เพลง ‘นะหน้าทอง’ ขับร้องโดย โจอี้ – ภูวศิษฐ์ อนันต์พรศิริ ทำยอดการเข้าชมได้มากถึง 127 ล้านวิว ในแอปพลิเคชันสีแดงยอดนิยม และติดอันดับ 14 ของ ‘Global YouTube Music Video Chart’ มาแล้ว แต่น้อยคนจะรู้ว่าถนนหนทางที่รถอีแต๋นของตัวละครเอกแล่นผ่านไปมา ซึ่งพาดผ่านพื้นที่ป่า ไร่ข้าว ไร่อ้อย และแนวภูเขาหิน คือเขตอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีร่องรอยการต่อสู้ของคนในท้องถิ่นกับอิทธิพลภายนอกอย่างทุนและรัฐ เมื่อชาวบ้านท้องถิ่นรวมตัวกันต่อต้านสัมปทานที่ได้เปลี่ยนภูเขาลูกแล้วลูกเล่าให้กลายเป็นเหมืองมานานหลายปี
แม้ภาพงดงามราวกับร่ายมนต์คาถาของ ‘นะหน้าทอง’ จะถูกออกแบบและรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต แต่ยังคงหลงเหลือมนต์ดำของสารเคมีต่างๆ จากกระบวนการผลิตแร่ที่อาจค่อยๆ ทำลายสุขภาพของประชาชนบริเวณรอบพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ไซยาไนด์ (Cyanide) แมงกานีส (Manganese) นิกเกิล (Nickel) สารหนู (Arsonic) ตะกั่ว (Lead) แคดเมียม (Cadmium) ปรอท (Mercury) ตลอดจนสารเคมีอันตรายอีก 20 กว่าชนิด และไม่แน่ว่าอาจจะมีมากชนิดกว่านี้อีกหากสำรวจพบในอนาคต นับเป็นภัยคุกคามสุขภาพของชาวบ้านใกล้แหล่งทองคำสุวรรณและแหล่งทองคำโชคดี ซึ่งกินพื้นที่รวมกันกว่า 31,250 ไร่ เมื่อรัฐได้อนุญาตให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกในเครือคิงส์เกต (Kingsgate Consolidated Limited) สำรวจแร่ และต่ออายุประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและเงินในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง ในปี 2564 ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองทองคำชาตรีไปทางทิศเหนือประมาณ 10-30 กิโลเมตร
เขตเหมืองแร่กับปัญหาทับซ้อนพื้นที่ป่า
การประกาศใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้กิจการเหมืองแร่จะต้องทำแผนแม่บทการบริหารจัดการเหมืองแร่ และกำหนดเขตทำเหมืองแร่ตามมาตราที่ 17 วรรค 4 ว่า “พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ต้องไม่ใช่เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ํา หรือป่าน้ําซับซึม”
กฎหมายดังกล่าวกำลังบอกว่า รัฐและผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานจะต้องนำแผนที่ประเทศไทยมากาง แล้วกำหนดข้อตกลงว่าพื้นที่ใดเป็นเขตทำเหมืองแร่ได้บ้าง โดยไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.แร่ ดังกล่าว ทว่าผ่านมาแล้วเกือบ 5 ปี ประเทศไทยก็ยังไม่มีการประกาศเขตเหมืองแร่อย่างเป็นทางการ แต่รัฐกลับเปิดทางให้มีการสำรวจแหล่งแร่ไปแล้วเกือบ 400,000 ไร่ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแก่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด
“เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พื้นที่ที่มีการอนุมัติให้สำรวจแร่จะมีอาณาเขตทับซ้อนอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่แหล่งต้นน้ำ หรือป่าน้ำซับซึมหรือไม่?”
ประโยคคำถามของ จิราพร สินธุไพร สมาชิกผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ยิงตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านมา
จากการสำรวจพบว่า พื้นที่กว่า 600,000 ไร่ ที่บริษัท คิงส์เกตฯ ทำเรื่องขอประทานบัตรทำเหมืองและขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ค้างไว้ ได้แก่ แหล่งทองคำสุวรรณ และแหล่งทองคำโชคดี ในเขตอำเภอเนินมะปราง มีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย
จิราพรยังตั้งคำถามต่ออีกว่า “กฎหมายไม่ให้ทำเหมืองแร่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่เมื่อบริษัท คิงส์เกตฯ ขอมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และป่าสงวนแห่งชาติ ให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ ใช้สำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่?”
แม้พื้นที่พิพาทจะถูกฉาบเคลือบด้วยความสวยงามในมิวสิกวิดีโอ แต่ฟุตเทจความยาวกว่า 5 นาที ในเพลง ‘นะหน้าทอง’ ของโจอี้ ภูวศิษฐ์ ก็ยังเผยให้เห็นภาพของธรรมชาติที่ถูกบ่อนเซาะด้วยความไม่เป็นธรรมชาติอยู่ดี ความสวยงามเหล่านั้นเจือปนมาด้วยอำนาจที่ไร้เหตุผล และความบอบช้ำของชาวบ้านแห่งเนินมะปราง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะยื้อเวลาเอาไว้ แล้วค่อยๆ เปิดช่องโหว่พิเศษให้บริษัทมีโอกาสฉกฉวยผลประโยชน์จากพื้นที่เนินมะปรางไปเรื่อยๆ อาทิ การสำรวจพื้นที่เหมืองทอง การได้รับประทานบัตรทำเหมืองทอง หรือแม้กระทั่งขุดทอง
เวลานี้ ผู้คนในประเทศคงได้เห็นตัวเลขความเสียหายแล้ว จาก ‘ค่าโง่’ ที่รัฐบาลประยุทธ์ต้องจ่ายให้บริษัท คิงส์เกตฯ เป็นจำนวนมากถึง 1,700 ล้านบาท หลังแพ้คดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ตัดสินโดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราโดยพลการในปี 2559 ซึ่งละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
การชดใช้ค่าเสียหายครั้งนี้อาจเป็นเพียงปฐมบทของความสูญเสีย แต่จะยิ่งหนักหน่วงกว่านี้หากยังมีการเดินหน้าโครงการเหมืองแร่ทองคำต่อไป