จอร์แดน: อำนาจล้นฟ้าของพระราชา กับสายตาที่ไม่ไว้วางใจของประชาชน

ดินแดนทะเลทรายที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและความขัดแย้งนับพันปีในประวัติศาสตร์ ภูมิภาคอาหรับเป็นหนึ่งในพื้นที่การเมืองอันร้อนแรงที่สุดในโลก โดยเฉพาะเมื่อโลกสมัยใหม่เชื่อมปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกอาหรับกับภูมิภาคอื่นๆ จนเกิดการแลกเปลี่ยนชุดความคิด ความเป็นมิตร ไปจนถึงความเป็นศัตรู และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สถาบันกษัตริย์แห่งประเทศจอร์แดนนับเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง ‘อาหรับ-อิสราเอล-ตะวันตก’

ปัญหาที่ราชวงศ์ฮาชิม (House of Hashim) แห่งสถาบันกษัตริย์จอร์แดนต้องเผชิญตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การก่อตั้งรัฐอิสราเอล ทำให้จอร์แดนเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกกับเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งให้กับชาวปาเลสไตน์ อียิปต์ และชาติอาหรับอื่นๆ ส่งผลให้สถานการณ์ความมั่นคงของราชบัลลังก์จอร์แดนในสมัยสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 มีปัญหาเป็นอย่างมาก

การรับมือกับปัญหาความมั่นคงทั้งจากภายในและภายนอกอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ทำให้สถาบันกษัตริย์จอร์แดนมีอำนาจในทางพฤตินัยสูงกว่าสถาบันกษัตริย์อื่นๆ ในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ และยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ที่ให้คุณค่ากับเสรีภาพ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และหลักการคานอำนาจ 

กษัตริย์ฮุสเซนที่ 1 ตัวละครหลักของความขัดแย้งระดับโลก 

หลังการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์พระองค์ก่อนหน้า สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 ก็ได้ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1953 ตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในช่วงที่พระองค์ทรงเป็นประมุขของจอร์แดน ก็ได้นำพาระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญไปสู่เส้นแบ่งอันพร่าเลือนของการแบ่งแยกอำนาจมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยปัญหาด้านความมั่นคงทั้งจากภายในและภายนอก

สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1

ย้อนกลับไปในปี 1949 ภายหลังสนธิสัญญาหยุดยิงระหว่างจอร์แดนและอิสราเอล ทำให้พื้นที่ในเขตเวสต์แบงค์และเยรูซาเล็มตะวันออกที่มีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่องยาวนานจากการอ้างสิทธิเหนือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลามและยูดาย ทำให้ชาวปาเลสไตน์บางส่วนที่เคยอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิมตลอดหลายสิบปีต้องอยู่ภายใต้การปกครองของจอร์แดน ด้วยเหตุนี้ พันธกิจสำคัญของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 จึงต้องพยายามรักษาเขตแดนที่ได้มานี้เอาไว้ให้ได้ และนั่นได้นำไปสู่กรณีพิพาทกับชาติอาหรับอื่นๆ อิสราเอล และกลุ่มชาตินิยมปาเลสไตน์ต่อไป[1]

ความไม่มั่นคงภายในประเทศหลังการครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 เริ่มถึงจุดแตกหักเมื่อเขาได้ใช้อำนาจในการยุบรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 1957 และทำให้เกิดขบวนการประท้วงขนานใหญ่จากหลายกลุ่มการเมืองในเมืองหลวงอย่างกรุงอัมมาน รวมไปถึงทำให้ผู้นำทางการทหารหลายคนพยายามก่อการรัฐประหารและเข้าปิดล้อมพระราชวังหลวง แต่ก็ต้องล้มเหลวจากการซ้อนแผนอย่างแยบยลของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 ที่สั่งการให้ทหารฝ่ายจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์แฝงตัวเข้าไปในกองทัพกบฏ หลังจากนั้นเป็นต้นมาสถาบันกษัตริย์จอร์แดนก็ได้เข้ายึดกุมกลไกทางการเมืองและทำให้ความหวังในการเป็นประชาธิปไตยเต็มใบต้องถดถอยลงไปกว่าเดิม[2]

