‘คืนผังเมือง คืนความเป็นธรรม’ เมื่อ ม.44 ผิดเจตนารมณ์คืนความสุข

IMG_0122

ภาพ: อารยา คงแป้น

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และกลุ่มประชาสังคมจากหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกและทั่วประเทศ อาทิ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก อุดรธานี กระบี่ รวมตัวเรียกร้องอย่างสันติ บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 และ 4/2559 ว่าด้วยการยกเลิกกฎหมาย การบังคับใช้ผังเมือง เนื่องจากเกรงว่าจะผิดเจตนารมณ์ของ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

แถลงการณ์ในนาม เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง มีดังต่อไปนี้

IMG_0093

1. คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3 และ 4 กำลังพาเราไปสู่ ‘ก้นหอยแห่งความตาย’ ภายใต้คำสั่งนี้ ความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากรจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการพัฒนาฉบับเรี่ยราด ที่ไม่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่อีกต่อไป ความขัดแย้งจากการพัฒนาที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้จะทวีความรุนแรงอีกหลายเท่าตัว

ทั้งหมดนี้ คสช. ได้กลายเป็นผู้เขม็งเกลียวแห่งปัญหา และนำไปสู่ก้นหอยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อความขัดแย้งรุนแรงได้อีก เราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

2. คำสั่งทั้งสองฉบับ สะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบโบราณ เป็นการพัฒนาบนตรรกะแห่งวันวาน เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้เป็นไปเพื่อการส่งเสริมความสามารถพิเศษของคนไทย เป็นเพียงกว้านที่ดินผืนใหญ่หลายแสนไร่ แล้วออกนโยบายดึงดูดให้ต่างชาติหรือทุนอุตสาหกรรมมาลงทุน ด้วยการถล่มทรัพยากรของประเทศ ด้วยหวังว่าจะฉุด GDP ให้กระเตื้องขึ้น เป็นวิธีคิดแบบโบราณที่สร้างความหายนะมาแล้วทั่วโลก ซ้ำร้ายยังเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กลุ่มทุนในการยุบเลิกผังเมือง คสช. กำลังย้อนหลังการพัฒนาไปเกือบ 40 ปี ด้วยการทำลายกติกา และกฎหมายการพัฒนา ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบสมดุล

วันนี้ประเทศเราเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม รุนแรงมากขึ้นทุกวัน แต่ คสช. กลับใช้วิธีการพัฒนาแบบโบราณ ไม่สอดคล้องกับความซับซ้อนของปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นผลโดยตรงของคำสั่งทั้งสองฉบับ

3. คสช. กลายเป็นผู้สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ภายใต้คำสั่งยกเลิกผังเมือง เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขอใช้สิทธิ์แห่งความเป็นพลเมืองที่ไม่อยากเห็นประเทศเดินไปสู่หายนะและความขัดแย้งครั้งใหม่กับเงื่อนไขของ คสช. ที่สร้างขึ้น กับการยกเลิกกติกา กลไก และกฎหมาย โดยหวังให้เกิดความรวดเร็ว สนองทุนอุตสาหกรรม การกระทำเช่นนี้ กลับเป็นการทำลายเกราะป้องกันที่สังคมพยายามเพียรสร้างขึ้นมาหลายสิบปี

หลังจากนี้จึงเหลือเพียงปราการด่านสุดท้าย คือการลุกขึ้นสู้ของประชาชน ความขัดแย้ง การนองเลือดจะเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่หลังจากนี้ เพราะเกราะแห่งกฎหมายถูกทำลายลงแล้ว ประชาชนจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลุกขึ้นเพื่อปกป้องบ้านตัวเอง ความรวดเร็วที่หวังจะให้เกิดขึ้นจากการยกเลิกผังเมืองนั้น มิอาจเป็นไปได้ เพราะปราการด่านสุดท้าย ยังมีชีวิตประชาชนเป็นเดิมพัน

4. สันติ สติ ยุติ เรามีจุดยืนที่ชัดเจน คือให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 ไม่มีนัยและเป้าประสงค์อย่างอื่น เพียงต้องการกติกา กฎหมาย ที่เป็นธรรมกลับคืนมา สร้างสันติและความสมดุลแห่งการพัฒนา

เราถูกมัดมือชกจาก คสช. ซึ่งฉีกทำลายกติกา กฎหมายที่พึงมี เราไม่อาจยอมรับการดำเนินการของ คสช. ในครั้งนี้ จึงขอใช้ความสงบ สันติ เพื่อให้สังคมนี้เกิดสติร่วมกัน ยุติความขัดแย้งทั้งมวลที่กำลังก่อ

 

เชือกสีขาวที่ผูกมือเรา คือเจตนาอันบริสุทธิ์ที่ต้องการสื่อถึงการเรียกร้องเอาความถูกต้องคืนมา เราจะสงบนิ่งเพื่อให้เกิดความยุติธรรม และจะกระทำจนกว่าคำสั่งทั้งสองฉบับนี้จะยกเลิก

พิจารณาแล้วว่าการยืนหยัดอยู่ที่นี่ เพื่อคืนกติกาและกฎหมายที่เป็นธรรมกลับคืนมา ดีกว่ากลับไปบ้าน เพื่อใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้กัน

