ปรากฏการณ์ไฟลามทุ่ง (1): ทบทวนการก่อเกิดขบวนการนักศึกษา ‘14 ตุลา 16’

สิ้นเสียงศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถัดจากวันนั้น สังคมไทยได้เห็นปรากฏการณ์การชุมนุมของนักศึกษาปะทุขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ ดูเหมือนความโกรธเกรี้ยวต่อการยุบพรรคการเมืองจะกลายเป็นชนวนเสียแล้ว

เมื่อคนหนุ่มสาวประกาศเจตจำนงในการเรียกร้องประชาธิปไตยและต้องการขับไล่รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารอย่างเปิดเผย บทบาทนี้สร้างความประหลาดใจแก่หลายฝ่าย ว่าเหตุใดพลังทางการเมืองที่เหมือนจะมลายหายไปกว่าครึ่งศตวรรษ จึงกลับมาตื่นตัวเป็นแนวหน้าในการเรียกร้องประชาธิปไตยจนกระจายดั่ง ‘ไฟลามทุ่ง’ เปิดฉากคู่ขนานไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านในรัฐสภาอย่างเผ็ดร้อน

‘เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516’ ซึ่งหมายถึงขบวนการนักศึกษาประชาชน ออกมาชุมนุมโค่นล้มระบอบ ‘สฤษดิ์ ถนอม ประภาส’ คือจุดอ้างอิงที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน คำถามคือแท้จริงแล้วภาพจำเหล่านั้นสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

การย้อนไปทำความเข้าใจขบวนการนักศึกษาในทศวรรษ 2510 น่าจะทำให้เราเห็นภาพที่รอบด้านรัดกุมมากขึ้น ในหนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่นักศึกษาปัญญาชนได้กลายมาเป็นหัวขบวนล้มอำนาจเผด็จการทหารซึ่งปกครองประเทศยาวนานกว่า 15 ปี เป็นงานเขียนที่ช่วยทำความเข้าใจเหตุการณ์นั้นได้เป็นอย่างดี

บริบทโลกคือสงครามเย็น บริบทไทยคือเผด็จการครองอำนาจนานนับทศวรรษ

ขบวนการเคลื่อนไหวนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นขบวนการที่มีรูปแบบและองค์ประกอบที่ต่างจากขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยหลังจากนั้น เช่น เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ขบวนการภาคประชาชนในทศวรรษ 2540 หรือ ขบวนการเคลื่อนไหวสีเสื้อในช่วงปี 2549-2557 กล่าวคือเป็นขบวนการของนักศึกษา ปัญญาชน ที่สื่อสารชุดภาษาและอุดมการณ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และการจัดกิจกรรมร่วมกัน

การก่อตัวของขบวนการจึงไม่สามารถแยกออกไปได้จากการพิจารณาการก่อตัวของวาทกรรมด้วยเช่นกัน ทว่าการก่อตัวของเครือข่ายวาทกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่เป็นสภาพการณ์ที่อยู่ภายใต้การตรวจตรา สอดส่อง ควบคุมจากรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเข้มงวด โดยมีปัจจัยภายนอกประเทศมีส่วนกำกับคือการต่อสู้ระหว่าง 2 ค่ายอุดมการณ์ทางการเมือง คือโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจ และโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจ

รัฐบาลเผด็จการทหารไทยได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาจนเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในสงครามอินโดจีน ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันช่วยไทยทำสงครามต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในหลายด้าน จนเรียกได้ว่าเป็น ‘อเมริกันในไทย’ รัฐบาลกรุงเทพฯ ตอบแทนด้วยการอนุญาตให้อเมริกันตั้งฐานการบิน B52 ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนอกอธิปไตยสหรัฐ

การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเผด็จการทหารดำเนินผ่านชุดภาษาชาตินิยมทางการ ผ่านคำปราศรัย การให้โอวาท และการพูดในที่ต่างๆ เพื่อย้ำว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลกและประจักษ์ชัดในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งเป็นการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ ของรัฐ ดังตัวอย่าง การกำหนดหลักการให้สถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งหมดกว่า 70 สถานี (ตัวเลข ณ ปี 2507 สถานีทั้งหมดเป็นของราชการ และในจำนวนนี้ 50 สถานีเป็นของกองทัพบก)

