เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
นักเขียนเป็นอาชีพได้ไหม?
นักเขียนน่ะไส้แห้ง
นักเขียนน่ะเป็นบาป เขียนแต่เรื่องประโลมโลกย์
เหล่านี้เป็นนิยามส่วนหนึ่งของคำว่า ‘นักเขียน’ ที่มีทั้งถูก และถูกนิดเดียว แต่ไม่มีที่ผิดหมด หรือถูกหมด
เอาง่ายๆ อย่างนี้ก่อน ก่อนจะถามว่านักเขียนเป็นอาชีพได้ไหม ในประเทศที่แม้แต่สิทธิ์ในการพูดหรือเขียนสิ่งที่คิดยังมีกรอบบางอย่างมาครอบให้อยู่ภายใต้ความมั่นคงของชาติบ้าง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่บ้าง เคยมีด้วยหรือ อาชีพนักเขียนจริงๆ หากไม่ได้ปวารณาตัวเองไปรับใช้บางกลุ่มอำนาจหรือคนบางชนชั้น (ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ความเป็นอาชีพ ยังสามารถเอ่ยอ้างได้อีกหรือไม่)
ใช่หรือไม่ว่า พ้นจาก ‘พญาอินทรี’ แห่ง ‘สวนทูนอิน’ ที่โบยบินไปสุดขอบฟ้าลาลับแล้ว ที่เหลือแทบไม่มีใครดำรงอาชีพในฐานะนักเขียนได้จริงๆ
อาจไม่ถูกทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็มีนักเขียนอีกคนที่ทำเช่นเดียวกับพญาอินทรี – ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และมองว่านักเขียนสามารถเป็นอาชีพได้ อีกทั้งยังไม่ได้มองว่า นักเขียนเป็นมนุษย์ที่มีสถานะสูงส่งกว่าชาวบ้าน ‘ฮารุกิ มูราคามิ’ เป็นนักเขียนที่ให้นิยามตัวเองแบบนั้น ผ่านผลงานเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ
ในฐานะเจ้าของร้าน และเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ชิมลางผลงานเล่มใหม่ของมูราคามิแล้ว ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง เจ้าของร้านหนังสือ Candide Books กล่าวว่า แม้มูราคามิจะไม่ได้มองว่าตนเองเป็นนักเขียนชื่อดัง (เคยเข้าชิงโนเบลสาขาวรรณกรรมมาแล้ว 5 ครั้ง) ขนาดไปร้านอาหารยังได้ที่นั่งห่วยๆ แต่เมื่อต้องพูดถึงงานเขียน มูราคามิจะมีความเอาจริงเอาจังเป็นที่สุด จนอาจพูดได้ว่า เพียงส่วนนี้ส่วนเดียวก็อาจเพียงพอแล้ว ต่อนิยามคำว่า ‘มืออาชีพ’ ของฮารุกิ มูราคามิ
ขณะที่ พิมลพร ยุติศรี จาก Tuttle Mori Agency ซึ่งทำงานด้านตัวแทนงานแปลจากต่างประเทศ มองว่า ผลงานเล่มนี้ของมูราคามิให้ประสบการณ์การอ่านที่ทำให้นักอ่านแต่ละคนเชื่อมโยงถึงกันและกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน
“บางครั้งอาจจะนั่งรถไฟฟ้า หรือเดินสวนกัน แต่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แล้วก็อาจจะไม่เคยรู้จักกันอีกต่อไปเลยก็ได้ แต่มันมีความเชื่อมโยงกัน ในฐานะของนักอ่าน เราก็มีความเชื่อมโยงกับเขาในจุดนี้”
