ว่าด้วยความรักในทัศนะวัยชรา: ประมวล เพ็งจันทร์

 

 ประมวล เพ็งจันทร์

ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

1: เป็นมนุษย์ที่งดงาม

เมื่อครั้งที่เรายังทำนิตยสาร WAY ฉบับรายเดือน เราเคยสนทนากับ ประมวล เพ็งจันทร์ และถ่ายทอดเรื่องราวของเขาลงในคอลัมน์ Interview ในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 70

บทสัมภาษณ์ฉบับยาวเหยียดที่ว่าด้วยเรื่องการละวางตัวตน คำถาม ความโกรธ ความกลัว ที่อาจารย์ประมวลเคยยึดถือมาทั้งชีวิต

‘ความรัก’ เป็นหัวข้อหนึ่งที่เราได้พูดคุยกับอาจารย์ประมวล และโชคร้ายที่ความรักบางส่วนถูกตัดออกจากพื้นที่ตีพิมพ์ ในวาระโอกาสนี้ เราอยากนำ ‘ความรัก’ ของอาจารย์ประมวลมาถ่ายทอดสู่กัน

“เป็นมนุษย์ที่งดงาม” คือนิยามที่ 1 ในกองบรรณาธิการนิตยสาร WAY มีต่ออาจารย์ประมวลหลังจบบทสนทนาในวันที่ 13 ธันวาคม 2556

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป แต่ความคิดของอาจารย์ประมวลยังคงอยู่ในความทรงจำ และถึงเวลาที่ความทรงจำต้องบอกเล่า

 

2: ความรักเป็นเรื่องสาธารณะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

“รู้สึกกดดันไหมที่มีลูกศิษย์คาดหวังในตัวอาจารย์ไว้สูง” เราถาม

“ผมไม่คิดกับพวกเขาในฐานะลูกศิษย์ พวกเขาเป็นเพื่อน อาจจะเป็นเพื่อนที่มีวัยต่างกัน ผมอยู่บนโลกนี้มาก่อนเขา ก็เลยต้องมีอายุมากกว่าเขา ผมมีความรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกันร่วมเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” อาจารย์ประมวลตอบก่อนจะเล่าเรื่องราวของเพื่อนรุ่นเยาว์ของเขาที่มาปรึกษาเรื่องความรักและชีวิตคู่

“วันหนึ่งหลังจากเสร็จจากกิจกรรม ผมต้องรีบเดินทางจากเชียงใหม่กลับกรุงเทพฯ เราแวะเชียงใหม่เพื่ออาบน้ำ นัดให้รถมารับเพื่อออกจากบ้านมาที่อาเขต ด้วยเวลาที่จำกัดก็มีน้องคนหนึ่งมานั่งถามผมว่า “อาจารย์มีเวลาให้ผมสัก 5 นาทีมั้ย” ผมก็บอกมีเวลาเท่าที่รถจะมารับ มีอะไรล่ะ

“แทนที่เขาจะพูดธุระของเขาเลย เขากลับวิ่งไปหาเพื่อนอีกคนที่เป็นผู้หญิง ทั้งสองจูงมือกันมานั่งต่อหน้าผม แล้วเขาก็เขินอายนิดๆ คนหนึ่งตั้งประเด็นขึ้นมาว่า “จำเป็นต้องแต่งงานมีชีวิตคู่ไหม”

“ผมก็ตอบตามความเป็นจริงว่า จะบอกว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นมันก็ขึ้นอยู่กับคุณว่า คุณต้องการเรียนรู้มั้ย สำหรับผมผมเข้าใจว่า การมีชีวิตคู่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ เพราะขณะที่เราเกิดมาบนโลกใบนี้ เราถูกทำให้เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าเราเกิดมาในเพศชาย เราก็มีข้อจำกัด แล้วเราก็มีความรู้แบบเพศชาย ถ้าเราเกิดเป็นผู้หญิง เราก็มีข้อจำกัด และก็ถูกเปิดประตูให้เรียนรู้โลกใบนี้ผ่านความเป็นหญิง

