คำอธิษฐานผู้ลี้ภัยเวียดนาม: “พระเจ้าทรงโปรดให้รัฐบาลรู้ว่าอำนาจเป็นของประชาชน”

“ไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิดแบบนี้ แต่มีคนเวียดนามเป็นล้านๆ ที่คิดแบบนี้ แต่พวกเขาพูดไม่ได้ คนที่ส่งเสียงพูดออกมาก็มักจะหนีออกมาจากประเทศ”

 

หากอยู่ในเวียดนาม ดอกพิกุลจะไม่ร่วงจากปาก แต่ประโยคข้างต้นของ มัทธิว คือนาทีที่เขาอยู่ประเทศไทย ท้องฟ้าเช้าวันนี้เปิดออกไล่หมอกฝุ่นให้ลอยไปไกล ค่าความเข้มข้นหน่วยมิลลิกรัมต่อลูกบากศ์เมตรลดระดับเบาบางลง เรานัดพบกับมัทธิวที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเช้าวันอาทิตย์ เสียงเพลงฮาเลลูยาในภาษาเอเด (Ede) ดังก้องโบสถ์ เช้าวันนั้นมีการประกอบพิธีมหาสนิท เมื่อถาดขนมปังมาอยู่ตรงหน้า ผมหยิบขนมปังชิ้นเล็กที่ถูกหั่นเป็นทรงลูกเต๋า มัทธิวห้ามไม่ทัน “คุณยังไม่ได้รับศีลมหาสนิทจะรับขนมปังไม่ได้นะครับ”

เรามีเพียงรอยยิ้มให้แก่กันในความพลั้งพลาดและไม่รู้ เมื่อถาดน้ำองุ่นมาหยุดอยู่ตรงหน้า ผมจึงเลือกที่จะยิ้มให้กับศิษยาภิบาลแทนการเอื้อมมือไปหยิบแก้วบรรจุสัญลักษณ์แทนพระโลหิตของพระเยซูมาจิบดื่ม

 

เวียดนาม

เวียดนาม

หนีออกมาจากแผ่นดินแม่

พ่อแม่ของมัทธิวส่งตัวเขาหนีออกมาจากหมู่บ้านชาวมองตานญาดตั้งแต่ปี 2015 ตอนนั้นเขาอายุ 15 พ่อของเขาเป็นผู้นำคริสตจักรแห่งโบสถ์เล็กๆ ที่ไม่ยอมจดทะเบียนภายใต้รัฐบาล เพราะ “พวกเราเชื่อว่ากิจกรรมทางศาสนาคือการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ไม่ใช่การควบคุมจากรัฐบาล”

เมื่ออายุ 13 มัทธิวเริ่มสอนพระคัมภีร์ให้เด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อรู้ว่าอนาคตของลูกชายจะเดินตามรอยตน และการเป็นคริสเตียนในเวียดนามไม่ใช่เรื่องปลอดภัย พ่อของเขาจึงส่งตัวเด็กชายหนีออกมา โดยมีประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง

แผนการก็คือหลังจากส่งตัวมัทธิวหนีออกมาจากเวียดนาม พ่อและแม่กับน้องๆ อีก 4 ชีวิต จะหนีตามมาที่เมืองไทย แต่พวกเขาหนีไม่ทัน พ่อของมัทธิวถูกทรมานอยู่ 8 เดือนเพื่อให้รับสารภาพว่ามีพฤติการณ์ ‘ต่อต้านรัฐ’ ก่อนจะถูกจองจำเป็นเวลา 6 ปี

นอกจากพ่อ ตาของมัทธิวก็เป็นผู้นำคริสตจักร เขาถูกกล่าวหาว่าปลุกระดมชาวบ้านให้ต่อต้านรัฐบาล เจ้าหน้าที่จับเขาขังคุกใต้ดินเป็นเวลา 2 ปี ซ้อมทรมานอยู่ในนั้น ก่อนจะนำตัวมาจองจำในเรือนจำเป็นเวลา 12 ปี

