ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อผ่านภาพยนตร์ไทยใน 3 ทศวรรษ (2490-2520)
Part 1 (2490-2500)
รุ่งอรุณของปฏิบัติการ ‘ล้างสมอง’
เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก 8 สิงหาคม 2508 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาจเป็นจุดสูงสุดของความรุนแรงสุดขั้วสองด้านของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์แรกคือ การเปิดฉากต่อสู้ทางอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐไทย ในที่ราบแถบหมู่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เหตุการณ์หลังคือ การสังหารหมู่กลางเมืองที่รัฐกระทำต่อนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทั้งสองเหตุการณ์ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย จากระยะเวลาที่ห่างกันกว่าทศวรรษ จากจุดเกิดเหตุที่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร ทว่าหากเราตั้งจุดเริ่มของความรุนแรงในเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2508 มาบรรจบในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่กินระยะเวลา 11 ปีนี้ มีภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการปราบปรามคอมมิวนิสต์และผู้มีอิทธิพลเถื่อนด้วยวิธีนอกกฎหมาย ออกฉายเป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์กลุ่มนี้เรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ภาพยนตร์บู๊ ผกค.’ อันหมายถึง ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาแนวบู๊แอคชั่น พระเอกจะต้องปราบผู้ร้ายที่เป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ภาพยนตร์กลุ่มนี้เป็นตระกูลย่อย (sub-genre) ของภาพยนตร์แนวบู๊ภูธรที่นับว่าเป็นตระกูลภาพยนตร์หลัก (genre) ตระกูลหนึ่งสำหรับภาพยนตร์ไทยในอดีต (ผู้อ่านสามารถอ่านที่มาและประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์บู๊ภูธรได้ในบทความ การเมือง เสือไทย และจุดกำเนิดหนังบู๊ภูธร)
ภาพยนตร์เหล่านี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปลูกฝังความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่าง ทั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ หัวหน้าฝ่ายแรงงาน แกนนำสมัชชาคนจน จนถึงนักศึกษาและประชาชน อย่างเป็นระบบ ผ่านสื่อบันเทิงตลอดทศวรรษ 2510 ทำให้เกิด ‘คนไทยคนอื่น’ คนไทยที่ไม่เหมือนไทยด้วยกัน จนนำมาสู่คำว่า ‘หนักแผ่นดิน’
2496
12 ปี ก่อนเกิดเหตุวันเสียงปืนแตก เอิร์ล วิลสัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวของอเมริกา เพิ่งตีตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวด่วนจากปารีสสู่กรุงเทพฯ โดยรู้เพียงว่าตัวเองจะเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกๆ ที่ถูกส่งตัวมาสังกัดองค์กรยูซิส (USIS – United State Information Service) ซึ่งเพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น (2496) ตำแหน่งของเขาคือ Country Director
