การชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ชุมนุม 3 กลุ่ม 1.กลุ่มนักเรียนเลว นัดชุมนุมช่วงบ่ายบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ก่อนเดินเท้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2.กลุ่มผู้หญิงปลดแอก นัดชุมนุมเวลา 16.00 – 19.00 น. บริเวณสี่แยกคอกวัว และ 3.กลุ่มจัดกิจกรรมคอสเพลย์ ‘Mob Fest: #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ’ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ตั้งแต่เวลา 14.00 – 24.00 น. ทั้ง 3 ม็อบ ใช้พื้นที่และเวลาร่วมกัน ทั้ง 3 ม็อบมีทั้งความแตกต่างในประเด็นย่อยที่เรียกร้อง แต่มีจุดร่วมบนข้อเรียกร้องหลัก นั่นคือการแก้รัฐธรรมนูญ
นักเรียนเลว
ความเคลื่อนไหวฝั่งนักเรียนเลวเริ่มเมื่อเวลา 13.00 น. ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มนักเรียนเลวได้นำภาพถ่ายของ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ ใส่อยู่ในกรอบภาพวิจิตรบรรจง หีบศพสีขาว กระถางธูป ดอกไม้จันทน์ มาวางหน้ากระทรวงฯ ผู้ชุมนุมติดสติกเกอร์รูปหมุดคณะราษฎร 2563 ไว้เต็มป้ายหน้ากระทรวงศึกษาธิการ กิจกรรมทั้งหมดมีเสียงเพลงประกอบคือเพลง ‘ผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน’ เพื่อแสดงออกถึงการหมดความชอบธรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะแห่หีบศพจำลองของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จากหน้ากระทรวงฯ มายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวว่าการจัดชุมนุมหน้า ศธ. ครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มนักเรียนได้มูฟออนจาก ศธ. เพื่อไปสู่การชุมนุมใหญ่ในการเรียกร้องประชาธิปไตย ทางกลุ่มนักเรียนจะร่วมกับคณะราษฎร ทางการเมือง เพราะหากการเมืองดีจะช่วยให้ทุกคนเข้าถึง และมีโอกาสทางการศึกษาที่ดี
ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนยังมี 3 ข้อ คือ 1.แก้ระเบียบทรงผมนักเรียน 2.ปรับหลักสูตรการศึกษา และ 3. ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา ซึ่งที่ผ่านมานายณัฏฐพลไม่ได้รับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน และไม่นำข้อเรียกร้องของพวกเราไปสู่การแก้ปัญหา
ผู้หญิงปลดแอก
กลุ่มผู้ชุมนุมในนาม เฟมินิสต์ปลดแอก หรือ ผู้หญิงปลดแอก นัดรวมตัวทำกิจกรรมบริเวณอนุสรณ์สถาน 14
ตุลา มีเวทีเสวนา นิทรรศการนำเสนอประเด็น ‘เพศในการเมือง’ ครอบคลุมหัวข้อย่อย เช่น สิทธิสตรี เฟมินิสต์ความหลากหลายทางเพศ สิทธิการสมรส พร้อมเปิดโต๊ะร่วมลงชื่อหนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม และยกเลิกกฎหมายค้าประเวณีและการทำแท้ง
กิจกรรมไฮไลต์คือการเต้นสีดาลุยไฟที่ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมกลุ่มผู้หญิงปลดแอกบ่อยครั้ง เพื่อสะท้อนประเด็นการข่มขืนและความรุนแรงที่เปรียบเทียบถึงกรณีที่รัฐเพิกเฉยต่อความเท่าเทียมในสังคม จึงเท่ากับเป็นการข่มขืนทางประชาธิปไตย
หลังจบเวทีเสวนาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มผู้หญิงปลดแอกย้ายเวทีไปทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในงาน #ม็อบเฟส
ม็อบเฟสต์: แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ
กลุ่มผู้ชุมนุมกางผ้าขาวขนาด 30×30 เมตร ที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ฯ ให้ผู้ร่วมชุมนุมเขียนข้อความ พ่นสีเพื่อแสดงเจตจำนงและความปรารถนาในการกำหนดอนาคตของตัวเองต่อรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และเรียกร้องประชาธิปไตยคืนสู่สังคม
กิจกรรม ‘Mob Fest: แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ’ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเวทีที่ใช้สื่อสารปัญหาจากประชาชนหลายภาคส่วน และเรียกร้องให้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น ชาติพันธุ์ ผู้หญิง ฟรีแลนซ์ ชาวประมง คนพิการ ผู้ผลิตสุราไทย ศาสนา ตุลาการ รัฐธรรมนูญ และสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงงานศิลปะหลายแขนง ละคร การเต้นรำ ดนตรี มีศิลปินมาร่วมแสดงดนตรี
