Maho Rasop Festival 2019: ความสุขมโหฬาร ในงานมหรสพ

กด Blind Ticket ไปเลย มันต้องโดนสักวงแหละน่า…

โดยปกติแล้วงานเทศกาลดนตรีจะเปิดขายบัตรหลายรอบ รอบแรกสุดคือรอบ blind รึเรียกว่ารอบวัดใจก็ได้ เพราะผู้ชมจะไม่ทราบรายละเอียดของงานใดๆ นอกจากวันที่จัดงาน ราคาบัตรจะถูกที่สุด แต่ก็เสี่ยงที่สุดเช่นกัน เพราะเราเสียเงินก่อนจะทราบชื่อนักร้องที่จะมาแสดงเสียอีก ส่วนใครไม่อยากเสี่ยงอยากรอเปิดรายชื่อก่อน ก็เจอกันราคารอบถัดไป ซึ่งจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนรายชื่อศิลปินที่ถูกประกาศออกมา และไม่อาจทราบได้เลยว่า ราคาสุดท้ายจะไปจบที่ตรงไหน

ทั้งที่ยังไม่เห็นรายชื่อศิลปินในงาน แต่ด้วยความงกของข้าพเจ้า บัตรรอบ blind จึงเป็นบัตรที่คุ้มค่ามากที่สุด กดซื้อสิครับ รออะไร

งาน ‘Maho Rasop Festival’ เป็นเทศกาลดนตรี ที่รวมเอาศิลปินหลากแนวเพลงหลายสัญชาติมาจัดแสดง ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 จากปีแรกที่จัดแค่วันเดียว ปีนี้เอาให้เต็มที่กว่าเดิมด้วยระยะเวลา 2 วัน ดูดนตรีกันยาวๆ ไป ไม่มีใครบ่นว่าไม่จุใจแน่นอน

มหรสพปีแรก มีศิลปินที่เราชอบมากๆ มาแสดง จึงไม่ลังเลที่จะไป พอจบงานเรารู้สึกว่ามันคุ้มค่ามาก ดีมาก ส่วนศิลปินวงอื่นๆ ในงาน เราเคยฟังเพลงพวกเขามาบ้าง เลยอินตามได้ไม่ยาก หลายเพลงจากที่เคยรู้สึกแค่ ‘ก็เพราะดีนะ’ กลายเป็นเพลงที่มีความทรงจำดีๆ อยู่ในนั้น จนกลับมาเปิดฟังอีกบ่อยครั้ง อารมณ์มันค้างมาก คิดไว้ว่าถ้าปีหน้ามีงานอีกจะไม่พลาดแน่นอน

จนมีการประกาศ line up (รายชื่อศิลปิน) สำหรับมหรสพปีที่ 2 ครบทุกวง

ตายล่ะ! ไม่มีวงที่ชอบเป็นพิเศษเลยนะ เอาไงดีหนอ ความลังเลวิ่งวนอยู่ในหัว ไป ไม่ไป ไป ไม่ไป

สุดท้ายก็ตัดสินใจไป (แน่สิ ไม่งั้นโพสต์นี้คงไม่ถือกำเนิดขึ้นมา) ไปลองฟังอะไรใหม่ๆ คงไม่แย่นักหรอก

โอ้…ตื่นเต้น แต่ก่อนไปต้องเตรียมตัวก่อน

ในเมื่อไม่มีนักร้องที่ชอบเป็นพิเศษก็ต้องทำการบ้านเยอะหน่อย เริ่มจากไปถามเพื่อนที่ดูจะกรี๊ดกร๊าดรายชื่อศิลปินในงาน แย็บๆ ว่า “ชอบวงไหน” “วงไหนน่าสนใจ” “จะไปดูใครเหรอ” แล้วลองไปหาฟังตามคำแนะนำของเพื่อน เพลงไหนเพราะก็วงไว้เลยว่าจะไปยืนหน้าเวที 

