คดี ‘อุ้มหาย’ ในความเงียบงันของรัฐไทย

นับจากวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้หายตัวไป และยังคงเป็นบุคคลสาบสูญในสายตาของรัฐมาโดยตลอด

ในฐานะของภรรยาผู้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามีที่ถูกบังคับให้สูญหาย อังคณา ละไพจิตร พาเรากลับไปทวงถามถึงคำตอบที่เงียบงันมาอย่างยาวนาน โดยกล่าวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีทั้งเรื่องดีและเรื่องที่น่าเศร้าใจ

เรื่องดี คือ ในปี 2555 เมื่อเดือนมกราคม รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหายแห่งชาติ และมีเจตจำนงเพื่อป้องกันผู้ถูกกระทำจากการโดนบังคับสูญหาย ทว่าเรื่องที่น่าเศร้า ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ในคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวและลักทรัพย์ทนายสมชาย นีละไพจิตร

คำพิพากษาสรุปข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติไว้ว่า ทนายสมชายถูกคนกลุ่มหนึ่งผลักขึ้นรถและหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม แต่ศาลก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่นำขึ้นสู่ศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงแจ้งยืนยันความถูกต้องต่อศาล นอกจากนั้น ศาลยังพิพากษาว่าครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายไม่มีสิทธิ์ในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมแทนผู้สูญหายได้ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่า ทนายสมชายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมื่อไม่มีศพ จึงเชื่อว่าทนายสมชายยังไม่ตาย และเมื่อไม่มีหลักฐานว่าได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายจะต้องมาร้องต่อศาลด้วยตัวเอง ครอบครัวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย

“ผลก็คือ คดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย เพราะไม่รู้ว่าผู้เสียหายอยู่ตรงไหน ดิฉันเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญและต้องมีเจตจำนงทางการเมือง ต้องมีเจตนาแน่วแน่ในการที่จะคุ้มครองประชาชน และไม่ปกป้องผู้กระทำผิด”

การสำนึกผิดที่ไม่เคยเกิดกับรัฐบาล

ในฐานะของผู้ได้รับผลกระทบจากสามีที่ถูกบังคับสูญหาย อังคณากล่าวว่า ตนเองได้ร้องเรียนมาตลอด 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลทหาร รัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลไม่ประชาธิปไตย แต่การดำเนินความยุติธรรมให้กับผู้เสียจากอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเกิดขึ้นจริง และการงดเว้นโทษกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็เกิดขึ้นบ่อยๆ การเยียวยาที่รัฐให้กับครอบครัวผู้สูญหาย จึงเป็นแค่การสงเคราะห์มากกว่าการสำนึกผิดในสิ่งที่รัฐได้กระทำไป

ทว่าสำหรับสิ่งที่ครอบครัวต้องการคือ ความรับผิดชอบจากรัฐ ความรับผิดชอบหมายถึง การเปิดเผยความจริงต่อที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย การนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย การฟื้นฟูเยียวยา และการสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครต้องถูกบังคับสูญหายจากรัฐอีก

ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ รัฐจะต้องร่วมทุกข์กับเหยื่อ ไม่ใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง เรียกร้องความเป็นธรรมโดยที่รัฐไม่ได้ใส่ใจ การให้เงินชดใช้ความเสียหาย จะต้องไม่กระทำเพียงเพื่อการสงเคราะห์ และแม้ว่ารัฐจะช่วยเหลือด้านการเงินก็มิได้หมายความว่า รัฐจะหมดภาระหน้าที่ในการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“หลังจากคดีสมชาย ดิฉันคิดว่าจะต้องไม่มีใครต้องถูกบังคับสูญหายอีก แต่ก็น่าเสียใจว่า หลังจากที่สมชายถูกบังคับสูญหาย เรายังได้เห็นเหยื่อจากการถูกบังคับสูญหายอย่างมากมายในสังคม ดิฉันก็เหมือนญาติผู้สูญหายรายอื่นๆ ที่ชั่วชีวิตนี้อาจจะไม่ได้พบความยุติธรรม แต่ดิฉันก็เชื่อว่า ทุกสิ่งที่ดิฉันทำลงไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ คุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน และจะได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่จะออกมาทวงถามความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อที่จะบอกกับรัฐว่า เราจะไม่ยอมให้รัฐใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป”

