สื่อพลิกผันในสถานการณ์พลิกขั้ว: อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสื่อมวลชนบนความขัดแย้งทางการเมือง

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองตลอดเกือบทศวรรษ ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สื่อมวลชนล้วนต้องเผชิญกับภัยคุกคามนานาประเภท ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางกฎหมาย การปิดกั้นสื่อโดยใช้อิทธิพลต่างๆ การสอดแนม จนถึงการคุกคามในระดับรุนแรงถึงชีวิต จนมาถึงการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน สถานการณ์ที่สื่อมวลชนเผชิญจะเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

26 กันยายน 2566 สำนักข่าวประชาไทจัดเวทีเสวนาสาธารณะ ‘สื่อพลิกผันในสถานการณ์พลิกขั้ว’ นำเสนอภาพการทำงานของสื่อมวลชนภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2557-2566 โดยมีการนำเสนอทั้งบทบาทของสื่อท่ามกลางความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น เสรีภาพและสวัสดิภาพของคนทำสื่อ และการสอดส่องออนไลน์โดยรัฐ

เมื่อสื่อยังคงถูกคุกคามท่ามกลางการทำข่าวการชุมนุม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา ผู้ช่วยวิจัยในโครงการวิจัยหัวข้อ ‘สื่อในการรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ. 2557-2565)’ เผยสถิติจากการศึกษาการทำข่าวของนักข่าวภาคสนาม ผ่านการชุมนุมใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย 5 ครั้ง โดยเริ่มต้นที่ 

  1. เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 
  2. การชุมนุมของกลุ่มประชาชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2548-2551 
  3. การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ปี 2552-2553
  4. การชุมนุมของ กปปส. ปี 2556-2557 
  5. 5) การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อปี 2563-2564

จากการศึกษาผ่านการชุมนุมใหญ่ทั้ง 5 ครั้ง ซึ่งกินเวลาเกือบ 30 ปี สื่อมวลชนที่เคยทำงานในเหตุการณ์เหล่านี้ให้คำตอบใกล้เคียงกันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม มีท่าทีรุนแรงและสอดส่องผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดในการชุมนุมช่วงม็อบราษฎรในปี 2563-2564

ส่วนเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช. ในปี 2552-2553 แม้จะมีการเสียชีวิตของนักข่าวต่างประเทศ 2 คน รวมไปถึงยังมีสื่อได้รับบาดเจ็บจากอาวุธหนักอีกจำนวนหนึ่ง แต่ในการไต่สวนศาลกลับไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่แอบแฝงเข้ามา ทำให้เสรีภาพสื่อในช่วงเวลานั้นตกต่ำมาก และถึงจะมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคนจากเหตุการณ์ แต่ในปัจจุบันก็ยังไร้ข้อเท็จจริงว่าความรุนแรงดังกล่าวเกิดจากอะไร 

รูปแบบการปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนในการชุมนุมที่ภาครัฐนิยมใช้มากที่สุดคือ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าควบคุมสถานการณ์เมื่อมีคนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุม รวมไปถึงใช้วิธีสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ส่วนรูปแบบการปิดกั้นการทำงานของรัฐที่มีการใช้ความรุนแรง คือช่วงการชุมนุมของ นปช. ที่รัฐมีปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธหนักที่ส่งผลต่อสื่อมวลชนด้วย

กรณีที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ในช่วงม็อบราษฎรปี 2563-2564 ที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่ในเนื้อหาการชุมนุม ทางภาครัฐจึงมีการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติบอกว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เพื่อเอามาใช้ในการขอความร่วมมือไม่ให้สื่อวิทยุโทรทัศน์รายงานเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ส่งผลทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวของสื่อที่จะรายงานข่าวการดำเนินคดี ม.112 กับนักกิจกรรมทางการเมืองในเวลานั้น