หลังจากนั้นในปี 1967 จอร์แดนก็ได้เข้าไปพัวพันกับ ‘สงคราม 6 วัน’ หรือสงครามระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอลที่ยิ่งซ้ำเติมความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจของจอร์แดนและทำให้สูญเสียดินแดนไปในสงครามอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 ต้องหันกลับไปประนีประนอมกับอิสราเอลเพื่อให้ได้พื้นที่บางส่วนกลับคืนมาในครอบครอง และในฐานะที่ทั้งสองชาติมีศัตรูทางการเมืองร่วมกันอย่างองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization: PLO) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพซีเรีย ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนต้องหันหน้าไปพึ่งกำลังทางการทหารของสหรัฐ รวมไปถึงอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม หลังจากสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ยืนกรานว่า ปาเลสไตน์ภายใต้การนำของ PLO มีสิทธิที่จะมีอิสรภาพ ไม่ใช่การถูกยึดครองโดยอิสราเอลที่เพิ่งตั้งรัฐมาทับพื้นที่เดิมของปาเลสไตน์ในภายหลัง แต่ควรเป็นรัฐที่มีเอกราชและสามารถกำหนดชะตาของตนเองได้ ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนยืนกรานที่จะไม่นับรวมเขตเวสต์แบงค์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจอร์แดนตามนิตินัย รวมไปถึงจะไม่เข้าร่วมสหพันธรัฐปาเลสไตน์ ถึงแม้ว่าในทางพฤตินัยแล้วจะมีความต้องการครอบครองพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอิสลามดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นจะทำให้ประชากรชาวปาเลสไตน์ที่เป็นศัตรูทางการเมืองของพระองค์กลายเป็นคนส่วนมากในจอร์แดนทันที และจะกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ต่อไป

พระพลานามัยของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 ย่ำแย่ลงอย่างมากในช่วงปี 1999 จนเป็นเหตุให้พระองค์ทรงแต่งตั้งบุตรชายของตนเองขึ้นเป็นองค์รัชทายาท (แม้ว่าจะมีผู้อื่นดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารอยู่แล้วก็ตาม) และไม่นานหลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จสวรรคต ทำให้เจ้าชายอับดุลลอฮ์ พระโอรสของพระราชาธิบดีฮุสเซนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดนต่อไป 

สถาบันกษัตริย์ผู้ทรงอิทธิพลในการเมืองจอร์แดน

ถึงแม้ว่าสถาบันกษัตริย์จอร์แดนในสมัยของพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 จะยังได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐ เช่นเดียวกับในยุคของกษัตริย์องค์ก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าจอร์แดนมีเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย โดยการจัดอันดับของ Reporters Without Borders ด้านเสรีภาพสื่อในปี 2021 พบว่า จอร์แดนติดอยู่ในอันดับที่ 129 จากทั้งหมด 180 ชาติ และมีคะแนนน้อยกว่าอัฟกานิสถานที่อยู่ในอันดับที่ 122 อีกด้วย[3]

พระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2

ในปีเดียวกัน จอร์แดนยังถูก Freedom House องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นการจัดอันดับด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้คะแนนความมีเสรีภาพในประเทศเพียง 34 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ส่งผลให้จอร์แดนกลายเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม ‘ไร้เสรีภาพ’ (Not Free) เนื่องจากสาเหตุหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการที่สถาบันกษัตริย์จอร์แดนเข้ามามีอิทธิพลในบริบทการเมือง ทั้งในแง่ของการออกนโยบายและการออกกฎหมายมากเกินไป รวมไปถึงการมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ผู้บัญชาการระดับสูงในกองทัพ ศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงตำแหน่งของหน่วยงานข่าวกรองและตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ทั้งหมดอีกด้วย[4]

บทบาทของสถาบันกษัตริย์จอร์แดนในยุคของพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ยังแผ่ขยายไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก โดยในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา รัฐได้ถอนตัวออกจากการร่วมเป็นเจ้าขององค์การต่างๆ กว่าร้อยละ 40 จากช่วงปี 1990 ที่มีส่วนร่วมอยู่กว่า 109 องค์การ และด้วยความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างรัฐ เอกชน และมหาอำนาจจากประเทศตะวันตก ทำให้สถาบันกษัตริย์เริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงและการเคลื่อนไหวของมวลชนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา[5]