“เวลาอยู่คุกใต้ดินเขาไม่ให้อาหาร คุณตาถูกจับตรึงแขนเหมือนที่พระเยซูโดน คุณยายต้องคอยไปให้อาหารคุณตา ช่วงนั้นเป็นเวลาที่ลำบากมากนะครับ” มัทธิวเล่า

หลังจากตาออกจากคุกในปี 2006 ตาก็ถ่ายทอดเรื่องราวการถูกจองจำให้หลานชายฟัง ซึ่งเป็นเรื่องราวคนละแบบฉบับกับที่เด็กชายได้ฟังจากครูที่โรงเรียน “ผมก็เริ่มได้รู้เรื่องที่เราไม่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตอนนั้นคิดว่าทำไมรัฐบาลต้องทำแบบนี้”

“คุณตากับคุณพ่อมีความคิดทางการเมืองแบบไหน?”

“คุณตากับคุณพ่อไม่มีความคิดทางการเมืองที่ชัดเจนนะครับ มีแต่ความคิดเรื่องศาสนา พวกเขาสอนให้ประชาชนได้รู้ถึงความรักของพระเจ้า”

“กับสิ่งที่พวกเขาเจอ มันทำให้พวกเขาอึดอัดไหม”

“อึดอัดครับ แต่ในพระคัมภีร์บอกว่า ‘บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหง และนินทาว่าร้ายท่านทั้งหลายเป็นความเท็จเพราะเรา ท่านก็เป็นสุข จงชื่นชมยินดีอย่างเหลือล้น…’ คุณพ่อกับคุณตาสอนผมว่า การที่ท่านทั้งสองผ่านความยากลำบากในการพิสูจน์ความเชื่อ แล้วเรายังยืนหยัดได้ เรายิ่งต้องมีความเชื่อที่ใหญ่ขึ้น ต้องเชื่อมั่นในพระเจ้า ผมไม่เคยเห็นนะว่าการกระทำทั้งสองเป็นเรื่องการเมือง”

หลังจากนั่งรถออกมาจากหมู่บ้านมาถึงเมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศลาว มัทธิวเป็น 1 ใน 12 ของกลุ่มชาวมองตานญาดที่หนีออกมา เขาอายุน้อยที่สุด และอาจจะกลัวที่สุด จากจุดนี้พวกเขาต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าที่เป็นพรมแดนของเวียดนามกับลาว ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ว่าประเทศไหนพบเจอพวกเขา ปืนในมือก็พร้อมทำหน้าที่ของมัน เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าการเข้าไปเดินในป่าบริเวณนั้นคือการหนีข้ามพรมแดน

“ไม่เคยกลัวแบบนี้มาก่อน ในเวลานั้นเราทำได้แค่อธิษฐานให้พระเจ้าคุ้มครองให้เราปลอดภัย” มัทธิวย้อนความทรงจำในวันที่หนีออกมา

เมื่อข้ามแม่น้ำโขงมาถึงฝั่งไทย มัทธิวจำได้เพียงว่ารถโดยสารที่นั่งจากเมืองชายแดนเข้าศูนย์กลางประเทศไทยนั้น เป็น “รถเมล์ที่มีแอร์หนาวมาก” ปลายทางของพวกเขาคือชุมชนชาวมองตานญาดในอำเภอบางใหญ่ นนทบุรี ที่นั่นมีชาวมองตานญาดรอยู่แล้วประมาณ 80 คน มัทธิว เล่าว่า ปัจจุบันมีชาวมองตานญาดในชุมชนที่อำเภอบางใหญ่และใน ตม. ประมาณ 500 คน

ปัจจุบัน มัทธิวได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR รอการสัมภาษณ์จากสถานทูตเพื่อเดินทางไปประเทศที่ 3