ต่อมาเมื่อเกิดกระแสตื่นตัวในปัญหาสงครามเวียดนาม ขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนตอบโต้ด้วยการรื้อถอนและสร้างชุดคำอธิบายใหม่ขึ้นมาท้าทายหรือกระทั่งล้มล้างโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ของนักศึกษาและปัญญาชนฉบับอื่นๆ ที่หลุดรอดจากการโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐปลูกฝัง โดยเป็นการดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งเกิดสำนึกในหมู่ประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินชะตากรรมของประเทศ

นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการสนับสนุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐบาล มีการขยายตัวของการศึกษาในระบบ ส่งผลให้เกิดการสร้างผู้นำทางวัฒนธรรมและผู้นำทางภูมิปัญญาขึ้นมา

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ขบวนการนักศึกษาก่อตัวขึ้น คือการกดขี่ปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหาร การควบคุมความคิดดังกล่าวส่งผลข้างเคียง คือมีการรับข้อมูลจากสื่อมวลชนต่างประเทศทั้งโลกคอมมิวนิสต์และโลกเสรี ซึ่งมีจุดร่วมคือ ‘คัดค้านสงคราม ต่อต้านเผด็จการทหาร’

’14 ตุลา’ เต็มไปด้วยความหลากหลาย ภายใต้เป้าหมายเดียวคือโค่นล้มเผด็จการ

ขบวนการนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการเคลื่อนไหวภายใต้ชุดอุดมการณ์ที่หลากหลายแต่อาจจะเรียกรวบยอดว่า เป็นขบวนการเคลื่อนไหวภายใต้อุดมการณ์ ‘ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย’ โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างชุดอุดมการณ์และปฏิบัติการทางวาทกรรมเป็นตัวกำหนด 4 กระแสความคิดใหญ่ที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ข้างต้น คือ แนวคิดซ้ายใหม่ ชาตินิยมของขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ต่อต้านเผด็จการทหาร และวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตย

ความหมายในการต่อสู้เหล่านั้น ส่งผลต่อลักษณะการเคลื่อนไหว 4 ประการ คือ 1. กลับไปรื้อฟื้นวาทกรรมสังคมนิยม 2. พระบาทสมเด็จปกเกล้าฯ เป็นผู้ประทานประชาธิปไตย 3. คัดค้านสงครามอินโดจีน ปกป้องอธิปไตยของชาติจากชาติมหาอำนาจ และ 4. การต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม

กล่าวเฉพาะในลักษณะที่ 2 งานชิ้นดังกล่าวพบว่า ขบวนการนักศึกษาได้นำพระราชหัตถเลขา ร. 7 ตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของขบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวใหญ่ของขบวนการนักศึกษา ซึ่งเป็นการหยิบยืมถ้อยแถลงในอดีตของพระมหากษัตริย์มาวางทาบทับบริบทใหม่ที่ถูกจัดวางให้เป็นประชาธิปไตย เรียกว่าวาทกรรม ‘กษัตริย์ประชาธิปไตย’ วาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตย เป็นการยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ให้เป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแทนประชาชน ควบคู่ไปกับความใกล้ชิดระหว่างนักศึกษาและ ร.9 ที่มีโครงเรื่องอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม วิธีการดังกล่าวได้สร้างคู่ตรงข้ามของสถาบันกษัตริย์ คือเผด็จการทหาร อันเป็นการปกครองที่ยาวนานและสร้างการรับรู้ใหม่ว่า คณะราษฎรเป็นส่วนหนึ่งในที่มาของระบอบเผด็จการทหาร

รวมไปถึงการรับรู้ที่ผิดฝาผิดตัวของขบวนการนักศึกษาเองต่อบทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ ที่รางเลือน แม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษาที่สำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างนักศึกษากลุ่มสภาหน้าโดม ก็ขาดการรับรู้ต่อบทบาทปรีดี พนมยงค์ ซึ่งงานชิ้นนี้เสนอว่า มีสาเหตุมาจากระบอบเผด็จการทหารได้ทำลายความทรงจำของคณะราษฎรลงไปยาวนาน (2490-2516) ก่อนขบวนการนักศึกษาจะปรากฏตัวขึ้น

