วันที่ 2 ของ VIPA Film Festival เทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ จัดโดย Thai PBS และ Documentary Club ได้นำภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง May I Quit Being a Mom!? (2020) มาฉาย โดยสะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเด็นเรื่อง ‘มนุษย์แม่’ และหยิบจับมาขยายปมปัญหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านวงเสวนาในหัวข้อ ‘วิถีมนุษย์แม่ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อลูก วิธีรับมือเชิงปัจเจก และแนวทางแก้ไขในเชิงโครงสร้าง’ กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินรายการโดย พนิตชนก ดำเนินธรรม
WAY ชวนผู้อ่านมาร่วมสำรวจวิถีชีวิตที่คนเป็นแม่จะต้องรับมือกับสารพัดปัญหา กระทั่งต้องเอ่ยปากตั้งคำถามถึงสถานะของตนเองว่า “ฉันจะลาออกจาการเป็นแม่ได้ไหม” จากการถกความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวงเสวนา
แรงกดดันของการเป็น ‘แม่’ ในบริบทสังคมไทย
ผู้ดำเนินรายการเปิดประเด็นด้วยการเปรียบเทียบบริบทความเป็นแม่ในประเทศไทยที่ไม่ได้ถูกสังคมกำหนดบทบาทว่าต้องเป็น ‘แม่ฟูลไทม์’ แบบสังคมญี่ปุ่นที่สะท้อนออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่กลับมีบางอย่างเชื่อมโยงกันในแง่ที่ต้องรับมือกับสภาวะอันหนักหน่วง โดยตั้งคำถามย้อนกลับมามองบริบทในเมืองไทยว่าคนเป็นแม่ต้องพบเจอกับปัญหาอะไรบ้าง
ณัฐยาให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอมุมมองทางบวกที่สามีใช้สิทธิลางานมาช่วยเลี้ยงลูกแบบฟูลไทม์ จึงทำให้เข้าใจถึงความเหน็ดเหนื่อยของคนเป็นแม่ แม้ว่าสถิติการใช้สิทธิดังกล่าวในญี่ปุ่นจะมีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ขณะที่ประเทศไทยก็มีนโยบายลักษณะนี้สำหรับข้าราชการ และสถิติการใช้สิทธิอยู่ในระดับต่ำมากเช่นเดียวกัน โดยณัฐยากล่าวว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นกรอบกำหนดบทบาทความเป็นพ่อและแม่ด้วย จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่
ส่วนมุมมองทางด้านจิตวิทยา ผศ.ดร.ณัฐสุดา เชื่อว่าภาวะความกดดันในฐานะคนเป็นแม่ไม่ค่อยแตกต่างกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น แต่ปัจจัยทางวัฒนธรรมย่อมแตกต่างกัน สังคมไทยในบางครอบครัวมีลักษณะเป็นเชิงเดี่ยว แต่มีอีกไม่น้อยที่การเลี้ยงลูกเป็นการสนับสนุนกันแบบครอบครัวใหญ่ ที่คนเลี้ยงดูมีมากกว่าพ่อหรือแม่
อย่างไรก็ตาม การเป็นแม่ไม่ใช่แค่การทำหน้าที่ แต่คือการแปรเปลี่ยนที่สะเทือนความเป็นตัวตนกับการดูแลคนหนึ่งคน ปลายทางของตัวตนที่คนเป็นแม่พัฒนาไปพร้อมกับการเลี้ยงลูก สุดท้ายต้องแยกจากในวันที่ลูกมีชีวิตของตัวเอง ดังนั้นภายใต้ตัวตนที่หล่อหลอมมาจากบทบาทความเป็นแม่ คนเป็นแม่จึงต้องพยายามปรับตัวกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นให้ได้
ถ้าวันหนึ่งการเป็น ‘แม่’ ในสังคมไทยถูกยอมรับว่าเป็นงาน
“ก่อนหน้านี้เคยเข้าใจว่า…การที่ผู้หญิงจะต้องยุติบทบาททางเศรษฐกิจเพื่อมาเลี้ยงลูกเต็มเวลา เป็นอาชีพอย่างหนึ่งรัฐควรจะต้องมีค่าตอบแทน มีเงินอุดหนุนเข้าไปสนับสนุน” ณัฐยากล่าวขึ้นหลังจากผู้ดำเนินรายการถามถึงระบบการสนับสนุนหากมองว่าแม่เป็นงาน
“แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเข้าใจแล้วว่า แค่เงินอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องมีการสนับสนุนด้านอื่นด้วย อย่าลืมว่าประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำสูง ตอนนี้เด็กในประเทศไทย 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ระดับที่ต้องรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องพูดเรื่องระบบสนับสนุนอื่นๆ ด้วยที่ไม่ใช่แค่เงิน”
ณัฐยาได้เสนอว่า รัฐไทยซึ่งตอนนี้จะต้องรับมือสังคมสูงวัย คนเกิดน้อยลง และกำลังจะสูญเสียคุณภาพประชากร ยิ่งต้องเพิ่มการลงทุนกับเด็กให้มากขึ้น เพราะพลเมืองเหล่านี้จะเติบโตและผลักดันให้สังคมสูงวัยไปรอด รัฐจึงต้องเพิ่มการลงทุน และมีเงินอุดหนุนอย่างเต็มที่
ทว่ายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากประเทศอื่น แม้กระทั่งญี่ปุ่นเองก็ตามที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเด็ก โดยมีการยกระดับมุ่งเป้าไปที่การสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับเด็ก เนื่องจากมีการสำรวจความเห็นพลเมืองในหลายประเทศ ว่าสภาพแวดล้อมในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เอื้อต่อการมีลูกหรือไม่ พบว่าพลเมืองญี่ปุ่นเพียงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตอบว่าสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการมีลูก ประกอบกับอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ญี่ปุ่นจึงได้ประกาศเปลี่ยนทิศทางสังคมให้เอื้อต่อการมีลูกและเป็นมิตรกับเด็กมากยิ่งขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่ญี่ปุ่นตั้งใจจะปรับเปลี่ยนคือประเด็นเชิงวัฒนธรรม โดยได้เล็งเห็นว่าบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมจะต้องถูกจัดการใหม่เพื่อไม่ให้ผู้หญิงแบกรับภาระคนเดียว จนถึงขนาดที่บางคนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า จึงเป็นที่มาว่าทำไมระบบสนับสนุนจึงสำคัญ ซึ่งณัฐยาเน้นย้ำว่า “มันต้องมากกว่าการยอมรับว่าการเป็นแม่ คืองานที่ต้องได้เงิน”
‘ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด’ จนถึง ‘โรคซึมเศร้าหลังคลอด’
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวว่า สถิติจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ชี้ให้เห็นว่า หญิงมีครรภ์ 50-80 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ผนวกกับความกังวลในการเลี้ยงลูก และภาพเพอร์เฟกต์ต่างๆ ที่คุณแม่ถูกยัดเยียด ดังนั้นจึงเกิดผลกระทบต่อภาวะอารมณ์ความรู้สึกได้ ทำให้มีความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจ มีความรู้สึกว่าเราไม่สามารถจัดการได้ เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน
สิ่งที่จะต้องดูแลคือไม่ให้ข้ามจาก ‘ภาวะซึมเศร้า’ ไปเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ งานวิจัยในไทยมีข้อบ่งชี้ว่า ตัวช่วยที่จะไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้มากที่สุดคือ การรับรู้ถึงการสนับสนุนทางจิตใจจากสามี ซึ่งการให้ความรู้ในเรื่องโอกาสการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะช่วยให้ทั้งตัวคุณแม่และคุณพ่อ รวมถึงคนใกล้ตัวทุกคนเข้าใจและเตรียมรับมือได้ทัน
“แต่ตอนนี้ที่เรากำลังพูดเรื่องโรคซึมเศร้าหลังคลอด ในสังคมไทยเรามักจะพูดหลังจากการเกิดเหตุร้ายไปแล้ว” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมฟังเสวนา และเสนอแนะว่าหากมีการให้ความรู้เรื่องนี้ในระหว่างเข้าคอร์สอบรมคุณแม่ จะเป็นจุดที่ดีที่จะช่วยให้เข้าใจและดูแลตัวเองได้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่ออีกว่า มีอีกหนึ่งเรื่องที่ส่งผลต่อโรคซึมเศร้าหลัง