ไม่เพียงแค่กลุ่มชาวปาเลสไตน์ที่ไม่พอใจการปกครองของกษัตริย์ หรือชาวจอร์แดนที่ไม่พอใจความเป็นเผด็จการทั้งแง่การเมืองและเศรษฐกิจ จนถูกจับกุมและปราบปรามอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ความขัดแย้งภายในราชสำนักเองก็เริ่มมีร่องรอยปรากฏให้เห็น โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2021 เจ้าชายฮัมซะฮ์ บิน อัลฮุซัยน์ (Hamzah bin Hussein) ผู้เป็นอนุชาต่างมารดา ถูกจับกุมในที่พำนัก ด้วยข้อกล่าวหาที่รัฐอ้างว่า ‘มีแผนการลับที่จะโค่นล้มกษัตริย์’ ถึงแม้จะยังไม่ได้ออกมาแสดงหลักฐานใดๆ ก็ตาม[6] สะท้อนได้ว่าสถาบันกษัตริย์จอร์แดนในยุคปัจจุบันดำรงอยู่ท่ามกลางความรู้สึกหวาดระแวงศัตรูทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกอยู่เสมอ รวมไปถึงไม่มีผู้ใดรู้สึกปลอดภัยหรือมีเสรีภาพได้เลยในสังคมที่สถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหนือชีวิตในเกือบทุกมิติ

ข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งสถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจเกินขอบเขตมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นการสร้างความไม่มั่นคงให้แก่ราชบัลลังก์ 

ปฏิรูป ท้าทาย และตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์

นักวิเคราะห์การเมืองและอดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์แดน ลาบิบ คัมฮาวี (Labib Kamhawi) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์และการเรียกร้องของมวลชนในจอร์แดนปัจจุบันว่า “ผู้คนเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าหากเอาทุกปัจจัยในประเทศมารวมกัน รวมถึงเรื่องการจับกุมเจ้าชายฮัมซะฮ์เข้าไปด้วย การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง”[7]

เจ้าชายฮัมซะฮ์ บิน อัลฮุซัยน์ (Hamzah bin Hussein)

ลาบิบยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า สถาบันกษัตริย์จอร์แดนไม่ได้เสี่ยงต่อการถูกล้มล้างในแง่ตัวสถาบัน แต่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของตัวบุคคลและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น โดยหลายฝ่ายในสังคมมุ่งความสนใจไปที่เจ้าชายฮัมซะฮ์ก่อนที่จะถูกจับกุมว่าคือผู้นำความเปลี่ยนแปลง

กระแสเรียกร้องการ ‘ปฏิรูป’ ในสังคมจอร์แดนเองก็ไม่ใช่ว่าจะถูกละเลยโดยสถาบันกษัตริย์ ทว่าการพยายามปฏิรูปหลายครั้งจากสถาบันกษัตริย์จอร์แดนตั้งแต่รัชสมัยของพระราชาธิบดีฮุสเซนที่ 1 จนถึงรัชสมัยของพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ทั้ง 4 ครั้งนั้นมุ่งปฏิรูประบบการเมืองรัฐสภา รัฐธรรมนูญ และช่วยเสริมอำนาจให้สถาบันกษัตริย์ โดยมีการจัดตั้งสมาชิกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง (Royal Committee to Modernize the Political System) ของพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ครั้งแรกในปี 2005 ประกอบด้วยอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงอดีตข้าราชการทูตประจำอิสราเอล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางการออกนโยบายต่อไปของจอร์แดนเป็นเวลา 10 ปีข้างหน้า[8] หรือจะเรียกได้ว่า ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ก็ไม่ผิดนัก ขณะที่ในอีกหลายครั้งต่อมามีความพยายามที่จะปฏิรูปด้วยการร่างกฎหมายกำกับดูแลพรรคการเมืองและจัดการเลือกตั้ง