รื้อฟื้นชุดภาษาการต่อต้านในอดีต

การรื้อฟื้นงานเขียนฝ่ายซ้ายเป็นหนึ่งวิธีการสำคัญของขบวนการนักศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างขุมทรัพย์ทางความคิดและแรงบันดาลใจในการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา มีการสร้างเครือข่ายทางวาทกรรมผ่านการพิมพ์เอกสารเพื่ออ่านในหมู่ปัญญาชน เกิดกระแสการพิมพ์เอกสารของนักศึกษา ที่เรียกว่า ‘หนังสือเล่มละบาท’ แลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเขียนซึ่งกันและกันของขบวนการอย่างแพร่หลาย

ดังจะพบได้ผ่านสิ่งตีพิมพ์ชนิดต่างๆ อาทิ กระแสต่อต้านสงครามในวรรณกรรม กาพย์กลอน เรื่องสั้น นิยาย เป็นต้น ทั้งหมดเคลื่อนไหวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย รวบยอดเป็นการคัดค้านสงคราม ต่อต้านรัฐบาล และกระแสชาตินิยม ที่อันหลังสุด ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เรียกว่า ‘ชาตินิยม นักศึกษาประชาชน’ ที่แตกต่างกับ ‘ชาตินิยมราชการ’ ที่รัฐบาลเผด็จการทหารสร้างขึ้น

ขบวนการนักศึกษาสร้างชุดคำในการต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมต่างๆ จำนวนมาก อาทิ ‘ขี้ข้าอเมริกา’ หรือ ‘สมุนจักรพรรดินิยม’ ‘ฝรั่งต่างชาติมะริกันผู้รุกราน’ โดยผูกโยงจักรวรรดินิยมอเมริกากข้ากับเผด็จการทหารเรียกสั้น ๆ ว่า ‘อเมริกา-ถนอม’

ฝ่ายแรกเป็นผู้รุกรานชาติไทยโดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายหลังว่าเป็นผู้ ‘ขายชาติ’ จะเห็นได้ว่าฝ่ายซ้ายได้สร้างชุดภาษาชาตินิยมขึ้นมาเช่นเดียวกัน อันเป็นกระแสสำคัญที่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งปรากฏมาเพื่อตอบโต้กับชาตินิยมทางการของรัฐบาลทหาร

ท้ายที่สุดในแง่พลังของวาทกรรมดังกล่าวคือ ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาฯ ได้สร้างวาทกรรมราชาชาตินิยมประชาธิปไตยเพื่ออธิบายการทำลายระบอบเผด็จการทหาร คณาธิปไตยลงไปก่อนที่ระบอบเผด็จการทหารจะล่มสลายลงจริงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

สิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้ายในขบวนการ 14 ตุลาฯ

สิ่งตีพิมพ์ของฝ่ายซ้าย คือคลังสมบัติทางความคิดของขบวนการ ที่ผู้เขียนบรรยายบรรยากาศบางช่วงบางตอนในเวลานั้นว่า

“การใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดก่อให้เกิดความหวาดกลัวทั้งต่อบรรดาเจ้าของผลงานเอง และย่อมมีผลถึงบรรดาผู้ผลิตและผู้จำหน่ายด้วย โดยเฉพาะการตั้งข้อหาอย่างเหมารวมว่างานเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสะท้อนปัญหาสังคมก็ถือเป็นคอมมิวนิสต์

สิ่งนั้นทำให้หนังสือที่มีเนื้อหาก้าวหน้าจำนวนมาก แม้ไม่ถูกประกาศเป็นหนังสือต้องห้ามในราชกิจจานุเบกษา แต่การที่เจ้าของผลงานถูกจับติดคุกหรือลี้ภัยไปต่างประเทศก็พลอยทำให้หนังสือเหล่านั้นถูกเพ่งเล็งไปด้วย ย่อมไม่มีใครเสี่ยงที่จะพิมพ์ หรือจำหน่ายหนังสือเหล่านั้น หรือเปิดเผยว่าตนมีอยู่ในครอบครอง

