‘บันทึก’ จากประสบการณ์และความรู้สึกของหญิงสาวนักข่าว นักวิจัยอิสระ หนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าในโลกที่ร้าวราน
-1-
ฉันเคยคิดว่าความเครียดเป็นขนมหวาน ถ้าไม่ได้กิน เหมือนกินอาหารไม่ครบมื้อ เพราะโตมากับครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ทะเลาะและใช้ความรุนแรงใส่กัน ตอนเป็นเด็กคิดอย่างเดียวรีบเรียนให้จบแล้วหางานทำ รีบมีชีวิตเป็นของตัวเอง หนีออกไปจากบ้าน
แล้วก็สมหวัง ปี 2537 ได้มาทำงานเป็นนักข่าวที่สำนักพิมพ์หนึ่ง แต่มันเป็นบรรยากาศที่เหมือนเราอยู่คนเดียวท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก รู้สึกตัวอีกทีก็ถูกทิ้งให้เป็นนักข่าวกระทรวงสาธารณสุขอยู่เกือบ 10 ปี มีคำพูดให้ได้ยินเสมอในสำนักข่าว “คนไม่สวยต้องออกไปทำข่าว คนสวยนั่งทำงานออฟฟิศ” คนขี้ริ้วอย่างฉันจึงแทบกลายเป็นจเรข่าว วิ่งข่าวสารพัดทุกประเภทที่คนอื่นไม่ทำ
อาชีพข่าว เรากินเดดไลน์เป็นอาหาร ทำงานหายใจรดต้นคอเป็นวันๆ ไป และเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีเสียงชื่นชมนัก ทำให้เราชื่นชมใครไม่เป็น แม้จะชมตัวเองก็ไม่เป็น
ปี 2544 ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านสตรีศึกษา ก็ถูกกองบรรณาธิการบุลลี “มาแล้วเฟมินิสต์” ถ้าเราเสนอความเห็นต่างในประเด็นข่าว เดิมทีเคยคิดว่าโลกของนักหนังสือพิมพ์เป็นโลกของผู้ชาย ผู้หญิงไม่ค่อยเติบโตในสายงานอยู่แล้ว ระยะหลังการถูกบุลลีอยู่เรื่อยๆ มันเป็นบรรยากาศที่เหี้ยมาก
ยิ่งฉันเป็นนักข่าวทำยอดการฟ้องร้องหมิ่นประมาทสูงสุดทั้งจำนวนคดี และมูลค่าฟ้องร้อง จากการเปิดโปงคดีทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข และมีแพทย์หญิงคนหนึ่งฟ้องคดีแรงงาน ไล่ฟ้องตั้งแต่บรรณาธิการถึงตัวนักข่าวรวม 2,000 ล้านบาท ฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ไหนจะคดีโรงพยาบาลเอกชนกักศพคนงาน ฟ้องพร้อมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและแพทยสภาอีก 10 ล้านบาท ทุกคดีฟ้องถึงตัวนักข่าวหมด จนนิติกรบริษัทรับคดีไม่ไหว บอกให้เราช่วยตัวเองนะ หรือการที่นักการเมืองมานั่งกินข้าวกับเบอร์หนึ่งขององค์กรข่าว ฟ้องว่าฉันจับผิดเธอ และฉันก็ถูกสั่งให้ทำข่าวเบาๆ หน่อย เพราะเขาจะถอนโฆษณา วันนั้นฉันกลายเป็นภาระขององค์กร และถูกองค์กรทอดทิ้ง วิชาชีพทอดทิ้ง จึงตัดสินใจลาออกมาเรียนต่ออย่างเดียว
แน่นอน ถูกแม่ด่าอยู่นานว่ามีงานมั่นคงแล้วลาออกทำไม ฉันอยู่ได้ด้วยการรับจ้างแม่ล้างจานที่ร้านข้าวแกงวันละ 300 บาท และรับงานฟรีแลนซ์หาค่าเรียนปริญญาโท ไม่นานนัก มีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงมีโอกาสได้ลงไปดูการตรวจสอบสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 พอปี 2548 มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ฉันกับพี่น้องเพื่อนสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าต้องไปซ่อมแซมวิชาชีพที่กลายเป็นจำเลยสังคมขณะนั้น ก็มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง ‘โต๊ะข่าวภาคใต้’ ภายใต้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภายหลังกลายเป็นสำนักข่าวอิศรา
