‘จุลินทรีย์ในมนุษย์’ คีย์เวิร์ดสำคัญของทุกความป่วยไข้

ภาพประกอบ: antizeptic

 

จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ไม่ใช่แค่ทำให้เราถ่ายท้องดีขึ้น แต่คือตัวการบอกว่าสุขภาพร่างกายเราเป็นแบบไหน โรคอ้วน, การตอบรับวัคซีน HIV ในผู้หญิง, ภูมิคุ้มกันเด็ก, ภาวะออทิสซึม และความกังวล

และล่าสุดคือ จุลินทรีย์อาจถูกใช้เพื่อสร้างพัฒนาการการรักษาความป่วยไข้ทางจิตใจสมัยใหม่

“ในร่างกายมนุษย์ มีเซลล์จำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านล้านเซลล์ หากความเป็นจริงแล้วเซลล์มนุษย์เป็นเพียง 1 ใน 10 ส่วนของจำนวนเซลล์ทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย อีก 9 ส่วนที่เหลือคือจำนวนเซลล์ของจุลินทรีย์ที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย” ซึ่งจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายนี้ รวมเรียกว่า ไมโครไบโอต้า (microbiota)

คือคำอธิบายของ ดร.ผกากรอง วนไพศาล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในบทความเรื่อง ไมโครไบโอต้า จุลินทรีย์ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด

คล้ายกันกับคำอธิบายของ จอห์น ไครอัน (John Cryan) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา (neuropharmacologist) และผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครไบโอม (microbiome) หรือการศึกษายีนของจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกายมนุษย์ มหาวิทยาลัยคอลเลจ คอร์ค (University College Cork) กล่าวไว้ว่า

เรามักคิดว่ามนุษย์ดำรงอยู่ได้ก็เพราะเซลล์มนุษย์ (human cell) และยีน แต่จริงๆ แล้วไมโครไบโอต้าต่างหาก สำคัญที่สุด

“พัฒนาการของมนุษย์และระบบการทำงานในร่างกายทุกระบบล้วนถูกพัฒนา หรือร่วมกันพัฒนากับไมโครไบโอต้าทั้งสิ้น” ไครอันกล่าว

ไมโครไบโอต้า จุลินทรีย์ทุกชนิดในร่างกาย คืออะไร สำคัญอย่างไร?

ผู้เขียนอาจเป็นคนเดียวที่คิดว่า ชีวิตมนุษย์กับจุลินทรีย์มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงกับ โยเกิร์ต กิมจิ ซาวเคราท์ (sauerkraut) หรือกะหล่ำปลีเปรี้ยว แกงส้ม เมนูที่นึกขึ้นได้เมื่ออยากถ่ายท้อง ซึ่งไม่ผิดนะคะ แต่ถูกต้องแค่ส่วนหนึ่ง

บทความเรื่อง The Human Microbiome: why our microbes could be key to our health (การศึกษาไมโครไบโอต้า: ทำไมจุลินทรีย์จึงดีต่อสุขภาพของเรา) อธิบายว่า จุลินทรีย์ทุกชนิดในร่างกายมนุษย์ ทั้งจุลินทรีย์ แบคทีเรีย อาร์เคีย* และไวรัส รวมเรียกว่า ไมโครไบโอต้า

จุลินทรีย์เหล่านี้พบได้ในร่างกายมนุษย์ทั้งในและนอกร่างกาย ตั้งแต่ช่องท้อง ช่องหู ช่องคลอด ระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และอื่นๆ เมื่อรวมกันแล้วจุลินทรีย์มีจำนวนเซลล์มากกว่าเซลล์มนุษย์เสียอีก (แต่เดิมพบว่าสัดส่วนระหว่างจุลินทรีย์กับเซลล์มนุษย์ คือ 1:10 แต่งานวิจัยใหม่ ‘คาดว่า’ อยู่ที่ 3.1:1 ตัวเลขนี้นับเฉพาะจุลินทรีย์ ไม่รวมไวรัส และวิริออน (virion ไวรัสมีส่วนประกอบครบสมบูรณ์)

ความสำคัญของมันคือ มันเป็นเหตุเป็นผล เป็นพัฒนาการของร่างกายแทบทุกจังหวะของมนุษย์ ไล่ตั้งแต่…

1. อยู่ในท้องแม่

ดร.ผกากรอง ชี้ว่า “ไมโครไบโอต้าตั้งต้นที่อาศัยในร่างกายเรานั้นได้ส่งผ่านจากแม่มาสู่ทารก โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบทางเดินทางอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งผิวหนังของทารกได้รับจากแม่ทั้งก่อนและหลังคลอด”

ขณะที่ไครอันชี้ว่า เด็กที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ จะได้ไมโครไบโอต้าตั้งต้นผ่านทางอวัยวะเพศของแม่ เรื่องนี้จริงจังขนาดที่ว่า มีงานวิจัยสองชิ้นออกมาตีโต้กัน ฝ่ายหนึ่งชี้ว่ามีทางเลือกสำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอด ใช้แบคทีเรียจากช่องคลอดคุณแม่ป้ายไปที่ผิวหนัง เปลือกตา แตะที่ปากเพื่อให้แบคทีเรียนั้นเข้าสู่ร่างกายของลูกได้ วิธีนี้เรียกว่า vaginal seeding ขณะที่คุณหมออีกกลุ่มหนึ่งชี้ว่า มีหลักฐานน้อยมากยืนยันว่า vaginal seeding จะได้ผล และเตือนว่ามันอาจจะอันตรายต่อเด็กมากขึ้นไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่อ้างในงานวิจัยทั่วไประบุคล้ายกันว่า ‘ภูมิคุ้มกัน’ ของลูก ก็คือแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จากแม่