เจ้านายโดยตรงของวิลสันคือ จิม มีเดอร์ ผู้อำนวยการยูซิส โดยมีเอกอัครราชทูต วิลเลียม เจ. โดโนแวน คอยผลักดันโครงการนี้ โดโนแวนมีฉายาว่า ‘ไวลด์บิล’ เพราะมักได้รับภารกิจเป็นทูตในพื้นที่เสี่ยงภัยห่างไกล และไอเดียเรื่ององค์กรยูซิสนี้ก็เกิดขึ้นจากตัวโดโนแวนนี่เอง เพราะเห็นว่าประเทศไทยในขณะนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองในสงครามเย็น หลังจากจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เกิดการเปิดศึกปลดแอกเวียดนามจากฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู ขณะที่อเมริกาเข้าสู่ช่วง ‘ไคลแม็กซ์’ ของสงครามเกาหลีแล้ว ซึ่งโดโนแวนพอจะมองเห็นแล้วว่าพื้นที่อันตรายลำดับถัดมาก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจีนมีอิทธิพลเหนือประเทศไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาช้านาน คอมมิวนิสต์แทรกเข้ามาในประเทศต่างๆ โดยมีไทยเป็น ‘ไข่แดง’ อยู่ตรงกลาง ไอเดียที่โดโนแวนเสนอต่อประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ก็คือ ตั้งรับที่ไทยไว้ให้มั่น เพื่อยันคอมมิวนิสต์ไม่ให้กลืนกินภูมิภาคนี้ เมื่อไอเซนฮาวร์ตกลง เมกะโปรเจ็คต์ที่โดโนแวนคุมผ่านยูซิส โดยมีวิลสันเป็นลูกมือ จึงเริ่มต้น
แผนการยับยั้งคอมมิวนิสต์ที่โดโนแวนคิด ไม่ใช่การรบพุ่งด้วยอาวุธ แต่จะเป็นการทำ ‘สงครามจิตวิทยา’ เป้าหมายคือ พวกเขาต้อง ‘ให้ความรู้’ แก่รัฐบาลไทยและประชาชนไทย ถึงอันตรายของคอมมิวนิสต์และความสำคัญที่จะต้องธำรงระบอบประชาธิปไตยเอาไว้เพื่อยืนยันว่าไทยอยู่ข้างกลุ่มโลกเสรี สิ่งที่ทำให้วิลสันทึ่งคือ สงครามทางจิตวิทยานี้ถูกใช้ในไทยเป็นที่แรก หลังแผนประสบความสำเร็จด้วยดีมันจึงถูกใช้ต่อในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา รวมทั้งประเทศอื่นๆ ตลอดช่วงสงครามเย็น
สงครามจิตวิทยานี้ได้ชื่อเรียกในภายหลังว่า ‘แผนโฆษณาชวนเชื่อ’ (Psychological Indoctrination Program)
หากในช่วงแรกๆ ลำพังการให้ความรู้แบบบรรยายหรือปราศรัย โดยฝากผีฝากไข้ไว้กับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐนั้น กลับไม่มีพลังพอจะดึงดูดคนหมู่มาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเมืองมาก่อน ขณะที่ระบบปฏิบัติการออกแบบจากบนลงล่าง โดยวิลสันและทีมยูซิสจะให้การอบรม/ฝึกทักษะแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยโดยตรง แล้วให้ทางไทยจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ลำดับล่างๆ ลงไป พวกเขาจะได้รับชุดความรู้มือสอง-สามจากบรรดาเจ้าหน้าที่ไทยระดับสูงอีกทอดหนึ่ง ทว่าก็ดูจะไม่ได้ผลนัก สุดท้ายวิลสันและทีมยูซิสจึงต้องการอาวุธหนักที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย
ในที่สุดพวกเขาก็พบ มันคือภาพยนตร์ หรือ ‘หนัง’ ที่คนไทยรู้จักกันดี
หนังโฆษณาชวนเชื่อ
หน้าที่หลักๆ ของวิลสันคือ จัดสร้างและผลิตสื่อบันเทิงเพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ ตั้งแต่การ์ตูนช่อง (strips comics) จนถึงหนังข่าว เพื่อให้ ‘หน่วยลงพื้นที่’ มีสื่อที่สามารถนำไปประกอบการให้ความรู้ในพื้นที่กันดาร รูปแบบนี้ได้มาจากการฉาย ‘หนังขายยา’ โดยบริษัทยาในไทยในช่วงทศวรรษเดียวกัน (มีหลักฐานว่าบริษัทยาเจ้าแรกๆ ที่ใช้วิธีการฉายหนังเพื่อดึงดูดชาวบ้านในภูมิภาคก็คือ ยาสตรีเพ็ญภาค ตราพญานาค เริ่มฉายตั้งแต่ปี 2492) สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการฉายก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด เพราะติดชายแดนลาว-กัมพูชา ตลอดจนเวียดนามสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านภูมิภาคนี้ได้ง่าย โดยเวียดนามในขณะนั้นถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงจะเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว
แผนการของยูซิสในช่วงแรกเริ่มคือผลิตภาพยนตร์เอง โครงการชุดแรกตั้งเป้าว่าจะผลิตภาพยนตร์ถึง 10 เรื่องในไทย มีทั้งภาพยนตร์เล่าเรื่องและสารคดี โดยได้มอบหมายให้ เทอร์เนอร์ เชลตัน โปรดิวเซอร์จากฮอลลีวูดมารับหน้าที่ดูแลการผลิต (เชลตันมีเครดิตใน IMDB อยู่เพียงเรื่องเดียวคือ T-Men (1947) – ผู้เขียน) เชลตันเรียกมือเขียนบทจากฮอลลีวูดมาขึ้นเรื่อง แต่ดูเหมือนจะไม่เวิร์คสำหรับวิลสัน สุดท้ายจากการเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าว วิลสันกลับต้องเขียนเรื่องย่อหนัง ลามจนถึงสคริปต์หนังเรื่องแรกด้วยตัวเอง
ความสำเร็จของการผลิตหนังฉายเองในพื้นที่เป้าหมายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้แผนกภาพยนตร์ของยูซิสกลายเป็นแผนกสำคัญที่ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ วิคเตอร์ แอล. สเตียร์ (ประจำการระหว่าง 2498-2503) สเตียร์เล่าถึงบรรยากาศการทำงานในแผนกภาพยนตร์ว่า มีเจ้าหน้าที่ภาพยนตร์ประจำออฟฟิศจำนวนมาก และยังมีผู้สร้างหนังชาวไทยแวะเวียนเข้ามาผลิตหนังให้แก่ยูซิสด้วย (เพื่อทำหนังพูดภาษาไทย) สเตียร์ย้ำว่าพลังของภาพนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสาร แม้กระทั่งแผ่นภาพของยูซิสที่แจกประกอบการฉายหนังก็จะ “very light on text and strong on pictures and caption” คือเน้นภาพชัดเจนและใช้คำโปรยใหญ่ๆ เตะตารุนแรง แทบไม่มีตัวหนังสือให้รกรุงรังมากนัก
หนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของยูซิสที่หลงเหลือถึงปัจจุบันก็คือ คำสั่งคำสาป (Dead Man Voices, 2497) ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพิ่งจะค้นพบและนำกลับมาบูรณะออกฉายอีกครั้งเมื่อ 26 กันยายน ที่ผ่านมา นอกจากคำสั่งคำสาป แล้ว ยังคงมีผลงานภาพยนตร์สารคดีข่าวอย่าง กรุงเทพเมืองหลวงของเรา (Bangkok, Our Capital, 2500) และ ไฟเย็น (2508) ที่เป็นผลงานการผลิตของทีมภาพยนตร์ยูซิสในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากภาพยนตร์เล่าเรื่องแล้ว ภาพยนตร์สารคดีเชิงข่าวของยูซิสก็ถูกผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงทศวรรษ 2500 ริชาร์ด เอ. เวอร์เด็น เจ้าหน้าที่ยูซิส ผู้เคยประจำการในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพิษณุโลก (2510-2512) เล่าว่า หนึ่งในภาพยนตร์สารคดีข่าวที่สำคัญสุดของพวกเขาคือ ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ โดยตัวหนังจะบันทึกพระราชกรณียกิจของพระองค์ระหว่างเสด็จเยือนภูมิภาคต่างๆ เวอร์เด็นบอกว่าภาพยนตร์สารคดีชุดที่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นจุดแข็งที่สุด (was the strongest asset) ในการสร้างความจงรักภักดีแก่สถาบันในหมู่ชาวบ้าน ทำให้พวกเขาได้เห็นพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ปลายทศวรรษ 2500 ดูเหมือนจะเป็นช่วง ‘พีค’ ของการผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อโดยยูซิส พอล กู๊ด ที่เคยประจำการในหน่วยยูซิส ที่อุบลราชธานี (2506-2508) และกรุงเทพฯ (2509-2511) กู๊ดรับหน้าที่ประสานงานการฉายตามภูมิภาค ที่ไม่ใช่แค่การฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น แต่ยังแจกจ่ายเอกสารและภาพพีอาร์ให้แก่ชาวบ้านในภูมิภาค