ช่วงปี 2548 การเมืองศูนย์กลางกรุงเทพฯ เริ่มเข้าสู่จุดวิกฤต เพื่อนนักข่าวผู้ชายจากแต่ละสำนักข่าวถูกเรียกกลับส่วนกลาง จนกระทั่งปี 2549 เกิดรัฐประหาร พวกเราที่เป็นนักข่าวอิสรายุคแรกก็เหมือนถูกรัฐประหารซ้อนไปด้วย จากการแย่งชิงอำนาจการบริหารในสภาวิชาชีพสื่อ เขาป้ายสีพวกเราด้วยข้อหาทำงานไม่โปร่งใส น้องนักข่าวบางคนที่ลงไปทำงานแลกชีวิตในพื้นที่ความขัดแย้งถึงกับลาออกจากองค์กรข่าว ฉันเสียใจมากที่ทำให้เพื่อนๆ เดือดร้อน เพื่อเป็นการยืนยันปณิธานในวิชาชีพและความโปร่งใส พวกเราจำนวนหนึ่งสู้กลับด้วยการร่วมมือกับภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ตั้ง ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้’ (Deep south Watch: DSW) ปลายปี 2549 นั่นเอง
เป็นการทำงานที่ยากแค้นขัดสน พวกเราต้องเริ่มเขียนโครงการหาทุนทำงานกันใหม่ ประหยัดทุกอย่างแม้กระทั่งค่าตอบแทนของทุกคน ไม่มีการนอนโรงแรม พวกผู้ชายนอนในห้องประชุมของบ้านพักรับรอง ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ส่วนฉันนอนในห้องศูนย์ข้อมูล หรือห้องวอร์รูม (war room) คนเดียวนับจากนั้นเป็นต้นมา ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่พุ่งขึ้นตามอุณหภูมิของการเมืองของศูนย์กลางรัฐไทย
ช่วงกลางปี 2551 เริ่มมีการจัดตั้งทีวีสาธารณะ ฉันและเพื่อนๆ จำนวนหนึ่งกลายเป็นทีมฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองให้ไทยพีบีเอส ที่ต้องเดินสายไปทั่วประเทศ กระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2552 จำได้แม่นเพราะเป็นวันนักข่าว ระหว่างนั่งรถตู้จากกรุงเทพฯ ไปอบรมนักข่าวพลเมืองที่ปัตตานี รถคว่ำกลางทางที่ จ.ชุมพร ฉันเจ็บหนักที่สุด กระโหลกแตก เลือดออกในสมอง ฟื้นขึ้นมาก็มีรอยบากที่หน้ายาวจากตีนผมลงมาถึงปีกจมูก เดินก็ไม่ได้ ปวดร้าวไปทั้งตัว ทรงตัวไม่ได้เพราะสมองยังกระทบกระเทือนอยู่ เหมือนร่างกายไม่ใช่ของเราอีกแล้ว
ชีวิตดิ่งมาก ตายไปซะน่าจะดีกว่า ฟื้นขึ้นมาทำไม หลังถูกส่งตัวกลับขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อนรักพาไปผ่าตัดและทำศัลยกรรมลบรอยแผลเป็นที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ก็ยังทำงานไม่ได้อยู่นาน
-2-
6 เดือนกว่าที่เหมือนเป็นเศษเนื้อไร้ค่านอนติดเตียง แม่นั่งร้องไห้ปลายเตียงทุกวัน จนน้องๆ ในทีม DSW ตามกลับมาทำงาน เพราะมีแหล่งทุนต่างประเทศสนใจทำงานด้วย ต้องการคนเขียนโครงการ นาทีนั้นเนื้อเต้นกลับมาใช้ชีวิตที่สองอีกครั้งที่ปัตตานี งานอะไรที่ผ่านมือรับทำหมด และทำมันให้สุดเหมือนว่างานนั้นจะเป็นงานสุดท้ายของชีวิต
เรากลับไปนอนในห้องวอร์รูมอีกครั้ง คนในพื้นที่ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน แต่เราคือคนที่เฝ้าบ้านหลังใหญ่เงียบๆ คนเดียว หากระเบิดลงปูพรมในพื้นที่ ไฟดับทั้งเมือง เกิดเหตุร้ายใดๆ เราก็อยู่ตรงนั้น ถามว่ากลัวไหม “กลัวซิ” เรานอนทั้งกางเกงยีนส์ ชุดนอน ชุดทำงานคือชุดเดียวกัน ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่เคยหลับสนิทเลย
