01: ข่าวไม่ปกติของวันธรรมดา
12 ตุลาคม 2559
มันเกือบจะเป็นวันพุธธรรมดาที่ไม่น่ามีหมุดหมายอะไรในปฏิทินแล้ว แต่ข่าวคราวที่ถูกปล่อยออกมาตลอดทั้งวันและอาจหมายรวมถึงวันก่อนหน้า กลับทำให้สถานการณ์บางอย่างทวีความน่าสนใจขึ้นในบัดดล
ตัวเลขในตลาดหุ้นบอกว่า นี่คือวันที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ตลาดหุ้นไทยร่วงอย่างหนัก โดยดัชนีได้ปรับตัวลงมาต่ำสุดของวันนี้ที่ระดับ 1,343.13 จุด ต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน
ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวในขณะนั้นว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงบ่ายนี้เปิดเทรดมาไม่นานก็ร่วงไปกว่า 90 จุด คาดว่าจะเป็นผลจากความกังวลปัจจัยในประเทศเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องรอดูความชัดเจนก่อน[1]
ถ้อยคำดังกล่าวตรงกันในหลายสำนักข่าวที่ระบุว่า อาการของตลาดหุ้นเกิดจากความกังวล ‘ปัจจัยภายในประเทศ’ แต่ทุกสำนักไม่รายงานว่าปัจจัยดังกล่าวคืออะไร
กระนั้นก็มีตัวเลขที่น่าจับตาคือการซื้อขายดัชนีอยู่ในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในช่วงเปิดการซื้อขายช่วงบ่ายดัชนีปักหัวลงไปทำจุดต่ำสุดของวัน ตัวเลขในกระดานพาไปไกลถึง 1,343.13 จุด ลดลง 99.08 จุด หรือ 6.87% ซึ่งใกล้กับระดับเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่จะหยุดการซื้อขายทันทีที่ตลาดหุ้นลดลง 10%
อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้นดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นและมีแรงซื้อขายเข้ามาหนาแน่น ก่อนพาตัวเลขมาปิดตลาดที่ 1,406.18 จุด ลดลง 36.03 จุด หรือ 2.50% กระนั้นก็เป็นดัชนีต่ำสุดในรอบเกือบ 5 เดือน ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 130,152.19 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยก่อนหน้านี้มูลค่าซื้อขายทำจุดสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่ 102,662.94 ล้านบาท ปัจจัยที่ทำให้ตลาดดิ่งเหวคราวนั้นก็เพราะมีข่าวลือบางประการ[2]
ตลาดหุ้นปรับลงแรง เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยกหูรายงานต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับทราบ แต่ก็บอกว่าเป็นการรายงานตามปกติเท่านั้น
‘ปัจจัยภายในประเทศ’ และคำว่า ‘ข่าวลือ’ ถูกใช้อธิบายความผันผวนในตลาดหุ้น โดยไม่มีสื่อสำนักใดให้รายละเอียดมากกว่านี้
เวลา 15.05 น. ของวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รีบเดินทางกลับจากภารกิจที่จังหวัดชลบุรีมายังทำเนียบรัฐบาล และขึ้นไปยังห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าทันที
พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การเดินทางกลับกรุงเทพมหานครเป็นการด่วนของนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่จังหวัดชลบุรีนั้น ไม่ใช่เป็นการยกเลิกการประชุมดังกล่าว แต่มีการมอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน
ส่วนกรณีที่มีข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีจะแถลงข่าวด่วนนั้น ขอยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่มีการแถลงข่าวใดๆ ซึ่งการเดินทางกลับมาจากภารกิจที่จังหวัดชลบุรีเป็นการด่วนนั้น เพื่อเข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายรายงานต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ประชาชนคนไทยมีความเป็นห่วงพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเอกวิลาศ กล่าวว่า ขอให้รอแถลงการณ์จากสำนักพระราชวัง ตนคงตอบอะไรไม่ได้[3]
เวลา 16.00 น. พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐนตรี ออกมากล่าวถึงประเด็นข่าวลือว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีกำหนดแถลงข่าวใดๆ เป็นพิเศษในวันนี้
“ขอพี่น้องประชาชนอย่าให้ความสนใจหรือตื่นตระหนกไปกับข่าวลือในโซเชียลมีเดีย ที่อาจสร้างความวิตกหวั่นไหว ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ จึงอยากขอให้พี่น้องประชาชนเปิดรับข่าวในช่องทางการ ที่มีความถูกต้อง เที่ยงตรง” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว[4]
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ Line ประเทศไทย ได้ออกประกาศเตือนโดยใช้ข้อความว่า
“Line ขอความร่วมมือทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารและส่งต่อข้อมูลที่กล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งอาจนำไปสู่การรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดผ่าน Line ได้”[5]