ความจริงแล้วขั้นตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นก็ได้ เอาชื่อศิลปินไปหาเพลงฟังเองเลย แต่ด้วยรายชื่อศิลปินที่เยอะมาก การถามคนอื่นจะเป็นทางลัดให้ได้ประมาณหนึ่ง แล้วไปถึงหน้างานอยากวิ่งไปเวทีไหนก็ค่อยว่ากัน

พอมีรายชื่อศิลปิน เพลง ที่อยากฟังจำนวนหนึ่งแล้ว อย่างที่สองคือหาเพื่อนไปด้วยกัน สำหรับเรา การไปคอนเสิร์ตคนเดียวไม่ใช่เรื่องยาก ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็คล้ายๆ ไปดูหนังคนเดียว จะเหงาๆ หน่อยตอนเดินเข้าออกฮอลล์ แต่เทศกาลดนตรีที่เริ่มตั้งแต่ บ่าย 3 จนเกือบเที่ยงคืนเนี่ย ให้ไปคนเดียวก็ยังไม่แข็งแกร่งพอ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ถ้าคิดว่าไปคนเดียวคล่องตัวกว่าก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับเราขอมีเพื่อนเกาะหน่อยแล้วกัน เผื่อมีอะไรเกิดขึ้นมันจะได้ไม่เคว้งคว้าง

ตารางการแสดงที่เราปรินท์แล้วไฮไลท์วงที่อยากดูและวงที่เพื่อนแนะนำมา จะได้ไม่พลาด


ตารางเวลาพร้อม! เพื่อนพร้อม! ก็ไปกันเลย!

อ้อ อย่าลืม เงิน (อันนี้สำคัญมากกกกกก) พาวเวอร์แบงค์ ทิชชู่แห้ง/เปียก (ตามความชอบ) บัตรประชาชน (เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนเข้างาน) อื่นๆ ที่คิดว่าจำเป็น เราขอแนะนำว่า หยิบไปแค่ของจำเป็นกับชีวิตจริงๆ ก็พอ เพราะเราต้องแบกสัมภาระเหล่านี้ไปอีกนาน

วันแรก

วันนี้ไปถึงงานแบบไม่รีบเท่าไหร่ ในงานจะมีเวทีจัดแสดงอยู่ 3 เวที ได้แก่ ‘ยกล้อ’ ฮอลล์เล็ก ห้องติดแอร์ สำหรับเพลงสายอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ‘คำราม’ เวทีกลาง และ ‘มโหฬาร’ เวทีใหญ่

No Party for Cao Dong

เซอร์ไพรส์กันตั้งแต่ต้นงาน เราละสายตาจากโชว์ของ No Party for Cao Dong วงร็อคจากไต้หวันไปไม่ได้เลย ดุดันแต่แฝงด้วยความพลิ้วไหวสไตล์เอเชีย และถ้าดูดีๆ จะเห็นว่ามีสมาชิกเป็นผู้หญิงด้วย อย่างเท่เลยพี่ No Party for Cao Dong ช่วยปลุกให้ตื่น เหมือนพูดกับเราว่า ‘เวลคัมๆ เธอมาถึงงานมหรสพแล้วจ้า’

No Party for Cao Dong

มาต่อกันที่ ภูมิ วิภูริศ (Phum Viphurit) โชว์นี้เราอยากดูมาก เพราะนอกจากความสดใสของภูมิ ที่ขนาดยืนอยู่ไกลๆ ยังเห็นรอยยิ้มกว้างจากบนเวที ความสามารถของเขาท่วมท้นไม่แพ้ความสดใส อยากดูว่าศิลปินไทยที่ได้ไปโชว์ในเวทีต่างประเทศมาแล้วหลายเวที จะทำโชว์ออกมาได้อยู่หมัดขนาดไหน 

