โรคไม่ติดต่อในสถานที่ทำงาน ต้นทุนที่ผู้ประกอบการมองข้ามไป

การดำเนินธุรกิจยุคใหม่ สิ่งที่เจ้าของกิจการต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเลขผลประกอบการทางธุรกิจ คือ การดูแลคุณภาพชีวิตและสุขภาพของพนักงานหรือลูกจ้าง โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งปัจจุบันถึงแม้จะมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด แต่สำหรับโรคที่จัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรคไม่ติดต่อ’ กลับยังถูกละเลย และนั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องจ่าย ‘ต้นทุน’ ที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว

‘โรคไม่ติดต่อ’ หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Non-communicable diseases (NCDs) มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคธุรกิจ โดยมีงานศึกษาอ้างอิงจากเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ ‘การพัฒนานโยบายในสถานที่ทำงาน (Workplace Policy) เพื่อบูรณาการจัดการเรื่องโรคไม่ติดต่อและการสร้างเสริมสุขภาพ’ (ปี 2563) โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่าย พบว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโรคดังกล่าวในไทย ปี 2552 มีมูลค่าถึง 198,512 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนทางตรงอย่างค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 23.8 และต้นทุนทางอ้อมที่เกิดจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงานถึงร้อยละ 74.2 จากมูลค่าทั้งหมด ซึ่งตัวเลขที่น่าตกใจนี้หากเจาะลึกลงไปยังสัดส่วนของต้นทุนทางอ้อมจะพบว่า การสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานเกิดจากการขาดงานของผู้ป่วยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 การขาดงานของผู้ดูแลอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และที่น่ากังวลที่สุดคือ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 73 จากต้นทุนทางอ้อมทั้งหมดที่เกิดขึ้น

การสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรค NCDs คิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 2.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) หรือประมาณ 3,128 บาทต่อหัวประชากรทั้งหมดอีกด้วย

ดังนั้นสถานประกอบการทั้งหลายจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องหันกลับมาใส่ใจตัวเลขของความสูญเสียที่มองไม่เห็นดังกล่าว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สังคมต่างมุ่งให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอย่างโควิด-19 เป็นหลัก จนอาจทำให้กลุ่มโรค NCDs ถูกมองข้ามไป ทั้งที่จริงแล้วการออกมาตรการป้องกันและควบคุมกลุ่มโรค NCDs สำหรับผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อสุขภาพของลูกจ้างและประสิทธิผลในการทำงานที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือการ ‘ลงทุน’ ในมาตรการเหล่านี้ย่อมมีความคุ้มค่ากว่าการปล่อยปละละเลยจนเกิดความสูญเสียในภายหลัง

มาตรการป้องกัน NCDs คือหนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการ

ปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องเผชิญจากการจัดมาตรการป้องกันกลุ่มโรค NCDs ที่ไม่ดีพอ คือปัญหาด้านการขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน การขาดงานของลูกจ้างเพราะเจ็บป่วย ไปจนถึงการเสียชีวิตที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

การป้องกันสิ่งเหล่านี้ก่อนที่จะเกิดปัญหาในภายหลังนับเป็นเรื่องสำคัญ โดยงานศึกษาข้างต้นระบุว่า หากไม่มีการลงทุนในการลดความเสี่ยงหรือป้องกันกลุ่มโรค NCDs ที่ดีพอ อาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในอนาคตได้ โดยมีการคำนวณภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตตั้งแต่ปี 2554-2573 พบว่า สามารถทะยานไปได้ถึงประมาณ 46.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดในปี 2553 เลยทีเดียว

ปัจจัยสำคัญนอกจากเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ผู้ประกอบการที่ลงทุนในมาตรการป้องกันกลุ่มโรค NCDs อย่างเหมาะสมยังมีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์กลับคืนมาคุ้มค่ากว่าที่ลงทุนไป อ้างอิงจากงานศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2018 ภายใต้ชื่อหัวข้อ ‘Time to deliver: report of the WHO Independent high-level commission on noncommunicable diseases’ ระบุว่า ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ (low-middle-income countries) และต่ำกว่านั้น หากลงทุนในมาตรการป้องกันกลุ่มโรค NCDs อย่างเหมาะสมตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปี 2030 จะสามารถได้ผลลัพธ์กลับคืนเป็นมูลค่าถึง 7 เท่าตัวจากที่ลงทุนไป เช่น หากผู้ประกอบการลงทุนในการป้องกันกลุ่มโรค NCDs ที่ 1 เหรียญสหรัฐในปีดังกล่าว เมื่อถึงปี 2030 ผู้ประกอบการจะได้มูลค่ากลับคืนถึง 7 เหรียญสหรัฐ

