5 แหล่งฝากท้องของคนกรุง มุมลับขับเคลื่อนเมือง

หากเมืองขับเคลื่อนได้ด้วยแรงงานมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ก็ขับเคลื่อนได้ด้วยอาหาร แต่ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ ค่าอาหาร กับข้าวกับปลา ยิ่งดีดตัวสูงขึ้นตามต้นทุนของวัตถุดิบที่แพงขึ้นเกือบทุกอย่าง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตคนเล็กคนน้อยผู้เป็นแรงงานขับเคลื่อนเมือง โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานออฟฟิศในย่านใจกลางเมือง

ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้การรับประทานอาหารในห้างทุกมื้อแทบจะเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับมนุษย์เงินเดือน การมีแหล่งอาหารราคาถูก สบายกระเป๋า และใกล้ที่ทำงาน น่าจะเป็นทางเลือกที่หนุ่มสาววัยทำงานและวัยเรียนมองหา

WAY ชวนไปสำรวจมุมลับที่ซ่อนอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง แหล่งรวมอาหารราคาประหยัด อร่อย และอิ่มท้อง

ตรอกร้านอาหาร ใกล้ BTS พญาไท

หากเดินลงจาก BTS พญาไท ทางออก 1 จะพบตรอกแห่งหนึ่งมีร้านอาหารเรียงรายข้างทาง ช่วงเวลาสายๆ ราว 10 โมง พ่อค้าแม่ค้ากำลังสาละวนอยู่กับการจัดเตรียมอาหารเพื่อให้บริการลูกค้า ซึ่งเริ่มทยอยเข้ามาเลือกสรรอาหารประทังชีวิต อาทิ ลูกชิ้นนึ่ง ข้าวราดแกง ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ลาบ น้ำตก ฯลฯ

แม้ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเปิดตั้งแต่เช้า แต่พนักงานเอกชนและข้าราชการที่ทำงานในสำนักงานละแวกนี้ (เช่น ตึกพญาไทพลาซ่า) จะเริ่มมาซื้อหาอาหารกันอย่างหนาตาในช่วงเวลาประมาณเที่ยงถึงบ่าย 2 

ชายคนหนึ่งเล่าให้ WAY ฟังว่า ส่วนใหญ่คนเลือกมากินที่ตรอกแห่งนี้เพราะอยู่ใกล้ที่ทำงาน ใช้เวลาเดินไม่นานก็ถึง จะได้รีบกิน รีบกลับ เพราะเวลาพักเที่ยงมีจำกัดแค่เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ที่สำคัญด้วยความเป็นสตรีตฟู้ดที่พ่อค้าแม่ค้ามักเป็นกันเองกับลูกค้า บ่อยครั้งก็สามารถสั่งเพิ่มเติมได้อย่างสะดวกใจ เช่น ขอเนื้อเพิ่มหรือขอข้าวเพิ่ม เขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้อาหารในย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ จะมีความหลากหลายกว่า แต่ราคาก็ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับที่นี่ และระยะทางค่อนข้างไกล คนทำงานส่วนมากไม่มีรถส่วนตัวจึงเลือกฝากปากท้องไว้กับพ่อค้าแม่ค้าในตรอกแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม แม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวเรือรสเด็ดสองพี่น้อง เล่าให้เราฟังว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ทำให้ลูกค้าบางตาลงมาก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นพนักงานออฟฟิศ นิยมสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากกว่าจะเดินลงมาซื้ออาหารที่ตรอกแห่งนี้ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงเจ้าเชื้อโรคตัวร้ายให้มากที่สุด ส่วนร้านอาหารในตรอกนี้ก็ไม่มีใครเข้าระบบเดลิเวอรี่ใดๆ  

เมื่อลูกค้าลดลง รายได้ก็เริ่มหดหาย เธอเล่าว่าร้านอาหารหลายร้านจำเป็นต้องปิดตัวลง แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวของเธอจะสู้ต่อ แม้ค่าเช่าจะสูงถึงหลักหมื่น 

ตึกโภชนาคาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หากเดินเข้าประตูรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วลัดเลาะผ่านอาคารใหญ่ด้านหน้าไม่ไกลนักก็จะพบโรงอาหารที่เต็มไปด้วยอาหารอันโอชะในราคาย่อมเยา ร้านอาหารที่มีคนต่อคิวยาวที่สุดในวันที่เราไปเดินสำรวจคือ ร้านแม่เจี๊ยบ เป็นร้านข้าวแกง ราคาจานละ 40-60 บาท 

