คู่มือตรวจสุขภาพฉบับประชาชน: เอาชนะ ‘โรคไม่ติดต่อ’ อย่างง่ายด้วยตนเอง

โรคภัยไข้เจ็บที่คุกคามสุขภาพผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุด ไม่มีอะไรเทียบเท่า ‘โรคไม่ติดต่อ’ หรือ Non-communicable Diseases (NCDs) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าโรคติดเชื้อมากมายหลายเท่า เพราะโรคที่ว่านี้นอกจากจะเป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามาในชีวิตเราอย่างช้าๆ แล้ว โดยมากยังนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค

ตัวอย่างของกลุ่มโรค NCDs ยอดฮิตที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ

ในประเทศไทย ยอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละปีอยู่ที่ 500,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 350,000 คน หรือราว 70 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตด้วยโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของคนไทย

‘โรคไม่ติดต่อ’ จึงเป็นโรคแห่งยุคสมัยที่เราทุกคนควรรู้เท่าทันก่อนจะสายเกินแก้…

แต่ก่อนจะหันไปพึ่งหมอ เคยถามตัวเองไหมว่า เราดูแลสุขภาพตัวเองดีพอหรือยัง และภายใต้คำถามง่ายๆ แค่นี้ก็ยังมีข้อสงสัยตามมาอีกว่า แล้วเราควรมีวิธีตรวจสอบสุขภาพตัวเองอย่างไร ต้องปฏิบัติแค่ไหนถึงจะพอ

จากประสบการณ์การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อดีตหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พยายามคิดหาวิธีการสื่อสารองค์ความรู้ทางการแพทย์ไปยังประชาชนด้วยการแปลงเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย โดยมีเคล็ดลับและแนวทางปฏิบัติที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง

 

NCDs โรคแห่งยุคสมัย

คำจำกัดความของ NCDs สำหรับ ผศ.นพ.สมเกียรติ ให้นิยามว่า เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเราเพียงปลายลิ้น เพราะโดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการกินอยู่

“ผมเรียกว่าเป็นโรคไม่ติดต่อที่ ‘ไม่พอเพียง’ จึง ‘เพลิดเพลิน’ และ ‘พอกพูนสะสม’ ชื่ออาจยาวไปหน่อย แต่อธิบายได้ว่าโรคนี้เป็นมาอย่างไร”

คุณหมอยกตัวอย่างเช่น ‘เบาหวาน’ เกิดจากการสะสมน้ำตาล เมื่อเราบริโภคน้ำตาลมากเกินไปโดยที่ร่างกายใช้ไม่หมด จึงทำให้เกิดการสะสมน้ำตาลในเลือดสูง และนำไปสู่ความพิการของอวัยวะต่างๆ

‘ความดัน’ เกิดจากการพอกพูนสะสมของหลายปัจจัย ทั้งสะสมความอ้วน สะสมโซเดียม สะสมความเครียด จึงทำให้ความดันโลหิตสูง

‘ไขมันไม่ดี’ หรือ LDL (Low Density Lipoprotein) ถ้าสะสมมากไป หรือร่างกายเผาผลาญไม่หมด ไขมันเหล่านี้จะสะสมพอกพูนอยู่ตามหลอดเลือด ภาวะเหล่านี้เมื่อสะสมต่อเนื่องนานวันเข้า ประกอบกับความดันสูง ส่งผลให้หลอดเลือดปริแตก ร่างกายจะผลิตลิ่มเลือดไปปิดปากแผล ทำให้หลอดเลือดสมองและหัวใจตีบ ตัน แตก และตาย

เช่นเดียวกับ ‘มะเร็ง’ ก็เกิดจากการสะสมสารพิษ สารก่อมะเร็ง เมื่อภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถขจัดเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้ได้หมด ทำให้สะสมพอกพูนจนเกิดเป็นมะเร็งร้าย

ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 ผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน 6.9 เปอร์เซ็นต์ (2552) เป็น 8.9 เปอร์เซ็นต์ (2557) โรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจาก 21.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 24.7 เปอร์เซ็นต์ และภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน 30.7 เปอร์เซ็นต์ และ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เช่นเดียวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต และโรคมะเร็งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“โรคเหล่านี้ในเมืองไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งที่บุคลากรสาธารณสุขทำงานสร้างเสริมสุขภาพมาโดยตลอดกว่า 20-30 ปี แต่ก็ยังไม่พอ ยังไม่ทัน เพราะโรค NCDs ไม่มีวันหยุด เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกนาที ไม่ว่าเราตื่นหรือหลับ เพราะเราบริโภคทุกวัน เมื่อบริโภคแล้วใช้ไม่หมดก็สะสมในตัวเรา แม้แต่สารพิษหรือสารเคมีจากภายนอกก็สะสมได้ถ้าร่างกายกำจัดไม่หมด พูดง่ายๆ คือการเข้า-ออกไม่สมดุลกัน”

3 อ. 2 ส. ต้นตอความเจ็บป่วย

หากสาวให้ลึกลงไปถึงต้นเหตุที่ทำให้คนเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตจาก NCDs ผศ.นพ.สมเกียรติ ได้ขมวดไว้เป็นกลุ่มคำย่อที่จดจำง่ายๆ ว่า ‘3 อ. 2 ส.’

อ.1 – อร่อยเกิน คือ หวานเกินไป มันเกินไป เค็มเกินไป รสจัดเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สะสมพอกพูนในร่างกายเรา

อ.2 – อยู่สบายเกิน คนสมัยปัจจุบันเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ออกแรงกันน้อยลง

อ.3 – เอาแต่ใจเกิน มนุษย์เรามักเอาแต่ใจ เมื่อไม่ได้ดั่งใจจึงทำให้เกิดความเครียด และความเครียดนั้นส่งผลต่อสุขภาพตามมา

คุณหมอสมเกียรติอธิบายเพิ่มว่า ความเครียดของมนุษย์เรามีอยู่ 2 แบบ

1) คิดฟุ้งซ่าน เพราะความอยากได้ อยากมี อยากเป็น เมื่อไม่ได้ดั่งใจจึงทำให้เครียด ฟุ้งซ่าน หนักเข้าก็หาทางออกด้วยการกิน กินจนอร่อยเกิน อยู่สบายเกิน ยิ่งเครียดยิ่งกิน ยิ่งกินยิ่งนอน ฉะนั้น ภาวะจิตใจกับร่างกายและการใช้ชีวิตจึงเกี่ยวโยงกัน

2) เซ็งซึมเศร้า เมื่อไม่ได้ดั่งใจแล้วแก้ปัญหาไม่สำเร็จ นานวันเข้าก็เซ็ง พอเซ็งแล้วก็กิน ซึ่งภาวะความเครียดทั้งสองแบบนี้โยงไปถึง 2 ส. คือ สูบบุหรี่ และดื่มสุรา

“ต้นเหตุของการเกิดโรค NCDs คือ 3 อ. 2 ส. แต่ยังมีเหตุปัจจัยที่ลึกไปกว่านั้นอีก ถ้าถามว่า NCDs เกิดจากอะไร คำตอบเดียวคือ ‘เพลิน’

“ถามว่าทำไม ก็เพราะว่าถ้าเราอร่อยเพลิน เราก็จะกินเกิน ถ้าเราอยู่สบายเพลิน เราก็จะขี้เกียจเกิน ถ้าเราเอาแต่ใจเพลิน ก็จะเครียดเกิน ทุกอย่างต้องได้ดั่งใจ ถ้าสุขเพลินก็สูบบุหรี่ สบายเพลินก็ดื่มสุรา หาความสุขที่คุณดื่มได้ ทุกอย่างล้วนมาจากความเพลินทั้งสิ้น” ผศ.นพ.สมเกียรติ บอก

ฟังดูเหมือนหลักธรรมคำสอนทางศาสนาอันเป็นสัจธรรมเที่ยงแท้แน่นอน ซึ่งหมอสมเกียรติเองยอมรับว่า ทั้งหมดนี้ได้มาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยนำมาประยุกต์เข้ากับความรู้ทางการแพทย์

