ทั้งช่อดอกและก้านใบ

ลองลากเส้นตรงบนกระดาษ กำหนดให้ปลายเส้นทั้งสองฝั่งคือ ‘ผู้ปลูก’ และ ‘ผู้ใช้’ เราจะพบช่องว่างระหว่างจุดเริ่มกับจุดจบของเส้นตรงเส้นนี้ และนี่คือเส้นทางที่กัญชาเดินทางจากไร่สู่ผู้ใช้ แต่กว่ากัญชาจะเดินทางมาถึงผู้ใช้ ไม่ว่าจะใช้ทางการแพทย์ (medical use) หรือใช้เพื่อสันทนาการ (recreational use) พื้นที่ว่างระหว่างจุดปลายเส้นตรงทั้งสองจุดนี้ – ไม่สว่าง

 

ปลูกกัญชาไว้ใต้ดิน

เมื่อไม่สว่างก็ทำให้ไม่รู้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ใช้จะรู้ว่ากัญชามาจากไหน ผ่านกรรมวิธีใดบ้าง และแน่นอนกัญชาในตลาดมืดคือกัญชาคุณภาพต่ำ

อเมริกัญชาชนเรียกกัญชาข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกว่า ‘Mexican Brick Weed’ ด้วยปริมาณการปลูกจำนวนมาก (mass production) ทำให้การอัดแท่งง่ายต่อการขนย้าย[1] กัญชาอัดแท่ง หรือ Brick Weed ไม่คำนึงถึงคุณภาพทั้งการปลูกและเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตที่ได้มีแนวโน้มที่จะมีสาร THC ต่ำ – สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชาเรียกว่า cannabinoid มีอยู่ประมาณ 90 ชนิด สารสำคัญที่มีสรรพคุณทางการแพทย์คือ cannabidiol  (CBD) และ Tetrahydrocannabinol (THC)

Brick weed

นอกจากคุณภาพที่ต่ำของกัญชา ระหว่างทางจากผู้ปลูกและผู้ใช้ยังทำให้เกิดโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ตั้งแต่การเรียกรับผลประโยชน์ การตรวจสาร THC ในปัสสาวะของผู้สัญจรบนถนนก็สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ และบทลงโทษทางอาญากับผู้เสพและครอบครองในปริมาณเล็กน้อย

“เวลาถูกขอค้นรถ มักจะเจอด่านกลางคืน แบบใต้สะพานกลับรถที่คนจะไม่ผ่านหลงเข้าไป ตอนไม่มีของมันก็รอด เพราะไม่ล่ก” นักออกแบบหนุ่มขอปกปิดตัวตนบอกกับ WAY

เรือนร่างเป็นที่หมายตาของตำรวจปราบยาเสพติดในการขอค้นและตรวจปัสสาวะ เขาอำตัวเองแบบนั้น

“จับหัวใจ – ป๊าบ ตำรวจมันชอบเช็คเราก่อนเลย มึงตื่นเต้นมั้ย”

เขาเพิ่งถูกตรวจพบสาร THC ในปัสสาวะ ณ ด่านตรวจยาเสพติดที่ตั้งอยู่อย่างลับตาคน เจ้าหน้าที่แจ้งว่า การเสพกัญชามีโทษทางอาญาในระดับพอๆ กับผู้ครอบครอง เมื่อประเมินสิ่งที่ตัวเองต้องเจอภายใต้เงื่อนไขการทำงานกับบริษัทเอเจนซีที่มีเจ้าของเป็นคนต่างชาติ ในสัญญาจ้างงานระบุว่า: ‘ห้ามทำผิดกฎหมายประเทศไทย’

จำนวนเงินเกือบ 20,000 บาท จึงเป็นราคาของการตัดปัญหายุ่งยากที่จะตามมา แม้ว่าแนวโน้มเชิงนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดระดับสากลจะเป็นไปในทางลดทอนความเป็นอาญา (decriminalization) มากขึ้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติที่ 2/2560 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ใช้แนวทางการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) เป็นยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดของหน่วยงานอย่าง ป.ป.ส. แต่ตัวบทกฎหมายและผู้ปฏิบัติการยังสวนทางกับนโยบาย

“จริงๆ คือ กลัวตกงาน กฎหมายโคตรกว้าง ผู้เสพโทษเท่าผู้ครอบครอง แต่ไม่รู้ผมโดนหลอกรึเปล่า ตอนนั้นเราไม่มีเวลามาเช็คข้อกฎหมาย” นักออกแบบเล่า

ไม่ว่าเส้นทางใต้ดินของกัญชาจะเป็นเช่นไร ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามเข้าถึงกัญชาเสมอมา

ในที่นี้ – รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย

 

Fighting For Amelia

“ศีลธรรมเป็นบ่อเกิดแห่งกฎหมาย ผมคิดว่าศีลธรรมสำคัญกว่ากฎหมาย ผมทำผิดกฎหมาย แต่ผมทำถูกศีลธรรม ทุกคนที่ผมช่วยเหลือยืนยันได้ ช่วยกันทำให้กฎหมายเมืองไทยเหมือนเมืองนอก” บัญฑูร นิยมาภา ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นท้ายงานเสวนาทางวิชาการ ‘กระท่อม กัญชา คือ พืชยาไม่ควรเป็นยาเสพติด’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

