ในบางบรรทัดประวัติศาสตร์ ศักดินาคือศัตรูของชาติ

แม้ว่าปัญญาชนอนุรักษนิยมและปัญญาชนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบใดเลยจากการเปลี่ยนแปลงสู่ ‘ระบอบใหม่’ กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2490 ที่นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของฝ่ายนิยมเจ้าในปี 2492 และการนำรัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับที่ 2 มาใช้ใหม่ ล้วนคงความคิดเรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรที่ถูกสถาปนาลงในรัฐธรรมนูญเอาไว้ เช่นเดียวกับนิยามเรื่องชาติไทยก็กลายมาเป็นความทรงจำร่วมของคนในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม ในตอนที่สามนี้ นำเสนอความอิหลักอิเหลื่อและความยอกย้อนของสิ่งที่เรียกว่า ‘ชาติ’ ในต้นพุทธศตวรรษที่ 2500 ซึ่งมีบริบทที่สำคัญรองรับทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ กล่าวคือประเทศไทยตกอยู่ในกระดานสงครามเย็น พร้อมๆ กับการขึ้นสู่อำนาจของเผด็จการทหาร ‘สฤษดิ์ ถนอม ประภาส’ ที่กินเวลายาวนานนับทศวรรษ ก่อนจะถูกขบวนการนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในทศวรรษที่ 2510 โค่นล้มโดยมีแนวคิดชาตินิยมเป็นหนึ่งในแรงขับดันที่สำคัญ ทว่าความหมายของชาติในการเคลื่อนไหวครั้งนั้นกลับมีความหมายที่ผสมผสานจากหลายปีกอุดมการณ์อย่างไม่น่าเชื่อ   

ปัญญาชนฝ่ายซ้ายรื้อมายาภาพว่าด้วย ‘ภาษา’

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2500 อิทธิพลของความคิดปัญญาชนฝ่ายซ้ายอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเสนอเรื่อง ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ’ ให้เริ่มปรากฏขึ้นมา งานชิ้นนี้ของจิตรย้อนกลับไปวิวาทะในประเด็นเรื่องภาษาซึ่งเคยเป็นเกณฑ์จำแนกว่าใครคือ ‘คนไทย’ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้เสนอความคิดในทางเดียวกับ ปรีดี พนมยงค์ ในแง่การหาความหมายหรือที่มาของชื่อประเทศเท่านั้น แต่เขาทำมากกว่า

จิตรรื้อถอนวาทกรรมกระแสหลักในการสร้างความรับรู้ให้แก่สังคมไทยของชนชั้นนำ และกลุ่มปัญญาชนหัวอนุรักษ์ที่มีต่อจินตภาพเรื่อง ‘เชื้อชาติไทย’ ไม่ว่าจะเป็นงานของหลวงวิจิตรวาทการที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย หรืองานของพระยาอนุมานราชธนเรื่องของชาติไทย รวมทั้งงานของ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล เรื่อง ‘สยาม หมายความว่ากระไร ?’

การรื้อถอนความหมายว่าด้วยชาติกระแสหลักนี้กระทำไปใน 2 ทิศทาง ประการแรกคือ การย้อนไปอธิบายความเห็นของบรรดากลุ่มคนที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกว่าเป็นปัญญาชนรุ่นเก่า ในช่วงที่มีการเปลี่ยนการใช้ชื่อคำว่า ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ อาทิ การปฏิเสธการที่นักปราชญ์ทางพงศาวดารและประวัติศาสตร์ในอดีตสืบสาวหาที่มาของคำสยาม โดยยึดติดกับภาษาบาลีและสันสกฤตอันเป็นภาษาของชนชั้นสูง เช่น งานของ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล และ ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่