เหตุการณ์ปกติที่ไม่ปกติ

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 รายงานอย่างเป็นทางการระบุว่า มีพยานพบเห็น ‘บิลลี่’ หรือ พอละจิ รักจงเจริญ ครั้งสุดท้ายอยู่กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่หลังจากนั้นไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย และแม้ว่าจะมีคำยืนยันจาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ว่าได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง แต่คำตอบที่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้เป็นภรรยาเฝ้ารอคอย ยังคงเงียบงันมาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี

“ตอนที่เรื่องเกิดใหม่ๆ หนูก็ไม่รู้ว่าบิลลี่หายไปได้ยังไง ก็ได้รู้จากพี่ชายเขา พี่ชายเขาโทรมาเมื่อวันที่ 18 เขาถามว่าเห็นบิลลี่ไหม บิลลี่ได้กลับไปไหม ก็บอกว่ายังไม่เห็น บิลลี่บอกว่ากลับไปที่ อบต. ที่หมู่บ้าน แล้วก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับบิลลี่ เขาบอกว่าบิลลี่ลงมาตั้งแต่ตอนบ่ายของวันที่ 17 เมษาแล้ว แล้วก็มีชาวบ้านไปบอกว่า ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไป แล้วพี่ชายเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น คิดว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ แต่ทีนี้มันไม่ได้เป็นไปตามที่พี่ชายคิด

“พอวันที่ 18 เขายังไม่กลับ ก็ไปตามหากับเพื่อนๆ ทุกคนเลย ไม่มีใครเจอ ติดต่อไม่ได้ พอ 19 เมษาก็ชวนพี่ชายและเพื่อนบิลลี่มาแจ้งความ พอมาช่วงเช้า ก็เจอเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่า คนที่ถูกจับตัวไปไม่ใช่คนหาย จะมาแจ้งความได้ยังไง เขาก็ไม่รับแจ้งความ พอตอนบ่ายเจ้าหน้าที่คนเดิมก็บอกว่า ประสานงานเจ้าหน้าที่อุทยานแล้ว เขาคุมตัวบิลลี่ไว้จริง แต่ปล่อยไปแล้ว ไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็บอกว่า หนูจะไปเก็บข้อมูลมาให้เขาไปออกสื่อให้ตามหาให้หน่อย เขาบอกว่า ถ้าหนูพูดมากให้หนูเข้าไปคุยในห้องสอบสวน”

เสียงของภรรยาบิลลี่พาเราย้อนกลับไปยังความทรงจำเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน เพื่อสะท้อนให้เห็นกระบวนจัดวางคำถาม คำตอบของรัฐ ในการหลีกเลี่ยงประเด็นที่ภรรยาของบิลลี่ต้องการ เพราะแม้เมื่อพิณนภาเข้ามาอยู่ในห้องสอบสวนแล้ว เจ้าหน้าที่ยังคงถามกลับไปตั้งแต่วันแรกที่บิลลี่อยู่กับครอบครัวในวันที่เท่าไร แล้วออกจากบ้านเอาอะไรไปบ้าง

“พอเล่าให้เจ้าหน้าที่สอบสวนฟัง เจ้าหน้าที่ก็พยายามถามวนไปวนมา พอถามตั้งแต่ต้นใหม่ หนูก็เล่าตั้งแต่แรกวนไปวนมาจนจบ เขาก็จะบอกหนูว่า หนูใจเย็นๆ นะ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พูด หนูก็นึกในใจว่าหนูไม่ได้งงนะ หนูก็มองรอบๆ แล้วนึกในใจว่าก็สมชื่อนะที่เป็นห้องสืบสวนสอบสวน คือถามวนไปวนมา จากนั้นเขาก็ให้พี่สะใภ้เข้ามา หนูก็เข้าไปเป็นเพื่อน อะไรที่เขาพูดไม่ได้ เขาก็ให้หนูช่วยพูด ตำรวจเขาก็หันมามองว่ามาทำไมรอบสอง หนูก็ถูกสอบสวนใหม่อีกรอบหนึ่ง แล้วตำรวจก็ไม่ให้หนูพูดเพราะว่าอยู่คนละหมู่บ้าน”

พิณนิภา บอกเล่าว่า ทุกวันนี้คดีบิลลี่ยังมีการติดตามอยู่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็รับเป็นคดีพิเศษ ทว่าไม่มีความคืบหน้าไปถึงไหน