ความรู้สึกว่าผลงานจำนวนหนึ่งถูกเพ่งเล็งหรือเป็นอันตรายถ้ามีไว้ในครอบครองก็ส่งผลทำให้หนังสือเหล่านั้นกลายเป็นหนังสือต้องห้ามไปโดยปริยาย ด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเองของร้านหนังสือและตัวผู้เขียนเอง”

จากการค้นคว้าของ เกษียร เตชะพีระ พบว่า ในช่วงทศวรรษที่ 2490 ความคิดมาร์กซิสต์ตะวันตกได้ขยายตัวโดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชน และสร้างชุดภาษาแห่งการต่อต้านขึ้นมาผ่านสิ่งตีพิมพ์จำนวนมากหลากหลายประเภท และท้าทายความคิดแบบกษัตริย์นิยม-อนุรักษนิยมที่ครอบงำอยู่ในสังคมไทยแทบทุกด้าน

ผลงานที่ถูกผลิตในช่วงนี้ มีค่าต่อนักศึกษาและปัญญาชนรุ่นหลัง ทั้งประเภทข้อเขียนด้านโลกทัศน์-ชีวทัศน์ ทฤษฎี ปรัชญา งานประยุกต์วิเคราะห์สังคมไทย อธิบายปัญหาทางการเมือง นิยาย และบทกวี งานวรรณกรรมและศิลปะวิจารณ์ แข่งขันกับหนังสือประเภทอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของการเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมลัทธิมาร์กซ์ 1 ซึ่งหลังการขึ้นครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ งานเขียนจำนวนมากหายไป แต่ได้ไปปรากฏในพื้นที่อื่นๆ เช่น ใต้ดินหรือในคุก

การนำผลงานของฝ่ายซ้ายในปี 2490 มาตีพิมพ์ซ้ำเพื่อเผยแพร่นั้น นับเป็นการรื้อฟื้นวาทกรรมที่รัฐไม่ปรารถนา เนื่องจากงานของนักเขียนรุ่นทศวรรษ 2490 เต็มไปด้วยเนื้อหาเรียกร้องสันติภาพ คัดค้านสงคราม (ในสมัยนั้นคือสงครามเกาหลี) ซึ่งพ้องพานกับสถานการณ์ร่วมสมัยที่รัฐบาลกำลังเข้าร่วมกับสงครามอินโดจีนสอดคล้องกับการเมืองร่วมสมัยที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมกำลังปกครองด้วยระบอบเผด็จการ จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงกระตุ้นจิตสำนึกของนักศึกษาให้มีส่วนร่วมทางการเมืองและรับใช้ประชาชน ดังคำขวัญที่แพร่หลายในทศวรรษนั้นว่า ‘ศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชน’2

ความคิดนี้ย่อมไม่เป็นที่ต้องการของรัฐบาลทหารที่ต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยในหมู่นักศึกษา ความทรงจำเรื่องการต่อสู้ของคนรุ่นเก่าได้กลายเป็นขุมทรัพย์ทางความคิดและเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้เคลื่อนไหวให้คนรุ่นหลังปรับประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ในยุคของเขา ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม การอธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน หรือการชุมนุมทางการเมือง เช่น อาจารย์ที่สอนด้านวรรณกรรมอย่าง ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งต่อมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการรื้อฟื้นความสำคัญของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ยอมรับว่าเธอตื่นตัวมาจากหนังสือ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ที่ตีพิมพ์ในปี 2515  รวมไปถึงสองปัญญาชนอนุรักษนิยม ชัยอนันต์ และ ชัยสิริ สมุทวณิช ที่ได้อ้างข้อความจากงานของทีปกรหลายตอน ในแง่ที่ว่า “วรรณกรรมที่ดีมิใช่มีแต่ความงามทางวรรณศิลป์ตามนิยามของศิลปะบริสุทธิ์ หากต้อง พยายามสะท้อนความเลวร้าย ความเลวทรามทั้งหลายออกมาให้มหาชนได้เห็น และหาทางขจัดมันเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ความดีงามขึ้นแทน”3