ช่วงเวลาที่ทำงานชายแดนใต้ เราคือคนนอก คนพุทธ และผู้หญิงคนเดียวในทีม และการมี gender sensitivity มักมีบาดแผลในใจ อกจะระเบิด ระหว่างการทำงานตลอดเวลาในพื้นที่ที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เมื่อเราตระหนักว่าเป็น ‘คนนอก’ และเป็น ‘คนอื่น’ สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ เราไม่ได้มีฝันที่ยิ่งใหญ่นัก แค่อยากสร้างคน สร้างงาน สร้างระบบ และสร้างองค์กร พร้อมถอยหลังกลับบ้านตลอดเวลา ไม่ได้คิดใหญ่โตสร้างสันติภาพเหมือนใคร ทำงานเหมือนผีโม่แป้งอยู่หลังบ้าน
จนกระทั่งปี 2556 เมื่อรัฐไทยลงนามพูดคุยสันติภาพกับขบวนการเห็นต่างจากรัฐอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนและเป็นสาเหตุของความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังมาตลอดหลายสิบปี น้องๆ ในพื้นที่ที่เคยทำงานรอบตัวเราก็เริ่มเผยตัวออกมาว่าเป็นแนวร่วมฝ่ายไหนบ้าง มี เสธ.ทหารที่ปลอมเป็นช่างภาพแฝงอยู่ในกลุ่มพวกเรา พร้อมรายชื่อสื่อภาคประชาสังคมทั้งหมดในมือเขา
ณ เวลานั้นเราเหมือนเกิดวิกฤตความไว้เนื้อเชื่อใจ เรายังเชื่อใจใคร เราวางใจให้กับใครรอบตัวได้บ้าง เราถูกมอนิเตอร์จากทุกฝ่ายคู่ขัดแย้งที่ถืออาวุธ ครั้งหนึ่ง ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมเคยเชิญเราทางลับไปสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อพูดคุยถึงการบริหารจัดการองค์กร เพราะเขาจำเป็นต้องทำงานการเมืองบนดินแล้ว เราขนลุกมาก เรื่องเล่าของเรา ถ้าใครไม่รู้จักต้องว่าเราดูหนังสายลับมากไป หรือเราเพี้ยนแน่ๆ
ปี 2557 รัฐประหารอีกครั้ง การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศทำให้เราประสาทเสีย เหมือนฉากความรุนแรงมันแฟลชแบ็กอยู่ตลอดเวลา เราเห็นเพื่อนและคนรู้จักหลายคนทยอยถูกเรียกเข้าค่ายทหารไปปรับทัศนคติ ด้านคนทำงานชายแดนใต้มีวงลับประเมินสถานการณ์ นักการเมืองฝั่งตรงข้ามทหารประเมินแล้วว่า เดี๋ยวทางภาคใต้จะมีรายชื่อถูกเรียกเป็นลำดับต่อไป ซึ่งนั่นก็จริง ทหารสายพิราบกับสายเหยี่ยวยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะปิด DSW ไหม เพราะมีเครือข่ายบางคนเขียนบทความวิเคราะห์การรัฐประหารเสี่ยงถูกมาตรา 112 แต่ถ้าปิดเลย ก็จะทำให้แนวร่วมขบวนการฯ ที่เคยขึ้นมาบนดิน หลบลงใต้ดินไปอีก ผู้บริหารของเราจำเป็นต้องปลีกตัวไปเยอรมันก่อนที่จะถูกเรียกตัว แน่นอน ฉันมีชีวิตอยู่ด้วยความกังวลแบบไม่รู้จะคุยกับใคร บอกครอบครัวก็ไม่ได้ เดี๋ยวถูกด่าอีก
ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทั้งการเมืองในส่วนกลางและที่ชายแดนใต้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น และใกล้ตัวมากเกินไป ฉันทยอยเสียคนที่รักและเพื่อนร่วมงานทั้งจากเป็นและจากตายไปหลายคน
-3-