นอกจากนี้ยังรื้อถอนมายาคติของความรู้ที่ถูกสร้างโดยนักวิชาการตะวันตกด้วย วิธีการสร้างโครงเรื่องอธิบายความเป็นมาของชนชาติ ไท-ไต ของ จิตร ภูมิศักดิ์ มีความแตกต่างจากนักเขียนหรือนักวิชาการตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้อ้างอิงให้กับงานของกลุ่มอนุรักษนิยม เช่น งานของ พอล เบเนดิคต์ (Paul Benedict) นักนิรุกติศาสตร์ชาวอเมริกัน เขียนเรื่อง Thai, Kadai and Indonesia a New Alignment in Southeast Asia ซึ่งเป็นงานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชาติวงศ์ของชาวเอเชียอาคเนย์ หรืองานของ วิลเลียม ดอดด์ (William Clifton Dodd) ผู้เขียนหนังสือที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันดี และถูกปัญญาชนอนุรักษนิยมนำไปใช้อย่างแพร่หลาย คืองานเขียนเรื่อง The Tai Race: Elder Brother of the Chinese, Results of Experience, Exploration and Research

ในทัศนะของจิตร รวมถึงปัญญาชนหัวก้าวหน้าอื่น เช่น ‘ทวีปวร’ หรือ ทวีป วรดิลก เสนอว่ารากฐานของ ‘ชาติ’ มาจากคนกลุ่มหลากหลายชาติพันธุ์ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ ‘ชาติ’ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ‘ชาติไทย’ ที่มีเฉพาะภาพของกษัตริย์ผู้ปกครองเท่านั้น งานเขียนนี้ชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ไทยที่มีที่มาจากประชาชนที่เป็นรากหญ้าของแผ่นดินต่างหาก ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญของชาติ มิใช่พระมหากษัตริย์หรือชนชั้นผู้ปกครอง ดังจะขอสรุปด้วยบทกวีของ ‘ทวีปวร’ ที่เขียนลง อักษรสาส์น ว่า

ประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่ไหนเล่า ได้แต่เฝ้าใฝ่จิตต์คิดกังขา
อ่านประวัติคิดเขียนพากเพียรมา ช่างไร้สาระแห่งศาสตร์อนาถใจ…
ล้วนแต่วาด “ราชประวัติ” จัดมาอ้าง โกหกบ้างจริงบ้างต่างขานไข
ชีวิตผองของคนบนแดนไทย ไม่เคยได้เปิดเผยหรือเอ่ยกัน (น.267)

ในแง่นี้ โสภา ชานะมูล จึงสรุปรวบยอดไว้ว่าการขุดค้นหาร่องรอยของคำว่า ‘สยาม’ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ คือการพยายามค้นหาอัตลักษณ์ของ ‘ชาติไทย’ โดยการหาความหมายของคำว่า ‘สยาม’ ซึ่งอาจเรียกวิธีการที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้ว่าเป็นการขุดค้นหาร่องรอยที่ซ้อนทับอยู่ในตัวบริบทของภาษา (linguistics context) หากพิจารณางานเขียนประวัติศาสตร์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสำนึกร่วมในงานทุกชิ้นของเขาคือ สำนึกของการเป็น ‘ชาติ’ ที่เกิดจากการมีลักษณะ ‘อัตลักษณ์’ ที่มีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรมและผู้คนที่หลากหลายเชื้อชาติมาอยู่ร่วมกัน ‘ชาติ’ ที่ประกอบขึ้นจึงไม่ได้มี ‘อัตลักษณ์’ เดียวแต่อย่างใด (น.269)

เช่นเดียวกับปัญญาชนหัวเสรีนิยม อย่าง มาลัย ชูพินิจ เสนอแนวคิดว่าด้วยการรื้อถอนความรู้สึก ‘รักชาติ’ ที่ฝ่ายรัฐสร้างสรรค์โฆษณามาในทศวรรษ 2480 ดังที่มาลัยเองเห็นว่า

