งานเสวนาในหัวข้อ ‘เป็นพ่อแม่ด้วย ทำงานด้วย มันเหนื่อยมากเลยนะ?’ จัดขึ้นในภายในงานนิทรรศการ ‘นิทรรศกี: ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ วันที่ 15 มีนาคม 2565 ภายใต้โครงการนำร่องผ้าอนามัยฟรีโดยพรรคเพื่อไทยเนื่องในเดือนแห่งวันสตรีสากล
เนื้อหาในวงเสวนากล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีนิยม (Feminism) โดยมุ่งไปที่แรงงานไทยผู้เป็นทั้งพ่อและแม่ที่ต้องแบกรับภาระทั้งการทำงานและการเลี้ยงลูก ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทั้งทางเพศและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมอันเป็นปัญหาที่ฝังรากในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
98 วันไม่ทันเลี้ยง การต่อสู้ของแรงงานมนุษย์แม่ในโลกทุนนิยม
นับตั้งแต่การเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายลาคลอด 90 วันของแรงงานหญิง เมื่อปี 2536 จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นใด นอกจากการเพิ่มวันลาอีก 8 วัน สำหรับการตรวจครรภ์ก่อนคลอด กล่าวได้ว่าแรงงานหญิงไทยมีเวลาทั้งสิ้นไม่ถึง 100 วันที่ได้รับอนุญาตให้ดูแลลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก ซึ่งในความเป็นจริงนับเป็นช่วงเวลาที่น้อยเกินไปสำหรับเด็กแรกเกิดที่ควรจะได้รับจากมารดา
ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง หนึ่งในนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิแรงงาน กล่าวว่า ก่อนที่ประเทศไทยจะปรับกฎหมายให้สิทธิ์ลาคลอดเป็น 90 วัน แรงงานหญิงต้องเผชิญกับความลำบากในการทำงานทั้งช่วงก่อนและหลังการคลอด เมื่อออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มวันลาคลอดยังถูกต่อต้านโดยแรงงานเพศชายหรือแม้กระทั่งกลุ่มแรงงานหญิงด้วยกันเอง และแม้ว่าปัจจุบันกฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้มาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังพบแรงงานมนุษย์แม่จำนวนอีกไม่น้อยที่ต้องทำงานหนักหลังคลอดแม้จะยังเป็นแม่ลูกอ่อน
“คนงานหญิงที่เป็นแม่ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปากท้อง ยิ่งแม่เลี้ยงเดี่ยวยิ่งลำบาก บางคนทำงานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน บางครั้งก็ทำวันอาทิตย์ด้วย”
ขณะเดียวกัน การคลอดบุตรถูกผลักให้เป็นภาระเฉพาะของฝ่ายหญิง แม้เพศชายจะมีบทบาทและอำนาจมากกว่า ซึ่ง จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นักขับเคลื่อนสิทธิแรงงาน กล่าวว่า ในช่วงแรกเริ่มของการเคลื่อนไหวเพื่อกฎหมายลาคลอด 90 วัน ถูกคัดค้านจากกลุ่มนายทุนและชนชั้นนำด้วยเหตุผลว่า หากขยายเวลาการลาคลอดอาจทำให้แรงงานหญิงอยากมีลูกหลายคนเพื่อให้ได้สิทธิลาคลอดและได้รับเงินชดเชย จะเด็จระบุว่า เมื่อได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแรงงานหญิงแล้วพบว่า เหตุผลดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในช่วงเวลานั้น ทั้งยังเป็นแนวคิดที่ผลักภาระให้แก่แรงงานเพศหญิงอย่างมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรจะผลักดันให้เพศชายผู้เป็นพ่อได้ลาหยุด เพื่อช่วยเลี้ยงลูกเช่นเดียวกันกับเพศหญิงที่เป็นแม่
เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้เป็นแม่ควรให้นมบุตรตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรให้นมต่อเนื่องไปจนบุตรอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น เพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงของลูก รวมไปถึงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ของแม่และทารก ระยะเวลาของการลาคลอด 98 วัน เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่แรงงานแม่ควรได้ใช้กับลูกเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ประเทศไทยขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน เพื่อให้แม่ ลูก รวมไปถึงพ่อ ได้มีเวลาปรับตัวร่วมกัน
“การต่อสู้ดำเนินมา 30 ปีแล้ว แม่ยังได้วันลาแค่ 98 วัน ซึ่งเป็นขั้นต่ำ ทั้งที่จริงควรได้ 180 วัน เมื่อมองในแง่ของการอยู่ร่วมกันในช่วงให้นมลูก แม่ก็ควรได้เลี้ยงลูกของตัวเองด้วย นั่นรวมไปถึงความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก ความผูกพันระหว่างพ่อลูก ไม่ใช่แค่แม่”