และก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เสียงร้องที่เหมือนกับไฟล์ออดิโอที่เคยฟัง ต่างกันแค่ความสดที่อยู่ตรงหน้า และนอกจากจะร้องเพลงเฉยๆ ยังมีโชว์บีทบ็อกซ์จากมือเบส แถมเล่นบางท่อนของเพลงฮิต ‘Bad Guy’ โดย Billie Eilish เรียกความคึกคักจากผู้ชมได้มากทีเดียว ช่วงท้ายจะจบไม่ได้เลยถ้าไม่มีเพลงนี้ ‘Lover Boy’ เพลงที่ทำให้หลายๆ คนรู้จักกับภูมิ แค่โน้ตเพลงดังขึ้นมาห้องเดียว ผู้ชมก็ส่งเสียงเชียร์ดังลั่น และจบโชว์ไปอย่างสวยงามด้วยการโชว์ตีกลองด้วยพลังล้นเหลือของภูมิ

The Horrors วงนี้ค่อนข้างคาดหวังไว้สูง เราชอบเพลงที่มีพวกเสียงสังเคราะห์อยู่ด้วย แล้วเพลงของพวกเขาก็แพรวพราวไปด้วยเสียงต่างๆ แต่ฟังสดแล้ว บอกตามตรงว่าแอบผิดหวัง เพราะเสียงร้องไม่ค่อยชัด มันอู้ๆ คิดว่าเป็นความตั้งใจของโชว์แหละ หรือเรายืนผิดที่ก็ไม่ทราบได้ ความตื๊ด ตุ๊งติ๊งเลยไม่ค่อยออก

การชมดนตรีเรื่องตำแหน่งที่ยืนก็สำคัญ ถ้าดูโชว์ไหนแล้วไม่สนุก เราแนะนำให้ย้ายที่

แวบไปหาของกินเล็กน้อย เหลือบดูนาฬิกาอีกที พี่แรปเปอร์เกาหลี Junoflo ที่อยากดูก็แสดงจบพอดี อดดูสินะ แต่ไม่ยอม ขอเดินไปดูให้เห็นกับตา ให้ช้ำใจเล่น นาทีที่คนเดินออกมาจากฮอลล์เวทียกล้อ เรารู้ได้ทันทีว่าเขาแสดงจบแล้วจริงๆ งานนี้ต้องชมผู้จัด เวลาเป๊ะมาก ถือว่าจัดการได้ดี ให้คะแนน 10 10 10 ส่วนความเศร้าของเราก็ 10 10 10 เช่นกัน

หลังจากนี้เรามีเวลาว่างก่อนไปดู The fin. เลยขอตั้งหลักพักที่เวทียกล้อ เวทีเล็กที่จัดในห้องแอร์เย็นสบาย ก้มหน้าดูตารางเวลา ศิลปินรายต่อไป Onra (DJ set) เกิดมายังไม่เคยดูดีเจเลย ลองดูหน่อย ไปแบบสุ่มๆ เลยค่ะ 

Onra

Onra คือ beat-maker จากฝรั่งเศส ฟังเพลงไปไม่เท่าไหร่ เราตัดสินใจสิงอยู่ห้องนี้ต่อโดยไม่ลังเล ช่วงครึ่งโชว์แรก จะเป็นซาวด์มิกซ์โทนเอเชีย แบบมีเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านคล้ายๆ เสียงขลุ่ย เสียงพิณปนอยู่ด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเขานำเครื่องอะไรมาเป็นต้นแบบ 

ตอนแรกเราเข้าใจว่าเขาเอาเสียงเครื่องดนตรีไทยมามิกซ์ เพราะมาเล่นที่ไทย แต่หลังจากไปหาข้อมูลเพิ่ม สรุปเราเข้าใจผิด Onra เคยออกอัลบั้ม Chinoiseries มาแล้ว 3 อัลบั้ม เป็นดนตรีมิกซ์ซาวด์จีน คิดว่าเป็นเพลงจากอัลบั้มเหล่านี้แหละที่ขนมาโชว์ให้เราได้ดู 