2. เงื่อนไขสู่ภาวะออทิสซึม ความกังวล โรคอ้วน โรคเบาหวาน การตอบรับวัคซีน HIV ในผู้หญิง

งานวิจัยสมัยใหม่จำนวนหนึ่งชี้ว่า จุลินทรีย์ในลำไส้ มีผลต่อโรคภัย ปัจจัยที่จะพัฒนาตัวโรค หรือการตอบสนองของร่างกายต่อยา เช่นการตอบสนองของผู้ป่วยมะเร็งต่อยาที่ใช้รักษา

ปัจจุบันยังเป็นที่ศึกษาและนับเป็นหัวข้อวิจัยที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เงื่อนไขและการตอบสนองของจุลินทรีย์ในลำไส้ มีผลต่อการพัฒนาโรค เช่น จากโรคเบาหวานสู่ภาวะออทิสซึม จากความกังวลใจสู่การเป็นโรคอ้วน หรือไม่

  • เฉพาะเรื่องความอ้วน ความสัมพันธ์ก็คือ จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียในท้องมีผลต่อการผลิตแก๊ส ประสิทธิภาพในการดูดซึมอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ
  • เฉพาะเรื่องอารมณ์ คำอธิบายคือ จริงๆ แล้วอารมณ์เกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง แต่ส่วนที่เกี่ยวพันกับจุลินทรีย์ในลำไส้คือ ประสาทเวกัส (vegus nerve) หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เปรียบได้ว่าคือทางเชื่อมจากสมองสู่ร่างกาย รับความรู้สึกจากลำคอ กล่องเสียง ช่องอก และช่องท้อง รวมถึงลำไส้ด้วย

ข้อเท็จจริงเรื่องจุลินทรีย์และอารมณ์นำไปสู่การพัฒนาการรักษาทางจิตวิทยาแนวใหม่ อย่างที่ไครอัน อธิบายว่า “psychobiotic (จิตวิทยาว่าด้วยความรู้ด้านจุลินทรีย์) คือแนวคิดที่กำลังศึกษาอยู่ เป้าหมายคือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับสมอง”

นอกจากนี้ยังมี งานวิจัยกับผู้หญิงแอฟริกาใต้ เรื่อง ประเภทแบคทีเรียในอวัยวะเพศหญิง ลดการตอบรับหรือตอบสนองต่อวัคซีน HIV ด้วย

แล้วเราจะดูแลจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายเราได้อย่างไร

ก่อนจะว่าด้วยเรื่องของการทะนุถนอมแบคทีเรียในร่างกาย ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก่อนว่า ไมโครไบโอต้าที่กล่าวไปทั้งหมดมีทั้งชนิดรวมพลังกันแล้วรอด และชนิดรวมหมู่อาจทำให้คนเกือบตาย เพียงแต่วงการแพทย์ปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญของเจ้าจุลินทรีย์และแบคทีเรียนี้ในฐานะต้นเหตุของปัญหา และข้อดีในฐานการพัฒนาตัวยา

แต่สำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั่วไป ไครอันยืนยันว่ามันก็คือการรักษาสมดุลอาจมีเสริมและพูดถึงเรื่อง ‘พรีไบโอติก’ (prebiotic) และโพรไบโอติก (probiotic) กล่าวพรีไบโอติกคือสารอาหารที่ลำไส้ (เซลล์มนุษย์) ย่อยไม่ได้ แต่จะถูกย่อยโดยแบคทีเรียในท้อง เช่น แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส หรือจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bifidobacterium ด้วยการกระตุ้นการทำงานและการเจริญของจุลินทรีย์โพรไบโอติก

หรือกล่าวได้ว่า การกินโยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ ที่มีแบคทีเรียประเภทนี้เป็นตัวเลือกที่คิดได้เร็วๆ และใกล้ตัว

ทิม สเปคเตอร์ (Tim Spector) ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ (genetic epidemiology) แห่งราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน (King’s College London) และผู้เขียน The Diet Myth: The real science behind what we eat  ให้คำแนะนำว่า

“แต่มันก็ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าคุณต้องกินแต่โยเกิร์ต หรืออาหารจากกระบวนการหมักหรือดองเท่านั้นจึงจะดี แต่เป็นเรื่องจริงที่ว่าการปล่อยให้ท้องได้รับแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์พวกนี้บ้างเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ธรรมชาติของท้องไส้หรือการตอบสนองต่อจุลินทรีย์ในท้องแต่ละคน

“อย่างไรก็ขอให้นึกถึงอาหารที่มีไฟเบอร์ และคำนึงถึงอาหารที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารแต่ละวัน”


*อาร์เคีย คือโพรคาริโอต (prokaryote-เซลล์ไม่มีนิวเคลียส) ที่มีรูปร่างและขนาดคล้ายแบคทีเรีย ในระยะแรก นักวิทยาศาสตร์จัดให้อยู่ในกลุ่มแบคทีเรีย โดยเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ว่า ‘อาร์เคียแบคทีเรีย’ (archaea) แต่เมื่อศึกษาสมบัติต่างๆ ของเซลล์เพิ่มขึ้นพบว่าอาร์เคียมีสมบัติบางประการแตกต่างจากแบคทีเรียและมีความคล้ายกับยูคาริโอต จึงตั้งเป็นกลุ่มใหม่เรียกว่า อาร์เคีย
ที่มา:
pharmacy.mahidol.ac.th
theguardian.com
theguardian.com 2
bbc.com
biology.ipst.ac.th
www.sciencedaily.com

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า