“คดีที่แม่เมาะเป็นคดีเก่า”
“วันนี้ที่แม่เมาะก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแล้ว”
นี่คือความคิดของหลายๆ คนที่ได้รับฟังข่าวกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทั้ง 2 คดี ได้แก่ คดีเกี่ยวกับมลพิษ และคดีเกี่ยวกับเหมือง (คดี EIA)
เรื่องนี้ ดูเผินๆ ผู้บริโภคอาจคิดว่าเป็นเรื่องราวและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และดูค่อนข้างไกลตัว แต่ถ้าได้ลองหยิบใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนล่าสุดขึ้นมาดู นอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ที่บวกเข้าไปในค่าไฟฟ้าตามปกติแล้ว ทุกคนต้องเห็น ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ถูกบวกเข้าไปในค่าไฟฟ้ารวมด้วยแน่นอน ซึ่งเงินที่ได้จากการเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรตัวนี้ ส่วนหนึ่งจะนำเข้าไปสมทบใน กองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า
“คดีที่แม่เมาะเป็นคดีเก่า”
“วันนี้ที่แม่เมาะก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแล้ว”
นี่คือความคิดของหลายๆ คนที่ได้รับฟังข่าวกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทั้ง 2 คดี ได้แก่ คดีเกี่ยวกับมลพิษ และคดีเกี่ยวกับเหมือง (คดี EIA)
เรื่องนี้ ดูเผินๆ ผู้บริโภคอาจคิดว่าเป็นเรื่องราวและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และดูค่อนข้างไกลตัว แต่ถ้าได้ลองหยิบใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนล่าสุดขึ้นมาดู นอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ที่บวกเข้าไปในค่าไฟฟ้าตามปกติแล้ว ทุกคนต้องเห็น ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ถูกบวกเข้าไปในค่าไฟฟ้ารวมด้วยแน่นอน ซึ่งเงินที่ได้จากการเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรตัวนี้ ส่วนหนึ่งจะนำเข้าไปสมทบใน กองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า
กว่า 11 ปี คดีทั้งสองเพิ่งถึงที่สุด ไม่ว่าจะยืนยันอย่างไร คงไม่อาจทำใจให้เชื่อได้ง่ายๆ ว่า พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้อากาศบริสุทธิ์คืนกลับมาแล้วจริงๆ และมหากาพย์ที่มีสิ่งแวดล้อมและชีวิตประชาชนเป็นตัวประกันมีแนวโน้มว่าจะยังดำเนินต่อไป
ค่าไฟฟ้าผันแปร (Fuel Adjustment Charge [at the given time]: Ft) เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อาทิ ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ
กองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (รัศมี 5 กิโลเมตร) อาทิเช่น การพัฒนาอาชีพ การสนับสนุนด้านการศึกษา กีฬาและดนตรี รวมทั้งด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งมาจากผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนจากภาครัฐ โรงไฟฟ้า และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้กรรมการผู้แทนภาคประชาชนจะมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ร่วมกันทำหน้าที่จัดสรรเงินกองทุน ให้ตอบสนองตรงต่อความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
ที่มา: egat.co.th
+ สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีแม่เมาะ
01 คดีเหมือง หรือ EIA ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา 10 กุมภาพันธ์ 2558
จำนวนผู้ฟ้อง: 381 คน
ภูมิลำเนา: ต.นาสัก, ต.บ้านดง, ต.สบป้าด และ ต.แม่เมาะ ในอำเภอแม่เมาะ
คำตัดสิน:
กรณี กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้าย EIA และประทานบัตร (มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม)
- กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขฯจริง จึงสั่งให้ กฟผ. ปฏิบัติตามเงื่อนไขฯ
- หาก กฟผ. มีมาตรการฯที่มีมาตรฐานและเหมาะสมกว่า ให้ขออนุมัติ/อนุญาตจาก สผ. และ กพร.
กรณีให้เพิกถอนประทานบัตรในพื้นที่พิพาท
- การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขฯ และประทานบัตร ไม่ร้ายแรงขนาดต้องเพิกถอนประทานบัตร
- กฟผ. ยื่นขอเปลี่ยนเงื่อนไขแล้ว รอการอนุมัติจาก กพร.
