เก็บเห็ด หาปลา ชีวิตช้าๆ สไตล์คีวี

เขียนเล่าเรื่องอาหารไปแล้ว 2 ตอน (ในบทความชุด ‘โต๋เต๋แบบจนๆ’ ตอน อาหารคีวี: พัฟโลวาสักชิ้นไหม? และ อาหารหลากรสของผู้อพยพในแดนคีวี) ผมก็นึกถึงประสบการณ์ของผมที่ออกไปหาอาหารในนิวซีแลนด์กับมิตรสหาย จะเรียกว่าเป็นการเก็บผักหาปลาตามธรรมชาติแบบชาวบ้านทั่วไปก็อาจจะได้ แต่ไม่ได้มีเพียงคนคีวีผิวขาวและเมารีเท่านั้นที่ทำกิจกรรมเช่นนี้ ผู้คนอีกหลายกลุ่มก็เข้าร่วมด้วย รวมไปถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองและผู้อพยพหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่เรียนรู้และปรับตัวกับชีวิตใหม่ได้ค่อนข้างเร็ว

ปิกนิกสไตล์คีวี

กว่า 6 ปีที่ดำรงชีวิตอยู่ในนิวซีแลนด์ ผมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากมายจากการร่ำเรียนในห้องเรียนและการทำงาน ทว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวก็มีไม่น้อย ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันกับคนนิวซีแลนด์ธรรมดาทั่วไป หนึ่งในคนคีวีเหล่านี้คือ ดอน โดนัลด์สัน ผู้ล่วงลับไปแล้วหลายปี อดีตอาจารย์สอนวิทยาลัยครูและผู้มีฝีมือด้านงานช่าง อีกทั้งยังมีความรู้ทางประวัติศาสตร์และสังคมที่น่าทึ่ง ดอนและออเดรย์ ผู้เป็นภรรยา ไม่เพียงแต่เชื้อเชิญผมให้ไปกินอาหารที่บ้านของทั้งสองเท่านั้น หากยังให้ผมพักนอนค้างคืนที่บ้าน 2-3 ครั้ง ครั้งละหลายวัน ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าอาหารและเครื่องดื่มที่ครอบครัวคีวีทั่วไปบริโภคคืออะไร เรียนรู้เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาสและอีสเตอร์ การพบปะของสมาชิกในครอบครัว การกินอาหารร่วมกัน การเฮฮาและความรู้สึกที่ดีในหมู่ญาติพี่น้อง ที่โดยบังเอิญช่วยให้ผมเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเครือญาติในครอบครัวนิวซีแลนด์ ซึ่งได้เล่าไปแล้ว (ตอน อาหารคีวี: พัฟโลวาสักชิ้นไหม?) นอกจากนี้ เขายังพาผมไปใช้ชีวิตกลางแจ้งด้วยการปิกนิกและเรียนรู้การเก็บ/หาอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติด้วย

ดอนมีรถ 2 คัน เป็นรถกระบะญี่ปุ่นแบบท้ายกระบะยาวเพื่อการบรรทุกสารพัดสิ่งของที่เขาใช้หรือต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือต่างๆ สำหรับการก่อสร้าง (ตอนนั้นแกกำลังสร้างบ้านหลังใหม่ ทำด้วยตัวเอง ไม่ได้จ้างใครหรือมีลูกมือ แต่สร้างไม่เสร็จเพราะเสียชีวิตก่อน) เป็นคันที่แกขับไปที่ทำงานและทำงานอื่นๆ อีกคันหนึ่งเป็นรถเบ็นซ์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมือสอง ซื้อมาเพราะแกชอบ บอกผมว่าเครื่องยนต์ของรถเยอรมันดีมาก ไม่จุกจิก ประหยัดน้ำมัน ซ่อมไม่ยาก (แกทำงานซ่อมเล็กๆ น้อยๆ เอง) ไม่เหมือนรถอังกฤษที่เครื่องยนต์ใหญ่และมีน้ำหนักมาก กินน้ำมันมาก (น้ำเสียงไม่ชอบรถอังกฤษเลย) และเพื่อขับพาภรรยาไปเที่ยวในวันหยุด สองสามีภรรยาเคยชวนผมไปปิกนิก 2-3 ครั้ง ทุกครั้งดอนจะขับรถกระบะไป มีเตาแก๊สเล็กๆ ที่คล้ายกับเตาแก๊สปิกนิกในบ้านเรา ถังพลาสติกใบใหญ่ใส่อาหาร ถังน้ำ หม้อต้มน้ำ กาชงชา ถ้วยชา จานชาม และโต๊ะกับเก้าอี้ปิกนิกใส่ท้ายรถ และเป็นที่นั่งของผมด้วย เพราะออเดรย์นั่งข้างหน้าคู่กับดอน