พรรษาสิริ มีข้อสังเกตต่อสถานการณ์การปิดกั้นการทำงานของสื่ออยู่ 3 ประเด็น

  1. ไม่มีการบันทึกการใช้ความรุนแรงและการปิดกั้นสื่ออย่างเป็นระบบ ทำให้ที่ผ่านมามองไม่เห็นรูปแบบของการคุกคามสื่อและการคุกคามสื่อ และถูกมองว่าเป็นเรื่องของลูกหลงหรือปัญหาของปัจเจกที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเอง ทำให้ไม่เกิดโครงสร้างในการระวังป้องกันความรุนแรงได้ โดยเฉพาะความรุนแรงจากรัฐ
  2. การตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นระบบของภาครัฐ ทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด เมื่อมีสื่อมวลชนฟ้องร้องดำเนินคดีก็ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ชัดเจน
  3. อุตสาหกรรมสื่อยังขาดการคุ้มครองแรงงาน และการเยียวยาผลกระทบจากการทำงาน อุตสาหกรรมสื่อไม่ส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงาน เมื่อไม่เกิดการรวมตัว คนทำงานจึงไม่มีอำนาจต่อรอง ปัญหาความรุนแรงและการคุกคามสื่อจึงถูกมองว่าเป็นปัญหาของปัจเจก 

จุฑารัตน์ ในฐานะผู้ช่วยวิจัยนำเสนอเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แม้จะมีการฝึกอบรมเพื่อป้องกันความรุนแรง เช่น การปฐมพยาบาล การดูแลสภาพจิตใจหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง แต่เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง เช่น กรณีที่นักข่าวประชาไท ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ โดนลูกหลงจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ แต่กลับถูกรอง ผบ.ควบคุมฝูงชน ในเวลานั้น กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องแล้ว แต่นักข่าวเองที่ไม่ระมัดระวังและไปยืนอยู่ผิดจุดเอง ส่งผลต่อการสืบสวนสอบสวนที่ไม่คืบหน้า ในที่สุดศาลแพ่งก็ยกฟ้อง ทั้งที่ไม่มีการไต่สวนข้อเท็จจริง

เมื่อการขู่ฟ้องร้องคือเครื่องมือคุกคาม และคนวงการสื่อมองเป็นเรื่องปกติ

ต่อมา ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PFMSea) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อติดตามสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชน ได้นำเสนอในหัวข้อ ‘เสรีภาพและสวัสดิภาพสื่อ: จากสื่อออนไลน์ถึงสตริงเกอร์ ตจว.’ ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2565 ถึง กันยายน 2566 ครอบคลุมคนทำงานสื่อมวลชนที่มีสังกัด สตริงเกอร์ที่ทำข่าวส่งจากจังหวัดต่างๆ สื่อพลเมือง รวมถึงคนทำเพจเฟซบุ๊กและยูทูบเบอร์ ไปจนถึงผู้ที่ทำงานด้านข้อมูลข่าวสารที่เป็นแหล่งข้อมูล เช่น iLaw และ Thai Netizen กลุ่มนี้แม้จะไม่ใช่สื่อโดยตรง แต่เป็นผู้ให้ข้อมูลกับสื่อ และได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

การคุกคามสื่อแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ การทำร้ายร่างกายและติดตามข่มขู่คุกคาม 8 กรณี คุกคามทางวาจาหรือด้อยค่า 7 กรณี การฟ้องร้องหรือขู่ว่าจะดำเนินคดี 11 กรณี ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 1 กรณี และอื่นๆ 2 กรณี

กรณีการข่มขู่คุกคามและการทำร้ายร่างกายโดยทั่วไปที่ไม่ใช่สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองนั้น นักข่าวในต่างจังหวัดหรือสตริงเกอร์มักถูกกระทำรุนแรงมากกว่าสื่อในพื้นที่กรุงเทพฯ 

ส่วนในบางกรณีก็มีการคุกคามสอดส่องสื่อมวลชนโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง เช่น กรณีช่างภาพของ Spacebar ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเฝ้าติดตามถึงที่พัก ซึ่งตำรวจที่มาปฏิบัติการชี้แจงว่า ช่างภาพคนดังกล่าวเป็นบุคคลที่อาจมีการกระทำกระทบความมั่นคง

รูปแบบการดำเนินคดีหรือขู่ดำเนินคดี พบว่าเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้บ่อยมากที่สุด โดยในไทยก็มีกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขู่ว่าจะฟ้องสื่อติดกันถึง 3 ครั้ง เหตุด้วยจากการนำเสนอข้อมูลที่ผิด แม้หนึ่งครั้งจะเป็นข้อมูลที่ผิดจากทาง กกต. เองก็ตาม กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าในเวลาที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ให้ข้อมูลผิดเองกลับไม่มีการลงโทษหรือต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในการเฝ้าระวังการคุกคามสื่อของโครงการยังมีข้อจำกัดอยู่คือ สามารถนับข้อมูลได้เฉพาะที่มีการรายงานข่าวและมีหลักฐานชัดเจนเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์การคุกคามสื่อก็มีการคุกคามอย่างการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ เพราะกลัวผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งก็ต้องนับรวมด้วย แต่มักจะไม่ปรากฏข่าวออกมาให้เห็นแม้ว่าจะเกิดค่อนข้างบ่อย