ส่วนที่โรงพยาบาลศิริราช พระบรมวงศานุวงศ์ทยอยเสด็จถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ 15.25 น. เรื่อยมา ประชาชนที่อยู่ด้านล่างนั้นเนืองแน่นไปทั่วลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ และศาลาศิริราช 100 ปี โดยมีการลงนามถวายพระพรและสวดมนต์ขอพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงหายจากพระประชวร
นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตภาคเหนือประจำปี 2558 ซึ่งเดิมมีกำหนดในวันที่ 27-30 ตุลาคม 2559 นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน หากมีกำหนดการใหม่แล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป[6]
เวลา 20.10 น. ของวันเดียวกัน สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์พระอาการ ‘ในหลวง’ ฉบับที่ 38 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 38
แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 38 ความว่า
วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ความดันพระโลหิตลดต่ำลงอีก พระชีพจรเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่ามีภาวะติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปรกติ
คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ และแก้ไขภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด ตลอดจนถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด[7]
13 ตุลาคม 2559
ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนักในช่วงวานที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่นิ่งเฉย และนี่เป็นอีกวันที่สื่อมวลชนจับตาสถานการณ์ซื้อขายของตลาดหุ้นและท่าทีของ ก.ล.ต. โดยแม้การซื้อขายหลักทรัพย์กว่า 1.3 แสนล้านบาทซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์จะสะท้อนความมั่นคงของระบบตลาดหลักทรัพย์ที่รองรับความผันผวนได้ แต่อีกนัยหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะต้องติดตามสถานการณ์และประสานงานกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการจัดการเรื่องข่าวลือ
รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวาน (12 ต.ค.) และมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่นั้น ก.ล.ต. มีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และหากพบว่า มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด[8]
แม้แต่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ โดยขอให้นักลงทุนอย่าตกใจกับข่าวลือ พร้อมทั้งย้ำให้ ก.ล.ต. ไปติดตามว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวดังกล่าว
“เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ฝรั่งซื้ออย่างเดียว แต่คนไทยตกใจขาย คิดว่าต่างประเทศเข้าใจเรื่องที่รัฐบาลทำ และเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยดี แต่คนไทยกันเองกลับตกใจ เราต้องหนักแน่นและมั่นใจตัวของเราเอง ขอให้ฟังรัฐบาล ฟังนายกรัฐมนตรีและอย่าไปฟังข่าวลือ เห็นได้ชัดมาก เมื่อวันที่ 12 มีการปล่อยข่าวลือว่าเวลา บ่าย 3 โมง ทางนายกรัฐมนตรี จะแถลงข่าวซึ่งใกล้เวลาปิดตลาดหุ้น ก็คิดดูละกันว่าคนที่ปล่อยข่าวลือเขาคิดอย่างไร ส่วนการติดตามผู้ปล่อยข่าวลือเพื่อทุบหุ้น เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องไปติดตามว่าใครปล่อยข่าวทุบหุ้น”[9]
สมคิดออกมาให้ความมั่นใจด้วยตนเอง แต่ตกบ่ายตลาดหุ้นยังคงร่วงต่อเนื่อง เวลา 15.02 ดัชนี SET อยู่ที่ 1,364.04 จุด ลดลง 42.14 จุด โดยนักลงทุนยังคงกังวล “ปัจจัยภายในประเทศ” เป็นหลักเช่นเดิม[10] ก่อนที่สุดท้ายจะพลิกกลับมาปิดในแดนบวกในระดับที่สูงสุดของวันคือ 1,412.82 จุด เพิ่มขึ้น 6.64 จุด มูลค่าการซื้อขาย 103,973 ล้านบาท
ส่วนที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรนั้น มีรายงานข่าวว่าช่วงเวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้ประกาศให้ประชาชนออกจากศาลาสหทัยและปิดประตู โดยประชาชนที่รอลงนามถวายพระพรกว่า 100 คน เดินทางกลับบ้านทันที[11]
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเดิมมีแผนเดินทางไปประชุม BIMSTEC OUTREACH AT BRICS SUMMIT 2016 ในวันที่ 16 ตุลาคม ที่รัฐกัว สาธารณรัฐอินเดีย ก็ยกเลิกภารกิจนี้แล้วให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปปฏิบัติภารกิจแทน ขณะที่งานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันตำรวจที่พลเอกประยุทธ์ ต้องไปเป็นประธานในช่วง 19.30 น. ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน และกำหนดนัดหมายถูกแทนที่ด้วยการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการในเวลา 17.00 น. แทน[12]
เวลา 18.00 น. กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทยส่งหนังสือด่วนที่สุดเพื่อขอยกเลิกประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในเวลา 19.00 น.