กฎหมายนิวซีแลนด์ไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารนั่งบนกระบะด้านหลังรถเพราะอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ด้วยเหตุนี้ ถ้าผมไปด้วยดอนมักขับรถไปตามถนนเล็กๆ เงียบๆ ที่ไม่ใช่สายหลัก ซึ่งไม่ค่อยมีรถราวิ่งไปมา และขับช้าๆ (ปกติก็ไม่ขับเร็วอยู่แล้ว – ดอนเคยพูดกับผมว่าจะรีบไปไหน ที่นี่ไม่มีรถติด) สถานที่ที่ไปกันมักเป็นที่ราบริมแม่น้ำหรือชายทะเล ที่ที่คนท้องถิ่นรู้จักและไปปิกนิกกัน ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักกันทั่วไป

พอถึงที่หมายดอนจะตั้งเตาแก๊สปิกนิก จุดไฟต้มน้ำ ตั้งโต๊ะเก้าอี้ ส่วนออเดรย์ก็เอาอาหารออกจากถังพลาสติก มักเป็นแซนด์วิชที่ทำเสร็จพร้อมบริโภค ผัก ผลไม้ และขนมที่เธออบเอง กินอาหารแกล้มน้ำชาพลางชมธรรมชาติรอบตัวพลาง หลังอาหารทั้งสองจะชวนผมไปเดินเล่นดูรอบบริเวณที่ปิกนิก และคุยกันเรื่องดอกไม้พืชพรรณต่างๆ ที่ขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งผมไม่มีความรู้เลย ที่พอจะรู้เรื่องบ้างก็ตอนที่ดอนพาผมไปหาหรือเก็บของกินได้ เช่น เห็ดที่ขึ้นในป่าสน หอยแมลงภู่และหอยแครงตามชายทะเลบางแห่ง

ผมชอบไปปิกนิกแบบนี้ เพราะได้ไปเที่ยวเดินเล่นดูวิว ไม่ต้องทนอุดอู้อยู่ในแฟลตที่พักหรือในห้องทำงานเล็กๆ ที่ภาควิชาให้ผมใช้นั่งอ่านเขียนหนังสือ อากาศก็มักไม่แย่นัก แม้ว่าบางครั้งจะเย็นมากจนต้องใส่เสื้อกันหนาว แต่ไม่มีฝนหรือลมแรง และที่ที่ไปปิกนิกมักมีคนน้อย มีแต่คนท้องถิ่นที่รู้จักมักคุ้นกับสถานที่ จึงมีความรู้สึกว่าเงียบสงบ สบาย ถ้าโชคดีอาจได้ของกินติดมือกลับบ้านด้วย

ถ้าเข้าใจไม่ผิด กฎหมายของนิวซีแลนด์ระบุไว้ว่า ป่าเขา แม่น้ำ และชายหาดริมทะเล ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่กิจกรรมนั้นๆ ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ เช่น เดินเล่น ชมวิว ปิกนิก หรือตั้งแคมป์ค้างแรมในบริเวณที่รัฐจัดไว้ให้ (ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ไฟป่า เป็นต้น) รวมถึงการตกปลา การหาและเก็บพืชพรรณธัญญาหารที่ขึ้นตามฤดูกาลเพื่อการบริโภคส่วนตัว ทั้งหมดนี้ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่คนนิวซีแลนด์ทั้งหลายมีสิทธิใช้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม นิวซีแลนด์คงไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งที่มี ‘ชายหาดส่วนตัว’ ที่เปิดให้พวกกระเป๋าหนักเข้าไปอุดหนุนซื้อบริการได้ มีตั้งแต่ราคาต่ำที่สุดคือ 155-350 ดอลลาร์ต่อคืน ที่ ‘Davies Bay Holiday Homes’ ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงแกะและวัว ตั้งอยู่บนเกาะเหนือ หรือที่ ‘Annandale’ ในบริเวณ Banks Peninsula ไม่ไกลนักจากเมืองไครสต์เชิร์ชบนเกาะใต้ ด้วยราคา 1,195 ดอลลาร์ต่อคืน เพื่อพักในบ้านริมทะเลส่วนตัว หากมีทรัพย์มากมายจนไม่รู้จะใช้จ่ายอะไรก็สามารถจ้างพ่อครัวส่วนตัวมาทำอาหารให้กินได้ ไปจนถึงราคาที่สูงมาก คือขั้นต่ำ 4,500 ดอลลาร์ต่อคืน เพื่อพักบนเกาะส่วนตัวที่มีชื่อว่า ‘Slipper Island’ (Whakahau ในภาษาเมารี) นอกฝั่งทะเลบริเวณ Coromandel Peninsula (ที่ว่ากันว่าสวยมาก แต่ผมยังไม่เคยไป)[1]  