โดยหวังความยุติธรรมจะเกิดขึ้นในแผ่นดิน
เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
23 กุมภาพันธ์ 2559


 

IMG_0153

หลังจบแถลงการณ์ มีกิจกรรมผูกข้อมือด้วยเชือกสีขาว เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า แม้กำลังถูกมัดมือชก แต่ก็ยังเรียกร้องขอให้คืนกติกาและกฎหมายที่เป็นธรรมกลับคืนมาอย่างสันติ

สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชนอิสระ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียดของคำสั่งที่ 3 และ 4/2559

“เราเดินทางผิดมาตั้งแต่แรก เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คุณประกาศขึ้นมา มันต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกับพื้นที่ และเลือกว่าพื้นที่ไหนที่เหมาะสม แต่นี่คุณไปจิ้มเอาเลยว่าจะเอาพื้นที่ไหน ศักยภาพที่มองเห็นคือศักยภาพที่ตัวรัฐบาลมองเห็น ไม่ใช่ตัวภาคประชาชนที่มองเห็น”

สมนึกกล่าวว่า ได้เข้าไปสอบถามเรื่องนี้กับรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นคนดูแลผังเมืองของทั้งประเทศ ทำให้ทราบว่า แต่ละพื้นที่กำลังจัดทำผังเมืองรวม ‘ฉบับชั่วคราว’ ซึ่งไม่มีในกฎหมาย

“การยกเลิกแบบนี้ เท่ากับว่า คุณเอากฎหมายอะไรสักอย่าง ไปลบกฎที่เราทำร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2547 กับกรมโยธาธิการและผังเมือง และพื้นที่ต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน ฉะนั้น การประกาศยกเลิกก็เท่ากับว่า คุณมองไม่เห็นหัวชุมชนเลย”

IMG_0074

ส่วนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 นั้นถือว่าสะเทือนทั้งประเทศไทย เพราะจากนี้ไปจะอนุญาตให้กิจการโรงงานลำดับที่ 88, 89, 101, 105 และ 106 ให้ตั้งขึ้นได้

“กิจการ 88 ก็คือกิจการโรงไฟฟ้าทุกชนิด โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ นิวเคลียร์ ขยะ ทำก๊าซทำน้ำมัน ท่อก๊าซก็อยู่ในหมวดนี้

“ลำดับ 89 จะเกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ ผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าขยะ ส่วน 101 กำจัดน้ำเสีย สำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงโรงเผาขยะอันตราย (ขยะกากอุตสาหกรรมอันตราย) 105 คือบ่อฝังกลบขยะ และ 106 คือโรงงานรีไซเคิล รวมถึงการอัดแน่นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) ที่รัฐบาลพูดถึง”

สมนึกชี้ให้เห็นว่า ถ้ายังมีกฎหมายผังเมือง จะสร้างกิจการเหล่านี้ในบางพื้นที่ไม่ได้ แต่ด้วยคำสั่งที่ 4/2559 แล้ว จากนี้ไปก็ตั้งได้หมด ในเขตพื้นที่สีเขียวก็สามารถตั้งบ่อฝังกลบขยะ โรงไฟฟ้าขยะ หรือโรงเผาขยะกากอุตสาหกรรมอันตรายได้

ระหว่างปี 2559-2564 ประเทศไทยวางแผนโรงไฟฟ้าขยะจำนวน 53 โรง โดยสมนึกให้ข้อมูลว่า พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นั้น ใกล้กับบ่อผลิตน้ำดิบของคนกรุงเทพฯ

IMG_0222

เราใช้ ม.44 มากไปจนกลายเป็นยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว แทนที่จะเป็นยารักษาโรคมะเร็ง ไม่ใช่แล้ว แล้วถามว่าผิดเจตนารมณ์ ม.44 ไหม ลองสังเกตครับว่า ต้องการสร้างความปรองดอง แต่ที่เรามาทั้งหมดนี้มาจากความเดือดร้อน และจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

ฉะนั้น ผมกำลังถามว่า ประกาศคำสั่ง 3 และ 4/2559 สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ ผิดเจตนารมณ์ของมาตรา 44 หรือเปล่า?

กรณีพระราชบัญญัติการผังเมือง กฎกระทรวงฯผังเมืองรวม หรือประกาศกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันโครงการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีเหตุสมควรให้ยกเลิก

“ผังเมืองไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ขึ้นไม่ได้ แต่ผังเมืองจะบอกว่าโครงการพวกนี้จะตั้งอยู่ส่วนไหนของจังหวัด เราไม่ได้บอกว่าไม่ให้เขาสร้าง ก็คือมาคุยกันตามผังเมืองของแต่ละจังหวัด ว่าบริเวณไหนควรสร้างอะไร ทำไมไม่กลับไปใช้ระบบเดิมล่ะครับ ระบบที่มีกฎหมายรองรับเป็นสากล สากลเขาเดินทางนี้ แต่นี่เรากำลังย้อนหลังอยู่ครับ

“พวกเรามาดี ไม่ได้มาร้าย พวกเรามาเพื่อประเทศชาติ เพื่อพื้นที่ของพวกเราทุกๆ จังหวัด จะได้ไม่เกิดวิกฤติความขัดแย้งขึ้นในอนาคต” สมนึกกล่าวทิ้งท้าย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า