ในขณะที่กำลังตักกะเพราเนื้อชิ้นโตราดบนข้าวสวยร้อนๆ แม่ค้าเจี๊ยบก็เล่าให้เราฟังว่า ผลพวงของโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ลูกค้าน้อยลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายในแต่ละวัน หลายร้านในโรงอาหารแห่งนี้ถึงกับต้องเลิกกิจการ เพราะไม่มีเงินจ้างลูกน้อง

แม้ทางเจ้าของสถานที่อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะลดค่าเช่าให้จากเดือนละ 12,000 บาท เหลือ 7,000 บาท แต่ต้นทุนที่ต้องแบกรับอื่นๆ อาทิ ค่าวัตถุดิบ ค่าแก๊สหุงต้ม ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“กะเพราเนื้อที่น้องกินแค่ 40 บาท ให้เยอะแบบนี้ข้างนอกไม่มีหรอก พี่จะไปเอากำไรจากไหน เนื้อวัวกิโลนึง 200 กว่าบาทไปแล้ว”

ปัญหาเรื่องต้นทุนค่าวัตถุดิบยังสะท้อนให้เห็นเมื่อแม่ค้าร้านข้างๆ เล่าว่า แม้ค่าเช่าจะลดลง แต่รายได้ก็ลดลงตามไปด้วย หากเปรียบรายได้ช่วงก่อนโควิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ รายได้ ณ เวลานี้คงเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

เมื่อถามว่ารายได้หายไปเพราะเหตุใด เธอจึงเล่าต่อว่า ลูกค้าของโรงอาหารแห่งนี้ ได้แก่ ตำรวจ พนักงานออฟฟิศ และนักศึกษาในบริเวณใกล้เคียง แต่ช่วงที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนัก แม้แต่ตำรวจยังไม่กล้าลงมากิน แต่อาศัยสั่งบริการอาหารจากแอปพลิเคชั่นให้ขึ้นไปส่งที่สำนักงาน

“รายได้หายไปเยอะมาก แต่ก็ต้องสู้จนกว่าจะไม่ไหว” แม่ค้ากล่าวพร้อมรอยยิ้มก่อนยื่นจานราดหน้าหมี่กรอบมาให้เรา

*ว่ากันว่า ก๋วยเตี๋ยวเรือที่นี่ขายดีมาก แต่วันที่ทำการสำรวจร้านไม่เปิด ป้าแม่บ้านแอบกระซิบว่า ตึกโภชนาคารแห่งนี้แหละที่คอยหล่อเลี้ยงปากท้องให้ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่ถูกเรียกตัวมาทำภารกิจในยามที่มีม็อบ

The Cook ฟู้ดคอร์ทชั้น 4 ตึกอัมรินทร์

ย่านใจกลางเมืองยังมีแหล่งรวมสตรีตฟู้ดซ่อนตัวอยู่ในอาคารสูงชั้น 4 ของตึกอัมรินทร์ ย่านปทุมวัน ศูนย์อาหาร The Cook แห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00-19.00 น. ในวันจันทร์ถึงศุกร์ และ 09.00-18.00 น. ในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อคอยให้บริการแก่พนักงานออฟฟิศในย่านราชประสงค์และสถานี BTS ชิดลม

เมื่อจัดการข้าวเหนียวหมูปิ้งชุดใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าเสร็จ พนักงานออฟฟิศชายรายหนึ่งเล่าให้ WAY ฟังว่า เขามาทานอาหารที่ฟู้ดคอร์ทนี้ทุกวันเนื่องจากทำงานที่ตึกข้างๆ เดินผ่านสกายวอล์กไม่นานก็ถึง อาหารที่นี่ราคา 50-60 บาท ถือว่าไม่แพงนักเมื่อเทียบกับห้างใหญ่ละแวกนี้ และมีร้านให้เลือกสรรกว่า 30-40 ร้าน

เมื่อถามว่าหากต้องแนะนำอาหารให้เพื่อนมาลิ้มลองจะชี้เป้าไปยังร้านไหน เขาบอกว่าคงจะเป็น เย็นตาโฟนายอ้วนเสาชิงช้า ข้าวขาหมู ลูกชิ้นหมูแพร่งนรา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นร้านอาหารชื่อดังในกรุงเทพฯ แทบทั้งสิ้น และราคาที่ขายขึ้นห้างนี้ก็เป็นราคาเดียวกันกับที่สาขาดั้งเดิมขาย