‘ภาพ’ ที่กู๊ดจดจำได้ชัดก็คือ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แจกให้แก่ชาวบ้าน พร้อมๆ กับภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อและหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยและความหวาดภัยคอมมิวนิสต์แก่พวกเขา
ช่วงเวลาที่กู๊ด ‘ปฏิบัติการฉายหนัง’ ตามหมู่บ้านต่างๆ ในแถบภาคอีสาน เป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์แนวคาวบอยสปาเก็ตตี้ (Spaghetti Westerns – ตัวอย่างภาพยนตร์กลุ่มนี้ ได้แก่ หนังชุด มือปืนเพชรตัดเพชร (Fistful of Dollars / For a Few Dollar More / The Good, the Bad and the Ugly นำแสดงโดยดาราอเมริกัน คลินท์ อีสท์วูด แต่ถ่ายทำในอิตาลีและสเปน – ผู้เขียน) กำลังเฟื่องฟูในประเทศไทย โรงฉายติดป้ายคัตเอาท์ขนาดใหญ่
หากหนังที่ยูซิสผลิตและนำไปฉายกลับเป็นหนังที่กู๊ดเรียกว่า ‘หนังหมอลำ’ (น่าจะเป็นหนังข่าว-สารคดีที่ใช้การร้องหมอลำแทนการบรรยายประกอบ เรื่องสำคัญคือ The Community Development Worker (1958) – ผู้เขียน)
กู๊ดบอกสาเหตุที่หนังหมอลำได้รับความนิยมกว่าหนังประเภทอื่นๆ เพราะเรื่องราวใกล้ตัวผู้ชมที่เป็นชาวบ้าน พูดภาษาเดียวกับพวกเขา (ใช้ภาษาอีสานเป็นหลัก) กู๊ดยกตัวอย่างว่า หนังอย่าง New York, New York ภาพยนตร์เพลงที่ฉายภาพเมืองนิวยอร์คอันหรูหราทันสมัย แม้จะมีภาพอันน่าตื่นตา แต่กับชาวบ้านในภูมิภาค พวกเขาสนใจดูมันแค่ 5 นาที ก็เบื่อแล้ว เพราะมันเป็นโลกที่ห่างไกลพวกเขา หนังหมอลำซึ่งใกล้ตัวกว่าจึงทำหน้าที่ ‘ให้ความรู้’ ตรงตามที่ยูซิสต้องการมากกว่า โดยเนื้อหาของหนังยังเปิดโอกาสให้สอดแทรกการเมือง อุดมการณ์รัฐ รวมทั้งต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์ลงไปได้ด้วย
‘ปฏิบัติการฉายหนัง’ ตามหมู่บ้านที่กู๊ดพูดถึงก็คือ การฉายหนังกางแปลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาต่อมา
และความนิยมของหนังตระกูลคาวบอยสปาเก็ตตี้ในไทยนี่เอง ที่เป็นต้นกำเนิดของ ‘หนังบู๊ภูธร’ ที่จะรับช่วงต่อการโฆษณาชวนเชื่อจากหนังยูซิสในทศวรรษถัดมา
จดหมายถึงวอชิงตัน
นอกจากจะมียูซิสเป็นหน่วยผลิต ประชาสัมพันธ์ และทำการจัดฉายภาพยนตร์ในภูมิภาคแล้ว ยังมีหน่วยงานข่าวกรองที่ทำหน้าที่ส่งข่าวแก่ทางวอชิงตันให้ทราบถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมถึงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหรือมีบุคลากรที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน
หลักฐานที่ปรากฏในเอกสารจดหมายในหอสมุด CIA ในหัวชื่อ ‘Confiscation of Thai Films’ ลงวันที่ 12 มิถุนายน 1950 (2493) มีเนื้อหาดังนี้
- ตำรวจไทยได้มีการตรวจยึดฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง เหมืองระเบิด (The Explode Mine) ซึ่งสร้างโดยบริษัท เจตนากรภาพยนตร์ ของ หม่อมเจ้าเจตนากร วรวรรณ ผู้ล่วงลับ
