรือไม่มั่นคงนี่แหละคือ สิ่งที่การภาวนาหรือการเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ภายในตัวเองจะช่วยได้มาก แต่ถามว่าต้องทำยังไง เหตุการณ์เฉพาะหน้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
หลวงพี่ตามข่าวสารตอนนี้แค่ไหนครับ
ช่วงหลังนี้เห็นแทบทุกข่าว ที่ผ่านมาในยุคนี้ แต่ยุคก่อนนี้ซัก 2 เดือนนี่แทบไม่เห็นเลย
รู้สึกวุ่นวายไหมครับ
วุ่นวาย อย่างข่าวต้าร์ (วันเฉลิม) อย่างนี้ เห็นแล้วก็แบบ…สลดใจ
หลวงพี่รู้จักเขาหรือครับ
รู้จัก เราไม่เจอต้าร์มาเป็น 10 ปีนะ เมื่อก่อนเจอกันก็ที่ YIY มาใช้ออฟฟิศด้วยกัน ต้าร์ก็เป็นคนที่ปากหมาแต่ใจน่ารักไง มันก็เป็นคนตรงๆ แล้วก็เถียงเก่ง ทุกคนก็เคยทะเลาะกับมันหมด แต่ก็ทะเลาะแบบไอ้ต้าร์อะ หัวเราะ แล้วกินเบียร์กัน มันก็เป็นคนแหย่ตีนแบบไม่คำนึง แหย่แบบแหย่จริงๆ อะ เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกความเห็นที่เขาแสดง แต่เราไม่เห็นด้วยว่าคนที่ทำแบบนั้นแล้วจะต้องโดนอุ้มหายไป เหตุการณ์นี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น
สังคมตอนนี้เราจะอยู่กันอย่างไร
ตอนที่อยู่ YIY มีกิจกรรมแรกๆ คือ Journey of Inspiration เป็นโปรเจ็คต์ที่เราว่ามีความน่าสนใจมาก มันคือการค้นหาแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต รับคนรุ่นใหม่มากลุ่มนึงประมาณเกือบ 30 คน แล้วตลอดเวลา 2 เดือน เสาร์อาทิตย์ก็พาไปเจอคนเจ๋งๆ สักคนนึง นั่งคุยกัน 4-5 ชั่วโมง แล้วก็จบ แค่นั้นเอง เสร็จแล้วให้เขียนเรื่องเล่ากัน
ไปเจอ พี่โญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) เจอ อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไปเจอคนน่าสนใจหลายๆ คน ที่เราไม่เคยรู้จัก คนนี้คือใครวะ แล้วพอไปฟังเขาพูด ก็เฮ้ย! มีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ
จนถึงทุกวันนี้ คำเดียวที่จำได้จากงานนั้นคือ ไปคุยกับอาจารย์พิชญ์ “แม่ง พูดเรื่องอะไรวะ ไม่เห็นเข้าใจเลย” แต่อาจารย์พิชญ์พูดคำนึงตอนนั้น บอกว่า “แก่นสารของการจะอยู่ร่วมกันได้ในอนาคต คือเรื่องของความสามารถในการอดทนอดกลั้นต่อกันและกัน” เราฟังไม่เข้าใจ แต่คำนี้สะท้อนในใจมาตั้งแต่วันนั้น แล้วก็รู้สึกว่า ทำไมประโยคนี้นี้มันสำคัญกับกูจังวะ สำคัญกับบางอย่างในใจ แต่ตอนนั้น ตอนที่สังคมมันโอเค มันไม่มีเหตุมีผลเท่าไหร่ แต่จริงๆ ทุกวันนี้โจทย์มันคืออันนี้แหละ
“เราจะอยู่ยังไงให้มีความต้องอดทนอดกลั้นต่อกันและกัน”
แต่มีอีกประโยคหนึ่งครับ ที่โดนใจหลายคนมากเมื่อประมาณสักปีก่อน ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ (ชองยุนซอก) เขาพูดว่า “คนไทยยังโกรธไม่พอ” หลวงพี่คิดอย่างไรกับประโยคนี้
โกรธพอแล้วจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ เราไม่เชื่อในการเอาความโกรธมาหาความจริง เราไม่เชื่อว่าความโกรธจะนำไปสู่ความจริง มันนำไปสู่ความแตกหักและเอาความไม่เหมือนกันไปเผาทิ้ง แล้วก็ไม่ได้เกิดความเข้าใจกัน เราว่าความโกรธมันหยาบเกินไปที่จะเข้าใจอะไรที่ละเอียด
แต่ไม่ใช่ว่าห้ามโกรธนะ แต่ต้องเอาความโกรธนั้นมาเป็นแรงขับให้ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่แค่การระบายความเกรี้ยวกราด
คือคุณพูดแบบนั้นก็ได้ แต่คุณรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นจากความโกรธความเกลียดชังไหม แล้วมันมีไหมคนที่โกรธกันจะเป็นจะตาย แต่ transform แปรเปลี่ยนพลังของอารมณ์โกรธนั้นมาใช้ เพื่อทำความเข้าใจกัน มันไม่ง่ายนะ แต่มันทำได้
บางคนบอกว่าความโกรธจะแก้ปัญหาได้ แต่อาจต้องยอมให้เกิดความสูญเสียจนทุกฝ่ายมองว่าจะไม่สูญเสียอีกแล้ว ถึงจะยอมทำความเข้าใจกัน?