เขาอยากไปแคนาดา

เวียดนาม

ในโบสถ์มีแค่เรากับพระเจ้า

หมู่บ้านของมัทธิวตั้งอยู่ใน Central Highlands ภูมิภาคหนึ่งในเวียดนามที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ คำว่า ‘มองตานญาด’ (Montagnards) มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘ผู้อาศัยอยู่บนภูเขา’ ชาวฝรั่งเศสจึงใช้คำนี้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศเวียดนามในสมัยที่เข้าไปในประเทศเวียดนามในยุคล่าอาณานิคม ในตอนนั้นพื้นที่ที่ราบสูง (Central Highlands) คือ พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมอินโดจีน การควบคุมประชากรชาติพันธุ์คือกุญแจในการต่อสู้ทางรัฐศาสตร์และทางทหารที่ใช้ต่อต้านกบฏ

มองตานญาดประกอบด้วยชนกลุ่มย่อยอีก 4 กลุ่ม เอเด (Ede), จราย (Jrai), เกอฮอ (K-ho) และ บานา (Bana) ชาวมองตานญาดอาศัยอยู่ที่ Central Highlands มาตั้งแต่ศตวรรรษที่ 17 เป็นชาวพื้นเมืองผู้มาก่อน นอกจากการนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งถูกจำกัดความโดยรัฐว่าเป็น ‘ศาสนาต่างชาติ’ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเวียดนามกับชาวมองตานญาดก็คือ การเลือกปฏิบัติและการแย่งชิงที่ดินทำกิน

ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า เวียดนามมีประชากรราว 90 ล้านคน ราว 3/4 ของประชากรไม่ได้นับถือศาสนา แต่ปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม ที่เหลือแแบ่งเป็นชาวพุทธ 11 ล้านคน, ชาวคาลอลิก 6.2 ล้านคน, โปรเตสแตนท์ 1.4 ล้านคน และมุสลิม 75,000 คน กลุ่มทางศาสนาต้องมีการจดทะเบียนภายใต้รัฐบาล ซึ่งจะผ่านการรับรองหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมศาสนา และกิจกรรมทางศาสนาจะถูกควบคุมโดยรัฐ

“ถ้าเป็นโบสถ์หรือวัดที่ลงทะเบียนกับรัฐ ผู้นำคริสตจักรหรือเจ้าอาวาสของวัดจะถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก ในโบสถ์หรือในวัดของรัฐถ้าผู้นำคริสตจักรหรือเจ้าอาวาสของวัดทำผิดหลักศาสนา หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เขาก็ยังเป็นผู้นำต่อไป โบสถ์ของรัฐในเวียดนามใหญ่มาก สวยมาก แต่คนน้อยมาก เพราะเขาไม่อยากอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล”

ระหว่างที่มัทธิวเล่าเรื่องราวให้ฟัง หญิงกลางคนชาวมองตานญาดสวมเสื้อสีชมพูก็เดินผ่านเราไป “สามีของคุณป้าคนนี้ก็เป็นผู้นำในโบถส์ เขาถูกตำรวจจับกุมตัวแล้ววางยาพิษในอาหาร ป้าคนนี้ก็เลยหนีออกมา”

เวียดนาม

ขอความสงบใจยามกล่าวนมัสการกับพระเจ้า

ชาวมองตานญาดที่มาโบถส์ในเช้าวันนี้มี 4 เจเนอเรชั่น คนชรา วัยกลางคน หนุ่มสาว และเด็กเล็ก พวกเขาสวดมนต์เป็นภาษาเอเด ชนเผ่าทั้ง 4 สลับกันขึ้นไปร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า เมื่อเห็นผมถ่ายรูป ชายหนุ่มที่สวมชุดประจำเผ่าเอเดเดินเข้ามาถามว่า “Who are you?” เมื่อบอกไปว่าผมเป็นนักเขียนที่ติดตามมัทธิวมาเรียนรู้ชีวิตของเขาและชีวิตของชาวมองตานญาด เขาจึงถามเป็นภาษาไทยและเร่งเร้าให้ผมพูดไทย “มาจากเวียดนามหรือไทย”

ชาวมองตานญาดหวาดกลัวชาวเวียดนามมาก เพราะวิธีเลือกปฏิบัติตั้งแต่เรื่องที่ดิน การนับถือศาสนา และการประหัตประหารจนถึงชีวิต