ด้วยความอยากรู้ว่าลูกค้าคือใคร ผู้สามารถจ่ายราคาแพงขนาดนี้ได้ ผมจึงลองค้นดูในอินเทอร์เน็ต ใช้ที่พัก ‘Annandale’ เป็นคำค้น ก็พบว่าโรงแรมแห่งนี้ลงทุนด้านการโฆษณาอย่างมาก เช่น ให้นักเขียนด้านการท่องเที่ยวเข้าไปพักและเขียนรีวิวเกี่ยวกับที่พัก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่คำวิจารณ์ออกมาในเชิงบวก[2] พร้อมภาพถ่ายประกอบการโฆษณาแสดงที่พักหรูหรา ล้อมรอบด้วยวิวธรรมชาติอันงดงาม ชวนให้พักผ่อน

อดีตนักศึกษาจนๆ อย่างผมคงไม่ใช่ลูกค้าของที่พักเหล่านี้แน่นอน

เห็ดในป่าสน

มีอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมชอบไปปิกนิก คือการเดินหาและเก็บอาหารตามธรรมชาติ แน่นอน ดอนเป็นคนที่สอนให้ผมรู้ว่าอะไรกินได้ จะเก็บอย่างไร หรือแม้แต่ทำอะไรกิน

หลังจากฤดูใบไม้ผลิผ่านไปราว 2-3 สัปดาห์ อากาศอบอุ่นขึ้นมาก แสงแดดก็มีมากขึ้นด้วย นอกจากจะทำให้ดอกไม้นานาชนิดในป่าเริ่มเบ่งบานกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนคือ เห็ดหลากสีหลายขนาดที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าสนที่มักมีใบสนร่วงทับถมกันอยู่บนพื้นดิน ละลานตาไปด้วยสารพันเห็ดที่งอกงามอยู่บนใบสนที่ร่วนผุและชื้น และบนเปลือกต้นสนหรือไม้ชนิดอื่น เห็ดเหล่านี้มีสารพัดสี ทั้งสีขาว ส้ม แดง เหลือง และสีอื่นๆ บางชนิดมีสีเข้มและสด บ้างก็มีจุดสีขาวบนสีแดงหรือส้ม ดูเตะตาและชวนให้ประหลาดใจว่ากินได้หรือไม่ เห็ดจำนวนมากเติบโตเป็นดอกๆ ต่างขนาด บางชนิดก็เป็นดอกที่โตซ้อนกันจนดูเหมือนพัดขนาดใหญ่ที่คลี่แผ่ออกมา

ดอนบอกผมว่า ในนิวซีแลนด์ไม่น่ามีเห็ดที่เป็นพิษมากนัก แกคิดว่าเห็ดส่วนใหญ่น่าจะกินได้ แต่ก็ให้คำแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยควรเลือกเก็บเห็ดที่มีสีขาว ด้านหลังของดอกควรเป็นสีน้ำตาล ให้หลีกเลี่ยงเห็ดที่มีสีฉูดฉาดสดใส และไม่ควรล้างเห็ดด้วยน้ำหรืออะไรทั้งสิ้น แค่ปัดเอาดินหรือฝุ่นที่เปื้อนอยู่บนเห็ดออกก็พอ เอาไปทำอาหารได้เลย หรือแม้แต่กินสดๆ – ซึ่งทำให้ลูกจีนอย่างผมที่ถูกสอนให้ล้างผักทุกชนิดต้องอึ้งไปครู่หนึ่ง – แกอธิบายว่าเห็ดพวกนี้เติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีอะไรเจือปน แล้วแกก็หยิบเห็ดที่เพิ่งเก็บได้และปัดฝุ่นดินออกพอเป็นพิธีใส่ปากเคี้ยวให้ดู และยื่นอีกดอกให้ผมลองชิม รสชาติไม่เลว ทั้งกรอบและนุ่ม ผมเอามาลองทำอาหารในภายหลังก็พบว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใส่ในสลัดผัก

อาหารจากทะเล

ก่อนจบของตอนที่แล้ว (อาหารหลากรสของผู้อพยพในแดนคีวี) ผมได้เล่าสั้นๆ ถึงเว็บไซต์นำเที่ยวนิวซีแลนด์ที่ระบุว่า คนคีวีสมัยนี้ชอบกินอาหารทะเล[3] ซึ่งทำให้ผมแปลกใจพอควร ไม่คาดคิดว่าอาหารทะเลจะกลายเป็นที่นิยมกันขนาดนี้ เพราะแม้ว่านิวซีแลนด์จะเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยแหล่งอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนจะมีเพียงชนพื้นเมืองเมารีและชาวโพลีนิเชียจากเกาะอื่นเท่านั้นที่ชื่นชมกับอาหารทะเล ผมไม่ค่อยเห็นคนคีวีผิวขาวกินปลาหรืออาหารทะเลชนิดอื่นนอกจาก ‘ฟิชแอนด์ชิปส์’

พูดถึงอาหารทะเล ทำให้ผมรู้สึกว่าดอนอาจจะต่างจากคนคีวีทั่วไป เขาไม่เพียงแต่พาผมไปเที่ยวชมวิวชายทะเล 2-3 แห่งเท่านั้น หากยังสอนให้รู้ว่าอะไรคืออาหาร จะเก็บและกินอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าความรู้ของดอนเรื่องอาหารทะเล (เช่น มีอะไรบ้าง ที่ไหน จะเก็บและกินอย่างไร) เกี่ยวข้องกับการที่เขามีเชื้อสายเมารีหรือไม่?

