แรปเปอร์ต้องตาย: โทษประหารของ 4 นักเคลื่อนไหว ที่รัฐบาลทหารเมียนมามอบให้ประชาชน

เช้าวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2022 หนังสือพิมพ์โฆษณาชวนเชื่อของสภาทหารเมียนมา อย่าง Global New light of Myanmar ลงข่าวว่า รัฐบาลทหารประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 ราย คือ โก่ จิมมี่ หรือ โก่ จ่อ มิน ยุ (Kyaw Min Yu) โก่ เหย่ แค หรือ โก่ พโย เซยา ต่อ (Phyo Zeya Thaw) โก่  มโย หรือ โก่ ฮละ มโย อ่อง (Hla Myo Aung) และ โก่ กะโดง หรือ โก่ อ่อง ตู่ระ ซอ (Aung Thura Zaw) โดยการแขวนคอ ซึ่งเชื่อกันว่าการประหารชีวิตเกิดขึ้นในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ หลังจากที่สมาชิกครอบครัวได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมพวกเขาผ่าน Zoom ในวันศุกร์

บัญชีโซเชียลมีเดียของผู้ใกล้ชิดกับสภาทหารอ้างว่าซากศพถูกเผาและทำลายที่ สุสาน เถ่ง ปิ่น ซึ่งเชื่อกันว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากเรือนจำไม่ได้ส่งคืนศพให้สมาชิกครอบครัวของผู้ถูกประหารชีวิต ซึ่งเดินทางไปติดตามเรื่องนี้ที่เรือนจำอินเส่ง เมืองย่างกุ้ง  

พวกเขาเพียงเพื่อต้องการศพหรือขี้เถ้ากลับมาทำฌาปนกิจตามประเพณีทางศาสนา ซึ่งโดยปกติแล้ว ครอบครัวสามารถร้องขอศพได้ตามขั้นตอนของเรือนจำและกฎหมายเมียนมา แต่พวกเขากลับถูกปฎิเสธ

วัฏจักรของความรุนแรงและการปกครองแบบเผด็จการ

ก่อนหน้าเหตุการณ์ครั้งนี้ เมียนมามีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถัดจากนั้นก็มีการตัดสินประหารชีวิตหลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นก็เป็นเพียงการตัดสิน ทว่าไม่เคยมีการประหารชีวิตจริงๆ เลยสักครั้ง

ความตายของนักโทษการเมือง 4 คนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จึงนับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ กอปรกับรัฐบาลทหารเมียนมาโดยนายพล มิน อ่อง หล่าย ไม่สามารถรวมอำนาจในการเผชิญกับกองกำลังต่อต้านติดอาวุธที่ปฏิบัติการในพื้นที่ อีกทั้งขาดการสนับสนุนจากประชาชน รัฐบาลทหารจึงงัดวิธีนี้มาใช้เพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลัว และหวังว่าจะยอมจำนน

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลทหารได้ใช้แนวปฏิบัติในการชะลอการตัดสินใจเรื่องคดีอุทธรณ์ กระทั่งกลายเป็นประมวลกฎหมายลดโทษซึ่งจะถูกใช้กับกรณีโทษจำคุกตลอดชีวิตไปจนถึงโทษประหารชีวิต แต่ ซอ มิน ทุน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) กลับแถลงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2022 ว่ากรณีของ โก่ พโย เซยา ต่อ, โก่ จิมมี่, โก่ ฮละ มโย อ่อง และ โก่ อ่อง ตู่ระ ซอ การยื่นอุทธรณ์ของทั้ง 4 คน นั้นถูกปฏิเสธทั้งหมด

โก่ ฮละ มโย อ่อง และ โก่ อ่อง ตู่ระ ซอ ถูกตัดสินจำคุกและต่อมาเป็นโทษประหารในข้อหาฆาตกรรมครูโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นผู้แจ้งข่าวของ SAC อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักหากเทียบกับเคสของ โก่ จิมมี่ และ โก่ เซยา ต่อ ขณะที่ 2 รายหลัง ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายก่อการร้าย ถูกพูดถึงในวงกว้างเพราะพวกเขาเป็นบุคคลสำคัญในการต่อต้านระบอบการปกครองของรัฐบาลทหาร