“ถามว่าผมเอาหลักคิดนี้มาจากไหน เอามาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนว่า ความเพลินเกิด ทุกข์จึงเกิด ความเพลินดับ ทุกข์จึงดับ ถ้าเราดับความเพลินได้ ก็หมายความว่าเรากลับมามีสตินั่นเอง”

‘สติ’ ในความหมายของหมอสมเกียรติคือ การรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ว่ากินอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร กินเข้าไปแล้วร่างกายใช้หมดหรือไม่ หากใช้ไม่หมดก็จะปรากฏสัญญาณบ่งชี้วัดให้ทราบว่า เรากำลังใกล้จะเป็นโรคใดโรคหนึ่งแล้ว

แล้วอะไรล่ะคือตัวชี้วัดที่ว่านั้น?

รู้ทันโรคด้วยตัวเราเอง

ก่อนที่ใครสักคนจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต อาจมีเพียงหมอหรือพยาบาลประจำคนไข้เท่านั้นที่รับรู้สัญญาณเหล่านี้ แต่สำหรับตัวผู้ป่วยเองในฐานะที่เป็นเจ้าของโรค เจ้าของร่างกาย กลับไม่ทราบเลยว่า ควรจะตรวจสอบสุขภาพตัวเองอย่างไรก่อนที่จะล้มป่วยด้วยโรค NCDs ปัญหาเหล่านี้จึงเกิดเป็น ‘ช่องว่าง’ ในการสื่อสารองค์ความรู้ไปสู่ประชาชนทั่วไป

“ที่ผ่านมาแม้เราจะรณรงค์เรื่อง 3 อ. 2 ส. รณรงค์เรื่องการออกกำลังกาย เรื่องบุหรี่ สุรา ทำกันมา 20-30 ปี ถามว่าชาวบ้านรู้ไหม ส่วนหนึ่งอาจจะรู้ แต่ส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านไม่รู้คือ ถ้าทำแบบนี้แล้วจะส่งผลดีอย่างไร ทำแค่ไหนจึงจะพอ แค่ไหนจึงจะลดโรค ลดเสี่ยง ชาวบ้านรู้แต่เพียงว่าต้องกินอาหารตามที่หมอบอก แต่ไม่รู้เลยว่าแค่ไหนถึงจะเหมาะสม” เป็นคำถามตั้งต้นที่ ผศ.นพ.สมเกียรติ พยายามค้นหาคำตอบ และคำตอบที่คุณหมอค้นพบได้นำไปสู่ทางออกคือ การสร้างตัวชี้วัดสำหรับภาคประชาชน

“เพราะ NCDs เป็นโรคที่ไม่มีวันหยุด มันเกิดขึ้นได้ทั้งยามหลับและยามตื่น ฉะนั้น เราต้องมีตัวชี้วัดให้ชาวบ้านตรวจสอบตัวเองได้ เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เพื่อให้เขารู้ว่าวันนี้สุขภาพเขาดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าวันก่อน และรู้ว่าควรจะปรับพฤติกรรมอย่างไร”

 

‘นคร’ : ตัวชี้วัดทางกาย

หนึ่งในวิธีการตรวจประเมินสุขภาพด้วยตนเอง ผศ.นพ.สมเกียรติ ได้กำหนดไว้เป็นแนวปฏิบัติที่จดจำง่ายๆ เรียกว่า ‘นครสวย’

‘น-ค-ร’ คือ น้ำหนัก ความดัน รอบเอว เป็น 3 สิ่งสำคัญที่ประชาชนสามารถตรวจวัดด้วยตัวเอง เช่น ชั่งน้ำหนักทุกสัปดาห์ วัดความดันทุกวัน วัดรอบเอวทุก 2-3 เดือน ซึ่งแต่ละคนจะมีมาตรฐานตัวเลขที่แตกต่างกันไปตามสัดส่วนของน้ำหนัก ส่วนสูง อายุ เพศ