อัลบั้ม Chinoiseries Pt. 3 ของ Onra ถ้ามีโอกาส เราแนะนำให้ลองฟัง

ช่วงที่ประทับใจที่สุดของโชว์นี้ ต้องยกให้ช่วงที่ผู้ชมชาวไทยอินจัด พร้อมใจกันร้อง ‘กรู้ววววววววว’ ขึ้นตามกันโดยไม่ได้นัดหมาย ก็แหม ซาวด์มันชวนนึกถึงงานบุญงานบวชเหลือเกิน แต่เป็นงานบุญฉบับ 2019 ที่ใส่ความจี๊ดจ๊าดของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไป 

หลังจากโชว์ไปได้ครึ่งหนึ่ง Onra ย้ายโซนดนตรีมาเป็นเพลงจากอัลบั้มอื่น ทิ้งความเอเชียไป ประกอบกับถึงเวลาโชว์ของ The fin. เราเลยตัดใจลาโชว์นี้ไป ขอย้ายเวที

The fin. ศิลปินปิดเวทีคำรามในค่ำคืนนี้ เล่นชนกับ King Gizzard & the Lizard Wizard จากฝั่งเวทีมโหฬาร ด้วยแนวเพลงแล้วเราขอจบค่ำคืนนี้ด้วยฟีลลิ่งชิลๆ จาก The fin. แล้วกัน ทั้งโชว์ลื่นไหล เพลินมาก คืนนี้ต้องฝันดีแน่ เพราะได้ฟัง ‘Night Time’ แบบสดๆ

วันที่สอง

ตั้งใจว่าวันนี้ต้องรีบไป เพราะ Swim Deep เล่นเป็นวงแรก แต่ร่างไม่เอื้ออำนวย หลังจากเมื่อวานยืนยาวไปหลายชั่วโมง มาถึงช้าหน่อยๆ พร้อมอาการปวดหัวนิดๆ เข้างานแล้วรีบตรงไปมุมปฐมพยาบาลเป็นลำดับแรก “ขอพาราหน่อยค่าาาา” ก่อนจะลุยกันต่อ

เศร้าเล็กน้อยที่มาไม่ทันช่วงต้นของ Swim Deep แต่ยังเหลืออีกครึ่งโชว์ ลุ้นมากว่าจะทันเพลง ‘Honey’ ไหม จนจบโชว์ ก็อดฟัง สอบถามเพื่อนได้ความว่า ‘Honey’ เล่นไปตั้งแต่เพลงที่ 2 แล้ว อิชั้นได้แต่งึมงัม อุอู้ว เบเบ้ (ท่อนหนึ่งในเพลง ‘Honey’) ในใจเงียบๆ นี่คงเป็นบทลงโทษของคนมาสาย

ถึงอย่างนั้นตลอดโชว์ที่เหลือก็ดีมาก ครึ่งหลังเน้นไปที่เพลงจากอัลบั้มล่าสุด เอ้า Everybody’s free, Everybody’s free To feel good~ จบโชว์แล้วฟีลกู้ดมาก เปิดวันได้ดี แต่ปากก็ยังบ่นว่าเขาน่าจะได้โชว์เย็นกว่านี้ เพราะเรารู้สึกว่าเพลงของ Swim Deep ควรฟังตอนอากาศเย็นๆ หน่อย แอบคิดว่าอาจเป็นความตั้งใจของผู้จัดที่ให้ Swim Deep เป็นโชว์เปิดเพื่อดึงคนมางาน เผื่อคนไม่ฟื้นจากเมื่อวาน ดังเช่นอิชั้นหนึ่งคน (ทั้งนี้ทั้งนั้น สมมุติฐานอาจจะผิด)

โชว์ของ Swim Deep ถึงจะเล่นเป็นวงแรก แต่จำนวนผู้ชมหนาแน่นใช้ได้

โฉบไปเวทีคำราม เสียงเพลงของ Say Sue Me เรียกร้องให้เราหยุดฟังเหลือเกิน นี่เป็นอีกวงที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย แต่เพลงเขาเพลินมาก จนจบโชว์ที่นักร้องนำกล่าวขอบคุณเป็นภาษาบ้านเกิด ‘คัมซาฮัมนิดะ’ อา…วงเกาหลีนี่เอง ในจักรวาลนักร้องเกาหลีที่เรารู้จักนั้น ยังมีอีกหลายวงที่เราไม่รู้จักสินะ โลกนี่ช่างกว้างใหญ่

