‘บัตรทอง’ หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นใบเบิกทางให้ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงโดยไม่เสียค่ารักษาพยาบาล ภายใต้การออกแบบกลไกของรัฐเพื่อให้ประชาชนแบกรับภาระน้อยที่สุด
นั่นคืออุดมคติ
ในยุคของรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน เจตนารมณ์ของบัตรทองกำลังจะถูกแปรเปลี่ยน โดยจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งจะเป็นการทำลายหัวใจสำคัญของระบบบัตรทองให้ถอยหลังไปจากเดิม
มาตรฐานการรักษาเดียวกันของทุกกองทุน
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: สวัสดิการด้านสาธารณสุขเป็น ‘สิทธิ’ ที่ประชาชนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน จุดมุ่งหมายคือการสร้างระบบบริการสุขภาพมาตรฐานเดียว ทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอาจรวมเป็นระบบกองทุนเดียวกันได้ในอนาคต
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างระบบสวัสดิการต่างๆ ที่จะยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการด้านงบประมาณและกองทุน
แยก ‘ผู้จัดบริการ’ และ ‘ผู้ซื้อบริการ’
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: กระบวนการออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพ ตั้งอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งสะท้อนในสัดส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ที่มีทั้งตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ องค์กรวิชาชีพ องค์กรภาคประชาชน ท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: ความพยายามแก้กฎหมายบัตรทองมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้จัดบริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้แทนองค์กรวิชาชีพ การเสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานคณะกรรมการ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายหลักการสมดุลและการแยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อบริการให้ประชาชนและผู้ให้บริการ การแก้ในประเด็นนี้ส่อให้เห็นเจตนาที่จะปล่อยให้ฝ่ายผู้จัดบริการเข้ามาแทรกแซง มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขด้านการเงินที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยบริการซึ่งผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง
ครอบคลุมประชากรทุกคน
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: ทุกคนจะมีสิทธิ์เข้าถึงบริการสาธารณสุข ทั้งคนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพอยู่แล้ว และกลุ่มผู้ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์ (รอพิสูจน์สถานะบุคคล)
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: จะมีผู้ตกสำรวจและไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ เช่น คนไร้รัฐ หรือกลุ่มผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคล
หลักการหาเงินเพิ่มเติม
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: ประชาชนทุกคนจะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ณ จุดบริการ รวมไปถึงการหาแหล่งรายได้อื่นมาเป็นงบประมาณเพิ่มเติม อาทิ ภาษีที่คิดจากกำไรการขายหุ้น (Capital Gain Tax) หรือ ภาษีที่คิดจากการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Financial Transactions Tax)
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: ประชาชนผู้มีสิทธิ์จะต้องเสียเงินร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ซึ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ซึ่งผิดไปจากหลักของการเป็นสวัสดิการ นอกจากนี้ หากมีการเก็บค่าบริการร่วมจ่าย ในอนาคตค่าใช้จ่ายอาจมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จนกีดกันคนจำนวนหนึ่งให้เข้าไม่ถึงการรักษาในที่สุด จนต้องหากฎเกณฑ์อื่นมาควบคุมภายหลัง
การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนในการร่วมจัดบริการ
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จะมีอำนาจตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านการให้บริการสาธารณสุข เพื่อสมทบกับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐจัดสรรให้แก่หน่วยบริการตามจำนวนประชากรในพื้นที่ อีกทั้ง อปท. ยังสามารถสนับสนุนภาคประชาชนในการทำงานส่งเสริมป้องกันโรคหรือร่วมจัดบริการด้านสาธารณสุขได้
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: นิยามการมีส่วนร่วมของ อปท. ยังไม่มีความชัดเจน และหมิ่นเหม่ต่อหลักเกณฑ์การตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำให้ อปท. จำนวนไม่น้อยขาดอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณท้องถิ่น เนื่องจากเกรงจะผิดหลักเกณฑ์ของ สตง.
เช่นเดียวกับการกีดกันภาคประชาชนในการร่วมจัดบริการ ทั้งที่นี่คือส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันจนเป็นผลงานการลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกเป็นประเทศที่ 2 ของโลก
บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: สิทธิ์รักษาพยาบาลของทุกคนจะอยู่ที่หน่วยบริการสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิที่ใกล้ที่สุด เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการในพื้นที่ ซึ่งจะตรวจรักษาและคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากกว่า
หลักการใกล้บ้านใกล้ใจนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านจะไม่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุน ส่วนผู้ป่วยก็ต้องเสียค่าเดินทางและไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องแบกรับผู้ป่วยจำนวนมากจนไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง
ลดการฟ้องคดี เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการ
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: หนึ่งในเจตนารมณ์ของระบบบัตรทอง คือ การลดข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงการให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย มุ่งเน้นกระบวนการไกล่เกลี่ยและให้มีการเยียวยาแก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: มาตรา 41 ถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการโจมตีว่า กฎหมายมาตรานี้เป็นการให้สิทธิ์คุ้มครองผู้ป่วยมากเกินไป จนอาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดคดีฟ้องร้องหมอมากขึ้น ซึ่งโดยข้อเท็จจริงการฟ้องคดีต่อศาลต้องใช้เวลาในการต่อสู้คดีนานนับ 10-20 ปี มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งพยานหลักฐานและเวชระเบียนล้วนอยู่ในมือของสถานพยาบาล และผู้แพ้คดีส่วนใหญ่ก็คือ คนไข้
หลักการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายอย่างสมดุล
ถ้าเป็นไปตามหลักการนี้: ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการควบคุม ตรวจสอบนโยบายและงบประมาณ เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับตัวแทนจากองค์กรอื่นๆ ไม่ให้มีเสียงข้างมากเกินไปจนสูญเสียหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
ถ้าผิดไปจากหลักการนี้: นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในการแก้กฎหมายที่ส่อถึงความพยายามจำกัดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน โดยจำกัดจำนวนอนุกรรมการภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ทำให้มีความไม่เป็นธรรม โน้มเอียงไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝั่งผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสัดส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแง่ของผู้จัดบริการที่มีมากถึง 7 คน จากคณะทำงาน 27 คน ที่เหลือคือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ฝ่ายเลขาฯของคณะอนุกรรมการ ยังไม่ยอมให้คณะอนุกรรมการแก้กฎหมายบัตรทอง บันทึกข้อคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยลงในเอกสารเพื่อประกอบการประชาพิจารณ์ แม้จะได้ท้วงติงเป็นลายลักษณ์อักษรหลายครั้ง แต่ก็อ้างว่าผู้ใหญ่ในคณะอนุกรรมการไม่เห็นชอบ และนำไปใส่ในตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตราเพียงฉบับเดียว จนในที่สุดก็ไม่มีการบันทึกความเห็นเสียงส่วนน้อยลงในเอกสารที่มีการเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้การรับฟังความเห็นในครั้งนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีลักษณะที่ไม่เป็นกลาง