“คนมองตานญาดประกอบอาชีพทำนาเป็นหลักเช่นเดียวกับคนเวียดนามที่ขึ้นไปอยู่ที่นั่น รัฐบาลใช้อำนาจกดขี่บังคับให้เรามอบที่ดิน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนมองตานญาดมองคนเวียดนามไม่ดี คนมองตานญาดกับคนเวียดนามมีปัญหาขัดแย้งกันมาตลอด ที่ดินของคนมองตานญาดถูกคนเวียดนามแย่งชิงไป รัฐบาลประหัตประหารคนมองตานญาด คนส่วนหนึ่งในชุมชนก็จะรู้สึกว่าคนเวียดนามเป็นคนไม่ดี แต่ผมไม่คิดแบบนั้น เพราะคิดว่ามนุษย์มีทั้งดีและไม่ดี” มัทธิวเล่า

หลังจากผู้นำคริสตจักรกล่าวเทศนาต่อชาวมองตานญาดในโบสถ์ พวกเขาต่างยืนขึ้น และกล่าวอธิษฐานต่อพระเจ้า หรือที่เรียกว่า ‘เฝ้าเดี่ยว’ นาทีนั้นเสียงอธิษฐานส่วนตัวกว่า 150 เสียงผสมผสานเป็นฮาร์โมนิคที่ไม่รู้ความหมาย แต่สัมผัสได้ถึงความหวังในน้ำเสียงภาษาเอเดที่พวกเขากล่าวออกมา

เวียดนาม

“การเข้าโบสถ์ที่ไทยกับเวียดนาม พวกเขามีความรู้สึกต่างกันไหม” ผมถามมัทธิวถึงความรู้สึกเพื่อนร่วมชะตากรรมของเขา

“ที่เวียดนาม เราไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่ในโบสถ์ เราร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าด้วยความกลัว เราต้องระมัดระวัง เราไม่มีความสงบในจิตใจเวลานมัสการพระเจ้า…เรากลัว บางคนเมื่อหนีมาเมืองไทย เขาได้มีความสงบใจ ไม่ต้องระมัดระวังในการร้องเพลงหรือกล่าวนมัสการ เขาร้องไห้ออกมาเลยนะครับ” มัทธิวเล่า

เวียดนาม

 

ผู้หญิงที่สวยที่สุดคือชาวมองตานญาด

“คนเวียดนามจะสอนลูกเล็กๆ ว่า ถ้าดื้อเดี๋ยวจะให้ชนเผ่ามาจับ” มัทธิวฉายให้เห็นมายาคติที่รัฐมีต่อชนกลุ่มน้อย “ผมมีเพื่อนเป็นคนญวนนะครับ เขาเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ไม่รู้จักคนเอเด คือเขาเคยได้ยินมาก่อนแหละ แต่ไม่เคยเจอ พอเราบอกว่าเราเป็นคนเอเด เขาก็จะถามว่าเมืองที่คุณอยู่มีเสื้อผ้าใส่ไหม มีรถไหม เขาถามทุกเรื่อง เขานึกว่าเราอยู่ในป่า”

กระทั่งปี 2018 ชื่อของ เฮอ เฮน เนีย (H’Hen Nie) หญิงสาวชาวเผ่าเอเด ก็ปรากฏเป็น 1 ในหญิงสาวจาก 5 ประเทศผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายในการประกวด Miss Universe 2018 ผมเธอสั้นและผิวสีแทน เป็นความสวยที่ต่างจากค่านิยมความงามของชาวเวียดนาม เธอนับถือคริสต์ศาสนาเช่นเดียวกับชาวมองตานญาดส่วนใหญ่ นักข่าวเวียดนามเริ่มหลั่งไหลเข้าไปในหมู่บ้านชนเผ่าเอเด วัฒนธรรมชาวเอเดเริ่มถูกนำเสนอออกไป แต่ “ รัฐบาลห้ามนักข่าวเวียดนามถามเรื่องศาสนากับการเมือง เพราะถ้าเกี่ยวกับสองเรื่องนี้นักข่าวจะมีปัญหากับรัฐบาล” มัทธิวยังบอกว่า นักกิจกรรมทางการเมืองวิเคราะห์ว่า เรื่องราวของ เฮอ เฮน เนีย เป็นเรื่องการเมือง