Summer Salt อีกหนึ่งวงที่อยู่ในลิสต์พลาดไม่ได้ของเรา ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ โอ๊ยยยย…ทำไมมันหวานมาก เพลินที่สุด เป็นหนึ่งในโชว์ที่ชอบมาก และเชื่อว่าน่าจะเป็นโชว์ที่หลายคนประทับใจเช่นกัน นอกจากเพลงจะหวานแล้วยังไม่พอ ช่วงเวลาของโชว์ คือตอนที่พระอาทิตย์กำลังค่อยๆ ตกพอดี ทีมงานต้องตั้งใจแน่ๆ บรรยากาศดีมากจริงๆ

Summer Salt

ถ้าโชว์ของ Onra เมื่อวานได้เล่นในงานบวช Summer Salt ต้องได้เล่นในงานแต่ง พูดเลย! และแน่นอน ว่าเราอกหักรอบสองของวัน เพราะเพลงที่เก็งไว้ไม่ออก ฮืมมมม…

การอกหักรอบ 3 ของวันตามมาติดๆ เนื่องจาก DCNXTR (อ่านว่า เดอ คอนเน็กเตอร์) อีกวงที่อยากดูดันแสดงชนกับ Summer Salt เราเลยพลาดโชว์ของพวกเขาไปอย่างน่าเสียดาย

วนกลับไปที่เวทีมโหฬาร ได้เวลาแสดงของ BADBADNOTGOOD พอดี ไปฟังใกล้ๆ เพลินอีกแล้ว ถือเป็นการพักหูจากวงร็อคต่างๆ ได้ดีทีเดียว แต่เนื่องจากเป็นวง Instrumental (เพลงบรรเลง) เราจึงเลือกฟังจากที่ไกลๆ หน่อย อันได้แก่…โซนรับประทานอาหาร …จริงๆ ก็หิวนั่นแหละ

คั่นเวลาพูดเรื่องอาหารการกินในงานสักเล็กน้อย อาหารในงานนี่มีร้านที่คุ้นหน้าคุ้นตาหลายร้าน ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ชอบไปเปิดตามงานคอนเสิร์ต กับนิทรรศการงานออกแบบทั้งหลาย ที่สำคัญทุกร้านที่เราได้กินอร่อยหมด เงินก็หมดเช่นกัน แอบกระซิบว่าราคาค่อนข้างสูง ฉะนั้นไม่ควรกินเพลิน แต่อร่อยจริง ให้อภัย

มาที่วงฝั่งเอเชียอีกวง CHAI สี่สาวจากญี่ปุ่น ที่นิยามดนตรีของตัวเองว่า Neo Kawaii หลายๆ คนบอกว่าโชว์ของสี่สาวแปลกใหม่ แหวกแนว พีคสุดๆ แต่เราไม่ถนัดฟังเสียงร้องแหลมสูงแบบนี้เท่าไหร่ ข้าพเจ้าขอบาย

ใกล้เวลาโชว์ของ Deafheaven เข้ามาทุกทีจากหน้าเวทีที่เคยเห็นผู้ชมแต่งตัวสีสันสดใสปะปนกัน ตอนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ชายชุดดำอยู่เต็มหน้าเวที Deafheaven คือวงเมทัล ที่หลายคนบอกว่าลองมาดูเถอะ พลาดไม่ได้ โอเค ลองดูหน่อย เนื่องจากเพื่อนที่เราไปด้วยนั้นเป็นแฟนคลับของวงนี้ ใช่ค่ะ เราอยู่ใกล้เวทีมาก (มากกว่าโชว์ของน้องภูมิที่เราอยากเห็นรอยยิ้มน้องใกล้ๆ T T) 