ก็อาจจะจริงบ้าง
ในพุทธศาสนา เราฝึก 3 อย่าง คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ประเด็นคือสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ มันอยู่ในกรอบของเรื่องศีล ซึ่งความหมายจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องข้อห้าม หรือการอดทนอย่างเดียวนะ แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและมีความสงบสุข มันจึงเป็นการเรียนรู้การปรับตัวต่อกันที่ไม่มีวันจบ ตอนเราไปเรียนทฤษฎีที่เมืองนอก ก็มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘essentially contested concept’ คือเรื่องที่โดยแก่นสารแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเถียงกันจบ
ไม่ใช่ว่าอะไรถูก อะไรผิดห้วนๆ อย่างเราคุยวันนี้ สิ่งที่เราพูดไม่ได้หมายความว่าถูกต้องนะ แต่มันคือการแลกเปลี่ยนความเห็นและเรียนรู้ที่จะ adjust ในการอยู่ร่วมกันไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเราอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ถูกถามแย้งมาก็ได้ ในมุมต่างๆ ที่พูดมา เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป มันเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าคนนี้พูดอย่างนี้ถูก คนนี้พูดแบบนี้ผิด
เรื่องของศีลเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันไปตลอดชีวิต เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ เราอาจจะคิดว่ามีศีลเท่านี้ๆ ข้อก็จบแล้ว แต่มันไม่จบ ส่วนสมาธิเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะทำจิตให้มั่นคง อันนี้ก็ไม่จบ มันมีชั้นของมันพิศดารไปเรื่อยๆ แต่เรื่องปัญญานี่จบ มันมีการเรียนรู้ที่จะเห็นความจริงของสิ่งที่มันเป็น ในระบบที่เราเป็น ตามธรรมชาติ ในอะไรแบบนี้ กรอบเรื่องปัญญาอันนี้เป็นสิ่งที่มีจุดจบ
แต่เรื่องของศีลและสมาธินี่ไม่มีจบ แม้คุณจะบรรลุธรรมถึงขั้นสุดแล้วก็ตาม เรื่องของศีลในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน คุณก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับพัฒนาไปตลอดกาล
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคุยกันวันนี้ ว่าคนเราจะสัมพันธ์กันยังไง อะไรถูกอะไรผิด มันให้ความเห็นได้ และควรที่จะปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ เราอาจจะบอกว่ามันคุยกันไม่จบหรอกจนกว่าจะแตกหัก ก็ทั้งใช่และไม่ใช่ อยู่ที่ว่าแตกหักแปลว่าอะไร
ถ้าเรามีคำนี้ในใจ และเราเชื่อว่ามันต้องเป็นแบบนี้ พอมีปัญหาอะไรขึ้นมานิดนึง ทีนี้ฝั่งหนึ่งเลยจะดันให้มันแตกหักให้ได้ มันจะได้จบ บางทีมองแบบนี้ก็ตื้นไป
แต่การทำให้แตกหักก็มีอีกความหมาย บางเรื่องอาจจะต้องแบบ “เฮ้ย ปล่อยให้เรื่องนี้เลยไปไกลกว่านี้ไม่ได้แล้ว มันจะยิ่งเสียหาย เราต้องคุยให้แตกหักวันนี้แหละว่าเราจะต้องจบเรื่องนี้ยังไง” ถ้าเสียก็ต้องเสีย
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่ายึดการระบายความเกรี้ยวกราดใส่กันเป็นทางออก ไม่งั้นเวลาเราคุยกัน มันก็อาจจะง่าย แต่หยาบและห้วน.