เรื่อง: อรปมน วงค์อินตา
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
เมื่อพูดถึงนักเรียนนอกในยุโรป ภาพในหัวและสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าฟีดเฟซบุ๊คคือความสวยงามของถนนหนทางและหมู่บ้านที่ปกคลุมด้วยหิมะ อาคารรูปทรงแปลกตา รายล้อมด้วยเพื่อนๆ หน้าตายิ้มแย้มและเป็นมิตร กับภารกิจสนุกสนานที่กำลังจะเริ่มขึ้น
แต่สำหรับ โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง อดีตผู้ช่วยผู้กำกับ 36 หนังยาวเรื่องแรกของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ บอกว่าชีวิตนักเรียนนอกในเยอรมนีของเธอไม่เหมือนเวลาเราอ่านเฟซบุ๊ค ที่มีเฉพาะเรื่องราวดีๆ หรือไม่ก็ด้านมืดไปเลย
“สำหรับเรา การเรียนเมืองนอกไม่ได้สวยงามแบบอยู่ท่ามกลางคนผมบลอนด์มากมาย มีความสุข ไม่ได้เล่าแบบการฝ่าฟันที่จะไปเรียน แค่อยากเล่าว่า มันไม่ได้สวยงามมาก แต่มันก็ไม่ได้ทุลักทุเลขนาดนั้น เรื่องกลางๆ ก็มี”
นั่นจึงเป็นที่มาให้โรสเริ่มต้นเขียน My Best Friend is Me หนังสือว่าด้วยการใช้ชีวิตในต่างแดนที่ดูจะพ้นไปจาก stereotype ของนักเรียนนอกที่เราคุ้นตา
นอกจากจะหลงใหลในโลกแห่ง visual ตามที่ได้ร่ำเรียนมา นักศึกษาปริญญาโทด้านภาพยนตร์ที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี ผู้นี้ยังหลงรักการเขียนหนังสือ โดยเริ่มต้นเขียนในไดอารีออนไลน์มาตั้งแต่ยุค Diaryhub และเมื่อเข้าเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาพยนตร์ ก็ได้เริ่มเข้ามาทำหนัง
ในขณะที่บนแผงหนังสือบ้านเราเต็มไปด้วยหนังสือแนวท่องเที่ยวและการใช้ชีวิตต่างแดนแสนสนุกจนน่าเลียนแบบ หนังสือของโรสกลับเป็นการใช้ชีวิตในเยอรมนีที่เต็มไปด้วยประโยคคำถาม หนังสือที่ทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนได้ใช้ชีวิตภาคภาษาเยอรมันไปพร้อมๆ กับเธอ ได้รับรู้ความอึดอัดคับข้องใจ การปรับตัว และก็ช่วยให้เราหันกลับมาทำความรู้จักตัวเองในฐานะเพื่อนสนิทที่สุดอีกครั้ง
จุดเริ่มต้นของความฝัน
การเรียนต่อต่างประเทศสำหรับโรส ไม่ถึงกับเป็นการค้นหาตัวเองหรือความฝันอันยิ่งใหญ่ เธอย้ำกับเราแค่ว่า ‘ต้องไป’
“เรารู้สึกว่าคงมีช่วงชีวิตสักช่วงที่ต้องไป มันอาจไม่ได้ลึกซึ้งขนาดอยากไป คือรู้สึกว่า ต้องไป โดยที่ยังไม่ได้คิดว่ากระบวนการการไปจะเป็นอย่างไร ไม่ได้มีเหตุผลจะไปค้นตัวเองอะไรขนาดนั้น แค่เป็นสเต็ปหนึ่งที่ต้องไป”
เมื่อได้รับคำแนะนำเรื่องทุนจากรุ่นพี่ ทำให้เธอตัดสินใจลองสมัครดูบ้าง ตอนสมัครอาจยังไม่ทันคิดอะไร แต่เมื่อสอบติดแล้วโรสจึงเริ่มตระหนักได้ว่า ต้องมาเรียนที่เยอรมันทั้งที่ภาษายังไม่กระดิก