เวลา 18.30 น. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ต้องออกมาให้ข่าวอีกรอบ หลังจากมีแถลงการณ์ซึ่งอ้างชื่อแพทยสภาว่อนโลกออนไลน์ โดยบอกว่าแม้วันนี้แพทยสภามีการประชุมจริงแต่ไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ใดๆ และตนไม่เข้าใจว่าจึงมีการแอบอ้างแพทยสภาเพื่อปลอมข้อมูล พร้อมทั้งขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างมีสติ[13]
โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส บอกว่า ช่วงเวลาเขาไปทำข่าวที่โรงพยาบาลศิริราชซึ่งมีประชาชนจำนวนมากไปร่วมถวายพระพร ที่นั่นเขารับรู้ถึงบรรยากาศแห่งความสับสนทางข้อมูลข่าวสาร มันเป็นวันที่เขาโพสต์ข่าวผ่านทวิตเตอร์ตั้งแต่เช้าถึงเย็นแบบนาทีต่อนาทีซึ่งนับว่าถี่ยิบกว่าทุกวันที่ผ่านมา
ชนันทร์พร อภิธนไชยนันท์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน จับสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ เธอบอกว่าสัญญาณที่ทุกคนเปลี่ยนดิสเพลย์เฟซบุ๊คเป็นสีชมพูพร้อมข้อความ “เรารักในหลวง” ขณะเดียวกันในโลกออฟไลน์ก็มีคนวิ่งถวายพระพรจากพระบรมมหาราชวังถึงโรงพยาบาลศิริราช ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทำให้เธอในฐานะผู้สื่อข่าวไม่อยากจินตนาการเรื่องราวต่อ
ชุติมา สุวรรณเพิ่ม นักข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เล่าถึงวันที่ข้อมูลข่าวสารอยู่ในม่านหมอกอันอึมครึมนี้ว่า ตนเองต้องทำข่าวท่ามกลางสงครามข่าวลือที่ออกมาตลอดเวลา ยิ่งในสื่อโซเชียลมีทั้งข่าวจริงและข่าวลวง บางทีกลุ่มเซเลบริตี้คนนามสกุลดังโพสต์ในโซเชียลของตนเองว่าต้องแต่งตัวเข้าวัง แม้จะเห็นความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ในฐานะสื่อสารมวลชนที่มีกรอบการทำงาน นายด่านประตูข่าวสารอย่างเธอต้องตัดสินใจอย่างมีกฎเกณฑ์
“เราในฐานะสื่อมวลชน จะเขียนเองไม่ได้ ต้องรอแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังเท่านั้น ตรงนี้ถือเป็นกฎเหล็ก” นักข่าวสายสตรี สังคม แห่งโพสต์ทูเดย์กล่าว[14]
แถลงการณ์ปลอม ข่าวลือ ปัจจัยภายในประเทศผ่านข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกอธิบายมากไปกว่านี้ แต่อีกไม่กี่นาทีต่อมา แถลงการณ์จริงก็ทำให้ลมหายใจประเทศแทบหยุดนิ่ง
18.53 น. สำนักพระราชวังออกประกาศอย่างเป็นทางการผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พื้นหลังลายไทยสีขาวดำ อักษรสีขาว ผิดจากแถลงการณ์ก่อนหน้าที่ใช้สีเหลืองทองเป็นหลัก ใจความในประกาศนั้นมีใจความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบเมื่อเวลา 15.52 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม 2559
ประกาศ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น
แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี
สำนักพระราชวัง
13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559[15]
02: กฎกติกาหลังการสวรรคต
หลังสิ้นแถลงการณ์สำนักพระราชวัง อันเปรียบเสมือนการแจ้งข่าวสาธารณะอย่างเป็นทางการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติในการประชุม ครั้งพิเศษที่ 1/2559 เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านวิทยุและโทรทัศน์ดังนี้
- การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ ในระบบภาคพื้นดิน ระบบดาวเทียม และระบบอื่นใด ให้ถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติของสำนักพระราชวังโดยเคร่งครัด
- การถ่ายทอดภาพหรือเสียงเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต และงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตให้เชื่อมโยงสัญญาณโดยตรงจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยมิให้นำเอาภาพและเสียงไปออกอากาศซ้ำเว้นแต่จะได้รับอนุญาต
- การเผยแพร่รายการต่างๆ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ ให้งดการเผยแพร่รายการที่แสดงถึงความรื่นเริงเป็นเวลา 30 วัน และขอให้คำนึงถึงความเหมาะสม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและร่วมถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร[16]
เวลา 22.26 น. พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐนตรี แจ้งแก่สื่อมวลชน เพื่อขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกสังกัดที่มี Online TV หรือเผยแพร่ข่าวและรายการผ่าน YouTube Chanel, Facebook Live และสื่อภาพและเสียงอื่นที่เผยแพร่สดทางสื่อออนไลน์ นั้นขอให้เชื่อมสัญญาณภาพและเสียงของสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเป็นเวลา 30 วัน หรือจนกว่าจะเปลี่ยนแปลง ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสถานี สถานีวิทยุทดลองออกอากาศหรือสถานีวิทยุชุมชน และสถานีวิทยุออนไลน์ ให้ยึดหลักปฏิบัติการเดียวกัน โดยให้เกาะสัญญาณจาก FM 92.5 MHz ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน หรือจนกว่าจะเปลี่ยนแปลง[17]