หรือกรณีงานเขียนของ วิทยากร เชียงกูล ที่เขียนชื่นชมงานของ ศรีบูรพา ที่จบลงด้วยข้อเสนอว่า ‘เมื่อพิจารณาทั้งในแง่ความคิดและสำนวนทางภาษาของ ศรีบูรพา อย่าง แลไปข้างหน้า และ จนกว่าเราจะพบกันอีก ไปเป็นหนังสืออ่านในวิชาวรรณคดีมากเสียยิ่งกว่าหนังสือวรรณคดีโบราณหลายเล่มด้วยซ้ำ’ ”

นอกจากนั้นยังมีงานซ้ายจำนวนมากไปปรากฏในบทกวี เช่น มนูญ มโนรมย์, รวี โดมพระจันทร์ ที่ยอมรับว่ากลอนเก่าๆ ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายในอดีตนั้นเป็นแรงบันดาลใจ4 อิทธิพลของฝ่ายซ้ายจำนวนมากได้ปรากฏในความคิดของปัญญาชนรุ่นนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงปี 2515-2516 ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์, ชาวบ้าน และ มหาราษฎร์  ซึ่งปรากฏศัพท์แสง ‘ซ้าย’ แบบกลอนในทศวรรษ 2490 อย่างเปิดเผย เช่น ‘ชนชั้น’ ‘ซากศักดินา’ ‘ระบอบนายทุน’ ‘จักรวรรดิกระฎุมพี’ ทั้งเนื้อหาเองก็ท้าทายผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา

โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร หรือที่รู้จักกันดีในบทกวี ‘ตื่นเถิดเสรีชน’ ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้นำนักศึกษาในยุคนั้นอย่าง ธีรยุทธ บุญมี ก็ร่วมแต่งโคลงด้วยทำนองกราดเกรี้ยว จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของฝ่ายซ้าย 2490 ได้ปรากฏในกระแส 14 ตุลา 16 ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผสมปนเปภายในขบวนการนักศึกษาในยุคนั้น หรือที่ประจักษ์เรียกว่า ภาวะทั้งหมดคือความ ‘อีเหละเขะขะ’ ภายในขบวนการ 14 ตุลาฯ 5

การเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของขบวนการนักศึกษาดำเนินไปยาวนานหลายปีตลอดครึ่งแรกของทศวรรษที่ 2510 ได้จบลงด้วยการขับไล่ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารออกนอกประเทศในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นำมาสู่บรรยากาศสิทธิและเสรีภาพที่เปิดกว้างขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือสถานการณ์ ‘ไฟลามทุ่ม’ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีลักษณะที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกันกับ ‘ขบวนการ 14 ตุลา 16’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริบททางการเมืองไทยและการเมืองโลกเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล และที่สำคัญหน้าตาของระบอบเผด็จการทหารปัจจุบันซึ่งแตกต่างต่างไปจากอดีต จะเป็นตัวแปรพาให้สถานการณ์ ‘ไฟลามทุ่ง’ ไปสู่จุดใด โปรดอ่านตอนที่สองในสัปดาห์หน้า

เชิงอรรถ

[1] Kasian Tejapira.2001. Commodifying Marxism: the formation of modern Thai radical culture, 1927-1958. Kyoto, Japan: Kyoto University Press, Chapter 4-5

[2] ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2544. 86 ปีหนังสือนักศึกษา: ชีวประวัติหนุ่มสาวสยามฉบับลายลักษณ์, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ 5 (มิ.ย. 2543-พ.ค. 2544): น.27-37

[3] ชัยอนันต์และชัยสิริ สมุทวณิช. 2516.วรรณกรรมการเมืองของไทย, สังคมศาสตร์ปริทัศน์, ปี 11 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม. น.74

[4] เกษียร เตชะพีระ, รวี โดมพระจันทร์’ บันทึกปากคำประวัติศาสตร์ของเสรีชน ชีวิต งาน, การปฏิวัติ และความฝัน, น.73-74

[5] ประจักษ์ ก้องกีรติ: 40 ปี 14 ตุลา-40 ปี ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย, ประชาไทออนไลน์ 14 กรกฎาคม 2556

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า