พ.ร.บ.‘แร่’ เนื้อเถือหนัง

photo: Jennifer Woodard Madrazo (flickr.com/photos/jenniferwoodardmaderazo)
photo: Jennifer Woodard Madrazo (flickr.com/photos/jenniferwoodardmaderazo)
เรื่อง/ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

 

ตั้งแต่เมื่อแรกก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ‘กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา’ ก็ทำหน้าที่ในการดูแลกิจการเหมืองแร่ การออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการตรวจหาแร่และทำเหมืองแร่ตลอดทั่วราชอาณาจักร จากนั้นเปลี่ยนชื่อเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันในชื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รู้จักสั้นๆ ในชื่อ ‘กรมเหมืองแร่’ หรือ กพร.

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่ทั้งสิ้น 5 ฉบับ[1]นับตั้งแต่พระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ในปี 2509, พระราชบัญญัติเหมืองแร่ในปี 2510, พระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุกในปี 2514, พระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ ปี 2526, พระราชบัญญัติโรงงาน ปี 2535  และพระราชบัญญัติแร่ในปี 2545

ไม่นับร่างพระราชบัญญัติเหมืองแร่ฉบับล่าสุดที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่หากผ่านการพิจารณา ปรับแก้ จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ร่างพระราชบัญญัติเหมืองแร่ ปี 2559 จะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ฉบับที่ 6 และเป็นร่างกฎหมายที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแสดงความกังวลต่อสิ่งที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่หลายประเด็น ประเด็นที่สำคัญอยู่ตรงที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ต้องการผลักดัน พระราชบัญญัติกฎหมายเหมืองแร่ฉบับปี 2559 นี้ มีหลักการที่เพิ่มเติมเข้าไปจาก พ.ร.บ. เมื่อปี 2510 ดังนี้

  • ต้องการจัดทำ ‘ไมนิ่งโซน’ หรือเขตทรัพยากรเหมืองแร่ขึ้น เนื่องจากตลอด 115 ปีที่นับตั้งแต่ที่มีกิจการเหมืองแร่ขึ้น กพร. ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากกรมด้านทรัพยากรอื่นๆ เช่น กรมป่าไม้ เหตุผลที่ กพร. ต้องการจัดทำ ‘ไมนิ่งโซน’ ก็เพื่อที่จะเข้าไปสัมปทานที่ดินต่างๆ ได้เลย ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่ดินในเขตป่าสงวน หรือที่ดินในการครอบครองกรรมสิทธิ์ของ สปก. กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ กพร. ต้องการเฉือนที่ดินเพื่อจะจัดทำสัมปทานให้กับเอกชนเข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ได้เลย
  • กพร. ต้องการลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จาก พ.ร.บ.เดิม ในปี 2510 ที่ให้เวลาไว้ 310 วันก็ลดลงมาเหลือ 100 วันเป็นอย่างน้อย ไม่เกิน 105 วัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็วให้มากที่สุด
  • กพร. ต้องการให้หน่วยงานของตนมีรูปแบบการดำเนินในลักษณะของ One Stop Service สำหรับผู้ที่ต้องการทำกิจการเหมืองแร่ให้มาติดต่อที่ กพร. แล้วดำเนินการเสร็จสิ้นนับตั้งแต่ขั้นตอนขอใบสัมปทานเหมืองแร่ได้เลย

ทั้งสามประการคือสิ่งที่ กพร. ต้องการในพระราชบัญญัติเหมืองแร่ฉบับนี้ ซึ่งแม้ว่าการพิจารณาของ สนช. จะทำให้หลักการสามประการของ กพร. ไม่สมบูรณ์นัก แต่หลักการทั้งสามประการไม่ได้หายไปจากร่างพระราชบัญญัติเหมืองแร่ปี 2559 ตามที่กพร. เสนอไว้ก่อน สนช. จะทำการพิจารณาแก้ไขแล้วผ่านการพิจารณาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาสำคัญส่วนใหญ่แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย

“…มีคนมาถามว่าควรชื่นชอบ สนช. ไหม? ที่พิจารณาแก้ไขเนื้อหาบางส่วน ขอตอบไม่ขอชื่นชอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเนื้อหาหลักๆ ไม่ได้ถูกแก้ไขลงไป เช่น ในมาตรา 13 ระบุไว้ว่า กพร. สามารถที่จะนำแหล่งแร่ใดๆ ก็ได้ในประเทศไทย ไม่ว่าแหล่งแร่นั้นจะอยู่ในที่ดินป่าสงบน หรือ สปก. ให้ กพร. สามารถนำไปให้เอกชนประมูลได้ ไมนิ่ง โซนจึงยังคงอยู่ในมาตรา 13 แต่อาจจะมีขั้นตอนยุ่งยากอีกเล็กน้อยในการให้ กพร. ต้องไปขออนุญาตหน่วยงานอื่นอยู่ และถ้าสนช. ไม่ตัดมาตรา 12[2] ทิ้งไปทั้งมาตรา กพร. จะสามารถเฉือนพื้นที่ใดๆ ก็ได้ในประเทศไปให้เอกชนได้เลย…”