“การชั่งน้ำหนัก เราใช้ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เป็นตัวตั้ง โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 ซึ่งแต่ละคนจะต้องรู้ ‘ตัวเลขหยุดโรค’ ของตัวเอง ถ้าเกินกว่าเกณฑ์นั้นก็ต้องลด ฉะนั้น ถ้าจะให้เขาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ไม่ให้เสี่ยงต่อโรค เขาควรต้องรู้ตัวเลขของตัวเองทุกครั้งที่ชั่งน้ำหนัก” หมอสมเกียรติกล่าว

สำหรับตัวเลขความดัน โดยทั่วไปโรงพยาบาลจะกำหนดไว้ที่ 140 แต่หากอยู่ในสถานที่ปกติ เช่น อยู่บ้านต้องต่ำกว่า 135 ถ้าเกินกว่านี้หมายความว่าความดันสูง ตัวเลขความดันถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญ เพราะเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตอันดับหนึ่ง

“ตัวเลขความดัน คือตัวชี้วัดว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร เพราะความดันคือชีวิต ชีวิตคือความดัน ถ้าเราวัดความดันทุกวัน เราจะทราบได้เลยว่าอะไรทำให้ความดันสูง อย่างเช่นถ้าวันไหนเดินน้อยความดันจะขึ้น วันไหนกินผักผลไม้น้อยความดันก็ขึ้น วันไหนกินมื้อดึกความดันก็ขึ้น รถติดก็ความดันขึ้น เป็นต้น หรือบางทีอาจวัดสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็ได้

“ข้อสรุปของผมก็คือ ทุกครั้งที่เราใช้สมอง ความดันจะขึ้น เพราะเวลาที่ความดันต่ำที่สุดคือ ช่วงที่เราหลับ เพราะตอนหลับเราไม่ใช้สมอง ฉะนั้น ถ้าตื่นเช้าขึ้นมาวัดความดัน จะบอกได้เลยว่าคุณภาพการนอนเมื่อคืนเป็นอย่างไร เราควรจะวัดความดัน 2 ครั้งคือ ความดันก่อนนอน กับความดันตอนตื่นนอน เพื่อดูว่าหลังจากที่เราพักผ่อนแล้วความดันยังสูงไหม ถ้าตื่นเช้ามาความดันลดลง แสดงว่าการนอนมีคุณภาพ”

ผศ.นพ.สมเกียรติ บอกอีกว่า หากคนไข้ได้เห็นตัวเลขความดันของตนเองและหมั่นตรวจสอบเป็นประจำ จะทำให้เขารู้พฤติกรรมตนเอง และยังส่งผลไปถึงการรักษาด้วย แต่ปัญหาก็คือ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ทำอย่างไรที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงเครื่องมือวัดความดันอย่างง่ายตนเอง ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมีการผลิตเครื่องวัดความดันแบบพกพา สามารถเชื่อมต่อแอพพลิเคชันและส่งต่อข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปยังแพทย์ได้

“สำหรับผม การกินยาลดความดันไม่ใช่คำตอบ เพราะการกินยาแม้จะช่วยลดความดันได้และน่าจะช่วยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคด้วย แต่ปรากฏว่าโดยข้อเท็จจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผลการศึกษาทางการแพทย์มากมายพบว่า ระหว่างคนไข้ที่กินยากับอีกคนที่ไม่กินยา ปรากฏว่าคนที่กินยากลับมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่า เพราะข้อเสียของยาคือ ทำให้คนประมาท ย่ามใจ เพราะคิดว่ากินยาแล้ว ไม่ต้องกลัว สามารถรับประทานอาหารทุกอย่างได้เต็มที่ ฉะนั้น ยาจึงเป็นดาบสองคม”

จากเรื่องน้ำหนัก ความดัน มาถึงเรื่องรอบเอว หมอสมเกียรติแนะนำว่า สูตรสำเร็จในการวัดตัวเลขรอบเอวคือ นำส่วนสูงหารด้วย 2 เท่ากับรอบเอวที่ควรจะเป็น โดยสามารถใช้ได้ทั้งชาย หญิง ผู้สูงอายุ และเด็กโต

