ผลออกมาไม่น่าเชื่อว่า ไม่มีความแตกต่างเลยระหว่างกลุ่มที่ส่งข้อความด้วยเสียงกับส่งด้วยมือ ไม่มีจริงๆ จากการวัดความเร็วในการตอบสนองของผู้ขับ ไม่ว่าจะส่งข้อความด้วยวิธีไหนก็ช้าเหมือนกัน และช้ากว่าคนที่ไม่ส่งข้อความถึงเท่าตัว ที่น่าตกใจก็คือ เขาพบว่าแม้ในกรณีที่ใช้เสียงส่งข้อความ แต่สายตาของผู้ขับก็มักหาได้จับอยู่ที่ท้องถนนไม่
นเรศ ดำรงชัย
ภาพประกอบ : nai
คนบางคนสามารถทำงานหลายอย่างได้พร้อมกัน
บางคนทำกับข้าวไป ร้องเพลงไป ดูหนังไป บางคนขับรถไป คุยโทรศัพท์ไป แชทไป
พวกหลังนี่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะตัวผมเอง ที่มักจะ multitasking จนติดเป็นนิสัย โดยเฉพาะเวลาขับรถแล้วรถติดนี่ ก็จะนิสัยเสีย หยิบโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ได้นิดๆ หน่อยๆ ก็เอา แล้วเป็นไง วันก่อนนี้ระหว่างที่ผมกำลังฟินอยู่กับการอ่านหนังสือพิมพ์ในรถ พอขยับรถเดินหน้าไปนิดเดียว เงยหน้าก็ไปเสยก้นคันหน้า รู้สึกตัวอีกทีก็ต้องลงไปยืนเจรจากับสาวสวยกระโปรงสั้นที่ขับรถคันหน้า จนแม่บ้านตาเขียวมาแล้ว
ไฉนเลยบรรดานักขับรถที่มีของเล่นไฮเทคอยู่ในมือ จะไม่ถูกมองด้วยสายตาของสังคมที่เต็มไปด้วยความกังวลใจ สิ่งที่น่าสนใจของไฮเทคทุกวันนี้ที่จริงไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุอุปกรณ์ หากแต่อยู่ที่ว่ามันส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรต่างหาก
ทุกวันนี้เราก็ยังพยายามหาทางอยู่ร่วมโลกกับโทรศัพท์มือถือให้ได้ดีขึ้น มารยาทในการใช้โทรศัพท์ในที่สาธารณะจะให้ทำอย่างไร ส่งอีเมลระหว่างรับประทานอาหารจะเป็นอะไรไหม แล้วถ้าแชทหรือส่ง SMS ระหว่างอยู่ในรถยนต์จะเป็นอย่างไร
ปัญหาใหญ่ของโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้คือ มันเริ่มพูดกับเราได้แล้ว และคอยจะฟังเรารู้เรื่องไปเสียหมด เวลามี SMS เข้ามามันก็อ่านให้เราฟังได้ แถมยังแนะนำให้ด้วยว่าจะตอบอย่างไรดี เช็คเมล์ให้เรา และโทรศัพท์แทนเราก็ได้ จะสั่งให้มันทำอะไรก็เพียงแต่ใช้สัญญาณคำพูดเป็นเสียง โทรศัพท์ก็พร้อมที่จะรับฟังและรับใช้ โดยที่มือของเราไม่ต้องสัมผัสเลย
ก็เลยมีคนสรุปไว้ว่า ต่อไปนี้เราจะใช้โทรศัพท์ในรถได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลเสียที เพราะว่านอกจากสามารถพูดคุยด้วยเสียงผ่านระบบบลูทูธแล้ว ยังสามารถแชทและส่งข้อความกันได้ ทั้งที่โทรศัพท์ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในแคร่หรือที่วางแก้วน้ำในรถ โดยไม่ถูกแตะเนื้อต้องตัวเลย
มือก็จับพวงมาลัยไป ตาก็มองถนนไป โอ๊ย…ปลอดภัยจะตาย ใครว่าใช้โทรศัพท์ในรถอันตราย ครั้งหน้าถ้าถูกตำรวจเรียกจะขอโชว์เทคโนโลยีสักหน่อย
ถึงแม้จะเคยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะใช้ ‘มือ’ ถือโทรศัพท์หรือไม่ใช้ โทรศัพท์ระหว่างขับรถ ก็ยังอันตรายและเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุสูงกว่าดื่มเหล้าหรือติดยาทั้งนั้น
หลายคนเถียงว่าไม่จริงหรอก ถ้าจะส่งข้อความแชทกันล่ะก็ ใช้เสียงย่อมปลอดภัยกว่าแหงมๆ เพราะไม่ต้องมองจอก็ได้ ถ้าขับรถน้ำหนักเป็นตัน วิ่งด้วยความเร็วสูง แล้วตายังต้องมองจอไปด้วย ก็เหมือนเล่นปิดตาตีหม้อ มือจะถือโทรศัพท์หรือไม่ถือ ผลอาจจะไม่ต่างกัน ก็จริง แต่ถ้าลงตาไม่ต้องมองจอล่ะก็ น่าจะปลอดภัยกว่าขึ้นมาหลายขุม
นอกจากนี้ นักนิยมเทคโนโลยียังเถียงต่อว่า ถึงเราจะมีกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถ รณรงค์อย่างไร ก็ยังเห็นคนใช้กันอยู่ดี ห้ามไม่ได้หรอก ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่รณรงค์แจกถุงยางแล้วยืดอกพกถุงใช่ไหม คือถ้าเลือกได้เราก็คงเลือกที่จะไม่ให้เด็กๆ ชิงสุกก่อนห่าม แต่ไหนๆ ห้ามไม่ได้แล้วก็ช่วยหาทางออกให้ เรื่องโทรศัพท์ในรถก็คงเหมือนกันมั้ง ถ้าห้ามไม่ได้ ก็มาช่วยกันทำให้ปลอดภัยดีกว่า
สรุปว่า วิธีใช้เสียงสั่งโทรศัพท์ให้ส่งข้อความแทนเราระหว่างขับรถช่วยให้เราปลอดภัยกว่าแน่…จริงหรือเปล่า?
ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสุดท้ายสิ่งที่เหมือนกันก็คือ เราถูกเบี่ยงเบนความสนใจออกไปชั่วขณะ จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่สมองครับ ไม่ใช่สายตา เรื่องนี้พิสูจน์ได้ถ้ามีคนทดลองเปรียบเทียบระหว่างการแชทโดยใช้เสียงสั่งกับการแชทด้วยมือกด
ปรากฏว่าการทดลองที่ว่านี้เกิดขึ้นจริงเมื่อเร็วๆ นี้ที่สถาบันคมนาคมขนส่งของมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม สหรัฐอเมริกา เขาเปรียบเทียบผู้ขับรถ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ส่งข้อความด้วยมือ กลุ่มที่สองส่งข้อความด้วยเสียง (ใช้โปรแกรม Siri สำหรับไอโฟน หรือ Vlingo สำหรับแอนดรอยด์) และกลุ่มสุดท้ายไม่ส่งข้อความขณะขับรถ
ผลออกมาไม่น่าเชื่อว่า ไม่มีความแตกต่างเลยระหว่างกลุ่มที่ส่งข้อความด้วยเสียงกับส่งด้วยมือ ไม่มีจริงๆ จากการวัดความเร็วในการตอบสนองของผู้ขับ ไม่ว่าจะส่งข้อความด้วยวิธีไหนก็ช้าเหมือนกัน และช้ากว่าคนที่ไม่ส่งข้อความถึงเท่าตัว ที่น่าตกใจก็คือ เขาพบว่าแม้ในกรณีที่ใช้เสียงส่งข้อความ แต่สายตาของผู้ขับก็มักหาได้จับอยู่ที่ท้องถนนไม่ (มัวดูอะไรอยู่ก็ไม่รู้เหมือนกัน)
ตอนนี้เรารู้แล้วว่า การโทรศัพท์คุยกันในรถไม่ว่ามือจะถือโทรศัพท์หรือมือฟรีอยู่ ก็ไม่ปลอดภัย และการใช้เสียงสั่งโทรศัพท์ให้แชทก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน ไม่ควรทำ
ครั้งต่อไป ถ้าเห็นคนที่ขับรถข้างหน้าคุณ จู่ๆ ก็ขับช้าลงผิดสังเกต ถ้าสังเกตเห็นว่าเขากำลังโทรศัพท์อยู่ ก็อย่าเพิ่งแช่งด่านะครับ ดีแล้วที่เขาขับรถช้าๆ สวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้เขาไปเลยได้ยิ่งดี
แต่ถ้าเห็นแบบนี้บนทางด่วนรีบบีบแตรเตือนเลยครับ อันตรายแน่นอน!
หมายเหตุ…พอลงไปดูรายละเอียดของงานวิจัยแบบจริงจัง ผมก็เลยรู้วิธีที่เขาทำวิจัย แล้วก็พอเข้าใจเหตุผลที่ว่าทำไมผลถึงออกมาแบบนั้น ตามมาด้วยข้อสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ด้วยเหมือนกัน อย่างแรกคือนักวิจัยเขาให้อาสาสมัครที่เข้ามาขับรถ ใช้เสียงพูดส่งข้อความ โดยไม่ต้องไปสนใจตรวจสอบว่าข้อความที่โทรศัพท์เขียนให้จะถูกต้องเหมือนอย่างที่พูดหรือไม่ ถ้ามองในมุมนี้ก็ดูเหมือนว่า คนที่ขับรถไม่น่าจะต้องมีภาระต้องคอยกังวลตรวจสอบหน้าจอว่าข้อความที่แชทถูกเขียนอย่างไร แปลว่าไม่ต้องละสายตาจากถนนก็ได้ แล้วทำไมผลการวิจัยยังออกมาได้ว่า แชทด้วยเสียงไม่ต่างกับเวลาใช้มือกด?
อาสาสมัครบางคนให้ข้อมูลว่า “เวลาใช้งานในชีวิตจริง ยังไงก็คงต้องเช็คดูก่อนว่าโทรศัพท์พิมพ์ข้อความให้ถูกหรือไม่” ใช่แล้ว ถ้าอย่างนั้นเวลาที่ทำการทดลอง อาสาสมัครพวกนี้น่าจะ ‘อดไม่ได้’ ที่จะเหลือบตาดูหน้าจอสักหน่อยก่อนที่จะส่งข้อความ ตรงนี้อาจจะเป็นคำอธิบายได้อย่างหนึ่ง
อ้อ…ยังมีข้อสงสัยอีกอย่างหนึ่งด้วยครับ ครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครพวกนี้ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ที่มีฟังก์ชั่นแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ และในส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง มีถึงร้อยละ 80 ที่ไม่เคยหรือแทบไม่เคยใช้ฟังก์ชั่นนี้เลย ผมสงสัยว่า อาสาสมัครพวกนี้ ตอนที่ทดลองคงต้องขับรถไป ส่งข้อความไป และเรียนวิธีใช้โทรศัพท์อัจฉริยะพวกนี้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
*************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Dualism นิตยสาร Way ฉบับที่ 74, พฤษภาคม 2557)