เขาเคยพาผมไปเจอน้าของเขา – แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นน้องชายของแม่โดยตรงหรือเป็นลูกผู้น้องของแม่? – ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านประมงเล็กๆ แห่งหนึ่งทางเหนือของเมืองดันนิดิน เป็นหมู่บ้านที่มีคนเชื้อสายเมารีอยู่พอสมควร หน้าตาของน้าก็คมเข้ม ดูออกว่าเป็นคนเมารี ไม่ใช่ผิวขาว ดอนเล่าว่าสมัยเด็กๆ เขาไปอยู่ที่นั่นบ่อย ท่าทางดูสนิทสนมกับน้าทีเดียว ผมจึงอยากสันนิษฐานว่าดอนอาจเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับทะเลจากน้าก็ได้

ดันนิดิน เมืองที่ผมอาศัยอยู่ในช่วงนั้นแม้จะมีร้านขายปลา แต่สินค้าส่วนใหญ่ที่วางขายเป็นเนื้อปลาที่แล่เป็นชิ้นๆ เลาะกระดูกลอกหนังออกหมดแบบที่เรียกว่า ‘fillet’ เท่าที่สังเกตและพอรู้บ้าง น่าจะเป็นปลาคอด (cod) เนื้อสีขาว ส่วนเศษเนื้อปลาติดกระดูกเขาเอาใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ ขาย ว่ากันว่าเป็นอาหารสำหรับคนที่เลี้ยงแมว บางครั้งก็เห็นหอยแมลงภู่ แต่ก็ไม่บ่อยนัก

ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสินค้าเด่นของร้านคือ ปลาทูน่าตัวโต ตัวหนึ่งๆ หนักไม่น้อยกว่า 7 กิโลกรัม และอาจหนักถึง 10 กิโลกรัมก็ได้ (?) ราคาไม่แพงมากนัก ผมเคยซื้อมาลองกิน ปรากฏว่าเนื้อปลาแข็งมาก เพราะถูกแช่แข็งก่อนมาวางขายที่ร้าน ตู้เย็นในแฟลตที่อยู่ไม่ใหญ่นัก เอาปลาทั้งตัวเข้าไปแช่ไม่ได้ ผมจึงต้องตัดเป็นชิ้นๆ ด้วยการใช้มีดปังตอวางบนตัวปลาแล้วเอาค้อนตอกลงบนสันมีดปังตอ ค่อยๆ ตอก ค่อยๆ ตัดออกเป็นชิ้นๆ หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วห่อด้วยพลาสติกแรปที่ใช้เก็บรักษาอาหารทีละชิ้น ทีนี้ก็เอาเก็บไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นได้ เพราะปลาตัวใหญ่มากจึงตัดได้หลายชิ้น เก็บได้นานและกินได้หลายมื้อ แต่เพราะเนื้อปลาถูกแช่จนแข็ง เวลาทำกินผมมักเอาชิ้นปลาไปนึ่งแทนการทอดหรือวิธีอื่น หนึ่งชิ้นก็ได้หนึ่งจาน เป็นอาหารทะเลที่คุ้มค่าเงินอย่างยิ่ง

ชวนชิมหอยทะเลสด

หลังจากที่ดอนสอนให้รู้ถึงความอร่อยของเห็ดป่า ผมก็ชักชวนรุ่นพี่คนไทยที่มีรถยนต์ไปเก็บเห็ดกันเองหลายครั้ง เป็นกิจกรรมที่รุ่นพี่นิยมชมชอบทีเดียว และมีอีกหนึ่งกิจกรรมซึ่งเป็นที่โปรดปรานเช่นกัน คือการเก็บหอยทะเล

นอกจากการเก็บเห็ด ดอนยังสอนให้ผมรู้ว่าชายทะเลแถบโอทาโก้ นอกเมืองดันนิดินออกไปไม่ไกลนัก ชุกชุมไปด้วยหอยทะเลนานาชนิด แต่ที่คนทั่วไปนิยมกันมากคือ ‘mussels’ หรือหอยแมลงภู่ และ ‘cockles’ หรือหอยแครง ที่หากดูจากลักษณะภายนอกของหอยทั้งสองชนิดก็อาจไม่แตกต่างจากหอยที่พบในทะเลแถบบ้านเรานัก แต่มีขนาดใหญ่กว่า