หลังจากได้ทุนเรียนต่อ ทุกอย่างดูจะเข้าที่เข้าทางไปหมด ถ้าภาษายังไม่ได้ ก็แค่เริ่มต้นเรียนภาษา ปรับพื้นฐานอีกนิด ก็น่าจะไปต่อได้ไม่ยาก
ด่านแรกที่โรสต้องทำคือต้องสอบ A1* ให้ผ่าน ดังนั้นเธอจึงต้องเริ่มต้นเรียนภาษาที่เบอร์ลินก่อนสี่เดือนตามที่ทุนกำหนดให้
ความรู้สึกแรกของโรสตอนอยู่เบอร์ลินเพื่อเรียนภาษาคือเธอแฮปปี้มาก เพราะรู้สึกว่า ในที่สุดก็ได้มาต่างประเทศแล้ว
“เป็นความรู้สึกดีที่ได้มาแล้ว เราว่าเป็นทุกคนแหละ เวลาไปที่ใหม่ๆ สามสี่เดือนแรก ทุกอย่างมันน่าตื่นเต้น น่าไปเที่ยว มีอะไรให้ดูตลอดเวลา”
แต่เมื่อถามถึงความคล่องแคล่วในการสื่อสารหลังจากเรียนภาษาสี่เดือนแรก โรสยอมรับว่า
“ตอนไปเรียนภาษาในเบอร์ลินก็ยังพูดไม่ได้มากเท่าไหร่ มันก็ได้เวลาซื้อขนมปัง ไปเที่ยว เจอเพื่อน ทักทาย คุยกันไปถึงระดับหนึ่ง”
สำหรับโรสแล้วเบอร์ลินคือเมืองที่เธอรู้สึกปลอดภัย เพราะยังสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ เธอจึงอะลุ้มอล่วยให้ตัวเองพูดภาษาอังกฤษบ้าง แต่นั่นก็ทำให้ไม่ได้ฝึกฝนเพื่อรับมือกับภาษาเยอรมันจริงๆ เสียที
“พอผ่านไปช่วงหนึ่ง ความตื่นเต้นหมดไป เริ่มกลายเป็นชีวิตประจำวันที่ชินชา ต้องสอบ เรียน สมัครเรียน เรียนแล้วก็ฟังไม่ออก ฟังไม่ออกอีกแล้ว วนอยู่อย่างนั้นทั้งอาทิตย์ มันก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจ ว่าที่สนุกมันแค่สี่เดือนแรก”
เนื่องจากมหาวิทยาลัยฟิล์มที่เปิดสอนส่วนมากต้องการคนที่สื่อสารเยอรมันได้คล่องแคล่ว ทำให้โรสตัดสินใจเลือกเรียนสาขา Language and Communication ในมหาวิทยาลัยที่เมืองเบรเมน ซึ่งมีการเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ
“พอไปจริงๆ อาจารย์ที่สอน เขาสอน Illustrator สอนกราฟิก ก็มานั่งดู Typo (Typography – งานออกแบบและจัดวางตัวอักษร) เขาก็ถามว่า เราทำกราฟิกเป็นหรือเปล่า เราก็บอกว่าเป็น แต่ไม่ได้เป็นทางเราขนาดนั้น”
“เราก็ทำตลกๆ แล้วถามอาจารย์ว่า เราทำวิดีโอได้ไหม เขาก็บอกจะทำอะไรก็ทำ ไม่ว่าจะอยู่สตูดิโอไหนจะทำอะไรก็ทำ”
แม้จะเป็นคอร์สอินเตอร์ที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับนักศึกษาต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่โรสยังรู้สึกได้ถึงภาษาเยอรมันที่รุกคืบเข้ามาในหลายๆ วิชา
“ถึงเป็นคอร์สอินเตอร์ แต่เราก็รู้สึกว่ามันมีวิชาอื่นที่เป็นเยอรมัน เราก็ยังรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของมัน”
ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนในเยอรมนีก็หนีภาษาเยอรมันไม่พ้น ทำให้เธอตัดสินใจเจรจากับผู้ให้ทุน แล้วยื่นสมัครใหม่อีกครั้ง เพื่อกลับมาเรียนฟิล์มอย่างที่ตั้งใจไว้ในปีถัดมา