สักประมาณปี 2558-2559 ไม่เหลือเป้าหมายอะไรในชีวิตมากนัก อยู่ๆ ก็เหนื่อย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ไม่อยากกินอะไร ชีวิตประจำวันเริ่มเสีย อยากนอนอย่างเดียว น้ำหนักตัวจาก 40 กว่ากิโล ลดลงต่ำสุดเหลือ 29 กิโลกรัม ชีวิตมันชืดชาไปหมด จนทำงานไม่ได้ ฉันนึกแค่ว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม เพราะช่วงนั้นทำงานหนักและเหนื่อยมาก แต่เพื่อนหมอที่รู้จักเริ่มเห็นว่าอาการน่าเป็นห่วง มารู้ภายหลังว่ามีกระบวนการปรึกษากันหนักว่าจะจับฉันแอดมิตโรงพยาบาลจิตเวช แต่ด้วยความเมตตาของเพื่อน ท้ายสุด พาลัดคิวไปพบอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาการุณย์แทน
หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แพนิค และอาจจะมีอาการของ PTSD ร่วมด้วย ฉันยอมรับโดยดุษฎีถึงความเจ็บป่วยที่มาเยือน นั่นเป็นทางถอยสุดท้ายแล้วว่าวันหนึ่งฉันจะดีขึ้น ไม่ว่าฉันจะกินยาอะไรก็อาเจียนออกมาหมดจากผลข้างเคียงของยา และต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน หมอวางยานอนหลับชนิดแรงเพื่อให้ได้พักผ่อนจริงจัง เมื่อได้ยาต้านเศร้าบวกกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท บางวันระหว่างข้ามถนน ฉันก็เห็นถนนเป็นทะเล ย่างเท้าลงไปรถเกือบชนตาย ฉันไม่ได้วางแผนฆ่าตัวตาย มันแค่เกือบตายโดยไม่รู้ตัว
ถามว่าเคยคิดฆ่าตัวตายไหม “เคยซิ ทั้งคิดคำนึงเรื่องการตาย การเตรียมตัวตาย การวางแผนฆ่าตัวตายเป็นลำดับ ทำมาหมดแล้ว รวมทั้งกินยานอนหลับเพื่อไม่ให้ตื่นเลยก็เคย เพราะชีวิตมันชืดชา ไม่เหลือเป้าหมายในชีวิตว่าอยู่ไปเพื่ออะไร”
การมารักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลศิริราชฯ เราจ่ายเงินเองทั้งหมด แลกกับการได้หมอที่ถูกคอ คุยกันรู้เรื่อง มีความเมตตาและอดทนกับเรา หมอไม่คิดค่ารักษาพยาบาล คิดแต่ค่ายา เมื่อค่ายาค่อยๆ ไต่ระดับแพงขึ้นเรื่อยๆ หมอก็อนุญาตให้ซื้อยาต้านเศร้ากับร้านยาข้างนอกได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะสารภาพว่าเงินเก็บเริ่มหมดตัวแล้ว
เรื่องยาต้านเศร้า Venlafaxine (ชื่อสามัญของยา) นี่ก็น่าแปลก ไม่ว่ายี่ห้อไหน ฉันหาซื้อในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไม่ได้เลย ติดต่อไปที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือคลินิกจิตแพทย์เอกชนก็ไม่มียาตัวนี้ในตลาดเลย ทั้งที่พื้นที่ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ของคนเจ็บป่วยด้านจิตใจมากที่สุดของประเทศ ทำให้อดตั้งข้อสังเกตถึงการเข้าถึงการรักษาโรคจิตเวชในพื้นที่ต้องคำสาปแห่งนี้ไม่ได้
สรุปว่าฉันต้องให้เพื่อนหมอส่งยาที่ต้องการทางไปรษณีย์จากกรุงเทพฯ มาให้ และหลายครั้งจำเป็นต้องซื้อยานี้ตุนไว้จำนวนหนึ่ง มันจะมีจังหวะที่ยาขาดตลาดอยู่เนืองๆ ทำให้เรากินยาไม่ต่อเนื่อง นั่นแปลว่าเราต้องมีเงินก้อนจำนวนหนึ่งสำหรับตุนยาต้านเศร้า ส่วนยาลดผลข้างเคียงหรือยานอนหลับต่างๆ ฉันยังพอหาได้จากหมอ
รักษากับหมอที่โรงพยาบาลศิริราชฯ อาการดีขึ้นตามลำดับ จนไม่อยากเปลี่ยนหมอ ปี 2561 เริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้บ้าง ที่ยังทำไม่ได้คือ อาการมือสั่นจนเขียนหนังสือไม่ได้ และอาการนี้มันทำให้โลกของเราพังทลาย เพราะตลอดเวลาทักษะการเขียนเป็นสิ่งเดียวที่เรามีเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ฉันมีข้อจำกัดเรื่องค่ารักษาพยาบาล ช่วงนั้นหมอส่งต่อเราไปหานักจิตบำบัดเอกชน เพราะที่โรงพยาบาลศิริราชฯ ไม่มี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยชั่วโมงละ 2,000 บาท แพงพอกับค่ายาเลย ฉันเลยพับโครงการนี้ไป และปรึกษาหมอขอย้ายไปรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท หมอเข้าใจและดำเนินการเรื่องประวัติการรักษาให้อย่างดี