หอยแมลงภู่ตามธรรมชาติมักพบตามโขดหินริมทะเล อยู่เกาะกันเป็นกลุ่มติดแน่นบนโขดหิน บางทีก็เป็นกลุ่มใหญ่ บ้างก็เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใหญ่หรือเล็กก็เกาะติดกันจนแน่น ยากที่จะดึงออกจากหิน ต้องใช้มีดแซะหอยและตัดออกจากโขดหินจึงจะได้ ทำสักพักผมก็รู้วิธี เริ่มรู้สึกสนุกกับการแซะหอยแมลงภู่ออกจากโขดหิน บางครั้งมีหอยเป็นจำนวนมาก เดินแซะเดินเก็บไม่นานจะได้เต็มหนึ่งถังพลาสติกใหญ่ ปกติใช้ถังพลาสติกบรรจุสีทาบ้านที่ไม่ใช้แล้ว

หอยแครงส่วนมากตัวใหญ่กว่าหอยแครงบ้านเรา ฝังตัวอยู่ในพื้นทราย จึงต้องขุดขึ้นมา ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในเวลากิน เพราะมีทรายปะปนอยู่ในหอย ไม่ว่าจะล้างน้ำกี่ครั้งก็ตาม หรือวิธีที่นิยมปฏิบัติกันคือแช่น้ำเกลือ ก็ไม่ค่อยได้ผลนัก ยังมีทรายหลงเหลืออยู่เสมอ สร้างความรำคาญในการกินเพราะมักเคี้ยวโดนเม็ดทราย ผมจึงไม่ค่อยชอบหอยแครงนัก

นักล่าปลา (ร้า) เขมร

ฤดูร้อนเป็นช่วงที่ชาวเมืองดันนิดินมีกิจกรรมมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากอากาศจะอบอุ่น ยังมีลมพัดทำให้รู้สึกสบาย ไม่ร้อนมากทั้งๆ ที่แดดจ้าแรงมาก เวลากลางวันยาวนานขึ้น ฟ้าสว่างตั้งแต่เช้าและบางครั้งก็สว่างไปถึง 3-4 ทุ่ม ผู้คนส่วนใหญ่จึงชอบออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการไปปิกนิกริมทะเลหรือริมตลิ่งแม่น้ำ เดินเล่นในสวนสาธารณะ เล่นกีฬา หรือกิจกรรมนอกบ้านประเภทอื่นๆ

ไม่ต่างจากชาวเมืองคนอื่นๆ เพื่อนคนไทยก็ชอบออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเช่นกัน และหนึ่งในกิจกรรมที่มักชวนผมไปทำด้วยคือการตกปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นพี่ผู้ชายที่มีชื่อเล่นว่า ‘โอ’ ผู้นิยมชมชอบการตกปลาเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการตกปลาเทราต์ในแม่น้ำ ที่มักเป็นปลาเทราต์สีน้ำตาล (brown trout) และปลาแซลมอนในบริเวณปากแม่น้ำต่อกับทะเล ในช่วงที่แซลมอนว่ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ บางครั้งพี่โอไปตกปลาคนเดียว แต่ก็มีหลายครั้งที่แกชวนคนอื่นไปเป็นเพื่อน ซึ่งรวมถึงผมด้วย

วันหนึ่งในฤดูร้อนที่อากาศดีมาก พี่โอขับรถมาชวนผมและเพื่อนคนไทยไปเที่ยวแถวท่าเรือของเมือง ถ้าจำไม่ผิด แกต้องการตกปลาตัวเล็กชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เป็นเหยื่อตกปลาใหญ่ และเอาคันเบ็ดตกปลาติดรถไปด้วยหลายคัน พวกเราไปถึงที่หมายตอนบ่ายแก่ๆ บริเวณท่าเรือมีผู้ชายยืนตกปลาอยู่หลายคน มีทั้งที่มาคนเดียวและมาเป็นกลุ่ม ผมเคยผ่านไปทางท่าเรือหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไปร่วมตกปลา

พี่โอเดินไปตามสะพานที่ยื่นออกไปในน้ำ มองหาจุดเหมาะๆ ที่จะตกปลา ผ่านไปพักใหญ่แกก็ยังไม่ได้ปลาที่ต้องการ ระหว่างนั้นผมเดินดูนักตกปลาคนอื่นๆ ที่มาพร้อมกับถังน้ำพลาสติกสำหรับใส่ปลา ได้ปลาตัวยาวประมาณ 13-14 เซนติเมตร บางคนตกได้ปลาตัวเล็กที่ว่านี้หลายตัว บางคนยังไม่ได้สักตัว พี่โอบอกผมว่าปลาตัวเล็กเหล่านี้ – ซึ่งแกไม่ได้บอกผมว่าเรียกว่าอะไร – เป็นเหยื่อสำหรับตกปลาใหญ่ คนตกปลาทั่วไปถ้าตกได้ราว 10 ตัว ก็พอใจ หยุดตกแล้วเก็บเบ็ดตกปลาและข้าวของอื่นๆ ขึ้นรถกลับบ้าน