SAC เป็นที่รู้จักจากการสังหารพลเรือนและสมาชิกของฝ่ายค้านอย่างป่าเถื่อน การนำโทษประหารชีวิตคดีทางการเมืองกลับมาจะเป็นอิฐก้อนสุดท้ายในกำแพงของการคืนเมียนมาให้กลับคืนสู่สภาพที่เคยดำรงอยู่ก่อนการลุกฮือในปี 1988

นับแต่เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2021 มีผู้ที่ถูก SAC ตัดสินประหารชีวิตทั้งหมด 114 คน ในจำนวนนั้น 2 คนเป็นเพียงผู้เยาว์ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ต้องโทษ 41 คนที่ยังคงหลบหนีหรือลี้ภัยในต่างประเทศ

‘โก่ เซยา ต่อ’ สู้กับรัฐบาลทหารผ่านการแรป

โก่ เซยา ต่อ เติบโตมาในละแวกโรงพยาบาลย่างกุ้ง ซึ่งเคยเป็นจุดรวมตัวและศูนย์กลางของการประท้วงต่อต้านเผด็จการเมื่อปี 1988 ต่อมาบริเวณนั้นก็เคยเป็นที่ตั้งเวทีกล่าวสุนทรพจน์ในที่สาธารณะครั้งแรกของ ออง ซาน ซู จี และจุดเดียวกันนี้ก็เป็นพื้นที่ของการสังหารพยาบาลตามอำเภอใจ เพียงเพราะพยาบาลเหล่านั้นต้องการรักษาและช่วยผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บ ฉากและเหตุการณ์อันรุนแรง เกิดขึ้นขณะที่ โก่ เซยา ต่อ อายุเพียง 8 ขวบ และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจกระทั่งกลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

โก่ เซยา ต่อ มีพ่อเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยทันตแพทย์ศาสตร์ย่างกุ้ง แม่เป็นทันตแพทย์ ส่วนเขาเรียนจบเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเภสัชมัณฑะเลย์ แต่เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านบทบาทการเป็นแรปเปอร์

เขาเป็นหนึ่งในศิลปินของวง Acid ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2000 โดยอัลบั้มแรกของพวกเขามีชื่อว่า ‘စတင်ခြင်း’ หรือ ‘Beginning’ 

Acid คือศิลปินฮิปฮอปแนวใหม่ที่เปลี่ยนฉากทัศน์ทางดนตรีในเมียนมา ภายใต้สายตาของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหารที่กำลังจดจ้องพวกเขาอยู่ 

แม้ฮิปฮอปจะขัดกับเสียงเพลงป๊อบ-เฮฟวี่ซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้น อัลบั้มของพวกเขากลับประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และครองอันดับหนึ่งในชาร์ตนานกว่าสองเดือน จน Acid ได้รับการยกย่องให้เป็นปู่ของฮิปฮอปในเมียนมา

ขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังสงสัยว่าการเป็นแรปเปอร์รุ่นแรกๆ จะสร้างชื่อเสียงได้อย่างไร จะกลายเป็นคนติดยาและเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดหรือไม่ หรือพวกเขาจะถูกแบนจากทีวีเพราะผมยาวเกินไป หรืออาจใช้สำนวนที่ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมเมียนมา แต่ โก่ เซยา ต่อ และสมาชิกกลุ่ม กลับมองไปไกลกว่าคำถามเหล่านั้น พวกเขาค้นศิลปะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารแบบใหม่ผ่านจังหวะฮิปฮอป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประดิษฐ์ศัพท์แสลงที่แยบยล ซึ่งจะทำให้พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรม โดยที่กองเซ็นเซอร์ไม่รู้ว่าพวกเขาแรปเกี่ยวกับอะไร

ยกตัวอย่างเช่น การโดนตั้งคำถามถึงการใช้คำว่า “old school” แต่เขาและวง Acid ตอบกลับว่า ไม่มีความหมายพาดพิงถึงใคร ที่สุดเพลงของพวกเขาก็ผ่านการเซ็นเซอร์ได้เรื่อยๆ