ประจักษ์ ก้องกีรติ แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ว่า เป็นม็อบคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งความจริงจังในเนื้อหา ความสร้างสรรค์ในรูปแบบ และความรื่นรมย์ในสปิริต
ขณะที่ นรเศรษฐ์ หนองนาตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ดูแลคดีแกนนำม็อบคณะราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า การชุมนุมของม็อบเฟสได้แจ้งจัดการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม ตามมาตรา 19, 20 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช่การปิดกั้นการชุมนุม
‘เขียนอนาคตร่วมกัน’
ผ้าขาวขนาด 30×30 เมตร ที่ผู้ชุมุนมเขียนข้อความแสดงเจตจำนง และความปรารถนาที่จะกำหนดอนาคตตัวเองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในการทำกิจกรรม ‘เขียนอนาคตร่วมกัน’ ได้ถูกนำขึ้นไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
บนเวที A และเวที B ของงาน Mob Fest มีการปราศรัยสลับกับวงดนตรี ปราศรัยในประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน นี้ จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขฯ ทั้งหมด 7 ร่าง อันมีร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และร่างที่ประชาชนเข้าชื่อผ่านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ด้วย จึงอยากให้สังคมร่วมกันจับตาไปยังร่างที่จะผ่านและไม่ผ่านการพิจารณา
ขณะที่ เซอร์ไพรส์ของงานคือการขึ้นเวทีปราศรัยของ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งกล่าวย้ำว่า ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะหาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
นายพริษฐ์กล่าวถึงประโยค ‘Thailand is a Land of Compromise’ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Channel 4 News ว่า “Thailand is a Land of Compromise” “No justice, No compromise” นายพริษฐ์กล่าวว่า จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ถ้าไม่มีความยุติธรรม จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ถ้าประยุทธ์ยังไม่ลาออก จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนยังไม่ถูกร่าง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหาษัตริย์
ผู้จัดงาน Mob Fest อ่านแถลงการณ์ย้ำข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อเหมือนเดิม ให้นายกฯ ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แถลงการณ์ระบุว่า 1.ให้สมาชิกรัฐสภา เปิดทางสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในทุกหมวด ทุกมาตรา 2.ให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งทันที เพื่อแสดงออกถึงความเป็นผู้นำที่ดี มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ 3.เร่งออกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มาจากประชาชน โดยให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ 4.ต้องแก้รัฐธรรมนูญทุกหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
วงดนตรีมากมายช่วยทำให้บรรยากาศภายในม็อบผ่อนคลาย มีศิลปินหลายคนผลัดกันขึ้นไปเล่นดนตรี เช่น วง R.A.D. ที่เล่นเพลงที่ชื่อ ‘ปฏิรูป’ หลายวงต้องการแสดงจุดยืนเคียงข้างม็อบเช่นวง Zweed n’Roll
“สวัสดีค่ะ พวกเราวง Zweed n’Roll พวกเราพูดไม่เก่ง แต่อยากบอกว่ารู้สึกยินดีที่ได้มาเล่นวันนี้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแค่อยากจะมีเสรีภาพในการพูด โดยไม่ต้องหวาดกลัว คงเหมือนกับหลายคนในที่นี้ ที่ยังมีความหวัง ขอให้เราอย่าหวาดกลัว อย่าหมดหวัง”