Lockdown: มาตรการหยุดเชื้อที่อาจทำให้ประชาชนหยุดหายใจ

หลังมีประกาศตามราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณหลังเที่ยงคืน ที่กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพฯ และอีก 9 จังหวัด ต้องดำเนินมาตรการคุมเข้ม ห้ามรับประทานอาหารในร้านหรือศูนย์การค้า ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างทุกประเภท และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจเป็นจำนวนมากจากประชาชนหลายกลุ่ม พร้อมทั้งเริ่มมีการตั้งคำถามถึงวิธีการรับมือโรคระบาดด้วยมาตรการ ‘ล็อคดาวน์’ ว่าสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นอย่างไร และเพราะเหตุใดที่ผ่านมาหลายระลอกจึงยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดไว้ได้

ถึงแม้มาตรการล็อคดาวน์จะใช้ได้ผลในบางประเทศ แต่การใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างเดียวใช่ว่าจะช่วยให้ประเทศรอดพ้นไปจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของมาตรการที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการล็อคดาวน์ สามารถพบได้จากมาตรการของอิสราเอล โดยจากการรายงานของสำนักข่าว Montreal Gazette เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า อิสราเอลประกาศการล็อคดาวน์ระดับชาติครั้งที่ 3 หลังจากเทศกาลคริสต์มาสเพียง 2 วัน โดยระบุอย่างชัดเจนต่อประชาชนว่าการล็อคดาวน์ในครั้งนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และคาดว่าจะเป็นการล็อคดาวน์ครั้งสุดท้ายสืบเนื่องจากมีความคืบหน้าอย่างมากในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน หากพิจารณาจาก ‘ฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด’ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564) อิสราเอลมีประชากรที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 อย่างน้อย 1 โดส อยู่ที่ร้อยละ 63.96 จากประชากรทั้งประเทศ หรือจากประชากรจำนวน 8,655,535 คน และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้วกว่า 5,536,080 คน 

ความสำเร็จดังกล่าวของอิสราเอล ถือได้ว่าทิ้งห่างจากประเทศไทยในแง่มาตรการควบคุมโรคระบาดเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ของไทยที่มีเพียงร้อยละ 9.22 จากประชากรทั้งหมดในประเทศ ขณะที่ประเทศที่มีการแพร่ระบาดหนักหน่วงอย่างอิตาลี บราซิล และอินเดีย ที่มีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส อยู่ที่ร้อยละ 54.35 ร้อยละ 32.08 และร้อยละ 17.95 จากจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ และหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนรั้งท้ายอยู่ที่อันดับ 7 ซึ่งเหนือกว่าประเทศฟิลิปปินส์ เมียนมา และเวียดนาม เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่า มาตรการล็อคดาวน์ของไทยจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของไวรัสได้ในทางปฏิบัติ รวมถึงไม่สามารถที่จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า การล็อคดาวน์ในครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายเหมือนที่รัฐบาลอิสราเอลกล้าประกาศต่อประชาชนหรือไม่ อีกทั้งผลกระทบจากการล็อคดาวน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม หรือการศึกษา จะกลายเป็นค่าเสียโอกาสที่สังคมจะต้องแบกรับในอนาคต

ที่มา: https://ourworldindata.org/covid-vaccinations

มาตรการล็อคดาวน์จากมุมมองของ IMF

“มาตรการล็อคดาวน์ทั่วโลกขณะนี้ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี ค.ศ. 1929”

คำกล่าวของ กิตา โกปินาธ (Gita Gopinath) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ IMF ที่กล่าวไว้เมื่อปี 2020 คงไม่เกินจริงไปนัก เช่นเดียวกับที่เธอได้เขียนอธิบายความคิดเห็นนี้ลงใน IMF Blog โดยยกเหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นดังกล่าวว่า ในเดือนเมษายน ปี 2020 ผลประกอบการทางเศรษฐกิจระดับโลกร่วงลงไปที่ติดลบร้อยละ 3 หรือหายไปกว่าร้อยละ 6.3 ในเดือนมกราคมปีเดียวกัน แน่นอนว่ามาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกส่งผลโดยตรงต่อทั้งเศรษฐกิจภายในแต่ละประเทศและในระดับโลก และคาดการณ์ว่า GDP ของทั้งโลกที่สูญเสียไปในช่วงวิกฤติ COVID-19 ในปี 2020 จนถึง 2021 น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าขนาดของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกันเสียอีก

อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อคดาวน์ในสายตาของโกปินาธ ไม่ใช่เรื่องของการที่รัฐบาลจะต้องแลกระหว่างการรักษาชีวิตของประชาชนและการประคับประคองการทำมาหากินของประชาชน แต่ควรเป็นไปเพื่อเปิดโอกาสให้ระบบสาธารณสุขได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคเศรษฐกิจกลับมาทำงานตามปกติได้อีกครั้ง ดังนั้นแต่ละประเทศจึงควรที่จะลงทุนในโครงสร้างทางสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ทำการตรวจเชื้อเชิงรุกเป็นวงกว้าง และละเว้นมาตรการที่จะเป็นกำแพงในการซื้อขายทรัพยากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ การเยียวยาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำประเทศจะต้องบริหารจัดการให้ทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานได้ มาตรการที่โกปินาธมองว่าจะมีส่วนจำเป็นในช่วงล็อคดาวน์ที่รัฐบาลควรทำนั้น มีตั้งแต่นโยบายด้านการให้สินเชื่อค้ำประกัน การปรับสภาพคล่องทางการเงิน การขยายนโยบายเงินชดเชยการว่างงาน รวมไปถึงการปรับโครงสร้างทางภาษี ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจและประชาชนในประเทศไปได้ตลอดระยะเวลาของการล็อคดาวน์ 

จอร์จ มอนดรากอน (Jorge Mondragon) และ มารีนา ทาวาเรส (Marina M. Tavares) กล่าวไว้ใน IMF Blog ว่า แรงงานที่มีทักษะต่ำ (low-skill workers) จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ขนานใหญ่ของรัฐบาล และมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่อาชีพได้น้อยกว่าแรงงานระดับอื่น สิ่งที่รัฐบาลควรทำนอกจากการให้เงินชดเชยจากการว่างงานหรือเงินอุดหนุนแล้ว ยังควรหาทางรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและผู้ว่าจ้างเอาไว้ด้วย เช่น การให้โอกาสในการยกระดับรายได้ที่สูงขึ้นแก่แรงงานผู้สามารถกลับไปทำงานต่อได้ ตัวอย่างสำคัญคือ กรณีสหราชอาณาจักรและสเปนที่สามารถรักษาอัตราการว่างงานไว้ได้ในอัตราที่ต่ำ และรัฐบาลยังต้องจัดให้มีการฝึกอบรมแรงงานใหม่ และจัดให้มีผู้ช่วยในการจัดหางาน เพื่อเตรียมรองรับการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหลังผ่านพ้นมาตรการล็อคดาวน์ไปแล้ว การคิดอย่างมีวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะที่ใกล้เคียงปกติได้โดยเร็ว เช่นเดียวกับกรณีของไอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในการลงทุนด้านโครงการฝึกอบรมแรงงาน และการสนับสนุนผู้ว่างงานให้สามารถหางานใหม่ได้โดยเร็ว 

มอนดรากอนและทาวาเรส ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า นอกเหนือไปจากการเยียวยาและเตรียมความพร้อมแรงงานในสถานการณ์แพร่ระบาดเช่นนี้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ของแรงงานและเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระยะยาวให้แก่ประเทศอีกด้วย

ดังนั้นสิ่งที่ IMF พยายามส่งสารไปยังผู้นำรัฐบาลและผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายของหลายประเทศ จึงเสมือนเป็นคำเตือนว่าภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ขนานใหญ่นั้น ยังมีสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำควบคู่กันไปอีกมาก โดยหากแบ่งออกเป็นภาวะวิกฤติระยะใกล้ ก็คือความจำเป็นต้องปรับนโยบายทางการเงินและการสนับสนุนด้านการเงินแก่ประชาชนให้เพียงพอ ขณะที่ในระยะยาวนั้นรัฐบาลก็ควรจะมีวิสัยทัศน์ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ พร้อมที่จะกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้งหลังมาตรการล็อคดาวน์ การจัดการวิกฤติไวรัส COVID-19 ของแต่ละประเทศนอกจากจะทำให้สามารถมองเห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลได้แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความมีหัวคิดในการพัฒนาประเทศอีกด้วย 

มาตรการล็อคดาวน์กับการเยียวยาในแคนาดา 

แน่นอนว่าการล็อคดาวน์ย่อมทำให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยจุดแรกที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการรายย่อย ยิ่งระยะเวลาของการล็อคดาวน์ถูกขยายออกไปนานเท่าไหร่ รายได้ที่จะนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ก็จะยิ่งน้อยลง ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลแคนาดาเล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกภาคส่วนไปพร้อมกับนโยบายล็อคดาวน์ ผ่านการประกาศนโยบายที่เรียกว่า ‘Canada Emergency Rent Subsidy’ หรือ CRA

