อดีตประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ของอิหร่าน เพิ่งลงทะเบียนเป็นสมาชิกโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์สดๆ ร้อนๆ หลังจากหลายปีก่อนหน้านี้เขาเป็นคนสั่งแบนเองในช่วงนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี
ทวิตเตอร์เป็นโซเชียลมีเดียที่สามารถเล่นได้ทั้งในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ แต่มีข้อจำกัดว่าผู้ใช้จะสามารถส่งข้อความได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษรเท่านั้นและเรียกการส่งข้อความนี้ว่า ทวีต (Tweet) ซึ่งแปลว่า เสียงนกร้อง
ทวีตแรกของอดีตประธานาธิบดีคือ เชิญชวนให้ทุกคนกดติดตามเขา @ahmadinejad1956 นอกจากนั้นส่วน Bio (ประวัติ) หน้าแรกของเขาเขียนว่า “สามี คุณพ่อ คุณปู่ อาจารย์มหาวิทยาลัย ประธานาธิบดี นายกเทศมนตรีและภูมิใจที่เป็นชาวอิหร่าน”
ถึงแม้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะบล็อกทวิตเตอร์ไม่ให้ประชาชนทั่วไปเล่น แต่เป็นเรื่องปกติมากที่ชนชั้นนำทางการเมืองของอิหร่านสามารถเล่นทวิตเตอร์ได้และนิยมเล่นกันด้วย เช่น ประธานาธิบดีคนปัจจุบันฮาซัน โรฮานี (Hassan Rouhani) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ โมฮัมเหม็ด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) หรือแม้แต่ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) เองก็มีแอคเคาท์ทวิตเตอร์ หลายภาษา
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวอิหร่าน (ที่แอบเล่นผ่านการใช้ซอฟต์แวร์ลับๆ) มองว่าการที่รัฐบาลอิหร่านต่อต้านไม่ให้เล่นทวิตเตอร์นั้นเกิดขึ้นหลังจากการประท้วงเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ของอาห์มาดิเนจาดในปี 2009
การประท้วงเกิดขึ้นหลังจากที่มีการกล่าวหาว่าการเลือกตั้งนั้นทุจริต ซึ่งการประท้วงครั้งนั้นใช้ทวิตเตอร์ในการส่งข่าวสาร ข้อมูลและระดมคนให้ออกมาร่วมการประท้วงเป็นจำนวนมากจนเรียกการประท้วงครั้งนี้แบบเล่นๆ ว่า “Twitter revolution”
ทวิตเตอร์จึงกลายเป็นโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์อาหรับสปริงเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อาห์มาดิเนจาดเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2005 – 2013 จากสไตล์การทำงานที่แข็งข้อ ไม่โอนอ่อนและเอาแน่เอานอนไม่ได้ส่งผลให้เกิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมขึ้นต่อต้านในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง
ยิ่งไปกว่านั้นมีแนวโน้มว่า เขาจะลงสมัครเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยมีผู้นำสูงสุดอย่างคาเมเนอีให้การสนับสนุนเขา
ที่มา : theguardian,bbc news