การที่สถาบันกษัตริย์ลงมากำกับกฎหมายพรรคการเมือง วิธีการเลือกตั้ง ไปจนถึงกำหนดแนวนโยบายเหล่านี้ มีความเป็นไปได้ว่าเพื่อควบคุมทิศทางทางการเมืองของสนามการเลือกตั้งจอร์แดน เนื่องจากพรรคการเมืองที่แข่งขันกันในจอร์แดนมักอิงตามกลุ่มความนิยมทางเชื้อชาติ หรือที่เรียกว่า ‘การเมืองอัตลักษณ์’ (identity politics) และมีความเป็นไปได้ว่าสถาบันกษัตริย์อาจจะไม่ต้องการให้เชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งที่มีความเป็นอริกับระบอบการปกครองของพระองค์อย่างชาวปาเลสไตน์ในจอร์แดนกลายเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาได้

จากบันทึกของแอมเนสตี้ (Amnesty International) ระบุว่า ความพยายามในการเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจอร์แดนนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2011 และทำให้สถาบันกษัตริย์ออกมาให้สัญญาว่าจะมีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จุดเริ่มต้นนี้ทำให้ประชาชนคาดหวังถึงการมีอำนาจมากขึ้นของระบบรัฐสภาและความเป็นประชาธิปไตยเสรี ทว่านับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา มวลชนเริ่มไม่พอใจมากขึ้นในความสามารถของบรรดานายกรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมาให้ปฏิรูปประเทศ จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงและการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์หลายคนในข้อหา ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ (insulting the King) ซึ่งการจับกุมในหลายกรณียังขาดหลักฐานที่แน่ชัด ดังเช่นกรณีจับกุมกลุ่มเคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปประเทศ Free Tafileh Movement ทั้ง 6 คน ในข้อหาหมิ่นฯ และการมีส่วนรู้เห็นในการก่อจลาจลครั้งก่อนหน้าที่เมืองตาฟีละห์ (Tafileh) ซึ่งภายหลังพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการจัดชุมนุมครั้งดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย[9] 

การเดินขบวนเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศตั้งแต่ปี 2016 จนถึง 2020 ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากความรุนแรง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐมักโต้ตอบด้วยความรุนแรง เช่น การควบคุมตัวชั่วคราว การบุกตรวจค้นบ้านพักอาศัย และการใช้กฎหมายควบคุมอินเทอร์เน็ตที่เคร่งครัดมากยิ่งขึ้น จนเริ่มเกิดข้อครหาว่าสถาบันกษัตริย์จอร์แดนไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้สภาพการเมืองจอร์แดนดีขึ้น แต่การตั้งคณะกรรมาธิการ การเปลี่ยนรัฐบาล หรือยุบสภาบ่อยครั้ง เป็นไปเพียงเพื่อพยายามลดแรงเสียดทานที่เกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมในประเด็นปัญหาสังคม-เศรษฐกิจ[10]

ราคาที่ต้องจ่ายและสิ่งที่ได้มาของจอร์แดน

จอร์แดนนับได้ว่ามีความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกในระดับที่ดี แม้จะไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างที่ประเทศเหล่านั้นต้องการ โดยจอร์แดนเป็นพันธมิตรนอกกลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กับสหรัฐ มาตั้งแต่ปี 1996 รวมไปถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหราชอาณาจักรมาเนิ่นนานตั้งแต่ประวัติศาสตร์การกำเนิดชาติ

นอกเหนือไปจากพันธมิตรที่เป็นชาติมหาอำนาจทางตะวันตกแล้ว ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้ย่ำแย่มากนักท่ามกลางความไม่สงบและการปราบปรามการชุมนุมภายในชาติ แม้แต่ประเทศที่อยู่ห่างไกลกันอย่างไทยเองก็มีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับจอร์แดน จากการที่จอร์แดนได้ส่งผู้แทนจากกระทรวงน้ำและชลประทานมาศึกษาดูงานเรื่องฝนหลวงที่ประเทศไทยตามพระบรมราชานุญาตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ 9 รวมไปถึงพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ยังเคยเสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ 9 และการเยี่ยมเยือนอีกหลายครั้งในระดับพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย[11]

