การจากลา ความห่างไกล และเสียงที่ไม่ได้ยิน
ตลอดระยะเวลาชั่วโมงกว่าๆ บนหน้าจอสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างเนิบนาบ ไม่รีบร้อน เรื่องราวบนจอกว้างกำลังบอกเล่าความสัมพันธ์ที่ลุ่มลึกระหว่างบุคคลในครอบครัว และความเป็น แม่-ลูก ไกลกว่านั้นยังหยิบการสูญเสีย การจากลา และความเสียใจ แทรกเอาไว้ให้เราได้รู้สึกอีกด้วย
นคร-สวรรค์ เป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงห้วงเวลาสำคัญในบางช่วงชีวิตครอบครัวของ ‘โรส’ (ผู้กำกับ) และ ‘เอย’ หญิงสาวผู้สูญเสียที่กำลังเดินทางไปลอยอังคารที่แม่น้ำในจังหวัดนครสวรรค์
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ฉายให้เห็นโลกของโรส โรสที่เดินทางไกลไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี เมื่อระยะทางเป็นอุปสรรคของความใกล้ชิด เธอจึงใช้วิธีติดต่อกับครอบครัวผ่านการโทรศัพท์ เรื่องราวดำเนินไป กระทั่งแม่ของเธอล้มป่วยหนักขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดก็เสียชีวิต เช่นเดียวกับโลกของเอยหญิงสาวผู้สูญเสียแม่ก่อนเวลาอันสมควร
ระหว่างโลกของโรสและโลกของเอย ถูกแบ่งเป็นสองส่วนอย่าง (ไม่) ชัดเจน นับว่านี่คือความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ว่าได้ เส้นเรื่องที่แทบจะคู่ขนาน ดูไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็เกี่ยวข้อง ดูไม่เชื่อมโยง แต่ก็เชื่อมโยง ที่เป็นแบบนี้ เพราะว่าโลกทั้งสองใบของโรสและเอยมีจุดร่วมกันอยู่ นั่นคือ ‘ความทรงจำเกี่ยวกับแม่’
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์น่าสนใจ คือวิธีเล่าเรื่องที่ควบขนานระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง หากพิจารณาดูแล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยกับตัวเองว่า วิธีการสื่อสารควบขนานเช่นนี้ จะสื่อสารใจความหลักของเนื้อเรื่องส่งมาถึงตัวเอง รวมถึงผู้ชมคนอื่นๆ ได้อย่างเต็มหรือไม่
โรสในฐานะผู้กำกับยืนยันว่าพาร์ทของ fiction แต่งเติมขึ้นมา นั่นหมายถึงพาร์ทของเอยหญิงสาวผู้สูญเสียแม่ก่อนถึงเวลาอันควร เรื่องราวในนั้นยังมีความจริงบางอย่างซ่อนอยู่ เพียงแค่ไม่ได้เล่ามันออกมาตรงๆ โดยที่โรสเป็นคนเล่าเรื่อง คล้ายกับการหยิบยืมคาแรคเตอร์ของตัวละครมาเล่าผ่านความทรงจำที่เกี่ยวกับแม่
ซึ่งการตัดสลับไปมาระหว่าง documentary และ fiction เช่นนี้ ทำให้คนดูแบบเรากระโดดเข้าไปในบันทึกเล่มนี้ของโรสได้อย่างง่าย ส่วนหนึ่งมาจากฟุตเทจที่ใช้ประกอบขึ้นจากวัตถุดิบจริงที่โรสเก็บสะสมในช่วงเวลาที่เธอไปเรียนต่อที่เยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายที่แม่ส่งมา เสียงสนทนาระหว่างเธอกับแม่ ทุกอย่างถูกร้อยเรียง และสานให้เป็นเรื่องราวเข้ากันเป็นอย่างดี จนทำให้เรารู้สึกกับมันอย่างมาก โดยเฉพาะประโยคธรรมดาๆ ที่สื่อสารประมาณว่า ‘คิดถึงแม่นะ’
แม้จะมีข้อกังวลใจมากมายก่อนรับชม เพราะไม่แน่ใจเท่าไรนักว่าหนังจะทำงานได้ดีมากแค่ไหน จะพาถลำลึกไปกับเรื่องราวที่ค่อนข้างส่วนตัวได้หรือไม่ เนื่องจากสารที่ส่งมาล้วนเป็นเรื่องที่เกิดจากตัวโรสเป็นหลัก แต่อาจเพราะความสมจริงและธรรมดาของบท ทำให้ นคร-สวรรค์ ทิ้งกลิ่นจางๆ ชวนทบทวนต่อถึงการจากลาจากบางสิ่งบางอย่าง
พออยู่ไกลจากสิ่งใด ความคิดถึงที่ตามมาก็มักจะกลายเป็นเรื่องของคนไกลเสมอ
การจากลาที่ว่านี้ อาจไม่ได้หมายถึงถูกพรากจากโรคร้ายและความตาย แต่อาจหมายถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการถูกทำให้ห่างไกลจากสิ่งที่รัก เช่น การไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย การไม่ได้ทำอะไรที่ตัวเองชอบ การไม่ได้ขยับตัวหรือความคิดแบบที่ใจต้องการ เพียงแค่คิดพลันให้เกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นทันที แม้เรื่องราวยังอยู่แค่ในหัว
สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกชอบหลังจากรับชมภาพยนตร์จบ คือ ลำดับภาพที่เฉียบคม ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า เราสวมแว่นตาชาวบ้านธรรมดาๆ รับชมหนังเรื่องนี้ ไม่มีความเชี่ยวชาญใดๆ เกี่ยวกับภาพ แสง สี ของสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวบนจอสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงหน้า
เพียงแค่ใช้สัมผัสและความคิดเห็นส่วนตัวเป็นตัวยืนยันและชื่นชมความสวยงามของภาพ มุมกล้อง สี จังหวะการตัดสลับ ที่ถูกยำรวมกันอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านในชีวิตของโรสและเอยในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้เรียกร้องความเศร้าและการฟูมฟาย แต่กลับทำให้เห็นความเรียบง่ายและความเงียบสงบของความตาย ถึงแม้ต้องพบกับความเสียใจแต่ความตายก็คือความตาย, แม่ตายก็คือแม่ตาย
ความตายอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของใครบางคนและเรื่องราวต่อจากนี้คือเรื่องของคนที่อยู่ ทุกอย่างต้องดำเนินต่อไปในลู่ทางของมัน ไม่ว่าในโลกที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น หรือโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ในนั้นเพียงลำพัง
เพราะเราเป็นได้แค่ความทรงจำของคนที่จากไป ไม่ต่างจากเรือลอยอังคารที่แล่นผ่านผืนน้ำ เมื่อลอยความตายผ่านไป ภายใต้แม่น้ำใน นคร-สวรรค์ ก็จะกลับมานิ่งเฉื่อยอีกครั้งเหมือนเดิม
นคร-สวรรค์ ภาพยนตร์โดย พวงสร้อย อักษรสว่าง |