นักรบแห่งแสง: เมียนมาสั่งเกษตรกรปลูกดอกทานตะวัน ความเชื่อสายมูแปลว่า ‘อยู่ยาว’

พฤศจิกายน 2022 เกษตรกรในภูมิภาคเอยาวดีหรืออิระวดี ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาภายใต้สภาทหารชุดปัจจุบัน ให้ปลูก ‘ดอกทานตะวัน’ ในฤดูแล้งนี้แทนพืชปกติ แหล่งข่าวท้องถิ่นของเมียนมารายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าพบเกษตรกรตั้งแต่เดือนตุลาคม และบังคับให้เกษตรกรปลูกดอกทานตะวันแทนข้าวและพืชชนิดอื่น เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน มิฉะนั้น ที่ดินของพวกเขาอาจจะถูกรัฐบาลยึด เกษตรกรได้รับคำสั่งให้ซื้อเมล็ดพันธุ์ทานตะวันในราคาถูก โดยไม่มีข้อผูกมัดในการซื้อเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน และไม่ได้ระบุเหตุผลสำหรับคำสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน 

เช่นเดียวกับเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 สื่อท้องถิ่นของเมียนมารายงานว่า ทหารกดดันให้ชาวนาในเมืองชเวจิน ภูมิภาคพะโค ปลูกทานตะวันแทนพืชเศรษฐกิจอื่นในช่วงฤดูแล้ง ชาวนายอมรับด้วยความกลัว แม้รู้ดีว่าจะต้องสูญเสียรายได้ก็ตาม 

เกษตรกรต่างเชื่อกันว่า การบังคับให้ชาวนาที่ปกติปลูกข้าวในที่นาของตนปลูกดอกทานตะวันแทน อาจเป็นเพราะคำแนะนำของโหราจารย์ของหัวหน้าสภาทหารเฉกเช่นนโยบายก่อนๆ ของบรรดานายพลในอดีตก็เป็นได้

เมื่อใดก็ตามที่ผู้เขียนข้อเขียนนี้ได้พูดคุยกับเพื่อนเมียนมา คนไทย หรือเพื่อนต่างชาติที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเมียนมา อดไม่ได้เลยที่จะแนะนำและสนับสนุนให้พวกเขาเปรียบเทียบระหว่างการตัดสินใจทางการเมืองของหัวหน้าสภาทหารกับโหราศาสตร์ หรืออาจเรียกได้ว่า ‘ลัทธิวูดู’ ของเมียนมา 

ความเชื่อโชคลาง โหราศาสตร์ เลขศาสตร์ และหมอดู มีบทบาทสำคัญในสังคมเมียนมา เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่สำหรับนายพลของเมียนมาแล้ว ความเชื่อโชคลางเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในทางการเมืองเท่านั้น มันยังกลายเป็นความหลงใหลที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไร้เหตุผล และบางครั้งก็เป็นการเอาชนะตัวเอง เช่นเดียวกับที่เกษตรกรในภูมิภาคเอยาวดีและพะโคกล้าที่จะถามว่า ทำไมพวกเขาถึงได้รับคำสั่งให้ปลูกดอกทานตะวัน 

อันที่จริงแล้ว ถ้าย้อนกลับไปในสมัยนายพลตัน ฉ่วย พบว่าเคยมีคำสั่งเมื่อปี 2006 ให้เกษตรกรในเมืองวอและเมืองหญ่องเลปิ่น ภูมิภาคพะโค ปลูกพืชละหุ่ง ตอนนั้นให้เหตุผลในทางปฏิบัติว่า เพื่อเป็นการจัดหาน้ำมันสำหรับเชื้อเพลิงทดแทนในประเทศ แต่คนส่วนใหญ่ต่างเชื่อกันว่า นั่นเป็นเพราะนายพลตัน ฉ่วย ต้องการลดอำนาจของออง ซาน ซู จี ในขณะนั้นต่างหาก โดยใช้ละหุ่งเป็นไม้แก้เคล็ด ข่มนาม 