บัณฑูร หรือ ‘ลุงตู้’ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เขาผลิตน้ำมันสกัดจากกัญชา มีผู้มาขอรับน้ำมันสกัดเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งกับโรคลมชัก[2]

กรณีศึกษาการใช้น้ำมันสกัดจากกัญชาในโรคลมชักที่โด่งดังระดับโลก คือกรณีของเด็กหญิงวัย 10 ขวบชื่อ อเมเลีย วีเวอร์ (Amelia Weaver)

LeafLine เป็นบริษัทผลิตยารักษาโรคจากกัญชา ค้นคว้าหาสายพันธุ์และสารที่เหมาะกับการรักษาอาการของอเมเลีย ด้วยการสกัดสารย่อย CBD และ THC ในอัตรา 20 : 1 คือ CBD 20 เปอร์เซ็นต์ THC 1-2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหมาะที่จะให้อเมเลียพักผ่อนมากกว่ามีผลกระทบทางสมอง[3]

จากอาการชักที่มีมากใน 1 วัน จนทำให้อเมเลียหลับได้เพียงวันละ 1-2 ชั่วโมง อเมเลียมีอาการชักน้อยลง และนอนหลับได้นานขึ้นถึง 5 ชั่วโมง อเมเลียเริ่มเดินได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องมีคนช่วยประคอง

ระหว่างการรักษาอาการของอเมเลีย กัญชายังเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในรัฐมินเนโซตา

อเมเลีย วีเวอร์

หลังจากนั้นหนึ่งปี รัฐมินเนโซตาเริ่มทำให้กัญชาถูกกฎหมายและนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2015 ผู้ป่วยลงทะเบียนเข้ารับการรักษาจากกัญชามากกว่า 1,400 คน เด็ก 150 คน ผู้ป่วยลงทะเบียนจะต้องป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคลมชัก

ครอบครัววีเวอร์ยังคงใช้เงินเดือนละ 200 ดอลลาร์ ใช้กัญชารักษาโรคลมชักให้อเมเลีย พร้อมตั้งเฟซบุ๊คเพจ Fighting For Amelia

แอนจี วีเวอร์ (Angie Weaver) มารดาของอเมเลียเขียนเล่าถึงการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ของอเมเลีย และแสดงจุดยืนสนับสนุนให้กัญชาถูกใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย

“กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ ฉันคิดว่าทุกคนควรที่จะเข้าถึงด้วยราคาไม่แพง ปลอดภัย และถูกกฎหมาย” แอนจีเขียนชี้แจงไว้ในเพจ Fighting For Amelia

ถ้า วิภาวดี มนตรีวงษ์ ได้รับรู้เรื่องราวของเด็กหญิงอเมเลีย เธอจะมีความหวังเพียงใด

WAY พบกับเธอในงานเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับกัญชา เธอเป็นแม่ของเด็กชายแม็ก ผู้ป่วยโรคลมชักวัย 4 ขวบ หลังจากพ่อแม่ของเด็กโรคลมชักคนอื่นๆ เลือกใช้น้ำมันสกัดจากกัญชารักษาอาการของเด็กๆ มีพัฒนาการดีขึ้น เธอจึงติดต่อไปยัง ‘ลุงตู้’ หรือ บัญฑูร นิยมาภา ตามคำแนะนำของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นโรคลมชัก

“เราเห็นคนที่ใช้มาก่อน แล้วไม่มีผลเสีย ก็เลยอยากจะลองดู เพราะไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว เราอยากให้ลูกดีขึ้นเร็วๆ” วิภาวดีเริ่มใช้น้ำมันสกัดจากกัญชาหยอดใต้ลิ้นเด็กชายแม็กก่อนอาหารเช้า-เย็น เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

“สำหรับเด็กพิการ ลุงตู้แกให้ใช้ฟรี” วิภาวดีบอก “ลุงตู้ไม่คิดค่าใช้จ่ายเพราะเด็กใช้ไม่เยอะ ขวดเล็กๆ เดือนหนึ่งก็ใช้ 3 ขวด”

เด็กชายแม็กรักษาโรคลมชักกับแพทย์ในโรงพยาบาลเป็นหลัก พร้อมกับทำกายภาพบำบัด และใช้น้ำมันสกัดจากกัญชารักษาควบคู่ไปด้วย หลังใช้น้ำมันสกัดจากกัญชา วิภาวดีบอกว่าลูกของเธอมีพัฒนาการดีขึ้น จากที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ “น้องสามารถลุกขึ้นนั่งเองได้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ จากที่ทำอะไรไม่ได้ นอนอย่างเดียว พลิกตัวก็ไม่ได้ เราก็ทำกายภาพร่วมด้วยกับการใช้ยา เริ่มพลิกตัวได้ เริ่มคืบคลานได้ ตอนนี้ลุกขึ้นนั่งเองได้”

