สืบเนื่องจากการเผยแพร่ “เอกสารฝ่ายPRธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ” ของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าวัดจากกระแสและการแชร์ผ่านโลกสังคมออนไลน์ ก็เท่ากับข่าวชิ้นนี้ได้โยนระเบิดเข้ากลางวงสื่อมวลชน ไม่ใช่เพราะประหลาดใจ ด้วยเป็นเรื่อง “วงใน” ที่มืออาชีพส่วนใหญ่รับรู้กันมานานแล้ว แต่แรงจากระเบิดลูกดังกล่าว กลับจุดไฟให้หลายคนร้อนตัววูบวาบ พร้อมกับตั้งคำถามว่า “เอกสารชุดนี้ได้มาอย่างไร” , “มีฉันหรือไม่” และมีไม่น้อยที่ต้องการดูเอกสารทั้งหมด
ทั้งหมดเป็นคำถามที่ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ เผชิญตลอดหลายวันที่ผ่านมา นับแต่โพสต์ข่าวนี้ลงไป
“เราโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม เวลาสามทุ่ม พอสี่ทุ่มมีโทรศัพท์เข้ามา แจ้งว่าเป็นเจ้าของข้อมูลชุดดังกล่าว ขอให้ลบโพสต์” สุชาดาเล่าในเวทีเสวนา “อำนาจเหนือเกษตรกร อำนาจเหนือสื่อ” ที่จัดโดย TCIJ ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่ออังคารที่ผ่านมา
ก่อนจะย้ำว่าเอกสารชุดดังกล่าว เธอเป็นคนเขียนเองทั้งหมดเนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก จำเป็นต้องเลือกและนำเสนออย่างรัดกุมที่สุด โดยยอมรับว่าได้เอกสารชุดนี้มาสักพักใหญ่แล้ว และก่อนจะนำเผยแพร่ได้ปรึกษาผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นักกฏหมาย สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ ให้ช่วยตรวจสอบในทุกๆ ด้านแล้ว
บรรณาธิการบริหาร TCIJ เผยจุดประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลว่า ในฐานะสื่อหรือ Media เป็น Medium (สื่อมวลชน) ไม่สามารถนั่งดูข้อมูลเหล่านี้ได้เฉยๆ
“ต้องการชี้ให้ทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่แค่สื่อมวลชน เห็นว่า การเน้นการลงทุนกับภาพลักษณ์ นำไปสู่การฉ้อฉล หรือเป็นการคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ผ่านความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติ เช่น ความสนิทสนม ความเกรงใจ เหล่านี้นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองเชิงวัฒนธรรม หมายความว่า การแทรกซึมเข้ามาของฝ่ายประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ และสื่อรู้เท่าทันกลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้ดีอยู่แล้วแต่เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง”
สุชาดา ชวนตั้งข้อสังเกตอีกว่า ที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยมักแข็งขันและตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มงวดเสมอ ตรงกันข้ามกับทุนที่ไม่ค่อยถูกตรวจสอบ
“สุดท้ายผู้บริโภคเอง ทั้งข่าวสารและผลิตภัณฑ์ ต้องรู้เท่าทัน” สุชาดากล่าว
เปิดโปงแล้วเงียบหาย…
หลังจากข้อมูลถูกเผยแพร่ออกไป ข่าวที่ตามมาคือ การออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาขององค์กรธุรกิจ ซึ่งสุชาดาบอกว่า นี่เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการตาม “แพทเทิร์นเดิมๆ” คือ เสนอข่าว – ผู้ตกเป็นข่าวตอบโต้ – ล็อบบี้หรือชักชวนพันธมิตรหรือเครือข่ายต่างๆ ให้ตอบโต้ร่วมกัน – โดดเดี่ยวสื่อที่นำเสนอข่าว – สร้างข้อมูลเท็จขึ้นมากลบ เช่น ทำลายความน่าเชื่อถือ (discredit) ขุดเรื่องราวส่วนตัวออกมาโจมตี – เข้าเจรจากับสื่อที่มีอิทธิพล ให้งดเว้นการนำเสนอข่าวชิ้นนั้นๆ และ ปิดท้ายด้วยการฟ้องร้อง ก่อนที่ข่าวนั้นๆ จะเงียบหายไป