“แต่ความจริงแล้ว เราต้องเรียนรู้ผ่านมิติที่ข้ามพ้นความเป็นหญิงความเป็นชายให้ได้ การแต่งงานมีชีวิตคู่คือการที่เราได้อาศัยร่างหรือจิตของคนอีกคนหนึ่งที่เขามีในสิ่งที่เราขาดให้เราได้เรียนรู้โลกใบนี้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้เขามาขอเวลาผม 5 นาทีเพื่อจะบอกว่าเขาจะเป็นคู่รักกันแล้ว ผมก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งวิเศษมหัศจรรย์ นี่คือสิ่งที่งดงาม ความรักเป็นเรื่องสาธารณะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถ้าเมื่อใดที่เราทำความรักให้เป็นเรื่องส่วนตัวมันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะความรักเป็นความงดงามเป็นสาธารณะและความหมายของความรักจะงดงามเมื่อมันถูกเปิดเผยเป็นสาธารณะ ผมจึงขอขอบคุณพวกเขาทั้งสองที่ให้เกียรติผมได้ฟังสิ่งนี้ และผมคงเป็นคนแรกที่ได้ฟังสิ่งนี้ เขาบอกใช่ ผมบอกขอได้โปรดเข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียกว่าความรักนั้นมันไม่มีความสำเร็จที่สมบูรณ์ มันเป็นสิ่งที่ต้องงอกงามเพิ่มพูนอยู่ทุกขณะ ถ้าเราตั้งใจที่จะมีความรักที่งดงาม โปรดอย่าหยุดการสร้างสรรค์ความหมายที่งดงามในชีวิตคู่

“ผมพูดตรงนี้เพียงจะบอกว่าผมไม่ได้เป็นครูในความหมายที่จะไปสอนอะไรใครได้ ผมมีแต่เรื่องราวที่จะบอกเล่า จะเรียกว่าครูหรืออะไรก็สุดแล้วแต่ แต่ความรู้สึกของผม เราเป็นเพื่อนที่เรียนรู้ร่วมกัน เพราะผมก็เรียนรู้จากเขา” คือเรื่องเล่าของอาจารย์ประมวล

 

3: ก็ผมแต่งงานกับเธอด้วยจิตปรารถนาที่จะเห็นเธอมีความสุขไม่ใช่หรือ?

“ในช่วงเวลาที่อาจารย์ค้นพบชุดความหมายของตัวเอง เมื่อมองกลับไปยังอดีตแล้วเห็นตัวเองถี่ถ้วนขึ้น พบความน่ารังเกียจของตัวเองในอดีต อาจารย์จัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร” เราถาม

“รู้สึกได้ถึงความผิด” อาจารย์ประมวลตอบทันทีก่อนจะเปิดเปลือยชีวิตคู่ของตนผ่านเรื่องราว ดังนี้

“ผมเข้าใจว่าความรู้สึกว่าตัวเองผิดมันคือความรู้ชุดหนึ่ง เพราะเมื่อก่อนเราไม่รู้สึกว่าเราผิด ไม่ต้องเป็นเรื่องอื่นไกลที่เป็นเรื่องทางสังคม เป็นเรื่องระหว่างผมกับภรรยาที่เป็นคู่ชีวิต เราอยู่กันมานาน…นานมาก ผมไม่เคยรู้สึกว่าผมผิด โดยปกติผมไปรับเธอที่มหาวิทยาลัย เธออยากกินอาหารที่ร้านร้านหนึ่ง แต่ร้านที่ภรรยาขอให้ผมพาไปหลายครั้งในสมัยที่ผมยังเป็นอาจารย์มันทำให้ผมรู้สึกรำคาญหงุดหงิดว่าทำไม มันมีคำถามในใจตลอดเวลา ทำไมต้องขับรถมาตั้งไกลเพื่อจะมากินอาหารที่นี่ ทำไมเราไม่กินอาหารที่มันเป็นหนทางกลับบ้านเรา ทำไมเราต้องเสียเวลา ทำไม ทำไม ทำไม มันมีคำถามที่เป็นเหตุผลดีๆ ทั้งนั้นเลยที่จะมาสรุปในใจผมว่า ภรรยาของผมมีวิถีชีวิตที่ไม่น่าชื่นชมเอาเสียเลย