รับมือกับความเหงา
อาการยอดฮิตอย่างหนึ่งของนักเรียนนอกคือคิดถึงบ้าน หรือ homesick สำหรับโรสก็ยอมรับว่ามีความรู้สึกแบบนั้นบ้าง ซึ่งไม่นานก็หาย แต่กับความเหงา เธอว่าสภาพอากาศมีผลค่อนข้างมาก
“พอไปเจออากาศหนาว หิมะตก ไปอยู่จริงๆ มันก็เหมือนในหนัง ที่เราไปนั่งซีนเหงาอยู่ริมหน้าต่าง คือพอไปอยู่อย่างนั้นแล้วมันเหงาจริงๆ ถามตัวเองว่าทำไมอากาศในเยอรมนีถึงเป็นแบบนี้” ซึ่งทำให้เธอนึกถึงหน้าร้อนที่เมืองไทยขึ้นมา
ส่วนความเศร้าในบางขณะที่เกิดขึ้นกับตัวเอง โรสนิยามมันว่า แค่เน็ตเจ๊งก็เศร้าแล้ว
“มันไม่ใช่ความเศร้าแบบโอ๊ยหงุดหงิด เน็ตเจ๊ง แต่มันคือการที่เราติดต่อคนอีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ เช็คเมลไม่ได้ เข้าเฟซบุ๊คไม่ได้ อาจจะเป็นความเศร้าหยุมหยิมก็จริง แต่สำหรับเราก็เป็นมวลอารมณ์ที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี”
เมื่อถามว่าถึงตอนนี้เธอคุ้นเคยกับเยอรมนีมากขึ้นแล้วหรือยัง โรสตอบว่า
“การใช้ชีวิตรายล้อมด้วยคนเยอรมัน ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่เหมือนเราอาจจะไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาเพื่อนๆ คุยเยอรมันกัน แล้วมีเรานั่งอยู่ เขาจะเปลี่ยนเป็นอังกฤษให้เรา ใจหนึ่งก็ดีใจที่เขาดึงเราไปด้วย อีกใจหนึ่งก็เกรงใจที่เขาต้องทำเพื่อเราอยู่ตลอด”
เป็นความรู้สึกก้ำกึ่งตลอดเวลาที่อยู่เยอรมนี หรือกระทั่งอยู่ในห้องพักก็ตาม ถ้ารูมเมทพูดเยอรมันกันแล้วมีคำว่าโรสโผล่ขึ้นมา เธอก็จะเริ่มคิดแล้วว่า เพื่อนๆ กำลังพูดถึงเธออยู่หรือเปล่า? แล้วพูดถึงในแง่ไหน
“ถ้าเราพูดเยอรมันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็น่าจะดี” นอกจากเรียนให้จบ นี่คงเป็นอีกความตั้งใจของเธอที่อยากทำให้สำเร็จ
มีความงง เพราะยืดหยุ่นเกินไป
หากพูดถึงเยอรมนี สิ่งแรกที่เราได้ยินเกี่ยวกับคนเยอรมันคือ ความตรงต่อเวลา มีระเบียบ เต็มไปด้วยพิธีรีตอง แต่ในสาขาวิชาที่โรสเข้าไปสัมผัสนั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง
“พอเป็นโรงเรียนศิลปะก็มีความยืดหยุ่นขึ้น เราอาจจะไม่ได้เจอคนที่ตรงต่อเวลาหรืออะไรขนาดนั้น”
ด้วยความที่เธอมาจากที่ที่จะลงทะเบียนเรียนก็ต้องลงตามกำหนด ไม่เลือกบางวิชาก็ไม่สามารถขอจบได้ สำหรับโลกการศึกษาศิลปะในเยอรมนีที่ได้พบ จึงเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ไม่ชิน โรสเล่าว่า ถ้าไม่เลือกวิชาตามที่กำหนดไว้ก็ได้ แต่อาจจะใช้เวลาเรียนนานกว่าปกติเท่านั้นเอง ถ้าใครอยากลงเรียนวิชาน่าสนใจข้ามมหาวิทยาลัยก็ทำได้เช่นกัน เพียงแต่กำชับให้อาจารย์ผู้สอนออกหน่วยกิตให้ด้วย