ในปัจจุบันลัทธิชาตินิยมอย่างแรงกล้าซึ่งควรจะดับสูญไปแล้วนั้น ควรจะปลุกเสกขึ้นอีกหรือไม่ และเราจะให้ประชาชนพลเมืองของเราเดินไปทางไหน… ชาตินิยมอย่างที่เราเคยผิดพลาดมาแล้วครั้งหนึ่ง หรือว่าอุดมคติของการร่วมมือเพื่อสถานภาพของมนุษยชาติโดยส่วนรวมไม่ใช่มุ่งอยู่เพียงชาติของเราถ่ายเดียวเท่านั้น คติที่ว่าเป็นของโลกก่อนแล้วเปนพลเมืองของประเทศที่หวัง…แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่น่าจะปลุกเสกชาตินิยมขึ้นมาอีกในยุคปัจจุบัน…

ในแง่นี้ มาลัย ชูพินิจ จึงเขียนงานเชิงเสียดสีวิธีการสร้างความรักชาติของหลวงวิจิตรวาทการ ผู้มีอิทธิพลในการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมเชิงปลุกใจว่า

…ความรักชาติสำหรับไทยเราบางคน เริ่มต้นและลงเอยด้วยการร้องเพลงชาติเท่านั้นเองหรือ? ความจงรักภักดีต่อชาติไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการเสียสละแบบพระเอกในละครหรือบทร้องเพลงเสมอไป… (น.281)

เมื่อศัตรูของชาติคือ ‘ศักดินา’

หลังจากที่ความคิดฝ่ายก้าวหน้าแพร่หลายมากขึ้น ความหมายของของชาติแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ขจรขจายออกไปยังปัญญาชนหน้าใหม่โดยเฉพาะช่วงคาบเกี่ยวระหว่างพุทธทศวรรษ 2500 จากมุมมองกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้า (ทั้งปีกสังคมนิยมและเสรีนิยม) จึงเสนอว่าไม่จำเป็นต้องรักชาติตามสูตรสำเร็จที่ฝ่ายรัฐปลุกเร้า แต่จะต้องเป็นความรักชาติที่ไม่นำไปสู่การรุกรานและการทำสงครามกับชาติอื่น (น.283-284) ท่ามกลางการแทรกแซงการเมืองภายในของไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารในหลายประเทศรวมถึงไทยในการต่อสู้กับกลุ่มประเทศในโลกสังคมนิยม

อัศนี พลจันทร หรือ ‘นายผี’ เป็นอีกหนึ่งคนที่ชี้ให้เห็นว่าหนทางสุดท้ายของ ‘ชาวไทย’ ที่ภาวะ ‘ชาติไทย’ ตกอยู่ท่ามกลางอำนาจเผด็จการและการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนไทยไม่มีสิทธิคัดค้าน เขาจึงเสนอบทกวี หลับเถิดชาวไทย ซึ่งเป็นบทกวีเสียดสีภาวการณ์เมืองไทยที่ปราศจากความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งบทกวีที่เพรียกหาสันติภาพและความเป็นกลางใน ‘สันติอยู่ไหน?’ และ ‘ความเป็นกลาง’ ‘ลูกมือคือลูกตีน’ ใน ปิยมิตร (วันจันทร์) 2501 นอกจากนี้ ‘ทวีปวร’ ก็เขียน ‘แยงกี้โกโฮม ‘ ‘ปิตุภูมิ 2499’ และ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนเพลงปลุกเร้าเช่น เพลง มาร์ชกรรมกร มาร์ชเยาวชน มาร์ชชาวนาไทย  วิพากษ์ผลพวงของนโยบายรัฐที่ประกาศเป็นศัตรูกับเพื่อนบ้าน การดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแบบสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันบทกวีของเขาก็มุ่งบรรยายภาพความทุกข์ยากของกรรมกร ชาวนาชาวไร่ เป็นต้น (น.308-309)

เช่นเดียวกัน การวิพากษ์เรื่องเศรษฐกิจของกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าเองก็ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากทฤษฎีมาร์กซิสต์ โดยเฉพาะแนวคิด ‘กึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินา’ ซึ่งเป็นงานที่ อรัญญ์ พรหมชมพู พิมพ์ออกมาในปี 2493 และส่งอิทธิพลต่อปัญญาชนรุ่น 2490 โดยเฉพาะแตกยอดออกไปอีกในปี 2500 ดังจะเห็นได้จากบทความจำนวนหนึ่งในหนังสือ นิติศาสตร์รับศตวรรษใหม่  (น.329-330)