คลอด คือการรับรู้ว่าเราสามารถเลี้ยงลูกได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ “ถ้าจะตอบในฐานะนักจิตวิทยา มาตรฐานที่ดีที่สุดคือสิ่งที่คุณแม่ทำได้ตอนนั้น ทำเต็มที่ เอาภาพเพอร์เฟกต์ออก เพราะมันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์กับการเลี้ยงลูก” พร้อมกับเน้นย้ำถึงการสร้างระบบสนับสนุนจากคนรอบข้างก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
สังคมไทยกับการสร้างระบบสนับสนุนเชิงโครงสร้าง
ในเชิงปัจเจกเราอาจจะพอรับรู้ถึงการสนับสนุนจากคนรอบข้างได้ แล้วถ้าหากเรามองไกลไปกว่านั้น มองไปถึงในเชิงโครงสร้าง ในเชิงการสนับสนุนและการให้บริการจากภาครัฐ เราจะรับรู้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร เป็นคำถามที่ผู้ดำเนินรายการได้ถามขึ้นหลังจากวงเสวนาพูดคุยเรื่องระบบสนับสนุนมาระยะหนึ่ง
ในส่วนของระบบการสนับสนุนทางสุขภาพจิต ผศ.ดร.ณัฐสุดา ให้ข้อมูลว่าสามารถติดต่อกับแหล่งช่วยเหลือสายด่วนสุขภาพจิตต่างๆ ทั่วไปได้ทันที แต่สิ่งที่น่าคิดต่อและน่าเป็นกังวลคือ ในสังคมไทยยังมีแนวความคิดที่กลัวการปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ มีภาพจำว่าตนเองมีปัญหา ซึ่งต้องปรับมุมมองความคิดใหม่ว่า มันไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอจึงต้องมองหาความช่วยเหลือ แต่มันคือภาวะหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้
อย่างไรก็ตาม แหล่งความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากปัจจุบันการรักษาทางจิตเวชต้องรอคิวกันอย่างยาวนาน ดังนั้นหากมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ช่วงกำลังตั้งครรภ์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะข้ามเส้นไปสู่โรคซึมเศร้าหลัง คลอดได้ ซึ่งไม่ใช่การสร้างกลไกใหม่ แต่เป็นการเพิ่มการดูแลจิตใจเบื้องต้นของคนที่กำลังจะเป็นแม่
ทางด้าน ณัฐยา เสริมว่า กำลังคนทางด้านสาธารณสุขของไทยมีไม่เพียงพอ และในกำลังคนที่มีไม่เพียงพอก็ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ดังนั้นเจตจำนงทางการเมืองต้องเข้ามาตัดสินใจว่า ‘สังคมเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ และจน’ จะต้องเดินทางไหน
พร้อมกับยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เป็นสังคมเกิดน้อย แต่ไม่ด้อยคุณภาพ และมีมาตรการต่างๆ ที่ช่วยทำให้การมีลูกเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถไปถึงจุดที่จะมีอัตราการเกิดที่ไม่สั่นคลอนความมั่นคงของสังคมได้
“ประเทศไทยก็ต้องกลับมาพิจารณาว่า แทนที่จะถกเถียงกันเรื่องเพิ่มเงินอุดหนุนเพียงอย่างเดียว ต้องมองทั้งระบบหรือไม่ นโยบายทุกตัวมองความเป็นแม่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นแม่ในยุคที่เราเป็นสังคมเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ และจนเช่นนี้ เพราะทุกวันนี้แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่จะต้องปรับฐานคิดของนโยบายกันใหม่ ไม่อย่างนั้นระบบสนับสนุนก็คงจะต้องตันอยู่อย่างนี้” ณัฐยากล่าว
ก้าวข้ามบาดแผลทางใจที่เลือกไม่ได้ของคุณแม่
พาร์ทหนึ่งในภาพยนตร์ May I Quit Being a Mom!? ได้เล่าถึงบาดแผลทางจิตใจของคุณแม่หลายท่าน ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลต่อความคิด และการแสดงออกต่อลูก จึงเกิดคำถามในระหว่างการเสวนาว่า เมื่อเราเลือกไม่ได้ว่าจะมีต้นทุนทางใจอย่างไร แล้วเราจะก้าวข้ามและเดินต่อไปได้อย่างไร