‘ละหุ่ง’ ในภาษาเมียนมา คือ ‘ကြက်ဆူ’ ออกเสียงว่า ‘แจ๊ะก์ สู่’ คำว่า ‘ကြက်’ ตามโหราศาสตร์เมียนมาถือเป็นคำวันจันทร์ ส่วน ‘ဆူ’ เป็นคำวันอังคาร นายพลเชื่อว่าการสลับปรับเปลี่ยนอำนาจของออง ซาน ซู จี สามารถทำได้ โดยการกลับคำตามกำลังของตัวอักษรประจำวันด้วยชื่อพืชชนิดนี้ ชื่อตัวของเธอ คือ ‘စုကြည်’ ออกเสียงว่า ‘ซุ้ จี่’ หรือ ‘ซู จี’ คำว่า ‘စု’ เป็นตัวอักษรประจำวันอังคาร และ ‘ကြည်’ เป็นตัวอักษรประจำวันจันทร์ ซึ่งตามตำราโหราศาสตร์เมียนมา เมื่อสลับกำลังของตัวอักษรดังกล่าวในไม้ข่มนาม เป็นตัวอักษรวันจันทร์นำหน้าตัวอักษรวันอังคารแล้ว จะส่งผลทำให้กำลังอำนาจของเป้าหมายลดลงหรือเสื่อมลงได้ ต่อมาโครงการพืชละหุ่งดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ในปี 2007 นายพลตัน ฉ่วย จึงมีคำสั่งใหม่ ให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวปลูกทานตะวันแทน 

หลังเหตุการรัฐประหารโดยนายพลมิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ได้เกิดแฟชั่นดอกทานตะวัน ผู้หญิงเมียนมาหลายคนนุ่งผ้าลายดอกทานตะวันในช่วงงานเฉลิมฉลองเทศกาล ‘ตะดีนจุ๊ต’ หรือเทศกาลออกพรรษา และเทศกาลตามประทีปในเมียนมา ซึ่งบางคนอาจคิดว่ามันอาจเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ที่แฟชั่นผ้าลายดอกทานตะวันได้รับความนิยมโดยทั่วไป แต่เมื่อพิธีกรรายการโทรทัศน์ MRTV ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพจงใจสวมชุดลายดอกทานตะวัน นั่นอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพียงอย่างเดียวแล้ว

ดอกทานตะวันในภาษาเมียนมาเรียกว่า ‘နေကြာ’ ออกเสียงว่า ‘เหน่ จ่า’ แปลตามศัพท์ได้ว่า ‘ยืนยาว/อยู่ยาว’ ความหมายทางโหราศาสตร์ของคำว่า ‘နေ’ คือ วันเสาร์ (န ตัวอักษรประจำวันเสาร์) มีเลขกำลังวันเป็น 7 และ ‘ကြာ’ คือ วันจันทร์ (က ตัวอักษรประจำวันจันทร์) มีเลขกำลังวันเป็น 2 และเมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันมีผลรวมเท่ากับ 9 ซึ่งเป็นเลขนำโชค 

เกษตรกรต่างเชื่อกันว่า คำสั่งของสภาทหารที่ต้องการให้พวกเขาปลูกทานตะวัน เป็นไปเพื่อสนับสนุนรัฐบาลหทาร ซึ่งปรารถนาจะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยตอบโต้ด้วยการโพสต์ภาพดอกบัวตูมหรือในภาษาเมียนมาเรียกว่า ‘ကြာဖူး’ ออกเสียงว่า ‘จ่า พู’ ซึ่งมีเสียงใกล้เคียงกับประโยคปฏิเสธในภาษาเมียนมาว่า ‘ကြာဘူး / မကြာဘူး’ หรือ ‘จ่า บู’ ‘มะ จ่า บู’ แปลว่า ‘ไม่นาน’ ความเชื่อทางไสยศาสตร์อีกอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงกับคำว่า ‌‘เหน่ จ่า’ คือ ประเพณีการบริจาคอาหารที่มีวุ้นเส้น หรือ ‘ကြာဆံ’ ออกเสียงว่า ‘จ่า สั่น’ ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า ‘ကြာ​စံ’ ออกเสียงว่า ‘จ่า สั่น’ เหมือนกัน แปลว่า ‘คงอยู่’

