ภูฏาน: ‘ดัชนีความสุข’ ไม่อาจชี้วัดความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ กลุ่มผู้ต่อต้านยังไม่ลืมบาดแผล

  • ระบอบการปกครองของภูฏานเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความประสงค์ของกษัตริย์เองที่มองว่าจะเป็นผลดีต่อประเทศ
  • แนวคิดดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ที่โด่งดังเกิดจาก จิกมี ซิงเย วังชุก กษัตริย์องค์ที่ 4 ของภูฏาน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ายกประเด็นการพัฒนาประเทศขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดจากนโยบายสร้างชาติของรัฐบาล
  • จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์องค์ปัจจุบันสืบทอดปณิธานต่อจากกษัตริย์องค์ก่อนอย่างต่อเนื่อง ได้รับเสียงชื่นชมว่ามีภาพลักษณ์ที่อบอุ่นและเข้าถึงง่ายกว่ากษัตริย์องค์ก่อนๆ

กำเนิดราชวงศ์วังชุก

ย้อนไปในช่วงก่อนการก่อกำเนิดของรัฐชาติ ดินแดนที่ชื่อว่า ‘ภูฏาน’ ปกครองโดยองค์ลามะจากธิเบตในตำแหน่ง ‘ธรรมราชา’ (Dharma Raja) ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงเวลาประมาณ 400-500 ปีก่อน ศาสนาพุทธจากธิเบตจึงเข้ามามีอิทธิพลทั้งในทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ 

ธรรมราชา เป็นตำแหน่งการปกครองที่มีอิทธิพลในทางจิตวิญญาณ โดยผู้ปกครองที่มีอำนาจในทางโลกจะอยู่ในตำแหน่งผู้ปกครองมณฑลสูงสุด ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยธรรมราชา เรียกว่า ‘เทพราชา’ (Deb Raja) ส่วนผู้ปกครองแต่ละมณฑลต่างๆ จะมีตำแหน่งเป็น ‘เปนลอป’ (Penlop) เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อธรรมราชาองค์สุดท้ายได้สิ้นลงในต้นศตวรรษที่ 20

ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ภูฏานเต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองจากการแย่งชิงอำนาจของผู้ปกครองมณฑลต่างๆ จนในที่สุดก็ถูกรวบรวมให้เป็นหนึ่งเดียวโดย ลามะซับดุง นาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal Rama) ในศตวรรษที่ 17 และในวันที่ 17 ธันวาคม 1907 อูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) เปนลอปแห่งเมืองทรองซาก็ได้รับเลือกจากคณะลามะผู้ปกครองมณฑล และประชาชน ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของภูฏาน ในตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์วังชุก ทั้งนี้ การขึ้นครองราชย์ของ อูเก็น วังชุก ยังได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดิอังกฤษอีกด้วย

อูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck)

ภูฏานถูกรุกรานจากภายนอกอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยสถานะที่เป็นรัฐกันชนระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับจักรวรรดิจีน จึงไม่ต้องตกเป็นอาณานิคมในยุคจักรวรรดินิยม ในช่วงปี 1720 จีนเข้ามาอิทธิพลเหนือธิเบตและภูฏาน จากนั้นอังกฤษจึงเข้ามาในช่วง 1772-1773 และหลังจากกษัตริย์องค์แรกครองราชย์เมื่อปี 1907 รัฐบาลภูฏานได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษในปี 1910 เพื่อแลกกับการที่อังกฤษจะไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศ ขณะที่สายสัมพันธ์ระหว่างภูฏานกับอินเดียก่อตัวมาเนิ่นนาน โดยหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ทั้งสองประเทศทำสนธิสัญญายอมรับอธิปไตยของกันและกันในปี 1949 จากนั้นภูฏานก็เริ่มพัฒนาประเทศภายใต้การสนับสนุนของอินเดียเรื่อยมา อินเดียมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศหลายๆ ด้านให้กับภูฏาน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านกองกำลังทหารอีกด้วย ส่วนความสัมพันธ์ทางการทูตถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1968 ในปัจจุบันก็ยังมีการเยี่ยมเยือนกันระหว่างสองประเทศในงานสำคัญๆ อยู่เป็นประจำ

