เดนมาร์ก: ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายหมิ่นฯ ที่ยังคงอยู่

  • สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง แต่ขณะเดียวกันกลับมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยังคงถูกใช้งานอยู่
  • รัฐธรรมนูญอยู่เหนือสถาบันกษัตริย์ มีการกำหนดขอบเขตอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไว้อย่างชัดเจน และมีกฎห้ามนำเงินภาษีที่ได้จากรัฐไปใช้จ่ายนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาต
  • สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กยังดำรงอยู่ได้ เพราะเลือกที่จะโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องของสังคมอย่างเต็มใจเมื่อมีข้อครหาด้านการเงิน และยินยอมให้ตัดงบประมาณสำหรับราชนิกุลอีกหลายพระองค์ที่ไม่ใช่รัชทายาท

หลายสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาบนโลกนี้ หากมีการยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานจนหยั่งรากลึกลงไปในวิถีชีวิตของผู้คนย่อมยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ทว่าสถาบันกษัตริย์แห่งเดนมาร์กที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ราชวงศ์เก่าแก่ที่สุดแห่งยุโรป’ กลับมีพัฒนาการที่ก้าวทันยุคสมัยอย่างน่าเหลือเชื่อ นอกจากจะปรับตัวจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้ความยอมรับแล้ว ยังเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่มีหน้ามีตาในสังคมนานาชาติอีกด้วย

ราชวงศ์กลึคสบวร์ก (Glücksburg) คือผู้ครองราชบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กในปัจจุบัน สามารถสืบสาแหรกของราชวงศ์ย้อนกลับไปไกลถึงยุคสมัยของราชวงศ์เยอรมนีที่มีต้นตระกูลเป็นผู้ปกครองในหลายชาติของทวีปยุโรป และในปัจจุบันก็ยังคงหลงเหลือทายาทผู้ครองราชบัลลังก์ในอีกหลายประเทศ ในแง่ความต่อเนื่องยาวนานทางประวัติศาสตร์ผ่านการสืบสายเลือดเช่นนี้ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก คงความสำคัญยิ่งในบทบาททางสังคมของราชอาณาจักรและนานาชาติ

แตกต่างจากอีกหลายราชวงศ์ในยุโรปและอีกหลายแห่งทั่วโลกที่หวงแหนในอำนาจ สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กกลับเป็นผู้หยิบยื่นรัฐธรรมนูญที่เสรีและเป็นธรรมให้แก่ประชาชนโดยไม่ต้องถูกบังคับด้วยเลือดเนื้อและกำลังแต่อย่างใด และทำให้รัฐธรรมนูญของเดนมาร์กที่กษัตริย์ในอดีตสร้างไว้กลายเป็นหลักประกันให้แก่สังคมได้ว่า จะไม่มีผู้ใดสามารถครองอำนาจล้นฟ้าขึ้นมาได้อีกในอนาคต

สถาบันกษัตริย์สร้างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญผูกมัดสถาบันกษัตริย์  

ท่ามกลางเปลวเพลิงของการปฏิวัติล้มล้างสถาบันกษัตริย์ทั่วภูมิภาคยุโรป พระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อป้องกันการนองเลือดในสังคมด้วยการหยิบยื่นรัฐธรรมนูญให้แก่พสกนิกรของพระองค์ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นั้น ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งเดนมาร์กกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1849 และกลายเป็นรากฐานสำคัญให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขในปัจจุบันที่เริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1953[1]

“เดนมาร์กมีทั้งประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์ในเวลาเดียวกัน แต่เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หมายความว่า อำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ”

ข้อความดังกล่าวถูกระบุเอาไว้ในบรรทัดแรกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ บนหน้าเว็บอย่างเป็นทางการของ Folketinget หรือรัฐสภาเดนมาร์ก สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่รัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดที่แม้แต่สถาบันกษัตริย์ยังถูก ‘จำกัด’ อำนาจเอาไว้โดยไม่มีข้อต่อรอง แม้ว่ารัฐธรรมนูญในอดีตจะมีที่มาจากสถาบันกษัตริย์เองก็ตาม