ฉันติดต่อขอใช้สิทธิที่โรงเรียนแพทย์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับคำตอบว่าต้องรอคิวอย่างน้อย 6 เดือน เพราะคิวหมอเต็มไปถึงสิ้นปีแล้ว ฉันต่อรองขอเอาเอกสารประวัติการรักษาไปให้ดูก่อนได้ไหม เผื่อว่าจะรีบรับผู้ป่วยไว้ทันที คำตอบที่ได้คือต้องไปเริ่มจากบริการปฐมภูมิ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ที่เป็นเจ้าของสิทธิเราก่อน เพื่อให้ส่งต่อมาที่โรงพยาบาลอีกที ฟังแล้วอยากร้องไห้ ทำใจอยู่หลายเดือนกว่าจะหอบเอกสารไปพบหมอที่ ศบส. ซึ่งก็ได้คำตอบเดียวกันว่า คิวของจิตแพทย์โรงเรียนแพทย์ของกรุงเทพมหานครเต็มยาว เมื่อเลือกทางนี้แล้ว ก็ได้ใบส่งตัวและรอคิวหาหมอยาวไป
การรักษาที่ฝากชีวิตไว้กับ ‘ใบส่งต่อ’ มันดูดพลังงานชีวิตไปทั้งวัน กว่าจะได้พบจิตแพทย์ ต้องตื่นแต่เช้าไปรับใบส่งตัวที่ ศบส. และรีบกลับมาที่โรงพยาบาลให้ทันก่อนเที่ยง พบว่า แพนิค แอ็ทแท็กทุกครั้ง แต่ที่น่าตระหนกมากกว่าเรื่องใบส่งต่อ คือ เมื่อใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแล้ว มันไม่ได้ฟรีเหมือนที่คิดไว้ เพราะมีการเรียกเก็บค่ายาต้านเศร้าที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ภาษาห้องยาเรียกว่า ‘ยานอกสิทธิ’ ครั้งละ 1,000-2,000 กว่าบาท หมอบอกว่ายาเม็ดละ 22 บาท (ตอนหลังโดนปรับยาใหม่ เม็ดละ 37 บาท) ขึ้นอยู่กับแต่ละครั้งว่าหมอสั่งจ่ายยาจำนวนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งราคาถูกกว่าที่โรงพยาบาลศิริราชฯ หรือการออกไปซื้อกับร้านขายยาก็จริง แต่มันใช่เหรอ? ฉันจำนนอยู่ในวงจรสวัสดิการพยาบาลรักษาที่หลักการเป็นนางฟ้า แต่ในรายละเอียดเป็นปีศาจ นานนับปี
ฉันเริ่มต่อรองขอให้ ศบส. ทำใบส่งตัวจากรักษาจากทีละครั้งเป็นส่งต่อรักษาทั้งปี ซึ่งสำเร็จไปด้วยดี เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เราก็เหมือนเพื่อนๆ คือหยุดยาเอง เพราะการไปหาหมอ การต้องไปขอใบส่งต่อยา และค่ายาแพง ทำให้เราหมดพลังชีวิต “อาการดีขึ้นจึงเป็นเหตุผลของการหยุดยาเอง” โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด การไปโรงพยาบาลคือความเสี่ยงในการติดเชื้อ ยิ่งเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักให้เราไม่ไปพบแพทย์
และช่วงโควิด-19 นี่เองที่เราพบปมกระตุ้นใหม่ๆ (triggered) โดยไม่รู้ตัวว่ายังอยู่ในสภาวะเปราะบาง ความเป็นอดีตนักข่าวสาธารณสุขได้อบรมหลักสูตรระบาดวิทยามา จึงถูกเรียกเข้าไปร่วมวางยุทธศาสตร์การสื่อสารในห้องวอร์รูมของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่พบการติดเชื้อใหม่ๆ และถูกลากไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารระบบสุขภาพด้านโรคอุบัติใหม่ที่องค์กรข่าวแห่งหนึ่ง ฉันยอมรับงานใหญ่ค่าตอบแทนสูงด้วยเหตุผลปากท้องเป็นสำคัญ เพราะร้านข้าวแกง ธุรกิจครอบครัวต้องปิดกิจการตลอดทุกช่วงการระบาด ค่าตอบแทนจากการทำงานเกือบ 3 ปี จนวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้น แลกกับการไม่ล้มละลายเป็นหนี้สินของครอบครัว นอกนั้นฉันตอบตัวเองไม่ได้ว่างานที่ทำตอบโจทย์อะไรในชีวิต