เรายกเรื่องของวิภาวดีกับการใช้น้ำมันสกัดจากกัญชาขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า ภายใต้องค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชาที่หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ และสถานะผิดกฎหมายในประเทศของกัญชา แต่คนจำนวนหนึ่งพยายามเข้าถึงกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

 

ความกล้าที่มีน้ำตา

ความพยายามเข้าถึงยาด้วยตนเองของผู้ป่วย คือความกล้าหาญที่มีน้ำตา เรื่องราวของ รอน วูดรูฟ บอกเราเช่นนั้น เขาเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีในทศวรรษที่ 1980 การเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวียังไม่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน เพื่อเอาชีวิตรอดเขาจึงต้องเสี่ยงข้ามพรมแดนไปเม็กซิโกเพื่อขนยาต้านไวรัสกลับมา ยอมใช้ตัวเองเป็นหนูทดลองจนแน่ใจว่ามันได้ผล จึงก่อตั้ง Dallas Buyers Club เพื่อขายยาต้านไวรัสให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยกัน

รอน วูดรูฟ ที่มาภาพ: dallasnews.com

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยก่อนปี ค.ศ. 2003 อุปสรรคสำคัญคือการผูกขาดยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานด้วยระบบสิทธิบัตร ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เกิดการขาดแคลนยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มคนทำงานด้านการเข้าถึงยา พบว่า มียาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานที่มีคุณภาพและราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว – อยู่ที่อินเดีย

ราวปี ค.ศ. 1997-1998 ได้มีการตั้ง ‘ชมรมร่วมซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี’ หรือ ยา ARV ในนาม Buyers Club เดินทางไปลักลอบขนยาต้านไวรัส ARV ที่อินเดียกลับเข้าประเทศไทย คล้ายกับสิ่งที่ รอน วูดรูฟ เคยทำในทศวรรษที่ 1980

“เขาเรียกว่า Buyers Club – คือบินไปซื้อยาใส่กระเป๋าใบใหญ่กลับเข้ามา มันเหมือนคนหลังชนฝา ยาแพงเราไม่มีปัญญาซื้อ เห็นเพื่อนตายไปต่อหน้าต่อตาทุกวัน เมื่อเรารู้ว่ามีแหล่งที่ถูกกว่า เราประสานงานกับเครือข่ายในอินเดียจนแน่ใจเรื่องแหล่งยาต้านฯที่มีคุณภาพ เสี่ยงโดนจับก็คุ้มเพื่อมีชีวิตรอดต่อไป”[4]

ราคายาที่แพง และระบบสิทธิบัตรที่ผูกขาด ทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงยา ดั่งกรณีของ รอน วูดรูฟ และ Buyers Club Thailand

กรณีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อุปสรรคใหญ่เฉพาะหน้าคือ สถานะทางกฎหมายของกัญชาที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และทัศนคติที่ตรึงกัญชาไว้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของยาเสพติดประเภทที่ร้ายแรงกว่า

ความพยายามเข้าถึงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็มีความแตกต่างไปจากปัญหาการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี อย่างเช่นกรณีพี่สาวของรอน

 

รอนและพี่สาว

รอนเป็นนักดนตรีและสอนดนตรี เขาต้องการปกปิดตัวตน เราจึงเรียกเขาว่า ‘รอน’ เรื่องราวของ รอน และ รอน วูดรูฟ แตกต่างกันในรายละเอียด แต่พล็อตใหญ่มีจุดร่วมกัน พวกเขาต้องการเข้าถึงยาเพื่อชีวิตรอด

พี่สาวของรอนเป็นมะเร็งโพรงจมูก แรกพบก้อนเนื้อในเดือนพฤษภาคมมีความยาว 4.5 เซนติเมตร เป็นขนาดของก้อนเนื้อในโพรงจมูกที่ “สามารถทำให้เราไม่สามารถหายใจทางจมูกได้นะ” รอนบอก

แพทย์แนะนำให้ผ่าเอาก้อนเนื้อออกก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยเคมีบำบัดและแสงรังสี แต่ถ้ามีทางเลือกที่มีความหวังโผล่เข้ามา ครอบครัวของรอนก็พร้อมจะฉวยคว้าไว้

ก่อนจะถึงนัดหมายวันผ่าตัดวันที่ 1 กรกฎาคม ทางเลือกแรกที่รอนเลือกให้พี่สาวคือการฉีดสารอาหารช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตามคำแนะนำของนายแพทย์ท่านหนึ่ง

“ฉีดสารอาหารเหล่านี้เข้าเส้นเลือดดำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาท ระหว่างที่ทำช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม อาการพี่สาวดีขึ้น คุณหมอท่านนี้ก็คิดว่าอาการเริ่มนิ่งแล้ว เขาก็เลยเอาโปรตีนชนิดหนึ่งให้พี่สาวผมกิน พอกินปุ๊บคันปาก เช้าวันอาทิตย์กินอีกตาบวมขึ้นมาเลย ตาซ้ายบวมจนปิดตาไม่ได้” รอนเล่า