เวียดนาม

ย้อนกลับไปในปี 2015 เป็นปีที่ชาวมองตานญาดจำนวนมากเริ่มหนีออกจากเวียดนามมาเมืองไทย เพราะการประหัตประหารและปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน หลังจากนั้นนักกิจกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนามที่อยู่นอกประเทศเขียนรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนมองตานญาด การจับสมาชิกของคริสเตียนไปจองจำ ส่งไปให้ UN หลังจากนั้น UN ส่งจดหมายไปยังรัฐบาลฮานอย หลังจากนั้นปัญหาของมองตานญาดก็เป็นปัญหาของรัฐบาลเวียดนาม

“แต่หลังจากปี 2015 มันก็กลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้น เพราะมีคนกว่า 100 คนหนีมาเมืองไทย เวลาที่คนมองตานญาดให้สัมภาษณ์กับนักข่าว เขาจะบอกว่าที่เวียดนามไม่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เขาไม่มีโอกาสได้เรียน ไม่มีโอกาสทำงาน ก็เป็นเหตุผลที่ในปี 2017 เฮอ เฮน เนีย ได้เป็นนางงามของเวียดนามก่อนจะเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย Miss Universe ในปี 2018 สมัยก่อนเขาจะไม่เลือกคนผิวคล้ำและผมสั้นไปเป็นนางงาม แต่ เฮอ เฮน เนีย เป็นทั้งคริสเตียน เป็นเอเด แล้วก็เป็นคนที่ไปทำงานที่ไซงอน เขาเลือกคนนี้เพราะอยากให้โลกรู้ว่า ชนกลุ่มน้อยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิได้เรียนได้ทำงาน แต่เราไม่รู้ว่ารัฐบาลเลือกแบบนั้นจริงหรือไม่ เป็นการอธิบายและวิเคราะห์ของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง” มัทธิวบอก

“การกดขี่ข่มเหงและปราบปรามระหว่างก่อนกับหลังปี 2015 ช่วงไหนหนักกว่ากัน?”

“ก่อนปี 2015 หนักกว่านะครับ มีการสังหารคนเอเดด้วยยาพิษ คุณป้าคนเมื่อกี๊ใส่เสื้อสีชมพู สามีของเขาถูกฆ่าโดยตำรวจ ใช้ยาพิษใส่อาหารแล้วบังคับให้กิน คุณป้าก็หนีออกมามาเมืองไทย เธอโดนตำรวจตีจนซี่โครงหัก”

เวียดนาม

หวังวันหนึ่งถึงการเปลี่ยนแปลง

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายพรรคเดียวในเวียดนาม มีอำนาจสูงสุดและไม่สนับสนุนการแสดงออกทางการเมือง การหายตัวไปของ เจือง ซุย เญิ้ต (Truong Duy Nhat) ผู้สื่อข่าวชาวเวียดนามจากสำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม

เจือง ซุย เญิ้ต ถูกจับตัวระหว่างเดินซื้อของอยู่ในห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค ระหว่างหนีเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้ามายื่นคำขอลี้ภัย ณ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา

เมื่อปี 2014 เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปีด้วยข้อหาล่วงละเมิดเสรีภาพประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของรัฐ จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเหล่าผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามบนบล็อกส่วนตัวของเขาที่ชื่อ ‘Another Point of View’ เจือง ซุย เญิ๊ต ถูกจับตัวตั้งแต่ปี 2013 และถูกกักขังระหว่างไต่สวน เขาถูกจำคุกระหว่างปี 2013-2015 ในข้อหา ‘โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ’