เช่นเดียวกับข่าวชิ้นนี้ที่อาจจะลงท้ายด้วยเงียบหายไป เพราะผลตอบรับที่ได้หลังจากการเผยแพร่ มีแต่การหาทางปกป้องภาพลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือองค์กรธุรกิจ
“เพื่อนๆ สื่อมวลชนด้วยกันมีแต่ถามว่า มีฉันหรือเปล่าๆ พอเราบอกไม่ได้ ก็พยายามคาดคั้นให้ได้ว่ามีหรือไม่มีโดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวสิบๆ ปีมาขอร้อง ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ตัวเองสบายใจ จะได้กลับไปนั่งทำงานแบบเก่าได้ แทนที่จะกลับไปตรวจสอบการทำงานของตัวเอง หรือ ทบทวนว่าที่ผ่านมาดูแลนักข่าวรุ่นน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาดีแค่ไหน เขาถึงต้องไปพึ่งทางลัดอื่นๆ …ไม่มีเลย”
ข้อมูลชุดนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของเอกสารชุดใหญ่ที่ได้มา ไม่เพียงแค่สื่อมวลชนเท่านั้นที่เป็นตัวละครใหญ่ในกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรธุรกิจ แต่ตลอดสายน้ำยังมีอีกหลายตัวละครที่สำคัญ โดยเฉพาะ นักวิชาการ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งโดยไม่รู้ตัวและพร้อมใจ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่สร้างมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้ภาพลักษณ์องค์กร
แต่จะมีการเผยแพร่ข้อมูลชุดต่อไปหรือไม่นั้น สุชาดายังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา เดิมทีตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะไม่มีการเผยแพร่ต่อเพราะผลตอบรับจากเอกสารชุดแรก มีแค่การลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร พล็อตยังคงเดิมเปลี่ยนแค่ตัวละครเท่านั้น
และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน…
“เรื่องนี้สุดทางที่ผู้บริโภค แต่ไม่เคยมีใครกลับไปมองที่ต้นทาง ซึ่งก็คือเกษตรกรเลย เหมือนวัวนมที่ไม่เคยได้รับการดูแล ทุกฝ่ายมัวแต่สนใจกลางทางอย่างสื่อ,ธุรกิจ และปลายทางอย่างผู้บริโภค” ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่รับบทผู้ดำเนินรายการในเวทีเสวนา ตั้งข้อสังเกต
ปอกเปลือก “เกษตรพันธสัญญา”
ย้อนกลับต้นทางที่เป็นต้นเรื่องของเอกสารชุดดังกล่าว คือ เกษตรกรในระบบ Contract Farming หรือ เกษตรพันธสัญญา ซึ่งเป็นระบบที่ถกเถียงกันมานานว่าแท้จริงแล้วผูกขาด เปลี่ยนเกษตรกรให้กลายเป็นทาส หรือ ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยระบบมีออาชีพ จนนำมาสู่เม็ดเงินมหาศาลที่ทุ่มเทให้กับภาพลักษณ์
ทั้งนี้ เกษตรพันธสัญญา คือ ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ “ผู้รับประกัน” ซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า “ราคาประกัน” ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา
ในมุมมอง ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นทั้งปัญหาและทางออก
“ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์อย่าง ไก่ หมู กุ้ง แต่ผักผลไม้อื่นๆ เราก็ทำ Contract Farming กับต่างประเทศ เช่น กล้วย ข้าวอินทรีย์ เพราะเกษตรกรมองว่าเป็นการลดความเสี่ยงให้พวกเขาได้ ผมเองมองว่าส่วนหนึ่งก็ช่วยลดความเสี่ยงได้จริง เปรียบเหมือนหลักประกันค่าตอบแทนที่ชัดเจน แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ใช้เงินมาก ความเสี่ยงจึงสูงตามไปด้วย”
และเนื่องจากสัญญาการทำงานที่ร่างโดยบริษัททั้งหมด รวมถึงให้อำนาจและการตัดสินใจในทุกกรณี ความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดทั้งหลายอย่างภัยธรรมชาติต่างๆ จึงตกแก่เกษตรกร