นโยบาย CRA นี้ระบุว่า หากกลุ่มเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือมูลนิธิของชาวแคนาดาที่มีเหตุต้องพักกิจการตามคำสั่งล็อคดาวน์ของรัฐบาลนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการอุดหนุนของรัฐบาลเพื่อนำเงินไปจ่ายค่าสัญญาเช่าหรือค่าใช้จ่ายด้านที่ดินได้ นโยบายนี้จะเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2563 จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 

ข้อดีของนโยบายนี้คือ การจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้เช่าหรือเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงและไม่ผ่านคนกลาง ปัจจุบันนโยบาย CRA ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงระยะที่ 4 แล้ว และมีเพดานการจ่ายเงินอุดหนุนอยู่ที่ 300,000 ดอลลาร์แคนาดา โดยรัฐบาลแคนาดามีแผนที่จะขยายโครงการนี้ออกไปให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงเท่ากับว่าผู้ประกอบการทุกรายที่กำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ยังสามารถมีเงินสำหรับจ่ายค่าเช่าที่ หรือสัญญาทางธุรกิจที่ผูกพันก่อนการมาถึงของไวรัส COVID-19 ได้ หรือพูดอย่างง่ายๆ คือ รัฐบาลช่วยเสริมให้ภาคเอกชนพอจะมีแรง ‘ยืนระยะ’ ไปได้ตลอดรอดฝั่งระหว่างรอการมาถึงของวัคซีน

แน่นอนว่ามาตรการของรัฐบาลแคนาดาไม่ได้มีเพียงนโยบาย CRA เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของรัฐบาลก็จะพบปุ่ม ‘COVID-19 Financial Assistance’ ที่ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชน เมื่อคลิกเข้าไปแล้วจะนำไปสู่หน้าเว็บของรัฐบาลที่ระบุถึงมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดความช่วยเหลือสำหรับปัจเจกบุคคล การช่วยเหลือสำหรับภาคธุรกิจ การช่วยเหลือสำหรับภาคอื่นๆ ในสังคม (การเกษตร การประมง กีฬาและวัฒนธรรม พลังงาน การคมนาคม ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐาน) และการช่วยเหลือสำหรับองค์กรการกุศลที่มีส่วนช่วยเหลือสังคม 

ที่มา: https://www.canada.ca/en/revenue-agency/services/subsidy/emergency-rent-subsidy.html

ขณะนี้อัตราการได้รับวัคซีนโดสแรกของชาวแคนาดาอยู่ที่ร้อยละ 67.40 จากประชากรทั้งหมด และปัจจุบันไม่ได้มีเพียงมาตรการให้เงินช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้เงินไปกว่า 270 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือคิดเป็นร้อยละ 12.3 ของ GDP ไปกับการเยียวยาภาคครัวเรือนโดยตรง รวมไปถึงการเริ่มที่จะรุกคืบทางเศรษฐกิจ ด้วยการประกาศงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนกว่า 200 ล้านดอลลาร์แคนาดา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา งบประมาณจากโครงการนี้จะถูกนำไปสร้างสวนสาธารณะชุมชน พื้นที่สีเขียว และพื้นที่ริมน้ำ ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานและการไหลเวียนของเศรษฐกิจขนานใหญ่ รวมไปถึงการเล็งเห็นผลในระยะยาวต่อวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนอีกด้วย 

รัฐบาลไทยกับมาตรการรับมือ

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยเองก็มีมาตรการเยียวยาเช่นเดียวกัน และยังสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดต่างๆ ได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ของรัฐบาล (หลังจากเข้าสู่หน้าแรกแล้ว ให้กดเข้าสู่หน้าเว็บไซต์อีกครั้ง แล้วจึงเลือกปุ่ม ‘สถานการณ์ COVID-19 ประจำวัน’ แล้วค่อยหาปุ่ม ‘มาตรการดูแลและเยียวยา’ อีกที) โดยจะมีนโยบายหลักคือ ‘คนละครึ่ง’ ‘ม.33 เรารักกัน’ และ ‘เราชนะ’ เป็นมาตรการหลักในการเยียวยา แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดบางอย่างจึงทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับสิทธิของแต่ละโครงการในแต่ละรอบนั้นจะมีการจำกัดจำนวนผู้ได้รับสิทธิที่แน่นอน อย่างเช่น โครงการ ‘คนละครึ่ง เฟส 3’ ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพียง 31 ล้านคนเท่านั้น จากประชากรในประเทศทั้งหมด 69 ล้านคน และการจะใช้สิทธิได้ต้องมีเงื่อนไขยึดโยงอยู่กับแอพพลิเคชั่นเฉพาะบนสมาร์ทโฟน รวมไปถึงใช้ได้เฉพาะกับร้านค้าที่ร่วมรายการอีกด้วย