จิกมี ดอร์จี วังชุก (Jigme Dorji Wangchuck)

ช่วงปี 1960 ในสมัยของ สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ดอร์จี วังชุก (Jigme Dorji Wangchuck) ประเทศภูฏานเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน และเริ่มมีการปรับตัวจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบกึ่งศักดินาของประเทศ เริ่มจากการเลิกทาส เปลี่ยนวัฒนธรรมการมีสามีหรือภรรยามากกว่า 1 คน เป็นการมีคู่ครองคนเดียว มีการพัฒนาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน โรงพยาบาล และโรงเรียนในระบบที่เป็นทางเลือกนอกเหนือจากโรงเรียนศาสนา นักท่องเที่ยวสามารถเข้าประเทศได้แบบจำกัดจำนวนเมื่อทศวรรษ 1970 ในขณะที่สถาบันทางการเมืองก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยกษัตริย์ยังคงมีอำนาจในการปกครองอยู่ หากมีความไม่มั่นคงปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น การลอบสังหารนายกรัฐมนตรีจากข้อพิพาททางการเมืองในปี 1964 และมีความพยายามในการลอบสังหารกษัตริย์ในปี 1965 แต่ไม่สำเร็จ

ภูฏานเริ่มเปิดตัวเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาชาติในปี 1971 โดยการเข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปลายรัชสมัยของ จิกมี ดอร์จี วังชุก นี้เอง

การปฏิรูปการปกครองของกษัตริย์ซิงเย 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในระยะการเปลี่ยนผ่านช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) กษัตริย์องค์ที่ 4 ของราชวงศ์ 

จิกมี ซิงเย วังชุก ขึ้นครองราชย์ในปี 1972 ด้วยวัยเพียง 19 ปี ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งกษัตริย์นั้น พระองค์ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่อินเดียและอังกฤษ ก่อนจะกลับมาที่ภูฏานในปี 1971 เพื่อช่วยเหลือพระบิดาที่กำลังป่วยและศึกษาเกี่ยวกับการเป็นกษัตริย์ ในขณะที่พระองค์ยังไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับการทำงานในฐานะกษัตริย์หลังจากพระบิดาสวรรคตและประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยตรัสให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ในปี 1991 ว่าต้องการให้โอรสของพระองค์มีชีวิตและการศึกษาแบบปุถุชนธรรมดา โดยจะให้เข้าเรียนในโรงเรียนของภูฏานอย่างไม่มีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น เพื่อที่จะไม่ถูกแยกขาดจากปัญหาและวิถีชีวิตที่ประชาชนมี[1]

“สำหรับลูกชายของฉัน เขาเพิ่งจะอายุย่างเข้า 11 ปี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นี้ (1991) ฉันพยายามให้เขามีชีวิตแบบคนทั่วไปและมีการศึกษาแบบธรรมดา ฉันกำลังจะให้เขาเข้าเรียนในโรงเรียนที่ภูฏานและไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เขาไม่ควรถูกแยกขาดจากปัญหาหรือวิถีชีวิตของชาวภูฏาน”