ผศ.นพ.สมเกียรติ ย้ำว่า ทั้ง 3 เรื่องนี้คือตัวชี้วัดสำคัญที่ควรรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบและรู้จักหมั่นตรวจสอบตนเอง เพราะหากทุกคนรู้ ‘ตัวเลขหยุดโรค’ ของตนเองแล้ว ความตระหนักก็จะเกิดขึ้นตามมา

 

‘สวย’ : ตัวชี้วัดทางใจ

อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ควรใช้ควบคู่กันคือ สุขภาพทางใจ สรุปเป็นคำสั้นๆ ได้ว่า ‘ส-ว-ย’ อันหมายถึง สติ วาง เย็น

สำหรับ ส. สติ หมอสมเกียรติแนะว่า วิธีดูสติคือ ในแต่ละวันที่ผ่านไป เราอร่อยเกินไหม และอาหารที่รับประทานนั้นดีต่อสุขภาพหรือไม่

“ดูง่ายๆ ก็คืออาหารที่ ‘ย่อยง่าย-หายหิว’ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าระหว่างสเต็กกับผัก อะไรย่อยง่ายกว่ากัน ระหว่างอาหารสำเร็จรูปกับอาหารปรุงสด อะไรย่อยง่ายกว่ากัน สรุปอาหารที่ดีคือ กินแล้วท้องไม่ผูก น้ำหนักไม่ขึ้น เข็มขัดไม่คับ ความดันไม่เพิ่ม

“ถามว่ากินแค่ไหนถึงจะพอ ก็กินพอหายหิว ถ้ากินจนอิ่มแปล้ก็แปลว่าคุณอร่อยเกิน เราต้องถามตัวเองว่าแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ เราเผลอกินอะไรที่อร่อยเกินไปบ่อยแค่ไหน ถ้าเผลอบ่อยก็แปลว่า เราขาดสติ เพราะมันเพลิน ฉะนั้น การมีสติก็คือ เราควบคุมการบริโภคไม่ให้อร่อยเกินได้แค่ไหน” ผศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว

ข้อต่อมา ว. วาง คือ วางเฉย ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะความฟุ้งซ่านทำให้เครียด นอนไม่หลับ บางรายเมื่อนอนไม่หลับจึงหันไปพึ่งยานอนหลับ

“สำหรับผม ยานอนหลับคือ ‘ยากดคิด’ เพราะคนคิดไม่หลับ คนหลับไม่คิด คนยิ่งคิดก็ยิ่งไม่หลับ เพราะปิดความคิดไม่ได้ หรือ ‘ช่างมัน’ ไม่เป็น ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงต้องอาศัยยา เพราะยาเป็นตัวกดไม่ให้คิด

“ข้อเสียของยานอนหลับก็คือ พอกดไม่ให้คิด คุณก็จะเบลอ สะลึมสะลือ บางคนกินยานอนหลับจนเป็นเบาหวาน เพราะหลับทั้งวัน ไม่อยากทำอะไร พอตื่นมาก็กิน กินแล้วก็นอนต่อ ฉะนั้น การกินยานอนหลับจึงเพิ่มโอกาสเป็นเบาหวานด้วย และในระยะยาวมีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคอัลไซเมอร์ด้วย เพราะยาไปกดการทำงานของสมอง”

ถัดมา ย. เย็น คือ เย็นใจ สุขใจ อิ่มใจ คนที่มีอาการเซ็งซึมเศร้ามักท้องผูก เพราะไม่ได้ขยับร่างกาย ทำให้ลำไส้ไม่ทำงาน บางรายเมื่อเกิดอาการเซ็งมักหาทางออกด้วยการกินแก้เซ็ง กลายเป็นความอร่อยเกิน หวานมันเค็มเกิน

