ไม่กี่วันก่อนเหลือบไปเห็นข่าวล้อมกรอบเล็กๆ ว่า ยิบรอลตาร์ ประกาศศักดาคว้าชัยในเกมอย่างเป็นทางการนัดแรก บุกไปซิวอาร์เมเนีย 1-0 ในเกมยูฟ่า เนชั่นส์ ลีกคัพ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปสืบต่อถึงที่มาที่ไป
ยิบรอลตาร์ถือเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร เป็นเกาะที่วางตัวอยู่ในคาบสมุครไอบีเรีย บริเวณที่เรียกกันว่าช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งแน่นอนว่าเคยตกอยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรสเปนมาก่อน
กระทั่งปี 1704 สงครามสืบราชบัลลังก์เปิดฉากขึ้น รบกันดุเดือดเสียหายล้มตายมากมาย ก่อนจะมีการทำสนธิสัญญายูเทรกต์ (Treaty of Utrecht) เพื่อยุติการสู้รบในภายหลัง แล้วยิบรอลตาร์เลยเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรแทนตั้งแต่นั้น
แม้ผ่านมานานนับร้อยปีแล้ว แต่สเปนยังโมโหไม่หาย เชื่อมาตลอดว่ายิบรอลตาร์ต้องเป็นของตน เพราะอยู่ในน่านน้ำชัดๆ จึงพยายามดิ้นรนต่อสู้เอาคืนมาตลอด
จนมาปี 1967 ได้มีการเปิดให้ชาวยิบรอลตาร์ทำประชามติเป็นครั้งแรก ว่าจะอยู่กับสหราชอาณาจักร หรือกลับคืนสู่อ้อมกอดสเปน
ปรากฏว่าพวกชาวเกาะเกือบทั้งหมดซึ่งคิดเป็น 99.6 เปอร์เซนต์ โหวตขออยู่กับอังกฤษเหมือนเดิม ไม่ต้องการอยู่ใต้อาณัติสเปนอีกแล้ว เพราะอดีตอันเลวร้ายสมัยบรรพบุรุษที่พร่ำสอนกันมายังตามหลอกหลอนอยู่
ขนาดผลโหวตชัดเจนใสสะอาดสุดๆ ว่าชาวยิบรอลตาร์ไม่อยากไปอยู่ด้วย แต่สเปนยังฮึ่มๆ แสดงปฏิกิริยาต่อต้านทุกครั้งเมื่อมีโอกาส
แล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่าฟุตบอลจะกลายมาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สเปนนำมาใช้ด้วย
ปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพบอลโลกรอบสุดท้าย อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ และสกอตแลนด์ สามตัวแทนจากสหราชอาณาจักรที่ผ่านรอบคัดเลือกมาได้ ขู่ถอนทีมไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย เพราะสเปนทะลึ่งไปสนับสนุนอาร์เจนตินาเรื่องทำสงครามกับอังกฤษแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์คแลนด์
ทั้งที่ชาติในยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอาร์เจนตินาที่จู่ๆ ไปโชว์พาวเวอร์เหนือเกาะฟอล์คแลนด์ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร อย่างนี้มันล่วงล้ำอธิปไตบกันดื้อๆ
แต่สเปนหวังแบบมีเหลี่ยมเล่ห์แฝงว่า หากฟอล์คแลนด์กลับมาเป็นของอาร์เจนตินาเมื่อไร นั่นหมายความว่าจะใช้โอกาสอ้างความชอบธรรม นำยิบรอลตาร์กลับคืนมาเป็นของตนอีกครั้ง
พอมาปี 1999 สหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่ารับยิบรอลตาร์เข้าเป็นสมาชิก เท่านั้นเอง สเปนตีโพยตีพายงอแงเหมือนเด็กๆ ไม่ได้ดั่งใจ ขู่ฟอดถอนทีมออกจากเกมที่ยูฟ่าจัดทั้งหมด ไม่ว่าในระดับชาติหรือสโมสร
เรื่องบานปลายจนต้องขึ้นศาลกีฬาโลก เมื่อฝั่งยิบรอลตาร์ก็ไม่ยอมเช่นเดียวกัน แต่สเปนยกตัวอย่างว่า ทีมฟุตบอลของบาสก์หรือกาตาลัน สองแคว้นที่อยากแยากจากตนก็ไม่ได้เป็นสมาชิก เพราะรู้ดีว่ามันเปราะบางมาก อาจเกิดความขัดแย้งได้ ซึ่งยิบรอลตาร์ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น
แทนที่ยิบรอลตาร์จะได้เข้ามามีส่วนร่วม เรื่องก็ต้องยืดเยื้อกันต่อไป ปี 2007 ยูฟ่าชิมลางไฟเขียวให้ยิบรอลตาร์ส่งทีมระดับอายุต่ำกว่า 17 และ 19 ปีมาโซ้ยแข้งก่อน
จากนั้นในปี 2013 เมื่อมีการเปิดให้แต่ละชาติสมาชิกของยูฟ่าลงคะแนนเสียงรับรองยิบรอลตาร์ ก็ปรากฏว่าเซย์เยสกันอย่างท่วมท้น มีเพียงแค่สเปนกับเบาลารุสเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