14 ตุลาคม 2559
เช้าแรกของวันที่สิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พลันหนังสือพิมพ์ออกจากแท่นสู่แผงหนังสือ ฉบับแล้วฉบับเล่าแทบหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาไม่นาน
ห้วงเวลานั้น สิ่งพิมพ์กระดาษไม่ได้มีหน้าที่เพียงถ่ายทอดข่าวสารเท่านั้น แต่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติไทย สิ่งที่น่าสนใจคือในเช้าที่แสนเศร้ากระดาษสีหม่นเหล่านั้นจารึกอักษรใดลงไปบ้าง
ต่อไปนี้คือพาดหัวข่าวของเช้านั้น
“ในหลวงสวรรคต” – ไทยรัฐ
“เสด็จสวรรคต” – ไทยโพสต์
“สถิตในหัวใจราษฎร์” – โพสต์ทูเดย์
“เสด็จสวรรคต” – ผู้จัดการ
“ในหลวงสวรรคต พสกนิกรอาลัยทั้งแผ่นดิน นายกฯ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมฯ” – เดลินิวส์
“เสด็จสู่สวรรคาลัย” – กรุงเทพธุรกิจ
“วิปโยคยิ่งใหญ่” – มติชน
“เสด็จสวรรคต” – บ้านเมือง
“เสด็จสู่สวรรคาลัย ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” – คมชัดลึก
“ไทยทั้งโลกร่ำไห้ ในหลวงสวรรคต”
และ “พระบรมรับสั่ง ขอทำพระทัยร่วมกับประชาชน” – ข่าวสด
“โศกสลดทั้งแผ่นดิน ในหลวงเสด็จสวรรคต” – สยามรัฐ
“ร่ำไห้ทั้งแผ่นดิน ในหลวงเสด็จสวรรคต” – แนวหน้า
“KINGDOM GRIEVES” – The NATION
“END OF AN ERA” – Bangkok Post
แทบทุกฉบับพาดหัวข่าวด้วยการประหยัดถ้อยคำที่สุด ทว่ามีความหมายต่อวาระข่าวสารแห่งยุคสมัยที่สุดเช่นกัน อักษรเหล่านั้นถูกวางประกอบภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ หรือฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี มีบางฉบับเท่านั้นที่ใช้ภาพขณะทรงงานซึ่งมีพระเสโท (เหงื่อ) อันเป็นภาพที่คนไทยคุ้นชิน ขณะที่เนื้อหาด้านในต่างมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระปรีชาสามารถ พระราชกรณียกิจ หลักคำสอน คำบอกเล่าเกี่ยวกับพระองค์จากปากของบุคคลสำคัญของประเทศ ตลอดจนข่าวคราวของพสกนิกรที่ยังอยู่ในความโศกเศร้า
เช้าวันเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เรียกผู้บริหารสถานีโทรทัศน์และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประชุมวางแผนแนวทางการออกอากาศรายการต่างๆ ของโทรทัศน์ในเครือ รวมทั้งกำหนดช่วงเวลาถ่ายทอดสดจากแม่ข่าย
เวลา 15.51 น. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เห็นควรแจ้งเวียนความเข้าใจในการเผยแพร่รายการที่แสดงถึงความรื่นเริง และความเหมาะสมของการเผยแพร่รายงานของสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และผู้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
- การนำเสนอรายการและการโฆษณาของสถานีจะต้องไม่เป็นการแสดงถึงการบันเทิงใจ การเล่นเต้นรำทั้งปวง การสนุกรื่นเริง ล่อแหลม รุนแรง ตลอดจนแสดงถึงกิริยาที่ไม่สำรวม แสดงอารมณ์เกินกว่าสมควร ซึ่งเกินกว่าความเหมาะสมภายใต้บริบทของความโศกเศร้าเสียใจของประชาชนชาวไทย
- ผู้ดำเนินรายการ พิธีกร ผู้ประกาศ และบุคคลผู้ร่วมรายการแต่ละสถานี จะต้องแต่งกายให้เรียบร้อยเหมาะสม ใช้โทนสี ขาว ดำ ห้ามลวดลาย และใช้โทนสีดำมากกว่าสีขาว โดยการใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง กิริยา และการแสดงออกต้องมีความสำรวมและเหมาะสม
- การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับการสวรรคต หรืออันสืบเนื่องจากการสวรรคต จะต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น โดยจะต้องไม่มีการขยายความ วิเคราะห์ วิจารณ์แต่อย่างใด
- ภาพและสีที่ใช้ในการออกอากาศรายการของสถานีให้ปรับระดับของสีให้มีความเหมาะสมต่อการร่วมถวายความอาลัย
- กรณีการนำเอารายการจากต่างประเทศมาเผยแพร่ออกอากาศผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบเนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอให้เป็นไปตามข้อ 1-4
- ให้ผู้รับใบอนุญาตเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยทันทีเมื่อมีการถ่ายทอดรายการที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี
- ผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบรายการทุกรายการที่แพร่ภาพและกระจายเสียงออกอากาศให้เป็นไปตามข้อ 1-6 ตลอดระยะเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป[18]
บ่ายเดียวกันนั้น กสทช. ยังส่งหนังสือแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายให้ความร่วมมือเผยแพร่ข่าวสารตามแนวทางของรัฐบาล ระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมาย
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกสังกัดที่มี Online TV เผยแพร่ข่าวสารและรายการผ่านเว็บไซต์ หรือผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่าน ทาง Youtube Channel, Facebook Live และสื่อภาพและเสียงอื่นที่เผยแพร่สดทางสื่อออนไลน์ ให้เกาะสัญญาณภาพและเสียงของสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เป็นเวลา 30 วัน หรือจนกว่าจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ด้วย นั้น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 สำนักงาน กสทช. จึงได้มีหนังสือถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ผ่านเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์โดยเคร่งครัด
- นอกจากการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลข้างต้นแล้ว ให้ติดตามและตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต และหากตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ให้ดำเนินการระงับหรือยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในทันที รวมทั้งประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น Facebook, Twitter, Youtube, Line ฯลฯ ให้ดำเนินการระงับหรือยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในทันที ทั้งนี้ หากพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดที่ไม่เหมาะสมแล้วไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้ง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในทันทีแล้ว ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ กสทช. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
- ให้จัดตั้งหน่วยตรวจสอบขึ้นภายในองค์กรหรือหน่วยงานท่านเพื่อติดตามและตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง และหากพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดที่ไม่เหมาะสมแล้วให้ดำเนินการตาม 2. โดยทันที และให้แจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงาน กสทช. ทราบโดยเร็ว
- สำนักงาน กสทช. จะร่วมติดตามและตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดที่ไม่เหมาะสม จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้กระทำผิดโดยตรงกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ต่อไปซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ประสานช่องทางการดำเนินการดังกล่าวกับ ปอท. ไว้แล้ว ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดไม่ปฏิบัติตามดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ถึงที่สุดต่อไป[19]
สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MATT) ก็ได้ออกแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งเช่นกัน โดย ไตรรุจน์ นวะมะรัตน์ นายกสมาคมฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ brandbuffet.in.th ว่า สมาคมฯ มีการติดตามประกาศจากทางรัฐบาลเช่นกัน และคอยแจ้งกับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะออกอากาศทีวีแห่งชาติจนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 14 ตุลาคม หลังจากนั้นเป็นการขอความร่วมมือกับเจ้าของสื่อและเจ้าของสินค้าตามวิจารณญาณ สื่อแต่ละสำนักก็ปรับเปลี่ยนแตกต่างกัน เช่น กรณีช่อง 3 นั้น 3 วันแรกจะยังไม่มีรายการปกติ หลังจากนั้นจึงเป็นรายการปกติแต่ไม่มีรายการบันเทิง ส่วนการโฆษณาก็จะใช้เฉดสีขาว-ดำ
“สถานการณ์ของลูกค้าแต่ละรายไม่เหมือนกัน บางรายก็อาจจะยกเลิก หรือเปลี่ยนเป็นโฆษณาถวายอาลัย แต่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับสื่อด้วย ถ้าเป็นนิตยสารอาจจะไม่ทัน แต่ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์พรุ่งนี้ก็น่าจะได้เห็นแล้ว ส่วนโทรทัศน์ก็น่าจะได้เห็นหลังจากที่กลับเข้าสู่รายการปกติ แค่ slide ที่เป็นภาพนิ่งก็น่าจะโปรดักชั่นได้ไม่ยาก ทางสถานีโทรทัศน์ก็ยินดีที่จะให้เปลี่ยนโฆษณาอยู่แล้วเนื่องในช่วงเวลาแบบนี้ ส่วนสื่อเอาท์ ออฟ โฮม ถ้าเป็นจอ LED มีการเปลี่ยนข้อความ สื่อ transit ในรถไฟฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสารคดีพระราชประวัติ ผมเชื่อว่าทุกๆ เอเยนซี่ และลูกค้าทุกๆ ท่านก็เข้าใจ คงไม่มีใครที่ทำอะไรหวือหวา”[20]
บางอย่างเป็นกฎระเบียบที่ออกมาหลังสวรรคตเพื่อให้สื่อมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อ่อนไหว บางเรื่องก็เป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกลับเหตุการณ์แห่งความโศกาอาลัยของประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่สื่อออนไลน์ทั้งประเทศไทยและแบรนด์สากลก็คำนึงถึงสถานการณ์อาดูรนี้ การแสดงออกบางประการก็เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีคำสั่งจากรัฐแต่อย่างใด