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสั่งห้ามฉายโดยกองเซ็นเซอร์ (ในขณะนั้นกองเซ็นเซอร์สังกัดสันติบาลพระนคร) เนื่องจากมีฉาก ‘ต้องห้าม’ หลังจากได้ฉายให้แก่คณะรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของพระยารามราชบดีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2493 ก็ได้มีคำสั่งให้แบนหนังทันที เนื่องจากฉากต้องห้ามดังกล่าวเป็นฉากแสดงกระบวนการปลุกปลั่นม็อบคนงานให้ลุกขึ้นประท้วงสไตรค์การทำงานเหมือง
- เนื้อหาของหนังเกี่ยวกับชีวิตที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของเหล่าคนงานเหมืองในภาคใต้ของไทย บทหนังเรื่องนี้เขียนโดย รัตนา อมาตยรัตนา ซึ่งเป็นนามแฝง เชื่อกันว่าเจ้าของนามแฝงนี้คือ กัณหา บูรณปกรณ์ ผู้แปลบทหนังโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต (ที่ได้ออกฉายในไทยอย่างลับๆ ในเวลานั้น กัณหา บูรณปกรณ์ เป็นชื่อจริงของ ก.สุรางคนางค์ ผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง บ้านทรายทอง – ผู้เขียน)
- ฮวด ทองโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม เป็นตัวตั้งตัวตีวิ่งเต้นให้หนังเรื่องนี้ผ่านกองเซ็นเซอร์ เป็นที่รู้กันดีว่านายฮวดผู้นี้มีความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ นายฮวดได้ขออนุญาต นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แก่บรรดาสมาชิกพรรคได้ชมในคืนวันที่ 7 พฤษภาคม 2493 ที่ผ่านมา (มีข้อมูลขัดแย้งเล็กน้อย เมื่อมีการระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฉายตั้งแต่ 14 เมษายน 2493 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ดูได้ในลิงค์ (https://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/เหมืองระเบิด_(2493) – ผู้เขียน)
เอกสารชุดนี้เป็น ‘รายงาน’ กลับไปทางวอชิงตันให้คอยสังเกตการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยจะเห็นว่าผู้แจ้งเอกสารได้ระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้ข้อมูลเบื้องต้นถึงความเกี่ยวพันของตัวบุคคลกับขบวนการคอมมิวนิสต์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เอกสารลักษณะเช่นนี้ถูกพบมากในห้องสมุดออนไลน์ของ CIA ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าค้นหาข้อมูลในช่วงทศวรรษ 1950-1960
อ้างอิง
- บทสัมภาษณ์ เอิร์ล วิลสัน (Earl Wilson) วิคเตอร์ แอล. สเตียร์ (Victor L. Stier) และ พอล กู๊ด (Paul Good) จากเว็บไซต์ https://adst.org/ (Association for Diplomatic Studies and Training) ค้นหาเอกสารด้วยคำค้นว่า Thailand จะพบเอกสารชุดแรกชื่อ Thailand ซึ่งรวมบทสัมภาษณ์อดีตเจ้าหน้าที่ USIS ที่ปฏิบัติการในไทยตั้งแต่ปี 1948-1998
- เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP82-00457R005000410006-9 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘Confiscation of Thai Films’
- เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP80-01065A000300020002-1 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘U.S. PSYCHOLOGY STRATERGY BASED ON THAILAND’
- วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Thai Cinema as National Cinema: An Evaluative History นำเสนอแก่มหาวิทยาลัย Murdoch University ในปี 2004
- การก่อกรณี 6 ตุลาฯ https://doct6.com/learn-about/how/chapter-4
- Grant Watts (2014), Communism Amongst the Stars: Anti-Communism in Film during the 1940s-50s