8 คำสัญญาหน้ากระทรวงฯ จาก ‘รัฐมนตรี’ ถึง ‘นักเรียนเลว’

ครูคะ เด็กชายณัฏฐพลมาสาย

เเทนที่จะมาถึงที่นัดหมายในเวลา 15.00 น. แต่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาถึงที่ชุมนุมในเวลา 17.15 น. ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของกลุ่มนักเรียนว่า “อย่างนี้ต้องวิ่งรอบสนาม 8 รอบ”

เขาขึ้นเวทีดีเบตกับตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว มิน-ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ โดยมี ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม รับหน้าที่ดำเนินรายการ และเปิดประเด็นจาก 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. หยุดคุกคามนักเรียน 2. ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และ 3. ปฏิรูปการศึกษา กับ 1 เงื่อนไข คือ หากรัฐมนตรีทำไม่ได้ ให้ลาออกจากตำแหน่ง

การถาม-ตอบบนเวทีฯ มีการให้คำสัญญาจากรัฐมนตรีว่าการฯ​ อย่างน้อย 8 ข้อที่สมควรแก่การบันทึกไว้ เวลาผ่านไปมีอะไรเปลี่ยนแปลง นี่คือหลักฐาน

คำสัญญาที่ 1: ถ้าครูลงโทษโดยใช้ความรุนแรงจะถูกลงโทษตามระเบียบวินัยของกระทรวงฯ แน่นอน

ณัฏฐพล: ผมให้ความมั่นใจว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้โรงเรียนมีความปลอดภัยมากที่สุด ผมรับเรื่องมา 109 โรงเรียน สืบหาข้อเท็จจริงแล้วต้องยอมรับว่า แม้มีคุณครูที่ไม่เข้าใจในการแสดงออก แต่ยังมีครูอีก 5 แสนคนที่เข้าใจและพยายามบริหารจัดการเรื่องนี้

ประเด็นต่างๆ ที่ได้รับการร้องเรียน วันนี้น้อยลง แต่ถ้ามีมาก ผมเปิดช่องทางให้น้องๆ ร้องเรียนและส่งข้อมูลมา หาแนวทางป้องกันข้อมูลให้ปลอดภัย ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่คุ้นเคยในประเทศไทย และต้องปรับตัว

ครูทอม: ทำไมถึงต้องชูประเด็น ‘หยุดคุกคามนักเรียน’ ขึ้นมา

ลภนพัฒน์: การคุกคามนักเรียนไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่มันกินความถึงการตี การทำร้าย และลงโทษนักเรียนอย่างไม่สมเหตุสมผล เราเรียกว่าการคุกคามทั้งหมด มันไม่ใช่เรื่องใหม่ นักเรียนถูกตีมาหลายสิบปีแล้ว

109 โรงเรียนที่รัฐมนตรีว่ามา ถูกรวบรวมมาโดยองค์กรเดียว แล้วเอามายื่นให้กระทรวงฯ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จริงๆ แล้วอาจมีมากกว่านั้น การที่บอกว่าเปิดรับเรื่องร้องเรียนเพื่อปกป้องนักเรียนไม่ให้ถูกคุกคาม ผมว่าลำดับความสำคัญค่อนข้างผิด เพราะกระทรวงฯ มีศักยภาพในการปกป้องนักเรียนมากกว่านั้น เช่น การประเมินโรงเรียน กระทรวงฯ สามารถทำได้หลายสิบรูปแบบ ไม่ว่าจะโรงเรียนสีขาว สีเขียว โรงเรียนปลอดบุหรี่ ฯลฯ แต่ทำไมการคุกคามนักเรียน กระทรวงเลือกใช้วิธีรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนมากกว่าจะส่งตัวแทนจากกระทรวงฯ ไปประเมินว่าโรงเรียนยังมีการคุกคามนักเรียนอยู่หรือไม่

มาตรการที่ออกมาแสดงถึงความใส่ใจว่า ท่านรัฐมนตรีและตัวกระทรวงศึกษาฯ ให้ความใส่ใจปกป้องนักเรียนมากขนาดไหนถึงใช้มาตรการที่ไม่เด็ดขาดในการปกป้องนักเรียนไม่ให้ถูกคุกคามในโรงเรียน