ผศ.ดร.ณัฐสุดา อธิบายว่า ทางจิตวิทยาจะมีการใช้คำว่า ‘primary caregiver’ หมายความถึงผู้เลี้ยงดูคนแรกของชีวิต ซึ่งจะส่งผลต่อการรับรู้ตัวเรา ถ้าความสัมพันธ์แรกในชีวิตสั่นคลอน เช่น เกิดการตั้งคำถามถึงความรักที่แม่มีต่อตนเอง หรือกระทั่งตั้งคำถามต่อการเลี้ยงดู ชุดความคิดเหล่านี้จะถูกใช้ต่อเนื่องเมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งทางใจในอนาคต ไม่ว่าจะในรูปแบบของคนรัก หรือเมื่อมีลูกก็ตาม
“มันคุ้มค่าที่สุดที่จะดูแลหัวใจของคนที่ดูแลเด็ก มันคือการที่เขากำลังสร้างอนาคตของประเทศ ความสัมพันธ์เริ่มต้นที่ดีจะส่งผลในระยะยาวของชีวิต” เริ่มจากการตระหนักรู้ว่ามีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ทำให้ไม่กล้าแสดงความรักต่อลูก ต่อด้วยการมองเห็นคุณค่าของคนข้างๆ ซึ่งก็คือลูก จากนั้นก้าวข้ามความรู้สึกที่เคยปิดกั้นตัวเองออกมา เหล่านี้จะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์และก้าวข้ามบาดแผลทางใจได้ ผศ.ดร.ณัฐสุดา ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการ
ระหว่างการเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟังในร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งผู้ฟังท่านหนึ่งลุกขึ้นร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะของคนที่เป็นแม่ถึงเรื่องที่ได้รับรู้มาว่า ในต่างประเทศคนเป็นแม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการดูแลในรูปแบบต่างๆ จึงตระหนักได้ว่าแท้จริงแล้วมันเป็นปัญหาระดับปัจเจกที่รัฐเข้ามาแก้ไขได้ในระดับลึกซึ้ง เลยทำให้คาดหวังกับสังคมไทยว่าควรจะมีนโยบายออกมาสนับสนุนสิ่งเหล่านี้
ทางด้าน ณัฐยา เมื่อได้ฟังความเห็นของคุณแม่ท่านนี้ จึงหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดต่อว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง กลุ่มประเทศร่ำรวยจึงเพิ่มการลงทุนเพื่อให้การมีลูกเป็นเรื่องที่ไม่ลำบาก ในที่สุดก็พบว่าการเพิ่มการลงทุนจะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดได้เพียงเล็กน้อย จึงไปปรับเรื่องของบทบาทหญิงชาย คือการเพิ่มสวัสดิการที่ไม่ได้มองเจาะจงไปที่แม่อย่างเดียวเท่านั้น แต่มองถึงการเป็นพ่อด้วยเช่นเดียวกัน
ความหวังกับการเป็น ‘แม่’ ในประเทศไทย
หากมองนโยบายช่วงหาเสียงของหลายพรรคการเมืองช่วงก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลักๆ มีนโยบายที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของเด็กที่ดี “ทั้งนี้ทั้งนั้นจะบอกว่าเป็นความหวังได้ไหม ก็เดี๋ยวลองดูว่ารัฐบาลที่ได้มาจะหน้าตาเป็นอย่างไรแล้วจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หรือไม่” นอกจากนี้ ณัฐยา ยังชี้แนะว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้าที่เราจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aging society) การลงทุนในเด็กจะมีความคุ้มค่าทั้งในเชิงงบประมาณ และในเชิงผลลัพธ์
ในส่วนของ ผศ.ดร.ณัฐสุดา ตอบในฐานะปัจเจกว่า ตัวเองเชื่อเสมอว่าการสร้างวัฒนธรรมของสังคม ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นได้ แต่หากเราหนึ่งคนสามารถทำลายแบบแผนของตัวเองได้ แล้วรวมกันหลายคน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงมหภาคได้เช่นกัน