โอรสที่พระองค์กล่าวถึง คือบุตรที่เกิดจากชายาองค์ที่ 3 จากทั้งหมด 4 พระองค์ ซึ่งวัฒนธรรมแต่ดั้งเดิมของภูฏาน การมีภรรยาหลายคนถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อมาถึงสมัยของพระองค์สิ่งนี้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ขบวนการต่อต้านระบอบกษัตริย์หยิบยกขึ้นมาโจมตีตัวพระองค์ พระองค์แต่งงานกับภรรยาทั้ง 4 ซึ่งเป็นพี่น้องกันตั้งแต่ปี 1979 ก่อนจะมีพิธีอภิเษกสมรสต่อหน้าสาธารณชนชาวภูฏานในปี 1988 โดยไม่ได้เชิญแขกต่างประเทศมาร่วมงานอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นประสงค์ของกษัตริย์ที่ต้องการสงวนไว้เพื่อชาวภูฏานเท่านั้น สาเหตุที่ต้องจัดพิธีต่อหน้าสาธารณะ เป็นเพราะข้อกังวลเรื่องผู้สืบราชบัลลังก์ จึงต้องมีการจัดงานเพื่อประกาศตำแหน่งต่างๆ ซิงเย วังชุก ได้ให้สัมภาษณ์กับ Asia Week Magazine ว่าทรงได้รับความกดดันอย่างหนักในการเลือกตำแหน่งราชินี แต่การจัดงานเฉลิมฉลองในลักษณะเช่นนี้ไม่ควรเป็นภาระของงบประมาณประเทศที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน[2]

กษัตริย์หนุ่มได้สืบต่อการปฏิรูปประเทศจากกษัตริย์องค์ก่อนอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีที่มีต่ออินเดียเอาไว้ และวางแผนที่จะแก้ไขความขัดแย้งที่มีกับจีน พัฒนาระบบสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะเดียวกันก็ยังคงพยายามอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมและทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศเอาไว้ด้วย จึงได้ริเริ่มแนวคิดเรื่องดัชนี้ชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ขึ้น โดยมีเกณฑ์อยู่บนพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมวัฒนธรรม ทว่าสำหรับ เดียร์เดร แมคคลอสคีย์ (Deirdre Nansen McCloskey) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน มองว่าการประเมินดังกล่าวรัฐบาลอาจกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนเอง[3] ขณะที่อีกนัยหนึ่งก็ถูกมองว่า ภูฏานกำหนดแนวคิดดังกล่าวขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากภายนอกในประเด็นเรื่องการปราบปรามชนกลุ่มน้อย

สำหรับแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ซิงเย วังชุก มองว่าข้อเสียของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ การที่อำนาจปกครองขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียวมากเกินไป การเมืองและความเป็นอยู่ของชาวภูฏานไม่ควรถูกกำหนดโดยคนเพียงคนเดียว พระองค์ให้เหตุผลว่า หากรัฐบาลและกษัตริย์ต้องการให้ประเทศเป็นระบอบศักดินาก็คงจะไม่มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยเฉพาะในด้านภาษาอังกฤษอย่างที่เป็นอยู่ อีกทั้งเหตุผลที่พระองค์ใช้โน้มน้าวประชาชนคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้รับประกันว่าประชาชนจะมีกษัตริย์ที่ดีเสมอไป แต่ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิปลดกษัตริย์ที่ไม่ดีเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของทุกคนเอาไว้[4]

“ข้อเสียของระบอบกษัตริย์ คือการที่คุณได้อยู่ในตำแหน่งที่สูงมากและมีความสำคัญมากโดยไม่ใช่เพราะคุณสมบัติ แต่เป็นเพราะชาติกำเนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลมากเกินไป ฉันไม่คิดว่าอนาคตทางการเมืองของภูฏาน ความเป็นอยู่ของประชาชนของเรา ความมั่นคง และอำนาจอธิปไตย จะสามารถกำหนดได้โดยคนคนเดียว ฉันเน้นย้ำในการปราศรัยและการพูดคุยกับนักเรียนในโรงเรียนเสมอว่า อนาคตของภูฏานไม่ได้อยู่ในมือกษัตริย์ อนาคตของภูฏานอยู่ในมือของชาวภูฏานทุกคน”[5]