ในประวัติศาสตร์เมียนมา วัน เวลา ฤกษ์ยาม หน่วยเงินตรา และทรัพย์สินอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนได้ถูกรีเซ็ตตามคำแนะนำของนักโหราศาสตร์ประจำตัวผู้นำรัฐบาลทหาร ผู้นำทหารของเมียนมาทุกสมัยเชื่ออย่างลึกซึ้งในเรื่องโชคลางต่างๆ และเป็นความลับแบบเปิด ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เลขศาสตร์ มนตร์ดำ การสะเดาะเคราะห์

ในยุคของนายพลเน วิน เลข 9 กลายเป็นเครื่องหมายของระบอบการปกครอง แม้แต่หน่วยเงินของประเทศก็เปลี่ยนเป็นจำนวน 9 มีการออกธนบัตรราคา 45 จั๊ด และ 90 จั๊ด หมุนเวียนมาแทนที่หน่วยราคาเงินตราที่มีอยู่อย่างกะทันหันโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าใดๆ แม้แต่คำสั่งให้เปลี่ยนจากการขับรถทางด้านซ้ายของถนนเป็นทางด้านขวาในปี 1970 ก็อาจมาจากคำแนะนำของโหราจารย์ของเขาที่กำลังรู้สึกว่านโยบายของประเทศกำลังเคลื่อนไปทางซ้ายมากเกินไป

หรืออย่างในปี 2009 เลข 11 กลายมาเป็นตัวเลขไสยศาสตร์ของนายพลตัน ฉ่วย ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหนกันแน่ ในเดือนกันยายน 2009 นายพลตัน ฉ่วย สั่งให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 9,002 คน ซึ่งเป็นตัวเลขกลับด้านของปี 2009 อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า จำนวนนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวที่อ้างในสื่อเมียนมานั้นไม่เคยเป็นตัวเลขที่แท้จริง อาจเป็นนักโทษไม่กี่สิบคนหรือหลายร้อยคนก็ได้ แต่ตัวเลขที่ยกมานั้นมักตรงกับคำแนะนำของโหรเสมอ และผลรวมของตัวเลข 9002 คือ 11 (9+2)

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลทหารเมียนมาภายใต้การนำของนายพลตัน ฉ่วย ก็เริ่มตัดสินลงโทษนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญ อย่างเช่น มิน โก่ หนั่ย ซึ่งเป็นหนามยอกอกคนสำคัญของฝ่ายรัฐบาลทหารในขณะนั้น โดยในเดือนพฤศจิกายน (เดือนที่ 11) ปี 2009 ได้รับโทษจำคุก 65 ปี (6+5=11) และคำสั่งจำคุกถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 11.00 นาฬิกา

เห็นได้ชัดว่า แม้แต่การตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐย้ายออกจากกรุงย่างกุ้งไปกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ ในสมัยนายพลตัน ฉ่วย ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน (11-11) เวลา 11.00 นาฬิกา ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเลข 11 ทั้งสิ้น 

ดูเหมือนว่า เลข 11 ซึ่งเป็นเลขประจำตัวของนายพลตัน ฉ่วย จะกลายมาเป็นเลขประจำตัวของนายพลมิน อ่อง หล่าย ลูกศิษย์ของเขาด้วย มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2022 รัฐบาลทหารของนายพลมิน อ่อง หล่าย ประกาศนิรโทษกรรมนักโทษ 5,774 คน (7+4=11) เนื่องในวันหยุดประจำชาติ เพื่อลดแรงกดดันจากนานาชาติ 

ทำไมต้องเป็นเลข 11 นั่นมันทำให้อดคิดไม่ได้อีกเหมือนกันว่า มีการปรึกษาโหราจารย์ก่อนที่จะมีการตัดสินเรื่องเหล่านี้หรือไม่ 

นักโหราศาสตร์เมียนมาชี้ว่า ในพุทธศาสนาของเมียนมามีกล่าวถึง ‘ไฟ 11 กอง’ ในอาทิตตชาดก ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความเกลียด ความหลง การเกิด ความแก่ ความตาย ความเจ็บ ความเศร้า การคร่ำครวญ โทมนัส และความสิ้นหวัง ในบริบททางจิตวิญญาณ เป็นไปได้ว่านายพลเมียนมาไม่ว่าจะในอดีตและปัจจุบันกำลังพยายามป้องกันไม่ให้ ‘ไฟ 11 กอง’ เกิดขึ้นกับพวกเขาหรือไม่ นายพลรู้ดีว่าภายใต้การปกครองของพวกเขา ชาวเมียนมาไม่จำเป็นต้องได้รับการเตือนเกี่ยวกับกองไฟแห่งความทุกข์ทรมานนี้