สักต้นปี 2565 เริ่มรู้สึกผิดปกติ แสงรุ่งอรุณ หากเป็นคนอื่นคือสัญญาณของการมีชีวิตอยู่ และการเริ่มต้นวันที่ดี แต่สำหรับเรามันคือความทุกข์ และร้องไห้ออกมา ไม่อยากให้เช้า ไม่อยากตื่นมาเจอบรรยากาศเดิมๆ ซ้ำซาก และไม่อยากลุกขึ้นจากเตียง เป็นอย่างนี้ติดต่อกันหลายเดือน จนมั่นใจว่าโรคซึมเศร้ากลับมาอีกแล้ว จึงกลับไปหาหมออีกครั้ง
-4-
เล่าย้อนกลับไปช่วงทำงานหนัก เราทำอยู่ได้ระยะหนึ่ง เพราะได้เครือข่ายอุปถัมภ์จากเพื่อนสหวิชาชีพช่วยหาการบำบัดทางเลือกมาให้ ทั้งการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อให้นอนหลับดีขึ้น แต่มันไม่ได้ผลสำหรับเรา การรักษาแบบโฮมีโอพาธีย์ (homeopathy) ศาสตร์การแพทย์แนวธรรมชาติก็ไม่ได้ผล เพื่อนนักกิจกรรมบำบัดมาช่วยแก้อาการอาเจียน มาทดสอบว่าเป็นภาวะการกลืนบกพร่องหรืออาเจียนเพราะผลข้างเคียงยา สรุปเป็นทั้งสองอย่าง ทุกครั้งที่กินยาจะต้องนำช้อนไปแช่น้ำอุ่นและกดเข้าไปที่โคนลิ้นจนภาวะการกลืนบกพร่องหายไป ทำให้อาการอาเจียนหลังกินอาหารและยาลดน้อยลงมาก
ส่วนภาวะการนอนไม่หลับนั้น ถูกพาไปทำกายภาพบำบัดการหายใจ ต้นเหตุจากความเครียดสะสม หายใจรดต้นคอเป็นอาจิณ ลมหายใจไม่ได้ลงมาถึงช่องท้อง ทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่ทำงาน เราหายใจด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ลำคอเท่านั้น เมื่อออกซิเจนไม่เข้าไปเลี้ยงในปอดและร่างกาย ทำให้เราสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนและนอนไม่หลับ ซึ่งมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง จนต้องทำกายภาพบำบัดฝึกการหายใจใหม่ให้ลึกและยาวขึ้น เรายังถูกทำกายภาพบำบัดอีกหลายส่วนของร่างกาย เพราะนอนติดเตียงจนกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ค่อยๆ ยืดเหยียดร่างกายและสร้างกล้ามเนื้อใหม่ เหมือนเด็กต้องหัดเดินใหม่อีกครั้ง
การกลับมาป่วยรอบใหม่ ปี 2565 ฉันทำงานไม่ได้ตามที่องค์กรคาดหวัง และสูญเสียความมั่นใจในตัวเองหนักกว่าเดิม จึงตัดสินใจลาออกจากงานกลางปี 2565 เป็นโอกาสให้กลับมานอนติดเตียงใหม่อีกครั้ง
เราไม่อยากเป็นภาระใครรวมทั้งครอบครัว เข้าใจความหมายว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังก็ช่วงนี้แหละ และยิ่งมารู้ภายหลังว่าสิทธิบัตรทอง ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บส่วนต่างจากผู้ป่วย พูดให้ชัดคือ ถ้ายาตัวใดที่แพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นสำหรับผู้ป่วยแล้ว หน่วยบริการจะเรียกเก็บค่ายานั้นไม่ได้ ทำให้โกรธมาก ถ้าเราเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจและมีค่ารักษาพยาบาลแพงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร ใจวูบร่วงหล่นทุกครั้งที่วนคิดถึงเรื่องนี้