ณัฏฐพล: การคุกคามอยู่ๆ มันจะหายไปเลย เป็นไปไม่ได้ ผมขอยกตัวอย่าง เรื่องคุกคามหรือการละเมิดทางเพศ มีมาหลายสิบปี ครูที่คุกคามไม่เคยโดนไล่ออก ถูกไหมครับ 6 เดือนที่ผ่านมา รวมแล้ว 15 ราย มันเหมือนการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่เราต้องจัดกระบวนการใหม่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

โรงเรียนไม่ปลอดภัยไม่ได้ครับ แต่เรากำลังพูดถึงครู 5 แสนคน กับนักเรียนอีก 10 ล้านคน วันนี้เราอยากให้เปิดสวิตช์เลย ผมอยากทำอย่างนั้นครับ แต่วันนี้เราต้องมาพูดความจริง

ผมไม่ได้ภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถึงมานั่งพูดคุยกัน ว่าวันนี้ปัญหาทั้งหมดเรารับฟังความคิดเห็น หลายๆ เรื่อง 90 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา และเราต้องร่วมกันแก้ ถ้าผมไม่รับทราบข้อมูลทั้งหมด ผมก็แก้ไม่ได้ ผมจึงเปิดช่องทางให้ท่านให้ข้อมูลโดยที่ไม่ต้องกังวลถึงครู ผู้ปกครอง การเปิดรับฟังข้อมูลเช่นนี้ก็มีข้อมูลอื่นๆ ที่ครู ผู้บริหาร ก็สามารถส่งมาได้ เราต้องแฟร์กับทุกๆ ฝ่าย

ครูทอม: นักเรียนจะมั่นใจความปลอดภัยของตัวเองได้อย่างไร

ณัฏฐพล: ผมถึงใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการเทสต์ระบบ ผมแฮคระบบของผมเอง ถ้าท่านแฮคได้ก็ลองดู ถ้าท่านไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับผม ผมจะมั่นใจได้ยังไงว่านั่นคือข้อเท็จจริง อาจกลั่นแกล้งกันก็ได้ เราต้องเอาความจริงมาพูด

ครูทอม: ครูตามหาว่าใครเอาคลิปมาปล่อย แทนที่จะหาว่าทำไมครูถึงละเมิดนักเรียน ท่านมีความเห็นอย่างไร

ณัฏฐพล: แล้วไงต่อครับ ครูไปหาตัวนักเรียนที่ถ่ายคลิปนั้น ถ้ามีช่องทาง น้องๆ ก็แจ้งมาสิครับ แปลว่าครูทำผิดจรรยาบรรณของการเป็นครู เราต้องลงโทษไปตามระเบียบวินัยของกระทรวงฯ

ครูทอม: ท่านได้ดูคลิปไหม (คลิป Tik Tok ที่นักศึกษาฝึกงานลงโทษนักเรียนให้เอาโต๊ะเทินหัว)

ณัฏฐพล: ถ้าส่งมาผมก็จัดการให้

ครูทอม: แปลว่าตอนนี้ท่านยังไม่เห็นคลิปนั้น อย่างกรณีครูลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่ขัดต่อระเบียบ ทางกระทรวงฯ มีวิธีจัดการอย่างไร

ณัฏฐพล: ผิดทางวินัย เราดำเนินการแน่นอน ผมคิดว่าครูส่วนใหญ่เข้าใจการแสดงออกทางสัญลักษณ์ตรงนี้แล้ว ครูลดแรงกดดันไปถึงน้องๆ ว่าห้ามปฏิบัติอย่างนู้นอย่างนี้แล้ว ถ้าเรายอมรับ แปลว่าเรากำลังทำความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ กับสถานการณ์ปัจจุบัน

คำสัญญาที่ 2: การแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนไม่ผิด ถ้าโรงเรียนห้าม ให้ถือว่าขัดต่อระเบียบ

