ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญคือ เห็นสมควรให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมถึงข้อจำกัดบางประการที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมปัจจุบัน หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และนำสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2563
เหตุผลหนึ่งในการปลดล็อคกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ เนื่องจากที่ผ่านมามีการควบคุมที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน และกลุ่มแรงงานในพื้นที่ภาคใต้ที่นิยมนำพืชกระท่อมมาเคี้ยวหรือนำมาชงชาดื่ม อีกทั้งส่งผลกระทบต่อการศึกษาวิจัยกระท่อมเพื่อใช้ประโยชน์ทางยา ทำให้ไทยไม่สามารถส่งเสริมและพัฒนาการใช้พืชกระท่อมในเชิงธุรกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมได้
ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ มีเพียง 4 ประเทศที่ยังควบคุมพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดอยู่ ได้แก่ ไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินเดีย ขณะที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ก็ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องควบคุม
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้มีการศึกษาวิเคราะห์แนวทางในการยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พืชกระท่อมส่งผลต่อร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเพื่อให้การขับเคลื่อนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงสั่งการให้สำนักงาน ป.ป.ส. ยกร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. … และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 3-17 มกราคม 2563 เพื่อนำข้อมูลความคิดเห็นมาใช้ประกอบการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งให้รัฐสภาพิจารณา
นักวิชาการชงร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ พร้อมรวบรวม 10,000 รายชื่อ
ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากการผลักดันพืชกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษแล้ว เครือข่ายวิชาการที่นำโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) พร้อมด้วยภาคีวิชาการ ผู้ป่วย นักกฎหมาย ยังได้ร่วมกันศึกษาและนำเสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. … เพื่อให้เกิดกฎหมายที่ดูแลจัดการพืชยาแบบครบวงจร โดยได้ยื่นร่างฉบับประชาชนแก่ผู้แทนประธานรัฐสภาไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. ระบุว่า แม้ปัจจุบันกัญชาและกระท่อมจะถูกคลายล็อคด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง มิใช่การปลดล็อคเสียทีเดียว เช่น ผู้ป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเหมาะสม นโยบายยาเสพติดยังมุ่งเน้นเรื่องการปราบปราม เงื่อนไขในการปลูกหรือครอบครอง ฯลฯ อีกทั้งต้องรอให้มีการออกกฎหมายลูกมารองรับซึ่งกระบวนการค่อนข้างเชื่องช้า
ด้วยเหตุนี้ภาคีเครือข่ายของ กพย. จึงได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยขอเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยร่วมลงนามสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อ ด้วยการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ทางด้านที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขพืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่มี นายเทพไท เสนพงศ์ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. ได้เชิญตัวแทนภาควิชาการเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษาสรรพคุณด้านยาของพืชกระท่อม ซึ่งการนำเสนอผลการวิจัยพบว่า พืชกระท่อมสามารถใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน และใช้เป็นยาลดความอ้วนได้ นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ความดัน ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเชื่อมั่นว่าการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายพืชกระท่อมในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน
สนับสนุนโดย