นั่นแหละ หลังจากเล่นเกมแบบไม่เป็นทางการกับพวกหมู่เกาะและทีมเล็กๆ ด้วยกันมานาน ยิบรอลตาร์ที่มีประชากรราว 32,000 คนจึงได้เป็นส่วนหนึ่งร่วมหวดรอบคัดเลือกทั้งบอลโลกหรือบอลยูโรฯด้วย
แต่ย้อนกลับไปปี 1996 ศึกยูโรฯหรือชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ สองชาตินี้โคจรมาจ๊ะเอ๋กันในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ช่วงนั้นอังกฤษเพิ่งคืนฮ่องกงให้กับจีน
สเปนก็เลยแยบมาว่า แล้วเมื่อไรจะคืนยิบรอลตาร์บ้าง เท่านั้นแหละสื่ออังกฤษเอาไปขยายความดุเดือด ดึงอดีตสมัยทำสงครามกองเรือกันมาอ้าง ไปกันใหญ่เลยทีเดียว
จากนั้นข้อพิพาทเรื่องนี้ถูกปลุกผีโดยใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมืออีก เมื่อเลสเตอร์จากอังกฤษ บุกไปเยือนเซบีย่าเตะยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก กองเชียร์ ‘จิ้งจอกสยาม’ บางส่วนเอาแบนเนอร์หรือป้ายผ้าข้อความว่า “Gibraltar is ours” พร้อมทั้งตะโกนแซว จนกระทั่งเกิดกระทบกระทั่ง ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและการ์ดทั้งหลายออกแรงกันเหนื่อยอีก
ทำไมสเปนถึงต้องการยิบรอลตาร์เหลือเกิน ทั้งที่เป็นเกาะเล็กๆ พื้นที่แค่ 4,000 กว่าไร่ มีเพียงแค่โขดหินยิบรอลตาร์ (Rock of Gibraltar) ซึ่งเป็นสถานที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาแห่งหนึ่งของโลกหรือการท่องเที่ยวเล็กๆ ที่น่าสนใจเท่านั้น
แต่ธุรกิจหลักที่หล่อเลี้ยงให้ผู้คนยิบรอลตาร์อยู่ดีมีสุขและสหราชอาณาจักรไม่เคยเข้าไปยุ่มย่ามนั่นคือการพนันออนไลน์ที่ทำรายได้มหาศาลเหลือเกิน
มีบริษัทรับพนันมากมายแห่กันมาจดทะเบียนที่นี่ เงินสะพัดปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านยูโร คิดดูเอาว่ามากแค่ไหนกัน สร้างงาน สร้างเงินให้กับชาวเกาะหลายต่อหลายคน
น่าทึ่งกว่าคือผู้คนที่นี่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวปีละ 55,000 ดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าสเปนถึง 20,000 ดอลลาร์ ในขณะที่ไทยแลนด์บ้านเรานี่ตกคนละ 15,000 เท่านั้นเอง
อย่างที่บอก อังกฤษไม่เคยเข้ามาวุ่นวายหรือหาผลประโยชน์กำกับจัดการอะไรกับยิบรอลตาร์เลยสักนิด ซึ่งมันน่าจะตรงข้ามกับสเปนที่หวังจะกอบโกยเหมือนในอดีต
แต่เหตุผลที่ไม่คืนยิบรอลตาร์ให้ มันเป็นเรื่องความรู้สึกทางใจมากกว่า อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์ให้นึกถึงอดีตว่ามีกองเรืออันเกรียงไกรแค่ไหน เจ้าพ่อทางน้ำอย่างสเปนยังต้องศิโรราบให้
ว่าไปแล้วก็น่าสงสารเห็นใจยิบรอลตาร์ กว่าจะได้มีส่วนร่วมในเกมฟุตบอลก็ต้องฝ่าอุปสรรคการเมืองระหว่างประเทศแทบสะบักสะบอม ก่อนหน้านั้นก็ตกเป็นเบี้ยล่างโดนกดขี่ข่มเหงในฐานะอาณานิคมมาอีก
ต่อให้รักสงบไม่อยากสู้รบกับใคร แต่ในเมื่อคุณตัวเล็กกว่า กำลังน้อยกว่า ย่อมถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรมได้ตลอดเวลา
กระนั้นชาวยิบรอลตาเรี่ยนทั้งหลายน่าจะยินดีเมื่อเกมยูฟ่า เนชั่นส์ ลีกของกลุ่มเอ เมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา อังกฤษยกพลสยบสเปนได้ 3-2 เป็นการบุกไปคว้าชัยได้ที่นั่นในรอบ 41 ปีเลยทีเดียว แถมยังใช้ดาวรุ่งที่มีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 23 ปีต่อกรอีกต่างหาก
นอกจากตบหน้าสเปนเรื่องเกมลูกหนังได้แล้ว ยังข่มเรื่องยิบรอลตาร์ได้อีกต่างหากว่าแท้จริงแล้วควรเป็นของใคร
อังกฤษหรือในนามของสหราชอาณาจักรคงอยากจะตะโกนบอกอย่างนี้…