- การเพิกถอนประทานบัตร จะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริการสาธารณะที่ต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
กรณีให้จ่ายเงินชดใช้ความเสียหายจากความผิดที่ฟ้อง
- ไม่ปรากฏหลักฐานว่า กฟผ. ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียหาย
- ผู้ฟ้องไม่ได้ยื่นหลักฐาน
- ไม่พบหลักฐานจากเอกสารที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ยื่น
02 คดีมลพิษ ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา 25 กุมภาพันธ์ 2558
จำนวนผู้ฟ้อง: 131 คน
ภูมิลำเนา: ต.นาสัก, ต.บ้านดง, ต.สบป้าด, ต.แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ และ ต.พระบาท อำเภอเมืองลำปาง
คำตัดสิน:
กรณีให้ กฟผ. หยุดผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินลิกไนต์ และให้ฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อมในอำเภอแม่เมาะ จากการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง
ศาลยกคำขอทั้ง 2 ประเด็น เนื่องจาก
- กฟผ. ติดตั้งและซ่อมเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังเดือนกันยายน 2541 แล้ว
- ต้องถือว่าพืชผลและทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายเพียงครั้งเดียว ไม่มีผลกระทบต่อเนื่อง
กรณี กฟผ. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมมลพิษไม่ให้เกินมาตรฐาน ทำให้ชาวบ้านป่วย ให้ทาง กฟผ. ชดใช้ค่าเสียหาย
- มลพิษจากฝุ่นหินและฝุ่นละออง พิสูจน์ว่า กฟผ. แม่เมาะ ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจริง แต่ไม่ถือว่าก่อให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่น (จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยด้านนี้)
- มลพิษจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ศาลตัดสินว่า กฟผ. แม่เมาะ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษ SO2 จริง การไม่บำบัดหรือควบคุมการปล่อยมลพิษดังกล่าว ทำให้เป็นอันตรายต่อประชาชน การไม่ดูแลรักษาเครื่องกำจัดก๊าซ SO2 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2541 จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะยกเว้นได้
- กฟผ. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านได้รับอันตรายจาก SO2
- กฟผ. ต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย
การคิดเงินชดเชยความเสียหาย
แบ่งเป็น 3 ช่วง ตามผลการตรวจปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกินมาตรฐาน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2535 – สิงหาคม 2541
1,300 มิลลิกรัม/ซีซี มาตรฐานโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2538
780 มิลลิกรัม/ซีซี มาตรฐานโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หลังเดือนกรกฎาคม 2538
ช่วงที่ 1 ปล่อยมากกว่า 780 แต่ไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม/ซีซี ระหว่างพฤศจิกายน 2535 – สิงหาคม 2541 มากที่สุด 17 ครั้ง จ่ายครั้งละ 300 บาท* (คิดจากที่ กฟผ. เคยจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านเมื่อปี 2541)
ช่วงที่ 2 ปล่อยมากกว่า 1,300 มิลลิกรัม/ซีซี ระหว่างพฤศจิกายน 2535 – มิถุนายน 2538 มากที่สุด 119 ครั้ง จ่ายครั้งละ 600 บาท** (300 บาท x 2 เท่า)
ช่วงที่ 3 ปล่อยมากกว่า 1,300 มิลลิกรัม/ซีซี ช่วงกรกฎาคม 2538 – สิงหาคม 2541 มากที่สุด 142 ครั้ง จ่ายครั้งละ 1,200 บาท*** (ค่าเสียหายเชิงลงโทษ เป็นดุลพินิจของศาล เพื่อป้องกันไม่ให้ทำความผิดซ้ำอีก)