ผมเดินไปเจอผู้ชาย 2-3 คน กำลังตกปลา ในถังน้ำพลาสติกข้างๆ มีปลาตัวเล็กที่ว่ามากกว่าครึ่งถัง ด้วยความอยากรู้จึงถามเขาว่าเอาไปทำอะไร คุยไปคุยมาก็รู้ว่าเป็นคนเขมรที่อพยพหนีภัยสงครามตอนที่พวกเขมรแดงยึดประเทศกัมพูชาได้สำเร็จ พวกเขาไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดนไทย-เขมรเป็นเวลาหลายปีก่อนย้ายมาอยู่ในเมืองนี้ พอรู้ว่าผมและเพื่อนเป็นคนไทยก็พูดภาษาไทยกับพวกผม เขาอธิบายว่าจะเอาปลาในถังน้ำไปทำ ‘ปลาฮก’

ผมไม่แน่ใจว่าปลาฮกคืออะไรจึงถามอีกครั้ง คนเขมรได้ยินคำถามก็หัวเราะชอบใจ ตอบด้วยภาษาไทยว่า “คนไทยเรียกว่า ‘ปลาร้า’” แล้วอธิบายต่อว่าปลาตัวเล็กขนาดนี้เหมาะสำหรับทำปลาร้า รสชาติดี อร่อย และเก็บได้นานเป็นปีๆ นักล่าปลาร้าบอกว่าถ้าตกปลาได้เต็มถังจะกลับบ้าน พวกเขามีอัธยาศัยดีมาก พูดคุยด้วยความเป็นมิตร สนทนากันได้พักหนึ่งก็ชวนพวกผมไปเที่ยวที่บ้าน ตอนที่ผมและเพื่อนเดินจากมา คนเขมรยังตกปลากันอยู่

ได้ปลาหลายสิบตัว!

ผมและเพื่อนๆ ไม่สนใจปลาตัวเล็กที่พี่โอต้องการ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร โต๋เต๋บริเวณท่าเรืออยู่พักใหญ่เห็นฝูงปลาชนิดหนึ่งว่ายน้ำเข้ามาใต้สะพาน นักตกปลาหลายคนเปลี่ยนที่ รีบเดินไปตกปลาที่อยู่ใต้สะพาน พอเห็นว่าปลากินเบ็ดและมีคนตกปลาได้หลายคน พวกผมจึงเข้าไปร่วมวงตกปลาด้วย แรกๆ พวกผมไม่ได้ปลาเลย เปลี่ยนจุดที่ตกก็ไม่ได้ผล จนในที่สุดไปเจอจุดที่ปลากินเบ็ด พอหย่อนเบ็ดลงในน้ำปลาก็กินเบ็ด คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่าหย่อนเบ็ดปุ๊บได้ปลาปั๊บ

เป็นคนที่ทำบาปอย่างบรรลุผลสำเร็จ!

ปลาที่ตกได้นั้นมีเกล็ดเล็กๆ สีเงิน ตัวแบน ยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ดูจากลักษณะภายนอกผมเดาว่าคือปลา ‘mackerel’ แต่ไม่แน่ใจนัก เป็นปลาที่ว่ายรวมกันเป็นฝูงจำนวนมหาศาล เห็นเป็นแผงกว้างอยู่ในน้ำ ผมและเพื่อนอีก 2 คน ตกปลาชนิดนี้ได้รวมกันมากกว่า 70 ตัว

เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ตกปลาได้มากมายขนาดนี้!

แต่ปัญหาใหญ่ของการตกปลาได้จำนวนมากคือการเก็บรักษา วันนั้นพวกผมกลับถึงแฟลตก็เริ่มค่ำแล้ว เอาถังน้ำพลาสติกที่ใส่ปลาเข้าครัว แล้วเอาปลาออกมาขอดเกล็ด ตัดหัว ควักไส้ ล้างให้สะอาด ทาเกลือ ห่อด้วยพลาสติกแรปทีละตัว เก็บในตู้เย็นจนแน่น แทบจะไม่มีที่เก็บ กว่าจะทำเสร็จก็ดึกมาก แต่เพราะฟ้าสว่างนานจึงไม่รู้สึกว่าดึก ปลามีมากจนกินไม่หมด วันต่อๆ มาพวกผมจึงเอาปลาที่ตกได้ไปแจกให้เพื่อนคนไทยในเมือง รุ่นพี่ที่เป็นผู้หญิงดีอกดีใจกัน คิดวางแผนว่าจะเอาปลาไปทำอะไรกิน

หวนนึกถึงภาพในคืนนั้น ผมและเพื่อนยืนทำความสะอาดปลากันในซิงค์ล้างจานในครัว เหนื่อยจากการตกปลาแล้วยังต้องมายืนขาแข็งล้างปลาอีกเป็นชั่วโมง กลิ่นคาวปลาติดมือสองข้างไปถึงวันรุ่งขึ้น แต่อาจเป็นโชคดีที่หลังจากนั้นผมไม่ต้องทำความสะอาดปลาจำนวนมากอีกนานทีเดียว มิเช่นนั้นผมคงรู้สึกเข็ดขยาดกับกิจกรรมแบบนี้ก็ได้