รัฐธรรมนูญเดนมาร์กฉบับปี ค.ศ. 1953 บทที่ 2 มาตรา 8 ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่า ภายหลังจากการขึ้นครองราชย์แล้ว พระมหากษัตริย์จะต้องลงนามต่อหน้าสภาแห่งรัฐ (Council of State) ว่าจะเคารพและศรัทธาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร โดยจะมีการนำไปเก็บไว้ยังคลังของรัฐสภา 1 ฉบับ และนำไปเผยแพร่ยังสำนักงานบันทึกสาธารณะของเดนมาร์ก (Public Record Office)[2] ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ยิ่งชี้ให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กไม่มีอำนาจทำตามพระราชหฤทัยได้ หากเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกบัญญัติหรือเป็นสิ่งที่ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนนานมาก่อนพระองค์ รวมถึงยังเป็นการเก็บหลักฐานไว้กับรัฐสภาและสาธารณะที่ยิ่งสะท้อนการให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ชาวเดนมาร์กมองว่าคืออำนาจสูงสุดได้เป็นอย่างดี

รัฐธรรมนูญยังจำกัดการใช้จ่ายของสถาบันกษัตริย์ทั้งหมดเอาไว้อีกด้วย ในมาตรา 11 ของบทเดียวกัน โดยกำหนดว่าถึงแม้สมาชิกในราชวงศ์จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐตามพระราชบัญญัติ แต่ก็ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายนอกราชอาณาจักรได้หากรัฐสภาไม่ให้ความยินยอม[3] ดังนั้นการใช้จ่ายเงินที่เหล่าราชนิกุลได้จากภาษีเหล่านี้จึงถูกติดตามอย่างใกล้ชิด หรือแม้แต่กิจการระหว่างประเทศที่หลายครั้งเป็นหน้าที่ของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐก็จำเป็นที่จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภาเช่นเดียวกัน[4] สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจการตัดสินใจสูงสุดก็ยังคงเป็นของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อันถือเป็นตัวแทนอำนาจของปวงชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ 

สถาบันกษัตริย์ในความรักและรอยยิ้มของปวงประชา

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบย้อนกลับไปได้หลายร้อยปีว่า การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์ต้องมี ‘Motto’ ประจำตัวในภาษาเดนิช และสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 หลังจากขึ้นครองราชย์ก็ได้สละราชทินนามเกือบทั้งหมดให้คงเหลือไว้เพียง ‘ด้วยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า ราชินีแห่งเดนมาร์ก’ (Margrethe den Anden, af Guds Nåde Danmarks Dronning) และ ‘ความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า ความรักจากปวงชน และความเข้มแข็งของเดนมาร์ก’ (Guds hjælp, folkets kærlighed, Danmarks styrke) ที่สื่อถึงความเป็นสมัยใหม่ของราชอาณาจักรเดนมาร์กมาเป็น Motto ในการครองราชย์ของพระองค์

สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 นับเป็นสตรีรายแรกในรอบหลายร้อยปีที่ได้ขึ้นครองบัลลังก์เดนมาร์กหลังจากสถาบันกษัตริย์แห่งนี้ขาดผู้ปกครองที่เป็นผู้หญิงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1400 และได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นประมุขของรัฐที่มีความเป็น ‘ปัญญาชน’ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก ตั้งแต่การให้ความสนใจในเรื่องของความเท่าเทียม ความเข้มแข็งของชุมชน ไปจนถึงความเชี่ยวชาญด้านศิลปะที่ทำให้ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์เคยถูกนำไปเป็นหน้าปกให้กับนวนิยายชื่อก้องโลกอย่าง The Lord of The Rings ในฉบับภาษาเดนิชมาแล้ว[5] และยังทรงชื่นชอบการออกแบบเสื้อผ้าอีกด้วย

ราชนิกุลปัจจุบันของสถาบันกษัตริย์เดนมาร์กมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 มีพระสวามี 1 พระองค์ พระโอรส 2 พระองค์ โดยองค์รัชทายาทเจ้าชายเฟรเดอริก (Frederik André Henrik Christian) มีโอรส 2 พระองค์ และธิดาอีก 2 พระองค์ ขณะที่พระกนิษฐาธิราชเจ้าชายโจอาคิม (Joachim Holger Waldemar Christian) มีโอรส 3 พระองค์ และธิดา 1 พระองค์ ซึ่งถึงแม้พระองค์จะมีการหย่าและแต่งงานใหม่ ก็มิได้ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวในสังคมเดนมาร์กเหมือนอย่างกรณีของสถาบันกษัตริย์ในประเทศอื่น และความนิยมในตัวราชนิกุลยังคงมีอยู่สูงไม่เสื่อมคลาย[6]