เมื่ออาการทรุดลงก่อนนัดหมายผ่าตัด จึงไม่มีใครรับรักษา เพราะไม่รู้ว่าอาการอักเสบเกิดจากอะไร และเหมือนนายแพทย์ที่แนะนำการฉีดสารอาหารจะไม่รับผิดชอบอะไร รอนเล่าเรื่องราวของพี่สาวด้วยน้ำเสียงโกรธแค้น “ถ้าพูดแบบเหี้ยๆ ก็คือ หมอก็เหี้ยที่ไม่รับผิดชอบรักษาต่อ”

ข่าวผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ทางยาของกัญชาคือทางเลือกที่รอนจะมุ่งไป รอนมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีกับการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะท้ายอย่างพี่สาวของเขา เขาจึงศึกษาการรักษามะเร็งด้วยน้ำมันสกัดจากกัญชา เขาพยายามเข้าถึงความรู้ทั้งในและต่างประเทศ พูดคุยขอความรู้จากผู้ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศ จนพบกับหมอพื้นบ้านรายหนึ่งที่สกัดน้ำมันจากกัญชา

ก่อนถึงวันนัดหมายผ่าตัดในวันที่ 1 กรกฎาคม รอนบอกกับครอบครัวว่า เขาจะไม่ยอมให้พี่สาวเข้ารับรักษาด้วยแพทย์สมัยใหม่ ตอนนั้นดวงตาของพี่สาวบวมเป่งออกมา และอาเจียนตลอด “อยากให้พี่สาวคุณตายใช่มั้ย?” คือคำถามจากหมอ

รอนเมินคำถามของหมอ

คือ เฟิร์ส อิมเพรสชั่น ระหว่างน้ำมันสกัดจากกัญชาและพี่สาวของเขา หลังจากใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น เวลาผ่านไปไม่ถึงชั่วโมง ดวงตาที่บวมเป่งของพี่สาวได้ยุบลงจนน่าประหลาดใจ เขาซื้อน้ำมันสกัดจากกัญชาจากหมอพื้นบ้านรายนี้หยอดใต้ลิ้นให้พี่สาว กระทั่งน้ำมันสกัดจากกัญชาที่ซื้อมาหมดลงปลายเดือนกรกฎาคม รอนจึงซื้อวัตถุดิบมาสกัดเอง

“ช่วงแรกก็ใช้ดีขึ้นนะ แล้วโดสที่เราใช้เราก็ค่อยๆ เริ่มจากเล็กน้อย เรารู้ว่ากัญชามันไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย มันไม่ทำลายเซลล์ดี เริ่มใช้จาก 5 หยดเป็น 10 เป็น 15 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตามันตึงขึ้น บวมขึ้น ช่วงปลายเดือนกันยายนพี่สาวอ้วกแตกอ้วกแตนเละเทะเลย ตอนนั้นผมสกัดเอง สั่งซื้อวัตถุดิบเอง เป็นกัญชาแท่ง ซึ่งเรารู้ว่ามันไม่สะอาด แต่เราต้องใช้มัน”

ตุลาคมมาถึงพร้อมกับอาการขยาดน้ำมันสกัดจากกัญชาของพี่สาว ครอบครัวต้องการนำพี่สาวกลับสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล รอนคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย เขาเสาะหาวัตถุดิบที่ไว้ใจได้ว่าจะไม่มีสารไม่พึงประสงค์มากับกัญชา รอนได้รู้จักกับคนคนหนื่งที่สามารถหาวัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน เขาอ้างว่าเป็นกัญชาออร์แกนิค

แต่สุดท้ายครอบครัวตัดสินใจพาพี่สาวกลับเข้าโรงพยาบาลวันที่ 12 ธันวาคม เพื่อพบกับทางเลือก 2 ทางคือ การผ่าตัด หรือ เคมีบำบัด ซึ่งสำหรับรอน ทั้งสองทางเลือก “เลวร้ายทุกทาง เขาให้ครอบครัวผมเลือก ก็เลยตัดสินใจทำคีโม เผื่อว่าร่างกายเขาจะไหว แล้วจะช่วยให้เซลล์ยุบลงบ้าง”

หลังการทำเคมีบำบัดรอบแรก ร่างกายของพี่สาวทรุดลงทันที เธอเดินไม่ได้ กระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม พี่สาวของรอนไม่รู้สึกตัว แพทย์พบว่าเธอติดเชื้อในกระแสเลือด วันนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงการตายของพี่สาว แต่ปรากฏว่ายาฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลให้การตอบสนองกับอาการ เธอฟื้นอีกครั้ง แต่จดจำใครไม่ได้ จำแม่และน้องชายไม่ได้