“ถ้าเราทำจิตใจให้อิ่มเอิบ มีความสุขอยู่กับทุกวัน ชีวิตจะไม่เซ็ง แต่คนที่เซ็ง เพราะเขาอาจมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาคิด พูด ทำ มันเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนอาจน้อยใจว่าตัวเองไม่มีคุณค่า นานวันเข้าก็ซึมเศร้า ฉะนั้น ถ้าเราเย็นใจก็จะช่วยลดความเซ็งซึมเศร้าได้” หมอสมเกียรติแนะ

ออกกำลังกาย…แค่ไหนจึงเรียกว่าพอ

นอกจากการหมั่นตรวจสุขภาพกายและสุขภาพใจแล้ว ผศ.นพ.สมเกียรติ ยังมีคำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายว่า เบื้องต้นควรหมั่นออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 150 นาที ขั้นต่ำสำหรับคนทั่วไปคือออกกำลังกายระดับปานกลาง

“ระดับปานกลางหมายถึง ออกกำลังกายด้วยวิธีใดก็ได้ที่ยังพอจะพูดรู้เรื่อง แต่ลากเสียงยาวๆ ไม่ได้ หรือร้องเพลงไม่เพราะ ถ้าคุณทำงานบ้าน ซักผ้า ถูบ้าน แล้วยังร้องเพลงเพราะ แสดงว่าคุณยังออกกำลังกายเบาไป ยังไม่เหนื่อยพอ”

หมอสมเกียรติบอกว่า อีกตัวชี้วัดที่สามารถนำมาใช้ได้คือ ‘การนับก้าว’ ซึ่งจะตัวบ่งชี้ว่า เราทำกิจกรรมทางกายเพียงพอหรือไม่ หรือเป็นคนประเภทนั่งๆ นอนๆ

“ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า ‘นั่งนอนมาก’ พฤติกรรมนั่งนอนมากก็คือ เดินน้อยกว่า 5,000 ก้าวต่อวัน ถ้าเราอยากรู้ว่าแต่ละวันเรามีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกายมากน้อยแค่ไหน ออกกำลังกายมากพอหรือไม่ ให้ดูสองอย่าง หนึ่ง-ต้องออกกำลังกายปานกลาง เกิน 30 นาทีต่อวัน สอง-เดินวันละไม่น้อยกว่า 5,000 ก้าว ถ้าต่ำกว่านี้ถือว่ามีพฤติกรรมนั่งนอนมาก”

 

หวังให้คนไทยห่างไกลโรค

หลักคิดทั้งหมดในการดูแลสุขภาพ ผศ.นพ.สมเกียรติ เผยว่า ได้มาจากสองทาง คือ ความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม หากนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมจะเกิดประโยชน์มหาศาล แต่สำคัญกว่านั้นคือ การส่งต่อความรู้ชุดนี้ไปยังประชาชนทั่วไปให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ที่ผ่านมาผมจัดอบรมเรื่องโรคไม่ติดต่อมาหลายสิบปี เพื่อสอนให้คนรู้ว่าควรจะกินอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร ช่วงแรกๆ ก็อาศัยความรู้ฝรั่ง แต่ปัญหาคือทำอย่างไรให้คนจำง่ายๆ ผมจึงพยายามผูกให้เป็นคำที่จดจำง่ายและนำไปใช้ได้ทันที อย่างเช่นหลัก ‘3 อ. 2 ส.’ และ ‘นครสวย’ เพราะถ้าสอนแล้วชาวบ้านจำไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้”

ความมุ่งหมายสูงสุดของหมอสมเกียรติคือ หากประชาชนนำหลักคิดนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันจริง และส่งต่อความรู้ไปยังคนรอบข้าง เชื่อว่าจะช่วยให้คนไทยจำนวนมากห่างไกลจากโรคและมีความสุขกันมากขึ้น

“สิ่งที่ผมสอน ถ้าคนฟังเข้าใจ จำได้ เอาไปปรับใช้ แล้วเขาเห็นผลด้วยตัวเอง ก็หวังว่าเขาจะนำความรู้นี้ไปเผยแพร่ให้คนอื่นๆ ต่อไป”

 

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า