ในปี 2018 มีการสำรวจความนิยมในสถาบันกษัตริย์เดนมาร์กจากประชากรอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,075 ราย พบว่า มีผู้คนจำนวนถึงร้อยละ 76.6 ที่ยังอยากให้มีสถาบันกษัตริย์ในแบบที่เคยเป็นมาต่อไป ขณะที่มีเพียงร้อยละ 14.6 เท่านั้นที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ[7] ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากผลการสำรวจเมื่อปี 1972 ที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 เพิ่งขึ้นครองราชย์ เพราะ ณ ขณะนั้นชาวเดนิชเพียงร้อยละ 42 เท่านั้นที่ต้องการให้คงสถาบันกษัตริย์ไว้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของสถาบันกษัตริย์ที่สร้างรอยยิ้มและความภาคภูมิใจให้ชาวเดนิชก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เมื่อเริ่มมีข้อครหามากขึ้นทั้งจากปัญหาพื้นฐานที่ทุกสถาบันกษัตริย์ต้องเจออย่างการใช้จ่ายเงินภาษี ไปจนถึงเรื่องเปราะบางในสมัยปัจจุบันอย่างหลักศาสนาและวิกฤติผู้อพยพ

ข้อครหา คำวิจารณ์ และผู้ต่อต้าน

สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กแตกต่างจากสถาบันกษัตริย์อื่นในยุโรปที่ไม่ได้มีทรัพย์สินมหาศาลตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แหล่งรายได้หลักของราชวงศ์จึงมาจากงบส่วนที่เรียกว่า ‘appanage’ ที่ได้จากรัฐสภาประมาณ 82 ล้านโครนเดนมาร์กต่อปี ในฐานะหนึ่งในรายจ่ายของแผ่นดิน[8]

ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นครอบคลุมถึงการดูแลอสังหาริมทรัพย์เกือบทั้งหมดของสถาบันกษัตริย์ เงินเดือนสำหรับข้าราชบริพาร การเยี่ยมเยียนต่างประเทศ ไปจนถึงเสื้อผ้าและค่าไฟฟ้าของราชนิกุล[9] อย่างไรก็ตาม จากปี 2005-2008 พบว่า งบ appanage ของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 และรายรับของพระองค์ที่ได้ทั้งจากรัฐสภาและที่อื่นๆ เพิ่มขึ้นจาก 86,680,000 โครนเดนมาร์ก ในปี 2019 เป็น 88,620,263 โครนเดนมาร์ก ในปี 2020[10] ขณะที่เว็บไซต์ของสำนักพระราชวังได้ระบุเกี่ยวกับงบประมาณเหล่านี้เอาไว้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถและราชนิกุลอีกหลายพระองค์เป็นที่ยกเว้นจากการถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้และภาษีรถยนต์ แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีมรดก ภาษีจากการรับของขวัญ และภาษีที่ดิน เช่นเดียวกับประชาชนธรรมดา[11]

จากจำนวนเงินที่สถาบันกษัตริย์ได้รับมากขึ้นในแต่ละปี และการขยายขนาดของจำนวนราชนิกุล ทำให้เริ่มเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เล็กน้อยในหมู่ชาวเดนิชเรื่องงบประมาณและการใช้จ่ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยโฆษกของพรรค Venstre อย่าง ยอง อือ ยอร์กึนเซน (Jan E. Jorgensen) ได้กล่าวไว้ในปี 2016 ว่า “มันเป็นการคิดเลขง่ายๆ ว่าทุกอย่างต้องมีข้อจำกัด ไม่เช่นนั้นในอีกหลายรุ่นข้างหน้าคงจะมีเจ้าชายและเจ้าหญิงอีกเกือบร้อยพระองค์ที่ต้องการค่าใช้จ่ายรายปี”[12]

จากสาเหตุดังกล่าว ทางสำนักพระราชวังตอบรับด้วยการออกมากล่าวว่า ในบรรดาราชนิกุลหลายพระองค์ มีเพียงเจ้าชายคริสเตียน (Christian Valdemar Henri John) เท่านั้นที่จะได้รับรายได้จากรัฐเมื่อพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ เนื่องจากเป็นพระโอรสคนโตขององค์รัชทายาท เจ้าชายเฟรเดอริก ส่วนเหล่าพระโอรสหรือพระธิดาที่เหลือจะต้องพึ่งพารายได้จากครอบครัวหรือไม่ก็ต้องหารายได้ด้วยตนเอง

ในปี 2010 สถาบันวิจัย PEW ระบุว่า ร้อยละ 31 ของประชากรชาวมุสลิมทั้งหมดที่มีการย้ายถิ่นฐาน เลือกที่จะอพยพเข้ามาในทวีปยุโรป หรือคำนวณออกมาได้ถึง 18,350,000 คน[13] แน่นอนว่าเดนมาร์กเองก็เป็นหนึ่งในที่หมายของการลี้ภัยตลอดหลายปีที่ผ่านมาเช่นกันถึงร้อยละ 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 

สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ได้ออกมาพูดถึงประชากรชาวมุสลิมในอาณาจักรของพระองค์ช่วงปี 2005 จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากคนหลายกลุ่ม โดยพระองค์ได้อธิบายถึงชาวมุสลิมในลักษณะว่า ‘ผู้คนที่มีศาสนาเป็นเหมือนทุกอย่างในชีวิตของพวกเขา’ และกล่าวว่าชาวมุสลิมในเดนมาร์กควรเรียนภาษาแบบชาวเดนิช เพื่อให้ไม่รู้สึกแปลกแยกในสังคม[14]

ถึงแม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมาะสมของสถาบันกษัตริย์เดนมาร์กอยู่บ้าง แต่ก็น้อยนักที่จะมีกรณีวิจารณ์ร้ายแรงหรือถึงขั้นถอนรากถอนโคน เนื่องจากประมวลกฎหมายมาตรา 115 ของเดนมาร์กได้ระบุเอาไว้ว่า “โทษสำหรับข้อหาหมิ่นประมาทจะถูกยกกำลังขึ้น หากเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือประมุขของรัฐ และมีโทษจำคุก 4 ปี” รวมถึงยังมีมาตรา 112 และ 113 ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกด้วย 

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเหล่านี้ไม่ได้บัญญัติขึ้นมาอย่างเลื่อนลอยเหมือนอย่างในประเทศจารีตนิยมอื่นๆ แต่ยังคงมีการบังคับใช้กฎหมายมาตราเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีนักกิจกรรมกลุ่ม Greenpeace ถูกฟ้องด้วยกฎหมายมาตรานี้เนื่องจากกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ จากการจัดงาน The 2011 Copenhagen COP15 Climate Summit[15]

อย่างไรก็ตาม การเดินขบวนประท้วงสถาบันกษัตริย์ในเดนมาร์กก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังมีพรรคคอมมิวนิสต์และเครือข่ายสายมาร์กซิสต์ เลนินซิสต์ที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ในสังคมเดนิช แม้ว่าคะแนนนิยมของสถาบันกษัตริย์เดนมาร์กจะยังสูงมากอยู่ก็ตาม

ทรงงานหนักบนเงินภาษี แต่กฎหมายหมิ่นสถาบันยังมีผล

ถึงแม้ว่าจะมีข้อครหาและกฎหมายที่สามารถใช้เพื่อป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ ความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ ทว่านับตั้งแต่ยุคสมัยของพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะสั่นคลอนแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพการเมืองของเดนมาร์กมีความเสรีค่อนข้างสูงกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีสถาบันกษัตริย์

ผลการให้คะแนนจากสถาบัน Freedom House ได้จัดคะแนนเดนมาร์กเอาไว้สูงถึง 97 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 และสามารถคงคะแนนดังกล่าวเอาไว้ได้ถึง 2 ปีซ้อน ทั้งในปี 2020-2021 จนทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่ถูกจัดอยู่ในหมวด ‘เสรีภาพ’ สีเขียว[16] [17]

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในปี 2019 Freedom House ได้ระบุว่า พรรค Social Democratic ที่เป็นพรรคการเมืองปีกซ้ายสามารถขยายฐานอำนาจเป็นพรรคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้ จนในที่สุดพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ต้องแต่งตั้ง เมตเต เฟรเดอริกเซน (Mette Frederiksen) ผู้มาจากพรรค Social Democratic ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์จะยินยอมให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งได้ เนื่องจากอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายมักมุ่งไปที่การลดทอนอำนาจของสถาบันกษัตริย์ตามแนวคิดแบบมาร์กซิสต์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ก็ทรงยินยอมที่จะแต่งตั้งคนจากพรรคดังกล่าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่แสดงท่าทีต่อต้าน เนื่องจากเป็นสิ่งที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยสากลในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  

ในแง่การทรงงานของสถาบันกษัตริย์และราชนิกุลทุกคนในฐานะประมุขของรัฐ ถูกชาวเดนิชมองว่า เงินภาษีที่พวกเขาสูญเสียไปไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในแง่การเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาชาติในด้านต่างๆ ตั้งแต่ด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการฉลองครบรอบความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น เยอรมนี 