ในสมัยพระบิดาของพระองค์ผู้ซึ่งเริ่มต้นแนวคิดในการนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย มองว่าวัฒนธรรมตะวันตกจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมภายในประเทศ จึงยังไม่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคแบบสมัยใหม่มากเกินไป และยังไม่มีโทรทัศน์และการโฆษณาเข้ามาในประเทศ จนกระทั่งในปี 1999 รัฐบาลยกเลิกนโยบายที่ห้ามประชาชนเข้าถึงโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต เพราะกษัตริย์ ซิงเย วังชุก มองว่านั่นคือปัจจัยที่จะนำไปสู่ความทันสมัย และเตือนว่าการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อคุณค่าในวิถีดั้งเดิมได้ การเปิดช่องโทรทัศน์ในช่วงแรกๆ จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรม โดยกลุ่มชนชั้นนำเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความสุขมวลรวมได้ 

การเข้าถึงเทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ในด้านบวกมีการสะท้อนว่าประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น มีพื้นที่ให้พูดคุยในประเด็นอ่อนไหวมากขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต เช่น เพศศึกษา การวิพากษ์วิจารณ์ด้านการเมือง เนื่องจากพื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนมีตัวตนแบบนิรนามได้ จึงสามารถแสดงความคิดเห็นได้กว้างขวางมากขึ้นเช่นกัน ในปี 2014 คาดว่ามีจำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คกว่า 80,000 บัญชี คิดเป็นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรขณะนั้น อีกด้านหนึ่งพบว่ามีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงขึ้น ทั้งการลักขโมย ความรุนแรง ยาเสพติด และปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเยาวชน 

ขณะเดียวกัน สื่อโทรทัศน์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอย่างมากทั้งความต้องการในการบริโภคและทัศนคติของผู้คน ในปี 2002 Kuensel หนังสือพิมพ์ระดับประเทศได้เรียกร้องให้มีการแบนช่องโทรทัศน์ต่างประเทศ เพราะมองว่าเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น รัฐบาลพยายามบัญญัติกฎหมายออกมาควบคุมสื่อ แต่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งในประเทศมองว่ามีความล่าช้า 

รอยแผลของผู้ลี้ภัย

ทว่าประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของ จิกมี ซิงเย วังชุก คือปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยังคงยืดเยื้ออยู่จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายด้านวัฒนธรรมในปี 1988 ที่รัฐบาลภูฏานพยายามบังคับให้ประชากรในประเทศทุกคนปฏิบัติตามแนวทางเดียวกัน ทั้งการใช้ภาษา การแต่งกาย และวัฒนธรรมอื่นๆ แบบชาวธิเบตซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ทั้งที่มีชุมชนอื่นอีกหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ในประเทศด้วย และกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรเป็นคนเชื้อสายเนปาลที่เรียกว่า โลซาม (Lhotshampa) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ การออกนโยบายเช่นนี้จึงนำมาสู่การประท้วง เพราะพวกเขามองว่าเป็นการกดขี่ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง 

ผู้ลี้ภัยชาว Lhotshampa ที่แคมป์ Beldangi ในประเทศเนปาล แสดงหนังสือเดินทางของภูฏาน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1990 พรรคประชาชนภูฏาน (The Bhutan People’s Party) หรือ BPP ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องถึงกษัตริย์ให้จัดตั้งระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลแย้งว่ามีสถาบันทางการเมืองประจำประเทศอยู่แล้ว คือ สภาระดับชาติและสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ต่อมามีการประท้วงในเขตทางตอนใต้ของภูฏานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เมื่อเกิดการลุกฮือของประชาชน รัฐบาลภูฏานกลับเลือกที่จะจัดการผู้ประท้วงด้วยวิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง อีกทั้งรัฐบาลยังเปลี่ยนกฎหมายสัญชาติด้วยการถอนสัญชาติผู้ประท้วงและเนรเทศออกนอกประเทศ กษัตริย์ซิงเยเองก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้นิรโทษกรรมกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลกว่า 1,500 คน ในปี 1991 แต่ก็ไม่เกิดผล