“แม่ร้องไห้ มันทรมานใจนะ ผมมียาที่เตรียมไว้ที่บ้าน แต่ไม่สามารถใช้ได้ที่โรงพยาบาล ก็รอจนกว่าเขาจะบอกว่า หมอรักษาพี่สาวคุณไม่ได้แล้ว และผมจะรีบพาพี่สาวกลับบ้าน” รอนบอก

หมอบอกว่าเซลล์มะเร็งกระจายขึ้นสมอง และร่างกายพี่สาวไม่สามารถรับเคมีบำบัดได้ สิ่งแรกที่รอนทำเมื่อพาพี่สาวกลับบ้านคือใช้น้ำมันสกัดจากกัญชาที่ได้มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยโดสที่ทดลองและมอนิเตอร์อาการพี่สาวมาตลอด – 35 หยดไว้ที่ใต้ลิ้น

4 วันแรกหลังใช้น้ำมันสกัดจากกัญชารอบใหม่ พี่สาวของรอนเริ่มดีขึ้นก่อนที่จะกลับมาจดจำสมาชิกในครอบครัวได้อีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม “เขาให้โอกาสผมอีกทีหนึ่งว่าจะกินจะใช้กัญชา ผมล้มเหลวมากในตอนแรก ผมเกือบฆ่าพี่สาวด้วยยาที่ไม่สะอาด ผมอยากเน้นว่า ความสะอาดของวัตถุดิบสำคัญมาก”

รอนได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา และได้ศึกษาการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งเรื่องโดสที่รอนทดลองเองมาตลอด และการสลับใช้สายพันธุ์เพื่อให้เกิดประสิทธิผล

น้ำหนักของพี่สาวขึ้นมาเป็น 44 กิโลกรัมจาก 34 ณ ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลหนล่าสุด รอนเก็บสถิติไว้หมด “ผมต่อสู้กับสังคมที่ผมเคยยอมแพ้ไปแล้ว ญาติรุมประณามผมว่า มึงเอาอะไรให้เขากิน มึงทำแบบนี้ทำไม มึงจะฆ่าพี่มึงใช่มั้ย แต่ผมศึกษามันจริงจัง”

35 วันผ่านมา ขณะเรากำลังเล่าเรื่องของรอน พี่สาวให้โอกาสกัญชาและน้องชายของเธอ เธอไม่มีอาการเจ็บปวด สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการทำอาหาร ออกกำลังกาย “ทุกวันนี้แม่ยอมรับ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะยอมให้พี่สาวใช้แต่ยังไม่ยอมรับ แต่วันนี้เขายอมรับแล้ว” รอนบอก

เรื่องราวของรอนและพี่สาวยังไม่จบ เขาวางแผนว่าหากน้ำหนักตัวพี่สาวเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เขาจะพาพี่สาวไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล

เรื่องของรอนเพิ่งเริ่มต้น

 

US Patent #6630507 และสิทธิบัตรตัวอื่นๆ

อุปสรรคในการเข้าถึงยาถูกมองด้วยกรอบใหญ่ 3-4 กรอบ 1.Availability 2.Accessibility 3.Affordability และ 4.Access to Medicine Index

กรอบการเข้าถึงยาเหล่านี้มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงยา ตั้งแต่ยาบางตัวไม่ขึ้นทะเบียนเมืองไทย ระบบสิทธิบัตรมีผลต่อราคาและการเข้าถึง และการเข้าถึงยามีปัจจัยควบคู่ไปกับการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุข

“การเข้าถึงยามีมิติที่กว้าง หลายคนพยายามจะโฟกัสที่ระบบบริการด้วยซ้ำ ถ้าระบบบริการไม่ดี ไม่เข้มแข็ง ก็มีโอกาสที่จะปิดกั้นการเข้าถึงยา อยากให้เห็นภาพใหญ่ของบริบท” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เกริ่นนำ ก่อนที่จะกล่าวถึงกรณีกัญชา

กัญชา – นอกจากกฎหมาย ทัศนคติของสังคมคือสิ่งที่ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา มองว่าเป็นอุปสรรคในการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

“เมื่อวานฉันไปเจออุตสาหกรรมสมุนไพรแผนโบราณ พวกเขากังวลมาก และไม่อยากทำยาจากกัญชา เพราะคนในฝั่งสมุนไพรแผนโบราณ บอกว่า มันเป็นสิ่งไม่ดี กังวลว่าคนจะนำไปใช้ในทางผิด มันก็สะท้อนค่านิยมที่ฝังหัวเรามา มันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงกัญชาในฐานะยาด้วย เห็นมั้ยนี่คือทัศนคติของผู้ผลิต” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เล่า

ถ้าโลกประกาศสงครามกับยาเสพติด เราก็คือเชลยสงครามที่ถูกกวาดต้อนมาจากความล้มเหลว การควบคุมยาเสพติดด้วยการลงโทษตามกฎหมายอาญา ส่งผลกระทบเชื่อมโยงในหลายมิติ เช่น สังคม เศรษฐกิจ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เมื่อพิจารณาจากแผนการใช้จ่ายงบประมาณรวมของประเทศไทยประจำปีงบประมาณ 2558 จำนวน 2,575,000,000,000 บาท พบว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้รับการจัดสรรงบประมาณมากถึง 158,290,300,000 บาท เท่ากับร้อยละ 6.1 ของงบประมาณทั้งหมด ในขณะที่งบประมาณด้านสาธารณสุขซึ่งต้องดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศกว่า 70 ล้านคน มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 10.2 ของงบประมาณทั้งหมด[5]