ตามรายงานข่าวและจากการรวบรวมหลักฐานจากเพื่อนร่วมงานของ เจือง ซุย เญิ้ต ที่ Radio Free Asia พบว่า เวียดนามถึงกับเคยเข้ามาลักพาตัวผู้หลบหนีและผู้ขอลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เจือง ซุย เญิ้ต มีความเสี่ยงอย่างชัดเจนที่จะถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย หากข่าวการลักพาตัวเป็นเรื่องจริง

ผมถามมัทธิว ว่ารู้สึกอย่างไรกับข่าวลักพาตัวนักข่าวเวียดนามในกรุงเทพฯ

“เวลาที่เราเห็นข่าวแบบนี้จะกลัวกันมาก และคนในชุมชนของเราก็กลัวมาก เพราะพวกเราล้วนหนีมาจากการประหัตประหารในเวียดนาม แล้วเขาจะกลัวมากเวลาได้ยินว่ามีคนโดนลักพาตัว”

มัทธิว ย้ำว่า ข่าวการลักพาตัว เจือง ซุย เญิ้ต สร้างความหวาดกลัวแก่เขา เพราะเขาก็เป็นหนึ่งในหลายคนที่รัฐบาลเวียดนามจับจ้องมองมา เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษได้ และเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเรื่องชีวิตของชาวมองตานญาด วันนั้นเขาให้สัมภาษณ์สื่อแบบไม่ปกปิดตัวตน และข่าวที่เขาให้สัมภาษณ์ก็แชร์กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียของเวียดนาม

“ตอนนั้นเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง confidentiality เราก็กลัวกันมากนะครับ เราไม่รู้ว่าการ kidnap จะเกิดขึ้นกับเราไหม ถ้าเราเป็นคนที่รัฐบาลหมายตาไว้ เขาก็จะหาวิธีทุกทางเพื่อจับตัวเรากลับประเทศได้”

สถานการณ์ทางการเมืองของเวียดนามกำลังสร้างความไม่พอใจให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย cyber security law การให้ประเทศจีนเช่าที่ดิน 99 ปี “รัฐบาลสร้างปัญหามากมายนะครับ ไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิดแบบนี้ แต่มีคนเวียดนามเป็นล้านๆ ที่คิดแบบนี้ แต่พวกเขาพูดไม่ได้ คนที่ส่งเสียงพูดออกมาก็มักจะหนีออกมาจากประเทศ”

“คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร?”

“พวกเราอยากจะเปลี่ยนแปลง เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย เราอยากมีพรรคการเมืองหลายๆ พรรค ในอนาคตเราหวังว่าเวียดนามจะเปลี่ยนมาทิศทางนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลปิดหูปิดตาประชาชน ทำให้คนเวียดนามไม่เข้าใจเรื่องการเมือง เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนมีสิทธิอะไรบ้าง เราอยากมีสิทธิในการเลือกตั้ง เราอยากมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด”

ผมถามมัทธิวว่า “ถ้าคุณพูดสิ่งเหล่านี้ในประเทศเวียดนาม คุณจะโดนอะไร”

“ถ้าพูดในเวียดนามเหรอครับ” เขาหัวเราะ ก่อนจะบอกว่า “ติดคุกแน่ครับ”

เวียดนาม

 

กินข้าวกับแม่ในบ่ายวันอาทิตย์

มัทธิวได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR กำลังรอสัมภาษณ์กับสถานทูตประเทศที่ 3 เขาอยู่ในความคุ้มครองของ UNHCR แต่อยู่แบบผิดกฎหมายในประเทศไทย เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951

“แล้วคุณใช้ชีวิตยังไง?”

“ใช้ชีวิตเหมือนตอนที่เราไม่ได้มีสถานะผู้ลี้ภัยเลยครับ มันไม่มีอะไรต่างกัน”

“คุณซื้อไอแพดมาใช้ยังไง?”