ด้วยเหตุนี้ โสภาจึงเห็นว่าความหมาย ‘ศัตรูของชาติ’ ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า มีสองความหมายใหญ่ อย่างแรกหมายถึง ‘ระบบศักดินา’ อันเป็นระบบที่เป็นตัวการสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชาติ ‘ระบบศักดินา’ ในที่นี้มีนัยถึงระบบที่ให้อำนาจและอภิสิทธิ์แก่คนบางกลุ่มเท่านั้นคือ กลุ่มชนชั้นปกครอง ที่สามารถกอบโกยผลประโยชน์และครอบครองทรัพยากรของชาติเอาไว้ในกลุ่มของตนเอง และหมายถึงระบบราชการที่กลไกอำนาจรัฐได้เกื้อหนุนบริวารของตน ขณะเดียวกันก็ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม (น.332)

ความหมายที่สอง ‘ศัตรูของชาติ’ ในทศวรรษ 2490 คือ ‘จักรพรรดินิยม’ หรือที่กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าบางคนเรียกว่า ‘จักรวรรดินิยม’ คำว่า ‘ศัตรูของชาติ’ ที่กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าเริ่มใช้มากขึ้นในช่วงท้ายทศวรรษ 2490 เกิดขึ้นในช่วงที่ผลของสนธิสัญญาที่ไทยกับสหรัฐอเมริกาเซ็นไว้เมื่อปี 2493 ดังปรากฏในบทความ ปิตุภูมิ ว่า

…แต่ก่อนคำว่า ‘ผู้ใดแอนตี้อเมริกา ผู้นั้นคือคอมมิวนิสต์’ ได้เป็นบรรทัดฐานในการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว มาบัดนี้ โดยความสำนึกของคนทั่วๆ ไป จะเห็นว่า ผู้ใดเชียร์อเมริกา ผู้นั้นอย่างน้อยก็ทอดตัวเป็น ‘ขี้ข้า’ ฝรั่ง อย่างหนักก็จะเป็น ‘ผู้ขายชาติ’

รัฐประหาร 2500 กำเนิดระบอบสฤษดิ์ ถนอม ประภาส และจบลงด้วยการโค่นล้มโดยพลังคนหนุ่มสาว

จนกระทั่งการรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2500 นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามเย็นที่ร้อนระอุมากยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาเองยังคงเป็นผู้อุปถัมภ์รัฐบาลทหารรายใหญ่ อีกทั้งยังได้ช่วยก่อรูปเผด็จการทหารขึ้นมาโดยที่ผู้นำกองทัพไทยอ้างว่าการปกครองโดยทหารนั้นจำเป็นในการปกครองประเทศจากลัทธิคอมมิวนิสต์ การต่อสู้ว่าด้วยนิยามเรื่องชาติในเวลานี้จึงแหลมคมมากขึ้นยิ่งกว่าครั้งใด

ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516) ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้อธิบายว่าความช่วยเหลือด้านการทหารจากอเมริกาและการสร้างฐานทัพบนผืนแผ่นดินไทยถูกทางการอธิบายว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ดำเนินการโดยรัฐต่างป่าวประกาศเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า

ประเทศไทยเสี่ยงที่จะพ่ายแพ้ต่อการขยายตัวของคอมมิวนิสต์จากประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ในเรื่องเล่าอย่างเป็นทางการของรัฐจุดมุ่งหมายของประเทศคือการพิทักษ์รักษาอิสรภาพและอธิปไตยของชาติ ศัตรูของชาติคือประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งคนไทยที่เห็นพ้องกับลัทธิคอมมิวนิสม์ก็คือคนทรยศขายชาติ (น.124)

โฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นกระทำไปพร้อมกับการปราบปรามประชาชนอย่างเข้มงวดในรัฐบาล ‘จอมพลผ้าขาวม้าแดง’ สืบทอดมาจนถึงรัฐบาลจอมพลถนอม กิติขจร ด้วยข้ออ้างจากทางการนี้เอง สิ่งที่เกิดควบคู่ขนานตามมาคือการต่อสู้นิยามเรื่อง ‘ชาติ’ จากขบวนการนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในทศวรรษที่ 2510 เมื่อเหล่าคนหนุ่มคนสาวกลับไปควานหาความหมายของคำว่าชาติของปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคก่อนเผด็จการทหารเรืองอำนาจ เพื่อใช้ตอบโต้กับการปกครองที่กดขี่ข่มเหง

ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอว่า ขบวนการนักเรียนนักศึกษา เมื่อต้นทศวรรษที่ 2510 หรือ ‘ขบวนการ 14 ตุลาฯ’ นั้น มีอย่างน้อย 4 กระแสความคิดที่นำมาใช้เคลื่อนไหวต่อสู้ คือ แนวคิดซ้ายใหม่ ชาตินิยมของขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ต่อต้านเผด็จการทหาร และวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตย ขบวนการ 14 ตุลาฯ ได้กลับไปรื้อฟื้นวาทกรรมสังคมนิยม พร้อมๆ กับการคัดค้านสงครามอินโดจีน ปกป้องอธิปไตยของชาติจากชาติมหาอำนาจ การต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม

ปัจจัยที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ 2 ค่ายอุดมการณ์ที่ส่งผลต่อการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา ดังตัวอย่างในเรื่องวิกฤติในลาวกับการเข้าพัวพันในสงครามอินโดจีน: คำอธิบายเรื่อง ‘ศัตรูข้างบ้าน’, การ ‘ป้องกันตัวเอง’ และ ‘มหามิตร’ (น.123) ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศที่เดินตามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐได้เปิดศึกกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่ายุคใด มีการเปิดพื้นที่ในประเทศให้รัฐบาลวอชิงตันเข้ามาตั้งฐานทัพการบินขนาดใหญ่พร้อมกับการที่รัฐบาลทหารใช้โฆษณาชวนเชื่อผลิตชุดคำผ่านชุดภาษาชาตินิยมทางการ

บ่อยครั้งผู้นำของทหารจะใช้คำปราศรัย การให้โอวาท และการพูดในที่ต่างๆ เพื่อย้ำว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลกและประจักษ์ชัดในประเทศเพื่อนบ้านของไทย และในอินโดจีน ในการโฆษณานั้นได้ผูกโยงกันเป็นชุดคำอธิบายหรือวาทกรรมที่ได้รับการรองรับด้วยอำนาจของสถาบันต่างๆ ของรัฐ และถูกใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤตการณ์ในลาวต่อเนื่องไปยังสงครามเวียดนาม โดยได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ ของรัฐ

ดังตัวอย่าง การกำหนดหลักการให้สถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งหมดกว่า 70 สถานี (ตัวเลข ณ ปี 2507 สถานีทั้งหมดเป็นของราชการ และในจำนวนนี้ 50 สถานีเป็นของกองทัพบก) ปรับปรุงแก้ไขการจัดรายการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้วยการ ‘ร่วมมือโฆษณาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผ่านการสอดแทรกรายการเป็นโฆษณาต่อต้าน หรือเป็นบทความ หรือเป็นการแสดงบันเทิงต่อต้าน’ (น.138)