การเข้าถึงจิตแพทย์เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว และการคุยเรื่องสิทธิกับแพทย์ที่รักษาโดยไม่ให้เสียความสัมพันธ์ส่วนตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉันค่อยๆ นึกหาสถานการณ์ คิดถึงบรรยากาศในการพูดคุย และเริ่มคุยกับหมอ เดือนสิงหาคม 2566 จึงเป็นครั้งแรกที่ได้ใบอนุมัติเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักฯ ไปยื่นให้ห้องยา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และในรอบ 4 ปีที่รักษาโรคซึมเศร้าด้วยสิทธิบัตรทองโดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท
สองเดือนต่อมา ฉันถามหมอว่า มีผู้ป่วยซึมเศร้าคนอื่นๆ เบิกยานอกบัญชีฯ แบบฉันได้ไหม? หมอบอกว่าไม่ มีฉันคนเดียว ที่คนอื่นยังเบิกไม่ได้เพราะเป็นนโยบายของโรงพยาบาล เรื่อง ‘เงินส่วนต่างค่ารักษาและค่ายา’ นี้ยังเป็นปัญหาระหว่าง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) กับหน่วยบริการ ว่า สปสช. จะชดเชยให้กับหน่วยบริการอย่างไร? คำตอบแบบนี้ ฉันฟังแล้วได้แต่ถอนใจ
สำหรับเป้าหมายในชีวิตทุกวันนี้เรียบง่ายมาก อยากหายจากโรค กลับมามีศักยภาพทำงานได้เหมือนเดิม และนอนหลับโดยไม่ต้องกินยา
ช่วงเวลาที่ระบบสุขภาพตอบโจทย์:
การรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาการุณย์ ได้คิวจิตแพทย์เร็ว แต่ค่าใช้จ่ายด้านยาแพง
Pain Point สำคัญ:
(ก) ไม่มีระบบการระบบการบำบัดฟื้นฟูด้านจิตเวชรองรับ ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ราคาแพง ไม่ถูกจัดเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ
(ข) หน่วยบริการสุขภาพเรียกเก็บค่ายาส่วนต่าง นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
(ค) ระบบไม่ยืดหยุ่นในการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง
(ง) ยาต้านเศร้าบางตัวแพงและเข้าถึงยาก ควรพิจารณาให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
(จ) การรอคิวนานจิตแพทย์นาน ระบบส่งต่อไม่เอื้อกับผู้ป่วย ยาแพงและเข้าถึงยาก เป็นวงจรการตัดสินใจหยุดยาเองของผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดผู้ป่วยโรคจิตเวชเรื้อรัง
สิ่งที่อยากได้ คาดหวัง:
(ก) ผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ควรทุกข์ในระบบบริการสุขภาพอย่างเดียวดาย เพราะเป็นทางถอยสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่
(ข) ผู้ป่วยซึมเศร้าไม่อยากเป็นภาระใครรวมทั้งระบบสุขภาพ จะร่วมกันพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างไร เพื่อคืนผู้ป่วยกลับไปเป็นคนที่มีศักยภาพ
(ค) ผู้ป่วยซึมเศร้ามีทางเลือกหลากหลายในการรักษา บำบัด ฟื้นฟูอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ถูกตีตราจากสังคม
หมายเหตุ:
วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียกร้องให้นำ ‘ยาต้านเศร้า’ (Venlafaxine) เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และผลักดันให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่ไหนก็ได้
ปัจจุบัน สปสช. อยู่ระหว่างการพิจารณา