“มันยืดหยุ่นมากๆ จนช่วงแรกก็มีความงง เป็นอีกโลกหนึ่งของการเรียนศิลปะที่ไม่ได้มาบังคับอะไรเราทั้งนั้น ส่วนหนึ่งเพราะคนเยอรมันแต่ละคนมีความรับผิดชอบในชีวิตตัวเอง”
โลกการศึกษาอาจจะค่อนข้างยืดหยุ่นตามสบาย แต่ในโลกความเป็นจริงบอกได้ว่าเป๊ะมาก โรสเล่าว่า ในบริษัทที่เยอรมนีมีความตรงต่อเวลาสูงมาก เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น คนที่นั่นจะไม่ได้มีวัฒนธรรมการทำงานนอกเวลาเป็นเรื่องปกติแบบบ้านเรา และเมื่อเลิกงานก็คือจบ ไม่มีการรับงานต่อจากนั้น
ตามปกติ สถานะนักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองไทย แม้จะเป็นระดับปริญญาโท ไม่มีใครคาดหวังว่าจะต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่ตั้งใจเรียนเท่านั้น ต่างกับคนเยอรมันที่อาจมีความรับผิดชอบอื่นๆ พ่วงมาด้วย
“เรารู้สึกว่านักเรียนหลายๆ คนเขามีภาระอื่น เขาไม่ได้เป็นแค่นักเรียนเป็นสเตตัสแรก เหมือนนักเรียนเป็นสเตตัสที่สอง สเตตัสแรกอาจจะต้องเลี้ยงลูก หรือทำงานเสิร์ฟ เป็นพนักงานร้านเสื้อผ้า แล้วค่อยมาเรียน
“มันแตกต่างจากนักเรียนเอเชียแบบเรา ที่ไปเรียนแล้วมีสเตตัสนักเรียนอยู่กับตัว ทำให้เราตั้งใจเรียน ในขณะที่คนอื่นเหมือนแค่มานั่งฟัง นั่งคุย ซึ่งมันก็คือการเรียนของเขา แต่เรากลับรู้สึกว่าพวกเขารู้เยอะกว่าเรามาก”
เมื่อทุกอย่างเป็นไปได้
ในคลาสที่เยอรมนี ทำให้โรสค้นพบความน่าทึ่งอย่างหนึ่ง นั่นคือทุกคนพยายามหาข้อดีจากงานของเพื่อนๆ
“เหมือนไปตัดสินแหละ แต่นี่ก็เป็นวิธีการที่เราได้มา อาจารย์จะให้ทุกคนโชว์ผลงาน ทุกคนก็จะวางของตัวเอง ซึ่งโมเมนต์แรกเรารู้สึกว่าของเพื่อนไม่เห็นสวยเลย เพื่อนก็อาจจะคิดเหมือนกันว่า แล้วแกล่ะ ทำอะไร แต่ทุกคนพยายามช่วยกันดูว่า ในความไม่สวยมันมีข้อดีอะไรบ้าง”
โรสเล่าว่าเธอเห็นเพื่อนใช้กระดาษที่หน้าตาคล้ายกับปกรายงานหนังช้างซึ่งเธอเคยใช้ตอน ป.4 สำหรับเธอมองเป็นกระดาษหนังช้าง แต่ทุกคนกลับชื่นชมว่ามันสวยงาม เป็นความน่าสนใจในความพยายามจะหาอะไรสักอย่างในงานของทุกคน ซึ่งทำให้โรสคิดได้ว่าทุกอย่างสามารถเป็นงานได้
“มีเพื่อนอีกคนที่ถ่ายรูปแล้วใส่มาในซองแฟ้มเพื่อโชว์ แต่อาจารย์บอกเขาไม่สนใจรูปที่ถ่ายมาเลย แต่สนใจแฟ้ม ก็ตลกดี เหมือนเขาพยายามจะหาอะไรสักอย่างหนึ่งในงานของทุกคน ทำให้ทุกคนดูไม่ท้อแท้…หรือท้อแท้ก็ไม่รู้” มีน้ำเสียงกลั้วหัวเราะอยู่ในที
โรสยังเล่าถึงความน่าสนใจของรายวิชาที่เยอรมนีที่ได้เรียน เช่น วิชาที่ว่าด้วย ‘ความจริง’