แนวคิดทางนโยบายและกฎหมายในกระแสโลกปัจจุบันต่อการควบคุมยาเสพติด จึงมีประเด็นทางสังคม การแพทย์และสาธารณสุข และกฎหมายตลอดจนการบังคับใช้ แนวทางการดําเนินงานลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) เป็นทิศทางของโลกที่มีต่อยาเสพติด เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดและทำให้การเสพยาเสพติดไม่เป็นความผิดทางอาญา

ทิศทางของนโยบายสอดคล้องกับสิ่งที่ พิภพ ชำนิวิภัยพงษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เรื่องการทบทวนให้ใช้มาตรการลดทอนความเป็นอาชญากรรมกับกัญชา

“แนวโน้มก็คือ ถ้าเป็นการใช้เฉพาะตัว ก็คือต้องได้รับการอนุญาตเป็นรายๆ ไป ก็อาจจะพิจารณาแนวทางการควบคุมพืชกัญชงเป็นพื้นฐาน ขณะนี้เรามี พ.ร.บ.พืชกัญชง ออกมาแล้ว แต่จะบังคับใช้ในอีกปีข้างหน้า แนวทางพืชกัญชาที่จะเอามาใช้อาจจะเป็นเรื่องการควบคุม มีคณะกรรมการ มีการลงทะเบียน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหรือการทำประชาพิจารณ์ นี่คือแนวทางที่ ป.ป.ส. ดำเนินการในเร็วๆ นี้อยู่”

โปรเจ็คต์ที่ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กำลังทำร่วมกับหน่วยงานอย่าง ป.ป.ส. ในการหาคำตอบในสิ่งที่ทางวิชาการต้องการรู้เกี่ยวกับกัญชา เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์และข้อน่ากังวลของกัญชา และขจัดอุปสรรคทั้งกฎหมายและทัศนคติที่เป็นอุปสรรคต่อการนำกัญชาไปวิจัยและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

“อะไรที่เรารู้บ้าง อะไรที่เรายังไม่รู้ อะไรที่เราต้องรู้ เพื่อจะหาช่องโหว่มาทำวิจัย สิ่งไหนต้องรู้ และอะไรที่มันเป็นปัญหาในการเข้าถึง มันมีกี่ด้าน กฎหมายมันเป็นข้อหนึ่งแน่ๆ และทุกคนก็รับรู้เข้าใจตรงกัน การ implement กฎหมาย เช่น ระบบระเบียบกติกาทางกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการวิจัย หรืออะไรที่เป็นผลกระทบเชิงโครงสร้างเชิงระบบ และสิ่งที่เป็นปัญหาคือทัศนคติ ต่อให้วิจัยกันแทบตาย ถ้าคนไม่เข้าใจเขาก็ต่อต้าน เพราะฉะนั้นทัศนคติเป็นสิ่งที่กีดกั้นนโยบายที่จะ implement จริงๆ”

ดูเหมือนว่าสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียว สหรัฐจดสิทธิบัตรว่าด้วยการใช้กัญชาเป็นยา เลขสิทธิบัตร US Patent #6630507 ระบุว่ากัญชาสามารถรักษาและป้องกันโรคได้ในหลายกลุ่มโรค นอกจากนี้บริษัทยาขนาดใหญ่ในอเมริกายังได้จดสิทธิบัตรเลขสิทธิบัตร US 20130059018 ว่าด้วยการใช้กัญชารักษามะเร็งระบุว่า Cannabinoids เช่น THC และ CBD จะหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและทำให้เซลล์ตายในที่สุด[6]

“มันมีสิทธิบัตรหลายตัว อย่างน้อย 3-4 สิทธิบัตร และมีที่จะจดอีก ที่สำคัญคือ สิทธิบัตรมีทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และกระบวนการ นี่คือปัญหาที่จะทำให้คนเข้าไม่ถึงยา” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว

 

สว่างอารมณ์

เสียงน้ำในบ้องแก้วสะเทือนเมื่อ มาร์ค เรนตัน สูบเอาควันสีขาวจากการเผาไหม้ของสายพันธุ์ Girl scout cookie ที่วิ่งขึ้นมาจากผิวน้ำ

เราจำเป็นต้องปกปิดตัวตนของเขา เพื่อเผยเล่าเรื่องราว

จึงขอเรียกเขาว่า มาร์ค เรนตัน ชื่อของตัวละครหลักในภาพยนตร์ Transporting เขามีสตอรีและบุคลิกบางอย่างที่คล้ายมาร์ค เรนตัน