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปในเมียนมาว่า ผู้นำทางทหารทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายคนมีนักโหราศาสตร์ส่วนตัว และนอกเหนือจากโหราจารย์ส่วนตัวแล้ว ผู้นำทางทหารของเมียนมามักจะคอยติดตามพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในด้านการอ่านลายมือและทำนายอนาคตอย่างใกล้ชิด

ในปี 2002 หลานชายของนายพลเน วิน ถูกจับในข้อหาวางแผนโค่นล้มรัฐบาล อ่อง ปวิ้น ข่อง ซึ่งเป็นโหราจารย์ประจำตัวของนายพลเน วิน ก็ถูกควบคุมตัวเช่นกัน สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นอีกในปี 2004 เมื่อนักโหราศาสตร์ โบ ด่อ ตัน ฮละ ถูกจับกุมพร้อมกับนายพลขิ่น ญุ่น ทั้งคู่ถูกโยนเข้าคุก ตอนนั้นมีข่าวลือแพร่สะพัดในเมียนมาว่านายพลขิ่น ญุ่น ถูกสั่งกักบริเวณอยู่ในบ้าน แต่เขายังคงขอคำแนะนำจากโหราจารย์ผ่านทางผู้ส่งสาร

ปฏิเสธไม่ได้โดยสิ้นเชิงว่า หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารเมียนมาชื่นชอบสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับโชคลางทางไสยศาสตร์เป็นพิเศษ เช่นเดียวกับที่เกษตรกรในภูมิภาคเอยาวดีและพะโคต่างตั้งคำถามและเชื่อกันว่า คำสั่งบังคับปลูกดอกทานตะวันของนายพลมิน อ่อง หล่าย ในปัจจุบัน และนายพลตัน ฉ่วย ในอดีต ต่างมีความเชื่อเรื่องพวกนี้เจือปนอยู่เบื้องหลังด้วยไม่มากก็น้อย

ชาวนาเมียนมารู้ดีว่านโยบายของรัฐบาลทหารเมียนมานั้นค่อนข้างแปลก เมื่อคิดเทียบกับเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ ที่ว่า ถ้าคุณจะปลูกพืชทดแทนการนำเข้าน้ำมันเพื่อการบริโภคในประเทศ ดอกทานตะวันเป็นพืชที่ไม่น่าดึงดูดนัก ในบรรดาพืชน้ำมัน ทานตะวันเป็นอันดับ 3 รองจากงาและถั่วลิสง ในพื้นที่เท่ากัน งาและถั่วลิสงยังจะให้ผลผลิตได้มากกว่าเป็น 2 หรือ 3 เท่าของทานตะวัน และขายได้กำไรดีกว่าอีกด้วย 

มีคำขวัญในสมัยของนายพลมิน อ่อง หล่าย ว่า ‘เพื่อความสำเร็จ จงปลูกทานตะวัน ไม่ว่าคุณจะปลูกอะไร อย่าลืมใส่ดอกทานตะวันด้วย’ แต่ไม่ว่าคำขวัญจะเป็นเช่นไร ดอกทานตะวันก็ไม่สามารถทำกำไรได้ เกษตรกรจึงหยุดปลูกและโครงการนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ต่อมาเกษตรกรถูกบีบบังคับตามรายงานข่าว

ชาวนาเมียนมาในบางเขตถูกบังคับให้ปลูกอะไรก็ตามที่นายพลอาจได้รับคำแนะนำจากโหราจารย์ส่วนตัว เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะอยู่ในอำนาจได้ยาวนานต่อไป แม้ว่านั่นจะหมายถึงการเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมแห่งนี้ให้กลายเป็นสาธารณรัฐทานตะวันหรือสาธารณรัฐกล้วยก็ตาม

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า