+ มหากาพย์คดีสิ่งแวดล้อม
“ตั้งแต่ทำคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมา แม่เมาะถือเป็นคดีมหากาพย์คดีหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเหมืองแม่เมาะอยู่คู่กับประชาชนเรื่อยมา” ในมุมมองของนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยอมรับว่า คดีแม่เมาะมีความสลับซับซ้อนเช่นเดียวกับปัญหาเหมืองแม่เมาะ และเรื่องราวความเดือดร้อนภาคประชาชนยังดำเนินต่อไป
บทเรียนสำคัญจากคำพิพากษาของทั้ง 2 คดีมีหลายเรื่อง ประเด็นแรกที่สุรชัยยกขึ้นมา คือการยืนยันในหลักการและสิทธิ์ในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี
“คำพิพากษานี้ยืนยันว่า สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับสิทธิในชีวิตและร่างกาย”
ถ้าพูดถึงปฏิญญาด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนใหญ่จะคำนึงในสิทธิ์ที่เกี่ยวกับชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย เป็นพื้นฐานก่อน สิทธิ์ด้านสิ่งแวดล้อม ถูกตีความ และขยายความขึ้นมาภายหลัง
“คำพิพากษาคดีแม่เมาะได้ยืนยันอย่างหนึ่งว่า สิทธิ์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิ์ในชีวิตและร่างกาย พูดง่ายๆ มันมีความสำคัญมาก”
นอกจากนี้ ยังเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรอง ในคำพิพากษา ศาลได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 เมื่อกล่าวถึงสิทธิ์ขั้นพื้นฐานจะมีนัยยะค่อนข้างมากกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญ การประกอบกิจการใดๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือกระทบต่อสิทธิ์ ก็ต้องถือว่าเป็นการละเมิดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากเกิดความเสียหายก็ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหาย นี่เป็นหลักการสำคัญที่สุรชัยเห็นว่า คดีแม่เมาะได้ยืนยันหลักการเรื่องนี้ อีกทั้งเป็นการยืนยันสิทธิ์ของชุมชน และสิทธิ์ในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี
การที่เราปฏิบัติตามกฎหมาย มีเจตนารมณ์เพื่อจะพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองทรัพย์สิน คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดชี้ให้เราเห็น สุรชัยอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีการประกาศใช้ ไม่แน่ว่าจะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนหรือไม่
คำพิพากษาได้กล่าวถึง การกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศใน 1ชั่วโมง ซึ่งออกมาเป็นประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
“ปรากฏว่า การประกาศค่าเฉลี่ยความเข้มข้นในคำพิพากษาจะบอกว่า ของประชาชนทั่วไปกับคนพื้นที่แม่เมาะไม่เท่ากัน มีช่วงหนึ่งที่ไม่เท่ากันอย่างไม่น่าเชื่อ สุดท้ายศาลเห็นว่า ค่าเฉลี่ยน่าจะเป็น 780 มิลลิกรัม/ซีซี
“พูดง่ายๆ ว่า เคยมีการประกาศมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้คนแม่เมาะอึดกว่าคนที่อื่น”
สุรชัยยังมองว่า มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต้องการการปฏิรูปเร่งด่วน เนื่องจาก “ไร้น้ำยาโดยสิ้นเชิง” เนื่องจากเป็นหลักการซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่กลับเปิดโอกาสให้แก้ไขในภายหลังได้ นอกจากนั้น กระบวนการแก้ไข ถือเป็นเรื่องเชิงเทคนิค ที่ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม
การบังคับคดีตามคำพิพากษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สุรชัยตั้งคำถามว่า สำหรับประชาชนคนอื่นที่ไม่ฟ้อง เขาไม่เดือดร้อนในเรื่องนี้หรือ เราสามารถแยกความเดือดร้อนเป็นคนๆ ได้ด้วยหรือ