หลังจากนั้น โก่ เซยา ต่อ เริ่มปฏิบัติการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารผ่านเพลงแร็พในช่วงระหว่างการปฏิวัติชายจีวร ปี 2007 เขาร่วมก่อตั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหว Generation Wave ซึ่งรณรงค์ต่อต้านระบอบการปกครองของทหาร ปีนั้นราคาน้ำมันพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ Generation Wave ได้จำหน่ายสติกเกอร์กันชนพร้อมสโลแกน ‘เปลี่ยนรัฐบาลใหม่’  นั่นเป็นผลทำให้ โก่ เซยา ต่อ ถูกจับกุมในปี 2008 และถูกตัดสินจำคุก 6 ปี 

ช่วงเวลาและชีวิตของโก่ เซยา ต่อ ในคุกเมียนมา ไม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นทางการเมืองของเขาพังทลายลง เรือนจำกลับทำให้เขามีเวลามากพอที่จะคิดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขามุ่งเน้นต่อไป

หลังได้รับการลดหย่อนโทษเหลือ 3 ปี และถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมนักโทษการเมืองหลายร้อยคน เขาตรงไปที่สำนักงานสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของ ออง ซาน ซู  จี และเริ่มทำงานในฐานะนักการเมือง 

โก่ เซยา ต่อ ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2012 และกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอายุน้อยที่สุดในรัฐสภา ด้วยวัยเพียง 31 ปี

ถัดจากนั้นเขายุติบทบาทการเป็นนักการเมืองในสภา กลับสู่การเคลื่อนไหวในฐานะศิลปินและประชาชนอีกครั้ง ด้วยการเดินหน้าทำเพลงและงานศิลปะเพื่อหวังว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชาติ เหมือนดังเช่นนักเคลื่อนไหวรุ่นก่อนหน้าได้ปูทางเอาไว้

‘โก่  จิมมี่’ นักเคลื่อนไหวจาก 8888 แรงบันดาลใจของหนุ่มสาว

แม้ไม่ได้เกิดวันเดียวปีเดียวกัน แต่ โก่ จิมมี่ ก็ตายพร้อมกับคนร่วมอุดมการณ์อย่าง โก่ เซยา ต่อ และอีก 2 คนดังที่กล่าวมาแล้ว

โก่ จิมมี่ วัย 53 ปี เป็นหนึ่งในคนที่ปูทางให้กับนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ จากการยืนอยู่แถวหน้าของเหตุการณ์ 1988 หรือกว่า 30 ปีที่แล้ว

‘เหตุการณ์ 8888’ หรือ ‘การประท้วง 8888’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988  นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ในเมียนมา ลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของรัฐบาลพรรคโครงการสังคมนิยม (BSPP) ภายใต้อำนาจของนายพลเนวิน ซึ่งมีกองทัพคอยหนุน

หลังเหตุการณ์ 8888  โก่ จิมมี่ ถูกจับคุมขังตั้งแต่ปี 1988  ถึง 1996 รวม 8 ปีเต็ม ทว่าความจริงอันโหดร้ายของเรือนจำไม่ได้ขัดขวางเขาจากการต่อสู้กับระบอบการปกครองของทหาร เมื่อมีกระแสการประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์ในปี 2007 โก่ จิมมี่ และ หนี่หล่า เตง ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง ได้ระดมพลนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงในเหตุการณ์ 8888 เพื่อเข้าร่วมการรณรงค์ต่อต้านเผด็จการอีกครั้ง ต่อมาเขาถูกจับ และ หนี่หล่า เตง ภรรยาของเขา ก็ถูกจับในปีถัดมา หลังคลอดลูกสาวได้เพียงห้าเดือน ความกล้าหาญของพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเคลื่อนไหวรุ่นต่อมา

ภาพการจับกุม โก่ จิมมี่ ขณะประท้วงบนถนนในย่างกุ้งเมื่อปี 2007 เผยแพร่โดยองค์กรสื่อที่ก่อตั้งโดยผู้พลัดถิ่นเมียนมาในนอร์เวย์ ผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวของเจเนอเรชั่น Z ทุกคนต่างเห็นภาพนั้น การจับกุมตัว โก่ จิมมี่ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและนักเคลื่อนไหวกำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงทางการเมืองในประเทศของตัวเอง  