ครูทอม: มีประกาศให้โรงเรียนเปิดโอกาสให้น้องๆ แสดงออกทางการเมือง แปลว่าถ้าโรงเรียนไหนห้ามน้องๆ แสดงออก ถือว่าขัดต่อระเบียบ

ณัฏฐพล: ครับ ตราบใดที่การแสดงออกตรงนั้นอยู่ในบริเวณของโรงเรียน ไม่ก้าวร้าว ไม่ก้าวก่ายสิทธิของคนอื่น

ครูทอม: ถ้าโรงเรียนไหนห้าม ปิดรั้ว ไม่ให้นักเรียนเข้าไป น้องๆ สามารถร้องเรียนได้ไหม

ณัฏฐพล: ในแต่ละโรงเรียนเขามีกฎระเบียบของเขา ถ้าเขาไม่อยากให้คนนอกเข้า ก็สามารถควบคุมไม่ให้คนนอกเข้าได้ นั่นคือความปลอดภัย

ครูทอม: อย่างกรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกไหมครับ

ณัฏฐพล: ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาเข้าไปทำอะไร ถ้าเขาเข้าไปตรวจยาเสพติด เขาจะเข้าไม่ได้เหรอครับ

ลภนพัฒน์: กระบวนการในการร้องเรียนมันไม่มีประสิทธิภาพมากพอ พอร้องเรียนก็ต้องมานั่งตรวจสอบ ขอข้อมูลคนร้องเรียน ซึ่งความปลอดภัยมันก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ขนาดนั้น

จริงๆ แล้วกระทรวงฯ ควรใส่ใจประเด็นนี้ด้วยการลงพื้นที่ไปตรวจสอบทุกโรงเรียนเลย เพราะกระทรวงฯ ส่งศึกษานิเทศก์มาตรวจสอบอยู่แล้ว มีประเมินนู่นนั่นนี่ แต่ตอนแรกที่ท่านพูดมาว่า การประเมินอยู่ในแผนยกเลิก จริงๆ แล้วการประเมินโรงเรียนไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป แต่สิ่งที่มันเลวร้ายคือวัฒนธรรมในการประเมิน มันกลายเป็นการที่ครูต้องมาหั่นผักชีเอาไปโรยหน้าตอนมีคนมาประเมิน แต่ถ้าเป็นการประเมินที่แท้จริง คนประเมินเข้าไปไม่ต้องบอกก่อน ไม่ต้องต้อนรับ เข้าไปประเมินเลยโดยไม่ต้องรบกวนการเรียนการสอนของครู​ การประเมินก็ถือว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจในการตรวจสอบ ปกป้องนักเรียนในประเด็นต่างๆ

ประเด็นนี้ผมเคยเสนอไปที่นิติการของกระทรวงศึกษาธิการ เขาตอบผมว่า ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะโรงเรียนมีจำนวนมากเกินไป เราไม่มีทีมงานพอ เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมประเมินอย่างอื่นถึงสามารถส่งตัวแทนไปได้ แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทรวงฯ ไม่สามารถส่งตัวแทนไปประเมินได้

ครูทอม: หากโรงเรียนไม่ให้เด็กเอาโทรศัพท์เข้าไป เด็กจะหาหลักฐานได้อย่างไร

ณัฏฐพล: เรื่องโทรศัพท์ เป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนที่จะบริหารจัดการ อันไหนที่ผมคิดว่าทำไม่ได้ทันที ต้องใช้เวลา ผมก็จะบอก

คำสัญญาที่ 3: นักเรียนเอาความจริงที่ถูกคุกคามในโรงเรียนมาเผยแพร่ได้

ครูทอม: บางโรงเรียนบอกว่าห้ามเอาเรื่องราวของโรงเรียนไปเผยแพร่

ณัฏฐพล: ไม่ต้องซุกครับ เอาข้อมูลนั้นออกมา เราซุกหลายๆ อย่างไว้ใต้พรมมากเกินไปแล้วครับในระบบการศึกษาไทย เราต้องยอมรับความจริง ถ้าหนูๆ อยากบอกอะไรเกี่ยวกับการกระทำไม่ดีของบุคลากรทางการศึกษา เราพร้อมรับฟัง แต่ในขณะเดียวกันหนูก็ต้องยอมรับว่า ครูดีๆ ก็มีอีกมากมาย ฉะนั้นต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราต้องขจัดคนไม่ดีออกไป