แม้จะออกตัวว่าไม่ได้มีความเชื่อมโยงถึงกัน เพราะมูราคามิเป็นนักเขียนระดับอินเตอร์ ขณะที่ตนเองเป็นเพียงนักเขียนในประเทศไทย วีรพร นิติประภา เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2558 มองว่า ถึงงานของมูราคามิจะให้ความรู้สึก minimal แต่เบื้องหลังงานเขียนของเขาที่เธอได้อ่านจาก นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ เล่มนี้ กลับแสดงให้เห็นว่ามูราคามิทำงานในระดับที่เรียกว่า maximal ก็ว่าได้
เขามีวินัยในการทำงานประมาณนักวิชาการ คือไม่ได้เป็นสเกลของนักเขียน นักเขียนนี่อยู่สเกล 5 บรรทัดต่อวัน บางวันก็ไม่ถึงนะคะ นั่งดูดบุหรี่ กระดิกตีนเล่นกับแมวก็หมดวันแล้ว”
ทั้งเป็นหนุ่มหนึ่งเดียว และอายุน้อยสุด แต่ นิรัติศัย บุญจันทร์ จาก The Paperless สื่อวรรณกรรมออนไลน์ ที่เขียนรีวิวหนังสือจากฟากฝั่งญี่ปุ่นมาอย่างโชกโชน กลับมองไปอีกทางว่า งานเล่มนี้ของมูราคามิถ่ายทอดความเป็น ‘loser’
“มันเหมือนกับว่าตอนแรกเขาก็โดนขับไล่ออกจากวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ค่อนข้างรุนแรงนิดหนึ่ง มันจะปรากฏอยู่ในบทแรกๆ ว่า ถ้าหากเราเซ็ทตัวที่จะเข้าเป็นนักเขียนแล้ว ทุกคนก็จะแบบ…มากดดัน มาบอกว่า ไอ้นี่แม่งไม่ใช่วรรณกรรมที่ดี นี่มันไม่ใช่นักเขียนนิยาย แล้วพอวันหนึ่งเขาแปลงานของฟิตซ์เจอรัลด์ (เอฟ. สก็อต ฟิตซ์เจอรัลด์) ก็โดนด่าอีกว่า นี่มันไม่ใช่นักแปล วันหนึ่งเขียนสารคดีก็โดนอีกว่า นี่มันไม่ใช่ non-fiction แล้วสรุปว่า กูจะเขียนเหี้ยอะไรดีวะ”
กระนั้น มูราคามิก็ยังคงเขียนงานต่อไป ผลงานเล่มแรกของเขา สดับลมขับขาน ที่เขียนขึ้นในห้องครัวของบาร์แจ๊ส ส่งให้สปอตไลท์เริ่มฉายมาที่มูราคามิ หลังจากได้รับรางวัลทางวรรณกรรม ‘กึนโซ’ (Gunzo Award) ก่อนจะปรากฏคำค่อนแคะอีกครั้งเมื่อสำนักพิมพ์เสนอผลงานของเขาเข้าชิงรางวัล ‘อะคุตากาวะ’ (Akutagawa Prize) อีกหนึ่งรางวัลใหญ่ของญี่ปุ่น แล้วตกรอบไป การอ่านผลงานเล่มนี้ของนิรัติศัย ทำให้เขาหวนกลับมามองแวดวงวรรณกรรมไทย แล้วมีความเห็นว่า
“เออว่ะ วงการวรรณกรรมเรากับวงการเขามันมีอะไรเชื่อมโยงกัน เพียงแต่ว่าวงการเขามันจะสุดขั้ว ส่วนวงการเรามันก็จะสุดขั้วเหมือนกัน แต่แตกต่างกันฟ้ากับเหว เวลาวงการบ้านเขาขยับตัวในทางวรรณกรรมก็จะมีคนมาสนใจ แต่วงการบ้านเราขยับตัวให้สุดๆ แค่ไหนก็ไม่มีใครมาสนใจเหมือนกัน”
การโต้ตอบของแบบมูราคามิ
นิรัติศัยไม่ปฏิเสธว่า บางบทของงานเขียนเล่มล่าสุดของมูราคามิมีท่าทีโต้ตอบกลับทางวรรณกรรม เช่น ครั้งหนึ่ง เคนซาบุโร่ โอเอะ นักเขียนรางวัลโนเบลเคยนิยามผลงานของมูราคามิว่า มีกลิ่นชีสเต็มไปหมด จนมูราคามิต้องเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อหนีคำครหา หรือเพื่อหาที่ทางใหม่ให้กับตัวเอง คนที่ตอบได้ดีที่สุด แน่นอนว่าไม่พ้นตัวมูราคามิเอง แต่ทั้งดวงฤทัยและพิมลพรเห็นต้องกันว่า มูราคามิแค่ต้องการหาพื้นที่สงบๆ สำหรับทำงานเขียนต่อไป
“การเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง เขาเลือกหาพื้นที่สบายของเขา เขารับฟัง แต่ว่าเขาไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาทำให้สิ่งที่เขาตั้งใจไว้เปลี่ยนแปลงไป เขาไม่สูญเสียตัวตนของเขาไปเลยจากคำวิพากษ์ใดๆ ก็ตาม”
ขณะที่วีรพรมองว่า สิ่งที่มูราคามิพยายามทำมาตลอดคือ การไม่เขียนงานวรรณกรรมในความหมายทั่วไปของวรรณกรรมญี่ปุ่น
ตอนเริ่มต้น มันขึ้นอยู่กับว่าคุณเริ่มต้นด้วยบริบทอะไร ฉันอยากจะเป็นนักเขียนที่ได้รางวัลบลาๆๆ ฉันอยากเป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับ ฉันอยากเป็นนักเขียนที่ถูกโอบกอดโดยวงวรรณกรรม ซึ่งมูราคามิจะเคลมอยู่แล้วว่า เขาเขียนเพื่อเขียน และใครเสือกไปชอบอ่านก็ดีใจด้วย”
ไม่รอให้แรงบันดาลใจเกิด
เพื่อจะให้เห็นภาพการทำงานของนักเขียนที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าต้องรอให้มีแรงบันดาล หรือรอมี ‘อารมณ์’ ขึ้นมาก่อนจึงจะเขียนได้นั้น มูราคามิกลับเป็นนักเขียนที่ทำงานตามกำหนดเวลา และมีวินัยต่อกรอบของเวลานั้นสูงลิบ ซึ่งในแง่นี้ วีรพรกล่าวว่า ตัวเองโชคดีที่เคยทำงานโฆษณามาก่อน ซึ่งการทำงานจริง ต้นสังกัดจะไม่มารอหรอกว่า คุณจะมีอารมณ์ทำหรือเปล่า ในเมื่อมูลค่าโฆษณามันสูงร่วม 300 ล้าน เขาไม่เพียงแต่ไล่คุณออกหรอก แต่เขายังจะฆ่าคุณด้วย และเพราะว่าเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ วีรพรจึงมองตัวเองว่า ด้วยเงื่อนไขของชีวิต เธอไม่เคยได้รับอนุญาตให้หยุดเขียน
“ชอบไม่ชอบนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องเขียนทุกวัน”
การล้มหายตายจากไปของนักเขียน
ในอีกด้านหนึ่ง นิรัติศัยบอกว่า ตลอด 30 ปีของการทำงานเขียนของมูราคามิ เขาได้เห็นนักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นมาประดับวงการมากมาย หลายคนกวาดรางวัลในทางวรรณกรรมสูงยิ่งกว่าเขาในตอนก้าวขึ้นสู่สังเวียนวรรณกรรม พูดได้เลยว่าบางคนมาพร้อมสปอตไลท์ที่สาดส่อง แต่เมื่อหวนกลับมาดูปัจจุบันของนักเขียนเหล่านั้น หลายคนซึ่งเคยเป็นที่จับตากลับเลิกราไปจากการเขียน จนอาจจะพูดอีกเช่นกันว่า จำนวนนักเขียนเหล่านี้มากกว่าเสียยิ่งกว่านักเขียนที่ยังยืนระยะอยู่ได้ด้วยซ้ำ ผลงานที่ครั้งหนึ่งเคยหาซื้อได้โดยง่าย ก็กลับซื้อไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ขณะที่พิมลพรหยิบยกบางส่วนจากหนังสือที่ประทับใจเช่นกัน มาบอกกล่าวว่า