ไม่เพียงแค่ โก่ จิมมี่ แต่การจับกุมเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวอีกหลายพันคน มันเป็นฉากที่คล้ายกับเคยเกิดขึ้นที่หน้าโรงพยาบาลย่างกุ้ง ในปี 1988 ซึ่ง โก่ เซยา ต่อ เคยสัมผัสมาแล้วก่อนหน้านี้

ต่อมาปี 2012 โก่ จิมมี่ และ หนี่หล่า เตง ได้รับการปล่อยตัวอีกครั้ง ภาพการปล่อยตัวของพวกเขาได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางผ่านสื่อต่างๆ และภาพครอบครัวที่อยู่พร้อมหน้ากันกับลูกสาวของพวกเขาเป็นตัวอย่างของการเสียสละในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ

รัฐบาลทหาร ที่หวาดกลัวอรุณรุ่ง

ในช่วงเวลาของการปฏิรูปการเมืองและการเปิดเสรีอย่างจำกัดในปี 2010 โก่ จิมมี่ ยังคงต่อสู้กับความกลัวต่อไป หลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อปี 2012 โก่ จิมมี่เป็นผู้นำกลุ่ม ‘88 Generation Peace and Open Society’ สหภาพของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคยมีส่วนสำคัญในการประท้วงปี 1988 รวมทั้งองค์กรของนักเคลื่อนไหวรุ่นก่อน ซึ่งทำงานประเด็นต่างๆ มากมาย ตั้งแต่สิทธิแรงงานไปจนถึงกระบวนการสันติภาพ และยังให้คำแนะนำสำหรับนักกิจกรรมที่ยังเป็นนักศึกษารุ่นหลัง

นอกจากนี้ โก่ จิมมี่ และภรรยา หนี่หล่า เตง ยังเป็นผู้ดูแล Peacock Generation ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกของสหภาพนักศึกษาที่แสดง ตั่นจั๊ด (သံချပ်) หรือแรปแบบเมียนมาโบราณ ซึ่งเป็นศิลปะและวาทศิลป์ดั้งเดิมที่ผสมผสานการเสียดสี เย้ยหยัน ตลกขบขันกลบเกลื่อน และการเต้นรำ นิยมจัดแสดงในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่พื้นเมือง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การปกครอง

ปี 2019 สมาชิกกลุ่มตั่นจั๊ด 5 คนถูกจับจำคุก ฐานเล่น ตั่นจั๊ด วิพากษ์วิจารณ์นายพล ตัน ฉ่วย และหนี่หล่า เตง ภรรยาของโก่ จิมมี่ ก็ถูกจับด้วย 

หลังการรัฐประหารปี 2022 ความกลัววนกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้แตกต่างออกไป ฝ่ายค้านได้แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองสามทศวรรษไม่สามารถเข่นฆ่าด้วยกระสุนได้ 

ฝ่ายค้านมีหลายฝักฝ่าย ประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2021 รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานของผลการเลือกตั้ง พันธมิตรของกลุ่มประชาสังคมและองค์กรระดับรากหญ้าจำนวนมาก พรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม ที่ควบคุมอาณาเขตในเมียนมาซึ่งจัดหาและช่วยเหลือสมาชิกฝ่ายค้านให้ได้หลบภัยจากการกดขี่ข่มเหง

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันยังคงเลือกใช้ความรุนแรงเฉกเช่นบรรพบุรษสายเผด็จการของพวกเขา แต่ปฏิบัติการไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่ลงสู่ท้องถนนเท่านั้น แต่รวมถึงผู้เห็นต่างที่เชื่อมถึงกันด้วยโซเชียลมีเดีย

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นักโทษการเมืองใช้เวลาหลายสิบปีในเรือนจำ หลายคนกลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังได้รับการปล่อยตัว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพรรค NLD ของ ออง ซาน ซู จี  ก็ประกอบรวมขึ้นจากอดีตนักโทษการเมือง

นั่นกระมัง ที่ทำให้ SAC มุ่งมั่นที่จะป้องกันการลุกฮือที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยใช้การประหารชีวิตเพื่อขจัดทั้งความทรงจำของความเคลื่อนไหว และอนาคตของประชาธิปไตยในเมียนมา

พวกเขาทำสิ่งที่เคยทำ และกำลังต่อสู้กับความกลัวของตนเอง

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า