เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 แนวร่วมคณะราษฎรได้จัดแถลงข่าวบริเวณหน้าลานอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อนัดหมายชุมนุมใหญ่ครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 16.00-21.00 น. ที่แยกราษฎรประสงค์ โดยมีเป้าหมายหลักคือการรณรงค์ยกเลิก ม.112
แนวร่วมคณะราษฎรที่มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ อาทิ สมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม 24 มิถุนา, ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทน iLaw, ธนพัฒน์ กาเพ็ง กลุ่มทะลุฟ้า, ทาทา เฟมินิสต์ปลดแอก, แชมป์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ เจม-เครือข่ายนนทบุรี เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าในการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 237,000 รายชื่อ ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเป้าหมายว่าจะรวบรวมให้ครบ 1 ล้านรายชื่อ
ตัวแทนแนวร่วมคณะราษฎรกล่าวว่า ข้อเรียกร้องยกเลิก ม.112 ได้ปักธงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากจะมีการเคลื่อนไหวในประเทศไทย ยังขยายออกไปในระดับนานาชาติ เริ่มจากกลุ่มคนไทยในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสก็อตแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมไปถึงอเมริกาหลายรัฐด้วยกัน ในนามของกลุ่ม Thai Rights Now ซึ่งเห็นตรงกันว่า กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งคุกคาม ปิดกั้นความจริง และปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชน
แนวร่วมคณะราษฎรแถลงว่า ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ตัดสินว่า การชุมนุมเมื่อปีที่แล้วที่นำโดย อานนท์ นำพา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมถึง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถือเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“เป็นคำวินิจฉัยที่นำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน นำมาสู่การปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งเราเห็นว่าเสรีภาพนั้นเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีเสรีภาพก็ไม่มีอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น ประเทศไทยจะไปสู่ยุคมืด”
ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎรจึงต้องจัดกิจกรรมรณรงค์ยกเลิก ม.112 เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งเตรียมผลักดัน 10 ข้อเสนอของคณะราษฎรเข้าสู่วาระการพิจารณาแก้ไขกฎหมายในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ วันที่ 8 ธันวาคม คณะราษฎรจะจัดกิจกรรมรณรงค์ยกเลิก ม.112 สามารถติดตามได้ทางเพจทะลุฟ้า ส่วนวันที่ 9 ธันวาคม จะมีตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดที่ถนนรัชดา และในวันที่ 10 ธันวาคม เวลา 10.00 น. ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ตัวแทนกลุ่มราษฎรจะเดินทางไปยื่นข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าว