“ใช้บัตร UN บางร้านก็เข้าใจบางร้านก็ไม่เข้าใจ เราต้องอธิบายให้เขาฟัง”

เวียดนาม

เวียดนาม

ปัจจุบัน มัทธิวเป็นล่ามให้ NGOs ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และเป็น paralegal หรือผู้ช่วยทนายความเรื่องกฎหมายให้ชุมชนมองตานญาด

ทุกเช้าวันอาทิตย์ มัทธิวจะเดินทางมาโบสถ์เช่นเดียวกับชาวมองตานญาดกว่าร้อยชีวิต ที่นี่เขาจะได้เจอกับแม่และน้องชายอีก 2 คนที่หนีตามออกมาจากเวียดนาม ที่บ้านเกิดเหลือน้องอีก 2 คน และพ่อที่ถูกจองจำในคุก

“หลังจากเสร็จจากการนมัสการ เราก็พูดคุยกัน ถามไถ่กัน พรุ่งนี้ก็ไปทำงานปกติ ก็จะใช้เวลากินข้าวกันกับญาติคนอื่นๆ ด้วย เราจะไปทำอาหารมองตานญาดกินกันที่บ้านของญาติคนหนึ่ง เราทำเอง เพราะคนไทยไม่ทำอาหารมองตานญาด ที่ไทยมีอาหารเวียดนามเยอะนะครับ แต่เราไม่ค่อยกินเท่าไร เราจะทำอาหารมองตานญาดกินเอง

“ชาวมองตานญาดกินอะไรกัน?”

“ใบมัน…รู้จักไหมครับใบมัน cassava leaf กะเพราเราก็กินครับ เหมือนอาหารไทยเลยแต่ไม่เผ็ดเท่าอาหารไทย ไม่หวานด้วยนะครับ เราไม่ชอบกินหวาน มันคล้ายๆ อาหารอีสานอยู่เหมือนกันครับ แต่ไม่เผ็ด เหมือนซุปมะเขือของอาหารอีสาน เราก็ทำแบบนั้นด้วย”

“คิดถึงบ้านไหม?”

“คิดถึงทุกวันครับ ผมไม่อยากไปประเทศที่ 3 ในครอบครัวของผมไม่มีใครคิดเรื่องการเมือง แต่ผมเป็นคนที่มีความคิดเรื่องการเมือง เราอยากจะมีเสรีภาพ อยากมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ เราอยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่ได้อยากไปประเทศที่ 3 เขาอยากรอ รอว่าวันหนึ่งเวียดนามจะเปลี่ยน เขารอว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วประเทศต้อนรับเขากลับบ้าน เราเป็นชาวนา เรารู้สึกว่าการอยู่ที่แผ่นดินพ่อแผ่นดินแม่มันย่อมดีกว่าเร่ร่อนไปที่อื่น เราต้องการการรับรองว่าเราจะปลอดภัยเมื่อเราอยู่ในบ้านของตัวเอง”

ใกล้จะเที่ยงแล้ว ผมนึกถึงยามเช้าในโบสถ์ที่ชาวมองตานญาดประสานเสียงด้วยคำอธิษฐานส่วนตัว จึงถามมัทธิวว่า ตอนที่เฝ้าเดี่ยวเมื่อครู่ เขาอธิษฐานว่าอะไร

“อธิษฐานให้พระเจ้ายกโทษให้กับบาปทุกบาปที่เราทำ อธิษฐานให้ชุมชนด้วยครับ ให้พวกเขาถูกรับไปประเทศที่ 3 อธิษฐานให้ประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่เวลาที่อธิษฐาน เราไม่ได้อธิษฐานกับพระเจ้าว่า ‘พระเจ้าครับ โปรดเปลี่ยนรัฐบาลด้วยนะครับ’ เราไม่ได้อธิษฐานแบบนั้น

“เราอธิษฐานว่า ‘ให้พระเจ้าทำงานในใจของรัฐบาล ให้เขาได้รู้ว่าประชาชนในประเทศของเขามีสิทธิและเสรีภาพ ให้เขาได้รู้ว่าอำนาจที่รัฐบาลมี มันมาจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจของรัฐบาล’ เราอธิษฐานแบบนี้ครับ”

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า