ธีรนัยทิ้งท้ายว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญ คือทัศนคติของคนทำงานสื่อเอง ซึ่งไม่ได้มองว่าตัวเองถูกคุกคาม แต่กลับมองว่าการถูกข่มขู่ คุกคาม การถูกพูดจาด้อยค่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอในการทำงาน ซึ่งเป็นทัศนคติที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่คนทำงานสื่อยุคเก่า ขณะเดียวกัน นิยามคำว่า ‘คุกคาม’ ก็มีความคลุมเครือ เช่น หากสื่อรายงานข่าวอย่างบิดเบือน ประชาชนที่เป็นเหยื่อจะสามารถฟ้องดำเนินคดีได้หรือไม่ หรือการที่สื่อถูก ‘ทัวร์ลง’ กรณีเหล่านี้จะถือว่าเป็นการคุกคามสื่อหรือไม่

การสอดส่องของรัฐ สร้างบรรยากาศความกลัว จนคนทำสื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย iLaw นำเสนอหัวข้อ ‘การสอดส่องออนไลน์ และความคืบหน้าคดีเพกาซัส’ โดยเขากล่าวว่าที่ผ่านมาเรื่องการสอดแนมทางออนไลน์เคยเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดเท่านั้น เพราะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่เมื่อพบว่าสปายแวร์เพกาซัส (Pegasus) ถูกนำมาใช้กับนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักการเมืองในไทยถึง 35 คน จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐไทยมีความสามารถพอที่จะใช้สปายแวร์สอดส่องประชาชน 

ในการตรวจสอบหาสปายแวร์ดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบพบได้ในสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แต่จะตรวจสอบพบได้ในสมาร์ทโฟนระบบ IOS อย่าง iPhone เท่านั้น และยังไม่สามารถตรวจสอบสมาร์ทโฟนของสื่อมวลชนที่ไม่อยู่ในเครือข่ายการทำงานของ iLaw ได้

ข้อจำกัดอีกประการคือการดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งยากจะระบุว่าใครเป็นคนทำ เพราะไม่รู้ว่ามีหน่วยงานรัฐใดบ้างที่มีสปายแวร์ตัวนี้นอกจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จากข้อจำกัดดังกล่าว iLaw และเครือข่ายจึงร่วมกับผู้เสียหายที่พบสปายแวร์ดังกล่าวในสมาร์ทโฟนของตน รวมตัวกันฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทในอิสราเอลชื่อ NSO ที่เป็นผู้ผลิตสปายแวร์ดังกล่าวและจะขายให้กับรัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยฟ้องต่อศาลแพ่งของไทย แต่ศาลไม่รับฟ้องโดยให้เหตุผลว่า ผู้เสียหายถูกกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นคนละความผิด ต้องแยกฟ้อง จึงมีการฟ้องร้องใหม่อีกครั้งแยกกันคนละคดี โดยความคืบหน้าในปัจจุบันศาลแพ่งได้มีหมายศาลไปถึงบริษัท NSO แล้ว 

รัชพงษ์มีข้อสังเกตว่า คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ศาลยังไม่มีการพิจารณาลงไปในเนื้อหาของคดีว่ามีสปายแวร์นี้อยู่จริงหรือไม่ แต่เป็นเรื่องเทคนิคกฎหมายในการพิจารณาไม่รับฟ้องเป็นคดี

การที่รัฐนำสปายแวร์นี้เข้ามาใช้ ทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวขึ้นในสังคม และส่งผลโดยตรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าเจ้าหน้าที่อาจรู้ข้อมูลของนักกิจกรรมและเข้าควบคุมหรือสกัดกั้นการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเป็นการกระทบต่อเสรีภาพได้ เช่นเดียวกันก็อาจกระทบกับเสรีภาพของสื่อมวลชนได้เช่นกัน เพราะสื่ออาจถูกคุกคาม ถูกห้ามนำเสนอ เนื่องจากฝ่ายรัฐสามารถสอดส่องได้ว่ากำลังจะนำเสนอเรื่องอะไร หรืออาจใช้กำลังเข้าข่มขู่คุกคามสื่อ เมื่อทราบจากการสอดส่องว่าสื่อกำลังตรวจสอบหรือขุดคุ้ยเรื่องอะไรอยู่