ถึงกระนั้นก็ตาม เกิดกระแสตื่นตัวต่อปัญหาสงครามเวียดนาม การค้นคว้าและติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารจากวารสารและนิตยสารต่างประเทศ ปัญญาชนและนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่งก็ได้สัมผัสกระแสความคิดใหม่จากตะวันตกที่กำลังแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น นั่นก็คือ ความคิดซ้ายใหม่ (New Left) คำศัพท์ของฝ่ายซ้ายใหม่ได้รับการถ่ายทอดตีพิมพ์ในนิตยสารทางปัญญาชนของไทยและแพร่เข้าสู่แวดวงมหาวิทยาลัยด้วย แต่ทว่าความคิดที่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่นี้ ด้านหลักที่ได้รับความสนใจจากปัญญาชนไทยมิใช่การถกเถียงทางแนวคิดปรัชญาหรือทฤษฎีอันเข้มข้นของความคิดซ้ายใหม่กับลัทธิมาร์กซ์ หากเป็นความคิดเรื่องพลังนักศึกษา (student power) การขบถและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาวเป็นประการสำคัญที่สุด (น.240)

ความคิดนี้พบได้ผ่านสิ่งตีพิมพ์ชนิดต่างๆ อาทิ กระแสต่อต้านสงครามในวรรณกรรม กาพย์กลอน เรื่องสั้น นิยาย เป็นต้น โดยทั้งหมดเคลื่อนไหวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย โดยรวบยอดเป็นการคัดค้านสงคราม ต่อต้านรัฐบาล และกระแสชาตินิยม ที่อันหลังสุด ที่ประจักษ์เรียกว่า ‘ชาตินิยม นักศึกษาประชาชน’ ซึ่งมีความแตกต่างกับ ‘ชาตินิยมราชการ’ ทั้งในแง่ความหมายและองค์ประกอบ (น.306)

เราจะพบว่ากระแสฝ่ายซ้ายในช่วงเวลาก่อน 14 ตุลาฯ ถือเป็นกระแสหนึ่งในขบวนการ 14 ตุลาฯ และมีชุดคำในการต่อต้านรัฐบาลของจอมพลถนอมต่างๆ มากมาย อาทิ ‘ขี้ข้าอเมริกา’ หรือ ‘สมุนจักรพรรดินิยม’ ‘ฝรั่งต่างชาติมะริกันผู้รุกราน’ และทั้งสองกลุ่มได้ผูกโยงเข้าหากันว่าเป็นพวก ‘อเมริกา-ถนอม’ ฝ่ายแรกเป็นผู้รุกรานชาติไทยโดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายหลังว่าเป็นผู้ ‘ขายชาติ’ (น.173)

สิ่งที่พึงตระหนักคือ การเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นักศึกษาในต้นทศวรรษ 2510 แสดงให้เห็นความผสมผสานจากความหลากหลายทางอุดมการณ์ เพราะขณะที่ปีกหนึ่งกลับไปใช้แนวคิดเรื่องชาติของปัญญาชนฝ่ายซ้าย อันเป็นกระแสสำคัญที่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการทหารอันปรากฏมาเพื่อตอบโต้กับชาตินิยมทางการของรัฐบาลทหาร

แต่อีกปีกหนึ่งของขบวนการก็ได้นำความคิดกษัตริย์นิยมมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน ความคิดนี้ก่อตัวท่ามกลางกระแสยกย่องเชิดชูบทบาทสถาบันกษัตริย์ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างนักศึกษากับสถาบันในทศวรรษที่ 2500-2510 พวกเขาหันกลับไปรื้อฟื้นอดีตและให้ความหมายใหม่แก่สถาบันกษัตริย์ว่า เป็นทั้งราชาชาตินิยมที่พาประเทศชาติพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม และเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเกิดการหลอมรวมเป็นวาทกรรมราชาชาตินิยมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และวิพากษ์ระบอบเผด็จการทหารที่ฉ้อฉล จนโค่นล้มระบอบเผด็จการสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ในการเคลื่อนไหวใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

มรดกของการต่อสู้ครั้งนั้นส่งผลอย่างไรในเวลาต่อมา ในตอนหน้าเราจะพิจารณาพลังของคำว่า ‘ชาติ’ ในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่ยังไม่ได้คลี่คลายลงแต่อย่างใด หากแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ทั้งน่าชื่นชมและแสนจะน่าชิงชัง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า