เคน เทห์ เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านกลยุทธ์ เฟซบุ๊ค ส่งอีเมล์ถึงสื่อมวลชนและ Media Agency เพื่อแสดงความเสียใจ และเพื่อเคารพช่วงเวลาไว้อาลัยของชาวไทย โดยอีเมล์ระบุว่า เฟซบุ๊คขอหยุดการประชาสัมพันธ์โฆษณาในประเทศไทยชั่วคราวไม่ว่าจะผ่านทาง Audience Network และ Instant Articles ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เฟซบุ๊คยอมระงับการโฆษณาในประเทศใดประเทศหนึ่ง[21]
นอกจากนี้เฟซบุ๊คยังขึ้นข้อความไว้อาลัยว่า “Forever in Our Hearts Facebook sends our sincere condolences on the passing of King Bhumibol Adulyadej.”
ส่วนกูเกิลยักษ์ใหญ่บนโลกออนไลน์อีกแห่งซึ่งให้บริการด้านการสืบค้นก็ปรับ Doodle เป็นสีขาวดำ พร้อมมีริบบิ้นดำอยู่ด้านล่างช่องสืบค้นด้วย โดยเมื่อคลิก Doodle จะลิงค์ไปที่หน้ารวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9
Line ปรับให้หน้าแรกของการเปิดแอพฯ เป็นขาวดำ เช่นเดียวกับ Line TV รวมทั้งเว็บไซต์ของบริษัทไอทีระดับโลกอย่าง Apple ก็ปรับหน้าตาส่วนประเทศไทย apple.com/th เป็นหน้าเป็นขาวดำทั้งหมด
Joox ซึ่งเป็น Platform ให้บริการ Music Streaming ก็ปรับหน้าตาเป็นขาว-ดำด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับเว็บไซต์จำนวนมากของประเทศไทย รวมทั้งบัญชีผู้ใช้งานส่วนตัวในโลกออนไลน์
ที่น่าสนใจอีก Platform คือแม้แต่การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเกมออนไลน์ ก็ประกาศปิดให้บริการเซิร์ฟเวอร์เกมคอมพิวเตอร์และมือถือในประเทศไทยถึงวันที่ 17 ตุลาคม เพื่อร่วมถวายอาลัยเช่นกัน
03: สื่อมวลชนในร่มเดียวกับพสกนิกร
การสวรรคตของมหาราชาคือวาระสำคัญของสื่อมวลชนทั้งประเทศ สถานีโทรทัศน์ทุกช่องปรับผังการออกอากาศ โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชพิธี ทั้งนี้ไม่ใช่มาจากคำสั่งของรัฐเท่านั้น
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ตัดสินใจล้มผังรายการทั้งหมดแทบจะทันทีที่มีแถลงการณ์สวรรคต
กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ กล่าวในขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในรายการเปิดบ้านไทยพีบีเอส[22] ว่า สื่อสาธารณะแห่งนี้นอกจากปรับผังการออกอากาศในทันทีแล้ว ยังปรับแผนการทำงานครั้งใหญ่ หลอมคนทำงานให้เห็นภารกิจหลักร่วมกันเพียงเป้าเดียวกัน เพื่อเปลี่ยนความเศร้าโศกให้กลายเป็นแรงบันดาลใจจากมหาราชาอันเป็นที่รัก
“ความสูญเสียครั้งใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเหตุความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศ ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะเราคงต้องมีหน้าที่ในการที่จะสื่อสารเหตุการณ์ แล้วก็ความสำคัญของเหตุการณ์ให้กับประชาชน คือเรามองครับว่าพระองค์ท่านได้จากเราไปแล้ว แต่ปณิธานท่านสิ่งที่ท่านได้ทำสิ่งดีๆ ไว้เยอะมาก คนไทยนี่ควรจะต้องน้อมนำวิธีคิด การจัดการต่างๆ ที่พระองค์ท่านได้ทรงสร้างไว้นะครับไปปฏิบัติต่อ พระองค์ท่านก็เปรียบเสมือนกับแสงที่นำทางให้ทุกคนได้ก้าวต่อถึงแม้จะไม่มีพระองค์ท่านอยู่แล้ว
“จากสมัยก่อนเราแยกกันเป็นส่วนๆ คนทำข่าวก็ไปทำข่าว คนทำรายการก็ทำรายการ หรือบางส่วนที่ต้องไปประสานกับพื้นที่ก็แยกกันไป แต่ครั้งนี้ทำไม่ได้ เนื่องจากภารกิจนี้ใหญ่มาก เราต้องทำรายการตั้งแต่เช้าตี 5 จนถึงปิดสถานีเที่ยงคืน เพราะฉะนั้นเราต้องรวมกำลังทุกส่วนเลย
“ทีมงานจำนวนมากอยู่ที่บริเวณสนามหลวง ซึ่งมีพระราชพิธี มีเหตุการณ์สำคัญ ทีมจำนวนมากก็ต้องไปเฝ้าเกือบทั้งวัน นอกจากนี้เรายังมีการเก็บเรื่องราวต่างๆ จากทั่วประเทศ”
ชินดนัย มีชัย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เล่าเรื่องของรุ่งเช้าหลังเหตุการณ์สวรรคต เขาประจำอยู่ที่สนามหลวง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่พสกนิกรจำนวนมากไปรวมตัวกันเพื่อถวายความอาลัย เขาจดจำวันนั้นได้ดี และบันทึกฉากสำคัญของแหล่งข่าวบางคนที่เขาได้คุยได้แม่นยำ
“เขามาจากกาญจนบุรี เขาตั้งใจเดินเท้าจากที่เมืองกาญฯ มาเลย ตั้งใจมาที่ศิริราชแต่ปรากฏว่าระหว่างเขากำลังเดินทางมาวันที่ 13 พระองค์ท่านก็สวรรคตแล้ว เขาก็บอกว่าเขามาไม่ทัน เขาก็ถอดใจไปเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าไหนๆ ก็เดินเท้ามาแล้ว เขาก็เลยตั้งใจเดินต่อมาให้ถึงสนามหลวง ผมก็ไปพูดคุยกับเขา แล้วพอคุยเสร็จก็จะตั้งกล้องขอสัมภาษณ์ปรากฏว่าเขากลัว เขาบอกผมไม่พร้อม ก็ตามประสาชาวบ้าน เขากลัวว่าจะพูดถึงหรือพูดอะไรที่ไม่ถูกต้อง มียายอายุ 80 ยืนอยู่ข้างๆ ยายก็บอกเขาว่าพูดไปเลยลูกพูดไปเลย เรารักในหลวง เราไม่ต้องกลัวว่าเราจะพูดผิดพูดถูก ขอให้พูดออกไปเลย