65 ปี คือรุ่นเยาว์

พี่โอไม่ค่อยสนใจกับการตกปลาที่ท่าเรือนัก แกชอบไปตกปลาเทราต์ในแม่น้ำ ที่มักเป็นปลาเทราต์สีน้ำตาล สถานที่ที่ไปเป็นประจำคือริมตลิ่งแม่น้ำไทอิรี (Taieri River) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองดันนิดิน เท่าที่ผมทราบ มีปลาเทราต์สีน้ำตาลในแม่น้ำตลอดปี นักตกปลาที่จ่ายค่าธรรมเนียมและมีใบอนุญาตให้ตกปลาได้สามารถตกปลาเทราต์ได้ทั้งปี แม้แต่ในฤดูหนาวที่มีฝนตกเป็นประจำ อากาศหนาว และน้ำในแม่น้ำเย็นจัดจนผมรู้สึกว่าน้ำในแม่น้ำคงไหลผ่านน้ำแข็งมาหมาดๆ (แต่ในหน้าหนาวปลาจะมีการเจริญพันธุ์และเติบโตช้ากว่าปกติ) ถึงกระนั้น พี่โอก็ไม่หวั่นเกรงหรือย่อท้อ ชวนผมไปตกปลาเทราต์ในแม่น้ำไทอิรีหลายครั้ง

ท่านผู้อ่านลองนึกจินตนาการว่า ชายไทย 2 คน ยืนอยู่ริมแม่น้ำที่น้ำเย็นจัดและไหลแรงทีเดียว ฝนตกพรำๆ แบบชาวเวอร์ตลอดเวลา อากาศที่อิ่มไปด้วยละอองน้ำ ทั้งหนาวและเปียก แม้ผมจะใส่เสื้อ 3-4 ชั้น คลุมทับด้วยเสื้อขนแกะตัวยาวก็ยังรู้สึกหนาว ระหว่างรอให้ปลากินเหยื่อจะจิบกาแฟร้อนจากกระติก สูบบุหรี่เพื่อคลายหนาว แต่ก็ยังหนาวอยู่ดี มองไปรอบๆ ก็ไม่เห็นใครนอกจากชายไทยผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ 2 คน

ผมมั่นใจว่า คนคีวีมีสติสัมปชัญญะมากกว่าพี่โอและผมอย่างแน่นอน

ปลาเทราต์เป็นปลาที่กินอร่อย ปลาที่ตกได้จะมีความสด ขอดเกล็ดผ่าท้องทำความสะอาด แล้วเอามีดบากเนื้อปลาเป็นร่องๆ โรยเกลือและพริกไทยลงบนเนื้อ หรือถ้ามีกระเทียมสับด้วยก็ยิ่งดี ห่อด้วยแผ่นฟอยล์อลูมิเนียม แล้วอบในเตาอบไม่นานก็สุก เนื้อปลาขาวร่วน อร่อยมาก แต่เพื่อนคนไทยบางคนบ่นว่าเนื้อปลาเทราต์มีกลิ่นโคลนดินเพราะเป็นปลาแม่น้ำ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม

อร่อยกว่าปลาเทราต์คงเป็นปลาแซลมอน ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับการเป็นปลาทะเลหรือไม่ ทำให้แซลมอนไม่มีกลิ่นโคลน เวลากินจึงรู้สึกดีกว่า อร่อยกว่า แต่การตกแซลมอนนั้นยากกว่าปลาเทราต์ นอกจากนี้ ยังต้องตกตามฤดูกาล ในช่วงที่ปลาแซลมอนว่ายน้ำจากทะเลเข้าสู่แม่น้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่แถบต้นน้ำ บริเวณปากแม่น้ำจึงเป็นที่ที่นักตกปลาทั้งหลายไปรวมกันเพื่อตกปลาแซลมอน

ปากแม่น้ำบริเวณที่ตกปลาแซลมอนอยู่ไกลจากดันนิดิน พี่โอจึงชวนผมไปพักค้างคืนในที่พักเล็กๆ ไม่ไกลจากปากแม่น้ำ เช้าวันรุ่งขึ้นเราสองคนก็ออกจากที่พัก ทั้งๆ ที่ยังเช้าอยู่ แต่พอไปถึงที่หมายกลับเจอนักตกปลาชาวคีวีรุ่นใหญ่มาจับจองจุดตกปลากันแล้วมากทีเดียว พี่โอจึงออกเดินสำรวจสถานที่เพื่อหาจุดที่จะตกปลา พอเลือกได้ที่ที่ต้องการแกก็เริ่มตกปลา ระหว่างที่รอปลาแซลมอนกินเหยื่อ พี่โอก็เริ่มทักทายนักตกปลาคนอื่นๆ ซึ่งดูจะรู้จักมักคุ้นกัน พูดคุยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนานและสนิทสนม และพวกเขาก็สนทนากับพี่โอและผมอย่างเป็นกันเอง พูดไปหัวเราะไป แรกๆ พี่โอก็ชวนคุยเรื่องปลา – ตกอย่างไรจึงจะได้ปลา มีใครได้ปลาหรือยัง ปลาชุมหรือไม่ ฯลฯ