“ความเป็นธรรมมันไปถึงแค่คนที่ฟ้องคดีเท่านั้นหรือ”
+ คดีจบ เหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ…ยังดำเนินต่อไป
แม้คำพิพากษาจะออกมาแล้ว แต่โครงการพัฒนาเหมืองและโรงไฟฟ้ายังดำเนินต่อไป ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยรอบบริเวณเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้จริงหรือไม่
ประเด็นที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เน้นย้ำคือ รูปแบบในการขอประทานบัตรและวิธีมการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 20,000 ไร่ ปัจจุบัน มีพื้นที่เหมืองแม่เมาะที่ยังไม่สิ้นประทานบัตร 61 แปลง เนื้อที่ 16,026 ไร่
“ต้องถือว่าเหมืองแม่เมาะเป็นเหมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีประทานบัตรเยอะที่สุด คือ มีถึง 61 แปลงที่ยังไม่หมดอายุ ถือเป็นการเปิดหน้าดินที่ใหญ่มากๆ”
ข้อสังเกตทางธรณีวิทยาคือ ชั้นลิกไนต์แผ่กระจายเป็นบริเวณกว้างมาก ฉะนั้น ก็ต้องลอกออกเป็นแผ่นๆ เหมือนชั้นขนมชั้น แต่คำถามยังมีอยู่ว่า เหตุใดจึงต้องเร่งรีบเปิดหน้าดินมากขนาดนั้น? ทั้งที่สามารถเลือกวิธีขอประทานบัตรเป็นกลุ่มแปลงเล็กๆ ได้ หากคำนึงถึงชุมชนเป็นตัวตั้ง
“เหตุใดจึงไม่ขอประทานบัตรเป็นกลุ่มๆ ไป เช่น คราวละ 10-20 แปลง แล้วค่อยๆ ทำไปจนกว่าจะหมด คือเอาถ่านหินตั้งแต่ชั้นที่ติดกับผิวดิน ค่อยๆ ลึกลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเมื่อหมดแล้ว จึงค่อยขยับไปขอแปลงอื่นต่อไป”
คำตอบก็คือ อาศัยความสะดวก ง่าย ลงทุนต่ำเป็นเกณฑ์ เพราะการทำเหมืองถ่านหินแบบขอเป็นกลุ่มประทานบัตรแปลงเล็กๆ นั้นต้องลงทุนสูงกว่า
“หลักการใช้อำนาจบาตรใหญ่แบบนี้ มันทำลายชีวิตคนเยอะมาก สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศกระทบมหาศาล เนื่องจากมันครอบคลุมพื้นที่ทั้งแอ่ง
“มันทำให้แอ่งอารยธรรมชุมชนล่มสลาย เพราะโดนขับไล่ ต้องอพยพออก และเกิดมลพิษมหาศาลจากการเปิดหน้าดิน นี่เป็นวิธีการทำเหมืองที่ผิดพลาด วิธีทำเหมืองที่ถูกต้องและอยู่คู่กับชุมชนได้ก็คือ ค่อยๆ ขอเป็นกลุ่มประทานบัตร”
เลิศศักดิ์ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการเหมืองแม่เมาะในปี 2497 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 มีการเปิดหน้าดินไปแล้ว 1,600 กว่าล้านตัน ได้ลิกไนต์ไปแล้ว 321 ล้านตัน สัดส่วนของหน้าดินต่อลิกไนต์อยู่ที่ 5:1
“ถ้าคุณขอประทานบัตรครั้งละ 5-10 แปลง สัดส่วนระหว่างหน้าดินจะไม่แตกต่างกันขนาดนี้ การที่ต้องเปิดหน้าดินมหาศาลเพียงเพื่อให้ได้ลิกไนต์ 321 ล้านตัน เพราะเลือกทำเหมืองแร่แบบเปิดหน้าดินทั้งแอ่งแม่เมาะ”
เป้าหมายคือ ต้องการได้บ่อเหมืองแม่เมาะทั้งหมด ประมาณ 20,000 กว่าไร่ 37 ตารางกิโลเมตร และมีที่ทิ้งดินนอกบ่อเหมือง อีกประมาณ 25,000 ไร่ หรือ 40 ตารางกิโลเมตร
“พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้มีความเมตตาสงสารชาวบ้านเลย แต่ต้องการเอาพื้นที่หมู่บ้านไปเป็นที่ทิ้งดิน”
ขณะนี้ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ขอประทานบัตรเพื่อเปิดหน้าดินอีกราว 2,000 ไร่ ขณะที่ทาง กฟผ. ออกมาให้ข้อมูลว่า จะขยายระยะเวลาดำเนินการโรงไฟฟ้าแม่เมาะไปจนถึงปี 2590 (32 ปี) โดยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน โรงที่ 4-7 เพิ่มเติม ฉะนั้น ประชาชนที่นี่จะต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี
คดี EIA: บรรทัดฐานการแก้ไขด้านสิ่งแวดล้อม?