มาร์คปลูกกัญชาระบบปิดไว้ในห้องภายในบ้านที่มีบริเวณและเงียบสงบในย่านพลุกพล่านของกรุงเทพมหานคร องค์ความรู้ในการปลูกกัญชาสามารถหาได้ในหนังสือ อินเทอร์เน็ต และกลุ่มในโซเชียลมีเดียคือแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการปลูกกัญชา

“แต่ถามว่ามีแบ่งมั้ย แน่นอนก็มีแบ่งบ้าง แต่เป็นแค่ small circle เท่านั้น” มาร์ค เรนตัน บอกว่ากัญชาที่เขาปลูกมีการแบ่งเวียนกันใช้ในกลุ่มผู้ปลูกที่รู้จักกัน “ถ้าไปซื้อกับ local grow บางคนที่ปลูกกันเองเหมือนผม ส่วนใหญ่จะชอบใช้ปุ๋ย แล้วปุ๋ยอะไรไม่รู้ บางทีมันตกค้าง ล้างปุ๋ยออกไม่หมด ยังไม่ต้องพูดเรื่องอาการ แค่รสชาติก็แย่มากแล้ว”

“ถ้าดูดของที่ไม่มีสารตกค้างเหลืออยู่เลย เวลาดูดรสชาติของแต่ละสายพันธ์ุมันจะออกมาชัดเจน” รัฐพล แสนรักษ์ กล่าวเสริมสิ่งที่มาร์คพยายามอธิบาย

รัฐพลเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Highland และผู้ทำเพจ กัญชาชน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกัญชา เขาเป็นผู้แนะนำให้เรารู้จัก มาร์ค เรนตัน

“อืม ลิ้นนี่รู้เลย สะดุ้งเลยดูดเข้าไป” มาร์คบอก

“มันเหมือนจิบไวน์” รัฐพลเสริม “ดู ดม สูบ ดมว่ากลิ่นเป็นแบบไหน มาจากดินแบบไหน รสชาติมันจะบอกกลิ่นที่มากับสายพันธุ์ของมัน เช่น มีกลิ่นแมงโก เลมอน ซึ่งขึ้นกับดินที่ปลูกด้วยนะ”

รัฐพลเดินเข้าไปสู่โลกกว้างของกัญชาเมื่อตอนเรียนที่แคลิฟอร์เนีย และมีโอกาสได้ใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน โดยได้รับใบรับรองจากแพทย์ที่นั่น เขาได้รู้จักกับกลุ่มผู้ปลูกในอเมริกาที่บริจาควัตถุดิบให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประโยชน์ และมีโอกาสได้ไปทำงานในโรงปลูกกัญชาในตำแหน่ง trimmer หรือคนตัดใบออกจากดอก

“ผมเห็นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ใช้กัญชา ผมรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่จะช่วยคนป่วย ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ผมเริ่มศึกษาเชิงลึก ลงไปถึงระบบการออกฤทธิ์ของร่างกาย หาอ่านไปเรื่อย กำลังจะเรียนจบ แม่ป่วยเป็นมะเร็ง ผมกลับมาดูแลแม่ พอมาพูดเรื่องนี้กับครอบครัวกับที่บ้าน ไม่มีใครเข้าใจ เขาไม่เชื่อเลย ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นยาเป็นทางเลือกที่ใช้ได้ดีกับแม่ผมเอง แต่ทัศนคติที่เราปิดกั้น ก็เลยกลายเป็นว่าทุกอย่างก็แย่ แล้วแม่ผมก็เสียชีวิต” รัฐพลบอกถึงจุดเริ่มต้นในการศึกษาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกัญชา

“ผมเลยคิดว่าเรื่องเหล่านี้ควรได้รับการเผยแพร่ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้น ประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพได้ เราสามารถเป็น medical hub ของเอเชียได้ เราสามารถเป็นอะไรได้มากมาย มันสามารถพลิกเศรษฐกิจของเราได้ นั่นคือสิ่งที่ผมคิด ผมเลยทำเพจ แมกกาซีน อีเวนท์ จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง” รัฐพลบอก

เราหันกลับไปถาม มาร์ค เรนตัน “เคยคุยกันในหมู่คนปลูกมั้ยว่า จะบริจาคกัญชาให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์”

“เคยคุยกันเรื่องนี้ครับ แต่เรายังไม่กล้า ที่ผ่านมายังไม่กล้า ที่ผ่านมาเราปลูกแบบผสมผสาน คือมีการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วย ซึ่งถึง flood ออก เราก็ไม่กล้ารับประกันว่า คนป่วยจะใช้ได้ เราว่ามันเหมาะกับผู้ใช้แบบ recreational use มากกว่า ถ้าเกิดจะใช้ทางการแพทย์จริงๆ ต้องเป็นดินล้วนเท่านั้น ซึ่งเราเพิ่งจะทำดินล้วนตั้งแต่ต้นจนจบได้ แต่ยังไม่เก่งมาก”