ลภนพัฒน์: ผมขอยกตัวอย่าง ปีที่แล้วมีโรงเรียนแห่งหนึ่งในยโสธร ครูตบหน้านักเรียน มีคลิปเต็มอินเทอร์เน็ต ทางกระทรวงฯ แก้ไขจัดการครูท่านนั้นไปเรียบร้อย แต่ว่าเราลองย้อนและเช็คประวัติครูท่านนี้ พบว่าครูเคยก่อคดีเอาเข็มขัดฟาดหลังนักเรียนเมื่อประมาณปี 54 ครูท่านนั้นถูกตั้งทีมสอบสวน แต่ทีมสอบสวนคือครูด้วยกันในโรงเรียน ทำให้ครูท่านนั้นรับผิดด้วยการขอโทษขอโพยเพียงเท่านี้ และสอนในโรงเรียนเดิมจนก่อคดีอีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา

นี่คือมาตรการจัดการครูที่ผิดวินัย มาตรการยังหละหลวมและปล่อยปละอยู่มาก ถ้าไม่มีใครออกมาเรียกร้องมันก็จะหละหลวมอยู่ ท่านควรดำเนินการด้วยความจริงใจมากกว่านี้โดยที่ไม่ต้องให้ใครออกมาบอก เรียกร้อง แล้วบอกท่านว่าเรากำลังถูกคุกคาม ท่านต้องปกป้องเราไม่ให้ถูกคุกคามตั้งแต่แรก

คำสัญญาที่ 4: ล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด การทำร้ายร่างกายในโรงเรียน เขตพื้นที่ไม่ปฏิบัติ ศึกษาธิการไม่ปฏิบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ปฏิบัติ ถือเป็นความผิด

ครูทอม: ถามถึงข้อเรียกร้องที่ 2 ขอให้ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง

ลภนพัฒน์: ประเด็นนี้ไม่ต่างจากประเด็นคุกคาม พอมีเรื่องของกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้ามาในระบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือการคุกคามนักเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้างต้น

กฎที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทรงผม มีคนเคลื่อนไหวมานานมากเป็นสิบปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไขเป็นรูปธรรมเสียที ต่อให้ไม่พูดถึงตัวระเบียบทรงผม ระเบียบอื่นๆ ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะบังคับใช้ทุกโรงเรียนได้ เช่น ระเบียบการลงโทษนักเรียนนักศึกษา ที่ประกาศตั้งแต่ปี 2548 จนถึง 2563 ก็ยังมีนักเรียนถูกตีอยู่

นี่ไม่ใช่ 109 โรงเรียน มันมากกว่านั้นมาก ท่านต้องกลับไปทบทวนดูว่า ทำไมโรงเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน ทำไมถึงยังเลือกที่จะละเมิดคำสั่งเหล่านั้นมาโดยตลอด

จริงๆ ระเบียบที่ยกเลิกการตีไปนั้น การเกิดขึ้นของระเบียบนี้ต้องมีผู้ปกครองไปฟ้องศาลว่าลูกถูกตี จนศาลบอกว่า การตีมันผิดกฎหมาย กระทรวงศึกษาธิการจึงยอมออกระเบียบมาปกป้องนักเรียน จริงๆ นอกจากกฎระเบียบที่ล้าหลัง การทำงานของกระทรวงฯ ก็ยังล้าหลังด้วย

ครูทอม: ท่านคิดว่าเพราะอะไรโรงเรียนถึงไม่ทำตามกฎ

ณัฏฐพล: เพราะเราไม่ได้เข้มงวดพอกับกฎระเบียบต่างๆ ครับ เราต้องเอาความจริงมาพูด ท่านต้องเข้าใจในกระบวนการของโรงเรียน ระบบการศึกษาทั้งหมด เราอยู่ในระบบที่เรารู้จักซึ่งกันและกัน หาทางประนีประนอมกัน แต่เรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบวินัย เรื่องของความปลอดภัยในโรงเรียน เรื่องสุขลักษณะของนักเรียน โรงเรียน เรื่องเหล่านี้เรายอมไม่ได้

