เลือกตั้ง66: ส่องนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร-ปฏิรูปกองทัพ พรรคไหนกล้าท้าชน

หลังผ่านฤดูกาลเกณฑ์ทหาร พร้อมยอดผู้สมัครเป็นทหารจำนวนมากถึง 23,126 คน (ข้อมูลวันที่ 11 เมษายน 2566) นับเป็นยอดสูงสุดของการสมัครทหารเมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันในทุกปีที่ผ่านมา แม้จะแสดงถึงแนวโน้มการเกณฑ์ทหารที่มีผู้สมัครใจมากขึ้น สอดคล้องกับยอดเกณฑ์ทหารที่ลดลงจากปี 2561 เป็นต้นมา แต่ใช่ว่าข้อถกเถียงเรื่องการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารจะหมดไป

ข้อถกเถียงดังกล่าวมีสาเหตุจากสวัสดิภาพของพลทหาร อาทิ การทำงานนอกเหนือหน้าที่ ค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล ช่วงชีวิตวัยทำงานที่หายไป บางครอบครัวต้องเสียเสาหลัก วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่กดทับและสร้างความเครียดให้กับผู้ที่มียศต่ำกว่าตามสายบังคับบัญชา กระทั่งการตายโดยไม่มีสาเหตุของพลทหารหลายกรณี มากไปกว่านั้น สภาพความเป็นอยู่อันอัตคัดของทหารชั้นผู้น้อยยังขัดแย้งกับจำนวนงบประมาณที่มากโขของกระทรวงกลาโหม

ล่าสุด วันที่ 14 มีนาคม 2566 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 198,562.9 ล้านบาท สูดสุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการคลัง

สิ่งสำคัญคือ หากยกเลิกหรือปรับสัดส่วนการเกณฑ์ทหาร ตลอดจนเกลี่ยงบกองทัพใหม่ หรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้ง สวัสดิภาพและประสิทธิภาพของทหารไทยจะพัฒนาขึ้นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าสังคมไทยอดรนทนรอคำตอบไม่ไหวหลังการเลือกตั้ง

ในวาระโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง WAY ชวนสำรวจ ‘นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ ของแต่ละพรรคการเมืองว่า พรรคไหนมีนโยบายว่าด้วยการเกณฑ์ทหารอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

พรรคก้าวไกล

  • ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ โดยไม่กระทบภารกิจรักษาความมั่นคง 
    • ลดยอดพลทหารที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจความมั่นคง เช่น ยอดผี พลทหารรับใช้ งานที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง
    • สร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหาร เช่น สร้างสวัสดิภาพ-สวัสดิการ ความก้าวหน้าทางอาชีพ ขจัดความรุนแรงในค่าย สร้างกลไกการร้องทุกข์ แก้ พ.ร.บ.วินัยทหาร
  • ยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน เช่น สภากลาโหม
  • ลดกำลังพล 30-40 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย
    • ลดจำนวนนายพลเหลือ 400 นาย
    • ลดจำนวนพลทหาร
    • ควบรวมสำนักปลัดกลาโหมเข้ากับกองบัญชาการกองทัพไทย
    • ให้ทุกเหล่าทัพใช้ผู้ช่วยทูตทหารร่วมกัน
    • โอนภารกิจ-งบที่ไม่เกี่ยวกับการทหารให้หน่วยงานพลเรือนที่เกี่ยวข้อง เช่น สร้าง-ซ่อมถนน พัฒนาแหล่งน้ำ

พรรคเพื่อไทย

  • แก้ไขกฎหมาย ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ
  • เปิดรับสมัครออนไลน์ ไม่กำหนดเป้าหมายการรับสมัคร เพื่อทำให้เป็นทหารมืออาชีพ
  • ลดงบกลาโหมลง 10 เปอร์เซ็นต์ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
  • ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

พรรคไทยสร้างไทย

  • ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 
  • ตัดลดงบซื้ออาวุธ เปลี่ยนเป็นสวัสดิการ สร้างแรงจูงใจให้คนมาสมัครเพิ่มขึ้น
  • ปรับลดจำนวนพลทหารให้เพียงพอต่อความจำเป็น 

(ที่มา: น.ต.ศิธา ทิวารี กล่าวขณะลงพื้นที่หาเสียงเขตบางพลัด)

พรรคเสรีรวมไทย

  • ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ
  • ลดขนาดกองทัพ ลดจำนวนนายพล เน้นใช้เทคโนโลยีแทนกำลังคน
  • ลดระยะเวลาประจำการจาก 2 ปี เป็น 1 ปี
  • กระจายกองทัพออกนอกจากกรุงเทพฯ ทำให้มีพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น เช่น สวนสาธารณะ

พรรคชาติพัฒนากล้า

  • ปรับปรุงกระบวนการเกณฑ์ทหาร
  • ทำให้ทหารเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ดี ตำแหน่งหน้าที่ดี ก้าวหน้า ทำให้ไม่มีการเกณฑ์ทหารในท้ายสุด

(ที่มา: สุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวบนเวทีเลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย จัดโดย เครือมติชน)

พรรครวมไทยสร้างชาติ

  • แบ่งสัดส่วนทหารเกณฑ์ 30 % ทหารอาสา 70%
  • เพิ่มสิทธิ สวัสดิการ มีรายได้ และได้เรียนจนจบปริญญาตรี

(ที่มา: พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ (ลอรี่) ผู้สมัคร ส.ส. เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ กล่าวขณะพบสื่อเครือเนชั่น แต่ไม่มีนโยบายนี้บนเว็บไซต์พรรค)

*เพิ่มเติม: พรรครวมไทยสร้างชาติแสดงท่าทีคงระบบการเกณฑ์ทหารไว้ เพราะกังวลว่าจะไม่มีทหารป้องกันประเทศเมื่อกองกำลังไม่ทราบฝ่ายประชิดชายแดน ดังคลิปวิดีโอ ‘ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

พรรคพลังประชารัฐ

  • ไม่มีนโยบาย

พรรคประชาธิปัตย์

  • ไม่มีนโยบาย

พรรคภูมิใจไทย

  • ไม่มีนโยบาย

เพิ่มเติม: “ดีอยู่แล้ว” อนุทิน ชาญวีรกูล ให้สัมภาษณ์กับ ไทยรัฐ กรณียกเลิกทหารเกณฑ์ เผยลูกชายตนเคยจับได้ใบแดง เป็นทหาร 1 ปี วินัยดีขึ้น

ที่มา

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า