การคำนวณของ WHO ยังระบุว่า หากประเทศในกลุ่มดังกล่าวสามารถลงทุนในมาตรการป้องกัน NCDs อยู่ที่ 1.27 เหรียญสหรัฐต่อประชากรในทุกๆ ปี (ประมาณ 41.9 บาท) เมื่อถึงปี 2030 จะสามารถช่วยชีวิตคนได้ถึง 8.2 ล้านคน และยังสามารถป้องกันโรคที่พบได้มากอย่างโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease: IHD) หรือโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ได้ถึง 17 ล้านกรณี ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะเกิดผลดีต่อลูกจ้างในแง่คุณภาพชีวิตและสุขภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ไปจนถึงการสร้างกำไรของผู้ประกอบการในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้นการจัดมาตรการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสถานประกอบการทุกรูปแบบ งานศึกษาจำนวนมากระบุตรงกันว่า การใส่ใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงานของสถานประกอบการจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ลดการขาดงานของลูกจ้าง และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีโครงการส่งเสริมสุขภาพของบริษัท Johnson & Johnson โดยมุ่งเน้นการลดการบริโภคยาสูบ การลดไขมันในเลือด การควบคุมความดันโลหิต และการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของพนักงานได้ 565 เหรีญสหรัฐต่อคนต่อปี และได้ผลตอบแทนการลงทุน 1.88-3.92 เหรียญสหรัฐต่อทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐที่ลงทุนไปกับมาตรการส่งเสริมสุขภาพพนักงาน

ทำแล้วเห็นผลจริง กรณีตัวอย่างจากหลายสถานที่ทั่วโลก

ปัญหาจากแนวทางปฏิบัติที่ผู้ประกอบการทั่วโลกเผชิญเหมือนกัน คือ การรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพแก่ลูกจ้างเพียงแค่ระดับการให้ข้อมูลพื้นฐาน โดยคาดหวังว่าลูกจ้างจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทว่ามาตรการในการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานหรือสถานประกอบการโดยรวมกลับยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

จากการศึกษาดังกล่าวของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและเครือข่าย ได้ถอดบทเรียนของสถานประกอบการหลายแห่งทั่วโลกที่มีโครงการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า ในรายละเอียดของโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ถูกนำมาใช้ส่วนใหญ่คือ การออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของคนในที่ทำงาน ร่วมไปกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ และโรคอื่นๆ 

โครงการข้างต้นมีการวัดผลเชิงตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรง อย่างดัชนีมวลกาย น้ำหนัก ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการพิสูจน์จากกรณีศึกษาหลายแห่งแล้ว พบว่า โครงการสร้างเสริมสุขภาพเหล่านี้มีผลโดยตรงกับการควบคุมปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้

นอกจากนี้ ในบางประเทศอย่างสหราชอาณาจักรก็ได้สนับสนุนสถานประกอบการด้วยการเพิ่มแรงจูงใจจากการลดเงินประกันสุขภาพให้กับสถานประกอบการที่ส่งเสริมให้พนักงานมีกิจกรรมทางกายที่เกี่ยวกับจักรยาน ภายใต้โครงการ Cycle to Work Scheme ขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจากหน่วยงานของรัฐแก่บริษัทต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และประเทศสิงคโปร์มีการจัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่สถานประกอบการเพื่อดูแลโรคเรื้อรังทั้งหลายโดยตรง

อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีโครงการสร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงานเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากผลการถอดบทเรียนของสถานประกอบการทั่วโลกที่มีโครงการดังกล่าว พบว่า ปัจจัยสำคัญที่จะชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการเหล่านี้ประกอบด้วย 5 ปัจจัย คือ 1) ผู้นำองค์กรต้องมีส่วนร่วม 2) ต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพรายบุคคล 3) ต้องมีวัฒนธรรมการทำงานที่สนับสนุนการมีสุขภาพดีในที่ทำงาน 4) นโยบายสร้างเสริมสุขภาพของสถานประกอบการต้องปฏิบัติได้จริงและจริงจัง และ 5) ระยะเวลาในการจัดโครงการเสริมสุขภาพต้องไม่ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ถึง 1 ปีขึ้นไป จึงจะเริ่มเห็นผล

ต้องทำทันที เพื่อบรรลุเป้าหมายสุขภาวะที่ดี

จากข้อมูลข้างต้นสามารถกล่าวได้ว่า การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคในกลุ่ม NCDs มิใช่เป็นแค่เรื่องที่ ‘ควรทำ’ แต่เป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ทั้งในภาพรวมทางเศรษฐกิจระดับชาติหรือในระดับจุลภาคอย่างสถานการประกอบการเองก็ตาม

จากการประเมินขององค์การอนามัยโลกที่ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนด้านสุขภาพจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่าในอนาคต ดังนั้นหากผู้ประกอบการเริ่มต้นมาตรการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพภายในที่ทำงานตั้งแต่วันนี้ แม้จะไม่สามารถเห็นผลได้ฉับพลันทันที แต่ก็ย่อมไม่มีคำว่าสายเกินไป ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนที่ต้องสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมของสถานประกอบการ

การให้ความสำคัญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ ไปจนถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนมีส่วนร่วมกับการมีสุขภาวะที่ดีและสามารถวัดผลได้ในเชิงตัวเลขนั้น นับเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของลูกจ้างอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

อ้างอิง

เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ เรื่อง ‘การพัฒนานโยบายในสถานที่ทำงาน (Workplace Policy) เพื่อบูรณาการจัดการเรื่องโรคไม่ติดต่อและการสร้างเสริมสุขภาพ’ (3 พฤศจิกายน และ 6 พฤศจิกายน 2563) จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่าย

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า