แล้วบทสนทนาก็ไปสู่เรื่องอื่นๆ จนถึงเรื่องอายุ คำตอบที่ได้ทำให้พวกผมรู้สึกทึ่งและขบขันอย่างยิ่ง เมื่อผู้ชายที่อยู่ใกล้กับพี่โอมากที่สุดตอบว่าเขาอายุ 72 ปี แล้วชี้ไปที่ชายอีกคน พูดว่าคนนั้นอายุ 75 ปี แก่กว่าแก จากนั้นชี้ไปที่ชายอีกคนสองคนพร้อมกับบอกอายุ จบด้วยชายที่ยืนไกลออกไป หันมาบอกผมว่า

“คนนั้นอายุน้อยที่สุด แค่ 65 ปี”

ผู้ที่ถูกพาดพิงถึงหันมายิ้มให้พวกผม โบกมือทักทาย ส่วนนักตกปลาอาวุโสคนอื่นๆ หัวเราะด้วยความชอบใจ ผมเองพลอยหัวเราะตามไปด้วย รู้สึกทึ่งกับความแข็งแรง อารมณ์ขัน และความเป็นมิตรเป็นกันเองของนักตกปลากลุ่มนี้อย่างยิ่ง

ปลาแซลมอนที่ว่ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำมีเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตกให้ได้ปลา มีไม่กี่คนที่ได้ปลา วันแรกของการตกปลา พี่โอก็เหมือนอีกหลายคนที่ไม่มีโชค หลังจากยืนรอปลาแซลมอนจนถึงบ่ายก็ไม่ได้ปลา พอแกเห็นฝูงปลาคาฮาไว (kahawai) ที่ว่ายน้ำอยู่ไม่ไกลจากฝูงปลาแซลมอน จึงลองเหวี่ยงเบ็ดตกปลาไปที่ฝูงปลาคาฮาไว ปรากฏว่าปลากินเบ็ด ชักเย่อกับปลาอยู่ไม่นานแกก็ลากปลาผู้โชคร้ายขึ้นฝั่งหนึ่งตัว แล้วให้ผมจัดการเรื่องที่เหลือ ผมใช้วิธีเดียวกับที่ทำกับปลาเทราต์ คือห่อด้วยแผ่นฟอยล์อลูมิเนียมแล้วเผาให้สุก พบว่าเนื้อปลาคาฮาไวเหม็นคาวทีเดียว กลิ่นไม่ชวนรับประทานนัก ลองกินเนื้อปลาไปได้ส่วนหนึ่งต้องยอมแพ้กลิ่นคาวปลา และไม่รู้สึกอร่อยเลย

เป็นครั้งแรกและครั้งดียวที่ผมกินปลาคาฮาไว – มาค้นพบภายหลังว่าปลาชนิดนี้เหมาะสำหรับทำแกง พายปลา หรือรมควัน คือมีวิธีการทำ/ปรุงอาหารบางชนิดเท่านั้นจึงจะน่ากิน ไม่เหมาะกับการทำ/ปรุงปลาแบบง่ายๆ ที่กินได้ทันที และไม่ใช่ปลาที่คนทั่วไปชอบกิน

วันที่สอง พี่โอออกไปตกปลาเช้ากว่าวันแรก แล้วก็มีโชค ตกได้ปลาแซลมอนตัวใหญ่และหนักทีเดียว ด้วยความดีใจพี่โอจึงลงมือทำความสะอาดปลาด้วยตนเอง ทำสุกด้วยวิธีเดียวกับที่ผมทำ เนื้อแซลมอนสุกออกสีส้มๆ มีกลิ่นควันและไหม้เล็กน้อย ซึ่งก็หอมไปอีกแบบ เนื้อร่วนอร่อยมาก ผมและพี่โอคิดว่าอร่อยกว่าเนื้อปลาเทราต์

หลังจากการตกปลาครั้งนั้น ผมไม่ได้ไปกับพี่โออีกเพราะการเรียนเริ่มหนักขึ้น แต่พี่โอยังไปตกปลาอีกหลายครั้ง และมักไปคนเดียว

เชิงอรรถ

[1] Stephen Head, “Seven New Zealand Holiday Homes That Come With Private Beach Access”, Concrete Playground, Travel & Leisure, August 23, 2020, <https://concreteplayground.com/auckland/travel-leisure/seven-new-zealand-holiday-homes-that-come-with-private-beach-access

 [2] Yvonne Martin, “Banks Peninsula’s luxury hideaway – Annandale”, Stuff, Travel, April 20, 2015, <https://www.stuff.co.nz/travel/destinations/nz/67826404/banks-peninsulas-luxury-hideaway—annandale

[3] New Zealand Pocket Guide, “16 Foods You Have to Try in New Zealand”, New Zealand Food, <https://nzpocketguide.com/new-zealand-food/

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า