บรรดาวิชาความรู้ที่เราเรียนกันอยู่ในทุกวันนี้เป็นตัวขีดเส้นแบ่งหน้าที่การงานมายาวนานนับร้อยปี ถึงจะไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์แบบตายตัว แต่คนจบนิติศาสตร์ก็มักจะทำงานในด้านกฎหมายเป็นหลัก เช่นเดียวกับคนที่จบบัญชีก็มักจะทำงานในสายบัญชีและบริหาร ไม่นับวิชาชีพที่ขาดแคลนอย่างแพทย์ เภสัช ทันตะ ฯลฯ ซึ่งแทบจะทำงานเฉพาะในสายงานของตัวเองกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
ทฤษฎีเก่าแก่อย่าง Division of Labour ของบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ที่เน้นการแบ่งงานกันทำคงความขลังมากขึ้นในยุคก่อนมิลเลนเนียมที่เรามีองค์ความรู้เฉพาะด้านเกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด เอาแค่ด้านบัญชีและบริหารธุรกิจก็มีทั้งด้านการเงิน การตลาด บัญชี การจัดการ สารสนเทศ ฯลฯ เพราะเราต้องการคนทำงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญแบบเจาะลึก
เช่นเดียวกับโครงสร้างองค์กรในยุคนั้น ใครที่ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ก็คงคุ้นเคยกับแผนผังองค์กรที่มีลำดับขั้นและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละฝ่ายกันอย่างชัดเจน เราจึงไม่เคยเห็นฝ่ายบัญชีไปยุ่งกับการช่าง หรือฝ่ายบุคคลไปทำงานด้านการผลิต ซึ่งการแบ่งหน้าที่นั้นยังลงลึกไปในแต่ละฝ่ายเป็นแผนกต่างๆ ที่ทำงานไม่ก้าวก่ายหรือซ้ำซ้อนกัน
วลี ‘หน้าที่ไม่ใช่’ จึงเกิดขึ้นตามมาในยุคนั้น เพราะฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (อัพเกรดจากฝ่ายบุคคล) ที่รับผิดชอบแผนกฝึกอบรมจะไม่สามารถตอบคำถามเรื่องเงินเดือนและโบนัสได้เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของแผนกเพย์โรล เรายังเคยคิดกันเล่นๆ ว่าหากเราเจ็บหัวแม่เท้าแล้วไปหาหมอ เราอาจถูกโอนย้ายไปยังโรงพยาบาลอื่น เพราะคุณหมอที่โรงพยาบาลนี้เชี่ยวชาญเฉพาะการรักษาหัวแม่เท้าข้างซ้าย แต่ที่เราเจ็บอยู่นั้นเป็นหัวแม่เท้าข้างขวา!
ไม่ต้องนับประสาอะไรกับงานพื้นๆ อย่างการพิมพ์เอกสาร การกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ที่ไม่ค่อยจะมีใครยอมทำ เพราะถือว่ามีเสมียน (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแอดมิน) เป็นคนรับผิดชอบแล้ว เช่นเดียวกับแอดมินที่ไม่ค่อยอยากจะทำอะไรนอกเหนือหน้าที่เพราะกลัวผิด และที่สำคัญคือ ‘หน้าที่ไม่ใช่’ ทำแล้วได้แต่โล่ เงินเดือนได้เท่าเดิมก็ไม่รู้จะทำไปทำไม
ขอแนะนำให้รู้จักคุณสมชาย…
คุณสมชายทำงานเป็นเสมียนในธนาคารแห่งหนึ่งหลังเรียนจบพาณิชย์มาหมาดๆ หน้าที่หลักของแกคือพิมพ์คำวิเคราะห์จากพนักงานสินเชื่อที่ไปลงพื้นที่กับลูกค้ามา แกพิมพ์งานไปตามเรื่องตามราว ใครสั่งอะไรก็ทำไม่มีอิดออด
ทำมาสักพักคุณสมชายพิมพ์ตามเขาจนพอจะรู้แล้วว่าเขาวิเคราะห์กันยังไง และรู้ด้วยว่าฝ่ายสินเชื่อมีคิวต้องวิเคราะห์ลูกค้าที่ไหนบ้างเพราะมีตารางบอกเอาไว้ แกก็เลยหัดวิเคราะห์ด้วยตัวเองล่วงหน้า แล้วพอเจ้าหน้าสินเชื่อส่งงานมาก็เอามาเทียบกันดูว่าที่ตัวเองเขียนไว้นั้นมันตรงตามที่มืออาชีพเขียนสักกี่เปอร์เซ็นต์ ทำอยู่เป็นปีก็มีทั้งที่ตรงบ้าง ผิดไปคนละทิศคนละทางบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็แม่นขึ้นเรื่อยๆ แกก็แอบภูมิใจอยู่คนเดียวว่าฝีมือเริ่มพอใช้ได้
วันหนึ่งหัวหน้าฝ่ายในธนาคารจับได้ว่าคุณสมชายแอบทำงานนอกเหนือหน้าที่ แทนที่จะพิมพ์ตามสั่งอย่างที่ควรจะทำ แต่ดันไปเขียนวิเคราะห์อะไรเวิ่นเว้อ จึงเรียกไปคุยพร้อมขอดูงานเก่าๆ ที่เคยทำมา ก่อนจะสรุปบทลงโทษแบบง่ายๆ ชัดเจนที่สุดว่า
“คุณทำได้ดีนี่หว่า จะเป็นเสมียนไปทำไม ไปเป็นพนักงานวิเคราะห์โน่น เริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป!”
