ขบวน March for Science เริ่มก่อตัวตั้งแต่ 25 มกราคมที่ผ่านมา มีการออกแบบโลโก้ เพจเฟซบุ๊ค หกสัปดาห์ต่อมา การเคลื่อนไหวเริ่มขยายสู่วงกว้าง มีทั้งแนวร่วมสนับสนุนและกลุ่มต่อต้าน ตามมาด้วยความเห็นหลากหลาย และเสาร์ที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวัน Earth Day พวกเขา – บรรดานักวิทยาศาสตร์ จะพร้อมใจกันเดินขบวน โดยเริ่มในวอชิงตัน ดี.ซี. และอีก 360 เมืองในหกทวีป สิ่งที่ทุกกลุ่มยึดถือร่วมกันคือ ‘หลักการวิทยาศาสตร์’ และร่วมปกป้องความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทุกระดับ ตั้งแต่ในโรงเรียนจนถึงหน่วยงานภาครัฐ
วิทยาศาสตร์ที่ว่า คือ ‘วิธีการทางวิทยาศาสตร์’ ประกอบด้วยการตั้งสมมุติฐาน เก็บข้อมูล และทำการทดลองอย่างเป็นระบบ เพื่อหาหลักฐานมายืนยันสมมุติฐานข้างต้น และนอกจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงที่ไม่ยอมนั่งนิ่งเงียบในห้องแล็บ แนวร่วมของพวกเขายังประกอบไปด้วยแพทย์ ครู สื่อมวลชน
จุดประสงค์หนึ่งของพวกเขาคือ Oxford Dictionaries ได้ประกาศว่า ‘post truth’ คือ Word of the Year ของปี 2016 หมายความว่า ‘ความเหนือจริง’ อารมณ์และความเชื่อส่วนบุคลความมีอิทธิพลต่อสังคมมากกว่าข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์
‘post truth’ กลายเป็นคำฮิตที่ทำให้ผู้เชื่อถือหลักวิทยาศาสตร์ปวดหัว โดยเฉพาะในวงการเมือง หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตประธานาธิบดีสหรัฐขณะนั้น ปฏิเสธหลักฐานและดิสเครดิตข้องเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเป็นเรื่องจริง แถมยังบอกว่า สิ่งเหล่านี้คือข่าวลือลวงโลก
และไม่ใช่แค่ทรัมป์ ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐและผู้นำอีกหลายประเทศ ที่ดาหน้าถล่มแนวคิดวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เรื่องอาหาร GMO ไปจนถึงพลังงานนิวเคลียร์
ย้อนไปปี 1969 วุฒิสมาชิกสหรัฐ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) เรียกร้องว่ารัฐบาลต้องหาทางทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดการรั่วไหลของน้ำมันในซานตาบาบารา เขาชักชวนคนนับล้านทั่วประเทศให้ร่วมมือกันเพื่อทำให้สภาพแวดล้อมของโลกมีความปลอดภัยต่อมนุษย์มากขึ้น ก่อนที่จะกลายเป็นวัน Earth Day ในภายหลัง
เรื่องนี้ส่งผลให้ปี 1970 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน กำหนดทิศทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยตั้งองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ขึ้นในเดือนธันวาคม
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นโยบายทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม จึงผูกติดกับนโยบายทางการเมือง แน่นอนว่า การเมืองมีพลังมากพอที่จะทำให้เรื่องเหนือจริงกลายเป็นเรื่องจริงได้ไม่ยาก การเดินขบวนครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารกับสาธารณะว่า พวกเขาไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลซึ่งนำโดย โดนัลด์ ทรัมป์
พวกเขายืนยันว่า นโยบายต่างๆ ต้องใช้แนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ไปเป็นข้อถกเถียงและโต้แย้งกับ ‘เรื่องเหนือจริง’ รวมถึงเผยแพร่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
บรรดานักวิทยาศาสตร์สหรัฐบอกว่า 29 เมษายน หรืออีกเจ็ดวันข้างหน้า จะครบกำหนด ‘100 วันอันตราย’ ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศทำตามสัญญามากมายตามที่เคยหาเสียงไว้ ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้เปลี่ยนและกำหนดนโยบายมากมายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องอ้างอิงหลักฐานใดๆ เช่น ล้างข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทน ลดมาตรฐานก๊าซพิษจากรถยนต์ รื้อแผนงานด้านสภาพอากาศของโอบามา
ร้ายที่สุดคือ เสนอให้ตัดงบประมาณ EPA และตัดคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ออกจากคำประกาศแผนงานแรกของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ EPA
ข้อเรียกร้องทั้ง 21 ในวันที่ 22
เว็บไซต์ theatlantic.com ได้ใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์และเฟซบุ๊คของ March for Science รวบรวมมาเป็นข้อเรียกร้องของขบวนได้ 21 ข้อ
- ประกาศความหลงใหลต่อวิทยาศาสตร์
- ประกาศถึงสิ่งต่างๆ ที่วิทยาศาสตร์ทำเพื่อมนุษย์ และรับใช้สังคม
- กระตุ้นให้สังคมให้คุณค่าและเข้ามามีส่วนร่วมกับแนวคิดวิทยาศาสตร์
- กระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ออกจากโลกของตัวเอง และออกมาแบ่งปันความรู้สู่สังคม
- กระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ฟังเสียงสะท้อนจากสังคม และให้พิจารณาผลงานของพวกเขาในมุมมองของคนที่รับข้อมูลไปด้วย
- ยืนยันว่า วิทยาศาสตร์คือส่วนสำคัญของประชาธิปไตย
- แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการการทำงานในร่างกายมนุษย์ ที่แสดงออกผ่านความหลากหลายทางร่างกาย
- สนับสนุนผลงานที่ให้ความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งและคงไว้ซึ่งความดี
- กระตุ้นให้สังคมสนับสนุนและช่วยเป็นแนวร่วมปกป้องสังคมวิทยาศาสตร์
- เรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนเงินทุนด้านการวิจัย และลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์
- สนับสนุนการมีส่วนร่วมและทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย
- สนับสนุนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้คนมีแนวคิดเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถาม และตัดสินความจริงจากหลักฐานที่มีน้ำหนัก
- สนับสนุนผู้นำทางการเมืองให้ออกนโยบายที่มีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญกับหลักฐานและความเห็นของคนส่วนใหญ่มากกว่าความคิดเห็นและจินตนาการส่วนตัว
- ต่อต้านนโยบายที่ปฏิเสธหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
- ต่อต้านนโยบายที่คุกคามนักวิทยาศาสตร์ ไม่ให้ทำงานและส่งต่อความรู้สู่ภายนอกได้
- ต่อต้านแนวคิดดิสเครดิตความเห็นอันเป็นวิทยาศาสตร์ของคนส่วนใหญ่
- ต่อต้านการบิดเบือนว่าวิทยาศาสตร์เป็นแนวคิดหัวรุนแรง
- ปกป้องวิทยาศาสตร์จากการควบคุมสั่งการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- จับตาผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และด้านการเมืองให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ที่สุด
- เป็นปากเป็นเสียงแทนนักวิทยาศาสตร์เมื่อพวกเขาถูกปิดปาก รวมถึงปกป้องพวกเขาจากการถูกข่มขู่ด้วยวิธีต่างๆ
- สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ใช้ความพยายามมากขึ้นในการดึงกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในกระแสหลักให้เข้ามามีส่วนร่วม
อ้างอิงข้อมูลจาก: project-syndicate.org
salon.com
independent.co.uk
theatlantic.com
huffingtonpost.com