ในปี 1993 เนปาลและภูฏานตกลงที่จะเจรจากันเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งขณะนั้นใช้ชีวิตกันอย่างแออัดในค่ายทางตะวันออกของเนปาลกว่า 86,000 ชีวิต และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน นักวิเคราะห์บางส่วนระบุว่าเป็นการจัดการเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ทางกาฐมาณฑุยกประเด็นนี้ขึ้นในการประชุมประชาคมยุโรป (European Community Meeting) และการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Conference) มีการเจรจาหาข้อตกลงหลังจากนั้นอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน ตั้งแต่ปี 1995 เริ่มมีประเทศภายนอกเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทั้งสหรัฐอเมริกา และข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) อินเดียได้เข้ามามีบทบาทบ้างแต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหามากนัก อีกทั้งยังมีการสั่งห้ามไม่ให้กลุ่มผู้ลี้ภัยทำการประท้วงในอาณาเขตของประเทศอินเดียอีกด้วย

สถานการณ์ค่อนข้างยืดเยื้อยาวนาน มีทั้งการประท้วงอดอาหาร การจับกุมผู้ลี้ภัยที่พยายามกลับเข้าประเทศ การลักพาตัวผู้ประท้วง การหาข้อตกลงระหว่างประเทศในการส่งตัวผู้ลี้ภัยไปยังที่ต่างๆ มีการก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยในภูฏาน (UDF) เมื่อปี 1996 โดยมี รองธอง คุนลีย์ ดอร์จี (Rongthong Kunley Dorji) เป็นแกนนำกลุ่ม ในปี 1997 UDF ประกาศว่าจะเคลื่อนไหวโดยสันติเพื่อกดดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองในภูฏาน ทว่าปีต่อมารายงานของแอมแนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล[6] ระบุว่า นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในภูฏานถูกคุกคามเป็นประจำ และมีนักโทษทางการเมืองมากกว่า 150 คนในช่วงเวลานั้น UDF จึงประกาศต่อต้านระบอบกษัตริย์ เพราะหมดหวังที่จะได้เห็นว่ากษัตริย์จะขึ้นมาปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งในเดือนมิถุนายน ปี 1998 ซิงเย วังชุก ยุบคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในรอบ 26 ปี แล้วแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่จำนวน 6 คน การแต่งตั้งครั้งนี้ถูก UDF แย้งว่าในบรรดารัฐมนตรีทั้ง 6 คน ไม่มีชาวเนปาลร่วมอยู่เลย การปฏิรูปประเทศจึงถือเป็นเรื่องหลอกลวงเท่านั้น

สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2006 จิกมี ซิงเย วังชุก สละราชสมบัติ โดยที่ปัญหาผู้ลี้ภัยยังคงคาราคาซังอยู่เช่นนั้น 

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การยุบสภาเมื่อปี 1998 มีการถ่ายโอนอำนาจมาสู่สภารัฐมนตรีและมีบทบัญญัติให้สามารถฟ้องร้องให้ถอดถอนกษัตริย์ได้ด้วยเสียง 2 ใน 3 ของสภาแห่งชาติ กษัตริย์ไม่ดำรงอยู่ในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป แต่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะรัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทน นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่จะมีการสลับหมุนเวียนตำแหน่งคราวละ 1 ปี ในกลุ่มผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 5 ลำดับแรก

จิกมี ซิงเย วังชุก มีรับสั่งให้ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2001 และต่อมาก็ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในวันที่ 17 ธันวาคม 2005 ซึ่งเป็นวันชาติอันเนื่องมาจากการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์แรก อีกทั้งยังประกาศให้มีการเลือกตั้งในปี 2008 และประกาศจะสละราชสมบัติอีกด้วย สร้างความตกตะลึงให้กับชาวภูฏานส่วนใหญ่ที่ยังคงยึดมั่นในระบอบกษัตริย์อยู่  