dscf2078

ขณะที่ในมาตรา 49 ที่เลิศศักดิ์มีความกังวลค่อนข้างมาก ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีผู้มีอำนาจสามารถออกประกาศเพื่อแบ่งการทำเหมืองแร่ออกเป็น 3 ประเภทได้ โดยประเภทที่ 1 ให้สามารถทำเหมืองแร่ได้ในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ ประเภทที่ 2 ไม่เกิน 525 ไร่ และประเภทที่ 3 คือการทำเหมืองที่ไม่ซ้ำกับประเภทที่ 1 และ 2 รวมไปถึงการทำเหมืองทั้งในทะเลและเหมืองใต้ดิน ประเด็นของความกังวลก็คือว่า ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 นั้นไม่ต้องทำ EIA อีกต่อไป หมายความว่าการทำเหมืองทั้งสองประเภทได้มอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าหน้าที่เทศบาลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดในการออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ได้เลยโดยไม่ต้องสอบถามประชาชนในพื้นที่

ประเด็นต่อมา ในส่วนของมาตรา 100 และ 105 ที่เลิศศักดิ์แสดงความกังวล และถือว่าเป็นที่สำคัญมากๆ คือในส่วนของมาตรา 100 วรรคหนึ่งกำหนดห้ามมิให้แต่งแร่ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี วรรคสองกำหนดให้ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับผู้ถือประทานบัตรแต่งแร่ภายในเขตประทานบัตร เช่นเดียวกันกับในมาตรา 105 แตกต่างออกไปเพียงวรรคสองในมาตรา 105 นั้นครอบคลุมไปถึงการประกอบโลหกรรมด้วย ทำให้ผู้ประกอบการกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมที่ถือประทานบัตรอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตใดๆ ซึ่งผิดจากพระราชบัญญัติเมื่อปี 2510 มาตรา 114 ที่ยกเว้นให้เพียงผู้ถือใบอนุญาตแต่งแร่ แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีประกอบโลหกรรม หมายความว่าผู้ประกอบกิจการโลหกรรมต้องขอใบอนุญาตต่างหาก แต่ในวรรคสองมาตรา 105 ร่างพระราชบัญญัติปี 2559 ผู้ประกอบกิจการโลหกรรมไม่ต้องขอใบอนุญาตแต่อย่างใด

“…ถือว่าทั้งโรงแต่งแร่และโรงประกอบโลหกรรมถ้าอยู่ในเขตสัมปทานแร่เป็นของแถม โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตแยกต่างหากอีกแล้ว…”

เอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงาน ‘เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา’ จังหวัดสงขลา ได้แสดงความเห็นสอดคล้องในทำนองที่ว่า “…อย่างน้อยกฎหมายฉบับเก่ายังให้เรามีเครื่องมือ แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ดีที่สุด ขณะที่ EIA ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็น EIA ที่เราไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ถ้าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราก็ขอยืนยันว่าอย่างไรก็ตามเราคงยอมให้กฎหมายแร่ฉบับนี้ผ่านไปไม่ได้…”

dscf2099

ในส่วนของ มานพ สนิท จาก ‘เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก’ ให้ความเห็นว่าแม้ประชาชนในภาคตะวันออกที่เน้นการปลูกผลไม้เป็นพืชทางเศรษฐกิจมากกว่าจะมีความรู้เรื่องผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ แต่ปัญหาก็คือว่า พ.ร.บ.แร่ฉบับล่าสุดยังปิดกั้นโอกาสในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดและปกป้องพื้นที่ของตนเอง “…เราถูกใช้กฎหมายจากด้านบนลงมา และถูกกำหนดให้คนในพื้นที่เสียสละในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งทั้งๆ ที่ในส่วนของการพัฒนาเราสามารถพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นพื้นที่เกษตร และพื้นที่สีเขียวได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้ยังไงก็ต้องตามต่อ เพราะว่าพื้นที่ตะวันออกมันจะถูกรุกในเรื่องของกฎหมายยังไง ไม่ใช่แค่ตัว พ.ร.บ.แร่ที่จะบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่เกษตรภาคตะวันออกถูกทำลายไปมากมาย…”