เช่น เรื่องล่วงละเมิดทางเพศ ที่ไม่เคยมีการไล่ออกก่อนเลยเพราะคุณครูรู้จักผู้ปกครอง สามารถเจรจากันได้ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่วันนี้กระทรวงศึกษาธิการไม่ยอมแล้วครับ ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ที่ไหน เราไม่ยอมความ ที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วันนี้เราต้องไล่กระบวนการไปตั้งแต่ต้น เขตพื้นที่ไม่ปฏิบัติ ศึกษาธิการไม่ปฏิบัติ ผอ.โรงเรียนไม่ปฏิบัติ นี่คือความผิด

เรื่องล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด การทำร้ายร่างกายในโรงเรียน เป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นไม่ได้ และปล่อยให้คนที่ทำเรื่องแบบนี้อยู่ในวงจรการศึกษาไม่ได้ครับ

ครูทอม: ท่านมีมาตรการอย่างไรให้เข้มงวดมากขึ้น

ณัฏฐพล: ผมคิดว่าทั้งกระทรวงฯ ทราบแนวปฏิบัติแล้วว่าเราเข้มงวดเรื่องต่างๆ อย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติต้องถูกคณะกรรมการพิจารณาทางวินัยเรื่องต่างๆ แต่ก็ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่ว่ามีเรื่องขึ้นมาแล้วจะสอบสวนโดยไม่รอบคอบ แต่ที่ผ่านมาเราใช้เวลาไม่นานในการสอบสวน ที่ผ่านมาอาจเป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้วครับ

ลภนพัฒน์: ผมไม่แปลกใจเท่าไหร่ คำพูดของผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ มักเป็นแพทเทิร์นเดียวกัน ผมคุยกับผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ คำตอบจะคล้ายกันว่า เหมือนจะปกป้องนักเรียน แต่ถ้าเราลงจากเวทีนี้ไป นักเรียนทั้งหมดนี้เขาจะถูกคุกคามไหม นักเรียนแนวร่วมในการจัดเวทีนี้ 50 โรงเรียนจะถูกคุกคามไหม? จริงๆ มีมากกว่า 50 แต่ถูกโรงเรียนถอนรายชื่อไม่อนุญาต

เหล่านี้มันคือชีวิตประจำวันที่นักเรียนต้องเจอตลอดเวลา รวมทั้งกฎระเบียบล้าหลัง ท่านอ้างระเบียบวินัย จริงๆ แล้ว ใครๆ ก็อ้างคำนี้ได้ เราต้องไปดูเหตุผลของการกระทำสิ่งนั้นๆ ว่าทำแล้วส่งเสริมให้มีระเบียบวินัยมากขึ้นหรือไม่ นักเรียนที่ตัดผมเกรียน กับนักเรียนที่ไม่ตัดผม เขาถูกตีตราว่า ถ้าตัดผม เขาจะมีระเบียบวินัย ถ้าไม่ตัด เขาจะไม่มีระเบียบวินัยทันที สิ่งนี้มันคือทัศนคติของผู้ใหญ่ต่อเด็ก ไม่ใช่เรื่องของหลักการและเหตุผลจริงๆ

สิ่งที่ผมรู้มาอีกอย่างคือ โรงเรียนทุกโรงเรียนที่มียูนิฟอร์มของตัวเอง ต้องมาเขียนดีเทลรูปแบบยูนิฟอร์มกับกระทรวงฯ แต่ดีเทลที่เขียน ละเอียดไปถึงว่า เนื้อผ้าแบบไหน เสื้อเชิ้ตแบบไหน ความยาวเท่าไหร่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมโรงเรียนต้องจู้จี้จุกจิกกับการแต่งกายเรา เพราะเขาไปให้คำมั่นสัญญากับกระทรวงฯ ว่านักเรียนต้องแต่งกายแบบนี้ เนื้อผ้าแบบนี้ เป๊ะๆ ตามที่ส่งให้กระทรวงฯ นี่คือต้นเหตุของปัญหา ถ้าท่านคิดจะแก้ที่ต้นเหตุ ท่านต้องแก้ตรงนั้น ท่านพูดแต่ปลายเหตุ แต่ไม่พูดถึงต้นเหตุเลย ผมมีเวลาตรงนี้ไม่นานนะครับท่าน