“โดยทั่วไปในสมองของเรา อย่างน้อยก็ผม มีตู้ใบใหญ่ที่ว่า และในแต่ละลิ้นชักมีความทรงจำหลากหลายอัดแน่นอยู่ในถาด บางลิ้นชักมีขนาดใหญ่ บางลิ้นชักมีขนาดเล็ก แต่ละลิ้นชักมีกระทั่งช่องลับเวลาเขียนนิยาย ผมจะเปิดลิ้นชักที่คิดว่าใช่ แล้วหยิบวัตถุดิบมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว” (จาก นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ โดย มูราคามิ)
การหยิบฉวยบางความทรงจำในตัวตนของนักเขียนแต่ละคน เชื่อได้ว่าแทบทั้งหมดล้วนใช้บางส่วนของตัวเองมาเป็นวัตถุดิบแทบทั้งนั้น มากหรือน้อยไม่ใช่ประเด็น ประเด็นที่น่าสนใจในงานของมูราคามิ เมื่อเทียบกับวรรณกรรมเล่มอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่ล้วนแล้วแต่เป็นภูเขาทางวรรณกรรมทั้งสิ้นนั้น งานของมูราคามิกลับพูดกับผู้คนธรรมดาที่อาจเพิ่งอกหักมา ตกงานมา
งานของมูราคามิไม่ได้พูดกับปัญญาชน ไม่ได้หยิบฉวยประเด็นทางสังคมขึ้นมาเพื่อให้สปอตไลท์ของคำว่า ‘รางวัล’ สาดต้องมาที่ผลงานของเขา พูดง่ายๆ ว่า มูราคามิกำลังเขียนถึงเหล่า ‘คนแพ้’ ทั้งในสังคมญี่ปุ่น และในสังคมโลก คนหนุ่มสาวเหล่านั้นที่อาจถูกกระทำย่ำยีจากระบบความคิดอันคร่ำครึเหมือนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็น
สุดท้ายประเด็นของการโต้ตอบทางวรรณกรรมระหว่างนักวิจารณ์และนักเขียน ทั้งภาพสะท้อนของมูราคามิ และภาพสะท้อนแวดวงวรรณกรรมไทย นิรัติศัยมองว่า
“ตรงนี้ ผมเคยสัมภาษณ์พี่วิภาส (ศรีทอง) มีประเด็นเรื่องการเข้าใกล้กันเกินไปของความสัมพันธ์ของนักเขียน นักวิจารณ์ สื่อ ถ้าเราเข้าใกล้กันมากเกินไปแล้ว หน้าที่ของเราจะโดนคำว่าเพื่อนมาบดบัง และต่อไปก็จะบอกว่า พี่ครับ ดีมากเลยครับ เขียนออกมาอีกนะครับ เล่มใหม่ออกมาสุดยอดเลยครับพี่ แต่สุดท้ายด้วยวินาทีนี้ การวัดว่าดีไม่ดี มันขึ้นอยู่กับความนิยมมากกว่า”
แตกต่างจากภาพสะท้อนการวิจารณ์วรรณกรรมของมูราคามิที่ใช้อคติของความแท้-ไม่แท้ ใช่-ไม่ใช่ ในทางวรรณกรรมมาชี้วัด และอาจเพราะแบบนั้น งานของมูราคามิถึงจับใจคนทั่วโลก เหล่าผู้คนที่อาจจะเป็นเหมือนวาจาอมตะของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งกล่าวในทำนองเดียวกันไว้ว่า “มนุษย์ถูกทำให้แพ้ได้ แต่มนุษย์ถูกทำลายไม่ได้”
สำหรับนักเขียนที่ไม่ใช่มูราคามิ การจะตอบตัวเองได้ว่างานเขียนที่ทำเป็นอาชีพหรือยัง อาจไม่จำเป็นต้องละทิ้งบาร์แจ็สเพื่อไปเขียนหนังสือเต็มตัว หรือต้องรอให้ได้รางวี่รางวัลระดับประเทศสักรางวัลขึ้นมาก่อน บางที-ในนิยามของผมเอง-มันอาจไม่สำคัญว่าคุณจะทำมาหาเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพอะไร เท่ากับตอบข้างในตัวคุณให้ได้ก่อนว่า คุณเลือกจะบอกเล่าแทนบางเรื่องราว แทนบางผู้คนด้วยงานเขียนวรรณกรรมหรือยัง
สำหรับเราๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขของผู้แพ้ คงทำได้แต่ก้มหน้าก้มตาเขียนกันต่อไป