ที่มา: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/43088

หากอ้างอิงตามเว็บไซต์ของรัฐบาลในหมวด ‘ข่าวทำเนียบรัฐบาล’ จะพบข่าวน่าสนใจที่พูดถึงมาตรการเยียวยาและแผนทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติ COVID-19 ของประเทศไทยจาก นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) พูดถึงมาตรการของภาครัฐเอาไว้ว่า รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชนจำนวน 105.5 ล้านโดส เพื่อฉีดให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 ให้ได้ และมีมาตรการที่จะลดค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง อีกคนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน นโยบายคนละครึ่ง เฟสที่ 3 จำนวน 31 ล้านคน และ ‘โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้’ เพื่อกระตุ้นการบริโภคของผู้มีกำลังซื้ออีก 4 ล้านคน โดยทั้ง 4 โครงการนี้คาดหวังว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดประเทศภายใน 120 วันได้ ดังที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ รวมถึงการเน้นย้ำคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวว่า

“การเปิดประเทศเริ่มจากการเปิดใจ และมั่นใจในความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน” 

อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อคดาวน์สำหรับประเทศไทยนั้น ถึงแม้จะมีมาตรการควบคุมขั้นสูงในการเคลื่อนย้ายหรือใช้พื้นที่สาธารณะ แต่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี ได้เปิดเผยว่า สิ่งที่ประกาศไปในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณหลังเที่ยงคืนนั้นเป็นเพียง มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัดเท่านั้น และเป็นการ ‘ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด’ แต่ไม่ใช่การล็อคดาวน์อย่างที่สื่อทำให้ประชาชนเข้าใจ 

หากย้อนกลับไปยังคำแถลงสถานการณ์ COVID-19 ของ ศบค. เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในนาทีที่ 28.10 ต่อคำถามของสื่อมวลชนเรื่องการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ล็อคดาวน์’ นั้น นพ.ทวีศิลป์ ตอบต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนว่า

“เมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่ ศบค. ประกาศว่าเป็นการล็อคดาวน์ นั่นหมายถึงว่าคำสั่งนี้จะทำให้กระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ กระทบต่อการหารายได้ของทุกท่าน ก็ต้องมีการเยียวยา ซึ่งนี่เป็นภาระของเงินภาษีทั้งประเทศ ซึ่งอย่างที่บอกว่าตอนนี้เราก็เผชิญต่อภาวะการตกต่ำของเศรษฐกิจทั้งโลก และไทยเองก็เจอเรื่องนี้เช่นเดียวกัน”

ก่อนจะกล่าวเสริมอีกว่า ตอนนี้ทุกคนต้องช่วยกันกระจายความรับผิดชอบ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าคำประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา จะเป็นไปในลักษณะเพื่อหลีกเลี่ยงการชดใช้ค่าเยียวยาทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับที่ นพ.ทวีศิลป์ ได้เคยกล่าวเอาไว้ 

ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ZXucppxguNA

แน่นอนว่ามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้ยังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในแง่ของการกีดกันคนหลายกลุ่มออกไป รวมไปถึงการเยียวยาผิดจุดและไม่สมเหตุสมผลกับภาระค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังคงเป็นเส้นทางเดียวที่ประชาชนไทยเหลือให้เลือกในช่วงล็อคดาวน์ (ที่รัฐบาลเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน) และยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้อง ‘หยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ไปอีกนานแค่ไหน หรือจนกว่าประชาชนจะหมดลมหายใจที่จะยกการ์ดขึ้นมาใหม่ได้อีก 

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เขียน (27 มิถุนายน 2564) มีผู้ติดเชื้อสะสมในไทยทั้งหมด 244,447 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 1,912 ชีวิต ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากอาการข้างเคียงของวัคซีน และการฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ยังคงไม่สามารถประเมินได้ 

ที่มา:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Photographer

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ศิลปศาสตรบัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่สนุกและใส่ใจกับทุกงาน ไล่ตั้งแต่งานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า