“คุณยายที่ยืนข้างๆ เขาก็คอยให้กำลังใจกับพี่ผู้ชายคนนี้ ซึ่งคุณยายกับพี่ผู้ชายก็ไม่ได้รู้จักกัน แต่ทุกคนมารวมตัวกันในจุดๆ นี้ด้วยความรักในพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนมาด้วยใจแล้วก็คิดว่าเป็นภาพแห่งความประทับใจที่เราได้เห็นว่าทุกคนช่วยกัน แล้วก็กล้าที่จะบอกรักในหลวงจากความรู้สึกของตัวเอง”
ในพระราชพิธีเคลื่อนพระบรมศพ จากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวัง พิเชษฐ์ วงษ์สถิต เจ้าหน้าที่เสียงของไทยพีบีเอส รับผิดชอบบันทึกสิ่งที่สัมผัสได้ผ่านโสตประสาท แต่สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาในบ่ายวันนั้นกลับส่งผลกระทบไปถึงหัวใจ เพราะสิ่งที่คุ้นชินยามต้องทำงาน ณ จุดที่เขากำลังยืนอยู่ นับจากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม
“เราอยู่ในจุดที่หันข้างขึ้นไปเห็นโรงพยาบาลศิริราช อารมณ์ตอนนั้นแบบเงียบเหงา เศร้ามาก เราก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เรารู้ว่าท่านเสด็จมาก็ได้ยินเสียงวอจากทหาร เราทำอะไรไม่ถูกเลย ขนลุกมาก ส่งเสด็จท่านไป มองจนแบบสุดสายตาเห็นประชาชนเศร้ามาก
“คือก่อนหน้านี้ผมก็ทำจุดโอบี (จุดเชื่อมสัญญาณเพื่อถ่ายทอดสด) อยู่ตรงนี้เหมือนกัน ตอนวันจักรีที่ท่านจะเสด็จจากโรงพยาบาลศิริราชไปพระที่นั่งดุสิต ผมก็อยู่ตรงจุดที่ท่านโบกมือให้เรา แต่คือตรงนี้ก็มาอยู่ตรงนี้ จุดนี้อีกทีหนึ่ง แต่ไม่ใช่จุดนั้นแล้ว เราก็รู้สึกอย่างน้อยเราก็ได้ส่งเสด็จท่าน ทั้ง 2-3 ครั้ง 2-3 งาน ถึงจะไม่เยอะอะไรมากมาย แต่คือเราก็ทำให้ท่านได้ขนาดนี้ ก็ปลื้มปีติมากแล้ว” ช่างเสียงฉายภาพความทรงจำของวันนั้น
ปาณิศา เขื่อนแก้วภากูล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เดินทางไปที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ มันเป็นดอยเดียวกันกับเมื่อ 40 ปีที่แล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จ
“ถนนสมัยนั้นเขาสร้างถึงแค่ดอยสุเทพ แล้วย้อนไป 40 ปีที่แล้วมันจะเป็นป่าเขาทั้งหมด พระองค์ท่านเดินไป 13 กิโล เราก็เลยคุยกับผู้ใหญ่ ขออนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อดูสภาพหมู่บ้านปัจจุบันเทียบกับ 40 ปีที่แล้ว
“พอทีมข่าวลงไป สิ่งที่เราเห็นคือความร่วมมือของชาวเผ่าม้ง เขาแต่งชุดประจำเผ่าเขาเพื่อรอให้เราไปถ่ายทำ เตรียมรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของท่านเพื่อเตรียมจัดพิธีน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน มีการกล่าวคำถึงพระองค์ท่าน พอทีมข่าวบอกว่าขอคำกล่าวอีกครั้งได้ไหมเขาให้ความร่วมมือ เขาบอกว่าพูดอีกกี่ร้อยครั้ง พูดอีกกี่พันครั้งเขาก็พูดได้ แม้กระทั่งคุณตาที่อายุ 76 เขาพาทีมข่าวเดินทุกที่ที่ในหลวงเคยเสด็จ ไม่ใช่เฉพาะทีมข่าวเราไป เขาบอกว่ามีหลายทีมข่าวมากที่มา แต่เขาบอกว่าเขาไม่รู้สึกเหนื่อย เขามีความรู้สึกว่า แค่เขาได้ทำแค่นี้เพื่อพ่อหลวง เขายินดีและเต็มใจที่จะให้ทำข่าว หรือแม้กระทั่งจะมาเยี่ยมเยียนที่หมู่บ้านเขาก็ยินดี”
นโยบายของไทยพีบีเอสนั้นคือการปรับเปลี่ยนผังการออกอากาศทั้งหมด โดยกำหนดวาระร่วมกันตลอดปีด้วยการใช้แนวคิด ‘แสงจากพ่อ’ ปรับเปลี่ยนความเศร้ามาเป็นพลังในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นรายการ ข่าว หรือการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนล้วนยึดวิธีการทำงานนี้สื่อสารร่วมกัน เนื้อหาทั้งหมดมุ่งสร้างแรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านคนทุกกลุ่ม นั่นคือแนวทางขององค์กรสื่อสาธารณะ
มันเกิดขึ้นนานนับปีตั้งแต่วันสวรรคตจนถึงวันนั้น
26 ตุลาคม 2560
378 วันหลังการสวรรคต วันที่ 26 ตุลาคม 2560 เวลา 00.01 น. ชาลี นวธราดล ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน เล่าในวารสารราชดำเนินฉบับที่ 34 ว่า วันนั้นเขาพาตัวเองแทรกตัวไปกับผู้คนเรือนแสนกระทั่งถึงพิกัดที่หมายไว้ ณ วงเวียนหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ที่นั่นเขาต้องนอนบนฟุตบาท มีหนังสือพิมพ์เป็นหมอนและยอดไม้เป็นหลังคา เขาหลับไปในสภาพที่ร่างกายเหนื่อยอ่อนที่สุด กระทั่งถึงรุ่งเช้า
“เริ่มริ้วขบวนที่ 1 และริ้วขบวนที่ 2 ซึ่งจุดจอดพระมหาพิชัยราชรถอยู่ตรงหน้าผมพอดี ผมตื่นเต้นมาก แต่ก็มองไม่เห็นอะไรมากเพราะต้องก้มกราบตลอด เมื่อถึงเวลาจริง และที่ได้เห็นนอกจากความสมพระเกียรติของริ้วขบวนคือภาพความเสียใจของประชาชนที่ร่ำไห้หลังได้เห็นพระโกศทองใหญ่
“ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งช่วงเวลานั้นไม่มีถ่ายทอดสด (ต้นฉบับใช้คำว่า “วันนั้นไม่มีถ่ายทอดสด” – ผู้เขียน) ผมจึงใช้สิทธิ์ความเป็นสื่อขอเข้าไปสังเกตการณ์ในท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือเพื่อเฝ้ามองพระเมรุมาศ และแล้วเวลานั้นก็มาถึง