คดีหมายเลขดำที่ อ. 16-31/2553 และ คดีหมายเลขแดงที่ อ. 749-764/2557 ครอบคลุมพื้นที่ 21 แปลง 5,306 ไร่ ให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะ ดังต่อไปนี้
- ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้
- ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร
- ให้ฟื้่นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ. นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
- ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุก ๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland
- ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนโดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker และในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด
ในกรณีที่ กฟผ. เห็นว่า มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองที่มีมาตรฐานและเหมาะสมกว่ามาตรการฯที่เป็นเงื่อนไขท้ายประทานบัตรดังกล่าว ให้ กฟผ. ดำเนินการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ดังกล่าวต่อ สผ. ตามข้อ 2.14 ของมาตรการฯ ที่กำหนดโดย สผ. ที่เป็นเงื่อนไขท้ายประทานบัตร และต่ออธิบดี กพร. ตามมาตรา 57 แห่งกฎหมายแร่ 2510 และ กฟผ. จะปฏิบัติตามมาตรการฯ ที่ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ต่อเมื่อการขอแก้ไขและเปลี่ยนแปลงนั้น ได้รับความเห็นชอบจาก สผ. และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี กพร. แล้ว
ให้อธิบดี กพร. ตรวจสอบ กำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการฯ หาก กฟผ. ไม่ปฏิบัติตาม ให้อธิบดี กพร. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 138 แห่งกฎหมายแร่ 2510 โดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ให้อธิบดี กพร. และ กฟผ. ดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
ประเด็นสำคัญ
20 สิงหาคม 2553 การประชุม คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ครั้งที่ 24/2553 มีมติเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ของ กฟผ.
27 สิงหาคม 2553 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีหนังสือแจ้ง กฟผ. ว่า คชก. มีมติเห็นชอบฯ (ก่อนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด)
อย่างไรก็ตาม การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี กพร. ตามมาตรา 57 แห่งกฎหมายแร่ 2510 ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า กฟผ. ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี กพร. ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ดังกล่าว มาตรการฯ ที่กฟผ. ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงและได้รับความเห็นชอบจาก สผ. จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ กฟผ. ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการฯ ที่เสนอไว้ใน EIA และมาตรการฯที่กำหนดโดย สผ. ฉบับเดิมต่อไป
อีกคำถามที่เลิศศักดิ์ตั้งข้อสงสัยคือ ประทานบัตรที่ถูกทำเหมืองและหมดอายุไปแล้ว กับคำขอประทานบัตรปี 2560 อีก 3,000 กว่าไร่ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 7,000 ไร่ รวมอยู่ในแผนการฟื้นฟูเหมืองของ กฟผ. ด้วยหรือไม่
“จะฟื้นฟูเหมืองเฉพาะตรงที่คำพิพากษาสั่ง คือ 5,306 ไร่เท่านั้นหรือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”
ลักษณะพิเศษของเหมืองแม่เมาะคือ ประทานบัตรติดต่อกันเป็นแผ่นเดียวกันทั้งหมด ฉะนั้น หลักการฟื้นฟูเหมืองคือ ต้องเอาพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดมารวมกันให้เป็นโครงการทำเหมืองเดียวกัน แล้วมองภาพรวมในการฟื้นฟูเหมืองทั้งหมด
“ผมไม่มั่นใจนักว่า จุดที่พิพากษาเฉพาะ 21 แปลง มีสาเหตุจากอะไร ทำไมจึงไม่พิพากษารวมกับแปลงประทานบัตรที่หมดอายุแล้วด้วย”
ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความรับผิดชอบ น่าจะต้องหาเวลาในการสืบสาวสักนิดว่า กว่าจะมาเป็นไฟฟ้าให้เราใช้กันอย่างสะดวกดายนั้น ตั้งอยู่บนความทุกข์และความเดือดร้อนของใครบ้างหรือไม่ และความเคลื่อนไหวของค่า Ft ในใบเสร็จค่าไฟ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 4 เดือน อยู่ในความสนใจของเรามากแค่ไหน
ที่มา: Press Briefing ‘สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีแม่เมาะ’
ร่วมจัดโดย คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice),
กลุ่มจับตาพลังงาน (Energy Watch),
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
และ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (ThaiSEJ)