คำสัญญาที่ 5: กฎระเบียบต่างๆ ที่ตราไว้ 2-5 ปีขึ้นไป และไม่มีประสิทธิภาพ ต้องปรับปรุง แต่ชุดนักเรียนควรใส่เพราะปลอดภัย

ครูทอม: สมมุติว่าประเทศไทยอนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดอะไรก็ได้ จะดีกว่าไหมครับ

ณัฏฐพล: ความเห็นส่วนตัวของผม หนึ่ง – ถ้าเราไม่ใส่ชุดนักเรียน มันจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ถ้าใส่จะมีความปลอดภัยเพราะเราสามารถแยกแยะได้ว่าวันนี้เด็กกลุ่มนี้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ สอง – ความเหลื่อมล้ำที่เราต้องยอมรับว่าถ้าเราเปิดให้มีการแต่งตัวตามธรรมชาติ ฟังแล้วเหมือนดูดี แต่จริงๆ แล้วมันจะเกิดการแข่งขันเรื่องการแต่งตัว ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้น เราต้องฟังทุกๆ ฝ่ายครับ และดูความเหมาะสม ถ้าเรื่องไหนยังแตกแยก หาทางออกที่เหมาะสมไม่ได้ ก็ต้องรอก่อน

ครูทอม: ถ้าใส่ชุดไปรเวทไม่ปลอดภัย อะไรทำให้ไม่ปลอดภัย

ณัฏฐพล: อย่างน้อยวันนี้ผมก็แยกแยะได้ ว่าน้องๆ ที่อยู่ที่นี่คือน้องๆ ในโรงเรียนมัธยม หรือพี่น้องประชาชนทั่วไป

ครูทอม: การที่ท่านแยกแยะได้ มันเกี่ยวกับความปลอดอย่างไรครับ

ณัฏฐพล: เมื่อนักเรียนเดินเป็นกลุ่ม ผมมั่นใจว่า คนไทยถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วกลุ่มนั้นคือนักเรียน ผมคิดว่าคนไทยไปปกป้องนักเรียนก่อนคนอื่นๆ

ลภนพัฒน์: การที่ว่าใส่ชุดนักเรียนแล้วปลอดภัย เป็นเหตุผลที่พอยอมรับได้ แม้จะมีเหตุผลไม่มากเท่าไหร่

ครูทอม: แต่ผมว่าไม่เสมอไป บางคนมีอารมณ์ทางเพศกับคนในชุดนักเรียนด้วยซ้ำ

ลภนพัฒน์: ที่นักเรียนถูกคุกคาม ทำร้ายร่างกาย กระทำทางเพศ ทุกอย่างนี้ถูกกระทำในคราบชุดนักเรียนตลอด เราเห็นข่าวน้อยมากที่เด็กและเยาวชนถูกทำร้ายร่างกายโดยไม่ได้ใส่ชุดนักเรียน ณ ขณะนั้น แต่ข่าวที่ออกมาในสถานศึกษาเองก็ดี ก็มีการทำร้ายและละเมิดร่างกายนักเรียนอยู่ตลอดเวลา แม้นักเรียนจะใส่ชุดนักเรียนอยู่ตลอดเวลา ชุดนักเรียนไม่ใช่เสื้อเกราะ ไม่ได้ทำให้นักเรียนปลอดภัยได้

ณัฏฐพล: ผมยืนยันว่ากฎระเบียบอะไรก็แล้วแต่ที่ตราไว้ 2-5 ปีขึ้นไป แล้วไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับปรุง ทางผมกำลังให้ทีมงานไล่ดูอยู่เพื่อแก้ไขปัญหา เราต้องทันสมัยในทุกๆ เรื่อง กฎหมาย กฎระเบียบทำให้เราเดินหน้าไปได้