“จริงๆ แล้ว ผมว่าศูนย์อาหารเทอร์มินอล 21 ขายอาหารถูกกว่าที่นี่มาก จานละ 32-37 ก็มี แต่จะให้ไปที่นั่น ผมต้องนั่งรถไฟฟ้าไปอีก 2 สถานี พอคิดแล้วก็ราคาพอๆ กันเลย แล้วที่นี่ก็มีอาหารอร่อยตั้งเยอะแยะ เดินจากออฟฟิศนิดเดียวก็ถึงแล้ว”

ร้านอาหารในศูนย์อาหาร The Cook ไม่รับเงินสด ลูกค้าต้องทำการแลกบัตรที่เคาน์เตอร์ก่อน แม่ค้าร้านข้าวราดแกงปักษ์ใต้เล่าให้ WAY ฟังอีกว่า

“ที่นี่ไม่ได้คิดค่าเช่าตายตัว แต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หักจากยอดขายในแต่ละเดือน ประมาณ 31-32 เปอร์เซ็นต์ เขาดูยอดจากบัตรนั่นแหละ”

เฉกเช่นเดียวกับร้านอาหารทั่วประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงจนส่งผลต่อรายได้ นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดรุนแรง (กลางปี 2564) รัฐบาลสั่งปิดห้างและสถานบริการ ตึกอัมรินทร์จึงต้องปิดตามไปด้วย แม่ค้าเล่าว่า ทางเจ้าของตึกยังห่วงใยพ่อค้าแม่ค้าในฟู้ดคอร์ท จึงจัดเต็นท์ให้บริเวณลานว่างด้านล่างเพื่อให้ขายอาหารต่อได้โดยไม่คิดค่าบริการ

หากใครอยากลิ้มลองอาหารสตรีตฟู้ดราคาไม่แพงในย่านใจกลางเมือง ฟู้ดคอร์ทชั้น 4 ตึกอัมรินทร์ อาจเป็นสถานที่ที่ต้องมาลองสักครั้ง 

Food+ Plus สยามสแควร์

ศูนย์รวมอาหารแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณทางเชื่อมระหว่างสยามสแควร์ซอย 5 และ 6 ในซอยนี้เต็มไปด้วยร้านขายข้าวแกงและน้ำดื่มเหมือนกับฟู้ดคอร์ททั่วไปตามห้าง เราได้เลือกที่จะสัมภาษณ์ร้านข้าวแกงอรนุช ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่จานละ 35-40 บาท โดยเราได้ถามคุณป้าเจ้าของร้านเกี่ยวกับบรรยากาศการค้าขายในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง คุณป้าเล่าว่า ตัวเองขายข้าวแกงมานานตั้งแต่แถวสยามสแควร์ยังเฟื่องฟูจนมาถึงยุคโควิดในปัจจุบัน 

“แต่ก่อนคนเยอะมาก สยามฯ ถือว่าเป็นถิ่นใหญ่เลย ตั้งแต่มีพวกเสื้อเหลือง เสื้อแดง โควิด ก็เงียบลงเรื่อยๆ”

นับจากช่วงที่มีวิกฤติเกี่ยวกับราคาน้ำมัน หมูแพง ไข่แพง และราคาวัตถุดิบอื่นๆ ที่แพงขึ้น เราเลยถามคุณป้าว่าปัจจุบันการค้าขายเป็นอย่างไร ได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือไม่ คุณป้าตอบว่า ปกติเสียค่าเช่าประมาณเดือนละ 20,000 บาท รวมค่าน้ำค่าไฟ ส่วนในเรื่องราคาอาหาร เนื่องจากตนเองไม่ได้ขายวัตถุดิบครบทุกอย่าง เช่น เนื้อหมู ก็เลยไม่ได้มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด ยกเว้นถ้าราคาวัตถุดิบอื่นๆ แพงขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องขึ้นราคา

“ช่วงนี้ราคาไก่และไข่แพงขึ้น จากเมื่อก่อนไข่แผงละ 70-80 เดี๋ยวนี้แผงละ 140 ค่าที่ก็ขึ้น น้ำมันก็ขึ้น แก๊สก็ขึ้น ขึ้นทุกอย่าง แต่ร้านเราไม่ได้ขึ้นราคากับลูกค้าเลย”