ความเหลื่อมล้ำสูง-ค่าแรงต่ำ แรงงานไทยยุคใหม่จึงไม่อยากมีลูก
ภาระของแรงงานผู้เป็นพ่อแม่คือ ค่าใช้จ่ายในทุกก้าวย่างการเติบโตของลูกน้อย ในขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายเพื่อการมีชีวิตอยู่ของตัวเองด้วย แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเป็นที่มาของค่าแรงที่ไม่เพียงพอและสวัสดิการที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้แรงงานชายหญิงต้องผละตัวจากการเลี้ยงดูลูกมาทำงานให้หนักขึ้น ความพะว้าพะวังที่ไม่อาจแบ่งเวลาให้อย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างเต็มที่ จึงส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไปด้วย
สกุณา สาระนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดสกลนคร มองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมศักยภาพทั้งความรู้และเทคโนโลยีเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด
“รัฐไม่ได้ช่วยเหลือให้พ่อแม่ที่เป็นแรงงานได้รู้สึกสบายใจ เด็กๆ ไม่ถูกส่งเสริมด้านการพัฒนาทั้งทางกายและทางใจ สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นความกังวลของพ่อแม่ในชนบท อีกทั้งครูที่มีคุณภาพถูกดูดไปในเมือง และรัฐไม่ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนในชนบทเติบโต ภาระการเงินของพ่อแม่จึงเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องส่งลูกไปเรียนในเมือง”
สกุณาระบุว่า รัฐควรผลักดันงบประมาณสู่ท้องถิ่นเพื่อเติมศักยภาพให้ประชาชน สนับสนุนการศึกษาทั้งโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ทั้งยังต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักถึงการส่งเสริมให้พนักงานเลี้ยงดูบุตรอย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่เพียงกลุ่มแรงงานที่กำลังสร้างตัวเพื่อปากท้องของครอบครัวเท่านั้น หากแต่แรงงานรุ่นใหม่ที่ยังไม่พร้อมมีบุตรก็มีเหตุปัจจัยมาจากรากปัญหาความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างในสังคมเช่นกัน ประเด็นนี้ จะเด็จ เชาว์วิไล ได้ให้ความเห็นเพิ่มว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อย เพราะสวัสดิการ ค่าแรง แม้กระทั่งจำนวนวันลาที่ควรได้ ไม่เพียงพอที่จะจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูก หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มแรงงานที่ดีขึ้น ก็อาจช่วยให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูกมากขึ้น และช่วยให้กลุ่มแรงงานพ่อแม่สามารถทำงานไปพร้อมกับการเลี้ยงลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพิ่มสิทธิแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ
การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของแรงงานไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ประเด็นที่ครอบคลุมถึงคุณภาพชีวิตและสวัสดิการ นอกเหนือจากประเด็นของแรงงานผู้มีบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่
นอกจากนี้ วงเสวนายังกล่าวถึงการผลักดันนโยบาย ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ ของพรรคเพื่อไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเพศของประชาชนไทยผู้มีประจำเดือน รวมถึงวันลาปวดประจำเดือนในแรงงานหญิงที่กำลังพิจารณาว่า ควรจะผลักดันให้เป็นวาระที่แยกออกจากวันลาป่วยทั่วไป ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของเพศหญิง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกฎหมายการสมรสเท่าเทียม เพื่อกลุ่มแรงงานที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถถือครองและแบ่งทรัพย์สินตามกฎหมายกับคู่รักได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรตระหนักถึงในยุคสมัยที่สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายแง่มุม
สกุณา ยังกล่าวปิดท้ายว่า ผู้หญิงเองก็เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม ท้ายที่สุดแล้วผู้หญิงไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่าโอกาสในการแสดงศักยภาพของการเป็นแรงงาน เป็นแม่ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นประชากรของโลกใบนี้
ฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่:
‘เป็นพ่อแม่ด้วย ทำงานด้วย มันเหนื่อยมากเลยนะ?’