รัฐบาลอินเดียได้เชื้อเชิญให้คณะกรรมการการเลือกตั้งของภูฏานไปดูงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียในปี 2006 การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2008 ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเป็นทางการ โดยระบบการเลือกตั้งของภูฏานจะมีการใช้ระบบหยั่งเสียง กล่าวคือ จะเป็นการเลือกตั้งทั้งหมด 2 ครั้ง ในครั้งแรกจะเป็นการเลือกตั้งเพื่อหาพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 2 พรรค ต่อมาจึงเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ที่ได้เข้าสู่รัฐสภา พรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคือ Druk Phuensum Tshogpa (DPT) ซึ่งเป็นพรรคที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม 

จริยวัตรของกษัตริย์จิกมี กอบกู้ความนิยม

หลังจาก จิกมี ซิงเย วังชุก สละราชสมบัติ มกุฎราชกุมารก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) กษัตริย์องค์ที่ 5 ของประเทศในวัย 28 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่อายุน้อยที่สุดของโลก ณ ขณะนั้น 

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck)

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อเสด็จกลับประเทศก็ติดตามพระบิดาระหว่างการทรงงาน และเป็นตัวแทนของพระบิดาในการเยือนต่างประเทศอยู่หลายครั้ง เช่น การเยือนประเทศไทยในปี 2006 ซึ่ง จิกมี เคเซอร์ ขณะนั้นยังเป็นมกุฎราชกุมาร ได้รับความสนใจจากสื่อไทยอย่างมาก

เมื่ออายุได้ 31 ปี กษัตริย์องค์นี้ก็ได้แต่งงานกับหญิงสามัญชนจากครอบครัวที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอชื่อว่า เจตซุน เปมา มีเรื่องเล่าว่าทั้งสองพบกันตั้งแต่วัยเยาว์ ในขณะนั้นเจตซุนมีอายุเพียง 7 ปี จิกมี เคเซอร์ ในวัย 17 ปี ได้บอกกับเจตซุนว่าหากเธอโตขึ้นแล้วยังไม่มีใคร พระองค์จะกลับมาขอเธอแต่งงาน ต่อมาทั้งสองก็ได้พบกันอีกครั้งด้วยโชคชะตานำพา พิธีอภิเษกสมรสจึงเกิดขึ้นในปี 2011 ณ เมืองพูนาคา ซึ่งเป็นนครหลวงเก่า ท่ามกลางการติดตามของสื่อมวลชนจากทั่วโลก รวมถึงสื่อไทยด้วย โดยเชิญผู้นำคนสำคัญและทูตานุทูตจาก 25 ประเทศทั่วโลก และบุคคลสำคัญจากอินเดีย มิตรสัมพันธ์เก่าแก่ รวมทั้งหมดราว 200 คน

20 Feb, 2010 – His Majesty and Jetsun enjoy a tandem bike ride. | photo: facebook.com/QueenJetsun

กษัตริย์หนุ่มองค์นี้มีภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนโยนและเข้าถึงง่ายกว่ากษัตริย์องค์ก่อน คินลีย์ ดอร์จี (Kinley Dorji) กรรมการผู้จัดการหนังสือพิมพ์ Kuensel ที่รัฐเป็นเจ้าของ กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ในปี 2008 ว่าพระองค์มีเสน่ห์อย่างเป็นธรรมชาติเมื่ออยู่ต่อหน้าประชาชน ขณะที่ จิกมี ธินลีย์ (Jigmi Thinley) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็มองว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่อ่อนโยน ใจดี รักเด็ก และเป็นที่รักของทุกคน อีกนัยหนึ่ง การปฏิบัติตนเช่นนี้อาจเป็นวิธีการในแบบเฉพาะตัวของพระองค์เมื่อต้องสืบทอดแนวคิด GNH ต่อจากกษัตริย์องค์ก่อน ขณะนั้นพระองค์มองว่าจุดอ่อนของภูฏานคือเศรษฐกิจ นำมาสู่ปัญหาการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาว และปัญหาสังคมอื่นๆ อย่างยาเสพติดและอาชญากรรม ถ้าหากสามารถสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงได้ก็จะนำมาสู่ประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวาได้[7]