เปิดโชว์มาดนตรีหนักแน่นมาก นี่หรือดนตรีเมทัล เฮ้ยยยย ฟังได้น่า พี่นักร้องนำเดินออกมาพร้อมผมยาว มาถึงหน้าเวทีพี่แกไม่พูดพร่ำทําเพลง ควงคอ วน วน วน พร้อมผมยาวๆ แบบไม่กลัวเวียนหัว แฟนๆ หน้าเวทีก็โยกกันอย่างมีเอกลักษณ์ ปกติวงอื่นผู้ชมจะโยกคอเบาๆ ส่วนแฟนวงนี้นั้น โยกตั้งแต่เอวเลยค่ะ หงายขึ้นหงายลง อย่างโหด ไม่ทันถึงครึ่งเพลงแรก เพื่อนเราเข้าไปอยู่ในวงมอชซะแล้ว 

ตอนแรกคือช็อกมาก นึกว่าโดนดึงเข้าไปแบบไม่ตั้งใจ แต่พอมองสีหน้าอันมีความสุขแล้ว อืม…เขาตั้งใจแหละ วงมอชขยายวงกว้างขึ้น พร้อมกับขาเราที่ถอยไวขึ้น โอ้ โชว์นี้ข้าพเจ้าต้องขอบายอีกแล้ว เหลือบมองเพื่อนหนึ่งที แล้วแหวกผู้คนหนีไป

เวทีสุดดุดันของ Deafheaven

เพื่อให้เห็นภาพวงมอช วงมอช หรือ circle pit คือ วงที่คนจะเข้าไปวิ่งชนๆ กัน ดูคล้ายเข้าไปตะลุมบอนตีกัน แต่ไม่ได้ตีกัน พวกเขาวิ่งเข้าหากันด้วยความสุข มักเกิดขึ้นในดงผู้ชมเพลงสายร็อคเมทัล

ด้วยความสับสน งงงวย ไร้ที่ไป วันนี้เราขอใช้เวทียกล้อ เป็นที่พักใจอีกครั้ง

เข้าฮอลล์ไปเป็นช่วงท้ายโชว์ของ Yousuke Yukimatsu ดนตรีของเขาค่อนข้างวกวน ยาวนานเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด เราฟังได้เรื่อยๆ แต่บางคนอาจจะเบื่อ ในขณะที่นั่งมึนกับควันดรายไอซ์ เนื่องจากเวทีนี้เป็นห้องปิดทำให้อากาศไม่ค่อยถ่ายเท เพลง ‘Call Me Maybe’ ของ Carly Rae Jepsen ก็ดังขึ้น Hey, I just met you and this is crazy but here’s my number, so call me maybe สัมผัสได้ถึงความกวนของนักร้องคนต่อไป

bbno$ (อ่านว่า baby no money) สำหรับเรายกให้โชว์นี้เป็นโชว์ที่สุดในดวงใจของงานมหรสพปีนี้เลย ที่เทคะแนนให้มากสุด เพราะเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย ไม่ได้แพลนว่าจะมาดูด้วยซ้ำ แต่ประทับใจโชว์มาก เลยเทคะแนนให้เยอะๆ 

bbno$

ซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ฟังเพลิน ที่เชิญชวนให้ผงกหัวตามโดยพร้อมเพรียง บวกกับการร้องแรปที่ไม่โหวกเหวกโวยวาย เป็นสไตล์ไหลไปเรื่อยๆ เรียกว่าเป็นแรปที่เป็นมิตร ไม่ดุ ถ้าในโชว์เสียงดนตรีจะเด่นมาก ตื๊ดได้ใจ แต่ถ้าฟังเป็นไฟล์เพลงก็จะได้ยินเสียงร้องเด่นกว่า เราว่าเป็นสเน่ห์ของการฟังสดเลย นอกจากดนตรีจะดีแล้วภาพฉายบนจอ LED ก็ดีไม่แพ้กัน ดีในที่นี้ ไม่ใช่กราฟิกสวยงามดี แต่เป็นความกวนที่ดี เขาใช้ภาพคนดังขึ้นมาดื้อๆ เลย ไม่มีรีทัช ไม่มีตัดต่อ กรอบสี่เหลี่ยมพื้นขาว เซฟมาจาก google ยังไงก็อย่างนั้น วิ่งวนไปมาบนจอภาพจนจบแต่ละเพลง ตอนแรกเป็นภาพดาราต่างชาติชื่อดัง บางรูปเป็นภาพ gif สุดฮิต แต่มาแสดงในไทยทั้งทีคงหนีไม่พ้นภาพคนดังชาวไทย คนที่ได้ขึ้นจอ LED มีทั้ง น้าค่อม ชวนชื่น, หม่ำ จ๊กมก, ไปยัน ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอยยยย เกรียนได้ใจ

ภาพพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาภาพ บนจอ LED ในโชว์ของ bbno$
ภาพต้นแบบ แบบชัดๆๆ

ระหว่างโชว์เขายังดึงผู้ชมขึ้นไปให้ร่วมเล่นด้วย เพราะหนุ่มฝรั่งนั่นดันไปตะโกนว่าให้ถอดเสื้อ “คนนี้อะครับบอกว่าให้ผมถอดเสื้อ งั้นขึ้นมาโชว์ด้วยกันเลยมะ” (เขาไม่ได้พูดภาษาไทย แต่เราแปลมาเพื่ออรรถรส) แถมช่วงท้าย bbno$ ยังลงมาเต้นกับผู้ชมด้านล่างเวทีด้วย เป็นกันเองมาก ประทับใจ

ช่วงสองปีที่ผ่านมาเพลงแรป ฮิปฮอป เป็นกระแสนิยมมากๆ ทำให้อุตสาหกรรมเพลงมีเพลงแนวนี้ออกมาให้ฟังเต็มไปหมด จากที่เคยคิดว่าตัวเองชอบเพลงฮิปฮอปประมาณหนึ่ง พอฟังมากๆ เข้ากลับไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของนักร้องหลายๆ คน พูดง่ายๆ ออกมากี่เพลงก็เหมือนๆ กัน ทำให้เราเบื่อและเริ่มคิดว่า หรือเราจะไม่ได้ชอบฮิปฮอปนะ? แต่หลังจบโชว์ของ bbno$ เราได้คำตอบให้ตัวเองว่า “เราไม่ได้เบื่อ แค่เราหาเพลงฮิปฮอปแบบที่ชอบไม่เจอเท่านั้นเอง แต่วันนี้ก็เจอแล้วนะ”

ออกมาจากความตื๊ด Bombay Bicycle Club ศิลปินวงสุดท้ายของเวทีมโหฬารกำลังทำการแสดงอยู่ แสดงดีมาก สัมผัสได้ถึงเอนเนอร์จีที่ส่งลงมาให้คนดูแบบท่วมท้น แม้ไม่ค่อยรู้จักเพลงของวงนี้เท่าไหร่ แต่เพลงเขาเหมือนมีเวทมนตร์น่ะ ฟังไปยิ้มไป พาเราคึกคักได้ตลอดโชว์ ที่ประทับใจที่สุดยกให้เพลง ‘Always Like This’ เมโลดีน่ารักชวนโยกเบาๆ ตามนักดนตรีบนเวที เนื่องจากเป็นโชว์สุดท้ายของเวทีใหญ่ เลยมีช่วงอังกอร์ ทั้งสนุกทั้งใจหาย งานจะจบแล้วจริงๆ เหรอ