ตลอดพระราชพิธี มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเรื่อยมา กระทั่งถึงช่วงเวลาสำคัญที่สุด ภาพจากสถานีโทรทัศน์กลับยังเป็นการแสดงมหรสพ ไม่มีการแจ้งหรืออธิบายใดๆ ข่าวลือกลับมาอีกครั้งผ่านโซเชียลมีเดีย ว่ามีการปรับเปลี่ยนกำหนดการในพระราชพิธี ฉะนั้นภาพที่คนหลายล้านเห็นผ่านจอโทรทัศน์จึงแตกต่างจากผู้คนที่อยู่ไม่ห่างจากปรำพิธี และยิ่งต่างจากสายตาของสื่อมวลชน กระนั้นความรู้สึกของคนข่าวกับพสกนิกรรายรอบนั้นคงไม่อาจจำแนกได้แน่ชัดนักว่าผิดแผกกันเพียงใด
“ผมเห็นและรีบจดบันทึกเวลาที่แสงเพลิงแรกลุกโชนขึ้นเหนือฉากบังเพลิง ประมาณ 23.23 น. วินาทีนั้นผมไม่ต่างอะไรกับประชาชนรอบข้าง ใจหาย ขนลุก จดบันทึกข่าวมือสั่นไปหมด” ชาลี นวธราดล ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน เล่าวินาทีที่จำไม่ลืม
พิสิฐ ภูตินันท์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บอกว่า นาทีนั้นเขาเห็นทุกคนน้ำตาไหล ทั้งประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนที่กำลังทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ แม้การแสดงมหรสพยังคงเล่นต่อไป แต่เขาพบว่าไม่มีใครสนใจเสียงประโคมของดนตรีและการร่ายรำของนักแสดงอีกต่อไปแล้ว
วิชาญ โพธิ ช่างภาพ Mono Technology หรือ MThai เล่าว่า เขาได้รับมอบหมายให้บันทึกภาพประชาชนที่มาถวายความอาลัยที่บริเวณท้องสนามหลวง เขาเลือกเก็บภาพผู้คนที่มาทำงานจิตอาสา ครอบครัวที่เดินทางมาด้วยกัน รวมทั้งกิจกรรมการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่สิ่งที่เขาปรารถนาที่สุดคือการได้เห็นบางเสี้ยวของบางคราเพื่อกดชัตเตอร์ ซึ่งที่สุดเขาก็รู้แล้วว่าไม่มีวันเกิดขึ้นอีกเลย
“สำหรับความรู้สึกที่ได้ถวายงานในฐานะช่างภาพคนหนึ่ง ตั้งแต่จับกล้องเราก็อยากถ่ายภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนเมื่อปี 2557 ก็ได้มาเฝ้าที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเราก็เคยเห็นภาพที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มองลงมาจากบนตึก เราก็รอว่าจะมีจังหวะแบบนี้ไหม เพราะในชีวิตอยากถ่ายภาพด้วยกล้องเราเองสักครั้งแต่ไม่มีโอกาส จนมาวันสุดท้ายจริงๆ ตอนริ้วขบวนที่ 6 ได้ถ่ายพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร นั่นเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ก็คิดว่าเราได้ถวายงานแล้ว” วิชาญ โพธิ เล่าถึงวินาทีถ่ายภาพหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
04: พระราชดำรัสเกี่ยวกับสื่อมวลชน
นอกจากความทรงจำขณะปฏิบัติงานในช่วงพระราชพิธี สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยเลือกจดจำบางวรรคตอนจากพระราชดำรัสของมหาราชามาใช้ทำงาน
จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน เลือกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ ณ พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตันนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2510 ความว่า
“ผู้มีหน้าที่สื่อข่าวควรสำนึกอยู่เสมอว่างานที่ทำเป็นงานสำคัญและมีเกียรติสูง การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวังหรือแม้แต่คำพูดง่ายๆ เพียงนิดเดียวก็สามารถจะทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายพยายามสร้างไว้ด้วยความยากลำบากเป็นแรมปี เหมือนฟองอากาศนิดเดียวถ้าเข้าไปอยู่ในเส้นเลือดก็สามารถปลิดชีวิตคนได้…”[23]
มานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ มักจะอัญเชิญพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จเยือนสมาคมหนังสือพิมพ์ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2503 มาเล่าให้ใครต่อใครฟังอยู่เสมอ
“หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์กับหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและถูกต้องขึ้นในหมู่ชน ข้าพเจ้าเองก็พยายามทำหน้าที่เช่นนั้น แต่ว่าเราต้องทำด้วยพิธีรีตอง และยศอย่างมากไปหน่อยตามธรรมเนียม”
และอีกพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จเปิดที่ทำการสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2514 ก็เป็นอีกวรรคทองที่นักหนังสือพิมพ์อาวุโสจดจำได้อย่างแจ่มชัด เขาบอกว่า นี่คือการแสดงให้เห็นว่าพระองค์นั้นมีความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงหน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์
“…นักหนังสือพิมพ์เป็นผู้เสนอข่าวสารความรู้ ความคิดเห็น รวมทั้งเป็นปากเสียงแทนผู้อื่น ทุกเรื่องทุกสิ่งที่ท่านนำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางอย่างไม่มีขอบเขต จึงจำเป็นอย่างยิงที่จักต้องปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจด้วยความพิจารณาที่รอบคอบ ด้วยความสุจริตยุติธรรม และด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบเป็นพิเศษอยู่เป็นนิตย์…”[24]
อ้างอิง
|