“มันเป็น conflict กันอยู่พอสมควรในกลุ่มผู้ใช้ จริงๆ เราไม่ได้สนับสนุน เพราะมันสุ่มเสี่ยงในการปนเปื้อน มันเป็น conflict ที่ตอบยาก เพราะ หนึ่ง มันต้องใช้ไปก่อนเพราะไม่มีอะไรจะใช้  สอง ถ้าเราจะใช้ควรจะใช้ของที่ปลอดภัยขึ้น เราจึงจะเรียกมันได้ว่ายา มันไม่สามารถตอบได้ครับ ณ สถานการณ์ตอนนี้ มันก็เลยมีคนที่ยอมเสี่ยงใช้ของที่อาจปนเปื้อนได้” รัฐพลแสดงความเห็น

“น่าสนใจว่าน่าจะนำตัวอย่างมาตรวจนะ” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา บอกกับเราเมื่อหลายวันก่อนที่จะมาพบกับรัฐพลและมาร์ค เรนตัน “ฉะนั้นเราจะพบว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาเราไม่ได้รู้มากเลยนะ ว่าตกลงมันปนเปื้อนอย่างไร ที่ฉันสนใจนะ หนึ่ง มียาฆ่าแมลงมั้ย สอง สารไม่พึงประสงค์ที่ได้จากการสกัดมากน้อยแค่ไหน สาม มีการลักลอบใส่อย่างอื่นด้วยมั้ย เช่น สเตียรอยด์ ยาสมุนไพรตอนนี้แอบใส่สเตียรอยด์ทั้งนั้น”

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เคยกล่าว “ผมเคยเขียนจดหมายไปหา อย. บอกเขาว่า จับยาเสพติดได้มาเยอะแยะแล้วเอาไปเผาทิ้งมันน่าเสียดายของ ขอเอามาทำยาเพื่อให้คนไข้ที่เจ็บปวดเรื้อรังหรืออยู่ในระยะท้ายของชีวิตจะดีกว่า เขาก็ตอบกลับมาในทำนองชื่นชมว่า ช่างไร้เดียงสาเหลือเกิน นี่เป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศที่ตกลงกัน ว่าห้ามผลิตยาพวกนี้ ประเทศที่จะปลูกฝิ่นเพื่อทำสกัดเป็นสารต่างๆ ได้ก็มีแต่อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เท่านั้น และอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทยา ผมจึงถึงบางอ้อเลย ว่านี่คือเรื่องกฎหมายที่รับใช้ผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย”

“ผมมองว่ากลุ่มคนใช้ไม่ได้สู้เรื่อง medical แบบเต็มตัว” รัฐพลเห็นเช่นนั้น “กลุ่มคนใช้ต้องการผลักเรื่องไม่เป็นโทษทางอาญา (decriminalization) เพราะเราคือ user เรามั่นใจว่าเราไม่ได้สร้างปัญหาให้ใคร และสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ถูก เราก็คือโซเชียลๆ หนึ่ง ที่เลือกความมึนเมาอีกแบบหนึ่ง มันไม่ควรเป็นโทษทางอาญา ไม่ใช่อาชญากร แต่การกำหนดโทษอาญาให้ผู้ใช้เป็นนโยบายที่ผิด เป็นนโยบายที่ล้มเหลว การเอาคนไปขังคุกมันแก้ปัญหาไม่ได้”

“เรื่อง medical ผมเห็นว่าควรทำให้ถูกกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์” มาร์ค เรนตัน บอก “มันเป็นสิทธิมนุษยชนที่เรามีสิทธิจะเข้าถึงการรักษา อันนั้นคือหนึ่งนะ ซึ่งผมสนับสนุน 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่อง recreational use ผมคิดว่าอาจจะต้องให้ความรู้สักพักหนึ่งในทุกๆ ด้าน”

พวกเขามองว่า การผลักดันให้ใช้กัญชาในแง่มุมของ recreational use จะต้องค่อยเป็นค่อยไปและวางอยู่บนความรู้ กฎหมาย การควบคุม ระบบการจัดการ เพราะคงไม่มีใครอยากให้การตะโกนว่า ‘กัญชาเสรี’ ไปปิดประตูการเข้าถึงของผู้ต้องการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

“ใช่ ต้องให้การศึกษาทุกหย่อมหญ้า” มาร์คระเบิดหัวเราะตามลักษณะบุคลิกของเขา ก่อนกลับ เขาถามเราว่า “แล้วคุณล่ะ สูบมั้ย”

Girl scout cookie สีเขียวพิสตาชิโอถูกบดหยาบอยู่บนถาดไม้สีน้ำตาล

เสียงน้ำในบ้องสะเทือนขึ้นอีกครั้ง.


[1] เมื่อการ “เสพยาเสพติด” ไม่เป็นความผิด (The decriminalization of drug use) โดย ว่าที่ ร.ต. ศรัณยู โสสิงห์
[2] ข้อมูลจากเพจ กัญชาชน
[3] ข้อมูลจากเฟซบุ๊คเพจ High Thailand
[4] http://prachatai.com/journal/2016/11/68734
[5] http://korganja.com/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81/
[6] http://waymagazine.org/thai-buyers-club/

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า