“เมื่อวาน DSI ก็โทรมาถามหนูว่า คอมพิวเตอร์ของบิลลี่มีอะไรที่เป็นหลักฐานไหม พวกคลิปวิดีโอเขาเผาบ้าน หรือเจ้าหน้าที่ตัดไม้ หนูบอกว่ามีอยู่ แต่หนูลบทิ้งหมดแล้ว เขาบอกว่าจะมาหาหนูที่บ้าน จะเอาคอมพ์นั้นมาตรวจ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำตามขั้นตอน หนูก็บอกว่าถ้าจะมาก็มา แต่หนูไม่เอาคอมพ์ให้นะ ตรวจเสร็จแล้วหนูขอคืน”

“ทุกวันนี้ ผมยังเสียดาย”

ในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านกฎหมายที่ออกมาเพื่อลิดรอนสิทธิผู้ใช้แรงงาน ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีทั้งคนรักและไม่หวังดีต่อ ทนง โพธิ์อ่าน ทว่าในสายตาของลูกชาย ผู้ทำงานติดตามพ่อมาตั้งแต่วัยรุ่น อดิศร โพธิ์อ่าน มองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ก่อนหน้าวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ด้วยความเสียดาย

“คุณทนงเป็นผู้นำแรงงานที่มีบทบาทอย่างมากในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน คุณทนงเป็นผู้นำแรงงานที่เข้มแข็งมาก เป็นรุ่นเดียวที่แรงงานไทยเข้มแข็งที่สุด กฎหมายในตอนนั้นมีการออกมาเพื่อลิดรอนผู้ใช้แรงงานไม่ให้มีอำนาจการต่อรอง คุณทนงจึงต้องคัดค้านเต็มที่ เพราะว่ารัฐบาลต้องเกรงใจผู้นำแรงงานเนื่องจากสหภาพแรงงานในช่วงเวลานั้นเป็นฐานที่เข้มแข็งมากที่สุด ฉะนั้น คุณทนงก็เลยต้องทุ่มสุดตัว ถึงขนาดมีการเสนอเงินให้คุณทนง

“จนมาวันหนึ่งมีการส่งคนมาตามประกบคุณทนง ส่งคนมาดักรอตั้งแต่เช้า ซึ่งคุณทนงรู้ว่าเขาจะมาอุ้ม จึงเปลี่ยนโปรแกรมโดยการขับรถเข้าไปในโรงงานแล้วให้คนงานมาปิดถนน แล้วบล็อกคนเหล่านั้นไว้ ผมก็ลงไปคุยว่าตามมาทำไม เขาบอกมาหาเพื่อน ในรถมีทหารชัดเจน คันละ 4-5 คน จริงๆ ผมจะเอากระป๋องนมทุบกระจกรถให้มันมีเรื่องเพื่อให้มีการบันทึกที่ สน. ว่ามีคนตามมา แต่พ่อผมห้าม ผมยังเสียดาย”

จนวันที่ 19 มิถุนายน ก่อนวันประชุมแรงงานระดับโลก ซึ่งทนงต้องไปร่วมงานด้วย แต่รัฐบาลไม่ให้ไป แม้ว่าสหภาพแรงงานระดับโลกจะออกค่าเดินทางให้พร้อมสรรพแล้ว และวันนั้นเองเป็นวันสุดท้ายที่ลูกชายได้เห็นพ่อยังมีชีวิต ก่อนที่อดิศรจะบอกว่าความรู้สึกของคนในครอบครัวภายหลังจากนั้น จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 28 ปีแล้วที่เหมือนตกนรกทั้งเป็น

“จากชีวิตดีๆ ก็พังทุกอย่าง เพราะหัวหลักไม่อยู่ ถามว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยาอะไรไหม ล่าสุดมีกระทรวงยุติธรรมติดต่อผมมาว่ามติ ครม. จะมาช่วยเหลือ ผมก็เลยโวยไปว่าไม่ต้องมาช่วยผมหรอก วันที่ผมลำบาก ผมหิวข้าว คุณควรเอาข้าวมาให้ผมกิน แต่วันที่ผมอิ่มแล้ว คุณเอาข้าวมาให้ทำไม

“วันนี้สิ่งที่ผมต้องการคือ ต้องการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เอากระดูกพ่อผมมาทำบุญ เงินผมไม่เอาแล้ว ซึ่งผมมีหลักฐานหมดเลย แต่ไม่มีความคืบหน้า ผมก็รู้ไงครับว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราก็ต้องพึ่งตัวเองก่อน ในเรื่องต่างๆ รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจหรือไม่ได้เยียวยาหรอก นี่แหละครับ ความชั่วร้ายของรัฐบาลไทย รัฐบาลพยายามถามโน่นถามนี่เบี่ยงเบนประเด็นอยู่ตลอดเวลา นี่แหละครับลูกผู้ชาย ฆ่าประชาชนด้วยภาษีประชาชน มันไม่ได้หรอกครับ ถ้าลูกผู้ชายจริงๆ มันต้องตัวต่อตัวครับ สุดท้ายผมก็อยากจะฝากว่า ผมลงสมัคร สส. เขตดินแดง พรรคอนาคตใหม่ ถ้าเป็นไปได้ผมจะผลักดันกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและผมเชื่อว่ามันจะช่วยสังคมให้ดีขึ้น”