เมื่อต้องเผชิญกับการตั้งคำถามของประชาชนกรณีการใช้จ่ายเงินภาษีไปกับจำนวนสมาชิกครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ ท่าทีของสถาบันกษัตริย์ก็ยินยอมที่จะออกมาชี้แจง และดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดในการค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวเดนิชยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยที่คนเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม แม้เดนมาร์กจะมีความหลากหลายของพรรคการเมืองหรือมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนอยู่บ้าง ก็ยังไม่อาจที่จะล้มล้างบทบัญญัติของกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ได้ ทำให้ในอนาคตหากสถาบันกษัตริย์เดนมาร์กในยุคนี้หรือยุคหน้าจะเปลี่ยนแปลงท่าทีที่พวกเขามีต่อประชาชนในชาติไปอย่างไร ก็เป็นการยากที่ชาวเดนิชจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างถึงรากถึงโคน เพราะยังคงมีมาตราดังกล่าวขวางกั้นอยู่ สิ่งเดียวที่ทำให้ชาวเดนิชพอจะเบาใจได้บ้างคือ สถาบันกษัตริย์แห่งเดนมาร์กมีข้อผูกมัดว่าต้องเคารพรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด และนั่นทำให้อภินิหารทางการเมืองใดๆ ยากที่จะเกิดขึ้นได้จากน้ำมือของสถาบันกษัตริย์ เพราะสภาพสังคมและกฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าสีของเลือด

เชิงอรรถ

[1] Folketinget. The Constitutional Act of Denmark, From https://www.thedanishparliament.dk/en/democracy/the-constitutional-act-of-denmark 

[2] Denmark’s Constitution of 1953. Article 8. Part 2

[3] Denmark’s Constitution of 1953. Article 11. Part 2

[4] Denmark’s Constitution of 1953. Article 19(1). Part 3

[5] Aliki Seferou. (2018). How Queen Margrethe of Denmark Created Illustration for the Lord of the Rings Books. Culture Trip, From https://theculturetrip.com/europe/denmark/articles/denmarks-queen-margrethe-illustrated-the-lord-of-the-rings/ 

[6] Silke Wünsch. (2021). World’s coolest queen: Margrethe of Denmark. DW.com, From https://www.dw.com/en/worlds-coolest-queen-margrethe-of-denmark/a-18384661 

[7] Statista Research Department. (2019). Do you want Denmark to be a monarchy with a royal head of state as today, or do you want Denmark to become a republic with a president? Society. Statista, From https://www.statista.com/statistics/958555/share-of-danes-who-want-monarchy-or-republic-head-of-state-in-denmark/ 

[8] Your Danish Life Team. (2021). The Danish Royals may seem rich but they actually don’t own much. Your Danish Life, the expat magazine, From https://www.yourdanishlife.dk/the-danish-royals-may-seem-wealthy-but-actually-they-do-not-own-much/ 

[9] Your Danish Life Team. (2020). What do the Danes think of their Royal Family and what role does the Danish Monarchy have? Your Danish Life, the expat magazine, From https://www.yourdanishlife.dk/the-role-of-the-danish-monarchy/

[10] The Royal House. (2020). Annual Report 2020. State Civil List Annuity, From https://www.kongehuset.dk/en/organisation-and-contact/state-civil-list-annuity#annual-reports 

[11] Alice Scarsi. (2020). Queen of Denmark to receive pay rise from government despite coronavirus -salary tops £10m. EXPRESS, From https://www.express.co.uk/news/royal/1330310/royal-news-queen-margrethe-denmark-royal-family-queen-taxpayer-how-much-royal-family-cost 

[12] Caris Davis. (2016). ‘Simple Mathematics’ Lead Danish Government to Cut Off Future Funding for Extended Royal Family. People, From https://people.com/royals/danish-government-to-cut-off-future-funding-for-extended-royal-family/ 

[13] PEW Research Center. (2012). Faith on the Move – The Religious Affiliation of International Migrants. PEW Research Center, From https://www.pewforum.org/2012/03/08/religious-migration-muslim-migrants/ 

[14] Danish queen raps radical Islam. BBC, From http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/4445579.stm 

[15] ANTONIA ZIMMERMANN. (2021). European countries where insulting the head of state can land you in prison. POLITICO, From https://www.politico.eu/article/european-countries-where-insulting-head-of-state-can-land-prison-belgium-denmark-france-germany/ 

[16] Freedom House. (2020). Denmark. Freedom in the World 2020, Freedom House, From https://freedomhouse.org/country/denmark/freedom-world/2020 

[17] Freedom House. (2021). Denmark. Freedom in the World 2021, Freedom House, From https://freedomhouse.org/country/denmark/freedom-world/2021 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า