“เขาก็ให้นั่งฟังแล้วถามทุกคนว่า ความจริงของเราคืออะไร วันนี้อยากพรีเซนต์เรื่องอะไร คือทุกอย่างมันลิงค์กับหัวข้อได้หมด ภาษาไทยอาจจะเรียกว่า แถ แต่ก็เป็นการแถแบบดูมีความรู้”
หรืออีกวิชาหนึ่งอย่าง Political Art โรสบอกว่าจะนั่งคุยกันเรื่องผู้อพยพ แล้วถกกันว่าศิลปินมีหน้าที่อย่างไร
“เหมือนเขาคุยกันเรื่องเสรีภาพ เห็นเขาพูด เราก็จะรู้สึกว่าอยากพูดบ้าง แต่พอพูดเสร็จแล้วเราดึงกลับมาใช้เมื่อเรากลับไทยได้บ้างไหม ก็เลยเกิดคำถาม” และเมื่อคำถามเริ่มลึกลงไปเรื่อยๆ โรสก็เกิดคำถามว่า แล้วเธอจะดึงอะไรที่ได้จากเยอรมนีมาใช้ได้บ้าง
โรสยกตัวอย่างว่า ถ้ามีทรายกองหนึ่งอยู่ที่พื้น ทุกคนจะเริ่มหาความหมายของมัน และจะนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองในที่สุด
“เรารู้สึกว่าถ้าเรากลับมาอยู่ที่นี่ (เมืองไทย) เราวางกระดาษหนึ่งแผ่นแล้วมันจะไปต่อยังไงได้ แล้วเราจะโยงตัวเองกับกระดาษแผ่นนี้อย่างไร”
พื้นที่ทางศิลปะที่ทุกอย่างเป็นไปได้ อาจทำให้คนที่ติดกรอบโดยไม่รู้ตัวไปต่อไม่ถูกได้เหมือนกัน
“เราแค่รู้สึกว่าเราอาจจะไม่ชินกับอะไรแบบนั้น ที่ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมด” นอกจากเรื่องราวทางศิลปะแล้ว ความเป็นไปได้ของการแสดงออกทางการเมืองในเยอรมนีทำให้เธอตั้งตัวไม่ถูกด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่าถึงขั้น culture shock ไหม โรสนึกนิดหนึ่งแล้วบอกว่า
“ไม่ใช่ culture shock หรอก เป็นเรื่องน่าสนใจมากกว่า ที่ไม่ว่าใครจะประท้วงก็ตาม** จะมีรถตำรวจนำหน้า ซึ่งการประท้วง อาจจะเป็นการประท้วงรัฐบาล หรือเป็นประท้วงอะไรก็ได้ แต่ทุกคนก็รู้ว่า จะประท้วงแล้วจ้า ซึ่งก็เป็นตามกฎหมายของเยอรมันที่ไม่ว่าประท้วงอะไรก็ต้องแจ้งก่อน”
หมายเหตุ:
* A1 คือข้อสอบวัดระดับพื้นฐานภาษาเยอรมัน
** ตามรัฐธรรมนูญเยอรมนี (Basic Law) มาตรา 8 รับรองเสรีภาพในการชุมนุม ‘โดยสันติและปราศจากอาวุธ’ ไว้ โดยอนุญาตให้สามารถจำกัดเสรีภาพการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะได้ การชุมนุมและเดินขบวนในเยอรมนีจึงเป็นเสรีภาพที่ไม่ต้องขออนุญาต เพราะถ้าต้องขออนุญาตย่อมกระทบต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้จัดจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์การชุมนุมพร้อมแจ้งชื่อผู้รับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งห้ามหรือกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมได้ หากเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือเป็นการชุมนุมในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต
[AdSense-A]