อย่างไรก็ตาม แม้จอร์แดนจะพยายามผูกมิตรกับนานาชาติ แต่ปัญหาขัดแย้งภายในก็ยังคงปะทุอยู่ โดยในปี 2013 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง The Council on Foreign Relations ได้ออกจดหมายเตือนถึงภัยจากความมั่นคงภายในของจอร์แดนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นจากหลายสาเหตุ[12] ยิ่งการที่สถาบันกษัตริย์จอร์แดนนำพาประเทศเข้าสู่อ้อมกอดของสหรัฐ และประเทศอาหรับที่เป็นชาติพันธมิตรแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่ซีเรียและอิรักด้วยเช่นกัน จนถึงขนาดรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของซีเรียเคยกล่าวหาว่าจอร์แดนมีนโยบายร่วมมือกับอิสราเอลที่เป็นศัตรูกับชาติอาหรับทั้งหลายอีกด้วย[13]

เนื่องจากอำนาจที่สูงมากในการกำหนดนโยบายและข้อกฎหมายต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์จอร์แดน โดยเฉพาะในยุคที่พระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์เป็นกษัตริย์ ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่อำนาจของสถาบันกษัตริย์จะแยกขาดกับนโยบายต่างประเทศ นโยบายภายในชาติ ไปจนถึงแนวคิดด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนความต้องการและผลประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์เอง ลักษณะนี้จึงยากที่จะกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในจอร์แดนเป็นการสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในประเทศ และทำให้จอร์แดนยังคงต้องจ่ายบทเรียนราคาแพงต่อไปด้วยวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสิทธิเสรีภาพ ไปกับสงคราม การปิดปาก และการจับกุม จนกว่าการปฏิรูปที่แท้จริงจะมาถึง

เชิงอรรถ

[1] History of Jordan. Britannica, From https://www.britannica.com/place/Jordan/History 

[2] Richard Cavendish. (2007). A failed Coup in Jordan. History Today, From https://www.historytoday.com/archive/failed-coup-jordan 

[3] Reporters Without Borders. (2021). Index Details: Data of Press freedom ranking 2021. From, https://rsf.org/en/ranking_table 

[4] Freedom House. 2021. Jordan. From https://freedomhouse.org/country/jordan/freedom-world/2021 

[5] Lacouture, M. (2021). Privatizing the Commons: Protest and the Moral Economy of National Resources in Jordan. International Review of Social History, 66 (S29), 113-137. doi:10.1017/S002085902100016X

[6] Anchal Vohra. (2021). Jordan’s King Is His Own Worst Enemy. Foreign Policy, From https://foreignpolicy.com/2021/04/13/jordans-king-is-his-own-biggest-enemy/ 

[7] NABIH BULOS. (2021). A royal feud has some Jordanians asking: Is this the monarchy we want? Los Angeles Times, From https://www.latimes.com/world-nation/story/2021-04-18/jordan-monarchy-crisis-king-prince-reform 

[8] Sufian Obeidat. (2021). Modernizing Jordan’s Political System: The Unspoken Motivations. Constitution Net, From https://constitutionnet.org/news/modernizing-jordans-political-system-unspoken-motivations 

[9] NEW. (2012). Jordan: Arrest of 20 pro-reform activists heralds crackdown on freedom of expression. Amnesty, From https://www.amnesty.org/en/latest/news/2012/10/jordan-protests/ 

[10] Yasmina Abouzzohour. (2021). Heavy lies the crown: The survival of Arab monarchies, 10 years after the Arab Spring. Brooking, From https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2021/03/08/heavy-lies-the-crown-the-survival-of-arab-monarchies-10-years-after-the-arab-spring/ 

[11] กระทรวงการต่างประเทศ. (2553). ราชอาณาจักรฮัซไมต์จอร์แดน. จาก https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc1c15e39c306000a017 

[12] Center for Preventive Action. (2016). Growing Stress on Jordan. the Council on Foreign Relations, From https://www.cfr.org/report/growing-stress-jordan 

[13] Ryan, C. R. (2004). “JORDAN FIRST”: JORDAN’S INTER-ARAB RELATIONS AND FOREIGN POLICY UNDER KING ABDULLAH II. Arab Studies Quarterly, 26(3), 43–62. http://www.jstor.org/stable/41858490

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า