คุณสมชายจึงได้หน้าที่ใหม่ เงินเดือนใหม่ และเริ่มหัดวิเคราะห์ขั้นสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งชนเพดานความรู้ของตัวเอง เพราะเรียนจบมาแค่โรงเรียนพาณิชย์ แต่ก็พยายามอย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่งเจ้านายมองเห็นแวว และเรียกไปคุยอีกครั้ง
“คุณเป็นคนขยัน ตั้งใจมาก ธนาคารเราอยากส่งเสริม แต่คุณต้องทำงานหนักขึ้น เรียนรู้มากขึ้น และพลาดไม่ได้ เพราะธนาคารต้องเสียค่าอบรมสูงมาก คุณจะตกลงไหม”
คุณสมชายไม่กลัวงานหนักจึงตอบตกลงทันที โอกาสที่ธนาคารมอบให้ก็คือการได้ไปเรียนประกาศนียบัตรจากสถาบันนายธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ!
ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะแกยังก้มหน้าก้มตาเรียนต่อในประเทศเพิ่มความรู้ให้ตัวเองไปด้วยจนจบปริญญาตรีและโทในมหาวิทยาลัยดังของบ้านเรา และทำงานอย่างขยันขันแข็งจนไม่น่าเชื่อว่าจากเสมียนคนหนึ่งจะเติบโตเป็นได้ถึง ‘กรรมการผู้จัดการใหญ่’ ในท้ายที่สุด
เรื่องเทพนิยายสำหรับเสมียนแบบนี้มีให้อ่านเยอะแยะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน แต่ต้องขอบอกว่าเรื่องนี้เป็นชีวิตจริงของอดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของบ้านเรา ผู้ที่พร้อมจะทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ เพราะรู้ดีว่างานอะไรก็ตามล้วนเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้
ขอแนะนำให้รู้จักโลกยุค AI, Big Data, IoT…
มาถึงวันนี้คุณสมชายอาจตกตะลึงกับโลกใบใหม่ที่มีเรื่องให้เรียนรู้มากมาย เอาแค่ประเทศเกษตรกรรมอย่างเรายังกล้าประกาศตัวเองเป็นดิจิตอล ประเทศอื่นเขาก็กล้าตั้งเป้าไปทำเหมืองนอกโลกกันหมดแล้ว ทุกวันนี้เราจึงมีเรื่องใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้กันมากมายมหาศาล
การทำงานวันนี้จึงต้องใช้ความรู้นอกเหนือจากที่ ‘มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน’ อีกมากมาย เพราะสอนไม่ทัน ศาสตร์หลายๆ ด้านเพิ่งเกิดมาไม่กี่ปี จนมหาวิทยาลัยหลายแห่งหาอาจารย์ผู้สอนไม่ได้ โดยเฉพาะด้านดิจิตอลที่เป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในทุกวันนี้
ทั้ง AI ที่เน้นการสร้างปัญญาประดิษฐ์มาช่วยตัดสินใจแทนมนุษย์ big data ที่ต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาพยากรณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาศัยข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรือ IoT ล้วนต้องใช้ทักษะใหม่จากคนหลากหลายสาขาอาชีพ
บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งจึงส่งสัญญาณชัดเจนออกมาว่า เขาไม่สนใจปริญญาบัตร ไม่ว่าจะจบมาจากมหาวิทยาลัยระดับท็อป เพราะเห็นแล้วว่าการเรียนรู้ในทุกวันนี้ต้องอาศัยคนแบบ multi skill ทำได้หลายอย่างในคนเดียว
เด็กรุ่นใหม่ที่จับทางถูก เข้าไปร่วมงานกับบริษัท startup จึงสนุกกับงานที่ได้ทำทั้งการวางแผน การฝึกอบรม การทำตลาด ทำคลิปประชาสัมพันธ์ ฯลฯ โดยไม่มีเส้นแบ่งระหว่างแผนกเหมือนคนยุคก่อน และเด็กรุ่นนี้ก็พร้อมที่จะตักตวงประสบการณ์รอบด้านแล้วกระโดดออกไปทำธุรกิจที่ตัวเองชอบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ปัญหาจึงตกอยู่ที่คนยุคกลางเก่ากลางใหม่ ที่ยังยึดมั่นกับปริญญาที่มีโดยไม่ได้คิดเลยว่าความรู้ที่เรียนมานั้นมันแทบจะตกยุคไปหมดแล้ว!