“แต่พอวันหนึ่งเมื่อผมกลับมาจากการเดิน ผมรู้สึกได้ถึงความผิดที่ผมเอาหลักการเอาเหตุผลที่ผมสร้างขึ้นเพื่อจะไปตัดสินว่าการที่ภรรยาไปกินอาหารในที่แห่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ วันที่ทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจคือวันที่ผมเห็นภรรยากินอาหารอย่างมีความสุข ก็ผมแต่งงานกับเธอด้วยจิตปรารถนาที่จะเห็นเธอมีความสุขไม่ใช่หรือ? ผมมีจิตปรารถนาที่จะรับใช้คู่ชีวิตของผม แล้วนี่ไม่ใช่การรับใช้หรือ แล้วทำไมเมื่อก่อนผมจึงรู้สึกขัดเคือง ผมรู้สึกถึงความผิด ความผิดที่เราอธิบายความหมายของความรักในรูปแบบมีเหตุผลมีหลักการถี่ถ้วนเสียจนกระทั่งตำหนิติโทษคู่ชีวิตของเราเอง ทั้งที่ความจริงแล้วความรักไม่มีเรื่องหลักการไม่มีเรื่องเหตุผล เป็นเรื่องของความสุขที่เราจะมีร่วมกับคนที่เรารัก

“ความรู้สึกแบบนี้ทำให้ผมเห็นว่าที่ผ่านมา จะพูดว่าผิดก็ใช่ จะพูดว่าไม่ควรจะเกิดขึ้นก็ใช่ ไม่ควรเอาเหตุผลมาใช้กับเรื่องชีวิตคู่ในเรื่องการกินการอยู่ เพราะชีวิตมันก็เป็นแบบนี้ ชีวิตคือเรื่องรื่นรมย์บันเทิงกับกิจกรรมในชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าเราจะบอกว่าไปดูทำไมหนังในโรง แพงก็แพง ซื้อดีวีดีมาดูที่บ้านก็ได้ ก็เพราะคนมีความสุขกับระบบเสียง ระบบภาพ ผมเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่เราอธิบายได้

“ผมเป็นนักเลงดูหนัง สมัยที่ผมเป็นอาจารย์สอนหนังสือ หนังที่ดีต้องดูในโรง เพราะระบบเสียงสมบูรณ์ เราจะไปดูอวตารจากดีวีดีแบนๆ ได้อย่างไร มันต้องไปดูในโรง นี่คือความรู้สึกของผม แต่เรากลับไม่คิดอย่างนี้กับภรรยา พอเป็นเรื่องความชอบของเราเรากลับมีคำอธิบายเชิงเหตุผลอย่างดีใช่มั้ย แต่พอเป็นเรื่องของเขาเรากลับเป็นอีกแบบ ผมสร้างเหตุผลขึ้นมาเพียงเพื่อตัดสินพิพากษาคนอื่นเท่านั้นหรือ สร้างเหตุผลขึ้นมาเพียงเพื่อปกป้องความชอบของผมเท่านั้นหรือ ความรู้สึกแบบนี้มันทำให้ผมรู้สึกได้ว่าผมผิด ที่ผ่านมาผมปฏิบัติไม่ถูกต้อง ผมจะไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว”

นี่คือรักและปรารถนาของชายชราคนหนึ่งที่ชื่อประมวล เพ็งจันทร์

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า