คำสัญญาที่ 6: ครู นักเรียนเข้าร่วมพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของกระทรวงฯ​ ได้

ครูทอม: ในกระบวนการที่ว่ามานี้ มีน้องๆ รุ่นใหม่ร่วมด้วยไหม

ณัฏฐพล: ไม่มีครับ

ครูทอม: ถ้ามีน้องๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการ จะเป็นไปได้ไหม

ณัฏฐพล: ไม่มีปัญหาอะไร ขั้นตอนที่เราทำคือ มาดูว่ากระบวนการที่ติดขัด ล้าช้า คือเรื่องอะไร จากนั้นจะมีการทำประชาพิจารณ์ ครู น้องๆ ในโรงเรียน ถึงตอนนั้นผมยินดีจะเอาน้องๆ มาเป็นตัวแทนดูกฎระเบียบด้วย

คำสัญญาที่ 7: นักเรียนหญิง ไว้ผมหน้าม้าได้ แต่นักเรียนชายไว้ผมยาว นักเรียนหญิงตัดผมสั้นแบบผู้ชาย ไม่ได้

ลภนพัฒน์: ผมอยากให้ท่านพูดถึงแนวทางไว้ทรงผมของนักเรียนทั้งประเทศ จะมีแนวทางอย่างไร

ณัฏฐพล: วันนี้มีประกาศออกมาชัดเจน ผู้หญิงสามารถไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่ถ้ายาวต้องรวบ ผมทั้งหมดต้องสะอาด ผู้ชายไว้รองทรงได้ และไม่เปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาตัดสินหรือวางกฎระเบียบเป็นอย่างอื่นได้ ณ ขณะนี้

ครูทอม: ถ้าน้องเพศชายอยากไว้ผมยาว น้องผู้หญิงอยากไว้ผมสั้นแบบผู้ชาย ทำได้ไหม

ณัฏฐพล: ณ วันนี้ทำไม่ได้

ลภนพัฒน์: ถ้าเขามีความหลากหลายทางเพศล่ะครับ

ณัฏฐพล: ณ วันนี้ยังไม่ได้ครับ หลังจากนี้เราจะมาพิจารณากัน รับฟังกัน เพราะน้องๆ ที่อยากไว้ผมยาว ก็อาจจะมีน้องๆ อีกหลายคนไม่อยากให้เกิดสิ่งนั้นในโรงเรียน ก็เป็นไปได้ (มีเสียงโห่จากด้านล่างเวที) ทำไมเหรอครับ ถ้าเขาคิดเห็นแตกต่างจากเรา จะรับไม่ได้เลยเหรอครับ

ครูทอม: การที่น้องๆ ผู้มีความหลากหลาย อยากไว้ผมยาว ใครเดือดร้อนครับ

ณัฏฐพล: ก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกันครับ น้องๆ ทราบไหมว่า รัฐบาลได้อนุมัติ พ.ร.บ.สมรสฯ ให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว

ลภนพัฒน์: ประเทศไทยยังไม่มีสมรสเท่าเทียมนะครับ ที่มีคือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งไม่เท่ากับสมรสเท่าเทียม ผมอยากให้ท่านอ่านไลน์กรุ๊ปรัฐมนตรีนิดหนึ่งว่าเขาประกาศอะไรมา

ณัฏฐพล: พ.ร.บ.คู่ชีวิต เมื่อเข้าสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถเพิ่มเติมเป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ ถ้าหากเราคิดว่าเรื่องไหนจำเป็นต้องใส่เข้าไป นี่คือกระบวนการตรากฎหมายของประเทศครับ

ครูทอม: ไว้ผมหน้าม้าได้ไหมครับ

ณัฏฐพล: เชิญครับ ฝากไว้นิดหนึ่ง คำนึงถึงคุณครูด้วย สิ่งต่างๆ ที่เราพูดกันไป เป็นเรื่องที่ครูต้องทำความเข้าใจและใช้เวลา เพราะในระบบการศึกษาก็อาจจะไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ ต้องเห็นใจทุกคน ทุกๆ เรื่องเราสามารถพูดคุยกันได้