ในด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย ถือเป็นแบบอย่างที่พระองค์เคารพยกย่อง ทรงนำแนวคิดหลายอย่างมาปรับใช้ โดยเฉพาะหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการเยี่ยมเยียนกันระหว่างสองราชวงศ์อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและภูฏานเองก็ค่อนข้างใกล้ชิด เห็นได้จากการที่มีสถานเอกอัครราชทูตของประเทศไทยตั้งอยู่ในภูฏาน ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ อีกทั้งยังมีสายการบิน Druk Airline ที่บินตรงมายังกรุงเทพฯ อีกด้วย ไทยให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ ส่วนนายกรัฐมนตรี เชอริง ต๊อบเกย์ (Lyonchhen Tshering Tobgay) ได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2013 เพื่อลงนามในข้อตกลงทางการค้าที่ประสบกับปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้าระหว่างสองประเทศในขณะนั้น 

เมื่อประเทศเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 จิกมี เคเซอร์ มีรับสั่งปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2020 โดยในพระราชโองการฯ มีสาระสำคัญว่า สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนประชาชนที่อยู่ต่างประเทศและต้องการกลับบ้าน รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือ ทั้งยังขอให้ประชาชนสามัคคีและช่วยเหลือกัน ให้พ่อแม่ช่วยกันดูแลลูกๆ ระหว่างปิดเรียน โดยไม่ให้เวลาผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ ส่วนรัฐบาลก็จะช่วยสนับสนุนเครื่องมือจำเป็นในการศึกษาและดูแลคนชราด้วย นอกจากนี้ พระองค์ยังพยายามเดินทางไปเยี่ยมเยียนประชาชนตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่มีประชากรเพียงประมาณ 700,000 คน ทั้งด้วยการเดินเท้า รถ และม้า เพื่อติดตามมาตรการและแนวทางในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รัฐบาลภูฏานเองก็ตอบสนองต่อปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็ว มีการเลื่อนการชำระภาษีและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสละเงินเดือน 1 เดือน และภายในเดือนกันยายน 2021 ประชาชนชาวภูฏานได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 90.2 เปอร์เซ็นต์

อาจกล่าวได้ว่า สถาบันกษัตริย์ของภูฏานมีความผูกพันกับคนในประเทศทั้งในเชิงจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ถึงแม้จะเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดตัว แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกที่เข้ามามีอิทธิพลได้ จึงต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การพัฒนาประเทศก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน รวมถึงปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายและต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาคมโลก

เชิงอรรถ

[1] “As for my son — he just became 11 on the 21st of February — I am trying to give him a normal life and a normal education. I’m going to make him study in schools in Bhutan, and without any special privileges. He should not be separated from the problems or the way of life of the Bhutanese people.”

[2] THE KING AND I, AND I, AND I, AND I

[3] McCloskey, Deirdre N. (28 June 2012). “Happyism: The Creepy New Economics of Pleasure”. The New Republic: 16–23.

[4] วาทะ “จิกมี ซิงเย วังชุก” จากระบอบกษัตริย์นำภูฏานสู่ประชาธิปไตย-เลือกตั้งครั้งแรก, ศิลปวัฒนธรรม, 2562.

[5] “The flaw in monarchy,” the King of Bhutan said, “is that you reach that very high and important position not due to merit, but due to birth. Too much depends on one individual. I don’t think Bhutan’s political future, and the well-being of our people, our security and our sovereignty, can be determined by one individual. I always stress in all my speeches and talks to schoolchildren that the future of Bhutan does not lie in the hands of the King. The future of Bhutan lies in the hands of the Bhutanese people.”

[6] https://www.refworld.org/docid/469f386a1e.html

[7] Reuters

อ้างอิง

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า