dscf2106

อนันต์ วิลัยฤทธิ์ จาก ‘กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง’ จังหวัดพิษณุโลก กล่าวเริ่มต้นถึงผลกระทบจากการทำเหมืองที่นำไปสู่การทำลายพื้นที่เกษตรกรรม ทำลายชุมชน ให้หลงเหลือแต่ซากปรักหักพังของวัด และโรงเรียน โดยที่พี่น้องในเนินมะปรางต่างก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟูทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยอนันต์และกลุ่มได้ลุกขึ้นมาจัดทำข้อมูลทางเศรษฐกิจของชุมชนเพื่อแสดงให้เห็นว่ารายได้หลักของอำเภอเนินมะปรางนั้นมาจากการปลูกมะม่วงส่งออกยังต่างประเทศมากกว่าการทำเหมืองที่รังแต่ส่งผลเสีย แม้อนันต์ไม่ปฏิเสธว่าโดยตัวสภาพแวดล้อมของอำเภอเนินมะปรางที่เต็มไปด้วยหินปูนนั้นมีศักยภาพในการทำเหมืองแร่ แต่อนันต์ก็ยืนกรานว่า “…เราขอยืนยันว่าการทำเหมืองแร่ควรจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย…”

dscf2116

 

ขณะที่ แววเงิน บัวเงิน จาก ‘กลุ่มรักษ์บ้านแหง’ จังหวัดลำปาง เป็นอีกส่วนหนึ่งในการพยายามจำกัดเรื่อง ‘ไมนิ่งโซน’ โดยแววเงินให้ความเห็นว่ากฎหมายในมาตรา 13 ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดนั้น มอบอำนาจรัฐในการเข้าไปจัดการพื้นที่อย่างชนิดที่เรียกว่าครอบคลุมอยู่เหนือกฎหมายอื่นๆ เป็น ‘กฎหมายเลือด’ ซึ่งแววเงินและทางกลุ่มไม่อาจยอมรับได้

 

“…กฎหมายนี้เป็นการติดอาวุธให้กับนายทุนสามารถฆาตกรรมคนไทยที่มีแร่อยู่ใต้ถุนบ้านได้โดยที่เขาไม่ผิดกฎหมายเลย คุณจะขุดตรงไหนก็ได้ คนจะตายก็ไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง เพราะว่าไม่มี EIA รองรับแล้ว ไม่มีการคำนึงผลกระทบแล้ว สิ่งแวดล้อมจะเป็นยังไงก็ช่างหัวมัน…”

 dscf2121

ระนอง กองแสน จาก ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ จังหวัดเลย บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำที่ส่งผลต่อแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และสัตว์ต่างๆ ทั้งกุ้งหอยปูปลา ตลอดจนถึงความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวของคนในชุมชนก็กลับกลายเป็นความห่างเหินไป ไม่นับรวมถึงการถูกฟ้องร้องจากภาครัฐกว่า 20 คดีมาตลอด 10 ปีของการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ในฐานะประชาชน

“…นี่หรือคะที่รัฐบอกว่าคือการพัฒนา นี่หรือคะที่รัฐบอกว่าดูแลประชาชน รัฐเข้ามาบอกเราว่านี่คือความยั่งยืน เราบอกว่าไม่เอา เราไม่ต้องการ เราอยากได้สิ่งที่เป็นตัวเรากลับมา…”

dscf2122

มะลิวัลย์ จำปานิล ‘กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว’ จาก จังหวัดเลย เป็นอีกตัวแทนที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันจากการทำเหมืองถ่านหินบิทูมินัส ซึ่งไม่เพียงแต่แหล่งต้นน้ำที่ได้รับผลกระทบ ทางชาวบ้านในพื้นที่ยังได้รับการข่มขู่จากบริษัทในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมาก่อนจะมีกฎหมายเกิดขึ้นด้วยซ้ำ นอกจากนี้ มะลิวัลย์ยังกังวลต่อมาตรา 13 เช่นเดียวกับตัวแทนจากกลุ่มอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่าการที่ต่อไปจะไม่มีการทำ EIA แล้วนั้น จะส่งผลให้ กพร. สามารถให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนได้อย่างง่ายดายขึ้น เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบจากประชาชน

“…ซึ่งในส่วนของ พ.ร.บ.ตัวใหม่ ทางกลุ่มและชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มี พ.ร.บ.ตัวใหม่ เราขอยืนยันค่ะ…”

dscf2128

มะลิวัลย์กล่าวสรุปที่เหมือนจะเป็นการยืนกรานและยืนยันในสิ่งที่ตัวเธอ และตัวแทนจากกลุ่มอื่นๆ เชื่อมั่นว่า ตลอด 115 ปีที่ประเทศไทยมีกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่นั้น ประชาชนอยู่ตรงไหน?

คำถามนี้อาจไม่ได้ต้องการคำตอบจากภาครัฐ มากเท่าคำตอบจากเราๆ ในฐานะประชาชนเหมือนๆ กัน


[1] อ้างอิงจากเว็บไซต์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

[2] มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองได้อันดับแรกก่อนการสงวน หวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้ ต้องเป็นพื้นที่ดังต่อไปนี้ (1) มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจ (2) มิใช่พื้นที่ที่มีกฎหมายเฉพาะห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า