คำสัญญาที่ 8: ผมปฏิบัติได้หลายๆ อย่างที่เราพูดถึงในวันนี้ วันที่ผมคิดว่าไม่สามารถทำคุณประโยชน์ให้ประเทศได้ ผมจะพิจารณาตัวเอง

ครูทอม: ท่านคิดว่าระบบการศึกษาสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองใคร

ณัฏฐพล: ถ้าวันนี้ยังคิดว่าการศึกษาไม่ตอบสนองนักเรียน เราก็ต้องร่วมกันทำ และจะพยายามทำให้เกิดให้ได้ เพราะนักเรียนคืออนาคตของประเทศชาติ อนาคตของผมก็อยู่ในมือของพวกเขา

ครูทอม: ลูกเสือ และ รด. เรียนไปเพื่ออะไรครับ

ณัฏฐพล: เป็นกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่ง มีทักษะอะไรหลายๆ อย่างจากการเรียนลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี หรือ รด. ในขณะที่หลายๆ คนมองว่าไม่เป็นประโยชน์ หลายๆ คนก็อาจมองว่ามีประโยชน์ ผมพร้อมรับฟังครับ

ครูทอม: การมีเครื่องแบบ สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุไหมครับ ทักษะต่างๆ จากการเรียนลูกเสือ รด. ก็หาได้จากกิจกรรมอื่นๆ เหมือนกัน ทำไมไม่ให้เด็กเลือกทำกิจกรรมตามใจชอบ

ณัฏฐพล: ก็ว่ามาสิครับ ว่ากิจกรรมต่างๆ ที่อยากทำในโรงเรียนคืออะไร วันนี้เรากำลังพิจารณาหลักสูตรว่าลดเวลาในการเรียนได้หรือไม่ เลิกเรียนเร็วขึ้นได้หรือไม่ เวลาที่เหลือเอามาทำการบ้าน เวลาที่เหลือเอามาทำกิจกรรมที่น้องสนใจ เสริมสร้างบุคลิก สมรรถนะของแต่ละคน ก็ว่ากันมาครับ

ครูทอม: ทางท่านอยากร้องขออะไรจากนักเรียนทุกคนตรงนี้บ้างไหม

ณัฏฐพล: พูดอะไรก็ได้เหรอครับ?

ถ้าหากว่าขอได้ ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องมานั่งในเวที สร้างความกดดันแบบนี้

ผมไม่ได้ว่าอะไร ท่านให้ผมขอ ผมก็ขอ เพราะบางอย่างที่เราทำ มันมีผลกระทบในภาพใหญ่ ผมผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว ผมทราบดี เวลานี้ประเทศไทยเปราะบางที่สุดในเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศ

ถ้าหากเราเป็นคนไทยที่ตั้งใจทำให้ประเทศมีศักยภาพอย่างที่ท่านร้องเพลงชาติเมื่อสักครู่ ถ้าเราเรียนรู้อะไรจากอดีต จะเห็นว่าอดีตที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จ วันนี้เป็นโอกาส อย่างน้อยในเวทีการศึกษา ผมฟังจากท่าน รับฟังจากครู ผู้ปกครอง ที่ตั้งใจทำให้การศึกษาดีขึ้น

วันนี้ผมพร้อมรับฟัง อะไรที่มีเหตุผล ผมพร้อมนำไปปฏิบัติ และผมคิดว่าผมปฏิบัติได้หลายๆ อย่างที่เราพูดถึงในวันนี้ วันที่ผมคิดว่าไม่สามารถทำคุณประโยชน์ให้ประเทศได้ ผมจะพิจารณาตัวเองครับ

แต่วันนี้ก็ยังปฏิบัติหน้าที่นี้อยู่ การพูดคุยกันด้วยสันติวิธี น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่ผ่านมาทำไมเราถึงไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เพราะไม่มีการพูดคุยกัน ไม่มีเวทีอย่างนี้ วันนี้เวทีเปิด ขอบคุณอีกครั้งครับสำหรับการพูดคุยวันนี้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เคยทำงานภาพข่าวที่ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นสมาชิก Realframe และ TNP ยังคงทำงานถ่ายภาพและรับจ้างทั่วไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า