ทั้งหมดนี้นำไปสู่บรรยากาศความกลัวจนทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ ไปจนถึงผู้ให้ข้อมูล (Whistleblower) ก็อาจหวาดกลัวที่จะให้ข่าวกับสื่อ เพราะอาจถูกติดตามหรือถูกคุกคามได้

เสรีภาพสื่อจะเป็นอย่างไร ในยุครัฐบาลเศรษฐา

ในช่วงหนึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาตั้งคำถามว่า เสรีภาพสื่อและสถานการณ์สื่อจะเป็นอย่างไร เมื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย ซึ่งนำโดยเศรษฐา ทวีสิน แม้ผู้นำเสนอทั้ง 4 จะมีความเห็นตรงกันว่ารัฐบาลชุดนี้เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน อาจเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ แต่ก็มีข้อเสนอสู่รัฐบาลชุดใหม่ที่หากนำไปปฏิบัติได้จะช่วยให้สถานการณ์การคุกคามสื่อลดลง หรือเพิ่มเสรีภาพให้แก่สื่อมากขึ้น

ธีรนัยฝากถึงรัฐบาลใหม่ว่า รัฐควรมีการแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการปกป้องสิทธิและให้คุณค่าต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และหน่วยงานรัฐต่างๆ ก็ควรจะปรับท่าทีต่อสื่อไปในทิศทางเดียวกัน

photo: ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ | ThaiNewsPix

ทางด้านจุฑารัตน์กล่าวเสริมว่า มาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลควรจะปฏิบัติคือ การไม่ละเมิดและขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะการใช้เหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐมาเป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิ นอกจากนี้รัฐยังต้องส่งเสริมเสรีภาพสื่อเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ด้วย แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพอยู่ได้บ้าง แต่ก็ต้องมี 3 ขั้นตอนที่ต้องนำมาพิจารณาคือ 1) ต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น 2) เมื่อจะใช้ความรุนแรงหรือใช้กำลัง ต้องทำอย่างได้สัดส่วน 3) เมื่อจำกัดสิทธิหรือใช้กำลังแล้วจะต้องมีความรับผิดรับชอบตามมาด้วย 

นอกจากนี้ ควรมีช่องทางให้ประชาชนและสื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายมากกว่านี้ เพราะตอนนี้เป็นเรื่องยากทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย เวลา และสื่อเองก็อาจยังไม่สบายใจที่จะลุกขึ้นมาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ที่ละเมิดสิทธิ 

เช่นเดียวกับพรรษาสิริที่เสนอว่า รัฐบาลต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนก่อนคำนึงถึงเสรีภาพสื่อ หากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อเสรีภาพของประชาชนก็จะส่งผลดีต่อเสรีภาพสื่อตามมาด้วย โดยมองว่าสัญญาณที่ดีที่สุดในการที่รัฐบาลจะรับประกันเสรีภาพสื่อและประชาชนคือ การที่ภาคประชาชนส่งรายชื่อเสนอจัดทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กว่า 200,000 รายชื่อ ซึ่งหากมีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาลก็จะเป็นการรับประกันว่ารัฐบาลเห็นเสียงของประชาชนมีคุณค่า ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรื้อฟื้นสิทธิต่างๆ 

อีกสัญญาณหนึ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ควรแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพก็คือ การพิจารณากฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชน แม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่มีความต้องการแก้ไขตัวกฎหมาย แต่รัฐบาลก็ควรหยิบยกมาพูดคุย ซึ่งจะทำให้เห็นว่าสังคมไทยจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร 

สุดท้ายรัชพงษ์เสนอว่า รัฐบาลใหม่จะต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่มี accountability (ความรับผิดรับชอบ) ซึ่งหมายถึงเมื่อมีการใช้อำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดไปแล้ว จะต้องอธิบายเรื่องนี้กับใคร เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลถูกเปิดโปงเรื่องการใช้สปายแวร์แล้ว แต่กลับไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ามีการสอดส่องประชาชนจริงหรือไม่อย่างไร ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้จะต้องทำให้เกิดการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

photo: ภานุมาศ สงวนวงษ์ | ThaiNewsPix

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า