“ส่วนหนึ่งเกษตรกรได้รับการกดดันกลายๆ จากทางการเมือง เช่น ราชการกำหนดให้เลี้ยงสัตว์ในระบบปิด เกษตรกรจึงจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม เป็นหนี้ระยะยาว ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าราชการมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับภาคธุรกิจ หลายคนเมื่อเกษียณแล้ว ไปรับเป็นที่ปรึกษา กินเงินเดือนของบริษัทเอกชน”
อย่างไรก็ตาม ดร.วิโรจน์ มองว่า ระบบเกษตรพันธสัญญา มีประโยชน์ต่อเกษตรกร ในแง่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น พันธุ์สัตว์ , ระบบการจัดการต่างๆ ยกตัวอย่าง
“ไก่ที่เคยราคาแพงเท่าเนื้อวัว เนื้อหมู ทุกวันนี้กลับราคาถูก เพราะการพัฒนาด้านเทคโนโลยี” มากกว่านั้น เกษตรกรเชื่อว่าการอยู่ในระบบ Contract Farming จะช่วยลัดขั้นตอนต่างๆ ให้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ การกู้เงิน ขอสินเชื่อ และการขยายธุรกิจต่างๆ พร้อมกันนี้ ดร.วิโรจน์ เสนอทางออกที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ว่า ทุกๆ บริษัทควรร่างสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อบังคับใช้ทั่วไป ขณะเดียวกันควรตั้งองค์การกลางหรือหน่วยงานกลางในการดูแล ไกล่เกลี่ยเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตกแต่ง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนี้สวมหมวกอีกใบเป็นชาวนา ให้ความรู้เรื่องเกษตรพันธสัญญาว่า สมัยก่อน ประมาณปี พ.ศ.2520 ประเทศไทยรู้จักกันในชื่อ “เกษตรครบวงจร” ปักธงสำคัญให้เกษตรกรรายย่อยผลิตและส่งออก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
“แต่ความมั่นคงทางอาหารมิตินี้ ได้แค่เชิงปริมาณ แต่ความหลากหลายหายไป โดยเฉพาะการหายไปของเมล็ดพันธุ์ข้าวต่างๆ สัตว์บางสายพันธุ์ ที่แลกกับการที่เราได้กินไก่ราคาถูกลง ได้กินปลาสายพันธุ์ดัดแปลง แต่ถ้าถามผม ผมยังอยากกินปลาหมอ ปลาแขยงอยู่นะครับ” เช่นเดียวกับการกระจายรายได้ ที่เกษตรพันธสัญญากระจายรายได้ไปทั่วถึงแค่เกษตรกรบางกลุ่ม
จึงเป็นที่มาของการลุกขึ้นมาต่อต้านและคัดค้านขององค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอหลายกลุ่ม
“ผมคิดว่าเอ็นจีโอเองก็ไม่ได้ต้องการล้มล้างเกษตรพันธสัญญาไปเสียทั้งหมด แต่เราต้องยอมรับว่าพลังทางการเกษตรส่วนหนึ่งมาจากเอ็นจีโอ โดยเฉพาะพลังการตรวจสอบ พลังการต่อรอง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีของสังคม
และเป็นไปได้อีกหรือไม่ที่เราจะมองเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาว่าเป็นอาชีพหนึ่ง เขาควรจะได้รับสวัสดิการต่างๆ จากสังคม คล้ายๆ กับประกันสังคม ประกันสุขภาพ ที่รัฐเข้ามากำกับดูแล เราและเขาต่างก็ต้องการชีวิตที่พออยู่ได้ ไม่ลำบาก” ผศ.ดร.ประภาส ทิ้งท้าย
……………………………………….
ถึงที่สุดแล้ว สุชาดา ยังยืนยันเหตุผลของการเปิดเผยข้อมูลชุดนี้ว่า ไม่ได้ต้องการบอยคอตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เกลียดชังสื่อมวลชนด้วยกัน เช่นเดียวกับที่ ดร.วิโรจน์ เห็นว่าเกษตรพันธสัญญาไม่มีทางล้มครืน
สำคัญกว่าคือการรู้เท่าทันในฐานะผู้บริโภค การหันกลับมามองบทบาทตัวเองของสื่อมวลชน ตลอดจนการปรับวิธีคิดและแนวทางรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรธุรกิจเสียใหม่ ไม่ปล่อยให้ระเบิดลูกนี้เสียเปล่าไปอย่างที่แล้วมา
*****************************************************
หมายเหตุ : เอื้อเฟื้อภาพโดย ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)