จบจริงแหละพร้อมข้อความบนจอด้านหลัง เจอกันปีหน้า

โอยยย ใจสั่นเลย

งานมหรสพปีนี้เห็นได้ชัดเลยว่างานเติบโตขึ้นมาก มีชาวต่างชาติมาร่วมงานเยอะมาก ผู้ชมขยายเป็นหลายกลุ่ม แนวเพลงไม่ต้องพูดถึง หลากหลายอยู่แล้ว เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของทีมงานเลยนะ เจ้าหน้าที่ประจำจุดต่างๆ คอยอำนวยความสะดวกมีมากขึ้น คอยเดินบอกผู้ร่วมงานตลอด “ประตูห้องน้ำเปิดอย่างนี้นะคะ” “ต่อแถวเติมเงินตรงโน้นจะโล่งกว่า” ตากล้องประจำจุดต่างๆ เดินสวนกันให้ควั่ก ตารางโชว์ที่ตั้งใจจัดเรียงมาอย่างดี 

ผู้จัดงานไม่เพียงแค่นำนักร้องต่างชาติมาให้ชาวไทยชมผลงานอย่างเดียว แต่ผู้จัดอยากโชว์ความเป็นไทยให้ต่างชาติได้เห็นด้วยเช่นกัน อย่างโชว์ที่เราพลาดไปของ TONTRAKUL ที่นำดนตรีหมอลำมาผสมกับซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นโชว์ที่น่าสนใจ หรือวงสุดท้ายของเวทีคำราม ได้แก่แรปเปอร์สัญชาติไทย Youngohm & Young Bong ที่โชว์จบช้ากว่าโชว์จากเวทีใหญ่ เพื่อให้ผู้ชมที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจมาฟังได้ยินเสียงเพลงของพวกเขาในขณะที่กำลังตัดสินใจจะกลับบ้านหรือจะอยู่ต่ออีกสักหน่อยดี

การไปเทศกาลดนตรีให้ความรู้สึกต่างจากการไปชมคอนเสิร์ตเดี่ยวอยู่มากเหมือนกัน คอนเสิร์ตเดี่ยวคือเราเจาะจงเลือกไปชมศิลปินที่เราชื่นชอบ จบโชว์ก็กลับบ้าน อิ่มใจแต่ไม่ได้ประสบการณ์ในการสำรวจสิ่งใหม่เหมือนที่เทศกาลดนตรีให้ได้ การไปเทศกาลดนตรีเหมือนการไปสำรวจโลก ไปลองฟังเพลงใหม่ๆ ไปชมโชว์ของศิลปินที่ไม่รู้จัก ไม่แน่ว่าลำดับศิลปินที่ชื่นชอบในใจอาจเปลี่ยนไปก็ได้ สำรวจดนตรีแล้ว ยังได้สำรวจผู้คนอีกด้วย ทั้งคนใกล้และไกลตัว เพื่อนเราชอบไม่ชอบอะไร เพลงนี้เพราะไหม? วงนี้เล่นดีรึเปล่า? เดินไปเดินมาอาจจะเจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานานอีกด้วย มันมากกว่าการไปฟังเพลงจริงๆ เพราะอาจได้เจออะไรใหม่ตลอดเวลา

การดูคอนเสิร์ตเป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมงติดกัน 2 วัน หลายคนเห็นระยะเวลาก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แต่ถ้าชอบฟังดนตรีอยู่บ้าง และไม่รู้สึกอึดอัดในที่ที่คนเยอะ เราแนะนำว่าหาโอกาสมาเทศกาลดนตรีสักครั้ง มันคุ้มค่าจริงๆ มันอิ่ม มันประทับใจ เหมือนฉีดก้อนความสุขเข้าร่างกาย คึกคักไปอีกยาวเลย นี่งานจบไปสองสัปดาห์แล้วยังไม่เลิกสนุกเลยนะ (เว่อร์ไหม? บอกเลยว่า…มากกกก)

ใครที่ยังลังเลใจว่าจะลองไปเทศกาลดนตรีดีไหม เราให้เวลาชั่งใจไปยาวๆ เลย ส่วนทางผู้จัดที่ปีนี้ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม เขาเตรียมตัวคำราม พร้อมพาผู้ชมไปยกล้อ ให้มีความสุขกันแบบมโหฬาร รออยู่ที่งานมหรสพ 2020 ปีหน้าแล้วนะ

Author

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า