เราถามคุณป้าต่อว่า สาเหตุใดที่ทำให้ถึงแม้ราคาวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นแล้ว แต่คุณป้าก็ยังคงพยายามรักษาราคาอาหารเอาไว้ คุณป้าเลยตอบกลับมาว่า แม้จะได้กำไรน้อย แต่ขอแค่ให้มีรายได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน และส่วนตัวก็ได้ไปกู้ยืมเงินหมุนเวียนจากธนาคารออมสินเพื่อมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนยังสามารถพยุงราคาและขายข้าวแกงในสยามสแควร์มาได้จนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะเดินออกจากซอย เราได้ไปเจอกับนายแพทย์รายหนึ่งที่กำลังรออาหารอยู่ ชื่อว่าหมอธงชัย ไม่เปิดเผยนามสกุล โดยปกติแล้วเขามักจะทำงานที่สีลม แต่ก็มีบ้างในบางโอกาสที่ได้มาทำงานที่นี่ พอถึงเวลามื้อเที่ยงเขาก็มักจะเลือกซื้อข้าวแกงจากร้านในซอยนี้เป็นประจำ 

“ลักษณะร้านอย่างนี้จะหายากหน่อย ยิ่งถ้าเป็นแถวราชเทวีจะยิ่งหายาก” เป็นที่รับรู้กันว่า ในซอยนี้มีร้านข้าวแกงและอาหารหลากหลาย เขาจึงชอบที่จะมารับประทานอาหารที่นี่ นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า

“ลักษณะร้านอาหารแบบนี้จะมีตามปั๊มน้ำมัน แต่ก่อนจะมีสตรีตฟู้ดอยู่บ้าง เดี๋ยวนี้โดนไล่ที่กันหมด ก็เลยไม่มีให้ทานเท่าไหร่”

โรงอาหารใต้ศูนย์หนังสือจุฬาฯ

โรงอาหารนี้ตั้งอยู่ภายในสยามสแควร์ เป็นโรงอาหารรูปแบบคล้ายฟู้ดคอร์ทตามห้างสรรพสินค้า แต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีร้านขายอาหารอยู่ประมาณ 16-17 ร้าน ส่วนลูกค้าก็จะมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนิสิตและบุคลากรของทางมหาวิทยาลัย พนักงานบริษัทที่ทำงานอยู่ละแวกนี้ และรวมไปถึงบางคนที่มีกิจธุระภายในมหาวิทยาลัยก็จะมาแวะรับประทานอาหารที่นี่

มุมหนึ่งมีร้านขนมตั้งแผงอยู่อีกฝั่งของโรงอาหาร เราจึงไปคุยกับเจ้าของร้านขนมป้าตุ่ม ป้าตุ่มเปิดร้านขายขนมไทยอยู่ในโรงอาหารแห่งนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว แต่ก่อนค่าที่ 400 บาทต่อเดือน แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 500 บาท ป้าตุ่มเล่าว่า ทุกวันนี้ลูกค้าค่อนข้างน้อย ในช่วงที่โควิดระบาดแรกๆ ร้านอาหารต่างๆ ก็ถูกสั่งปิดเป็นเวลานาน พอกลับมาเปิดอีกครั้งก็พบว่าเหลือเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้นที่รอดมาได้ และป้าตุ่มเองก็คือหนึ่งในร้านที่ยังคงอยู่หลังจากการโดนปิดระยะยาว

“ตอนนี้กำไรน้อยลง แต่ก็ต้องขายราคาเท่าเดิม ถ้ากำไรพออยู่ได้นิดหน่อยก็ต้องเอา ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ได้กำไรมาก เพราะถ้าเราขายแพงขึ้น ลูกค้าก็ไม่ซื้อ เดินหนีหมด”

ป้าตุ่มบอกกับเราว่าช่วงนี้วัตถุดิบต่างๆ ขึ้นราคา เช่น แป้ง นม ไข่ แต่ตัวเธอเองก็ไม่ได้ขึ้นราคาตาม เพราะกลัวว่าถ้าขึ้นราคาแล้วลูกค้าจะไม่ซื้อ ทำให้จากแต่ก่อนที่ขายได้กำไรเยอะๆ กลายมาเป็นขายให้พอได้กำไรในแต่ละวันแทน

“พออยู่ได้แต่ละวัน บางวันก็ขาดทุน ไม่มีเก็บเหมือนแต่ก่อน มีแต่ใช้จ่ายไปวันๆ ตอนนี้ก็จะหมดอยู่แล้ว”

วันนี้ป้าตุ่มได้กำไรจากการขายขนมไป 140 บาท แต่เธอก็เสริมว่าไม่รู้สึกกังวลกับปัญหาเท่าไหร่นัก เพราะส่งลูกเรียนจบครบทุกคนแล้ว ที่เหลือคือการดำรงชีพให้อยู่รอดต่อไป

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า