รัฐบาลเผด็จการทหารต้องคืนศพสุรชัย

ด้วยชีวิตที่ผ่านพ้นเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 2516 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กลายเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นจากความยากจนข้นแค้นในชีวิตที่ปรารถนาเห็นสังคมที่เท่าเทียม

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ บอกเล่าความทรงจำถึงสามีของตนว่า

“เขาก็เป็นคนธรรมดา มีอาชีพเป็นช่างซ่อมวิทยุ เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คุณสุรชัยยังอยู่ที่นครศรีธรรมราช แต่ได้รับทราบข่าวคราวและได้จุดประกาย เพราะเป็นคนยากจน ด้อยโอกาส และได้ร่วมทำกิจกรรมอยู่ที่ภาคใต้ ไม่ได้มาร่วมที่กรุงเทพฯ เหมือนกับคนอื่น

“จากนั้นคุณสุรชัยก็ช่วยเหลือญาติพี่น้องชาวบ้านภายในพื้นที่ของตนจนถึงปี 2518 มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็ได้เข้าร่วมกับนักศึกษาประชาชนเกี่ยวกับการแจกสิ่งของให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมใหญ่อย่างไม่เป็นธรรม และเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องจนเกิดเหตุการณ์เผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากนั้นก็ถูกจับกุม ต่อมาก็มีการประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัว

“หลังจากได้รับการปล่อยตัว ก็มีการกลับมาดำเนินคดีใหม่จนต้องหลบหนีเข้าป่าไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็มีการเจรจาหยุดยิง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งคนไปเจรจา ทางพรรคก็ส่งคุณสุรชัย แต่ไม่ทันได้เจรจาก็ถูกทหารจับกุมตัว แล้วก็มีข้อตกลงว่าถ้าคุณสุรชัยยอมมอบตัวก็จะไม่เอาผิดทางอาญา คุณสุรชัยไม่ยอมจึงติดคุก แต่เป็นนักโทษชั้นดี จึงได้รับการอภัยโทษ และได้รับอิสรภาพออกมาในปี 2539”

สิ่งที่สุรชัยทำต่อเนื่องเรื่อยมานับจากได้รับอิสรภาพ คือ การทำหน้าที่ของภาคประชาชนทั้งก่อนและหลังเข้าป่า เมื่อสุรชัยออกจากคุก เขาคิดจะสมัครผู้แทน แต่สมัครไม่ได้เพราะเป็นลูกต่างด้าว จึงต้องหันไปเรียนต่อแล้วจึงได้เป็น สจ. ทำหน้าได้ 2-3 ปีก็มาสมัคร สว.แทน แต่ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้าน

จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อปี 2549 สุรชัยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ โดยร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ต่อมาจึงถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปราณีบอกเล่าว่าสุรชัยได้รับการตัดสินโทษ 12 ปีครึ่ง จึงได้รับอิสรภาพอีกครั้งเมื่อมีการขออภัยโทษและออกมาในปี 2556

ทว่าเมื่อพ้นโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังนำอีกคดีที่เขาเคยปราศรัยไว้มาแจ้งจับอีกครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดย คสช. สุรชัย แซ่ด่าน จึงรับไม่ได้ หากแต่ทางเลือกนั้นมีน้อย สุรชัยจึงเลือกที่จะหนีออกไปประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งถูกอุ้มหายไปในที่สุด

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ บอกเล่าว่า แม้ทุกวันนี้ศพที่ลอยน้ำมาจะมีการตรวจพิสูจน์ทราบ DNA รวมถึงสภาพแวดล้อมจนเชื่อได้ว่าสามีของตนได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่หน้าที่ในการทวงถามความยุติธรรมยังต้องดำเนินต่อ และตนจะเดินทางไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึง UN เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยยังคงมีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายอยู่ และเสียงของครอบครัว ญาติ พี่น้อง ยังคงรอคอยคำตอบ ไม่ว่าจะต้องมีการจัดงานเพื่อรำลึกอีกกี่ครั้ง จนกว่าความจริงจะปรากฏ

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า